สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ,โครงสร้างสังคม,ระบบเครือญาติ,พิธีกรรม,เพชรบุรี
Author มยุรี วัดแก้ว
Title การศึกษาโครงสร้างสังคมของลาวโซ่ง
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 101 Year 2521
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาพัฒนาสังคม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Abstract

จากการศึกษาโครงสร้างสังคมลาวโซ่งในงานชิ้นนี้พบว่า พิธีกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงไว้ซึ่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชน และพิธีกรรมแสดงออกถึงสถานภาพของบุคคลและของกลุ่มบุคคล โดยสถานภาพจะแตกต่างกันทางเพศ ไม่ใช่อายุ การศึกษาและอาชีพ ซึ่งผู้ชายจึงมีสถานภาพสูงกว่าผู้หญิง การจัดระเบียบสังคมในระดับครอบครัว ใช้ระบบเครือญาติเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง โดยมีแนวความคิดเรื่องผีเดียวกันเป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน และการจัดลำดับเครือญาติเป็นแบบฝ่ายเดียว โดยถือฝ่ายพ่อเป็นสำคัญ สำหรับแนวความคิดของลาวโซ่งในเรื่องชุมชน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับดินแดนแต่อยู่ที่ระบบเครือญาติ อันประกอบด้วยญาติทางสายโลหิต และญาติจากการแต่งงาน ได้แก่ สะใภ้ทั้งหลาย ซึ่งถือว่าเป็นญาติผีเดียวกัน นอกจากนี้ ชุมชนลาวโซ่งยังจัดลำดับชนชั้นทางสังคม โดยใช้วงศ์ตระกูลหรือครอบครัวเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง โดยแบ่งเป็นชนชั้น ผู้ท้าว และชนชั้นผู้น้อย ชุมชนลาวโซ่งมีลักษณะเป็นชุมชนเปิด เนื่องจากหนุ่มสาวโซ่งจาก 2 ชนชั้นนี้ สามารถแต่งงานกันได้ ส่งผลให้สถานภาพของผู้หญิงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ โดยยึดถือชนชั้นทางฝ่ายสามีเป็นหลัก

Focus

ศึกษาโครงสร้างสังคมในระดับครอบครัวและระดับชุมชนของลาวโซ่งจากพิธีเสนเรือน พิธีแต่งงาน และพิธีศพ

Theoretical Issues

ผู้วิจัยใช้วิธีการศึกษาของ Leach เป็นส่วนหนึ่งในการการจัดระเบียบทางสังคม และอาศัยการตีความหมายจากการศึกษาพบว่า พิธีกรรมแสดงออกถึงสถานภาพของบุคคลและกลุ่มคน ซึ่งแตกต่างกันทางเพศไม่ใช่อายุการศึกษาและอาชีพ ให้ความสำคัญกับชายมากกว่าหญิง โครงสร้างระดับครอบครัว เป็นแบบ Patriachal ใช้ระบบเครือญาติที่มีผีเดียวกันเป็นสัญญลักษณ์ร่วม ระบบเครือญาติใช้วิธีการนับญาติจากญาติทางสายโลหิต (consanguinity) และญาติทางแต่งงาน (affinity) และวิธีการกำหนดลำดับความสำคัญของสมาชิกอาศัยการยึดหลักการจัดลำดับอาวุโสก่อนหลัง (Descent Kinship) โครงสร้างระดับชุมชน จากพิธีกรรมทั้ง 3 ของโซ่ง โซ่งเป็นชุมชนที่ขึ้นอยู่กับระบบเครือญาติ และมีการจัดลำดับชั้นทางสังคมโดยใช้วงศ์ตระกูลเป็นเกณฑ์ ก็คือ ชนชั้นผู้ท้าว และชนชั้นผู้น้อย ซึ่งแต่ละคนต่างรู้สถานภาพของคนเป็นอย่างดี รวมทั้งรู้ความแตกต่างในการปฏิบัติพิธีกรรมระหว่างชนชั้นทั้งสอง ลักษณะชุมชนเป็นแบบเปิด วิเคราะห์ได้จากข้อห้ามในการแต่งงาน ที่ห้ามคนสายเลือดเดียวกันและอยู่ในผีเดียวกันแต่งงานกัน จากลักษณะชุมชนแบบเปิดนี้ ทำให้ระบบเครือญาติลาวโซ่งกระจายออกไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ และมีการปฏิบัติพิธีกรรมร่วมกัน (หน้า 74-76)

Ethnic Group in the Focus

ลาวโซ่ง คือ ชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นชนชาติไทย สาขาไทยทรงดำ ที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี (หน้า 8)

Language and Linguistic Affiliations

ลาวโซ่งมีภาษาเขียนและภาษาพูดเป็นของตนเอง สำเนียงภาษาพูดผิดเพี้ยนจากลาวเวียงจันทน์ และลาวทางอีสานไม่มากนัก ตัวหนังสือคล้ายของลาว ส่วนระเบียบของภาษาหรือไวยากรณ์เป็นแบบเดียวกับภาษาไทย เชื่อกันว่าภาษาโซ่งมีความสัมพันธ์กับภาษากลุ่มไทยดำ ไทยขาว และมีหางเสียงคล้ายๆ กับไทยพวน แต่ลาวโซ่งมีเสียงสั้นกว่า (หน้า 4)

Study Period (Data Collection)

ผู้วิจัยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน 2521 - 30 กรกฎาคม 2521 (หน้า 21)

History of the Group and Community

ลาวโซ่งเป็นชนชาติไทยสาขาไทยทรงดำ ซึ่งเดิมมีถิ่นฐานอยู่แถบเมืองทันต์ในประเทศลาว ครั้นในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2322 โปรดฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพไปตีเมืองลาวตีได้เมืองทันต์ และได้กวาดต้อนครอบครัวของลาวโซ่งลงมาที่กรุงเทพฯ เป็นจำนวนมาก แล้วโปรดฯ ให้ลาวโซ่งเหล่านี้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ ในภาคกลาง และในปี พ.ศ. 2335 สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ได้ยกทัพไปตีเมืองพวนและเมืองแถง ได้กวาดต้อนครอบครัวลาวโซ่งลงมาถวายที่กรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง และได้โปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่หนองปรง ต่อมาในปี พ.ศ. 2381 รัชกาลที่ 3 โปรดฯ ให้ตีเมืองลาวอีก และได้มีการอพยพกวาดต้อนลาวโซ่งให้ไปอยู่ที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี แต่ต่อมาบรรดาโซ่งเหล่านี้ ก็ได้อพยพมาอยู่ที่อำเภอเขาย้อย เพราะชอบอยู่ที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง จากนั้นก็ได้กระจายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามอำเภอต่างๆ ของจังหวัดเพชรบุรี และในปัจจุบันก็ได้กระจายไปอาศัยอยู่ในหลายจังหวัด (หน้า 2 - 3)

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

ลาวโซ่งที่อาศัยอยู่ในเขตอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี มีจำนวนทั้งสิ้น 3,521 คน (หน้า 7)

Economy

อาชีพหลักของลาวโซ่ง คือ การทำนา ทำไร่ อาชีพรองก็คือ หาของป่า ล่าสัตว์ ปัจจุบันอาชีพรองมีการจักสานเพิ่มขึ้น (หน้า 5)

Social Organization

ลาวโซ่งมีการจัดโครงสร้างทางสังคมของตนเอง 2 ระดับ คือ โครงสร้างสังคมระดับครอบครัว และโครงสร้างสังคมระดับชุมชน 1.โครงสร้างสังคมระดับครอบครัว ลาวโซ่ใช้ระบบเครือญาติเป็นเกณฑ์ โดยมีความคิดเรื่องผีเดียวกันเป็นสัญลักษณ์ร่วมกัน แบ่งออกเป็น 1. การนับญาติทางสายโลหิต ดูจากความสัมพันธ์ทางสายโลหิตเดียวกัน (lineage) คือ การที่บุคคลในกลุ่มมีความเกี่ยวข้องกันทางบรรพบุรุษร่วมกัน เป็นสกุลเดียวกัน เป็น clan เดียวกัน 2. การนับญาติการแต่งงาน โดยสะใภ้จะถูกนับรวมเป็นญาติผีเดียวกัน มีสิทธิในการเข้าร่วมประกอบพิธีกรรม ส่วนเขยไม่ต้องเข้าร่วมในการประกอบพิธีกรรม นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดลำดับความสำคัญของสมาชิกไว้แน่นอน โดยยึดหลักการจัดลำดับอาวุโสก่อนหลัง ซึ่งเห็นได้จาก พิธีแต่งงาน ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องไหว้ญาติพี่น้องของทั้งสองฝ่าย โดยจะต้องไหว้ญาติคนที่มีอายุมากกว่าไปจนถึงคนที่อายุน้อยกว่า (หน้า 60-61) มีการจัดลำดับเครือญาติเป็นแบบฝ่ายเดียว (Unilateral Kinship) โดยถือฝ่ายพ่อเป็นสำคัญ เป็นการสืบผีฝ่ายพ่อ หญิงเมื่อแต่งงานแล้วจะต้องใช้สกุลทางฝ่ายชาย ต้องเข้าพิธีรับสะใภ้ใหม่ของตระกูลทางฝ่ายชายรวมทั้งการถือผีด้วย ลูกที่เกิดมาจะต้องใช้สกุลและถือผีของฝ่ายพ่อ ผู้ชายมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินทุกอย่างในครอบครัว โดยเฉพาะการซื้อขายที่ดิน อำนาจการตัดสินใจขึ้นอยู่กับฝ่ายชายแต่เพียงผู้เดียว การแต่งงานของลาวโซ่งมีทั้งแบบ endogama และ exogamy แต่ห้ามแต่งงานระหว่างบุคคลที่มีสายเลือดเดียวกันและอยู่ในผีเดียวกัน (Incest taboo) (หน้า 62-63) 2.โครงสร้างสังคมระดับชุมชน แนวความคิดของลาวโซ่งในเรื่องชุมชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับดินแดน แต่อาศัยวงศ์ตระกูลหรือครอบครัวเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ได้แก่ 1.ชนชั้นท้าว หมายถึง บุคคลในตระกูลผู้ท้าว ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าหรือผู้ปกครองเมืองในสมัยก่อน ดังนั้น ลาโซ่งทุกคนต่างรู้ดีว่าตนอยู่ในชนชั้นใด และรู้ถึงความแตกต่างในการปฏิบัติพิธีกรรมระหว่างผู้ท้าวกับผู้น้อย แต่ในชีวิตประจำวันต่างก็มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และร่วมมือกันในงาน เช่น การลงแขกหว่านดำ เก็บเกี่ยว ปลูกบ้าน เป็นต้น ลักษณะของชุมชนเป็นแบบสังคมเปิดประกอบด้วยกลุ่มคนหลายระดับ (vertical groups) สถานภาพทางชนชั้นสามารถเปลี่ยนแปลงขึ้นลงได้ โดยยึดถือชนชั้นทางฝ่ายสามีเป็นหลัก (หน้า 68-70-72)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ลาวโซ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับ ผีบรรพบุรุษ , ผีฟ้าหรือ แถน, ผีเรือน, และ ฯลฯ ความเชื่อเหล่านี้นำไปสู่การจัดพิธีกรรมต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ พิธีเสนเรือน, พิธีแต่งงาน, และพิธีศพ. - พิธีเสนเรือน คือ การเซ่นไหว้ผีเรือน ซึ่งก็คือ ผีบรรษบุรุษที่ตายแล้ว และอยู่ใน "ซิ่ง" (ตระกูล) เดียวกัน เวลาเซ่นมีการเรียกชื่อบรรพบุรุษ คือ ปู่ ย่า ตา ยาย ให้มากินเครื่องเซ่น ถือว่าการเซ่นนั้นทำให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วไม่อดอยาก และจะมีผลสะท้อนให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุข เกิดสิริมงคลแก่บ้านเรือน พิธีเสนเรือนเป็นพิธีกรรมของครอบครัว และเป็นหน้าที่ของหัวหน้าครอบครัวที่จะต้องจัดพิธีนี้เป็นประจำปีละครั้ง หรืออย่างน้อย 2-3 ปีต่อครั้ง พิธีเสนเรือนมี 2 ประเภทเพราะมีผี 2 ชนชั้นตามการสืบผี คือ ผีผู้ท้าว (พิธีเสนสำหรับผู้สืบเชื้อสายมาจากเจ้า) และ ผีผู้น้อย (พิธีเสนสำหรับผู้ที่สืบเชื้อสายจากสามัญชน) มี 2 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมงานและขั้นทำพิธีเสนเรือน ขั้นตอนเตรียมงาน เริ่มจากการฆ่าหมูที่เลี้ยงไว้ เพื่อใช้ทำพิธีเซ่นและเลี้ยงแขก ตามที่ได้อธิษฐานไว้ หมอเสนจะเป็นผู้กำหนดวันในการประกอบพิธี โดยจะไม่ทำในเดือน 5 เพราะเชื่อว่าจะเดือดร้อน พืชพันธุ์จะไม่สมบูรณ์ รวมทั้งเป็นช่วงเข้าพรรษาด้วย วันทำพิธีเสนเรือน ประมาณ 3.00 น. จะฆ่าหมูที่อธิษฐานไว้ แล้วแจ้งให้ผีรู้ว่าบ้านนี้ทำพิธีด้วยเลือดหมูทาที่หัวบันไดบ้าน แล้วจึงนำหมูชิ้น ๆ จัดเป็น "ปานเผือน" ในห้องผีเรือน โดยต้องมีผู้รู้จัดแต่งเสนให้ ซึ่งปานเผือนนี้ถือเป็นเครื่องเซ่นสำหรับผี ต่อมาประมาณ 7-8 โมงเช้า เจ้าภาพจะเชิญหมอเสนนั่งในห้องผีเรือน แล้วช่วยกันยกปานเผือน 3 ครั้ง ในระดับที่ต่างกัน แล้วหมอเสนจะเชิญผีแต่ละตนมากินเครื่องเซ่น และเหล้า อย่างละ 3 ครั้ง ครั้งแรกหมอเสนจะเชิญผีเรือนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อทั้งหมด โดยเป็นผีเรือนบ้านเจ้าภาพก่อน แล้วจึงเป็นผีบ้านอื่นตามลำดับญาติใกล้ชิด เมื่อหมอเสนเรียกชื่อผีตนใด ก็จะใช้ตะเกียบคีบหมูทิ้งลงไปในช่องเล็ก ๆ ข้างฝาห้องผีเรือน ตามด้วยจุ่มน้ำจากถ้วยที่อยู่บนปานเผือนเป็นการให้น้ำล้างปาก จะเซ่นเช่นนี้จนหมดในบัญชีชื่อผีเรือน แล้วจะเป็นการเซ่นขนม การเซ่นครั้งที่ 2 และ 3 จะเซ่นหมูโดยเรียกเฉพาะผีเรือนบ้านเจ้าภาพเท่านั้น และเซ่นขนมเช่นเดียวกับการเซ่นครั้งที่ 1 ต่อจากนั้นจะมีการเซ่นที่เรียกว่า "แก้มแฮ" คือ การเซ่นด้วยเครื่องเซ่น พร้อมกับกล่าวเชิญเป็นภาษาโซ่ง 7 ครั้ง และมีการเซ่นญาติพี่น้องสกุลเดียวกันที่อยู่ในต่างจังหวัดให้มากินเครื่องเซ่น ต่อจากนั้นจะเป็นการเซ่นเหล้า 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการเซ่นครั้งใหญ่ ครั้งที่ 2 เป็นการเลี้ยงเหล้าล้างปากหลังอาหาร และครั้งที่ 3 เป็นการบอกให้ผีกลับไปบ้านเมืองของตน หลังจากนั้น เจ้าภาพและญาติผีเดียวกัน เข้าไปในห้องผีเรือนเดียวกันอีกครั้ง เพื่อดื่มเหล้าพร้อม ๆ หมอเสนจะให้ผีเรือนพิทักษ์รักษาให้ลูกหลานที่ "มาหยาดฟาย" (การดื่มเหล้าพร้อมกันเพื่อสั่งลาผีเรือน) สุดท้ายจะคำนับผีเรือนพร้อมกันเป็นการส่งผีกลับ (หน้า 24-37) พิธีเสนเรือนสะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อที่เรียกว่า "ลัทธิบูชาบรรพบุรุษ" ของลาวโซ่ง ถ้าไม่จัดพิธีเสนเรือนแล้วโซ่งเชื่อว่าจะเกิดอัปมงคลมีการเจ็บไข้ได้ป่วยและเชื่อว่าเป็นผู้ไม่รู้บุญคุณของบรรพบุรุษ (หน้า 58) - พิธีแต่งงาน ก่อนการแต่งงานหนุ่มสาวลาวโซ่งจะมีการเกี้ยวพาราศรีกันก่อนด้วยการเล่นคอนหรือการลงข่วง เมื่อฝ่ายชายชอบพอรักใคร่ก็ส่งพ่อแม่ไปสู่ขอ ตกลงสินสอดทองหมั้น ต่อจากนั้นก็นัดวันจัดทำพิธีแต่งงานซึ่งต้องเป็นวันดีของฝ่ายชาย หนุ่มสาวลาวโซ่งสามารถแต่งงานกันได้ระหว่างผู้ท้าวกับผู้น้อย และสามารถแต่งได้กับคนในกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ในวันแต่งงาน เริ่มประมาณ 8-9 โมงเช้า ฝ่ายชายจะยกขบวนขันหมากมาบ้านฝ่ายหญิง "ล่าม" (ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาว) ของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าบ่าวพร้อมเพื่อนนำขันหมากส่งให้พ่อแม่และล่ามฝ่ายเจ้าสาว รวมทั้งสินสอด แล้วไปมอบให้ผีเรือน เป็นการบอกให้ทราบ เสร็จแล้วก่อนขบวนขันหมากจะเข้าบ้านได้จะต้องผ่านประตู 3 ชั้น ประตูเหล็ก ประตูเงิน และประตูทอง โดยเสียเหล้า 1 ขวดเป็นค่าผ่านประตู ล่ามของทั้งสองฝ่ายพร้อมด้วยพ่อแม่เจ้าสาวจะพาเจ้าบ่าวไปไหว้ผีเรือน และเซ่นเหล้า พร้อมกับการกล่าวคำอาสา คือ การที่ฝ่ายชายตกลงที่จะอยู่รับใช้ทำงานให้กับครอบครัวฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นเจ้าบ่าวและเพื่อนต้องไหว้พ่อแม่และญาติฝ่ายเจ้าสาวตามลำดับอาวุโส ในขณะเดียวกันล่ามฝ่ายเจ้าสาวจะพาเจ้าสาวและเพื่อนไปหาพ่อแม่และญาติฝ่ายเจ้าบ่าว เพื่อกราบขอรับพร หลังจากนั้นจะมีการเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงาน จากนั้นเป็นพิธีกางมุ้ง โดยที่ฝ่ายเจ้าบ่าวเลือกชายสูงอายุมา 1 คน และเจ้าสาวเลือกหญิงชรามา 1 คน กางมุ้งให้แล้วเข้าไปนอนในมุ้ง พร้อมทำเสียง "อุแว้" เรียกอยากดื่มเหล้า จึงจะให้คู่บ่าวสาวเข้าไปนอนแทนได้ ถือเป็นอันเสร็จพิธีแต่งงาน (หน้า 37-46) ในพิธีแต่งงานเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องไหว้ผีเรือนของกันและกัน ตั้งแต่ไปรับเจ้าสาวที่บ้าน บอกผีเรือนของเจ้าบ่าวว่าจะมีสะใภ้มาอยู่ด้วย มีการจัดพิธีเสนเรือน และมีการทำพิธีเพื่อรับสะใภ้ให้มาถือผีในตระกูลของฝ่ายเจ้าบ่าว และจากนั้นก็จะถือว่า ญาติฝ่ายเจ้าสาวเป็นญาติผีเดียวกันกับญาติฝ่ายเจ้าบ่าว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในเรื่องผีเดียวกันของโซ่ง (หน้า 58 - 59) - พิธีศพ เมื่อมีผู้ตายเจ้าของบ้านจะยิงปืนขึ้นฟ้า 1 หรือ 2 นัด เป็นการบอกข่าวเพื่อนบ้าน จะต้องไปเชิญ "เขยยก" (ผู้ทำพิธีศพ) มาทำพิธีศพให้ เริ่มจากการอาบน้ำศพ หวีผม ผัดหน้าทาแป้ง แต่งเสื้อผ้าชุดใหม่โดยไม่ติดกระดุม เป็นเสื้อ 2 ชั้น ชั้นในเป็นเสื้อก้อม และเสื้อฮีเป็นชั้นนอก คอเสื้อก้อมจะนำเหรียญมาผูกติดเอาไว้ เพื่อเป็นเงินเปิดด่านในเมืองผี และนุ่งผ้าซิ่น พร้อมกับผ้าแพรแดงปิดหน้าศพ ในการนำศพใส่โลงจะใส่ข้าวของเครื่องใช้ผู้ตายลงไปด้วย เพื่อเอาไปใช้ เช้ารุ่งขึ้นเจ้าภาพและญาติผีเดียวกันจะนำขอน (ผู้ที่ตายแล้วเปรียบเหมือนขอนไม้) ไปเผา เวลา 11 โมง เขยยกจะบอกให้ผีกินเครื่องเซ่น และใช้มีดตัดคาถาตัดด้ายสายสิญจน์ที่มัดหัวแม่เท้าศพ แล้วบอกทางที่จะนำศพไปป่าช้า เมื่อเสร็จแล้วจะทำพิธีซ่อนขวัญญาติผีเดียวกันที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ให้ไปกับผู้ตาย จากนั้นยกศพลงจากเรือนเพื่อนำไปเผาที่ป่าช้า โดยให้ลูกชายคนโตถือธงเดินนำหน้าศพ พร้อมกับขบวนที่ถือเครื่องเซ่นและไม้ฟืน พิธีเผาศพ ญาติจะช่วยกันก่อกองไฟขึ้นแล้วหามหีบศพเดินวนซ้าย 3 รอบ จากนั้นนำศพไปตั้งบนกองไฟ ขณะเผานั้น ญาติผู้ตายจะโยนสิ่งของเครื่องใช้ซึ่งห่อรวมไว้ใส่ขมุกข้ามกองไฟ 3 ครั้ง ส่วนเจ้าภาพจะถือถาดแจกแขกที่มาร่วมงานคนละดอก วันรุ่งขึ้นเก็บกระดูกทำความสะอาดกระดูกด้วยน้ำอบไทยและขมิ้น ลูกชายคนตายจะแบ่งกระดูกส่วนหนึ่งไว้เพื่อเอากลับบ้าน ส่วนที่เหลือจะบรรจุลงในหม้อดินขนาดเล็กและปิดฝาเพื่อฝังลงหลุม จากนั้นนำแคร่มาวางทับบนหลุม พร้อมกับที่นอนและของใช้ผู้ตาย แล้วเขยยกจะเรียกให้ช่วยกันสร้างบ้านจำลองหลังเล็ก คร่อมลงไปบนแคร่ แต่ปัจจุบันนิยมซื้อศาลพระภูมิมาใช้แทน ในขณะเดียวกันญาติอีกส่วนหนึ่งจะช่วยกันทำผลี ร่ม และธง เพื่อใช้ในพิธีบอกทางศพตั้งแต่ออกจากบ้านไปจนถึงเวียงจันทน์ หลังจากเผาแล้วต้องไปป่าช้าอีกครั้ง เพื่อนำผลี ร่ม ธงไปประกอบเป็นเสาหลวงที่ป่าช้า ญาติผีเดียวกันก้มลงกราบหน้าเสาหลวงและบ้านจำลอง เป็นอันเสร็จพิธี สำหรับเจ้าภาพต้องหาวันดีเพื่อเชิญผีเรือนขึ้นบ้านและจดรายชื่อผู้ตายไว้ในบัญชีรายชื่อผีเรือน ที่เรียกว่า "ปั๊บผีเรือน" (หน้า 46-54) เวลาบ้านใดทำพิธีเสนเรือนก็จะเชิญผีตัวนั้นไปกินเครื่องเซ่นด้วย ซึ่งก็สะท้อนถึงความเชื่อในเรื่องผีเดียวกัน (หน้า 59)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

การรักษาพยาบาล ลาวโซ่งมีความเชื่อว่า ความเจ็บไข้ได้ป่วยเกิดจาก แถน หรือ ผีฟ้า ไม่พอใจ ดังนั้นเมื่อเจ็บป่วยจึงมักจะไปหา หมอมด ซึ่งเป็นผู้ทำพิธีเสนแก้เคราะห์ให้กับผู้ที่เจ็บป่วยจากการกระทำของ แถน หรือ ผีฟ้า แต่ถ้ายังรักษาไม่หายก็จะพาไปหา หมอเยื้อง หมายถึง หมอดู หรือ หมอเสี่ยงทำนาย เพื่อดูว่าถูกผีตนใดกระทำ ถ้ารู้ว่า เพราะผีพ่อแม่ถูกแถนจับขังไว้ ก็จะต้องทำพิธีเสนเต็งเพื่อไถ่ตัวผีพ่อแม่จากแถน โดยที่ญาติต้องอธิษฐานว่าถ้าหายเมื่อใดก็จะทำพิธีเสนเต็งให้ เมื่อผู้ป่วยหายแล้วก็ต้องทำตามที่อธิษฐานไว้ (หน้า 88)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกาย : เครื่องแต่งกายของลาวโซ่งทั้งชายและหญิงนิยมแต่งชุดสีดำหรือสีครามเข้มเป็นประจำ จนได้ชื่อเรียกว่า "ลาวทรงดำ" หรือ "ไทยทรงดำ" เครื่องแต่งกายแบ่งเป็นชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และชุดที่ใช้ในโอกาสพิเศษ - ชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้ชายนุ่งกางเกงขาสั้นสีดำหรือสีครามเข้ม เรียกว่า "ส้วงขาเต้น" สวมเสื้อแขนกระบอกยาวสีดำรัดข้อมือ ผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินประมาณ 10 - 15 เม็ด เรียกว่า "เสื้อไท" ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นสีดำหรือสีครามเข้ม มีลายขาวเป็นทางลงสลับดำ มีเชิงผ้าเป็นขอบขวางกว้างประมาณ 2 - 3 นิ้ว สวมเสื้อแขนกระบอก แขนยาวสีดำรัดข้อมือ ผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินประมาณ 9 - 10 เม็ด เรียกว่า "เสื้อก้อม" - ชุดที่ใช้ในโอกาสพิเศษ ผู้ชายนุ่งกางเกงขายาวสีดำ เรียกว่า "ส้วงขาฮี" สวมเสื้อที่ใช้ในโอกาสพิเศษ เรียกว่า "เสื้อฮี" ทำด้วยผ้าฝ้ายย้อมคราม ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย ผ่าหน้าตลอด ความยาวคลุมตะโพก เสื้อจะผ่าข้างขึ้นมาถึงเอว คอเสื้อเป็นคอกลมติดคอ กุ๊นรอบคอด้วยผ้าไหมสีแดง แล้วเดินเส้นทับด้วยไหมสีแสด สีเขียว สีขาว ตรงคอเสื้อมีกระดุมติดคล้องไว้ 1 เม็ด แขนเสื้อเป็นแขนกระบอกแขนยาว มักตกแต่งรักแร้และด้านข้างของตัวเสื้อด้วยเศษผ้าไหมสีต่างๆ พร้อมทั้งติดกระจกชิ้นเล็กๆ ตามลวดลายอย่างงดงาม สำหรับผู้หญิงก็ต้องใส่เสื้อฮีเช่นเดียวกัน แต่เสื้อฮีของผู้หญิงตัวใหญ่กว่าของผู้ชายมาก ด้านหน้าทำเป็นคอแหลมลึก ใช้สวมหัว ปักตกแต่งด้านหน้าด้วยเศษผ้าไหมสีต่างๆ แขนเสื้อเป็นแขนกระบอก แขนสามส่วน นิยมปักตกแต่งปลายแขนด้วยไหมสีแดง สีแสด สีเขียว และสีขาว (หน้า 3 - 4) (ดู เครื่องแต่งกายชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้หญิงโซ่ง, หน้า 99), (ดู "เสื้อฮี" เครื่องแต่งกายชุดที่ใช้ในโอกาสพิเศษของชายและหญิงโซ่ง, หน้า 100) ในด้านศิลปหัตถกรรม ผู้ชายนิยมทำเครื่องจักรสาน ผู้หญิงนิยมการเย็บปักถักร้อย และทอผ้า (หน้า 5)

Folklore

ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับตำนาน นิทาน และเรื่องเล่า มีแต่การละเล่นที่เรียกว่า การเล่นคอน, การเล่นคอน หมายถึง การเล่นลูกช่วง ภาษาโซ่งเรียกว่า ลูกคอน การเล่นคอนมักเล่นกันในเดือนห้า ผู้เล่นมักเป็นคนหนุ่มสาวประมาณ 15 - 20 คน ใช้ลูกช่วงเป็นอุปกรณ์การละเล่นที่สำคัญ หนุ่มสาวโซ่งจะโยนให้ถูกตัวกันเป็นการเกี้ยวพาราสีและเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างหนุ่มสาวอีกวิธีหนึ่ง (หน้า 37 - 38)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ผู้วิจัยได้กล่าวไว้ในข้อเสนอแนะว่า ชุมชนลาวโซ่งกลุ่มนี้ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด เมื่อเปรียบเทียบกับลาวกลุ่มอื่นในประเทศไทย รวมทั้งข้อเสนอแนะในการศึกษาแนวทางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่อไปอีกด้วย (หน้า 78)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

รูปภาพ : บ้านแบบดั้งเดิมของลาวโซ่ง (หน้า 94), หมอเสนคีบอาหารจากปานเผือนทิ้งลงช่องที่เจาะไว้ที่ผนังห้องผีเรือนเพื่อเซ่นผีบรรพบุรุษ (หน้า 95), เจ้าสาวและเพื่อนเจ้าสาวไหว้ญาติทางฝ่ายเจ้าบ่าว (หน้า 96), นำศพไปเผาที่ป่าช้า (หน้า 97), เสาหลวง (หน้า 98), เครื่องแต่งกายชุดที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้หญิงโซ่ง (หน้า 99), "เสื้อฮี" เครื่องแต่งกายชุดที่ใช้ในโอกาสพิเศษของชายและหญิงโซ่ง (หน้า 100) แผนที่ : แผนที่อำเภอเขาน้อย จังหวัดเพชรบุรี (หน้า [3])

Text Analyst ธิกานต์ ศรีนารา, ศรายุทธ โรจน์รัตนรักษ์ Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ, โครงสร้างสังคม, ระบบเครือญาติ, พิธีกรรม, เพชรบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง