สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลื้อ,สถานภาพ,อัตลักษณ์ชาติพันธุ์,ลาว,ไทย,จีน
Author Keyes,Charles F.
Title Who are the Lue? Revisited Ethnic Identity in Lao, Thailand, and China
Document Type บทความ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 51 Year 2536
Source การสัมมนาวิชาการเรื่องสถานภาพและแนวทางการศึกษาวัฒนธรรมชนชาติไท
Abstract

"ลื้อ" ไม่ควรถูกมองว่าเป็นชื่อเรียกกลุ่มชนที่เสนอภาพตัวแทนของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มดังกล่าว การศึกษาลื้อในประเทศไทย ลาว และจีนชิ้นนี้ พยายามชี้ให้เห็นว่าความเป็นลื้อเป็นสิ่งที่ซับซ้อน ประกอบด้วยมิติทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชน มิติของปฏิสัมพันธ์ระหว่างชนลื้อและคนกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนใกล้เคียง มิติของอำนาจที่ถูกนิยาม จำแนก และจัดการทางวัฒนธรรมจากรัฐที่กลุ่มชนลื้อเป็นส่วนหนึ่งในปัจจุบัน และมิติของความเชื่อมโยงในทางชาติพันธุ์ข้ามพรมแดนรัฐ ที่ลื้อในประเทศหนึ่ง ๆ ให้ความหมายและสัมพันธ์กับลื้อหรือกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทในที่อื่น ๆ รวมทั้งมิติของการฟื้นฟู นำกลับมาของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์บางอย่างที่ถูกทำให้เลือนหาย กลืนกลาย หรือทำลายโดยรัฐ กระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องของการต่อรองระหว่างชนกลุ่มน้อยและรัฐผ่านปฏิบัติการทางวัฒนธรรมทั้งในระดับชุมชนและระดับข้ามรัฐ

Focus

หาคำตอบว่าทำไมคนบางกลุ่มที่อาศัยทางภาคเหนือของประเทศไทย ลาว และประเทศจีนตอนใต้ "เลือก" ที่จะเรียกตัวเองว่า "ลื้อ" และการเรียกตัวเองว่าลื้อนี้ มีความหมายอย่างไรในทางปฏิบัติ ที่คนกลุ่มนี้ต้องการแยกตัวเองในทางชาติพันธุ์ออกมาจากชนกลุ่มอื่นที่เขาอาศัยร่วมอยู่ หรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมด้วยภายใต้ความเป็นพลเมืองของรัฐชาตินั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ลื้อที่บ้านปิง จ.เชียงราย เหตุใดและภายใต้บริบทใดจึงเรียกตัวเองว่าลื้อ ทั้ง ๆ ที่ลื้อที่นั่นอาศัยอยู่ภายในประเทศไทยมานานแล้ว และใช้ภาษาไทยรวมทั้งสภาพชีวิตความเป็นอยู่ก็ใกล้เคียงกับคนไทยภาคเหนือมากกว่ากับคนลื้อซึ่งอาศัยกระจัดกระจายอยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่นจีนและลาว ซึ่งในปัจจุบันใช้ภาษาและมีลักษณะทางวัฒนธรรมที่ต่างกับลื้อที่บ้านปิง

Theoretical Issues

Moerman เสนอว่าชื่อเรียกกลุ่มชนไม่ใช่ป้ายที่บ่งบอกถึงลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนซึ่งแยกแยะชนกลุ่มหนึ่งออกจากกลุ่มอื่นๆ อย่างเป็นวัตถุวิสัย แต่ชื่อเรียกกลุ่มชนเป็นสิ่งซึ่งแสดงความรู้สึกเป็นสมาชิกของคนกลุ่มนั้นเอง สำหรับ Moerman ลื้อในประเทศไทยที่เขาศึกษาเลือกที่จะเรียกตนเองว่า "ลื้อ" แม้ว่าจะมีวิถีชีวิตไม่แตกต่างจากชาวไทยในภาคเหนือ เนื่องจากพวกเขานิยามตนเองกับความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสิบสองปันนาในอดีต Keyes ผู้เขียนบทความเห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องความไม่สัมพันธ์กันอย่างเป็นวัตถุวิสัยของชื่อกลุ่มชนและวัฒนธรรมของกลุ่มชน อย่างไรก็ดี Keyes เห็นว่า การบ่งชี้ตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งๆ ยังเต็มไปด้วยเหตุผลอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากการนิยามตนเองกับรัฐในอดีตดังกล่าว ที่สำคัญคือปัจจัยทางเศรษฐกิจและการเมืองมีส่วนอย่างยิ่งในการเลือกบ่งชี้ชาติพันธุ์ของสมาชิกในกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ๆ ในประเด็นเศรษฐกิจ การได้ประโยชน์จากการระบุว่าตนเป็น "ลื้อ" ในบางบริบท ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเลือกระบุตนเองว่าเป็น "ลื้อ" Keyes เรียก ปัจจัยที่กำหนดการเลือกบ่งชี้อัตลักษณ์ชาติพันธุ์นี้ว่า เหตุผลในทางปฏิบัติ (practical reason) (หน้า 2) ส่วนในทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐชาติสมัยใหม่ ที่เข้ามามีส่วนบ่งชี้ความเป็นชาติพันธุ์ของกลุ่มชน เข้ามาส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงความเป็นกลุ่มชน และการต่อรองของสมาชิกของกลุ่มชนเหล่านั้นเอง มีส่วนอย่างยิ่งต่อการที่สมาชิกคนใดจะบ่งชี้ว่าตนเองเป็น "ลื้อ" หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริบททางประวัติศาสตร์การเมืองของแต่ละรัฐชาติในการบริหาร ปกครองชนชาติกลุ่มน้อย มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดและต่อรองอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของสมาชิกของกลุ่มชน

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มคนที่เรียกตัวเอง รวมทั้งถูกเรียกว่า "ลื้อ" ใน 3 ประเทศคือใน ไทย ลาว และจีน

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาลื้อเป็นภาษาหนึ่งในภาษาตระกูล"ไท-กะได" ในเอเชีย จำนวนคนที่ใช้ภาษา ตระกูล ไท-กะไดนี้เป็นรองแค่กลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูล Sino-Tibetan เท่านั้น ในปี 1980 พบว่ามีคนประมาณ 72 ล้านคนที่พูดภาษากระกูลไท นอกจากนี้ในการวิจัยทางภาษาศาสตร์เชิงประวัติ (historical linguistic) ยังจำแนกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทแต่ต่างสำเนียงกันได้ออกอีกอย่างน้อยเกิน 24 กลุ่มชน การจำแนกแยกแยะนี้วางอยู่บนสมมติฐานว่าชื่อกลุ่มชน (ethnonym) เป็นสิ่งที่ถูกใช้โดยคนกลุ่มนั้นเอง หรือถูกเรียกโดยคนกลุ่มอื่นเพื่อจำแนกความแตกต่างของกลุ่มชน

Study Period (Data Collection)

เน้นศึกษาระยะเวลาร่วมสมัย คือในระยะที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลภาคสนาม ปี 1990 และ 1991 อย่างไรก็ดี การศึกษาเชื่อมไปสมัยก่อนเกิดรัฐชาติในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ กล่าวคือก่อนศตวรรษที่ 19 สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันด้วย

History of the Group and Community

ในบทความนี้ประวัติศาสตร์ของลื้อโดยรวมถูกเล่าผ่านประวัติศาสตร์ของคนพูดภาษาตระกูลไท ซึ่งในอดีตจนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 19 อาศัยอยู่ในบริเวณ "แม่น้ำโขงตอนกลาง" ซึ่งปัจจุบันคือตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัดยูนนานในประเทศจีน ตะวันออกเฉียงเหนือในพม่าหรือทางด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ตะวันตกเฉียงเหนือของลาว และทางเหนือของประเทศไทยปัจจุบัน คนกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไทนี้อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบ และอยู่กันเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย เป็นอิสระระดับหนึ่งจากอิทธิพลของรัฐที่ตนสังกัดอยู่ สำหรับคนไท ในศตวรรษที่ 19 นั้น การแยกแยะความแตกต่างของกลุ่มชนวางอยู่บนพื้นฐานของการจัดระดับชั้นทางการเมือง กลุ่มคนไทแยกย่อยตามหน่วยการปกครองที่เรียกว่า "เมือง" ในอาณาบริเวณตอนกลางของแม่โขงนี้ประกอบด้วยเมืองมากมาย บริเวณที่ในปัจจุบันคือภาคเหนือของประเทศไทยเรียกว่าล้านนาไทย ผู้คนที่อาศัยในบริเวณนี้ถูกเรียกและเรียกตัวเองว่าคนเมือง หรือ ยวน ในบางครั้ง นอกจากนี้ พื้นที่ทางเหนือบางส่วนของล้านนาซึ่งตั้งอยู่ระหว่างสาลวินและแม่โขงนั้น เป็นที่ตั้งของเมืองที่เรียกว่า เชียงตุง ผู้คนที่อาศัยในเขตเชียงตุงเรียกว่า ขึน ทางเหนือและตะวันออกของเชียงตุงคือเมืองที่เรียกว่า สิบสองปันนา บรรดาคนไทในเขตสิบสองปันนาเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อลื้อ ทางตอนใต้ของสิบสองปันนาและตะวันออกของล้านนาคือเมืองล้านช้าง ผู้คนในเขตล้านช้างเรียกตัวเองและถูกเรียกว่า ลาว ศตวรรษที่ 16-18 หลาย ๆ เมืองในเขตลุ่มน้ำโขงตอนกลางตกเป็นเมืองขึ้นของจีนและพม่า ศตวรรษที่ 19 สยามแข็งแกร่งขึ้น สามารถผนวกลาวแห่งเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน น่าน และหลวงพระบางให้ขึ้นกับสยามได้ ทศวรรษ 1850 ลื้อบางกลุ่มถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของน่าน พื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ ตั้งอยู่อย่างกระจัดกระจาย ห่างไกลกัน และไม่ได้รวมกันอย่างมีเอกภาพในทางการเมือง ในอดีตสิ่งที่เชื่อมโยงเมืองต่างๆ เหล่านี้ไว้ด้วยกันอย่างแข็งแกร่งคือการติดต่อกันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางคมนาคมทางน้ำโขง โดยสินค้าสำคัญที่ผลิตได้ในเขตนี้คือสินแร่โลหะ, เกลือ, และฝิ่น การค้าเป็นหนทางสำคัญที่เชื่อมโยงผู้คนที่อาศัยในบรรดาเมืองในอาณาบริเวณนี้เข้าด้วยกัน และรวมถึงเชื่อมโยงเมืองเหล่านี้กับศูนย์กลางการค้าอื่น ๆ เช่น ยูนนานและสยาม ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่เชื่อมโยงอาณาบริเวณนี้เข้ากับส่วนอื่น ๆ ในระบบโลก ปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าการค้าในอันที่จะเชื่อมโยงคนยวน ลาว ลื้อ และขึนเข้าด้วยกันในทางความรู้สึกคือพื้นฐานทางวัฒนธรรมของพุทธศาสนาแนวเถรวาท (ดูหัวข้อ Belief System) ปลายศตวรรษที่ 19 รัฐบาลอาณานิคมในอังกฤษและฝรั่งเศส เข้าครอบครองและปักปันเขตแดนในอาณาบริเวณนี้ ทำให้หลวงพระบางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของล้านช้างพ้นไปจากมือของสยาม และกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอาณานิคมใหม่ของฝรั่งเศสคือลาว เชียงตุงถูกรวมเข้ากับพม่าในฐานะส่วนหนึ่งของรัฐฉาน และส่วนใหญ่ของสิบสองปันนากลายเป็นส่วนหนึ่งของจีน ส่วนล้านนาไทนั้นขึ้นกับสยาม การแยก, ปักปันดินแดนในเขตแม่น้ำโขงตอนกลางนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเกิดขึ้นของอัตลักษณ์ใหม่ของลื้อและคนกลุ่มที่พูดภาษาตระกูลไทกลุ่มอื่น ๆ ในบริเวณนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตลักษณ์อันเป็นผลจากนโบายทางชาติพันธุ์ของบรรดารัฐที่ลื้อและกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไทสังกัดอยู่

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

บทความไม่ได้กล่าวถึงกรณีลื้อในสิบสองปันนา สำหรับกรณีศึกษาในลาวนั้น ประชากรลื้อมีจำนวนมากเกิน 100,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำโขง หรือในจังหวัดทางตะวันตกเฉียงเหนือของลาว เช่น หลวงน้ำทา บ่อแก้ว อุดมไทร ที่จังหวัดหลวงน้ำทาซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้วิจัยเก็บข้อมูลนั้นประกอบด้วยกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทสองกลุ่ม (ตามที่ผู้วิจัยพาดพิงถึง) คือลื้อ และไทเหนือ

Economy

กรณีลื้อในประเทศไทย พบการทอผ้าแบบลื้อ "ของแท้" เพื่อขายให้นักท่องเที่ยวในภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จังหวัดน่านและเชียงใหม่ (หน้า 18) แต่บทความไม่ได้เน้นประเด็นทางเศรษฐกิจมากเท่ากับเรื่องอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ซึ่งสัมพันธ์กับการท่องเที่ยวและการทำวัฒนธรรมให้เป็นสินค้า (ดูใน Other Issue)

Social Organization

ไม่มีข้อมูล

Political Organization

ในอดีต สมัยศตวรรษที่19 กลุ่มคนที่พูดภาษาไทในเขตตอนกลางของแม่น้ำโขง (ซึ่งรวมถึงคนลื้อในเขตสิบสองปันนาด้วย) เชื่อมโยงและสัมพันธ์กันโดยการจัดระบบทางการเมืองแบบหนึ่ง คนกลุ่มต่าง ๆ ถูกจัดระเบียบเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย (principalities) เรียกว่า "เมือง" ในอาณาบริเวณตอนกลางของแม่โขงนี้ประกอบด้วยเมืองมากมาย สำหรับชนเผ่าลื้อ ในอดีตเคยมีศูนย์กลางอยู่ที่เชียงรุ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงของสิบสองปันนา แต่ภายหลังศตวรรษที่ 19 ที่ดินแดนตอนกลางของแม่น้ำโขงได้ถูกเจ้าอาณานิคมยึดครอง และภายหลังได้ตีเส้นปักปันเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งแบ่งออกเป็นประเทศจีน พม่า ไทย และลาวดังเช่นปัจจุบัน เมืองเล็กเมืองน้อยที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเมืองศูนย์กลางในอดีต ก็กลับกลายต้องเป็นส่วนหนึ่งของรัฐต่าง ๆ ดังกล่าวในปัจจุบัน ปัจจุบัน รัฐมีความพยายามที่จะกลืนกลายชนกลุ่มน้อยผ่านมาตรการการจัดการทางวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น การให้ความหมายหรือยัดเยียดอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ (ดูหัวข้อชาติพันธุ์) การบังคับใช้ภาษามาตรฐานในรัฐผ่านระบบการศึกษา (ดูหัวข้อ Other Issue) การห้ามประกอบพิธีทางศาสนา การทำให้วัฒนธรรมชนเผ่ากลายเป็นสินค้า (ดูหัวข้อ Other Issue) มาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการรัฐใช้อำนาจรัฐเข้าตีความ และจัดการทางวัฒนธรรมกับลื้อในลาว จีน และไทย

Belief System

ผู้เขียนกล่าวประเด็นนี้โดยเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ระบบความเชื่อที่ผูกพันกลุ่มชนให้เกิดความรู้สึกร่วมว่าตนอยู่ร่วมโลกเดียวกันคือพุทธศาสนานิกายเถรวาท (หน้า 9) ความโดดเด่นของพุทธศาสนาสายนี้อยู่ที่ระบบการเขียน ซึ่งใช้เขียนทั้งภาษาบาลีและภาษาไท อันเป็นระบบการเขียนที่แตกต่างจากการเขียนในท้องถิ่นอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อระบบเขียนเป็นระบบเดียวกันไม่ว่าจะถูกเรียกชื่อตามท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม (เช่น เรียกว่ายวนในตอนเหนือของประเทศไทย, เชียงตุงในพม่าเรียกว่าขึน, ลื้อคือชื่อที่ถูกใช้ในสิบสองปันนา และ ตัวธรรมเป็นชื่อที่คนลาวใช้เรียกระบบการเขียนนี้) วรรณกรรมทางศาสนาก็เป็นชุดเดียวกัน วรรณกรรมและพิธีกรรมทางศาสนาที่ได้รับการปฏิบัติตามนี้เป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มคนที่พูดภาษาไทแต่ต่างสำเนียง และอาศัยอยู่ในต่างเมืองกันเหล่านี้คิดถึงตนเองว่าเป็นหมู่พวกเดียวกัน อาศัยอยู่ใน "โลก" เดียวกัน ในปัจจุบันภายใต้บริบทของนโยบายทางชาติพันธุ์ภายในรัฐต่าง ๆ ที่ลื้อสังกัดอยู่ ปรากฎความพยายามที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะที่สิบสองปันนา และลาว กล่าวคือที่สิบสองปันนานั้น พุทธศาสนาถูกพยายามถอนรากถอนโคนโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-1976) รัฐบาลทำลายบรรดาศาสนวัตถุ สั่งสึกพระเณร สั่งห้ามการเรียนการสอนทางศาสนา เผาตำราและวรรณกรรม รวมทั้งห้ามสอนเขียนภาษาลื้อ ด้วยเหตุผลว่าศาสนาพุทธแบบลื้อและการศึกษาศาสนาพุทธเป็นสิ่งขัดขวางต่อระบบการศึกษาสาธารณะ กระบวนการรื้อฟื้นพุทธศาสนาในสิบสองปันนาเริ่มขึ้นกลางทศวรรษ1980 โดยพยายามสร้างศาสนาวัตถุขึ้นมาใหม่ หรือนำเข้าพระพุทธรูปจากพม่า และประเทศไทย พระสงฆ์มักจะถูกนิมนตร์ไปจากพม่าหรือไทยเช่นกัน เพื่อที่จะจัดระบบสงฆ์ขึ้นมาใหม่ รวมทั้งมีพระสงฆ์จากสิบสองปันนาเดินทางเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาจากประเทศไทยด้วย (หน้า 28) นอกจากนี้ยังมีการรื้อฟื้นระบบการเขียนภาษาลื้อแบบดั้งเดิมขึ้นใหม่ การเขียนนี้กระทำโดยพระและเณรโดยความช่วยเหลือของบรรดาพระเณรจากประเทศอื่น หนังสือที่ผลิตขึ้นใหม่ในแนว "เดิม" นี้ใช้ใบลานและจารด้วยเหล็กจาร เทคโนโลยีการบันทึกแบบประเพณี หรือแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นการทำงานที่ใช้ฝีมือและแรงงานมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ลื้อในสิบสองปันนาต้องการจะให้มีเนื่องจากลื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุมองว่าการเขียนและเนื้อหาที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมานี้เป็นสิ่งเชื่อมโยงลื้อในยุคสมัยใหม่เข้ากับบรรพบุรุษของพวกเขา ในอีกแง่หนึ่งการรื้อฟื้นพุทธศาสนาในสิบสองปันนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรื้อฟื้นระบบการเขียนแนวประเพณีขึ้นมานี้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของอัตลักษณ์ลื้อในสิบสองปันนา ในลาวก็เช่นกัน ในทศวรรษ 1970 คนลื้อในเมืองสิงต้องประสบกับการปฏิวัติวัฒนธรรม ความกดดันทางการเมืองที่มีต่อพุทธศาสนาในลาวทำให้พระสงฆ์หลายรูปต้องลี้ภัยมาอยู่ในประเทศไทย หรือตั้งรกรากใหม่ในเวียงจันทน์ หรือสึก คนหนุ่มไม่ได้รับการสนับสนุนให้บวช ดังนั้นในทศวรรษ 1980 จึงแทบจะไม่มีพระสงฆ์หลงเหลืออยู่ที่เมืองสิงเลย แต่หลังจากที่เรียนรู้ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสิบสองปันนา ลื้อที่เมืองสิงก็เริ่มที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นช่วงปลายทศวรรษ 1980 ปัจจุบันนี้แทบจะทุกวัดในเมืองมีจำนวนพระ เณร เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก กล่าวได้ว่าปรากฎการณ์ฟื้นฟูศาสนาที่เมืองสิงนี้กี่ยวข้องอย่างชัดเจนกับความเป็นลื้อ เพราะการฟื้นฟูดังกล่าวสัมพันธ์กันอย่างมากกับระบบการเขียนและวรรณกรรมของลื้อ ซึ่งแตกต่างจากชนกลุ่มอื่น ในประเทศไทย ผู้เขียนพบว่าการแบ่งแยกอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ด้วยความเชื่อไม่เด่นชัด เพราะลื้อในประเทศไทยไม่แตกต่างกันทางความเชื่อกับคนไทย หรือคนเมือง แต่อย่างใด

Education and Socialization

กรณีจีนการศึกษามีทั้งในระบบโรงเรียน (secular school) (หน้า 26) ซึ่งเด็กต้องใช้ภาษาจีน และการศึกษาในวัด (หน้า 27) ซึ่งเรียนผ่านระบบการเขียนแบบลื้อและวรรณกรรมลื้อ โรงเรียนวัดซึ่งเรียนสอนผ่านระบบภาษาและวรรณกรรมลื้อ กลายเป็นแหล่งสำคัญในการต่อต้านความพยายามของรัฐ ในการที่จะทำให้ลื้อเป็นชนกลุ่มน้อยหัวอ่อน เด็กผู้ชายที่เรียนโรงเรียนวัดมักจะไม่ไปโรงเรียนรัฐ เด็กเหล่านี้ไม่เพียงเรียนระบบการเขียนที่แตกต่างจากระบบภาษาจีน แต่ยังเรียนระบบการเขียนแบบดั้งเดิมซึ่งไม่ใช่ตัวหนังสือระบบปฏิรูปที่รัฐบาลจีนยอมรับและพัฒนาโดยนักวิชาการชาวจีนในช่วงปี 1955 (หน้า 27) นัยสำคัญทางการเมืองของปฏิบัติการไม่เรียนภาษาจีนและตัวหนังสือในระบบปฏิรูป และหันมาเรียนตัวหนังสือในระบบดั้งเดิม คือการตอกย้ำอัตลักษณ์ความเป็นลื้อ และการเชื่อมโยงลื้อแห่งสิบสองปันนาเข้ากับโลกอันไพศาลของกลุ่มชนผู้ใช้ภาษาตระกูลไทอื่น ๆ (หน้า 28) กรณีลื้อในลาว ผู้วิจัยพบว่าเด็กชายหลายคนมีความสามารถทั้งในระบบการศึกษาแบบลาว (secular education) และระบบการศึกษาแบบลื้อ (monastery education) ซึ่งทำให้เด็กชายที่เลือกใช้ชีวิตนอกเขตเมืองสิง มีปัญหาน้อยในการปรับตัวเข้ากับชุมชนลาวภายนอก ส่วนเด็กหญิงจะเข้าเรียนเฉพาะในโรงเรียนรัฐ (government school) (หน้า 42)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

บทความไม่ได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าลักษณะศิลปะ งานช่าง หรือสิ่งทอแบบลื้อมีลักษณะเฉพาะอย่างไร ที่กล่าวถึงมากในงานศึกษานี้เป็นประเด็นการทำให้งานฝีมือ การแสดง และสิ่งทอกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของรัฐ (ดูใน Other Issue) เช่นกรณีลื้อที่สิบสองปันนา ผู้เขียนเห็นว่าการแสดงของผู้หญิงลื้อเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุด ไม่ใช่สินค้าหัตถกรรมดังกรณีประเทศไทย ระบำลื้อในสิบสองปันนาถูกออกแบบให้มีลักษณะยั่วยวน เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ถูกออกแบบให้อวดเรือนร่างของผู้หญิงรับกับแบบแผนการระบำ การแสดงโดยลื้อนี้ถูกเสนอขายโดยรัฐบาลจีนว่าเป็นการแสดงของหญิง "Dai" ในแง่นี้ระบำ เสื้อผ้าและความเป็น Dai ที่รัฐบาลส่งเสริมจึงเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้อัตลักษณ์ลื้อเลือนลางเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ความเป็น Dai (หน้า 23) กรณีศึกษาในไทยก็เช่นกันที่งานฝีมือและสิ่งทอของลื้อได้รับการส่งเสริมในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (ดูใน Other Issue) ส่วนกรณีในลาวนั้น ผู้เขียนพบว่าแม้ว่าคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่ยังคงสวมใส่เครื่องแต่งกายแบบลื้ออยู่ แต่ถึงอย่างนั้นบรรดาผ้าทอแบบลื้อก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้หญิงผลิตใช้เองในหมู่บ้าน เครื่องแต่งกายตามแนวประเพณีแบบลื้อ ปรากฎให้เห็นในเมืองน้อยมาก และผู้หญิงลื้อในลาวก็ไม่ได้แต่งตัวแบบสมัยใหม่เช่นที่เห็นในจีน แต่ใช้สิ่งทอที่ผลิตจากโรงงานตามแบบการแต่งกายลาวร่วมสมัย แม้ว่าชาวเมืองสิงจะนิยมข้ามพรมแดนไปติดต่อกับลื้อทางเชียงรุ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงของสิบสองปันนามากกว่าที่จะไปเวียงจันทน์ แต่การแต่งกายก็เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อพ้นไปจากระดับหมู่บ้านแล้ว คนที่เมืองสิงเลือกที่จะแต่งกายตามแบบชนในชาติที่ตนสังกัดอยู่มากกว่าชนที่เป็นเชื้อชาติเดียวกัน (หน้า 43)

Folklore

บทความกล่าวถึงบทบาทของคติชน ว่ามีส่วนสำคัญในการก่อตัวของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ แต่ผู้เขียนไม่ได้แสดงข้อมูลและศึกษาถึงคติชนอย่างชัดเจน

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ตามข้อเสนอทางทฤษฎี กลุ่มชาติพันธุ์หรือความเป็นชาติพันธุ์ เป็นเรื่องที่ชนกลุ่มหนึ่ง ๆ มองตนเอง หรือถูกมองโดยชนกลุ่มอื่นว่าแตกต่างกันในหลาย ๆ มิติของชีวิต ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นภายใต้หลายระดับของการปฏิสัมพันธ์ ไม่ว่าจะในระดับชุมชน ในระดับรัฐ และระดับระหว่างรัฐ ผู้เขียนมองชาติพันธุ์ในสองประเด็นหลักคือ 1) รัฐและชาติพันธุ์ และ 2) การฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ กรณีศึกษาลื้อในประเทศไทย ผู้ศึกษาเดินตามโจทย์ที่ Moerman ตั้งไว้ในบทความชื่อ "Who Are the Lue? Ethnic Identity in a Complex Society (1965) (การทบทวนการศึกษาของ Moerman และข้อถกเถียงทางทฤษฎีดูในหน้า 1-5) ในอดีต ช่วงทศวรรษ 1890 รัฐไทยมีนโยบายกลืนกลายชนกลุ่มน้อยที่พูดภาษาตระกูลไทอื่นๆ เช่น กลุ่มลื้อและลาว ให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติสมัยใหม่ อันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับบรรดาเจ้าอาณานิคม กระบวนการกลืนกลายนี้ทำในหลายระดับและต่อเนื่อง ทั้งในแง่การนิยามว่าใครคือไทย ซึ่งริเริ่มโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภายใต้นโยบายปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 (หน้า 13) หลังจากนั้น ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จนกระทั้งปัจจุบัน รัฐไทยโดยหน่วยงานราชการทางวัฒนธรรม เช่นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดน่าน ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ได้คงแนวทางกลืนหรือทำชนกลุ่มอื่นให้เป็นเป็นส่วนหนึ่งของชาวไทย รัฐไทย อย่างต่อเนื่อง (หน้า 15-17) แต่ภายใต้แนวทางกลืนกลายแนวทางเดียวกันนี้ ส่งผลต่อการปกปิดและเปิดเผยอัตลักษณ์ลื้อในประเทศไทยต่างกันไป โดยสรุปคือ ในอดีตคนลื้อไม่แสดงตัวหรือไม่จงใจเปิดเผยว่าเป็นลื้อ แต่กลมกลืนไปกับชนส่วนใหญ่ในพื้นที่คือไทยเหนือ หรือไทยเมือง แต่ในปัจจุบันผู้เขียนพบว่าคนลื้อหันมาเปิดเผยอัตลักษณ์ลื้อของตนมากขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่ Moerman ศึกษา เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวภาคเหนือ ซึ่งอัตลักษณ์และความแตกต่างทางวัฒนธรรมถูกหยิบยกมาเป็นจุดขาย (ดูใน Other Issue) โดยเฉพาะสินค้าหัตถกรรมอย่างสิ่งทอของลื้อนั้นได้รับการส่งเสริมจากหลาย ๆ หน่วยงาน ภายใต้การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมนี้เอง ที่คนลื้อเห็นประโยชน์ของการเปิดเผยอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตน เพราะความเป็นลื้อคือป้ายที่ให้กับบรรดาสิ่งดั้งเดิมต่าง ๆ ที่นำมาเสนอขายว่าเป็น "ของแท้" (authenticity) (หน้า18) ปรากฏการณ์เปิดเผยอัตลักษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ภายใต้บริบทหลายระดับ ในแง่ประวัติศาสตร์ ในปัจจุบันลื้อในไทยเชื่อมโยงตนเองเข้ากับเมืองในสิบสองปันนา อันส่งผลให้ความเป็นลื้อมีความแท้มากขึ้น นอกจากนั้นในบริบทของความเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย ลื้อซึ่งเชื่อมโยงกับสิบสองปันนาถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "ความเจริญรุ่งเรืองของชนเผ่าไท" (Tai Civilization) ได้ถูกนำมาเชื่อมโยงทางชาติพันธุ์เข้ากับสยาม สิ่งทอและหัตถกรรมต่าง ๆ ของลื้อถูกนำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่เชียงใหม่และน่าน (หน้า 16) ซึ่งส่งผลให้สินค้าหัตถกรรมของลื้อเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีองค์กรทางวัฒนธรรมของรัฐรองรับ การประดิษฐ์อัตลักษณ์ลื้อขึ้นใหม่นี้ยังเป็นไปได้ภายใต้บริบทของความสนใจที่เพิ่มมากขึ้นของคนไทยที่มีต่ออารยธรรมไทภายนอกประเทศไทย ซึ่งรวมถึงคนพูดภาษาตระกูลไทกลุ่มอื่นรวมทั้งกลุ่มลื้อด้วย (หน้า 18) กรณีสิบสองปันนา ในช่วงทศวรรษ 1950 รัฐบาลจีนได้มอบหมายให้คณะกรรมการว่าด้วยกิจการชนชาติแห่งรัฐนิยามและแยกแยะชนกลุ่มต่าง ๆ บนพื้นฐานที่มีร่วมกันทางภาษาและวัฒนธรรมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สำหรับกลุ่มภาษาตระกูลไทนั้นถูกจัดอยู่ภายในกลุ่มภาษา Zhuang-Dong รัฐบาลจำแนกกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูล Zhuang-Dong ออกเป็น 9 กลุ่ม ใน 9 กลุ่มนี้ จำแนกเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท (Tai) 5 กลุ่ม Dai เป็นกลุ่มหนึ่งของคนที่พูดภาษาตระกูลไท และลื้อคือกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Dai (ตารางที่ 1 หน้า 21) ยูนนาน เป็นจังหวัดที่คน Dai ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ ภายใต้การจัดจำแนกของรัฐบาล คน Dai ในยูนนานประกอบด้วยคนสองพวกซึ่งใช้ภาษา และมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด พวกหนึ่งอยู่ทางตะวันตกของยูนนาน เรียกว่า Dehong Dai อีกพวกหนึ่งซึ่งอยู่ทางตอนใต้คือ Xishuangbanna Dai หรือสิบสองปันนาซึ่งเป็นกลุ่มที่ลื้อสังกัดอยู่ ภายใต้การจำแนกกลุ่มคนของรัฐบาลจีน ส่งผลให้คนสองกลุ่มที่แตกต่างกันนี้จำต้องรับเอา และมีปฏิบัติการทางวัฒนธรรมบางอย่างร่วมกันภายใต้ตราประทับ Dai ในแง่นี้อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของกลุ่มชนต่างๆ รวมทั้งลื้อในสิบสองปันนาด้วย จึงเป็นสิ่งที่ถูกกดทับและพร่าเลือนอยู่ภายใต้อัตลักษณ์ที่จำต้องมีร่วมกันคืออัตลักษณ์ Dai (หน้า 21-22) นอกจากประเด็นการถูกนิยาม จัดจำแนกทางชาติพันธุ์โดยรัฐแล้ว ผู้เขียนยังได้กล่าวถึงประเด็นการทำให้วัฒนธรรมลื้อเป็นสินค้า (ดูใน Other Issue และ Socio Cultural and Identity Change) นอกเหนือจากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและกลุ่มชนซึ่งนำเสนอในสองประเด็นข้างต้น ยังมีประเด็นการฟื้นฟูอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของลื้อในสิบสองปันนาซึ่งคือการฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ (ดูใน Belief System และ Education) นอกจากนี้ความเป็นลื้อในสิบสองปันนา ในบริบทของรัฐชาติจีนยังเป็นสิ่งที่ถูกปลุกขึ้นมาใหม่ภายใต้การติดต่อกันข้ามรัฐของบรรดาคนพูดภาษาตระกูลไท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาคนไทยจากประเทศไทย ลาวเป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีความหลากหลายของกลุ่มชนสูง กลุ่มชนต่าง ๆ ในลาวถูกนิยามและจำแนกทางชาติพันธุ์โดยผู้มีอำนาจปกครองมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเจ้าอาณานิคม รัฐบาลเจ้า หรือรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ก็ตาม การจำแนกกลุ่มคนอาศัยระบบการจำแนกหลายชนิด เช่น การใช้เกณฑ์ทางภาษาศาสตร์ชาติพันธุ์ (ethnolinguistic) โดยรัฐบาลฝรั่งเศส หรือจำแนกตามการตั้งถิ่นฐานโดยรัฐบาลเจ้า (หน้า 33) ในช่วงทศวรรษ 1954-1975 การแบ่งโดยใช้เกณฑ์ทั้งสองดังกล่าว เป็นการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์อย่างคร่าว ๆ และทำให้ความหลากหลายของกลุ่มชนถูกซ่อนอยู่ภายใต้ชื่อเรียกใหญ่ ๆ เช่น ลาว ไท ข่า ม้ง ม่าน ในสมัยรัฐบาลฝรั่งเศส และลาวสูง ลาวลุ่ม ลาวเทิง ในสมัยก่อนปัจจุบัน หลังทศวรรษ 1979 เป็นต้นมา ภายใต้แรงผลักของรัฐบาลเวียดนาม รัฐบาลลาวได้สนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับชนชาติเพื่อตอบคำถามว่า ประเทศลาวประกอบไปด้วยชนกลุ่มใดบ้าง ใครคือประชากรของประเทศ ใครคือคน (ชน) ที่ร่วมบรรพบุรุษ (เผ่า หรือ ชาติ) หรือมีคุณลักษณะบางประการร่วมกัน การศึกษาครั้งนั้นที่กระทำโดย Nationalities Commission จำแนกชนเผ่าในลาวออกเป็น 68 ชนเผ่า ในปี 1989 หรือ 1990 ได้มีการศึกษาแนวนี้อีกครั้งโดย Institute of Ethnology in the Lao Committee for the Social Science ซึ่งนำไปสู่การจำแนกชนเผ่าให้เหลือเพียง 47 กลุ่ม อย่างไรก็ดี แม้จะดูเหมือนว่ารัฐบาลลาวหลังทศวรรษ 1975 เป็นต้นมา ได้ตระหนักดีถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ภายในชาติ แต่รัฐบาลกลับได้กำหนดให้ "วัฒนธรรมแห่งชาติ" ในลาววางอยู่บนพื้นฐานของประเพณีแบบชนกลุ่มลาว (หน้า 38) ทั้ง ๆ ที่จำนวนประชากรของลาว (ซึ่งได้รวมเอาลาวพวนเข้าไว้ในกลุ่มนี้ด้วยตามตารางที่ 2 หน้า 37) มีเพียง 50% ของประชากรทั้งหมด แนวทางทางวัฒนธรรมเช่นนี้ทำให้ประเพณีบางอย่างซึ่งสัมพันธ์กับอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มสูญสลายไป และในที่สุดนำมาสู่การฟื้นฟูในปัจจุบัน ในกรณีของลื้อที่เมืองสิง พุทธศาสนาซึ่งสัมพันธ์อย่างสูงกับอัตลักษณ์ของลื้อถูกกระทบมากที่สุดในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมในทศวรรษ 1970 ในปัจจุบันมีกระบวนการรื้อฟื้นพุทธศาสนาขึ้น (ดูใน Belief System) ในเมืองสิง การฟื้นฟูพุทธศาสนาเกี่ยวเนื่องกับอัตลักษณ์ของลื้อ เนื่องจากพุทธศาสนาเชื่อมโยงกับวรรณกรรมซึ่งถูกถ่ายทอดโดยระบบการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มชน (หน้า 42) ถึงแม้ว่าจะมีการรื้อฟื้นพุทธศาสนาและระบบอักษรลื้อ แต่ลื้อก็ได้แสดงออกถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชนชาติลาวผ่านการกระทำทางสังคมหลายลักษณะ นอกจากเรื่องการแต่งกาย (ซึ่งผู้หญิงลื้อส่วนใหญ่แต่งตามผู้หญิงลาว ไม่ใช่แต่งตามลื้อในเขตสิบสองปันนาทั้ง ๆ ที่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตรก็ตาม) และการศึกษาแล้ว ยังมีเรื่องการเฉลิมฉลองปีใหม่ที่คนในเมืองสิงตระหนักว่าวันขึ้นปีใหม่เป็นวันสำคัญระดับชาติ และธรรมเนียมหลาย ๆ ธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลปีใหม่ก็ล้วนถือปฏิบัติกันตลอดทั่วทั้งประเทศลาว การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติตามธรรมเนียมขึ้นปีใหม่จึงมีส่วนสร้างให้คนที่เมืองสิงจินตนาการว่าไม่เพียงแต่ตนจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนชาติด้วย

Social Cultural and Identity Change

บทความเน้นมากในกรณีศึกษาในจีน ว่าการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของลื้อเกิดขึ้นในสองลักษณะ ประการแรกเป็นการถูกกระทำ จัดการ นิยามใหม่โดยรัฐผ่านกระบวนการทำให้ความเป็นลื้อกลายเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม (ดูใน Other Issue) เช่น กรณีในประเทศจีน รัฐบาลทำให้คนลื้อบางส่วนเชื่อว่าการเต้นรำและการแต่งกายที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันเป็นอัตลักษณ์ "ของแท้" ของลื้อในสังคมจีนสมัยใหม่ (หน้า 24) ประการที่สองเป็นเรื่องการติดต่อของคนลื้อกับคนไทยในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการส่งพระสงฆ์เข้ามาเรียนที่วัดในจังหวัดลำพูน หรือการไปประเทศจีนของบรรดานักท่องเที่ยวชาวไทยผู้โหยหาความเป็นพี่น้องร่วมชาติพันธุ์ หรือผู้ที่คาดฝันว่าจะได้เห็นดินแดนดั้งเดิม ผู้คนที่มีชีวิตแบบประเพณีซึ่งยังมีชีวิตผูกพันกับพุทธศาสนา ยังไม่ได้ "แปดเปื้อน" โดยอารยธรรมจากตะวันตก ไม่ว่าจะไปด้วยจุดประสงค์ใดก็ตามล้วนก่อให้เกิดความรู้สึกต้องการและพยายามกลายเป็น "ของแท้" ทางวัฒนธรรมขึ้นภายในสิบสองปันนา กล่าวได้ว่าสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว วัฒนธรรมลื้อเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า eroticized culture (หน้า 30) แต่เป็น spiritualized Tai culture สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทย (หน้า 30)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

Tourism, Commercialization of Culture and Ethnic Identity เป็นประเด็นที่ผู้ศึกษาเน้นในกรณีศึกษาในไทยและจีน ส่วนที่เมืองสิง ประเทศลาวนั้นยังไม่เป็นประเด็นมากเนื่องจากยังคงเป็นพื้นที่ห่างไกลจากพื้นที่จุดสนใจของนักท่องเที่ยวในลาวอื่นๆ จึงแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวไปเมืองสิงเลย กรณีประเทศไทย ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภาคเหนือเติบโตมากขึ้น จุดขายสำคัญอย่างหนึ่งของความเป็นภาคเหนือคือ "ชาวเขา" ชาติพันธุ์ถูกนำมาเป็นจุดขายในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมของความเป็นชนกลุ่มอื่นที่แตกต่างไปจากคนไทยสยาม หรือการส่งเสริมสินค้าหัตถกรรมที่ผลิตโดยชนชาติพันธุ์อื่น ในแง่ความเป็นอื่นที่ถูกนำมาเป็นจุดขายนั้นผู้ศึกษาพบว่า มีลื้อจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ ภายใน "หมู่บ้านชนเผ่า" (tribal village) จำลอง ซึ่งมุ่งหวังว่าจะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิต "แท้ๆ" ของชนเผ่าต่าง ๆ ให้ประชาชนที่เข้าชม ในการนี้ศูนย์วัฒนธรรมได้คัดเลือกตัวแทนจากชนกลุ่มต่าง ๆ ในภาคเหนือซึ่งทางศูนย์ลงความเห็นว่าเป็นชนเผ่า ให้มาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านชนเผ่านี้ เพื่อให้บรรดานักท่องเที่ยวได้เห็นชาวเผ่า "ของแท้" กลุ่มต่างๆในเครื่องแต่งกายอันมีลักษณะเฉพาะ และอาศัยในบ้านซึ่งนำมาจากชุมชนเองได้ ผู้ศึกษาแสดงความแปลกใจที่พบคนลื้อจากบ้านปิงในศูนย์วัฒนธรรมแห่งนั้นในบริบทของความเป็น "ชาวเขา" (hill tribes) ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ลื้อที่อาศัยอยู่ที่บ้านปิงไม่ได้เป็นชาวเขา ในทางตรงข้ามเป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาและมีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ต่างกับคนเหนือทั่วไป ส่วนเรื่องสินค้าชาติพันธุ์นั้น ผู้ศึกษาพบว่าความเป็น ลื้อ ถูกนำเสนออยู่ภายใต้ความเป็นชาวเขาโดยรวมเช่นกัน ทั้งนี้เพราะนักท่องเที่ยวให้ความสนใจกับป้าย "ชาวเขา" เป็นพิเศษ ดังนั้นสิ่งทอที่ผลิตโดยลื้อ เมื่อถูกนำไปจัดวางขายภายในพื้นที่เดียวกับสิ่งทอกลุ่มม้ง เย้า กะเหรี่ยงจึงได้ราคาดี (หน้า 15) กรณีลื้อที่สิบสองปันนา วัฒนธรรมลื้อถูกทำให้เป็นสินค้าเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน ไม่ใช่ชาวตะวันตกอย่างที่น่าจะเป็น Lue cultural package ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การระบำรำฟ้อนและเสื้อผ้าที่ใช้ในการแสดง ระบำจะมีลักษณะการเคลื่อนไหวที่เน้นความยั่วยวน แสดงเฉพาะเวลากลางคืนโดยผู้หญิงลื้อ เสื้อผ้าที่ใส่แสดง ไม่ได้สื่อถึงความเป็นลื้อ ไม่มีลักษณะร่วมกับลื้อในที่อื่น ๆ แต่เป็นเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบขึ้นมาใหม่ให้รัดรูป บางเบา เน้นความเป็นผู้หญิง ส่วนที่สองคือการที่รูปแบบการแต่งกายเหล่านี้ได้รับการส่งเสริมโดยรัฐ รวมถึงได้รับการยอมรับจากลื้อในระดับชีวิตประจำวันว่าเป็นเครื่องแต่งกายชนเผ่า ปัจจุบัน ผู้หญิงลื้อในสิบสองปันนาจึงใส่เสื้อบางเบาตัดเย็บสไตล์ฉานในพม่าด้วยผ้าสมัยใหม่กระโปรงเป็นทรงสอบซึ่งนำเข้าจากประเทศไทย ไม่ใช่ผ้าทอมือและไม่มีลวดลายดั้งเดิมแบบลื้อ กระโปรงแม้ว่าจะไม่บางเบาเท่าเสื้อแต่ก็บางเพียงพอที่จะอวดความเป็นผู้หญิงของผู้สวมใส่ (หน้า 23-24) ทั้งเสื้อผ้าและการแสดงถูกรัฐบาลจีนชวนเชื่อให้นักท่องเที่ยวเชื่อว่าเป็นสิ่งสะท้อนความเป็น Dai ดังนั้น ความเป็นลื้อจึงถูกทำให้ตกอยู่ภายใต้อัตลักษณ์ของความเป็น Dai อีกชั้นหนึ่ง

Map/Illustration

แผนที่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง บริเวณที่ลื้ออาศัยอยู่อย่างหนาแน่น (ระหว่างหน้า 4 และหน้า 5) ตารางแสดงจำนวนและการจำแนกกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไทของประเทศจีน (หน้า 21) ตารางแสดงจำนวนประชากรในประเทศลาว จำแนกโดยชาติพันธุ์และตระกูลภาษา (หน้า 37)

Text Analyst ฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG ลื้อ, สถานภาพ, อัตลักษณ์ชาติพันธุ์, ลาว, ไทย, จีน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง