สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject บรู,การมีส่วนร่วม,การอนุรักษ์,ฟื้นฟู,การเปลี่ยนแปลง,ภาษาบรู,ภูมิปัญญา,วัฒนธรรม,อุบลราชธานี
Author พนัส ดอกบัว และคณะ
Title รูปแบบการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบรูโดยกลุ่มชาติพันธุ์บรูบ้านท่าล้ง ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity บรู, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 217 หน้า Year 2552
Source โครงการวิจัย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ชุดโครงการ CBMAG อีสาน
Abstract

          โครงการวิจัย  รูปแบบการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบรูโดยกลุ่มชาติพันธุ์บรูบ้านท่าล้ง  ตำบลห้วยไผ่  อำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา  ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธ์บรูบ้านท่าล้ง  ตำบลห้วยไผ่  อำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี  ศึกษาองค์ความรู้เรื่องภาษาบรู  สถานการณ์การใช้ภาษาบรู  และสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงภาษาบรู  ตลอดจนเพื่อศึกษาและหารูปแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบรูโดยการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์บรูบ้านท่าล้ง  ตำบลห้วยไผ่  อำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี  โดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบมีส่วนร่วม  ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องและเก็บข้อมูลภาคสนามด้วยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม  การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้นำชุมชน  ผู้รู้  และสมาชิกในชุมชน  จำนวน  52  คน  การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
          ผลการวิจัยพบว่า  เมื่อกลุ่มชาติพันธุ์บรูมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านท่าล้ง  ประเทศไทย  ในพ.ศ. 2452  ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมจากเดิมชาวบรูนับถือผีหรือถือฮีตโดยกลุ่มเครือญาติร่วมฮีตกันและมีภาษาพูดเป็นของตนเองมาเป็นนับถือศาสนาพุทธและเข้าวัดทำบุญตามฮีตคองของอีสานแทน
          ภาษาบรูเป็นภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติกมอญ-เขมร  กลุ่มกะตู  ชาวบรูใช้พูดสื่อสารกัน  ไม่มีตัวหนังสือ  ในพ.ศ. 2530  หลังจากชาวบรูบ้านท่าล้งส่งคืนฮีต  เลิกนับถือผีแล้วหันมานับถือศาสนาพุทธ  รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม  การสร้างรัฐชาติของทางการไทยทำให้ชาวบรูใช้ภาษาบรูลดน้อยลงหันมาใช้ภาษาไทยอีสานหรือภาษาไทยกลางโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่  อย่างไรก็ตาม  เมื่อชาวบรูได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงและคุณค่าความสำคัญของวัฒนธรรม  ภาษาบรู  จึงได้ร่วมกันศึกษาและหารูปแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบรูด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาบรูหลากหลายรูปแบบทั้งในชุมชนและในโรงเรียน  ได้แก่  การสืบค้นรวบรวมและถ่ายทอดคำศัพท์  เพลง  นิทานภาษาบรูโดยคนเฒ่าคนแก่  และผ่านทางหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน  เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบรูให้คงอยู่ต่อไป

Focus

          ประวัติความเป็นมา  ภาษา  และวัฒนธรรมของชาวบรูบ้านท่าล้ง  ตำบลห้วยไผ่  อำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี  เพื่อหารูปแบบการมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์บรูในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบรู 

Theoretical Issues

          ผู้วิจัยพบว่า  ภาษาบรูและความเป็นบรูมีลักษณะที่ข้ามพรมแดนรัฐชาติระหว่างไทยกับลาว  อย่างไรก็ตาม  ความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับนโยบายรัฐ  กระแสโลกาภิวัตน์และทุนนิยมส่งผลให้ชาวบรูต้องปรับตัวและนำไปสู่การใช้ภาษาบรูลดน้อยลงจึงจำเป็นต้องทำการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการวิจัยตั้งแต่ขั้นแรก  ทำให้ชาวชุมชนตระหนักถึงปัญหาและค้นหาวิธีแก้ไขร่วมกันกับทีมวิจัย  ซึ่งช่วยสร้างองค์ความรู้และประโยชน์กับทั้งคนในชุมชนและทีมวิจัยเอง

Ethnic Group in the Focus

          กลุ่มชาติพันธุ์นี้เรียกตนเองว่า “บรู” ซึ่งหมายความว่า “คน” แต่ชาวพื้นราบมักเรียกขานแบบเหมารวมว่า “ข่า” ในบางท้องถิ่นเรียกว่า “ข่าบรู” ก็มี (หน้า 1, 7) 

Language and Linguistic Affiliations

         ภาษาบรูจัดอยู่ในตระกูลออสโตรเอเชียติก  ตระกูลย่อยมอญ-เขมร (Austroasiatic  Mon-Khmer)  สาขากะตู  ถือเป็นภาษาของกลุ่มชนดั้งเดิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ภาษาบรูไม่มีตัวอักษร  มีเพียงภาษาพูดเท่านั้น  (หน้า 1, 7, 99-100)  

Study Period (Data Collection)

          ระยะเวลาการดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1  กรกฎาคม  2551 - 31  ตุลาคม  2552
          เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการศึกษาค้นคว้าจากสื่อสิ่งพิมพ์และอินเทอร์เน็ต  เก็บข้อมูลภาคสนามด้วยการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม รวมถึงการสัมภาษณ์เชิงลึก

History of the Group and Community

          ชาวบรูตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโดจีน  ได้แก่  เวียดนาม  กัมพูชา  พม่า ลาว  และไทย  โดยในประเทศไทยชาวบรูอพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดมุกดาหาร  หนองคาย  และอุบลราชธานี 
          สำหรับจังหวัดมุกดาหาร  ชาวบรูที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศลาวได้อพยพเข้ามาในช่วงปี 2426-2430  ในระยะแรกยังชีพด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์ตามวิถีดั้งเดิม  แต่ต่อมาเมื่อชุมชนพัฒนาขึ้น  ป่าไม้ลดลง  ชาวบรูรุ่นใหม่จึงไม่มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรเช่นคนรุ่นก่อน  ด้านจังหวัดหนองคาย  ชาวบรูอพยพมาจากแขวงสะหวันนะเขต  ประเทศลาว  โดยได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านโพธิ์  จังหวัดหนองคาย  ในช่วงที่ฝรั่งเศสปกครองลาวและมีการกดขี่ใช้แรงงานพวกข่า  และในจังหวัดอุบลราชธานีนั้น  ชาวบรูอพยพจากประเทศลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอโขงเจียม  ที่บ้านเวินบึกและบ้านท่าล้ง  (หน้า 18)
          ชาวบรูอพยพเข้ามาอยู่ที่บ้านท่าล้งในเขตจังหวัดอุบลราชธานีเป็น 3  ช่วง  ดังนี้
          ช่วง  พ.ศ. 2436-2497  ขณะนั้นฝรั่งเศสเข้าปกครองลาว  มีการบังคับใช้แรงงานและเก็บภาษีอย่างมาก  ชาวบรูบางส่วนจึงได้อพยพมาจากบ้านลาดเสือ  แขวงจำปาสัก  ประเทศลาว  โดยกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาประเทศไทยมีจำนวนประมาณ  10   ครอบครัว  เมื่อ พ.ศ. 2452  โดยในครั้งแรกนี้ได้มาขึ้นฝั่งที่ถ้ำทราย  (ปัจจุบันคือบ้านตามุย  ตำบลห้วยไผ่  อำเภอโขงเจียม  จังหวัดอุบลราชธานี)  ต่อมาเมื่อถ้ำทรายถูกน้ำท่วมจึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านท่าล้งในปัจจุบัน  หมู่บ้านนี้เดิมชื่อว่า  “บ้านท่าลง”  เพราะเป็นท่าที่ลงไปยังแม่น้ำโขง  แต่ต่อมาชาวบ้านได้ออกเสียงโดยผันไปตามภาษาบรูจึงเรียกกันว่า  “บ้านท่าล้ง”  ชาวบรูยังชีพด้วยการทำไร่ข้าวบนภูและปลูกผัก เมื่อเกิดชุมชนบ้านท่าล้งปรากฏว่าชาวบรูในประเทศลาวอพยพเข้ามาอยู่กันมากขึ้นเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกเกณฑ์แรงงานและเก็บภาษีอย่างหนักจากฝรั่งเศส  ประกอบกับมีโรคระบาดที่ทำให้ผู้คนตายเป็นจำนวนมาก
          ช่วง  พ.ศ. 2498-2517  เป็นยุคที่ลาวประสบกับสงครามมากมาย  เช่น  สงครามอินโดจีน  สงครามปลดปล่อยชาติ  รัฐบาลลาวจึงเกณฑ์ชายฉกรรจ์ไปเป็นทหาร  ชาวบรูมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบากและกลัวว่าจะต้องถูกเกณฑ์ไปรบอีก  จึงหนีเข้ามาอยู่กับญาติในหมู่บ้านท่าล้งที่ฝั่งไทย
          ช่วง  พ.ศ. 2518-ปัจจุบัน  เป็นช่วงหลังจากประเทศลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยม  สถาปนาเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านท่าล้งเล่าว่าในช่วง  พ.ศ. 2518  มีคนลาวทั้งที่เป็นลาวลุ่มและชาวบรูอพยพเข้ามาที่บ้านท่าล้งเป็นจำนวนกว่า 100 คน เนื่องจากหนีภัยสงครามและการจับกุมจากทหารของฝ่ายรัฐบาล แต่ส่วนใหญ่ไปอยู่ในศูนย์อพยพและไปประเทศที่ 3(หน้า 64-68)

Settlement Pattern

          ชาวบรูจะสร้างหมู่บ้านเป็นกลุ่ม ไม่มีรั้วบ้าน  บ้านเรือนก่อสร้างแบบง่าย ๆ โดยใช้ไม้ไผ่  หลังคามุงด้วยหญ้าคา  ส่วนใหญ่จะสร้างบ้านตามแนวตะวันออก-ตะวันตก  โดยบันไดอยู่ทิศตะวันตก  เมื่อขึ้นบันไดไปจะพบระเบียงหรือ “ห้องเปิง”  เป็นพื้นที่ส่วนที่แบ่งจากชานบ้านโดยใช้ตู้หรือม่านกั้นไว้  ห้องเปิงนี้เป็นห้องนอนของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย  ส่วนด้านขวามือจะกั้นเป็นห้องนอน  2  ห้อง  ห้องในสุดจะจัดไว้เป็นห้องลูกชายซึ่งจะเป็นที่ตั้งของหิ้งพระและถือว่าเป็นเขตหวงห้าม  ไม่ให้ผู้หญิงเข้าไป  สำหรับห้องนอนของลูกสาวหรือห้องส้วมจะเป็นห้องที่อยู่ติดบันได  หากลูกสาวแต่งงานห้องนี้ก็จะกลายเป็นห้องนอนของลูกเขยด้วย (หน้า 80)  สำหรับคอกควายจะทำไว้ข้างบ้าน  ไม่นิยมเลี้ยงควายไว้ตรงใต้ถุนบ้าน  (หน้า 16)
          บ้านของชาวบรูบ้านท่าล้งในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้านจนคล้ายกับบ้านของชาวอีสานในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง  กล่าวคือ  สร้างจากไม้เนื้อแข็ง  อาจมีการต่อเติมชั้นล่าง  ก่ออิฐถือปูน  (หน้า 78-79)

Demography

          ชาวบรูบ้านท่าล้งมีจำนวน  63  ครัวเรือน  มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น  330  คน  เป็นชาย  175  คน  และหญิง  155  คน  ประชากรส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในช่วง  26-45  ปี  (จำนวน  120  คน)  รองลงมามีอายุอยู่ในช่วง  13-25  ปี  (จำนวน  72  คน)  ถัดไปคืออายุในช่วง  1-12  ปี   (จำนวน  63  คน)  46-60  ปี  (จำนวน  47  คน)  และอายุ  60  ปีขึ้นไปมีจำนวนน้อยที่สุด  คือ  (จำนวน  28  คน)  (สำรวจเมื่อเดือนมีนาคม 2550)  (หน้า 1, 73)

Economy

         บ้านท่าล้งอยู่ติดกับแม่น้ำโขงชาวบรูที่บ้านท่าล้งส่วนใหญ่จึงมีอาชีพหาปลาในแม่น้ำโขงโดยใช้มอง  เบ็ด  อุปกรณ์จับปลาที่ทำขึ้นเองจากไม้ไผ่  เช่น  ลอบ  นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพทำนา  ทำสวน  เลี้ยงสัตว์  อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของชุมชนอยู่ติดกับเขตอุทยานแห่งชาติ ผาแต้มซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  ชาวบรูจึงได้ใช้ทรัพยากรจากป่าด้วยการหาของป่าและนำไม้ไผ่มาจักสานเป็นกระติบข้าว  หวด  เครื่องใช้ในครัวเรือนต่าง ๆ โดยเฉพาะกระติบข้าวที่มีเอกลักษณ์ เป็นงานหัตถกรรมขึ้นชื่อที่สามารถสร้างรายได้เป็นอย่างดี  ประกอบกับ ปัจจุบันมีการจัดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์  กิจกรรมการเดินป่า  ล่องเรือให้บริการนักท่องเที่ยวด้วย  (หน้า 73, 80-83)

Social Organization

          ชาวบรูถือระบบเครือญาติเป็นสำคัญ  และนับถือผีหรือถือฮีตโดยกลุ่มเครือญาติร่วมฮีตกัน  ฮีตเป็นสิ่งที่ควบคุมและกำหนดวิถีชีวิต โดยเจ้าฮีตหรือเจ้าโคตรมีอำนาจในการควบคุมดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตาม  และผีฮีตจะลงโทษผู้ที่ละเมิดหรือทำความผิดที่เรียกว่า  ผิดฮีต  (หน้า 90) ระบบเครือญาตินี้มีลักษณะคล้ายองค์กรที่ไม่เป็นทางการที่คอยสอดส่อง  ควบคุมพฤติกรรมคนในชุมชน  อีกทั้งยังทำให้เกิดการขัดเกลาในสังคมของชาวบรู (หน้า 87) นอกจากนี้  ชาวบรูถือระบบผัวเดียวเมียเดียว  ในครอบครัวผู้ชายที่อายุมากที่สุดถือเป็นผู้นำ (หน้า 84)  

Political Organization

          ชาวบรูตั้งหมู่บ้านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านซึ่งมักเป็นผู้ที่อยู่ในครอบครัวซึ่งอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนที่บ้านท่าล้งเป็นกลุ่มแรก  ได้แก่  กลุ่มนามสกุลแก้วตั้งตา (ต่อมาเปลี่ยนเป็น พึ่งป่า),  กลุ่มนามสกุลแก้วใส, กลุ่มนามสกุลละครวงษ์  นอกจากนี้  ในหมู่บ้านยังมีผู้นำในการประกอบพิธีกรรมสำคัญ ๆ และนับถือปราชญ์ภูมิปัญญาด้านต่าง ๆ เช่น หมอสมุนไพร  หมอลำ/นิทาน  นายพราน  พรานปลา  ผู้เชี่ยวชาญงานจักสาน  (หน้า 74-75)

Belief System

          1. ชาวบรูนับถือผีตามที่นับถือกันมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  เรียกว่า  “ฮีตข่า คองขอม”  คือ  กฎจารีตประเพณีที่บรรพบุรุษชาวบรูยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวหรือนานกว่านั้น  (จิตรกร  โพธิ์งาม, 2536)  ชาวบรูเชื่อว่าหากทำผิดประเพณี 
(ผิดผี)  จะต้องได้รับการลงโทษจากผีประจำฮีตซึ่งจะพ้นโทษได้ก็ต่อเมื่อเซ่นไหว้ขอขมาผีฮีต  การนับถือผียังก่อให้เกิดประเพณีเลี้ยงผีบ้าน  โดยทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของหอปู่ตาซึ่งชาวบรูเชื่อว่าจะปกป้องคุ้มครองคนในหมู่บ้าน  และจัดพิธีเซ่นไหว้เลี้ยงเจ้าปู่เป็นประจำทุกปีและปัจจุบันชาวบรูยังคงนับถือผีบ้านหรือเจ้าปู่แม้จะส่งคืนฮีตหรือส่งคืนผีกับเจ้าฮีตในประเทศลาวแล้ว  (หน้า 83, 84, 86-87)
          2. ภายหลังจากที่ชาวบรูส่งคืนฮีตอันเป็นความเชื่อที่มาจากประเทศลาว  ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา  ชาวบรูได้เข้าวัด  ร่วมทำพิธีกรรมต่าง ๆ ทำบุญตามฮีตคองของอีสาน  ทั้งยังได้ส่งบุตรหลานให้บวชเรียนด้วย  ที่พักสงฆ์บ้านท่าล้งกลายเป็นศูนย์รวมในการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาที่มีบทบาทในวิถีชีวิตของชาวบรูในปัจจุบัน  (หน้า 73, 85)  อย่างไรก็ตาม  ชาวบรูยังคงให้ความสำคัญกับผีซึ่งมีบทบาทในการควบคุมการกระทำต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตโดยมีพุทธศาสนาช่วยกำกับอีกทางหนึ่ง (หน้า 87)
          3. ข้อห้ามสำคัญในหมู่บ้านคือห้ามเผาถ่าน  โดยเชื่อกันว่าเจ้าปู่ไม่อนุญาตให้เผาถ่านในหมู่บ้าน  หากผู้ใดละเมิดจะต้องมีอันเป็นไปและต้องไปขอขมาเจ้าปู่  ซึ่งถือเป็นความเชื่อและวิธีการในการควบคุมการใช้ทรัพยากรป่าไม้  (หน้า 86)

Education and Socialization

         ในพ.ศ. 2506  นายอำเภอโขงเจียมเป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนบ้านท่าล้ง  ซึ่งสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี  กรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย  จากนั้นได้โอนมาอยู่ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ  ปัจจุบันโรงเรียนบ้านท่าล้งเปิดสอนในระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษา  มีนักเรียน  43  คน  (ปีการศึกษา  2547)  ข้าราชการครู  3  คน  (หน้า 71)
          ด้านการสืบทอดความรู้ของชาวบ้านอาศัยการเรียนรู้ที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษหรือคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน  เช่น  การสานหวด  กระติบข้าว  เครื่องใช้ต่าง ๆ ในครัวเรือนที่ทำจากไม้ไผ่  ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์จับปลาและเขตหาปลาที่จะจับปลาได้มากอันบอกเล่าสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่  ประกอบกับการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและปฏิสัมพันธ์กับคนหาปลาในชุมชนใกล้เคียง  (หน้า 80-81)

Health and Medicine

          ยามเจ็บป่วยชาวบ้านจะเดินทางไปรักษาที่ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพชุมชนบ้านหนองผือน้อย  หมู่  7  ตำบลห้วยไผ่  ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านท่าล้งเป็นระยะทาง  9   กิโลเมตร  นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลโขงเจียมซึ่งอยู่ห่างออกไป  22  กิโลเมตร  (หน้า 71)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

         ชาวบรูไม่มีเอกลักษณ์ในการแต่งกายเนื่องจากไม่ได้ทอผ้าไว้ใช้เอง  มักซื้อเสื้อผ้าจากตลาด  การแต่งกายโดยทั่วไปคล้ายกับชาวอีสาน  กล่าวคือ  ผู้หญิงสวมเสื้อแขนสั้นหรือเสื้อหมากกะแหล่ง  นุ่งผ้าถุง  ส่วนผู้ชายนุ่งกางเกง  (หน้า 17)
         วิถีชีวิตของชาวบรูผูกพันอย่างแนบแน่นกับงานจักสานซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  เช่น  การสานหวด  กระติบข้าว  นอกจากใช้ในครัวเรือนแล้วยังสามารถสร้างรายได้นอกฤดูทำนาด้วย  การถ่ายทอดความรู้ในการสานจะกระทำเฉพาะในครอบครัวหรือในหมู่เครือญาติ  ทั้งนี้  กระติบข้าวซึ่งทำจากติ้วไม้ไผ่ของบ้านท่าล้งถือว่ามีเอกลักษณ์  ไม่เหมือนกับของชุมชนอื่น ๆ โดยเฉพาะวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้  นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบจนกระทั่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับหมู่บ้านได้  (หน้า 81-82)

Folklore

          นิทานที่เล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ภาษาบรูไม่มีตัวอักษร  โดยกล่าวถึงกษัตริย์อ้ายกก  ซึ่งทรงมีพระปรีชาสามารถ ทรงคิดประดิษฐ์ตัวอักษรเพื่อให้ราษฎรได้อ่านเขียนหนังสือ  แต่ต่อมาพระองค์สิ้นพระชนม์ในสนามรบเนื่องจากถูกศัตรูทำร้าย  อีกทั้งสุนัขยังได้คาบหนังควายซึ่งมีตัวอักษรบันทึกอยู่นั้นไปกินจนหมดสิ้น  ส่งผลให้ชาวบรูไม่มีตัวอักษรใช้มาจนถึงทุกวันนี้  ภาษาบรูจึงเหลือเพียงภาษาพูดเท่านั้น  (หน้า 100)
          นิทานพื้นบ้านที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ลูกหลานฟังโดยมีคติสอนใจสอดแทรกอยู่  เรื่อง กอนมูยกับอะการ์ชะลีโลอร์  หรือ  กำพร้าปลาบู่  เป็นเรื่องราวของกอนมูย  (ลูกกำพร้า)  ฐานะยากจนที่อาศัยอยู่กับยาย  วันหนึ่งออกไปหาปลาได้ปลาบู่น้อยมาตัวหนึ่ง  เขารู้สึกสงสารจึงไม่ได้นำมาทำอาหาร  แต่เลี้ยงไว้จนโต  ปลาบู่จึงเล่าให้เขาฟังว่าบ่อน้ำในป่ามีจระเข้ทองคำ  ให้กอนมูยปล่อยปลาบู่ลงไปกัดกับจระเข้  และบอกว่าถ้าจระเข้ผุดไปทางทิศเหนือให้กอนมูยขอร้องให้เจ้าป่าเจ้าเขาช่วย  แต่ถ้าจระเข้ผุดไปทางทิศใต้ให้ดีใจ  โห่ร้องไชโย  กอนมูยก็ทำตามจนในที่สุดจระเข้ทองคำคลานขึ้นมาตายอยู่บนฝั่ง  กอนมูยกับยายจึงกลายเป็นคนร่ำรวย  เมื่อพี่ชายของเขารู้ข่าวจึงมาขอยืมปลาบู่ไป  แต่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่น้องบอก  เมื่อปล่อยปลาบู่ลงไปกัดกับจระเข้  ปลาบู่จึงลอยขึ้นมาตาย  พี่ชายโกรธและนำปลาบู่มาปิ้งกิน  เมื่อน้องรู้เข้าก็เสียใจมาก  เขาได้นำก้างปลากลับมาบ้าน  วันหนึ่งยายนำก้างปลาบู่มาทเป็นหวี  เมื่อหวีแล้วปรากฏว่ายายกลับกลายเป็นสาว  พี่ชายจึงมาขอยืมหวีก้างปลาไปหวีผมให้เมียของตัวเอง  แต่เมื่อหวีไปแล้วปรากฏว่าหนังหัวหลุดมากองที่ท้ายทอย  พี่ชายโกรธมากจึงโยนหวีเข้ากองไฟ  กลายเป็นเถ้าถ่าน  น้องชายร้องไห้แล้วห่อขี้เถ้าของปลาบู่กลับบ้าน  วันหนึ่งกอนมูยเห็นรอยเท้าของเก้ง  กวาง  จึงลองเอาขี้เถ้าปลาบู่ไปโรยใส่  รุ่งเช้าสัตว์เหล่านั้นก็มานอนตายอยู่ที่รอยเท้านั้นเอง  กอนมูยได้นำเนื้อเก้งกวางไปทำอาหารและแจกจ่ายให้ชาวบ้าน  ฝ่ายพี่ชายได้ยินเสียงร่ำลือเรื่องนี้จึงมาขอขี้เถ้าปลาบู่ไปโรยรอยเท้าขโมยที่มาลักพืชผักของตนเอง  รุ่งเช้าปรากฏว่าพี่ชายและลูกเมียตายกันทั้งครอบครัว  (หน้า 113-115)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

         กลุ่มชาติพันธุ์นี้เรียกตนเองว่า  “บรู”  แปลว่า  “คน”  ชอบอาศัยอยู่ใกล้ภูเขา  แต่ชาวพื้นราบมักเรียกขานคนกลุ่มนี้ว่า  “ข่า”  ซึ่งอาจจะมาจากคำว่าข้าทาสหรือข้อยข้า  แปลว่า  ผู้รับใช้  ในอดีตชาวไทยที่อาศัยอยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขงชอบไปจับชาวบรูหรือที่เรียกว่าพวกข่ามาเป็นข้าทาส  จนกระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีประกาศห้ามมิให้จับอีก  (หน้า 7)
          อัตลักษณ์ชาติพันธุ์  ชาวบรูมองว่าตนเองเป็นคนขยัน  ตั้งใจทำมาหากิน  ซื่อสัตย์  รักความสงบ  แต่ในช่วงแรกจะถูกมองจากคนนอกชุมชนว่าเป็นข่า  เป็นพวกขี้ข้า  ล้าหลัง  หรือไม่ก็เข้าใจว่าเป็นชาวเขมรหรือส่วยที่ชอบเล่นคุณไสยมนต์ดำ  (หน้า 89-90)  อย่างไรก็ตาม  เมื่อชุมชนบ้านท่าล้งเปิดมากขึ้น  ชาวบรูได้รับการศึกษาและเริ่มทำงานเกี่ยวกับราชการ  ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงจึงเริ่มยอมรับและมองชาวบรูดีขึ้น  อย่างไรก็ตาม  การที่ชุมชนเปิดมากขึ้น  สัมพันธ์กับวัฒนธรรมภายนอกมากขึ้นประกอบกับนโยบายการสร้างรัฐชาติของไทยทำให้
อัตลักษณ์บางอย่างของชาวบรูได้รับผลกระทบ  เช่น  การพูดภาษาบรูที่เคยสืบทอดกันมาตลอดค่อย ๆ ลดน้อยลงจนเกือบหายไป  จึงต้องเกิดการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของชาวบรู  (หน้า 91-92, 116)
          ชาวบรูบ้านท่าล้งมักติดต่อกับชาวบรูบ้านเวินบึกเนื่องจากเป็นกลุ่มเครือญาติและมักไปมาหาสู่กันเป็นประจำ นอกจากนี้ยังติดต่อกับกลุ่มเครือญาติที่ประเทศลาวเนื่องจากในปัจจุบันการเดินทางข้ามพรมแดนมีความเสรีและสะดวกมากขึ้น สำหรับความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนนี้ส่วนใหญ่ชาวบรูบ้านท่าล้งจะไปมาหาสู่กับชาวบรูที่อยู่ในประเทศลาว  เช่น  บ้านลาดเสือ  บ้านนากกอก  เพื่อเยี่ยมกัน  แลกเปลี่ยนปัจจัยการดำรงชีวิต  แรงงาน  ตลอดจนด้านการศึกษา  โดยชาวบรูในประเทศลาวมองว่าชาวบรูบ้านท่าล้งมีโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมดีกว่าตน  ในขณะที่ชาวบรูบ้านท่าล้งเห็นว่าชาวบรูบ้านลาดเสือคือกลุ่มเครือญาติ  (หน้า 93, 98)  ส่วนความสัมพันธ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บรูกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ มักสัมพันธ์กันทางด้านเศรษฐกิจคือซื้อขายสินค้า (หน้า 89)  

Social Cultural and Identity Change

         หลังจากชาวบรูอพยพข้ามแม่น้ำโขงมาจากประเทศลาวและตั้งบ้านเรือนในประเทศไทยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมดังนี้
         ชาวบรูค่อย ๆ ส่งคืนฮีต  (คืนผี)  ให้กับเจ้าฮีตที่ฝั่งประเทศลาว  หันมานับถือพระพุทธศาสนา รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงด้านประเพณี  เช่น  พิธีแต่งงานที่จัดอย่างเรียบง่ายมากขึ้น  เนื่องจากการดำรงชีวิตที่ยากลำบาก  ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี  จึงส่งผลกระทบต่อฮีตคองเดิมที่ยึดถือ ทำให้การเดินทางไปร่วมพิธีกรรมของเจ้าฮีตที่เคยปฏิบัติกันนั้นยากลำบากขึ้น  รวมถึงการแต่งงานกับคนต่างชุมชนซึ่งไม่ได้นับถือผีทำให้เกิดปัญหาความยุ่งยากในการปฏิบัติตัวจนนำไปสู่การเลิกรากัน  ประกอบกับชาวบรูต้องปรับตัวในยุคการสร้างรัฐชาติไทย ชาวบรูจึงเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนาแทน  มีการเข้าวัดเข้าวาทำบุญตามฮีตคองของอีสาน  และสนับสนุนให้ลูกหลานบวช  (หน้า 85-86, 90)
         วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง  ระบบสาธารณูปโภคที่พัฒนามากขึ้น  การเปิดรับวัฒนธรรมต่างถิ่น  มีปฏิสัมพันธ์กับคนนอกชุมชนมากขึ้น  ประกอบกับชาวบรูรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาในระบบการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาไทยกลางตามนโยบายการสร้างรัฐชาติของทางราชการ  ทำให้ชาวบรูเริ่มใช้ภาษาบรูลดน้อยลงในชีวิตประจำวัน  หันมาใช้ภาษาอีสานหรือภาษาไทยกลางแทน (หน้า 130)  อีกทั้งชาวบรูยังรู้สึกภาคภูมิใจในภาษาของตนเองลดน้อยลงด้วย ชาวบรูที่แต่งงานกับคนต่างถิ่นจะไม่นิยมพูภาษาบรูและไม่ฝึกให้ลูกพูด  ในชุมชนขาดการส่งเสริมการใช้ภาษาบรู  (หน้า 2, 91, 106)
         วิถีชีวิตของชาวบรูบ้านท่าล้งสัมพันธ์กับคนนอกชุมชนมากขึ้น  การประกอบอาชีพขยายจากการหาปลา  ทำนา  ทำสวน  เลี้ยงสัตว์  หาของป่า  จักสาน  มาสู่การจัดการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์  มีการจัดกิจกรรมเดินป่า  ล่องเรือชมธรรมชาติ  ซึ่งถือเป็นการใช้ต้นทุนทางธรรมชาติ  สังคม  วัฒนธรรมชุมชนที่โดดเด่นมาใช้หารายได้เข้าหมู่บ้านเพิ่มเติม  (หน้า 80-83) 
         สถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงการใช้ภาษาบรู : ช่วงที่ชาวบรูเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในไทย  ช่วง พ.ศ. 2452-2503  ชาวบรูยังไม่ค่อยได้ติดต่อกับคนนอกชุมชน  การสื่อสารในชุมชนจะใช้ภาษาบรูเป็นหลัก  ช่วงพ.ศ. 2503-2530  เริ่มมีหน่วยงานของทางราชการเข้ามาพัฒนาชุมชน  ชาวบรูมีปฏิสัมพันธ์กับคนต่างถิ่นมากขึ้น  เกิดโรงเรียนบ้านท่าล้ง  กลุ่มเยาวชนที่ได้เข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนรวมถึงกลุ่มที่ไปทำงานนอกชุมชนใช้ภาษาบรูในชีวิตประจำวันน้อยลง  โดยหันมาพูดภาษาไทยอีสานหรือภาษาไทยกลางมากขึ้น  และช่วงพ.ศ. 2530-ปัจจุบัน สถานการณ์การใช้ภาษาบรูถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตเพราะมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไป  มีเพียงคนเฒ่าคนแก่เท่านั้นที่ยังคงใช้ภาษาบรู  (หน้า 103-106)
         รูปแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบรู : หลังจากชาวบรูบ้านท่าล้งได้ทบทวนประวัติความเป็นมาตลอดจนเห็นความสำคัญของภาษาและวัฒนธรรมของชาวบรู  จึงได้ร่วมกันคิดหารูปแบบในการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาบรู  โดยจัดกิจกรรมเสนอภาษาบรูวันละ  5  คำ  ผ่านหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน  จัดทำหนังสือนิทานภาพภาษาบรู  ซึ่งรวบรวมคำศัพท์  นิทาน  ผญา  เพลงและเรื่องเล่าภาษาบรู  การเปิดห้องเรียนภาษาบรูในหมู่บ้านผ่านกิจกรรมหลากหลาย  ได้แก่  ร้องเพลง  นับเลข  ฟังนิทานภาษาบรู  และจัดห้องเรียนภาษาบรูในโรงเรียน (หน้า 107-116)
          การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชน : จากการที่คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการวิจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง  ดังนี้
              - บรรยากาศทั่วไปในชุมชน  ชาวบ้านพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตนมากขึ้น  เช่น  ประวัติของชุมชนหรือตรกูลของตนเอง  สอบถามถึงคำศัพท์ภาษาบรู  เด็กและเยาวชนสนใจนิทานภาษาบรูมากขึ้น  พูดคุยถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมบรูในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งที่บ้าน  วัด  และโรงเรียน
               - การเปลี่ยนแปลงในครอบครัว  ชาวบรูโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในทีมวิจัยได้พูดคุยกับคนในครอบครัวและผู้เฒ่าผู้แก่เกี่ยวกับประเพณี  ภูมิปัญญาของชาวบรูมากขึ้น
              - การเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชน  ผู้นำชุมชนและคณะกรรมการชุมชนเสนอให้สืบค้นประเพณีและภูมิปัญญาของชาวบรูเพื่อส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวในชุมชน  โรงเรียนเสนอการจัดหลักสูตรเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีของชาวบรู  ด้านวัดเสนอการแปลบทสวดมนต์บางส่วนเป็นภาษาบรู  และกลุ่มเยาวชนเสนอให้สืบค้นและบันทึกภูมิปัญญาไว้  เช่น  เรื่องฮีต  ยาสมุนไพร
          สำนึกและความเคลื่อนไหวทางสังคม : หลังการวิจัยเกิดกลุ่มคนในชุมชน  โรงเรียน  และวัดที่ออกมาร่วมกันทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรม  ภาษาบรู  ทั้งยังมีความเคลื่อนไหวตลอดจนการเรียนรู้กันในกลุ่มเครือญาติ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของความร่วมมือของกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ  เช่น  กลุ่มเยาวชน  กับกลุ่มที่เป็นทางการ  เช่น  ผู้ใหญ่บ้าน  สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล  เพื่อฟื้นฟูภาษาบรูและนำไปสู่แผนการพัฒนาชุมชนในด้านอื่น ๆ
เช่น  การจัดการท่องเที่ยว  (หน้า 125-127)

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

          1. ตาราง :  1.1) จำนวนนักเรียน  โรงเรียนบ้านท่าล้ง  ปีการศึกษา  2550  หน้า  72, 
1.2) จำนวนประชากรบ้านท่าล้ง  หน้า  74
          2. แผนผังที่ :  2.1) แสดงกรอบแนวคิดของการศึกษา  หน้า  4,  2.2) แสดงแนวคิดสัมพันธ์ของการมีส่วนร่วม  หน้า  22,  2.3) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างภาษาบรูกับภาษาอื่น ๆ ในตระกูลออสโตรเอเชียติก  หน้า  99
          3. ภาพ :  3.1) แสดงการมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม  หน้า  61,  3.2) แสดงแผนที่การตั้งบ้านเรือนของบ้านท่าล้ง  หน้า  70,  3.3) แสดงอัตลักษณ์ชาวบรูในกระบวนการสร้างรัฐชาติไทย  หน้า  92

Text Analyst กันต์ฤทัย สืบสายเพ็ชร Date of Report 22 เม.ย 2559
TAG บรู, การมีส่วนร่วม, การอนุรักษ์, ฟื้นฟู, การเปลี่ยนแปลง, ภาษาบรู, ภูมิปัญญา, วัฒนธรรม, อุบลราชธานี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง