สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ปลัง การอพยพเข้าสู่ประเทศไทย บทบาทของเพศหญิงในสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อพยพกับชุมชนเดิม มณฑลยูนนาน ประเทศจีน
Author Zhang Jie
Title เพศสภาวะและอัตลักษณ์ในระบบการเคลื่อนย้ายประชากร : การอพยพแรงงานชาวปลังจากมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่ ประเทศไทย
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ปลัง คาปลัง, Language and Linguistic Affiliations -
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 126 หน้า Year 2546
Source Zhang Jie. (2546). Gender and Identity in the Bulang Migration System : The movement of Bulang Labor from Yunnan Province, People’s Republic of China to Thailand. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการพัฒนาอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Abstract

          วิทยานิพนธ์นี้ต้องการศึกษาเรื่องการอพยพและการดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของชาวปลังในหมู่บ้าน Langzhai เขตสิบสองปันนา สาธารณรัฐประชาชนจีนที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทย โดยใช้การลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสัมภาษณ์ชาวบ้านในหมู่บ้าน Langzhai และผู้ที่อพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานคร
          จากการศึกษาพบว่าชาวปลังกลุ่มนี้มีการอพยพเข้าสู่ประเทศไทย 3 ช่วงด้วยกัน ช่วงแรกเกิดขึ้นจากการต่อสู้ระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ ช่วงที่ 2 ระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมและการปฏิรูปที่ดิน และช่วงที่ 3 หลังปีค.ศ. 1990 เป็นไปเพื่อหารายได้เข้าสู่ครัวเรือนเป็นหลัก โดยชาวปลังนิยมอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเนื่องจากเป็นประเทศที่ยังต้องการแรงงาน มีการใช้ภาษาที่อยู่ในตระกูลที่ใกล้เคียงกัน และนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเช่นเดียวกันมากกว่าอพยพเข้าไปทำงานในเมืองอื่นของประเทศจีน เพราะชาวปลังพูดภาษาจีนได้น้อยมากและไม่ได้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานแบบจีน ในการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยนั้นจะมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางคอยช่วยเหลือให้สามารถหลบหนีเข้าสู่ประเทศไทยได้ คนกลางจะทำหน้าที่สอนภาษาไทยเบื้องต้นรวมถึงหางานให้กับแรงงานด้วย ชาวปลังที่อพยพไปทำงานที่กรุงเทพฯ มีการรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามวัฒนธรรมที่เหมือนกับในหมู่บ้าน Langzhaiนอกจากนั้นยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาวปลังจากหมู่บ้าน Langzhaiเช่นรูปแบบการปกครองภายในกลุ่ม การใส่เสื้อที่มีธงชาติจีน เป็นต้น แม้ว่าตนเองจะอยู่ในสถานะที่ไม่ควรเปิดเผยตัวตนมากนัก แรงงานที่อพยพมีทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่แรงงานหญิงมักจะได้ทำงานที่ไม่ใช้ทักษะและค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชาย จึงมีการทำงานล่วงเวลาเพื่อพยายามเก็บเงินส่งกลับบ้านให้ได้มากที่สุด ในขณะที่แรงงานชายบางส่วนมักไปสังสรรค์ในวันหยุดและทำผิดกฎหมายทำให้ถึงแม้จะได้ค่าจ้างสูงกว่าแรงงานหญิงแต่ก็สามารถส่งเงินกลับบ้านได้น้อยกว่า จากการอพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทยทำให้จากเดิมที่ในหมู่บ้านสามารถผลิตข้าวและอาหารเพียงเพื่อยังชีพแต่ไม่มีเงินใช้จ่าย กลายเป็นเริ่มมีเงินและสามารถซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกได้ ชาวบ้านกลุ่มนี้จึงยังคงนิยมอพยพเข้ามาทำงานยังประเทศไทย แม้จะอยู่ในสถานะของแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายและต้องใช้ชีวิตหลบๆซ่อนๆ จากตำรวจก็ตาม นอกจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว การอพยพยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวและระหว่างคู่รักอีกด้วย โดยพบว่าการอพยพได้กลายเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลให้เกิดการหย่าร้างในหลายครอบครัว  

Focus

          เน้นการศึกษาการอพยพของกลุ่มปลังจากมณฑลยูนนานประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าสู่ประเทศไทย โดยศึกษาถึงเหตุผล เส้นทาง ขั้นตอนรายละเอียดและปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการอพยพ และศึกษาเรื่องโครงสร้างทางสังคมและสถานะของเพศในสังคมที่มีการอพยพ 

Theoretical Issues

          ผู้เขียนมีแนวคิดว่าเหตุผลที่ผลักดันให้ชาวปลังอพยพเข้าสู่ประเทศไทยนั้นเนื่องมาจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจและสังคม และความต้องการแรงงานของกรุงเทพมหานครเป็นหลักโดยมีปัจจัยด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันเป็นปัจจัยสนับสนุน และระหว่างการอพยพก็มีปัจจัยทางด้านเพศและอัตลักษณ์เป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มได้ (หน้า 13)

Ethnic Group in the Focus

          กลุ่มปลังซึ่งถูกจัดเป็นชนชาติปู้หลาง (Bulang) ที่อาศัยในมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวปลังเรียกตนเองต่างกันตามที่อยู่อาศัยเช่น Plang ในเขตสิบสองปันนา Wu, Ai Wu หรือ A Wu ในเขต Lincang และ  Baoshan Mang ในเขต Changning หรือ Alva, Va, I va ในเขต Mojiang และ Shuangjiang (หน้า 34) 

Language and Linguistic Affiliations

          ภาษาของชาวปลังเป็นภาษาในกลุ่ม Mon-Khmer ซึ่งแยกมาจากตระกูล Austro-Asiaticไม่มีการบันทึกเป็นตัวอักษรด้วยภาษาจีน ทำให้วัฒนธรรม ความ เชื่อ และประวัติศาสตร์ของชาวปลังสืบทอดผ่านการบอกเล่าเท่านั้น (หน้า 34) นอกจากภาษาปลังแล้ว ชาวปลังที่ Langzhai สามารถสื่อสารกับคนไท,ไต และไทใหญ่ ได้เพราะนับถือศาสนาพุทธนิการเถรวาทและมีการ ติดต่อค้าขายแบบกองคาราวานกับคู่ค้าชาวไทใหญ่โดยเฉพาะที่มาจากประเทศพม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเขตลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนโดยการใช้ภาษาไท นอกจากนั้นชาวปลังยังมีการยืมภาษาไทใหญ่บางคำมาใช้อธิบายคำที่ไม่มีในภาษาของตนด้วย (หน้า 35,45)

Study Period (Data Collection)

          การลงพื้นที่จริงเพื่อทำการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์กระทำขึ้นที่หมู่บ้าน Langzhai วันที่ 6-16 เมษายน พ.ศ. 2545, 21-28 เมษายน พ.ศ. 2545, 18-28 ตุลาคม พ.ศ. 2545, 15-26 ธันวาคม พ.ศ. 2545 และ 10-20 มกราคม พ.ศ. 2546 และเก็บข้อมูลภาคสนามที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546

History of the Group and Community

          จากงานศึกษาของจีนพบว่าชาวปลังสืบเชื้อสายมาจากคน Pu ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณทางใต้ของมณฑลยูนนานในปัจจุบันโดยชาว Pu มีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยกระจายกันตั้งถิ่นฐานในแถบแม่น้ำ Langcang และแม่น้ำ Nu ต่อมากลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งในกลายเป็นชาวปลัง และมีการอพยพและตั้งถิ่นฐาน ณ ที่ตั้งปัจจุบันในสมัยราชวงศ์ชิง แต่ข้อมูลจากวรรณคดีโบราณของจีนระบุว่าชาวปลังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Bai Pu 1 ใน 3 กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนตั้งแต่ประมาณ 4000 ปีก่อน (หน้า 34)ชาวปลังแบ่งย่อยเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกตัวเองว่าชาวปลัง อาศัยอยู่บนภูเขาทางตอนใต้ของเมือง Menghai และ Jinghong ในสิบสองปันนา กลุ่มที่ 2 เรียกตัวเองว่าชาว Arwa, Awa, Wa, Iwa อาศัยอยู่รอบเขตภูเขาของเมือง Mengman ในสิบสองปันนาและเมือง Shuangjiang, Genma ในเขต Simao และ Lingcang กลุ่มสุดท้ายเรียกตัวเองว่า Benren, Puren มักเติมคำว่า wu ต่อท้ายชื่อหมู่บ้านหรือสถานที่ อาศัยอยู่ในเขตภูเขาชั้นในของเขต Baoshan ต่อมาในปีค.ศ. 1954 ที่มีการจัดจำแนกชนกลุ่มน้อย ชาวปลังในยูนนานทั้ง 3 กลุ่มจึงถูกเรียกจากทางการว่า ชนชาติ Bulang จัดเป็น 1 ใน 55 ชนชาติส่วนน้อยของสาธารณรัฐประชาชนจีน (หน้า 69)
          หมู่บ้าน Langzhai ก่อนปีค.ศ. 1947 นั้นมีจำนวนประชากรมากกว่า 3,000 คนแต่เมื่อเกิดกาฬโรคขึ้นภายในหมู่บ้าน ทำให้ประชากรลดเหลือเพียง 2000 คน ชาว Langzhaiมากกว่าครึ่งหนึ่งของหมู่บ้าน เริ่มอพยพไปยังประเทศพม่าและไทยครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1949-1953เนื่องจากสงครามระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนและพรรคก๊กมินตั๋ง ที่ทำให้ทหารจากกองทัพของพรรคก๊กมินตั๋งเข้ามาปล้นสะดมทรัพย์สินมีค่าเช่นทอง เงิน และฝิ่น รวมถึงจับชาวบ้านไปเรียกค่าไถ่ ทำให้ครอบครัวที่มีฐานะเริ่มอพยพออกจากพื้นที่ การอพยพครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ. 1958-1966 จนถึงการปฏิวัติวัฒนธรรม ชาวบ้านจำนวนครึ่งหนึ่งของที่เหลืออยู่เริ่มอพยพ โดยเหตุผลหลักคือการที่รัฐบาลห้ามชาวบ้านปลูกฝิ่น ประชาชนถูกข่มขู่ จับตัวไปเพื่อเรียกค่าไถ่ ถูกรัฐบาลรีดไถเงินและทองและนโยบายปฏิรูปที่ดินซึ่งจะทำให้ที่ดินและผลผลิตทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาล ผู้อพยพใน 2 ครั้งนี้ส่วนมากจะเป็นชาวปลังที่ค่อนข้างมีฐานะ ในขณะที่ครอบครัวที่ฐานะยากจนยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ภายหลังจากช่วงนี้เข้าสู่ช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966-1976) มีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันชายแดน (Political Frontier Defense)ซึ่งไม่อนุญาตให้ประชากรคนใดอพยพข้ามเขตชายแดน และระบบสำมโนประชากรแบบ Hukou ที่จำกัดการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของประชากรทำให้ชาวบ้านยังคงอาศัยอยู่ในภูมิลำเนาของตน  การอพยพระลอกที่ 3 เริ่มเมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศ และมีลูกหลานของผู้อพยพรอบแรกและรอบที่ 2 กลับมาทำธุรกิจและเยี่ยมหมู่บ้าน ชาวบ้านได้รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างสภาพหมู่บ้านในจีนกับในประเทศไทย เช่นการมีโทรทัศน์ วิทยุ เครื่องใช้ไฟฟ้า การมีน้ำประปาใช้ และความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ทำให้ชาวปลังที่ Langzhaiต้องการอพยพมาหางานทำในประเทศไทยเพื่อชีวิตที่ดีร่ำรวยขึ้น และมีจุดประสงค์รองคือเป็นการเปิดโลกให้กับตนเอง ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของแรงงานต่างด้าวข้ามชายแดนและสร้างเครือข่ายใหม่ขึ้น ชาวปลังอพยพผ่านเส้นทางดั้งเดิมของตนและสร้างเครือข่ายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือในการอพยพ เพราะเป็นการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและเข้ามาเป็นแรงงานต่างด้าวในประเทศ แม้ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ยังคงมีแรงงานอพยพจาก Langzhai อยู่บ้าง เนื่องจากการแข่งขันในตลาดแรงงานภายในประเทศจีนสูงมาก (หน้า 36-37,43,60-61) ภายหลังการอพยพออกนอกหมู่บ้าน Langzhai พบว่ามีชาวปลังบางส่วนที่อพยพออกจากหมู่บ้านตั้งแต่ครั้งแรกและครั้งที่สองตัดสินใจอพยพกลับมา เนื่องจากเหตุผลเรื่องการเกณฑ์ทหารของกลุ่มว้าในพม่า (หน้า 72)

Settlement Pattern

          ชาวปลังมักอาศัยอยู่บนยอดเขา สูง 1500 เมตรจากระดับน้ำทะเลในเขตสิบสองปันนา (หน้า 35)และเมื่อมีการอพยพมาเป็นแรงงานภายในกรุงเทพฯ ก็ได้มีการสร้างชุมชนปลังในประเทศไทยขึ้นตามชานเมืองที่มีโรงงานตั้งอยู่ (หน้า 81)

Demography

          ชาวปลังมีการกระจายตัวอยู่ตามเขตชายแดนและมีบางส่วนอาศัยอยู่ในประเทศพม่า ลาว ไทย และกัมพูชา (หน้า 35) ในประเทศจีนมีชาวปลังอยู่ทั้งสิ้น 90,388 คนซึ่งเพิ่มขึ้น 3.39% ต่อปีนับจากปีพ.ศ. 2492 (หน้า36)
ภายในหมู่บ้าน Langzhai ประกอบด้วย 124 หลังคาเรือน570 คนตามเอกสารทางราชการ แต่ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพบว่ามีทั้งหมด 171 ครัวเรือน 655 คนเป็นชาย 320 คน หญิง 315 คนและ 20 คนที่ไม่ทราบข้อมูลเนื่องจากอพยพและย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศไทย  ภายในบ้าน 1 หลังมีครอบครัวอาศัยอยู่ตั้งแต่ 1-3 ครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกหลานอพยพไปหางานทำในประเทศไทย เนื่องจากครอบครัวที่อพยพไปนั้นจะไม่มีบ้านเป็นของตนเองในหมู่บ้านและต้องฝากเครื่องเรือนของตนไว้ที่บ้านพ่อแม่ ในครอบครัวใหญ่ 1 ครอบครัวจะประกอบด้วยสมาชิกแต่ละคนที่มีหน้าที่แตกต่างกัน เช่นดูแลที่ดิน การเงิน การทำไร่ เป็นต้น แต่จะต้องมีการจัดหาข้าวมาให้กับพ่อและแม่เสมอหากชาวบ้านคนใดไม่จ่ายค่าภาษีที่ดิน ก็จะถือว่าคนนั้นเป็นผู้ที่ย้ายออกจากหมู่บ้านอย่างถาวร และถูกลบชื่อออกจากทะเบียนบ้าน ที่ดินที่เคยครอบครองจะถูกเรียกเก็บจากครอบครัวและแจกจ่ายให้ชาวบ้านคนอื่นในหมู่บ้าน (หน้า 50-52)
          ภายหลังจากการอพยพเข้าสู่ประเทศไทย ได้มีชาวบ้านบางส่วนอพยพกลับมายังหมู่บ้าน Langzhai โดยมีจำนวน 11 คนในปีค.ศ. 1994, 5 คนในปี ค.ศ. 1995, 8คนในปีค.ศ. 1996, 34 คนในปีค.ศ. 1997 และ 39 คนในปีค.ศ. 1998 ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยเมื่อเทียบกับชาวปลังที่ยังคงอาศัยอยู่ภายในประเทศไทยเพื่อหารายได้ ตั้งแต่ปีค.ศ. 1990 เป็นต้นมา ได้มีประชาชนชาวปลังอพยพเข้าไปเป็นแรงงานในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 13 คนในปีค.ศ. 1990 เป็น 28 คนในปีค.ศ. 1991 46 คนในปีค.ศ. 1992 จนถึง 86 คนในปีค.ศ. 1995 ก่อนจะเริ่มเข้าสู่สภาวะคงที่ภายหลังปีค.ศ. 1997-1998 (หน้า 61,77)

Economy

          ในอดีต ชาวปลังทำการเกษตรด้วยการถางเผา (หน้า 35)มีการปลูกฝิ่นและทำนาบนที่สูง ชาวบ้านจะนำฝิ่นที่ได้ เกลือและชา ไปแลกเปลี่ยนเป็นของสำหรับพิธีบูชาเทพเจ้า สินค้าจากต่างประเทศและเครื่องอุปโภคบริโภค ในเมือง Keng Tung ของพม่า แต่ไม่นิยมติดต่อและนำสินค้าเข้าไปขายที่เมือง Menghai ในสิบสองปันนาเนื่องจากไม่มีถนนตัดผ่าน แต่มีเส้นทางคาราวานเข้าสู่เมือง Keng Tung ซึ่งทำให้ชาว Langzhai รับรู้ถึงข้อมูลของชาว Myan- Bulang และมีการติดต่อระหว่างกับกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทใหญ่มานานแล้ว แม้ว่าจะมีพรมแดนคั่นกลางแต่ชาวบ้านก็เดินทางอย่างอิสระข้ามพรมแดนเพื่อซื้อและแลกเปลี่ยนสินค้าที่ตนต้องการในชีวิตประจำวัน (หน้า 40,70)  ชาวบ้านมีฐานะที่ค่อนข้างดีเนื่องจากที่ดินบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์และสามารถเพาะปลูกฝิ่นได้เยอะ และขายได้ราคาดี แต่ต่อมาเมื่อมีโรคระบาดและสงครามทำให้มีทหารบางส่วนเข้ามายังพื้นที่และรีดไถจากชาวบ้าน รวมถึงมาตรการห้ามปลูกฝิ่น ทำให้ชาวบ้านมีฐานะยากจนลง
         ในช่วงเริ่มเปิดประเทศตำแหน่งงานยังมีไม่มากในแถบชนบท และชนกลุ่มน้อยไม่สามารถแข่งขันกับชาวจีนส่วนใหญ่ได้ในการหางานทำภายในประเทศ ประกอบกับแรงงานไทยนิยมอพยพไปทำงานในต่างประเทศทำให้ประเทศไทยต้องการแรงงานจำนวนมากมาชดเชย และประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ชาว Langzhai นิยมอพยพเข้ามายังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหางานทำ แม้จะเป็นแรงงานผิดกฎหมายก็ตาม (หน้า 41-44)ชาวบ้านบางส่วนมีทำอาชีพค้าขาย แต่ชาวปลังมักไม่ชอบงานในลักษณะนี้ และอยากกลับไปทำอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมมากกว่า (หน้า 72) ผู้หญิงชาว Langzhai ส่วนมากประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม ป่าไม้ และประมง มีเพียงส่วนน้อยที่ทำเกี่ยวกับการค้าและบริการ เนื่องจากผู้หญิงมีโอกาสทางการศึกษาที่น้อยกว่าผู้ชาย (หน้า 56)
          หมู่บ้าน Langzhai เป็นหมู่บ้านที่จัดอยู่ในกลุ่มยากจน โดยมีรายได้ 526 หยวนต่อคนต่อปีโดยรายได้หลักมาจากเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ ที่ดินในหมู่บ้านใช้ในการเพาะปลูกแบบถางและเผา (คิดเป็น 90%) ซึ่งต้องอาศัยน้ำจากฝนเป็นส่วนใหญ่และมีทั้งแบบที่อยู่บนเชิงเขาหรืออยู่ในที่ราบ มีที่ดินเพียงบางส่วนที่สามารถทำให้เป็นที่ลุ่มถาวรได้ ซึ่งที่ดินส่วนนี้อยู่ในความครอบครองของบางครอบครัวเท่านั้น ชาวบ้านแต่ละคนจะได้รับการจัดสรรที่ดินประมาณ 6 mu หรือ 90 เฮกเตอร์สำหรับใช้ในการเพาะปลูก ชาวบ้านนิยมเพาะปลูกในที่ลุ่มถาวรมากกว่าเนื่องจากจะทำให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพดีกว่าแบบถางและเผา และผลิตข้าวได้ในปริมาณที่มากกว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ในการปลูกข้าวและส่วนที่เหลือจะปลูกข้าวโพด ชาวบ้านสามารถเพาะปลูกได้เพียงเพื่อรับประทานภายในครัวเรือนเท่านั้น ไม่สามารถขายได้ เนื่องจากในตลาดมีความต้องการน้อยกว่าจำนวนข้าวที่ผลิตได้ ทำให้ชาวบ้านไม่อดตายแต่ก็ไม่มีเงินใช้เช่นกัน บางครอบครัวมีการนำข้าวไร่มาทำเหล้าเพื่อเพิ่มมูลค่า แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องของความต้องการที่มีไม่มากนักและหลายครอบครัวไม่รู้จักวิธีการทำ ทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการผลิต  ที่ดินสำหรับเพาะปลูกของชาวบ้านนั้นอยู่ห่างออกจากบ้านไปตั้งแต่ระยะเวลา 30 นาทีถึง 3 ชั่วโมง ด้วยการเดินเท้าบนภูเขา ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำการเกษตรได้สะดวก นอกจากข้าวแล้วในหมู่บ้านยังมีการปลูกข้าวโพดและชาซึ่งถือว่าเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านโดยเฉพาะในช่วงก่อนการอพยพของแรงงาน เพราะข้าวโพดสามารถนำมาทำเหล้าและขายได้เช่นกันแม้จะได้ราคาน้อยกว่าเหล้าที่ทำจากข้าว นอกจากนั้นยังเป็นอาหารที่สำคัญของหมูที่เลี้ยงในหมู่บ้าน ชาวบ้านนิยมเลี้ยงหมูและไก่ เพื่อขายและรับประทานในครอบครัว โดยเฉพาะหมูเนื่องจากสามารถขายได้ทั้งในและนอกหมู่บ้าน เพราะต้องมีการใช้หมูประกอบงานเทศกาลสำคัญเช่น วันขึ้นปีใหม่ไท งานบวช เป็นต้น (หน้า 61,64)
         ชาถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอีกชนิดหนึ่ง แต่ชาที่ปลูกได้นั้นมีคุณภาพที่ไม่ดีมากนัก และการพัฒนาคุณภาพของชาต้องใช้เงินลงทุนมากทำให้ชาวบ้านยังคงเพาะปลูกชาแบบดั้งเดิมและไม่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ผู้หญิงในหมู่บ้านส่วนใหญ่มักจะทำหน้าที่เก็บใบชาในทุกๆเช้าตั้งแต่เวลา 6.30 น. โดยไม่รับประทานอาหารเช้า โดยจะกลับเข้ามารับประทานอาหาร กลางวันในเวลา 10.00 น. ก่อนจะออกไปดูที่เพาะปลูก ราคาของชาที่ขายได้นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของชา ชาวบ้านเกือบทุกครัวเรือนยังมีการเลี้ยงวัวและควายเพื่อขายและใช้ลากเกวียนขนสินค้า (หน้า 63-64) ในหมู่บ้านมีผักและผลไม้จำนวนจำกัดเนื่องจากมีน้ำไม่พอ ทำให้ชาวบ้านต้องซื้อจากชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ที่ตีนเขา ในฤดูฝนที่เส้นทางเฉอะแฉะกลายเป็นโคลนจึงทำให้ชาวบ้านไม่มีผักและผลไม้สดรับประทาน ชาวบ้านผู้ชายที่นำสินค้าเช่นชาหรือเหล้าลงไปขายยังตลาดจึงมักจะนำผัก ผลไม้และเครื่องใช้อื่นๆ กลับขึ้นมายังหมู่บ้านด้วย (หน้า 64-65)
          ชาวบ้านแทบจะไม่มีรายรับเป็นเงินภายหลังจากการสั่งห้ามปลูกฝิ่น แต่ภายหลังจากที่มีชาวบ้านอพยพไปหางานทำยังประเทศไทย พบว่าชาวบ้านมีรายรับเพิ่มขึ้น และสามารถนำมาซ่อมแซมบ้านของตนได้ (หน้า 65)
ในการอพยพไปหางานทำที่ประเทศไทยนั้น ตัวอย่างงานที่จ้างเฉพาะผู้ชายได้แก่ ช่างเครื่องในโรงงาน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้า คนขับแท๊กซี่ ช่างซ่อมรถ ช่างเชื่อมโลหะ เป็นต้น ในขณะที่งานที่จ้างผู้หญิงมักจะเป็นตำแหน่งคนงานทั่วไปในโรงงาน พี่เลี้ยงเด็ก เป็นต้น ผู้ชายจึงมีประเภทของงานให้เลือกมากกว่าผู้หญิง และงานส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงสามารถหาได้นั้นจะเป็นงานที่ไม่ต้องใช้ความสามารถหรือทักษะพิเศษ ทำให้ได้รับค่าจ้างน้อยกว่างานของผู้ชาย งานส่วนใหญ่ยังเป็นงานที่ทำงานในโรงงานและมีโอกาสติดต่อคนอื่นน้อย ในขณะที่งานของผู้ชายจะเอื้อให้ผู้ชายพบปะกับคนอื่น ทำให้ได้ฝึกการใช้ภาษาไทยไปในตัวและช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน เนื่องจากค่าแรงของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายมาก และผู้หญิงมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเก็บเงิน ทำให้ผู้หญิงนิยมทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้รับเงินค่าจ้างเพิ่มเติม ผู้หญิงบางคนจึงมีปัญหาทางด้านสุขภาพตามมา เช่น ปวดหลัง อาเจียนเป็นเลือด เป็นต้น รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายในทุกๆ ทางที่เป็นไปได้ เช่น การเลือกซื้อแต่ผักและผลไม้ราคาถูก เป็นต้น  ผู้หญิงส่วนใหญ่มีการวางแผนสำหรับอนาคตโดยเฉพาะคาดหวังให้ลูกมีชีวิตที่ดีกว่าตน (หน้า 92-93,98)และถึงแม้ว่าจะได้รับค่าจ้างที่มากกว่าแต่พบว่าแรงงานชายบางคนสามารถส่งเงินกลับบ้านได้น้อยกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายมักทำผิดกฎและถูกปรับ บางคนก็นำเงินไปใช้สังสรรค์และดื่มเหล้า ในขณะที่ผู้หญิงบางคนไม่มีเวลาว่าง หรือมักจะกลัวและอายต่อการไปสังสรรค์จึงไม่นิยมไปร่วม (หน้า 96-97) แรงงานส่วนใหญ่สามารถเก็บเงินได้ 3000 หยวนต่อปีและสามารถส่งกลับบ้านได้ แต่มีแรงงานบางคนที่การอพยพมายังประเทศไทยก่อให้เกิดหนี้มากกว่ารายได้ เพราะต้องจ่ายเงินให้กับคนกลางที่พาอพยพเข้าเมืองมาหากถูกตำรวจจับ และค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารปลอม (หน้า 95) เงินที่ส่งกลับไปยังครอบครัวที่ Langzhai นั้นมีการนำมาใช้สร้างบ้านใหม่ ส่งพี่น้องให้เรียนหนังสือและรักษาตัว รวมทั้งซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลายอย่างเช่นเครื่องซักผ้า โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ทางการเกษตรเพิ่มเติมเป็นต้น ทำให้วิถีชีวิตของชาว Langzhai เริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด (หน้า 96)

Social Organization

         ชาวปลังเป็นสังคมที่ประกอบขึ้นจากตระกูลต่างๆ โดยใน Langzhai ประกอบด้วย 5ตระกูล (gagun) ตั้งแต่ก่อนปี ค.ศ. 1949 โดยมีตระกูลหนึ่งอพยพมาจากภูเขาอื่นและอีก 4 ตระกูลอพยพมาจากหมู่บ้านใกล้เคียง มี 7 ผู้นำสูงสุดที่เรียกว่า Buha ซึ่งมีหน้าที่เก็บภาษีส่งให้กับผู้ปกครองเขตสิบสองปันนา มีการสืบทอดสายตระกูลผ่านทางผู้ชาย ตระกูลเป็นผู้ครอบครองที่ดินก่อนจะแจกจ่ายให้กับสมาชิกในตระกูลเป็นช่วงๆ เพื่อให้ใช้ในการเพาะปลูก รายได้ที่ได้รับจะถูกแจกจ่ายให้กับสมาชิกทุกคนในครอบครัว ชาวปลังจึงถือเป็นหน้าที่ของทุกคนในหมู่บ้านโดยเฉพาะในตระกูลเดียวกันที่จะต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่นการให้ยืมที่ดิน เมล็ดพันธุ์ แลกเปลี่ยนแรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ Gagun ยังทำหน้าที่แก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากอิทธิพลภายนอก ผู้นำของ gagun จะปฏิบัติพิธีทางศาสนาพุทธ ร่วมกันเลือกหัวหน้าสายตระกูลและยังมีบทบาทในการอพยพย้ายถิ่นด้วย (หน้า 74-75)
          นอกจากในตระกูลแล้ว ชาว Langzhai ยังมีการจัดกลุ่มทางสังคมที่เรียกว่า Yichangren เป็นการแบ่งกลุ่มย่อยของชาวปลังที่มีอายุใกล้เคียงกันเพื่อทำกิจกรรม ทั้งกลุ่มต้องช่วยกันทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของกลุ่มซึ่งจะมีการทบทวนและเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ตามความต้องการของชุมชน เช่น ป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด การแบ่งกลุ่มย่อยนี้ทำให้ชาวบ้านที่มีอายุใกล้เคียงกันและเด็กกว่ามีความสนิทสนมผูกพันกัน (หน้า 75)หัวหน้ากลุ่มเยาวชนของชุมชน Langzhai ในกรุงเทพฯย้ำว่าคนในกลุ่มจะช่วยกันระดมเงินเพื่อประกันตัวสมาชิกของกลุ่มที่ถูกจับในข้อหาแรงงานผิดกฎหมายและเมื่อแรงงานคนดังกล่าวหาเงินได้ก็จะนำเงินมาคืนให้แก่กลุ่ม (หน้า 76)
         เด็กชาวปลังจะต้องเริ่มช่วยงานตั้งแต่อายุยังน้อยโดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษาต่อ โดยมักจะมีหน้าที่ดูแลพี่น้อง ให้อาหารสัตว์ เป็นต้น อายุประมาณ 12-13 ปีสามารถช่วยดูแลควายและไก่และงานบ้านอื่นๆได้ (หน้า 65)เมื่ออายุครบ 15 ปี จะผ่านพิธีที่เรียกว่า tcie เพื่อทดสอบการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ พิธีจะเริ่มในตอนกลางคืนโดยที่ทั้งกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงจะมานั่งล้อมกองไฟ และช่วยกันทาสีฟันให้กลายเป็นสีดำ หลังจากพิธีนี้ ชายหญิงสามารถคุยกัน จีบกัน และแต่งงานกันได้ โดยในขั้นแรกจะเริ่มเมื่อฝ่ายชายได้รับอนุญาตให้ค้างคืนที่บ้านของฝ่ายหญิง ขั้นที่ 2 คือการอาศัยอยู่ด้วยกัน หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวทั้งคู่จะกลายเป็นคู่หมั้น อาศัยอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิง หลังจากนั้น 3 ปีจะเข้าสู่ขั้นที่ 3 คือการจัดพิธีแต่งงานครั้งที่ 2 ถ้ายังคงพอใจอยู่กับคนเดิม ฝ่ายชายจะพาฝ่ายหญิงและลูกกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านของตน การหย่าสามารถเกิดขึ้นได้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และออกจากบ้านและกลับไปอาศัยที่บ้านของตนเอง การแต่งงานใหม่หลายครั้งจึงเป็นเรื่องที่ธรรมดาในสังคมชาวปลัง (หน้า 57-58,89-90)จากการสำรวจพบว่าผู้หญิงจะแต่งงานเร็วกว่าผู้ชาย คู่รักบางคู่ตัดสินใจอพยพไปหางานที่ประเทศไทยด้วยกันเพื่อจัดพิธีแต่งงานและมีลูกในประเทศไทย ในขณะที่บางคนก็พบรักกันระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ขั้นตอนแรกจึงเปลี่ยนเป็นการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ก่อนจะกลับไปยังหมู่บ้านเพื่อขอการยอมรับจากพ่อแม่ หลังจากนั้นจึงจัดพิธีแต่งงานด้วยการผูกด้ายสีแดงโดยผู้อาวุโสซึ่งเป็นผู้ปกครองโดยตำแหน่ง ของทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ผู้ปกครองนี้พ่อแม่ของเด็กจะเป็นผู้เลือกตั้งแต่เมื่อแรกคลอด คนนอกตระกูลสามารถประกอบพิธีนี้ได้เช่นกันแต่พิธีอาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่นในหมู่บ้าน การแต่งงานนี้จะต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้หลักผู้ใหญ่ภายในตระกูลและหมู่บ้าน ภายหลังจากพิธีแต่งงาน ทั้งคู่ก็อพยพกลับมาทำงานยังประเทศไทยอีกครั้ง (หน้า 58)
         ชาวปลังที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยในครั้งแรกและครั้งที่ 2 และอพยพต่อมาสู่กรุงเทพฯ มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 300 คน รวมตัวกันเป็นชุมชนปลังอาศัยอยู่ในเขตหนองแขมมาประมาณ 30 ปี โดยกลุ่มคนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า Lao Langzhai ren เป็นจุดรวมติดต่อของแรงงานอพยพปัจจุบัน (หน้า 73) มีการตั้งหัวหน้ากลุ่มของคนหนุ่มสาวขึ้นเพื่อดูแลความเรียบร้อย หากมีคนใดประพฤติตนนอกเหนือจากข้อตกลง คนๆนั้นจะถูกลงโทษโดยการไล่ออกจากชุมชน มีการช่วยเหลือกันหากสมาชิกคนใดถูกจับในข้อหาแรงงานเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย สมาชิกคนอื่นก็มีหน้าที่ช่วยหาเงินเพื่อประกันตัวออกมา เครือข่ายชุมชนนี้จึงยังคงยึดถือแบบปฏิบัติเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเหมือนเช่นในหมู่บ้าน Langzhai ทำให้เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาว Langzhai ยังคงอยู่ แม้จะอยู่ระหว่างการอพยพและตั้งถิ่นฐานนอกหมู่บ้าน (หน้า 75-76) ภายหลังจากเริ่มมีการอพยพเพื่อหางานในประเทศไทย พบว่าการอพยพเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวและการหย่าร้าง ในขณะที่บางคน การอพยพก็เป็นการตัดสินใจภายหลังการหย่า เช่นผู้หญิงตัดสินใจอพยพไปทำงานนอกหมู่บ้านหลังการหย่าร้าง (หน้า 88)
          ถึงแม้ว่าในงานศึกษาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมชาวปลังจะระบุว่าผู้หญิงและผู้ชายมีสิทธิ์เท่าเทียมกันในการแต่งงานและหย่าร้าง และทั้ง 2 เพศมีสถานะทางสังคมเท่ากันแต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้หญิงแทบจะไม่มีสิทธิ์โต้เถียงและขอหย่าจากสามี ผู้ชายมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องสำคัญต่างๆ จากกรณีศึกษาพบว่ามีผู้หญิงถูกบังคับให้หย่าจากสามีเพราะสามีต้องการหย่าและความจำเป็นอย่างอื่น ทำให้ภายหลังการหย่าร้างผู้หญิงจึงต้องอพยพมาทำงานนอกหมู่บ้านเพื่อหาเงินเลี้ยงลูก (หน้า 89-90) ในอดีตผู้ชายมีหน้าที่ทำงานในภาคการเกษตรในขณะที่ผู้หญิงจะรับผิดชอบงานบ้าน และงานที่มักไม่ได้ค่าแรงแต่ภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อผู้ชายต้องออกไปทำงานยังต่างเมืองทำให้ผู้หญิงออกมาทำงานที่เคยเป็นงานของผู้ชายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของการอพยพมาทำงานของหญิงและชาย มักแตกต่างกัน คือผู้หญิงจะคำนึงถึงเรื่องการทำงานเพื่อหาเงินส่งเสียครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายจะแสดงความปรารถนาที่จะออกไปท่องโลก (หน้า 90)
          มีเด็ก Langzhai อายุตั้งแต่ 7-12 ปีที่เป็นแรงงานในประเทศไทยด้วยเช่นกันโดยเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว โดยเด็กมักจะได้งานเป็นพี่เลี้ยงเด็กเช่นลูกของญาติเป็นต้น การที่เด็กต้องออกมาทำงาน ทำให้เด็กได้รับการศึกษาน้อยลง มีโอกาสเรียนรู้ทักษะอื่นๆ น้อยลงจึงทำให้มันไม่มีความมั่นใจในตนเอง สอดคล้องกับค่านิยมดั้งเดิมของชาว Langzhai ที่ว่าผู้ชายฉลาดกว่าผู้หญิงและมีแต่ผู้ชายเท่านั้นที่สามารถจัดการเรื่องสำคัญภายในครอบครัวได้ ซึ่งค่านิยมนี้ยังส่งผลกระทบต่อเด็กรุ่นใหม่ในปัจจุบัน (หน้า 94)
สำหรับผู้หญิง ในบางครั้งความรับผิดชอบต่อครอบครัวก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องออกมาหางานในประเทศไทย เช่น เพื่อหาเงินรักษาพี่ชายที่ประสบอุบัติเหตุ หรือเมื่อบิดาเสียชีวิตก็ต้องเสียสละออกจากโรงเรียนเพื่อช่วยหาเงินส่วนพี่ชายได้เรียนต่อ เป็นต้น เพราะสำหรับชาวบ้าน Langzhai การอพยพไปทำงานที่ประเทศไทยเป็นหนทางการหารายได้ให้กับครอบครัวที่ดีที่สุด แต่ถ้าพิจารณาในด้านคุณภาพชีวิต การออกไปทำงานนอกหมู่บ้านจะอยู่ในลำดับสุดท้าย ผู้หญิงส่วนมากไม่ต้องการจะออกจากหมู่บ้านเพื่อไปทำงาน แต่มักจะมีปัจจัยร่วมที่เป็นความจำเป็นในการบังคับให้ต้องไป เช่นหากไม่เดินทางไปกับสามี ความสัมพันธ์ก็อาจจะมีปัญหา เป็นต้น ในขณะที่ผู้ชายจะมีความกังวลเรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์น้อยกว่า และบางส่วนมีการนอกใจคนรักระหว่างการอพยพไปทำงาน สำหรับผู้หญิงการอพยพไปทำงานจึงช่วยยกระดับทางรายได้เท่านั้นแต่ไม่ช่วยพัฒนาสถานะของผู้หญิงในสังคมชาวปลัง (หน้า 100-101)

Political Organization

          ก่อนปีค.ศ. 1980 ประเทศจีนมีการใช้นโยบาย Hukou ในการจัดทำทะเบียนสำมะโนประชากร โดยระบบนี้จะแบ่งประชาชนออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและกลุ่มที่ประกอบอาชีพอย่างอื่น การกำหนดสถานะเช่นนี้มีผลในการควบคุมการเคลื่อนย้ายของประชากร ทำให้ประชาชนในกลุ่มที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่สามารถย้ายถิ่นฐานได้และไม่ได้สวัสดิการในสังคม ต้องทำอาชีพเกษตรกรรมอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ในแถบชนบทและขายสินค้าเกษตรราคาถูกให้รัฐเท่านั้น ไม่สามารถย้ายถิ่นฐานเข้ามาภายในชุมชนเมืองได้ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือกลุ่มคนเมืองที่ได้รับสวัสดิการของรัฐหลายอย่างเช่นที่พักอาศัยเป็นต้น ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้น ภายหลังจากการปฏิรูปเศรษฐกิจในปีค.ศ. 1982 ได้มีการยกเลิกระบบนี้ประชาชนส่วนมากจึงมีการอพยพเข้ามายังเขตเมืองเพื่อเป็นแรงงานให้กับภาคอุตสาหกรรม (หน้า 15-19)นอกจากระบบ Hukou แล้ว ในระหว่างช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม มีการออกมาตรการคุ้มครองชายแดน ซึ่งไม่อนุญาตให้ประชาชนข้ามเขตชายแดนได้เพิ่มเติม ทำให้ชาวบ้านต้องอยู่ในภูมิลำเนาเดิมของตนและไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปที่อื่นทั้งในประเทศและออกนอกประเทศได้ (หน้า 37)
          ในอดีต ปัญหาทางการเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์และกองกำลังของพรรคก๊กมินตั๋งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการอพยพออกนอกหมู่บ้านเป็นครั้งแรก ต่อมา เมื่อจีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ได้ทำการปฏิรูปที่ดิน มีการออกนโยบายห้ามชาวบ้านปลูกฝิ่น ริบฝิ่นและเงินจากชาวบ้าน และเปลี่ยนระกบบการจัดการที่ดินของทั้งหมู่บ้านให้เป็นคอมมูน ให้ชาวบ้านร่วมกันทำงานและสร้างผลผลิตร่วมกันก่อนที่รายได้จะถูกเก็บเข้ารัฐบาล ทำให้ชาวบ้านมีการอพยพระลอกที่ 2 (หน้า 36-37,41) หลังจากปีค.ศ. 1953 รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายการศึกษาแบบสังคมนิยม จัดสรรที่ดินให้กับชาวบ้านในชนบทใหม่และช่วยเหลือเกษตรกรในการผลิตสินค้าทางการเกษตร ทำให้รัฐบาลในระดับท้องถิ่นต้องดำเนินนโยบายที่สามารถรวมกลุ่มคนจนและแรงงานเพื่อก้าวข้ามสภาพที่เป็นอยู่และช่วยเหลือเปลี่ยนแปลงชนชาติส่วนน้อยเผ่าต่างๆ ให้เข้าสู่ระบอบสังคมนิยม นโยบายที่ออกจากรัฐบาลกลางของจีนนั้นมักจะมีอคติต่อชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ซึ่งมีการพัฒนาตนเองน้อยมากเนื่องจากอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายขอบที่การพัฒนาเข้าไม่ถึง ทำให้พวกเขาไม่สามารถแข่งขันทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจกับชาวฮั่นซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ได้ ภายหลังในปีค.ศ. 1983 ได้มีนโยบายจัดสรรที่ดินใหม่ให้กับชาวบ้าน ทำให้พื้นที่ของหมู่บ้าน Langzhai ถูกจัดสรรให้กับหมู่บ้านอื่น ประกอบกับนโยบายเปิดประเทศทำให้มีชาวบ้านที่เคยอพยพออกนอกพื้นที่กลับเข้ามายังหมู่บ้าน รวมกับวัฒนธรรม ศาสนาและประวัติศาสตร์ที่ใกล้เคียงกันระหว่างประเทศไทย พม่าและหมู่บ้าน Langzhai ทำให้มีชาวบ้านจำนวนมากตัดสินใจอพยพออกไปหางานทำในประเทศไทย (หน้า 42-44)
          ในการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยชาว Langzhaiได้สร้างเครือข่ายของตนขึ้นเพื่อช่วยเหลือในการอพยพข้ามพรมแดน โดยมีเส้นทางหลัก 2 เส้นทางเส้นทางแรก เริ่มจากหมู่บ้าน Langzhai เข้าสู่ท่าเรือ Dalou ซึ่งสามารถข้ามฝากไปยังเมือง Xiao Mengla ของประเทศพม่าได้ หลังจากนั้นจะเดินทางต่อเข้าไปยังเมือง Kengtung และท่าขี้เหล็กซึ่งเป็นจุดตรวจผ่านแดนเข้าสู่ประเทศไทยก่อนจะข้ามพรมแดนเข้าอำเภอแม่สาย จะพักอยู่ที่หมู่บ้านของปลังระยะหนึ่งเพื่อให้คุ้นเคยกับภาษาไทย ก่อนจะมาทำงานที่กรุงเทพฯ อีกเส้นทางหนึ่งจะเข้าสู่พม่าทางเมือง Mengliang ก่อนจะข้ามเข้าสู่เมือง Damengyang ของประเทศพม่า และเข้าสู่เมือง Kengtung ต่อไป โดยเส้นทางที่ 2 ใช้ถนนที่อยู่ในสภาพดีกว่าและมีรถบรรทุกหรือรถประจำทางวิ่งตลอดเวลาทำให้สามารถใช้เป็นที่ซ่อนตัวของแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ได้ หลังจากนั้นจะพักอยู่ที่หมู่บ้านของปลังระยะหนึ่งเพื่อให้คุ้นเคยกับภาษาไทย ก่อนจะมาทำงานที่กรุงเทพฯ  (หน้า 37)
          การอพยพข้ามพรมแดนระหว่างประเทศนั้นอาศัยลักษณะความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนั้น ประวัติการอพยพย้ายถิ่นฐานและประวัติการแต่งงาน ทำให้ชาวปลังขอข้ามเขตแดนเพื่อไปเยี่ยมญาติได้อย่างไม่น่าสงสัย  ภายหลังจากการจัดตั้งเขตปกครองสิบสองปันนา การจัดการพื้นที่ชายแดนได้แบ่งออกเป็น 2ช่วงคือระหว่างปีค.ศ. 1950-1970 และช่วงปีค.ศ. 1980 ถึงปัจจุบัน ในช่วงแรกจะเป็นการปิดพรมแดนระหว่างประเทศจีนและพม่า ชาวจีนไม่สามารถข้ามพรมแดนได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากทางการเนื่องจากการใช้กฎหมายป้องกันชายแดน แต่ระหว่างนี้ชาวพม่าสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศจีนได้ ชาวจีนที่มีการอพยพออกจากประเทศจะถูกจับในข้อหากบฏและไม่สามารถกลับเข้าสู่ประเทศได้จนถึงปีค.ศ. 1980 ที่มีการยกเลิกนโยบายดังกล่าว ชาวบ้านที่อพยพเข้าสู่ประเทศไทยและเริ่มสร้างเครือข่ายขึ้นมาช่วยเหลือการอพยพข้ามประเทศส่วนมากเป็นลูกหลานของผู้อพยพกลุ่มนี้เนื่องจากในช่วงนี้มีการบันทึกข้อมูลที่สับสนและถูกปกปิดจากสังคม ทำให้เกิดความสับสนขึ้นระหว่างกลุ่มผู้ที่อยู่อาศัยถาวรกับผู้ที่อพยพข้ามพรมแดน ในช่วงที่ 2 จนถึงปัจจุบันมีชาวบ้านเดินทางข้ามพรมแดนจำนวนมากในแต่ละวันในขณะที่ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลเอกสารอย่างเป็นระบบนัก ทำให้ยังคงมีชาวบ้านที่สามารถเดินทางข้ามพรมแดนโดยไม่ผ่านเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหรือโดยไม่มีเอกสารทางราชการ (หน้า 48-49)
ในกลุ่มชาว Langzhai มีกลุ่มเครือข่ายling lu ren4 คน เป็นผู้ชาย 2 คนและผู้หญิงอีก 2 คน ทำหน้าที่เป็นคนกลางสำหรับผู้อพยพ สาเหตุที่มีผู้หญิงอยู่ในเครือข่ายคนกลางก็เพราะว่าการมีคนกลางเป็นผู้ชายไม่ปลอดภัยเหมือนในสมัยก่อน Ling lu ren มักเป็นอดีตผู้อพยพ หรือผู้ที่อพยพไปอยู่ประเทศไทย Ling lu ren จะทำหน้าที่เป็นคนกลางเมื่อมีขาวบ้านร้องขอ และจะช่วยสอนภาษาไทยพร้อมกับให้ทำงานในสวนของตนเอง ก่อนจะพาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานที่ได้รายได้มากกว่า แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีผู้อพยพไปกลับบ่อย ทำให้ผู้อพยพส่วนนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาไทยที่บ้านของ Ling lu ren แต่สามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ได้เลย ค่าใช้จ่ายในการพาเข้าเมืองของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป เช่นหากเป็นญาติก็จะจ่ายน้อยกว่าชาวบ้านคนอื่น Ling lu ren มีหน้าที่รับรองความปลอดภัยให้กับผู้อพยพ เช่นจะต้องจัดสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ที่ด่านตรวจหรือจ่ายค่าปรับเมื่อผู้อพยพถูกจับในข้อหาแรงงานผิดกฎหมาย คนกลางจึงไม่นิยมพาชาวบ้านจากต่างหมู่บ้านเข้าเมืองเนื่องจากเสี่ยงต่อการไม่ได้รับเงินค่าจ้างและหลบหนี เพราะการเป็นคนกลางพาแรงงานหลบหนีเข้าเมืองนั้นถือเป็นงานที่เสี่ยงและผิดกฎหมาย หากถูกจับได้ โทษสูงสุดคือการถูกจำคุก 6 ปี ชาวบ้านและผู้ที่มีอาชีพเป็นคนกลางถือว่าการคนกลางคือผู้ที่ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างมาก คนกลางจึงได้รับการยกย่องจากชาวบ้าน (หน้า 77-79) ในกลุ่มแรงงานอพยพจะมีหัวหน้ากลุ่มที่เป็นผู้อาวุโส 1 คนเพื่อคอยแก้ปัญหาต่างๆ และมีผู้นำที่เป็นคนหนุ่มอีก  คนเพื่อคอยดูแลเรื่องเอกสารเช่น บัตรประจำตัว เงินประกันตัว รวมถึงจัดหางานให้กับแรงงานที่เด็กลงไป นอกจากนั้นยังมีหน้าที่รับผิดชอบการจ่ายภาษีที่ดินกลับไปที่หมู่บ้านเพื่อรักษาสถานะประชาชนจีนในหมู่บ้านให้กับแรงงานคนอื่นๆ ภายในกลุ่มมีกฎระเบียบที่สมาชิกทุกคนต้องปฏิบัติตามและมีกิจกรรมให้กับสมาชิกได้เข้าร่วม ทำให้ชาว Langzhai นิยมทำงานในที่เดียวกับเพื่อนคนอื่นเพื่ออยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ (หน้า 77,81-82)  การอพยพเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นวิถีชีวิตที่แตกต่างจากการทำงานอยู่ในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการที่ต้องหลบซ่อนตัวจากตำรวจและเข้าหน้าที่ ทำให้ความตั้งใจที่จะอพยพมาเพื่อหาเงินนั้นลดบทบาทลงเรื่อยๆ แม้ว่ายังคงมีความต้องการเงินอยู่ก็ตาม สถานการณ์รอบตัวทำให้แรงงานต้องทำงานอยู่ภายใต้ความหวาดระแวงและกดดัน เมื่อแรงงานกลับไปเยี่ยมบ้านจึงรู้สึกมีความสุขมาก (หน้า 83-84)

Belief System

          ชาวปลังมีค่านิยมประจำหมู่บ้านว่าหากไม่มีผิ่นจะไม่มีทองและเงิน และจะทำให้ไม่มีข้าว (No opium, no gold and silver, and then no rice) ทำให้เมื่อถูกห้ามปลูกฝิ่น ชาวบ้านจึงมีสถานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด (หน้า 43)
          ชาวปลังนับถือผีและศาสนาพุทธ นิกายเถรวาทควบคู่กัน โดยศาสนาพุทธได้เข้าสู่เขตสิบสองปันนาตั้งแต่เมื่อ 1,300 ปีที่แล้ว (หน้า 35) วัฒนธรรมและความเชื่อของชาวปลังได้รับอิทธิพลมาจากหลายกลุ่มวัฒนธรรมเช่นวัฒนธรรมของชาว Pu ซึ่งเป็นตระกูลของชาวปลัง และการนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เป็นสิ่งแสดงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างชาวปลังและชาวไทใหญ่ ซึ่งทำให้วัฒนธรรมและประเพณีหลายอย่างของทั้ง 2 กลุ่มใกล้เคียงกัน เช่นงานบวช งานทำบุญวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชาวปลังเลือกอพยพมายังประเทศไทยซึ่งนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากปัจจัยทางภาษาที่คล้ายกัน เพราะวัดในศาสนาพุทธ นิกายเถรวาทไม่สามารถพบได้ในเมืองอื่นๆ ของมณฑลยูนนานหรือประเทศจีน นอกจากที่หมู่บ้านของชาวปลัง แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างระหว่างชนกลุ่มน้อยกับประชากรส่วนมากของประเทศ และความไม่สะดวกใจในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ที่มีความเชื่อแตกต่างจากตน (หน้า 34-35)
          ชาว Langzhai มีวัฒนธรรมในการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อแสดงถึงความมั่งมีของครอบครัว เนื่องจากในอดีตขาวบ้านยากจนมาก ข้าวที่ปลูกได้จะถูกรับประทานทั้งหมดไม่เหลือนำมาทำเป็นเหล้าการเตรียมเหล้าให้แขกถือเป็นการต้อนรับอย่างดี (หน้า 63)
          เมื่อเด็ก Langzhai อายุครบ 15 ปีจะผ่านพิธีที่เรียกว่า tcie เพื่อทดสอบการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ พิธีจะเริ่มในตอนกลางคืนโดยที่ทั้งกลุ่มผู้ชายและผู้หญิงจะมานั่งล้อมกองไฟ และช่วยกันทาสีฟันให้กลายเป็นสีดำ หลังจากพิธีนี้ ชายหญิงสามารถคุยกัน จีบกัน และแต่งงานกันได้ โดยในขั้นแรกจะเริ่มเมื่อฝ่ายชายได้รับอนุญาตให้ค้างคืนที่บ้านของฝ่ายหญิง ขั้นที่ 2 คือการอาศัยอยู่ด้วยกัน หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวทั้งคู่จะกลายเป็นคู่หมั้น อาศัยอยู่ในบ้านของฝ่ายหญิง หลังจากนั้น 3 ปีจะเข้าสู่ขั้นที่ 3 คือการจัดพิธีแต่งงานครั้งที่ 2 ถ้ายังคงพอใจอยู่กับคนเดิม ฝ่ายชายจะพาฝ่ายหญิงและลูกกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านของตน การหย่าสามารถเกิดขึ้นได้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พอใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และออกจากบ้านและกลับไปอาศัยที่บ้านของตนเอง การแต่งงานใหม่หลายครั้งจึงเป็นเรื่องที่ธรรมดาในสังคมชาวปลัง (หน้า 89)
          ในประเพณีแต่งงานของชาวปลัง ผู้อาวุโสซึ่งเป็นผู้ปกครองของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะทำการผูกข้อมือ (Shuanxian) และให้คำอวยพรระหว่างพิธีการแต่งงานตามแบบพุทธ ก่อนที่ผ็อาวุโสคนอื่นจะเข้ามาร่วมเฉลิมฉลองกับคู่แต่งงานใหม่ซึ่งจะได้รับการยอมรับจากทั้งตระกูล เนื่องจากคู่แต่งงานจะต้องได้รับการยอมรับจากหัวหน้าหมู่บ้าน ผู้อาวุโสเช่นหัวหน้ากลุ่ม เป็นต้น สำหรับชาว Langzhai ที่อพยพไปประเทศไทยและมีการแต่งงานกันบางคู่ จะกลับมายังหมู่บ้านเพื่อจัดพิธีแต่งงาน เนื่องจากพิธีนี้จะสมบูรณ์ที่สุดหากทำโดยสมาชิกในตระกูลทั้งฝ่ายชายและหญิงที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน คนนอกสายตระกูลอาจประกอบพิธีนี้ได้แต่อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกในหมู่บ้าน (หน้า 75)
          สำหรับชาวปลังการบวชถือเป็นพิธีที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยยกระดับจิตใจเด็กชายและนำพ่อแม่สู่สวรรค์ เป็นพิธีที่ดีงามต่อทั้งชีวิตปัจจุบันและชีวิตในโลกหน้า พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องจัดงานบวชให้ดีที่สุด มีเพียงเด็กผู้ชายบางคนเท่านั้นที่สามารถบวชเป็นพระได้ แต่ทุกคนสามารถบวชเป็นเณรเพื่อเรียนรู้ตัวอักษรและพระพุทธศาสนาเมื่ออายุประมาณ 6-7 ปีในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการจัดงานบวชเณรนั้นสูงขึ้น โดยมีการฆ่าหมูและวัวอย่างละ 1ตัวเพื่อใช้ในพิธี แรงงานบางส่วนที่อพยพไปทำงานมักจะกลับมาเพื่องานบวชของลูกชายตน พร้อมกับนำสิ่งของที่ใช้ในการบวชและเงินที่ได้จากการทำงานกลับบ้านมาด้วย (หน้า 100)โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่สามารถบวชเรียนได้เอง การสนับสนุนงานบวชของลูกชายหรือญาติถือเป็ฯการแสดงว่าตนเลื่อมใสในศาสนาพุทธและการนวดหลังและเอวให้กับผู้อาวุโสถือเป็นการแสดงความเคารพและความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ซึ่งจะช่วยสร้างสิริมงคลให้เกิดกับชีวิตทั้งปัจจุบันและโลกหน้า บางครอบครัวจัดพิธีบวชเณรก่อนที่จะมีสมาชิกในบ้านเดินทางอพยพไปทำงานเพื่อให้การอพยพเป็นไปด้วยดี (หน้า 100)

Education and Socialization

          ตามกฎหมายของประเทศจีน ชนกลุ่มน้อยมีสิทธิ์กำหนดการปกครองตนเองและจัดการศึกษาด้วยตนเองได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วยังคงใช้หนังสือเรียนภาษาจีนแมนดารินแม้รัฐบาลจะสนับสนุนให้ใช้ภาษาของตนเองในการเรียนการสอนก็ตาม เนื่องจากภาษาจีนแมนดารินคือภาษาหลักที่ใช้กันทั่วไป ชนกลุ่มน้อยจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาจีนแมนดารินให้ได้ดีเพื่อที่จะสามารถติดต่อกับชาวจีนและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ได้รวมถึงการสอบเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้น ในหมู่บ้าน Langzhai จึงใช้ภาษาจีนเป็นหลักในการเรียนมีการใช้ภาษาปลังและภาษาไทใหญ่ควบคู่ไปด้วย สำหรับเด็กชาวปลัง การเรียนภาษาจีนถือว่าเป็นเรื่องที่ยากเนื่องจากเป็นภาษาที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันและลักษณะภาษาแตกต่างจากภาษาปลังและภาษาไทใหญ่ เนื้อหาที่เรียนมีความแตกต่างจากความรู้ที่ได้รับในหมู่บ้าน ทำให้เด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบการไปโรงเรียน ส่งผลให้มีอัตราการรู้หนังสือต่ำกว่ามาตรฐาน (หน้า 52-53)
         ระบบการศึกษาของประเทศจีนแบ่งเป็น 4 ขั้นคือประถมศึกษาตอนต้น (ชั้นปีที่ 1-4) ประถมศึกษาตอนปลาย (ชั้นปีที่ 5-6) มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ภายในหมู่บ้าน Langzhai มีเพียงโรงเรียนประถมศึกษาตอนต้นเท่านั้น หากต้องการเรียนในระดับที่สูงขึ้นจะต้องเข้าไปศึกษาที่เมืองBadaเด็กจากหมู่บ้าน Langzhai ส่วนมากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาตอนปลาย และมีจำนวนเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงที่เรียนในระดับที่สูงขึ้นไป นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้รับการศึกษาด้านตัวอักษรจากที่อื่นเช่นในวัด ผ่านการบวชเณรเป็นต้น  ชาวบ้านไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนและเด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปจะได้รับชุดนักเรียนฟรี 1 ชุด แต่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ทั่วประเทศต้องเรียนพิเศษนอกห้องเรียนทำให้ผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยเด็ก 1 คนจะใช้เงินประมาณ 100 หยวนต่อเทอมหากเรียนในโรงเรียนในหมู่บ้าน แต่จะใช้เงิน 5 หยวนต่อสัปดาห์หากเข้าไปศึกษาในเมือง Badaโดยยังไม่รวมค่าเรียนพิเศษและค่าใช้จ่ายจิปาถะ (หน้า 54-56)จากการสำรวจพบว่าอัตราการไม่รู้หนังสือของชาวบ้านเพศหญิงสูงกว่าเพศชายอย่างชัดเจน อันเนื่องมาจากการได้รับโอกาสทางการศึกษาที่น้อยกว่าและไม่สามารถเข้ารับการศึกษาในวัดอย่างผู้ชายได้ ซึ่งส่งผลต่อมาถึงลักษณะของงานที่ทำ (หน้า 56-57)
          ในหมู่ชาว Langzhai ที่อพยพมาอาศัยยังกรุงเทพฯ มีการรวมตัวกันเป็นทีมเพื่อเตะฟุตบอล เพื่อการกระชับมิตรระหว่างคนที่มาใหม่กับคนอื่นๆ ในชุมชน และเป็นโอกาสดีในการรวมกลุ่มชาวปลัง ทำให้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และปัญหา เนื่องจากในเวลาปกติพวกเขาแทบไม่มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมอย่างอื่นเลยเนื่องจากอยู่ในสถานะของแรงงานผิดกฎหมาย (หน้า 76)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

          มีบทกลอนและเพลงเล่าถึงเหตุการณ์ที่ช้างตนหนึ่งได้บรรทุกพระไตรปิฎกเดินทางผ่านมาหยุดที่ภูเขาของชาวปลังในเขตสิบสองปันนา อันเป็นจุดเริ่มต้นของการนับถือศาสนาพุทธของชาวปลัง (หน้า 35)
มีตำนานเล่าถึงการก่อตั้งหมู่บ้าน Langzhai ว่าเกิดจากครอบครัวหนึ่งที่มีลูกชาย 3 คนเดินทางหาแหล่งน้ำในแถบนี้แล้วพบแหล่งน้ำ 3 แห่งจึงปักหลักสร้างบ้านที่บริเวณนี้ก่อนจะมีครอบครัวอื่นย้ายมาสมทบและก่อตั้งเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรชาวปลังรวมกันประมาณ 2000 คน(หน้า 39-40)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

         มีชาวปลังบางส่วนอาศัยอยู่ในเขตประเทศพม่า โดยชาว Langzhai เรียกชาวปลังกลุ่มนี้ว่า Myan-Bulang หรือ Thai-Bulang เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความใกล้เคียงกับชาวปลังในประเทศจีน ชาวบ้านจาก Langzhai บางส่วนที่อพยพออกจากหมู่บ้านก็อพยพมาอาศัยอยู่รวมกับชาวปลังเหล่านี้ (หน้า 42) และเนื่องจากชาวปลังอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ก่อนที่จะมีการแบ่งเขตแดนประเทศระหว่างพม่ากับจีน ชาวปลังจึงยังคงรู้สึกว่าตนเป็นกลุ่มเดียวกันโดยไม่มีพรมแดนรัฐมากั้น (หน้า 70)
         ชาวปลังมีความเกี่ยวข้องกับชนกลุ่มน้อยอีกหลายกลุ่มที่ใช้ภาษาในกลุ่ม Mon-Khmer เช่นเดียวกัน เช่นชาวละว้า ชาวปะหล่องหรือที่เรียกตัวเองว่าไตหลอย ดาระอาง ที่อาศัยอยู่ในเขต Dehong มณฑลยูนนานและชาวว้า (หน้า 69)  แรงงานอพยพชาวปลังจาก Langzhai มีการรักษาเอกลักษณ์และแสดงออกว่าตนเป็นคนจีนในหลายวิธีเช่นการออกแบบและใส่เสื้อกีฬาที่ประดับลายธงชาติจีน และการตั้งชื่อทีมฟุตบอลเป็นภาษาจีน เป็นต้น เพราะพวกเขามีความสุขที่ได้แสดงออกแม้ว่าจะทำให้คนอื่นสังเกตได้ว่าตนเป็นแรงงานผิดกฎหมายก็ตาม นอกจากนี้การที่ยังคงจ่ายภาษีที่ดิน (tiliu kun) ให้หมู่บ้านอย่างต่อเนื่องก็เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงว่าตนเองยังคงเป็นสมาชิกของหมู่บ้านในประเทศจีนและออกมาทำงานนอกหมู่บ้านเพียงชั่วคราวเท่านั้น (หน้า 80-81)

Social Cultural and Identity Change

         ชาว Langzhai ที่มาทำงานในประเทศไทยบางส่วนมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่นการขี่จักรยานยนต์ไปทำงาน การออกเที่ยวตอนกลางคืนและวันหยุด การจับจ่ายซื้อของที่เพิ่มขึ้น การออกไปฟังวงดนตรี เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม (หน้า 81)ทำให้เพลงไทยและการแสดงของไทยได้ถูกนำเข้าสู่สังคม Langzhai มีการเพิ่มการแสดงแบบไทยในช่วงพิธีการระหว่างงานเทศกาลเป็นต้น เด็กรุ่นใหม่รู้สึกภูมิใจที่สามารถทำการแสดงแบบใหม่และเพลงใหม่ได้ รวมถึงเริ่มมีการใช้คำภาษาไทยในชีวิตประจำวันมากขึ้น (หน้า 101)

Other Issues

        เส้นทางการอพยพเพื่อเป็นแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยนั้นมี 2 เส้นทางหลักซึ่งแตกต่างกันในระหว่างการเดินทางจากประเทศจีนเข้าสู่เมือง Keng Tung ของพม่า ก่อนที่จะข้ามพรมแดนที่ท่าขี้เหล็กเพื่อเข้าสู่อ. แม่สาย และเข้ากรุงเทพฯ  ในปัจจุบันมีผู้ประกอบอาชีพเป็นเสมือนคนกลางพาชาวบ้านเหล่านี้หลบหนีเข้าสู่ประเทศไทย คนกลางจะทำหน้าที่ดูแลชาวบ้านตลอดการเดินทาง จ่ายเงินประกันตัวหากถูกตำรวจจับได้ สอนภาษาไทยเบื้องต้นให้ก่อนจะหางานในพื้นที่ให้แรงงานกลุ่มนี้ และช่วยนำเงินที่หาได้ส่งกลับไปยังหมู่บ้าน ในปัจจุบันผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางเป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางคือผู้ที่อพยพมาก่อน บางคนมีกิจการของตนเองและมีบัตรประจำตัวประชาชนของทั้งประเทศไทยและพม่า คนกลางจะทำหน้าที่เมื่อมีชาวบ้านขอให้ตนช่วยพาอพยพ ค่าใช้จ่ายในการพาเข้าเมืองของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป เช่นหากเป็นญาติก็จะจ่ายน้อยกว่าชาวบ้านคนอื่น คนกลางไม่นิยมพาชาวบ้านจากต่างหมู่บ้านเข้าเมืองเนื่องจากเสี่ยงต่อการไม่ได้รับเงินค่าจ้างและหลบหนี เพราะการเป็นคนกลางพาแรงงานหลบหนีเข้าเมืองนั้นถือเป็นงานที่เสี่ยงและผิดกฎหมาย หากถูกจับได้ โทษสูงสุดคือการถูกจำคุก 6 ปี ชาวบ้านและผู้ที่มีอาชีพเป็นคนกลางถือว่านายหน้าคนกลางคือผู้ที่ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างมาก คนกลางจึงได้รับการยกย่องจากชาวบ้าน (หน้า 38,45-46,78-80)
         มีชาวบ้านเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่เคยและไม่มีสมาชิกในครอบครัวอพยพสู่ประเทศไทย โดยผู้ที่อพยพส่วนมากจะมีอายุตั้งแต่ 15-39 ปี ซึ่งเป็นกำลังหลักในการหารายได้เข้าสู่ครอบครัว จึงมีหน้าที่ช่วยสร้างและซ่อมแซมบ้าน ซื้ออุปกรณ์การเกษตรและลงทุนทำธุรกิจ ในขณะที่สมาชิกที่เหลือของบ้านมีหน้าที่ปลูกข้าวให้ได้เพียงพอต่อการรับประทาน(หน้า 59)
          เพศถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการทำงานของแรงงานชาวปลัง ถึงแม้ว่าจะมีแรงงานอพยพทั้งเพศหญิงและชาย แต่พบว่าแรงงานเพศชายจะได้รับค่าจ้างสูงกว่า ในจำนวนแรงงานทั้งหมดพบว่ามีจำนวนผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและผู้หญิงยังเริ่มอพยพไปทำงานตั้งแต่อายุยังน้อยกว่าเพศชาย และมีจำนวนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วมากกว่าผู้ชายที่แต่งงานแล้ว (หน้า 86)

Google Map

https://www.google.co.th/maps/place/Langzhai/@14.0208391,100.5250276,2944990m/data=!3m1!1e3!4m14!1m11!4m10!1m3!2m2!1d100.6682575!2d22.8495407!1m5!1m1!1s0x0:0xeab4099c52f3f79c!2m2!1d100.61067!2d22.77448!3m1!1s0x372a9d8fad288169:0xeab4099c52f3f79c?hl=th

Map/Illustration

1. ตารางแสดงจำนวนครัวเรือนและประชากรที่อาศัยในหมู่บ้านก่อนและหลังการอพยพ (หน้า 51)
2. ตารางแสดงลักษณะการอพยพของประชากร (หน้า 54)
3. ตารางแสดงการได้รับการศึกษาของชาวบ้าน (หน้า 57)
4. ตารางแสดงจำนวนชาวบ้านที่เป็นผู้อพยพและไม่เคยอพยพ (หน้า 59)
5. ตารางแสดงสถานภาพการสมรสของชาว Langzhai(หน้า 83)
6. ตารางแสดงประเภทงานที่แรงงานชาว Langzhai สามารถทำได้ในกรุงเทพฯ(หน้า 87)
7. ตารางแสดงการจ้างแรงงานเด็กชาว Langzhai(หน้า 92)
8. ตารางแสดงเครื่องอำนวยความสะดวกและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2001-2002 (หน้า 96)
9. ตารางแสดงรายรับและรายจ่ายของแรงงานชายและแรงงานหญิง (หน้า 97)
10. รูปภาพแสดงเส้นทางอพยพของชาว Langzhai (หน้า 13)
รูปภาพแสดงพรมแดนระหว่างประเทศไทย พม่าและจีน (หน้า 39)

Text Analyst กรกนก ศฤงคารีเศรษฐ์ Date of Report 07 ต.ค. 2563
TAG ปลัง, การอพยพเข้าสู่ประเทศไทย, บทบาทของเพศหญิงในสังคม, ความสัมพันธ์ระหว่างผู้อพยพกับชุมชนเดิม, มณฑลยูนนาน, ประเทศจีน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง