สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ดาระอั้ง ทรัพยากรป่า สิทธิ การเข้าถึง การจัดการ การปรับตัว เชียงใหม่
Author สกุณี ณัฐพูลวัฒน์
Title กลยุทธ์ในการเข้าถึงทรัพยากรของชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่ ท่ามกลางบริบทของการปิดล้อมพื้นที่ป่า
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ดาราอาง ดาระอางแดง รูไม ปะเล รูจิง ตะอาง, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 145 หน้า Year 2544
Source วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Abstract

          การปรับตัวและแสวงหาวิธีการในการเข้าถึงทรัพยากรป่าและที่ดิน  ตลอดจนการดำรงชีวิต  เพื่อให้อยู่รอดอย่างมั่นคงของดาระอั้งบ้านปางแดงในซึ่งเป็นชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่  มีสองระดับ  คือ ในระดับชุมชน  พบว่า  ดาระอั้งผสมผสานความเชื่อดั้งเดิมกับแนวคิดใหม่ในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรป่า  โดยยังมีวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับป่า  ในขณะเดียวกันก็นำแนวคิดเรื่องป่าชุมชนมาใช้  และเข้าร่วมเครือข่ายป่าชุมชนต้นน้ำแม่ปิงอำเภอเชียงดาว  เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง  นอกจากนี้  ยังสร้างความชอบธรรมในการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่า  โดยการนำเรื่องเล่าตำนานต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา  และความเชื่อเรื่องสายสัมพันธ์ไทย – ดาระอั้ง  มาอธิบายร้อยเรียงเชื่อมโยงให้เห็นว่า  ดาระอั้งเคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อนแล้ว  อีกทั้งได้แสดงความมีตัวตนในสังคมให้เกิดการยอมรับจากภายนอก  ด้วยการให้ความร่วมมือกับทางราชการและองค์กรเครือข่ายที่ตนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมอย่างเต็มใจและเต็มที่  สำหรับในระดับปัจเจก  เมื่อวิถีชีวิตเข้าไปอยู่ในกระแสทุนนิยม  ต้องพึ่งพาตลาดจากภายนอกมากขึ้น  ในขณะที่ต้องผลิตซ้ำในที่ดินเดิมอันจำกัด  วิถีการผลิตจึงต้องปรับเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อขายให้ได้เงินสดเข้ามา  ดาระอั้งจึงหันมาปลูกพืชพาณิชย์เพิ่มขึ้นแทนการปลูกข้าว  ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าแต่ขายได้เงินมากกว่า  และเพิ่มรายได้ให้ครอบครัวด้วยการไปเป็นแรงงานรับจ้าง  บางครอบครัวก็ทำบ้านพักนักท่องเที่ยวสำหรับ trekking tour ด้วย

Focus

          การเข้าถึงและการจัดการทรัพยากรป่าด้วยวิธีคิดแบบดั้งเดิม และการปรับตัวในบริบทใหม่ ภายใต้การปิดล้อมพื้นที่ป่า  ของชุมชนดาระอั้งบ้านปางแดงใน (บ้านไทยพัฒนาปางแดง)  ซึ่งเป็นชุมชนตั้งถิ่นฐานใหม่ในตำบลเชียงดาว  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่

Theoretical Issues

          ผู้วิจัยพบว่า  ชุมชนดาระอั้งบ้านปางแดงใน  ไม่ยอมจำนนต่อการถูกปิดล้อมด้วยเงื่อนไขอันหลากหลายและซับซ้อนในการดำรงชีวิตในพื้นที่ป่า หากแต่ได้พยายามปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ของตนเองกับสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  โดยเฉพาะการพึ่งพิงทรัพยากรป่าในบริบทใหม่  เพื่อความอยู่รอดและความมั่นคง

Ethnic Group in the Focus

          “ดาระอั้ง”  เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์นี้ใช้เรียกตัวเอง  ดาระอั้งหมายถึง “คนที่อยู่บนดอย”  แต่คนส่วนใหญ่รู้จักชาติพันธุ์ดาระอั้งในชื่อว่า “ปะหล่อง”  ซึ่งดาระอั้งไม่ทราบความหมายของคำว่าปะหล่อง (หน้า 22)  ที่บ้านปางแดงในผู้นำหมู่บ้านระบุว่า พวกเขาคือ “ดาระอั้งเร่น”  หรือ  “ดาระอั้งซิ่นแดง”  (หน้า 26)

Language and Linguistic Affiliations

          ภาษาพูดของดาระอั้ง จัดอยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติค (Austroasiatic)  หรือตระกูลภาษา มอญ-เขมร เหมือนกับลัวะ  โดยแบ่งย่อยเป็นกลุ่มพูดภาษา ปะหล่อง-ละว้า  ดาระอั้งไม่มีภาษาเขียนของตัวเอง  ยืมอักษรไทยใหญ่มาใช้  (หน้า 22, 44)

Study Period (Data Collection)

          เก็บข้อมูลภาคสนามในช่วงปลายปี พ.ศ. 2541 (หน้า 18)  ถึงต้นปี พ.ศ.2544 (จากข้อมูลการสัมภาษณ์ที่อ้างถึงในงานวิจัยมีระบุถึง วันที่ 26 มีนาคม 2544 – หน้า 62)

History of the Group and Community

          ช่วงปี พ.ศ. 2525  ดาระอั้งประมาณ 200 คนบริเวณตะเข็บชายแดนไทยพม่า  ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  อาศัยอยู่ในที่ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกว่า “บ้านนอแล” บนดอยอ่างขาง  จากนั้น  มีดาระอั้งจากดอยลายในพม่าอพยพเข้ามาเพิ่ม  จนเกิดปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน  ทำให้มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปในพื้นที่อื่น ๆ ทางภาคเหนือของไทย  (หน้า 35-36)  หมู่บ้านดาระอั้งบ้านปางแดงใน (หมู่บ้านไทยพัฒนาปางแดง) สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2527  เริ่มต้นจากดาระอั้งที่อพยพมาจากบ้านนอแล  ไปเป็นแรงงานรับจ้างในสวนชาบริเวณบ้านแม่จอน อำเภอเชียงดาว  และขอแบ่งที่ดินไร่เหล่าเก่าของปกาเกอะญอตั้งบ้านเรือนและทำไร่ข้าว  ต่อมาด้วยเหตุที่เด็กๆ เดินทางไปเรียนหนังสือลำบาก  ประกอบกับปกาเกอะญอขอที่ดินคืน  ดาระอั้งจึงขอซื้อที่ดินจำนวน 10 ไร่กับคนเมืองที่ขึ้นไปบุกเบิกเป็นเจ้าของที่ดินจำนวนมากบนพื้นที่สูง  เพื่อตั้งหมู่บ้านและจัดสรรที่ดินให้แต่ละครอบครัว  ในเขตหมู่บ้านทุ่งหลุก ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ลุ่มน้ำแม่เตาะ – ห้วยอีโก๋  จากนั้น ดาระอั้งที่มีเงินได้ซื้อที่ดินรอบ ๆ หมู่บ้านเพิ่มเพื่อปลูกข้าวไร่  ส่วนที่ยากจนบางคนเข้าบุกเบิกที่ดินในป่าห่างไกลจากหมู่บ้าน  บางคนก็เช่าสิทธิทำกินต่อจากปกาเกอะญอ  การซื้อขายและการเช่าที่ดินไม่มีสัญญา  ไม่มีโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์  ทำให้ดาระอั้งครอบครองที่ดินทำกินอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย (หน้า 40-43,59-60)
          ช่วงปี พ.ศ.2530 – 2532  รัฐบาลเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ  ทำให้พื้นที่ป่าถูกบุกเบิก  ป่าไม้ถูกตัดอย่างรุนแรงโดยคนนอกหมู่บ้าน  ส่งผลให้พื้นที่ป่าในเขตลุ่มน้ำแม่เตาะ – ห้วยอีโก๋ลดลงอย่างรวดเร็ว  ต่อมาในปี พ.ศ.2532 รัฐบาลประกาศปิดป่า  ทำให้ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่จับกุมข้อหาบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่า  ทั้งที่หลายพื้นที่เป็นชุมชนดั้งเดิมอยู่มาก่อนการประกาศใช้กฎหมาย  และบางส่วนชาวบ้านก็เป็นเพียงแพะรับบาป  เนื่องจากการเปิดพื้นที่ป่าอย่างกว้างขวางนั้น  เกิดจากอิทธิพลท้องถิ่นและกลุ่มนายทุนรายใหญ่จากภายนอกกับอำนาจทางการเมือง 
          ช่วงปี พ.ศ. 2532 – 2535 ผู้ชายดาระอั้งบ้านปางแดงในจำนวน 29 คนถูกจับคุมขังด้วยข้อหาตัดต้นไม้ในป่า  หลังจากนั้น ทางการได้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา  ส่งผลให้ที่ดินบางส่วนของชาวบ้านถูกยึดไปเป็นของกรมป่าไม้  และดำเนินการปลูกสวนป่าสัก  เมื่อผู้ชายส่วนใหญ่ถูกจับคุมขัง  ในหมู่บ้านจึงเหลือแต่คนแก่ผู้หญิงและเด็ก  ที่ขาดทั้งพื้นที่ทำกินและขาดแรงงานในการผลิต  บางคนปลูกข้าวไร่ในพื้นที่เล็ก ๆ  เป็นการปลูกเพื่อยังชีพเท่าที่แรงงานในครอบครัวจะทำได้  แต่ส่วนใหญ่ไม่พอกิน  ผู้หญิงและคนแก่บางส่วนไปรับจ้างเจ้าหน้าที่ปลูกป่าสัก  ในระยะนั้นชาวบ้านมีการใช้ยาฆ่าแมลงและยาฆ่าหญ้า  เพราะมีพ่อค้าในเมืองมาแนะนำ  และเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องไปหาหมอแผนใหม่ในเมือง  เพราะหมอยาในหมู่บ้านก็ถูกจับติดคุกด้วย  การถูกจับกุมด้วยข้อหาบุกรุกป่า  การเป็นคนไร้สัญชาติ  และการขาดที่ดินทำกิน  ส่งผลให้ดาระอั้งบ้านปางแดงในพึ่งพาตนเองได้น้อยลง  มีชีวิตที่พึ่งระบบตลาดมากขึ้น (หน้า 62-68) 
         ช่วงปี พ.ศ. 2535 – 2542  : เมื่อผู้ชายดาระอั้งบ้านปางแดงในออกจากคุกในปี พ.ศ. 2535  สภาพหมู่บ้านและพื้นที่โดยรอบก็เปลี่ยนไปเป็นสวนป่าต้นสักเต็มพื้นที่  การดำเนินชีวิตของชาวบ้านก็ปรับเปลี่ยนไปจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเพื่อการค้า  และเป็นแรงงานรับจ้างในภาคการเกษตรให้กับชุมชนพื้นราบ  ซึ่งมีการจ้างงานตลอดทั้งปี  หลายครอบครัวขยายพื้นที่ทำกินด้วยการเช่าพื้นที่ว่างเปล่าของคนเมืองหรือซื้อแบบผ่อนส่ง มีการใช้ปุ๋ย-ยาฆ่าหญ้า-ยาฆ่าแมลงเพื่อเพิ่มผลผลิตให้ขายได้มากขึ้น  นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา  ธุรกิจท่องเที่ยวแบบ trekking tour เติบโตขึ้นตามกระแสการท่องเที่ยวแบบ Eco-tourism  บ้านปางแดงในก็เป็นจุดพักที่นิยมจุดหนึ่งของ trekking tour  การสร้างบ้านพักนักท่องเที่ยวจึงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญอีกแหล่งหนึ่งของดาระอั้งบ้านปางแดงใน  และเพื่อให้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้ตามเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่  ดาระอั้งบ้านปางแดงในตกลงกันว่า  ห้ามบุกเบิกที่ทำกินในบริเวณพื้นที่ป่าเขตอุทยานศรีล้านนา  แต่ยังคงหาของป่าในเขตป่าใกล้หมู่บ้านได้  และจะไม่รับสมาชิกเพิ่มเข้ามาในหมู่บ้านปางแดงในอีก  (หน้า 68-71)  
          ต้นปี พ.ศ. 2541 กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น YMCAได้เข้ามาอบรมเรื่องป่าชุมชนและนำตัวแทนชาวบ้านไปดูงาน  ต่อมาได้ขึ้นป้ายป่าชุมชนบ้านปางแดงให้กับชุมชนบ้านปางแดงใน ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีล้านนา  อย่างไรก็ตาม  ประเด็นป่าชุมชนยังคงมีการต่อสู้ต่อมาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อผลักดันพระราชบัญญัติป่าชุมชนให้เกิดขึ้น  กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และคนเมือง  ได้ตกลงร่วมกันในการสร้างเครือข่ายป่าชุมชนของอำเภอเชียงดาว  เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในเรื่องป่าชุมชน  การถูกปิดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้ดาระอั้งเกิดการเรียนรู้ ต่อสู้ และปรับตัวในปัจจุบัน  (หน้า 70-73, 76) 

Settlement Pattern

          การตั้งบ้านเรือนมีแบบแผนชัดเจน คือ มีถนนผ่านกลางหมู่บ้าน  มีวัดอยู่กลางหมู่บ้าน  มีประตูหมู่บ้านซึ่งจะติดคาถากันผีไว้  ทางด้านเหนือของหมู่บ้านจะมีศาลผีเจ้าเมือง (สะเมิง)  และถัดไปจะเป็นป่าช้าของหมู่บ้าน  ลักษณะบ้านเรือน  ส่วนใหญ่ทำด้วยไม้ไผ่ยกพื้นสูง  อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขยายในบ้านแบบ “long house” หรือ “ก้างต้ง”  ภายในบ้านมีหิ้งบูชาพระและเตาไฟกลางบ้าน  (หน้า 28)

Demography

          ดาระอั้งมีมากในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉาน  บางส่วนอยู่ทางภาคใต้ของรัฐคะฉิ่น ในประเทศพม่า  และแถบยูนนาน ประเทศจีน  จำนวนดาระอั้งที่อาศัยอยู่ในพม่ามีประมาณ 300,000 – 400,000 คน (NCGUB, 1996)  และที่อาศัยอยู่บนดอยสูงเมืองลูซี  เฉินกาง ในเขตปกครองตนเองยูนนาน  อยู่รวมกับชนเผ่าฮั่น  ลีซู  ว้า  ไต  และจิงโป  มีประมาณ 12,000 คน (อุษณีย์, 2536)  ส่วนในประเทศไทยมีดาระอั้งประมาณ 5,000 – 7,000 คน (Naw San, 8 กรกฎาคม 2543)  (หน้า 25-28)  จากการสำรวจพบว่า  มีดาระอั้งอาศัยอยู่ 9 หมู่บ้าน  ได้แก่  หมู่บ้านห้วยหวายนอก  หมู่บ้านห้วยทรายขาว  อำเภอแม่อาย, หมู่บ้านห้วยจะนุ  หมู่บ้านห้วยหมากเลี่ยม  หมู่บ้านนอแล  อำเภอฝาง, หมู่บ้านแม่จอน  หมู่บ้านห้วยปง  หมู่บ้านปางแดงนอก  หมู่บ้านปางแดงใน (หมู่บ้านไทยพัฒนา)  อำเภอเชียงดาว (โครงการพัฒนาพื้นที่สูงเชียงใหม่, 2541) (หน้า 37-38)  ดาระอั้งบ้านปางแดงในมี 44 หลังคาเรือน  47  ครอบครัว  จำนวนประชากร 244 คน  (สำรวจเมื่อ 6 กรกฎาคม 2543) (หน้า 76)

Economy

          1. การใช้และการจัดการทรัพยากร :แบบแผนดั้งเดิมในการจัดตั้งหมู่บ้าน การใช้ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าของดาระอั้ง (ดูหัวข้อ 14.Community Site)ได้เปลี่ยนแปลงไป  ดาระอั้งบ้านปางแดงในมีชุมชนอยู่ตรงกลางเหมือนเดิม  แต่พื้นที่รอบหมู่บ้านเป็นไร่ถาวร (ซึ่งแบบดั้งเดิมจะเป็นป่าใกล้บ้าน)  ถัดจากไร่ที่ทำกินเป็นป่าชุมชนใช้สอย  ซึ่งเปรียบได้กับ “แปร่บ่าเร่งเร่า” หรือป่าใช้สอยเดิม  แต่ไม่ได้อยู่รอบชุมชนดังเดิม  รอบนอกสุดเป็นป่าชุมชนอนุรักษ์  ห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์  ต้องเก็บไว้เป็นต้นน้ำ  คือพื้นที่ป่าดิบในแบบแผนดั้งเดิมซึ่งมีป่าต้นน้ำอยู่ด้วย  ส่วนหอเจ้าเมือง (โฮสะเมิง) และป่าช้า (แปร่บ่าเรี่ยว) ปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่ที่เป็นไร่ (หน้า 99-100)
          ดาระอั้งเปลี่ยนแปลงการจัดการและใช้ทรัพยากร  โดยการผสมผสานความรู้ดั้งเดิมกับความรู้ใหม่ตามบริบทที่เปลี่ยนไป  เดิมการทำไร่ที่ดอยลายในพม่า  มีพื้นที่ไม่จำกัด  เมื่อทำไร่แบบตัดโค่นเผา (Swidden)แล้ว  จะทิ้งระยะสามปี  ผืนดินจะฟื้นตัวพอดี  แล้วจึงเวียนกลับมาทำไร่ใหม่  แต่เมื่อมาอยู่บ้านปางแดงใน  พื้นที่ป่ามีจำกัด  ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนแบบเดิมได้อีก  ต้องทำไร่ซ้ำ ๆ ในที่ดินเดิม  จึงจำเป็นต้องใช้ปุ๋ย ใช้ยา ใช้ฮอร์โมน (หน้า 88-90, 104, 106)   เมื่อต้องผลิตบนที่ดินอันจำกัด  ในขณะที่วิถีชีวิตต้องพึ่งพาตลาดจากภายนอกมากขึ้น (ดูหัวข้อ 16. History)  วิถีการผลิตจึงต้องปรับเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อขายให้ได้เงินสดเข้ามา  ดาระอั้งจึงหันมาปลูกพืชพาณิชย์เพิ่มขึ้นแทนการปลูกข้าว  เช่น  ปลูกถั่วพันธุ์ต่าง ๆ  และข้าวโพด  เป็นต้น  ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าปลูกข้าวแต่ขายได้เงินมากกว่า  และใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เพื่อเพิ่มผลผลิต  จะปลูกข้าวเพียงพอกินเท่านั้น  เนื่องจากการปลูกข้าวมีหลายขั้นตอน ต้องพึ่งดินฟ้าอากาศ ใช้เวลานาน และใช้แรงงานมาก  แต่แรงงานต้องถูกแบ่งไปทำงานรับจ้างด้วย  เพื่อให้ได้เงินสดเพิ่มขึ้น  (หน้า 106-108) 
          2.  การแลกเปลี่ยนแรงงานในการผลิต :  ดาระอั้งยังคงมีการแลกเปลี่ยนแรงงานที่เรียกว่า “เอามื้อ” หรือ “กะเวน”  โดยแยกเป็นการแลกเปลี่ยนแรงงานกันในกระบวนการผลิตทางการเกษตรและงานอื่นๆ เช่น  เอามื้อช่วยสร้างบ้าน  เป็นต้น  ตัวอย่างการแลกเปลี่ยนแรงงานที่ปฏิบัติกัน  เช่น  บ้านใดมีคนมาช่วย 2 คน 1 วัน  ก็ต้องกลับไปช่วยคืนแรงงาน 2 คน 1 วัน  หรือ 1 คน 2 วัน เท่าเทียมกัน  โดยไม่แบ่งแยกว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย  แต่หากเป็นการเอามื้อสร้างบ้านพักนักท่องเที่ยว  จะใช้วิธีจ้างแรงงาน  ส่วนดาระอั้งที่ยากจนหรือไม่มีที่ดิน  อาจไปใช้แรงงานโดยขอค่าตอบแทนเป็นเงินก็ได้  (หน้า 111-112)
          3.  การทำงานรับจ้าง :  นอกเหนือจากการทำไร่ของตนเองแล้ว  ดาระอั้งบ้านปางแดงในยังไปเป็นแรงงานรับจ้างในไร่กระเทียมหอม พริก นาข้าว หรืออื่น ๆ แล้วแต่ฤดูกาล  ให้แก่คนเมืองพื้นราบในตำบลเชียงดาว  ซึ่งมีระบบการผลิตเชิงพาณิชย์ที่ต้องการแรงงานรับจ้างจำนวนมาก  โดยจัดเวลาและจัดคนในครอบครัวระหว่างงานในไร่ของตนกับงานรับจ้าง  ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาจะแตกต่างกันตามลักษณะของผลผลิต  อัตราค่าจ้างที่ได้รับขึ้นกับประเภทของงานและผลผลิต  เช่น  การจ้างเกี่ยวข้าวคิดเป็นค่าจ้างรายวัน  ส่วนงานรับจ้างเก็บพริกคิดเป็นอัตราค่าจ้างต่อกิโลกรัมที่เก็บได้  เป็นต้น  (หน้า 111-114) 
          4.  การทำบ้านพักนักท่องเที่ยว :  เมื่อกระแสการท่องเที่ยวแบบ trekking tour เติบโตขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่เตาะ – ห้วยอีโก๋  บ้านปางแดงในเป็นจุดพักที่นิยมจุดหนึ่ง  ดาระอั้งบ้านปางแดงในจึงได้ปรับปรุงที่อยู่อาศัย  หรือสร้างบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว  โดยเริ่มต้นทำแบบส่วนรวมของหมู่บ้าน  แต่จัดการลำบาก  ไม่มีคนดูแลจริงจัง  ภายหลังได้แยกกันทำของแต่ละครัวเรือน (มี 6 ครัวเรือนที่ทำ)  โดยติดต่อสัมพันธ์กับบริษัททัวร์ต่างกันไป  ในกรณีนักท่องเที่ยวมาค้างคืน  อาจมีการแสดงของผู้หญิงและเด็กให้ชม  ซึ่งเป็นที่มาของรายได้อีกส่วนหนึ่ง  นอกจากนี้  ยังมีรายได้จากการขายของให้นักท่องเที่ยว  เช่น สินค้าหัตถกรรม เป็นต้น  เมื่อการท่องเที่ยวขยายเข้าไปในหมู่บ้าน  ได้สร้างความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ขึ้น  เช่น  เกิดจากผู้หญิงและเด็ก ๆ ที่ต้องการให้ได้รับเลือกเป็นกลุ่มแสดง  หรือเกิดความขัดแย้งจากการขายของให้นักท่องเที่ยว  เป็นต้น  (หน้า 112-120)

Social Organization

          ดาระอั้งโดยทั่วไป  ถือระบบผัวเดียวเมียเดียวที่ให้หย่าร้างกันได้  และเมื่อหย่าร้างกันแล้ว  ยังสามารถแต่งงานมีครอบครัวใหม่ได้  ดาระอั้งถือระบบชายเป็นใหญ่ในครัวเรือน  (หน้า 29)  

Political Organization

          ดาระอั้งอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน  ให้ความเคารพนับถือผู้อาวุโส  มีผู้นำหมู่บ้านที่มักจะเป็นผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ  เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ยุติธรรม  ผู้นำหมู่บ้านเรียกว่า “ดาบุแซ่น”  ทำหน้าที่ดูแลประเพณี  ควบคุมการทำงานของส่วนรวม  และดูแลความสงบเรียบร้อยภายในชุมชน  นอกจากนี้  ยังมีผู้นำอย่างไม่เป็นทางการคือ “หมอผี” ของหมู่บ้าน  ซึ่งเรียกว่า “หมอเมือง”  หรือ “หมอเมิง”  หรือ “สะล่า”  เป็นผู้นำทางพิธีกรรมสืบทอดต่อมาทางสายตระกูล  โดยเลือกจากลูกชายคนโตของหมอเมิงคนเดิม  (หน้า 29, 44-45)  (หมอผี, หมอเมือง, หมอยา  เป็นคนเดียวกัน – หน้า 90)

Belief System

          1.  ดาระอั้งเป็นชาวพุทธนิกายเถรวาท  มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ  มีความเชื่อเรื่องบาป-บุญ  และผลของเวรกรรมที่ได้กระทำมาแต่ชาติปางก่อน  ตำนานความเชื่อหลายเรื่องถูกนำไปเกี่ยวโยงกับเรื่องราวทางพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้า  การทำความดี  และการเป็นผู้มีบุญ  นอกจากนี้  ยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างดาระอั้งกับคนไทย  ผ่านการตีความบทสวดมนต์ที่ใกล้เคียงกัน  การเข้าวัดทำบุญ  การถือศีล  และตำนานทางศาสนา
          2.  ป่าในจักรวาลวิทยาของดาระอั้ง :  ดาระอั้งเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีเจ้าของ  มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองอยู่  ป่าก็เช่นกัน  จึงจำเป็นต้องให้ความเคารพ  เมื่อใช้ประโยชน์ต้องทำพิธีขอบคุณ  หรือต้องขอขมาเมื่อมีการล่วงเกินหรือผิดผี  ลำห้วย  ลำธาร  น้ำที่ใช้ก็เช่นกันมีผี  มีเจ้าที่เจ้าทาง  ผีในความเชื่อของดาระอั้งมีสองประเภท  ดังนี้  2.1)  “กะหย้า”  หมายถึงผีที่ให้คุณ  คอยปกป้องช่วยเหลือคน เช่น ผีไม้ หรือ “กะหย้าแปร่” เป็นผีที่อยู่ในต้นไม้  ต้องเคารพไม่ล่วงเกิน  เป็นต้น  2.2) “กะหน้ำ”  เป็นผีที่มักให้โทษ  ต้องระวังไม่ล่วงเกิน  ไม่ว่าผีดีหรือผีร้าย  ดาระอั้งจะอบรมสั่งสอนลูกหลานให้ยำเกรงไม่ให้ล่วงเกิน  การดำรงชีวิตของดาระอั้งจึงมีข้อห้ามและกฎเกณฑ์มากมายที่เกี่ยวกับป่าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์  และสร้างเป็นระบบความเชื่อจากรุ่นสู่รุ่น เช่น ไม่ตัดต้นไม้ใหญ่  เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาก  มีเจ้าของคุ้มครองอยู่นาน  เข้าป่าห้ามด่าทอกันเสียงดัง  เพราะเป็นการไม่เคารพต่อผีป่าและผีต้นไม้  เป็นต้น  ข้อห้ามที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้  จึงเป็นเครื่องมือในการควบคุมการใช้ประโยชน์จากป่าและทรัพยากรธรรมชาติ  (หน้า 84-86)
          3.  พิธีกรรมเซ่นไหว้ผีที่สำคัญ :  3.1) พิธี “กะบิไค่บ๊าก”  หรือพิธี “วันปิดประตูผี”  เป็นพิธีไหว้ผีเจ้าเมือง (สะเมิง)  เพื่อให้คุ้มครองผลผลิต  พิธีจัดขึ้นก่อนเข้าฤดูเพาะปลูก (ช่วงเดือนกรกฎาคม) เป็นพิธีกรรมของชุมชนจัดที่หอเจ้าเมือง (โฮสะเมิง)  ทำพิธีโดยหมอผี  สำหรับแต่ละครัวเรือนก่อนออกไปร่วมทำพิธีที่หอเจ้าเมือง  จะทำพิธีเซ่นไหว้ผีบ้าน (กะหย้าร่า) ก่อน  เพื่อบอกให้ผีบ้านช่วยเป็นสื่อไปบอกผีเจ้าเมืองให้รู้ก่อนว่าจะไปทำพิธีเซ่นไหว้  ในช่วงปิดประตูผีเวลาสามเดือนจนออกพรรษา  ห้ามมีการแต่งงานและต้องถือศีลอย่างเคร่งครัด  ข้อห้ามนี้เป็นการจัดการแรงงานในช่วงเวลาการเพาะปลูกของครอบครัว  เป็นการห้ามผู้หญิงออกเรือน  เพื่อรักษาแรงงานเพื่อการผลิตในครอบครัวไว้  (หน้า 109-110)  3.2) พิธีเซ่นไหว้ “นายพันข้าว” หรือ “ปู่พันข่าว” ก่อนการเพาะปลูก  เป็นการเซ่นไหว้ผู้คุ้มครองผลผลิตในไร่ข้าว  และทำพิธีขอบคุณ “นายพันข้าว” หลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ  จากนั้นเชิญนายพันข้าวไปสถิตอยู่ที่หลองข้าว  เพื่อดูแลข้าวต่อไป  (หน้า 101)  3.3) พิธีเซ่นไหว้ “กะหย้าแปร่” (ผีต้นไม้)  เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย  โดยเลือกต้นไม้ใหญ่อายุยืน  เป็นต้นอะไรก็ได้ในป่าข้างบ้าน  พิธีจัดขึ้นตอนบ่ายโดยหมอยา (หมอยา, หมอเมือง, หมอผี เป็นคนเดียวกัน – หน้า 90)  หรือผู้เฒ่าผู้ชายในหมู่บ้านก็ได้ (ในกรณีที่หมอยาไม่ว่าง)  เข้าไปทำพิธีในป่าคนเดียว  เพราะผีต้นไม้ไม่ต้องการให้คนเข้าไปรบกวนมาก  และผู้หญิงกับผีไม่สามารถติดต่อกันได้  ผู้ทำพิธีจึงต้องเป็นผู้ชาย  (หน้า 92)  นอกจากนี้ยังมีพิธีอื่น ๆ อีก เช่น พิธีเปิดประตูผี  เป็นพิธีขอบคุณผีเจ้าเมือง ผีป่า ผีต้นไม้ ที่ช่วยดูแลผลผลิต  เป็นพิธีไม่ใหญ่เท่าพิธีปิดประตูผี  อีกพิธีที่จัดเป็นประจำคือ “พิธีหัวศีล” หรือ “สะด้างเคี้ยะ”  เป็นพิธีขอบคุณผี  เป็นงานบุญใหญ่ช่วงเข้าพรรษา  ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความสำคัญทางศาสนาด้วย (หน้า 110) 
          4.  สถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของบ้านปางแดงใน :  4.1) “หอเจ้าเมือง” หรือ “โฮสะเมิง”   เป็นสิ่งสำคัญทางจิตใจ  คอยดูแลให้ความคุ้มครองช่วยเหลือคนในหมู่บ้าน  ดาระอั้งจะรวมตัวกันทำพิธีกรรมที่โฮสะเมิง  เช่น  พิธีปิดประตูผี (กะบิไค่บ๊าก) เป็นต้น  การตั้งศาลเจ้าเมืองหรือโฮสะเมิง  ควรเป็นบริเวณที่มีต้นไม้หลัก คือ “ต้นเปา” (ไม่ทราบชื่อไทย)  เพราะดาระอั้งเชื่อว่า  ไม้เปาเป็นไม้ดีมีเมตตา  การตั้งโฮสะเมิงไว้ตรงจุดที่มีไม้เปาจะมีหลักคุ้มครอง  มีผีเอ็นดูคอยช่วยเหลือชาวบ้าน  (หน้า 89)  4.2) ป่าช้า  หรือ “แปร่บ่าเรี่ยว”  ในแบบแผนการจัดตั้งชุมชนแบบดั้งเดิม  ป่าช้าจะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน  อยู่ในมุมดี  ห้ามอยู่บนดอยสูงกว่าหมู่บ้าน  เพราะจะทำให้เงาของป่าช้าทอดลงทับหมู่บ้าน  ถือว่าไม่ดี  อาจทำให้คนในหมู่บ้านอยู่ไม่สงบสุข  ระหว่างป่าช้ากับหมู่บ้านจะมีวัดขั้นอยู่กลาง  เพราะดาระอั้งเชื่อว่า  ผีหรือคนที่ตายไปแล้วยังต้องการเข้าวัด  จึงควรสร้างวัดให้ผีเดินทางไปวัดได้โดยสะดวกไม่ต้องผ่านหมู่บ้าน  ป่าช้าใช้ฝังศพคนทั่วไป  ส่วนคนแก่  พระและเณร จะเผาที่ป่าช้า  (หน้า 89)  สำหรับป่าช้าของบ้านปางแดงใน  จะตั้งอยู่ทางทิศเหนือไม่ห่างจากหมู่บ้าน  เนื่องจากทิศตะวันตกของหมู่บ้านเป็นไร่และเป็นดอยสูงกว่าหมู่บ้าน  ซึ่งตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านมายังไม่มีการฝังศพ  พื้นที่ป่าช้าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์  เพราะเป็นที่รวมของบรรพบุรุษ  ดาระอั้งจะเคารพยำเกรงไม่มีการตัดไม้เก็บเห็ดหรือใช้ประโยชน์ใด ๆ  ซึ่งเมื่อมีประเด็นเรื่องป่าอนุรักษ์เกิดขึ้น  ดาระอั้งบ้านปางแดงในได้อธิบายถึงพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นป่าช้าว่า  เข้าข่ายเป็นป่าอนุรักษ์ตามความหมายในปัจจุบัน  เพื่อเป็นการยืนยันต่อเจ้าหน้าที่และคนภายนอกถึงวิถีการเป็นผู้อนุรักษ์ป่าของดาระอั้ง  ซึ่งรวมถึงความสามารถที่จะดูแลทรัพยากรในพื้นที่ได้ด้วย  (หน้า 93-94)

Education and Socialization

          ช่วงแรก (ปี พ.ศ. 2526)  เด็ก ๆ ดาระอั้งเรียนหนังสือที่เพิงตรงข้ามสำนักสงฆ์หน้าถ้ำ  สอนโดยครูอาสาสมัคร  ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 โรงเรียนปางแดงได้ก่อตั้งขึ้นโดยมูลนิธิพุทธธรรมหนองฮ่อ  และชาวบ้านช่วยกันสร้างอาคารเรียน  ในปี พ.ศ. 2530  โรงเรียนปางแดงถูกโอนเป็นโรงเรียนสังกัดประถมศึกษา  รับนักเรียนจากชุมชนปางแดง  และหมู่บ้านอื่น ๆ ในบริเวณนั้น  ในช่วงแรกของการตั้งถิ่นฐาน  ดาระอั้งบ้านปางแดงในส่วนใหญ่ส่งเฉพาะเด็กผู้ชายไปเรียนหนังสือ  เพื่อให้อ่านและเขียนหนังสือได้  ต่อมาเด็กผู้หญิงก็ได้เรียนด้วย  ดาระอั้งบ้านปางแดงในเชื่อว่า  การอ่านหนังสือไทยได้  เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น  (หน้า 61-62)

Health and Medicine

          เดิมเวลาเจ็บป่วยดาระอั้งรักษากับหมอยาของหมู่บ้าน  แต่เมื่อปี พ.ศ. 2532 หมอยาถูกจับติดคุกเป็นเวลาสามปีกว่าพร้อมกับผู้ชายในหมู่บ้าน (ดูหัวข้อ 16. History)  ทำให้ชาวบ้านที่เจ็บป่วยเริ่มต้องไปหาหมอในเมือง  รักษาด้วยการแพทย์แผนใหม่มากขึ้น  อย่างไรก็ตาม  แม้ปัจจุบันดาระอั้งบ้านปางแดงในที่เจ็บป่วย  จะไปรักษากับหมอคลีนิกแผนใหม่ในเมืองหรือโรงพยาบาลเชียงดาวแล้วก็ตาม  แต่ถ้าไม่หาย  ชาวบ้านมักทำพิธีไหว้ขมาผีต้นไม้ (กะหย้าแปร่) (ดูหัวข้อ 22. Belief System)  เพราะดาระอั้งยังมีความเชื่อว่า  ความเจ็บป่วยเป็นการกระทำของผี  ชาวบ้านจึงยังคงทำพิธีกรรมการขมาผีต้นไม้  ควบคู่กับการหาหมอในเมือง (หน้า 93)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

          การแต่งกายของดาระอั้งในประเทศไทยซึ่งเป็นดาระอั้งแดง  ผู้หญิงจะนุ่งซิ่นแดง  ใส่เสื้อแขนยาว  มีพู่ไหมพรมห้อยรอบต้นแขนเสื้อทั้งสองข้าง  มีผ้าเคียนศีรษะ  มี “น่องกฺ” ที่มีหวายเกี่ยวคล้องเอว  “น่องกฺ” อาจทำจากเงินหรือสังกะสีก็ได้  แล้วแต่ฐานะ  หญิงดาระอั้งจะสวม “น่องกฺ” ไว้ตลอดเวลา  แม้เวลานอนก็ตาม  เพราะเชื่อว่า  การสวม “น่องกฺ” จะทำให้มีความสุข  และจะได้ขึ้นสวรรค์  ส่วนผู้ชายจะใส่เสื้อคอกลมแขนยาวผ่าหน้าติดกระดุมจีน  นุ่งกางเกงแบบไทยใหญ่  มีผ้าเคียนศีรษะ  แต่ปัจจุบันนิยมแต่งกายเหมือนคนเมืองทั่วไป  (หน้า 31) 
          ศิลปะการฟ้อนดาบ :  การฟ้อนดาบเป็นประเพณีดั้งเดิมของดาระอั้ง  ดาระอั้งบ้านปางแดงในใช้วัฒนธรรมการฟ้อนดาบเปิดพื้นที่ทางสังคม  ให้ได้เป็นที่รู้จักของคนภายนอกอย่างเป็นทางการ  ดาระอั้งบ้านปางแดงในได้รับคำขอให้จัดแสดงการฟ้อนดาบบ่อยครั้งในงานของอำเภอเนื่องในโอกาสต่าง ๆ  และในการประชุมใหญ่ของกลุ่มเครือข่ายป่าชุมชน  และได้รับคำชื่นชม  จึงเป็นการตอกย้ำให้ดาระอั้งรู้สึกว่าได้รับการยอมรับตัวตนการมีอยู่ของดาระอั้งจากสาธารณะ  จากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น  และจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น นายอำเภอ เป็นต้น (ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการยอมรับของรัฐไทย)  (หน้า 121-124) 

Folklore

          ตัวอย่างตำนานเรื่องเล่าทางศาสนาพุทธของดาระอั้งบ้านปางแดงใน  ที่เกี่ยวข้องและอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ที่ใกล้ชิดกับดาระอั้ง  โดยเฉพาะความใกล้ชิดกับคนไทย
          ตำนานการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า : กล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากดาวดึงส์  ตัวแทนคนไทยได้ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า  และขอพรให้ได้ปกครองบ้านเมือง  ด้วยผลบุญนั้น  คนไทยทุกวันนี้จึงมีแผ่นดินเป็นปึกแผ่นร่มเย็นเป็นสุข  กษัตริย์ไทยจึงเป็นเชื้อสายของผู้มีบุญ  ส่วนคนพม่า  เตรียมอาหารไปรับเสด็จพระพุทธเจ้าเช่นกัน  แต่ไปไม่ทัน  พระพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้ว  แต่ยังได้เข้าเฝ้าและขอพรให้ได้ปกครองบ้านเมือง  เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปแล้ว  พม่านำอาหารที่ถวายพระพุทธเจ้าไม่ทัน ไปขว้างทิ้งให้หมูหมากาไก่แย่งกันกิน  ทำให้ทุกวันนี้พม่าจึงไม่ร่มเย็นเป็นสุข  แย่งกันปกครอง  สำหรับดาระอั้งไปไม่ทันพบพระพุทธเจ้า  แต่ยังทันเห็นสถานที่ที่คนไทยจัดเตรียมไว้ให้พระพุทธเจ้าประทับ  ดาระอั้งจึงขอคนไทยเข้าไปในวัด  ได้เรียนรู้วิธีการจัดการ  และจัดแต่งวัด  ประเพณี  และการตั้งเครื่องหมู่บูชา  ดาระอั้งจึงคุ้นเคยกับการทำบุญที่วัด  มีวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจ  ดาระอั้งเชื่อว่า  ดาระอั้งเป็นคนดอยเพียงกลุ่มเดียวที่มีวัดเป็นของตนเอง  อย่างไรก็ตาม  การที่ดาระอั้งไม่ได้เฝ้าพระพุทธเจ้า  ทำให้ดาระอั้งไม่มีแผ่นดินอยู่อาศัยของตัวเอง  ส่วนลีซูไปไม่ทัน  ไม่ได้พบพระพุทธเจ้า  และไม่ได้เข้าวัด  เพราะรีบตามพระพุทธเจ้าไป  แต่ก็ตามไม่ทัน  ได้เห็นแต่เพียงที่ประทับพักผ่อนของพระพุทธเจ้าใต้ต้นไม้เกี้ย (ไม้สน)  ดาระอั้งจึงเชื่อกันว่า  ด้วยเหตุนี้  ลีซูที่นับถือศาสนาพุทธในทุกวันนี้  จะทำพิธีกรรมใด ๆ ทางศาสนา  จะต้องมีไม้เกี้ยประกอบในพิธีกรรมนั้นด้วย  (หน้า 126-127)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          ชาติพันธุ์ในงานวิจัยนี้เรียกตัวเองว่า “ดาระอั้ง”  “ดา” แปลว่า “คน”  “ระอั้ง” หมายถึง “ภูเขา”  “ดาระอั้ง” หมายถึง “คนที่อยู่บนดอย”  ที่บ้านปางแดงใน  ผู้นำหมู่บ้านระบุว่า  พวกตนเป็น “ดาระอั้งเร่น” หรือ “ดาระอั้งซิ่นแดง”  อย่างไรก็ตาม  คนไทยใหญ่และคนพม่า  ตลอดจนคนส่วนใหญ่มักเรียกดาระอั้งว่า “ปะหล่อง”  มีความหมายว่า “พวกชาวเขา”  หรือกลุ่มคนที่อยู่ไกลความเจริญ  แต่ดาระอั้งเองบอกว่าไม่ทราบความหมายของคำว่าปะหล่อง  อยากให้คนอื่นเรียกตัวเองว่า “ดาระอั้ง”  นอกจากนี้  ยังมีชื่อที่คนอื่นเรียกอีกหลายชื่อ  เช่น “รูไม” (Rumai)  “เตอะอั๋ง” (Ta – ang)  “เบิงลอง”  “คุนลอย” (Kunloi)  เป็นต้น 
         จากงานศึกษาที่ผู้วิจัยระบุ Howard and Watana  แบ่งปะหล่อง ออกเป็น 3 กลุ่มคือ ปะหล่องทอง (Golden Palaung)  ปะหล่องรูไม (Rumai)  และปะหล่องเงิน (Silver Palaung)  Howard and Watanaระบุว่าปะหล่องเงินเป็นกลุ่มเดียวกับดาระอั้งในประเทศไทย ... Naw San(8 กรกฎาคม 2543) แบ่งดาระอั้งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1) ดาระอั้งแดง (Red )  Naw San  ระบุว่าดาระอั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นดาระอั้งแดง  2) ดาระอั้งเงิน หรือ รูไม (Silver or Rumai)  เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด  3) ดาระอั้งทอง (Golden)  อยู่ในเมืองน้ำสั้น (Namhsan)ประเทศพม่า ... อุษณีย์ (2536)  แบ่งปะหล่องออกเป็น 6 กลุ่ม คือ ปะหล่องแดง  ปะหล่องดำ  ปะหล่อง ดอย  ปะหล่องลาย  ปะหล่องเสื้อสั้น  และปะหล่องน้ำสั้น  ในขณะที่ Diran (1997)  แบ่งปะหล่องออกเป็น 2 กลุ่มคือ ปะหล่องเงิน (Silver)  และปะหล่องทอง (Golden)  (หน้า 22-26)

Social Cultural and Identity Change

          ภายใต้เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พื้นที่ป่ามีจำกัด  ไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนแบบเดิมได้อีก  ต้องทำไร่ซ้ำ ๆ ในที่ดินเดิม  ในขณะที่วิถีชีวิตต้องพึ่งพาตลาดจากภายนอกมากขึ้น วิถีการผลิตจึงต้องปรับเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อขายให้ได้เงินสดเข้ามา  อีกประการในกรณีเรื่องที่ดิน  เดิมสามารถยืมที่ดินใช้ได้เป็นปีโดยไม่ต้องเสียค่าเช่า  แต่ในสมัยหลังเมื่อเข้าสู่กระแสทุนนิยมที่ดินถูกทำให้เป็นทรัพย์สิน  มีการคิดค่าเช่า  และต้องผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยน  ทำให้ดาระอั้งยากจนมีที่ดินได้อย่างจำกัด  และไม่สิทธิในการครอบครองที่ดิน  เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถผลิตแบบไร่หมุนเวียนได้อีก  (หน้า 106)  ดาระอั้งยังต้องดิ้นรนต่อสู้โดยแสวงหาหนทางเลือกอื่นๆ  เพื่อให้ได้มาซึ่งความอยู่รอดและการดำรงชีพที่มั่นคง  ทางเลือกหนึ่งคือการไปเป็นแรงงานรับจ้าง  ส่วนผู้ที่มีทุนก็สามารถสร้างบ้านพักสำหรับนักท่องเที่ยว  ให้เป็นอีกแหล่งรายได้หนึ่งได้  (ดูหัวข้อ 16 History of the Group, หัวข้อ 19 Economy)

Other Issues

สิทธิในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรธรรมชาติ : 
          ดาระอั้งบ้านปางแดงในพยายามให้เกิดการยอมรับและมีตัวตนทางสังคม  ในแง่หนึ่งคือการยอมรับสิทธิในการอยู่อาศัย  สิทธิในการดำรงชีวิต  และสิทธิในการครอบครองและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร  ภายใต้การปรับตัวให้สอดคล้องกับเงื่อนไขภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป  ดาระอั้งได้ใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการสร้างความชอบธรรมให้ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากป่า  โดยผ่านเรื่องเล่าการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์  และอ้างถึงความสัมพันธ์อันยาวนานกับคนไทย  ผ่านเรื่องเล่าตำนานทางพระพุทธศาสนา  ดาระอั้งเชื่อว่า  ดาระอั้งกับคนไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกันมานานแล้ว  ดาระอั้งนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเหมือนคนไทย  การถือศีลในวัดก็ใกล้เคียงกับวิถีปฏิบัติของคนไทย  มีบทสวดมนต์ใกล้เคียงกัน เช่น บทสวด “ปอยเยาสิทาด” ของดาระอั้งเหมือนกับเรื่องราวใน “ปอยพระเวสสันดร” ของไทย  และตอกย้ำด้วยตำนานการเข้าเฝ้าและถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าเมื่อคราวเสด็จกลับจากดาวดึงส์สู่โลกของคนไทย  ดาระอั้ง  พม่า  และลีซู  (ดูหัวข้อ 25. Folklore)  จากเรื่องเล่าตำนานความเชื่อทางศาสนา  และความเชื่อเรื่องสายสัมพันธ์ไทย – ดาระอั้ง  ดาระอั้งนำมาร้อยเรียงเชื่อมโยงว่า  ดาระอั้งเคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อนแล้ว  และกลยุทธ์อีกอย่างหนึ่งคือการใช้วัฒนธรรมในการเปิดพื้นที่ให้ได้มีที่ยืนทางสังคม  ดาระอั้งบ้านปางแดงในเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมของทางการอย่างเต็มใจ  โดยเฉพาะการได้รับการร้องขอให้แสดงประเพณีการฟ้อนดาบแบบดั้งเดิมของดาระอั้ง  จากหน่วยงานราชการและกลุ่มเครือข่ายป่าชุมชนหลายต่อหลายครั้งในโอกาสต่างๆ  ดาระอั้งมองว่า  การมีคนภายนอกอยากชมการแสดงของดาระอั้ง  เป็นการยอมรับว่า  พวกเขาอยู่ที่นี่ในประเทศไทย  และเป็นการแสดงให้สาธารณะเห็นว่า  ดาระอั้งมีรากเหง้ามีประเพณี  นอกจากนี้  ดาระอั้งยังให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการและองค์กรเครือข่ายที่ตนสังกัดอย่างเต็มที่  เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถ  ความซื่อสัตย์  และความจงรักภักดี  เพื่อให้เกิดการยอมรับในการมีตัวตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ  (หน้า 120-129, 131-132)
การปรับตัวในการใช้และจัดการพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ : 
          ดาระอั้งบ้านปางแดงใน  จัดการป่าให้สอดคล้องกับแนวคิดแบบดั้งเดิม  คือป่าเกิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องให้ความเคารพยำเกรง  ยังต้องทำพิธีขอขมาผีต้นไม้ (กะหย่าแปร่) เมื่อล่วงเกิน และทำพิธีขอบคุณเมื่อใช้ประโยชน์ มีกฏข้อห้ามต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับป่าในการดำเนินชีวิต  เช่น ห้ามตัดต้นไม้ใหญ่  เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมีเจ้าของคุ้มครองอยู่นาน  เป็นต้น  และสร้างเป็นระบบความเชื่อถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น  อีกทั้งมีการอ้างอิงพื้นที่ป่าช้าเปรียบเหมือนป่าอนุรักษ์ในแนวคิดสมัยใหม่  เพราะเมื่อเป็นป่าช้า  ดาระอั้งถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์  เนื่องจากเป็นที่รวมของบรรพบุรุษ  จะไม่มีการตัดไม้หรือใช้ประโยชน์ใดๆ ห้ามใครเข้าไปรบกวน  นอกจากนั้น  ดาระอั้งบ้านปางแดงในยังรับแนวคิดเรื่อง “ป่าชุมชน” มาใช้  ซึ่งทำร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น YMCA  โครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน  และมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืช  เป็นต้น  จัดทำป่าชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ของชุมชนบ้านปางแดงขึ้นอย่างเป็นทางการในบริเวณพื้นที่อุทธยานแห่งชาติศรีล้านนา  (หน้า 73, 84-86, 93-95)  (ดูเพิ่มเติมหัวข้อ 16  History, หัวข้อ 22  Belief System)

Map/Illustration

          1.  ตาราง :  1.1) สรุปพัฒนาการของพื้นที่บ้านปางแดงใน  ในระหว่างปี พ.ศ.2500-2542  หน้า 78,  1.2) แสดงการถือครองที่ดินของดาระอั้งบ้านปางแดงใน  หน้า 103,  1.3) แสดงช่วงเวลาและลักษณะงานรับจ้างตลอดปี  หน้า 114 
          2.  แผนที่ :  2.1) แสดงการกระจายถิ่นฐานของดาระอั้ง  หน้า 27,  2.2) แผนที่อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่  หน้า 50,  2.3) แผนที่หมู่บ้านปางแดงใน  หน้า 77
          3.  ภาพ :  3.1) แสดงแบบแผนการใช้และจัดการพื้นที่ป่าแบบดั้งเดิมของดาระอั้ง  หน้า 90,  3.2) แสดงแบบแผนการจัดการพื้นที่ป่าที่ปรับเปลี่ยนไป  หน้า 100,  3.3) แสดงการผลิตในรอบปี  หน้า 107 

Text Analyst บุญสม ชีรวณิชย์กุล Date of Report 28 มิ.ย 2560
TAG ดาระอั้ง ทรัพยากรป่า สิทธิ การเข้าถึง การจัดการ การปรับตัว เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง