สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง),การเปลี่ยนศาสนา,ประเพณี,สะเมิง,เชียงใหม่
Author เพียงจิต เทียนย้อย
Title การเปลี่ยนศาสนาของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (สะกอ) ในหมู่บ้านภาคเหนือของประเทศไทย
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ปกาเกอะญอ, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 119 Year 2535
Source ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

งานนี้เป็นการศึกษากะเหรี่ยงที่หมู่บ้านแม่โต๋ หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (สะกอ) มีการนับถือศาสนาที่ต่างกัน มีทั้งนับถือศาสนาพุทธควบคู่กับการถือผี และนับถือศาสนาคริสต์ ปัจจัยที่ทำให้ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธคือปัจจัยทางด้านการเมือง ปัจจัยทางด้านสังคม - จิตใจ ในขณะที่ปัจจัยที่ทำให้ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ คือ ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยทางด้านสังคม - จิตใจ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดภายหลังการเปลี่ยนศาสนาพบว่า การเปลี่ยนศาสนามีผลต่อการเปลี่ยนทางด้านความเชื่อ ประเพณีปฏิบัติ และวิถีชีวิตของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง แต่เอกลักษณ์ที่ยังคงอยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ ความเป็นคนกะเหรี่ยงที่เรียกตนเองว่า "ปาเกอะญอ" ที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน พวกเขาจะมีความรักความสามัคคีช่วยเหลือกันและกัน

Focus

เพื่อศึกษาประเพณีความเชื่อเดิมของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสะกอ และปัจจัยในการเปลี่ยนศาสนาโดยเปรียบเทียบศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนศาสนา (หน้า 8)

Theoretical Issues

การปรับเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ของกะเหรี่ยงเกิดจากปัจจัยที่ต่างกันคือ การยอมรับนับถือศาสนาพุทธมาจากเงื่อนไขทางการเมืองซึ่งจะเชื่อมโยงกับความคิด "การเป็นคนไทย" เพราะพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์ของคนไทย หากจะเป็นคนไทยก็ต้องนับถือพุทธศาสนา ส่วนเงื่อนไขที่ทำให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์จะเป็นทางเศรษฐกิจ เพราะหากกะเหรี่ยงถือผีจะต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องพิธีกรรมมาก เมื่อผลิตข้าวได้ไม่พอเพียง การนับถือคริสต์ศาสนาก็เป็นทางออกอย่างหนึ่ง เพราะความเชื่อเรื่องพระเจ้าคล้ายกับความเชื่อ "ยัว" ของกะเหรี่ยงซึ่งมีมาแต่เดิม (หน้า 100) การปรับเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ ทำให้กะเหรี่ยงไม่ได้มีแบบแผนความเชื่อร่วมกับแบบเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการถือผีบรรพบุรุษและอื่น ๆ แต่ไม่ได้ทำลายความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน เพราะพวกเขาก็ยังมองว่าเป็นกะเหรี่ยงด้วยกัน จึงสามารถธำรงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์เดียวกันต่อไป (หน้า 96 - 98)

Ethnic Group in the Focus

กะเหรี่ยง (สะกอ) ที่แม่โต๋ภาคเหนือของไทย

Language and Linguistic Affiliations

ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสะกอมีภาษาเป็นของตนเอง จัดอยู่ในสายทิเบต - พม่า เดิมไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1832 Dr. Jonathan Wade มิชชันนารีผู้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์อเมริกันแบบติสท์ ได้คิดอักษรกะเหรี่ยงโดยดัดแปลงมาจากหลักการของภาษาพม่า และได้นำมาใช้ในการแปลคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นภาษากะเหรี่ยง ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านแม่โต๋ส่วนมากจะพูดภาษาไทยไม่ได้ โดยเฉพาะผู้หญิง แต่ผู้ชายและเด็กที่เข้าโรงเรียนแล้วจะสามารถพูดภาษาไทยได้ โดยผู้ชายจะสามารถพูดภาษาไทย (เหนือ) ได้ ในขณะที่เด็กที่เข้าโรงเรียนจะพูดภาษาไทย (กลาง) ได้ การติดต่อสื่อสารกันในหมู่บ้านระหว่างกะเหรี่ยงด้วยกันเองจะใช้ภาษากะเหรี่ยง สำหรับภาษาไทย (เหนือ) และ (กลาง) จะใช้กับคนแปลกหน้าที่ไม่ใช่กะเหรี่ยงที่เข้ามาในหมู่บ้าน (หน้า 34 - 35)

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

อำเภอสะเมิงเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าลื้อและเผ่ากะเหรี่ยงมาตั้งแต่อดีต โดยได้อพยพหนีภัยสงครามในสมัยเชียงใหม่เป็นราชธานี และตำบลบ่อแก้วซึ่งเป็นตำบลหนึ่งที่อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอสะเมิง เป็นที่ที่มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสะกออาศัยอยู่มากตำบลหนึ่ง หมู่บ้านแม่โต๋เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสะกอ ที่ได้เข้ามาตั้งหมู่บ้านประมาณ 3 ชั่วอายุคนแล้ว มีการปกครองกันเองโดยผู้นำตามประเพณี ในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "ฮีโข่" เป็นผู้มีอำนาจในการปครองหมู่บ้านและเป็นผู้นำในพิธีกรรมต่าง ๆ บ้านแม่โต๋มีชื่อเรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า "โต๋โคละ" ซึ่งคำว่า "โคละ" ในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า ลำห้วย ซึ่งชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจะเรียกชื่อหมู่บ้านที่ตั้งของตนตามลักษณะภูมิประเทศที่ตั้ง หมู่บ้านแม่โต๋ประกอบด้วยกัน 4 กลุ่มบ้านคือ บ้านแม่โต๋ใต้ (โรงเรียน) บ้านแม่โต๋กลาง บ้านแม่โต๋ใน และบ้านแม่ลาเอก แต่ละกลุ่มบ้านอยู่ห่างกันประมาณ 1 - 2 กิโลเมตร แต่เดิมหมู่บ้านแม่โต๋มีหมู่บ้านอยู่เพียงกลุ่มบ้านเดียวคือ บ้านแม่โต๋ใต้ (โรงเรียน) แต่เมื่อนานไปมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงมีการขยายพื้นที่ทำกิน จึงต้องอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานใกล้ที่ทำกิน จึงเกิดกลุ่มบ้านต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งกะเหรี่ยงทั้ง 4 กลุ่มบ้านนั้นมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกันทั้งโดยสายโลหิตและโดยการแต่งงาน (หน้า 30, 32)

Settlement Pattern

กะเหรี่ยงบ้านแม่โต๋ตั้งหมู่บ้านอยู่บนที่ราบระหว่างหุบเขา มีลำห้วยไหลผ่านและมีภูเขาล้อมรอบ ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะอยู่เป็นกลุ่ม มีความเป็นเครือญาติเดียวกัน แต่เดิมในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ในหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจะมีการสร้างบ้านเรือนเป็นแบบโรงเรือนยาว แบ่งเป็นหลายๆ ห้องอยู่รวมกันประมาณ 20 - 30 ครอบครัว และมีการย้ายที่ตั้งหมู่บ้านทุกปี เมื่อเริ่มศตวรรษที่ 20 ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการตั้งบ้านเรือนโดยมีการตั้งถิ่นฐานอยู่ถาวร ไม่เคลื่อนย้ายทุกปีเช่นเดิม มีการแยกบ้านกันอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว รูปแบบบ้านเรือนจะเป็นบ้านชั้นเดียว ใต้ถุนสูง ส่วนใหญ่จะปลูกสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบพลวง "ตองตึง" แบบบ้านจะมีชายคาคลุมไปหมดคือ มีฝาต่ำหลังคาสูง ในบ้านมีห้องเพียงห้องเดียว ไม่มีหน้าต่างหรือช่องลม ภายในห้องจะมีเตาไฟ ซึงประกอบด้วย รางไม้ที่บรรจุดินเหนียว เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟไหม้พื้นบ้าน มีก้อนหิน 3 ก้อนวางไว้ตรงกลางเพื่อใช้เป็นที่รองรับภาชนะในการประกอบอาหาร มีเสาที่ทำจากไม้ไผ่ 4 ต้น ตั้งอยู่ 4 มุมของรางดินเหนียวของเตา และมีตะแกรงวางไว้อีก 2 ชั้นเป็นที่วางเมล็ดพันธุ์พืช โดยควันจากเตาไฟจะป้องกันไม่ให้แมลงมากัดกินเมล็ดพันธุ์พืช เตาไฟนี้เรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า "เมอูล่อ" ส่วนนอกห้องจะเป็นชานเป็นที่สำหรับต้อนรับแขกผู้มาเยือนในตอนกลางวัน ทุกหลังคาเรือนที่ทำนาจะมียุ้งข้าวปลูกตั้งไว้ห่างจากตัวบ้านเพื่อเก็บข้าวไว้บริโภค บ้านที่เลี้ยงวัวควายก็จะนำวัวควายเข้ามาเลี้ยงในบริเวณใกล้ตัวเบ้าน หรือนำมาไว้ใต้ถุนบ้านยามค่ำคืน แต่เมื่อชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงได้มีการติดต่อกับคนเมืองมากขึ้น รูปแบบของบ้านกะเหรี่ยงก็ถูกดัดแปลงให้มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับบ้านของคนเมือง ภายในบ้านจะมีห้องนอนแยกจากห้องครัว มีหน้าต่างเปิดรับลม ฝาและพื้นบ้านจะทำด้วยไม้กระดานที่ทำจากไม้เนื้อแข็งแทนไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยกระเบื้องหรือสังกะสี สำหรับบ้านเรือนของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านแม่โต๋ยังคงเป็นแบบบ้านของกะเหรี่ยงแบบเมเสียส่วนใหญ่ (หน้า 36 - 41)

Demography

ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงหมู่บ้านแม่โต๋ มีทั้งหมด 47 หลังคาเรือน 69 ครอบครัว มีจำนวนประชากร ทั้งสิ้น 292 คน เป็นเพศชาย 159 คน และเพศหญิง 133 คน ประชากรโดยมากจะอยู่ในวัยเด็กถึงวัยแรงงาน การย้ายถิ่นฐานของประชากรในหมู่บ้านมีการย้ายเข้าย้ายออกซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการแต่งงาน โดยฝ่ายชายจะเป็นผู้ที่ย้ายเข้าและย้ายออกภายหลังการแต่งงาน เนื่องด้วยลักษณะสังคมกะเหรี่ยงเป็นสังคมที่มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานแบบมาตาลัย ภายหลังการแต่งงานฝ่ายชายจะย้ายออกหรือย้ายเข้าไปอยู่บ้านของฝ่ายหญิงเป็นเวลา 1 - 3 ปี (หน้า 33 - 34)

Economy

ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงดำรงชีพด้วยการทำไร่หมุนเวียนโดยการปลูกข้าว และปลูกพืชชนิดอื่นไว้บริโภค เช่น เผือก แตงกวา พริก ไม่มีการปลุกฝิ่น การผลิตผลผลิตทางการเกษตรจะเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน ไม่ได้เก็บไว้ขาย กะเหรี่ยงแต่ละครัวเรือนจะมีไร่ข้าวคิดเฉลี่ย 2 ไร่ต่อครัวเรือน เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นทำให้พื้นที่การทำไร่ไม่สามารถขยายออกไปได้ ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจึงได้เรียนรู้วิธีการทำนาดำจากคนเมืองพื้นราบ และได้ปรับที่ราบระหว่างหุบเขาที่มีน้ำไหลผ่าน โดยดัดแปลงเป็นที่นาแบบขั้นบันได จัดทำระบบชลประทานทดน้ำเข้ามายังที่นา นอกจากการทำไร่และการทำนาดำแล้ว ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น ช้าง วัว ควาย เพื่อใช้ในการทำงานและรับจ้าง ซึ่งเป็นที่มาของรายได้ที่สำคัญอีกทางหนึ่ง นอกเหนือไปจากการหาของป่ามาขายและการรับจ้างในงานเกษตรกรรม ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในหมู่บ้านแม่โต๋ส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการทำไร่ข้าว และการทำนาดำ จากครัวเรือนทั้งหมด 47 ครัวเรือน เป็นครัวเรือนที่ทำนา 36 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 76.50 และมีครัวเรือนที่ไม่ได้ทำนาเพราะไม่มีที่นา 11 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 23.40 การทำนาที่หมู่บ้านประสบปัญหาเรื่องดินไม่ดี ในนามีทรายมากทำให้ข้าวที่ปลูกได้ผลผลิตไม่ดี กะเหรี่ยงจึงทำไร่ข้าวควบคู่ไปด้วยแต่ไม่มากนัก ในช่วงระยะเวลา 2 - 3 ปี ที่ผ่านมาประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในการเกษตร ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดี จึงต้องออกไปทำงานรับจ้างในไร่นาและสวนสตรอเบอรี่ของคนเมืองในหมู่บ้านใกล้เคียง โดยมีอัตราค่าจ้างวันละ 40 - 50 บาท นอกจากทำไร่นาแล้วชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านแม่โต๋ซึ่งเป็นหมู่บ้านในโครงการพัฒนาที่สูงไทย - นอร์เวย์ ได้รับการส่งเสริมให้ปลูกกาแฟ แต่เนื่องจากภูมิอากาศไม่เหมาะสมจึงทำให้กาแฟประสบปัญหาเป็นโรคราสนิม บางครัวเรือนมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ช้าง หมู ไก่ โดยจะเลี้ยงวัวไว้ขาย สำหรับหมูและไก่จะเลี้ยงไว้ใช้ในการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผี และที่มาของรายได้ที่สำคัญอีกทางของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงก็คือ การหาของป่าออกมาขาย เช่น หวาย ไม้ไผ่ ซึ่งรายได้เหล่านี้จะนำไปซื้อข้าว เกลือ พริก และเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (หน้า 50-51)

Social Organization

การเลือกคู่ครอง หนุ่มสาวกะเหรี่ยงจะเป็นผู้เลือกกันเอง เมื่อเกิดความพอใจกันผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายไปสู่ขอกับบิดามารดาของฝ่ายชาย หากไม่ขัดข้องก็จะจัดเตรียมพิธีแต่งงาน เรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า "ทอปะกา" ซึ่งชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจะเรียกในภาษาไทย (เหนือ) ว่า "ประเพณีกินแขก" การแต่งงานของกะเหรี่ยงผู้หญิงจะเป็นเจ้าภาพในการแต่งงานและจัดงาน ตลอดจนจัดเตรียมเครื่องใช้ อาหาร สิ่งของที่ใช้ในพิธี ฆ่าหมู่ ไก่ ต้มเหล้า เพื่อเลี้ยงแขกที่มาร่วมงาน ภายหลังการแต่งงานบุตรเขยจะต้องเข้ามาอยู่บ้านฝ่ายหญิงเป็นเวลา 1 - 3 ปี หรือจนกว่าบุตรสาวอีกคนแต่งงาน แต่ในปัจจุบันบางครอบครัวที่แต่งงานแล้วสะใภ้ต้องเข้าไปอยู่บ้านของฝ่ายชาย เนื่องด้วยบิดามารดาของฝ่ายชายไม่มีใครดูแล ในสังคมกะเหรี่ยงเมื่อแต่งงานแล้วจะไม่มีการหย่าร้าง นอกจากการเสียชีวิตของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ลักษณะการแต่งงานเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว และจะไม่มีการจดทะเบียนสมรส กะเหรี่ยงมีข้อห้ามการแต่งงานระหว่างผู้ร่วมมารดาเดียวกัน และห้ามได้เสียกันก่อนแต่งงานจะทำให้ "ผิดผี" อันจะมีผลทำให้เกิดความอัปมงคล ทำให้ญาติผู้ใหญ่เจ็บป่วย การแบ่งมรดกจะแบ่งให้ลูกทุกคนเท่า ๆ กัน โดยจะแบ่งเมื่อบิดามารดาแก่ชรามากแล้ว ส่วนบุตรคนใดที่ภายหลังการแต่งงานแล้วอยู่เลี้ยงบิดามารดาอาจจะได้รับบ้านที่บิดามารดาอยู่อาศัย ซึ่งแต่เดิมนั้นบ้านที่ภรรยาเสียชีวิตจะต้องถูกรื้อถอนแล้วสร้างบ้านหใม่ เพื่อจะได้นับถือผีของหญิงที่จะมาเป็นเจ้าของบ้านใหม่ แต่ปัจจุบัน ด้วยการเปลี่ยนแปลงเรื่องที่อยู่อาศัยให้เป็นแบบบ้านไม้ถาวรและมีการเปลี่ยนศาสนา จึงไม่มีการรื้อถอน แต่จะมีการครอบครองสืบต่อทางมรดกสืบทอดต่อไปยังบุตร การแต่งงานของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงนั้นจะเป็นการแต่งงานในเผ่าเดียวกันมากกว่าการแต่งงานนอกเผ่า ลักษณะสังคมของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเป็นลักษณะสังคมที่เป็นครอบครัวเดี่ยว แต่ในปัจจุบันนี้มีแนวโน้มของการเป็นลักษณะของครอบครัวขยายมากขึ้น ไม่มีการย้ายออกไปตั้งบ้านใหม่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจทิ่ดินทำกินมีน้อยในขณะที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีการสืบสายทางฝ่ายมารดา มีลักษณะของการผูกพันกันโดยการเป็นญาติทางสายโลหิตและญาติเกี่ยวดอง แสดงให้เห็นว่าชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีความผูกพันกัน และกะเหรี่ยงทุกคนมีความสัมพันธ์ที่แสดงให้เห็นว่าทุกคนในหมู่บ้านเป็นพี่น้องกัน การนับญาติจะเป็นการนับญาติของทั้ง 2 ฝ่ายคือ จะนับญาติทั้งทางฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ และมีคำเรียกญาติพี่น้อง ซึ่งจะเรียกซ้ำกันทั้งญาติฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ สำหรับลูกพี่ลูกน้องที่มีอายุไล่เลี่ยกันก็จะใช้การเรียกชื่อเฉยๆ และจะมีคำเรียกบุตรแต่ละคนแตกต่างกันไป (หน้า 43 - 47)

Political Organization

หมู่บ้านแม่โต๋แต่เดิมมีการปกครองแบบประเพณีคือ มีหัวหน้าหมู่บ้านที่เรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า "ฮีโข่" ซึ่งจะเป็นผู้อาวุโสในหมู่บ้าน และเป็นคนแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้าน ฮีโข่จะเป็นทั้งหัวหน้าหมู่บ้านหรือผู้นำในหมู่บ้าน และเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามความเชื่อของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง และยังมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับกิจการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน อีกทั้งดูแลความเป็นอยู่ การตัดสินความขัดแย้งภายในหมู่บ้าน การประพฤติผิดเกี่ยวกับกฎ จารีตประเพณีของหมู่บ้าน ตำแหน่งฮีโข่จะมีการสืบทอดต่อกันไปยังบุตรชาย เมื่อฮีโข่เสียชีวิตลง หมู่บ้านแม่โต๋ประกอบด้วย 4 กลุ่มบ้าน จึงมีฮีโข่ 4 คน ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2497 รัฐบาลไทยได้จัดระบบการปกครองตามแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น จึงได้มีการรวมหมู่บ้านแม่โต๋ทั้ง 4 กลุ่มบ้าน เป็นบ้านแม่โต๋ หมู่ที่ 2 อยู่ในตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านและคณะกรรมการหมู่บ้านโดยการเลือกตั้งของราษฎรในหมู่บ้าน หมู่บ้านแม่โต๋มีผู้ใหญ่บ้านทำการปกครองมาแล้วด้วยกัน 4 คน เมื่อมีผู้ใหญ่บ้านเข้ามาทำหน้าที่ในการปกครองหมู่บ้าน จึงทำให้บทบาทของฮีโข่เหลือเพียงหน้าที่เกี่ยวกับผู้นำในพิธีกรรมทางศาสนา เมื่อกะเหรี่ยงในหมู่บ้านได้เปลี่ยนศาสนาไปนับถือศาสนาคริสต์ ทำให้บทบาทของฮีโข่ที่มีต่อหมู่บ้านมีเพียงเฉพาะเป็นผู้นำในพิธีกรรมทางศาสนาเฉพาะในกลุ่มชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่ยังคงนับถือผีและผู้ที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธเท่านั้น (หน้า 49)

Belief System

เดิมชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีความเชื่อเกี่ยวกับการถือผี โดยเชื่อว่าผีมีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ผีสามารถทำให้เกิดความสงบสุข อยู่อย่างเป็นสุขได้ แต่เมื่อใดมีการกระทำละเมิดที่ทำให้ผีไม่พอใจ จะมีผลทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้กระทำการละเมิด หรือสมาชิกในครอบครัวหรืออาจมีผลก่อให้เกิดความวิบัติทั้งหมู่บ้าน ซึ่งผลจะออกมาในรูปของการเจ็บป่วย หรือการทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจึงได้มีการประกอบพิธีกรรมเซ่นสรวงบูชาผีด้วยการฆ่าสัตว์เลี้ยงสังเวยอย่างน้อยปีละครั้ง หรือประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเมื่อสมาชิกในบ้านเรือนเจ็บป่วย และมีการเลี้ยงผีเมื่อมีการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ผีที่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงถือมีอยู่ 2 อย่างคือ ผีบ้านและผีเรือน ผีบ้านคือ ผีที่ดูแลรักษาหมู่บ้าน บางครั้งเรียกว่า ผีบ้าน หรือ ผีเจ้าที่ ผีไร่ ผีนา ฯลฯ การประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับผีบ้านหรือติดต่อกับผีบ้านจะขึ้นอยู่กับ "ฮีโข่" หรือผู้นำหมู่บ้านทางประเพณี ฮีโข่จะเป็นผู้กำหนดวันในการประกอบพิธีกรรมในการเลี้ยงผีของหมู่บ้าน การทำพิธีปีใหม่ของกะเหรี่ยง (กี่จึ) ตลอดจนการเลี้ยงผีไร่ ผีนา ซึ่งจะต้องทำในไร่นาของตนก่อนแล้วครัวเรือนอื่น ๆ จึงจะประกอบพิธีเลี้ยงผีไร่ ผีนาในนาของตนได้ (หน้า 55 - 56) การประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีไร่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จะประกอบพิธีกรรมเมื่อปลูกข้าวไปได้ประมาณ 2 เดือน ประมาณช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม การเลี้ยงผีไร่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการขอให้ผีเจ้าที่ได้ดูแลปกปักษ์รักษาต้นข้าวไม่ให้แมลง หรือสัตว์เลี้ยงเข้ามากัดกินต้นข้าว และให้ได้ผลผลิตมาก ๆ ในการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีไร่เจ้าของไร่ซึ่งจะเป็นสามี (หัวหน้าครอบครัว) หรือในกรณีที่สามีเสียชีวิตก็จะให้บุตรชายคนโตเป็นผู้ประกอบพิธี โดยการเริ่มทำศาลเพียงตาจากไม้ไผ่ ส่วนภรรยาก็จะเป็นผู้จัดเตรียมเกี่ยวกับเรื่องอาหาร เมื่อถึงเวลาประกอบพิธีกรรมสามีก็จะนำของมาเซ่นไหว้ เช่น กระทงเมี่ยง บุหรี่ ข้าวสาร และเกลือ ไปบอกกล่าวแก่ผีเจ้าที่ว่าตนได้นำสิ่งของมาเซ่นไหว้ จากนั้นนำไก่ที่ยังมีชีวิตอยู่ไปเชือดคอด้วยมีดบริเวณหน้าศาลเพียงตา แล้วนำเลือดไก่ราดลงบนศาลและถอนขนไก่ติดไว้ตามศาล และบอกกล่าวกับผีไร่ให้มารับของที่ตนและครอบครัวนำมาเซ่นไหว้ และสวดอ้อนวอนให้ผีไร่ช่วยดูแลต้นข้าวไม่ให้ถูกสัตว์และแมลงต่างๆ เข้ามากัดกิน เมื่อเสร็จพิธีภรรยาจะนำไก่ไปประกอบอาหารและรับประทานกันเฉพาะสมาชิกในครอบครัว ตามความเชื่อเดิมของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจะไม่ให้คนแปลกหน้าเข้าไปดูหรือร่วมในพิธี แต่กะเหรี่ยงบ้านแม่โต๋บางคนได้ละทิ้งความเชื่อนี้และอนุญาตให้คนแปลกหน้าเข้าร่วมพิธีได้ เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่าง ๆ ในการเลี้ยงผีไร่แล้วเจ้าของไร่จะทำเฉลียว (ตาแหล๋ว) ไปติดไว้ที่ปากทางเข้าไร่ เป็นการแสดงให้ผู้ที่ได้พบเห็นว่าไร่นี้ได้ทำพิธีกรรมเลี้ยงผีไร่ และห้ามบุคคลอื่นเข้ามาในไร่เป็นเวลา 1 วัน (หน้า 56 - 57) การประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีนาของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จะประกอบพิธีกรรมในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน เมื่อปลูกข้าวแล้วต้นข้าวโตพอสมควร โดยการประกอบพิธีกรรมจะทำได้ก็ต่อเมื่อฮีโข่เป็นผู้กำหนดวันและประกอบพิธีเลี้ยงผีนาในที่นาของตนเองก่อน ในการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีนาของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกับการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีไร่ คือเพื่อเป็นการอ้อนวอนขอให้ผีเจ้าที่นาได้มาดูแลปกปักษ์รักษาต้นข้าวไม่ให้ถูกแมลงและสัตว์เลี้ยงเข้ามากัดกินและทำลายให้เสียหาย และขอให้ได้ผลผลิตมากๆ และขั้นตอนในการประกอบพิธีเลี้ยงผีนา ตลอดจนความเชื่อและการปฏิบัติในการเลี้ยงผีนานั้นเหมือนกับผีไร่ทุกประการ (หน้า 58) ผีที่สำคัญที่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงนับถืออีกอย่างก็คือ การถือผีบรรพบุรุษหรือผีเรือน ซึ่งในภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "แฆะ" ผีเรือนได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ได้เสียชีวิตไปแล้ววิญญาณยังคงวนเวียนคุ้มครองลูกหลานอยู่ ผีเรือนเป็นผีบรรพบุรุษฝ่ายหญิงซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้หญิงที่สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้าน ผีเรือนจะเป็นผู้มีอำนาจคอยควบคุมดูแลกฎ จารีต การประพฤติปฏิบัติทางเพศ ตลอดจนลงโทษผู้กระทำผิดผี เช่น การได้เสียกันก่อนแต่งงาน การผิดลูกผิดเมียผู้อื่น เป็นต้น ด้วยความเชื่อนี้พวกเขาจึงต้องมีการบูชาเซ่นสรวงผีเรือน เพื่อไม่ให้สิ่งร้ายเกิดขึ้น ขอความคุ้มครองให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บหรือภัยพิบัติต่าง ๆ (หน้า 58 - 59) การประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเรือน เรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า "เอาะแฆะ" เป็นพิธีกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการแยกมนุษย์ออกจากสัตว์ ห้ามพี่น้องแต่งงานกันจะทำให้ผิดผี และไม่สำส่อนทางเพศ ดังจะเห็นได้จากลักษณะสังคมชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่เป็นแบบสังคมผัวเดียวเมียเดียว การกำหนดวันในการประกอบพิธีกรรมจะกำหนดโดยการเสี่ยงทายกระดูกไก่ เมื่อทราบวันแล้วจะมีการบอกกล่าวแก่สมาชิกในสายบรรพบุรุษเดียวกัน ทั้งบุตรชายและบุตรสาว ทั้งที่แต่งงานแยกเรือนแล้วก็ต้องมาร่วมในพิธี และหลานที่เกิดจากบุตรสาวคนโตถึงบุตรสาวคนเล็กก็ต้องมาร่วมพิธี แต่จะไม่รวมหลานที่เกิดจากบุตรชายเพราะต้องไปนับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายแม่ ผู้เข้าร่วมในพิธีเลี้ยงผีเรือนทุกคนจะต้องแต่งกายด้วยชุดกะเหรี่ยงอันเป็นชุดประจำเผ่า การประกอบพิธีจะทำในบ้าน ผู้นำในพิธีจะเป็นสามี หรือหากเสียชีวิตภรรยาก็จะต้องเป็นผู้นำในการประกอบพิธี (หน้า 59) การประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเรือนจะประกอบพิธี 2 วัน คือจะเริ่มในตอนค่ำของวันที่ได้กำหนดไว้ และวันรุ่งขึ้นของอีกวัน โดยขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรมเหมือนกัน แต่การประกอบพิธีกรรมจะแยกฆ่าไก่และหมู โดยไก่จะฆ่าลี้ยงในวันแรกและหมูจะฆ่าเลี้ยงในวันถัดไป เมื่อเริ่มพิธีกรรมเลี้ยงผีผู้นำในพิธีจะสวดมนต์เรียกผี หลังจากนั้น ก็จะฆ่าไก่ (ในวันแรก) หรือฆ่าหมู (ในวันรุ่งขึ้น) เพื่อสังเวยผีเรือน และสวดอธิษฐานขอให้ผีบรรพบุรุษมารับเครื่องเซ่นสังเวย และคุ้มครองลูกหลานให้รอดพ้นจากภัยพิบัติต่างๆ จากนั้นก็นำเอาเนื้อไก่ หมูสด ๆ ห่อใบตอง พร้อมข้าวที่หุงสุกแล้วทิ้งลอดช่องลงไปใต้ถุนบ้าน หลังจากนั้นก็นำเอาไก่หมูไปปรุงอาหารรับประทานกันในสมาชิกกลุ่มผี เป็นอันเสร็จพิธีกรรมเลี้ยงผีเรือน (หน้า 60) ในการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเรือนของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีข้อห้ามในการปฏิบัติคือ ระหว่างการรับประทานอาหารจะต้องไม่ทำอาหารตกหรือหกหล่น อย่าบ่นว่าอาหารไม่พอรับประทาน เมื่ออิ่มแล้วห้ามลุกขึ้นแล้วเดินลงไปจากบ้านก่อนจนกว่าจะรับประทานเสร็จหมดแล้วทุกคนจึงจะลุกไปได้ ในระหว่างพิธีกรรมห้ามผู้เข้าร่วมในพิธีพูดคุยด้วยภาษาอื่นนอกจากภาษากะเหรี่ยง หากมีการละเมิดไม่ยึดถือข้อปฏิบัติก็จะต้องมีการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีขึ้นใหม่ (หน้า 61) ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงนอกจากจะมีความเชื่อเกี่ยวกับผีต่าง ๆ แล้ว ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการกำเนิดของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงว่าชนชาติกะเหรี่ยงกำเนิดขึ้นจากการสร้างของ "ยัว" และเชื่อว่า "ยัว" เป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในโลก และเชื่อว่า "ยัว" เป็นพระเจ้าของชนชาติกะเหรี่ยงที่มีมาก่อนพระเจ้าของศาสนาอื่น ๆ และได้มีการถ่ายทอดความเชื่อนี้สืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน และความเชื่อเกี่ยวกับยัวได้มีผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์นำมาตีความเข้ากับความเชื่อทางคริสต์ศาสนาว่า เป็นสิ่งเดียวกับพระเจ้าของศาสนาคริสต์ ดังจะสังเกตได้จากการเรียกชื่อในภาษากะเหรี่ยงของการนับถือศาสนาคริสต์ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงว่า "บา ยวา" (คำว่า "บา" ในภาษากะเหรี่ยงแปลว่า นับถือศาสนา) ซึ่งมีเสียงที่เรียกคล้าย ๆ กัน (หน้า 61) นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับผี ยัว แล้ว ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงยังมีความเชื่อเกี่ยวกับขวัญหรือวิญญาณ ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า "กะลา" โดยเชื่อว่าในร่างกายมนุษย์เราประกอบไปด้วยขวัญ 37 ตัว ซึ่งจะเป็นขวัญดี 3 ตัว และขวัญที่ไม่ดี 34 ตัว ขวัญจะไม่อยู่กับที่ แต่จะชอบท่องเที่ยวไปในที่ไกลจากร่างกายของคน เมื่อเที่ยวไปไกลและหลงทางจะมีผลทำให้ร่างกายเจ็บป่วย ซึ่งสาเหตุของการเจ็บป่วยเป็นเพราะขวัญหาย ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมีความเชื่อว่าจะต้องทำพิธีเรียกขวัญ หรือเรียกว่า "ก๊อกลา" เพื่อที่จะเรียกขวัญที่หายไปให้กลับมายังร่างของเจ้าของเพื่อจะได้หายจากอาการเจ็บป่วย ในความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุของการเจ็บป่วยของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงนั้นเชื่อว่ สาเหตุของการเจ็บป่วยมีอยู่ 2 เหตุคือ ขวัญหาย (หนี) และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือเกิดจากการกระทำของผีที่ทำให้คนเจ็บป่วย โดยอาจกระทำให้ผีโกรธหรือทำผิดผีโดยไม่รู้ตัว การหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงจะใช้วิธีการเสี่ยงทาย โดยการนำเอาเมล็ดข้าวสารหรือนำเอากระดูกไก่มาเสี่ยงทายแล้วทำนายถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยเพื่อหาวิธีแก้ไขว่าจะต้องทำพิธีกรรมเลี้ยงผีหรือทำพิธีเรียกขวัญ (หน้า 62) พิธีเรียกขวัญ "ก๊อกลา" เป็นพิธีกรรมที่ทำขึ้นเมื่อมีคนเจ็บป่วย และผลของการเสี่ยงทายทำนายออกมาว่ามีสาเหตุมาจากขวัญหาย ก็จะต้องประกอบพิธีเรียกขวัญโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกขวัญที่หนีหายไปให้กลับมายังร่างของเจ้าของ พิธีจะเริ่มโดยผู้นำในพิธีจะนำถ้วยข้าวสารมาวางไว้ที่พื้น แล้วนำเอาไข่ต้มไปวางไว้ หากไข่ต้มล้มแสดงว่าขวัญยังไม่กลับมา แต่หากไข่ตั้งอยู่ได้แสดงว่าขวัญกลับมาแล้ว ผู้นำในพิธีก็จะนำไก่มาเชือดแล้วจึงนำไปประกอบอาหาร และนำไปเซ่นสรวงในบริเวณที่ขวัญหนีไป แล้วจึงสวดมนต์เรียกขวัญให้กลับมายังร่างของผู้ป่วย นำสายสิญจน์ที่เตรียมไว้มามัดมือให้ผู้ป่วยเป็นอันเสร็จพิธีเรียกขวัญ (หน้า 62 - 63) ความเชื่อเกี่ยวกับการเสี่ยงทาย ทำนาย เป็นความเชื่ออีกอย่างหนึ่งของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ได้มีการยึดถือสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เป็นการเสี่ยงทายและทำนายถึงสถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ไม่รู้ถึงสาเหตุว่ามาจากอะไร การเสี่ยงทายทำนายมี 2 วิธีคือ การเสี่ยงทายทำนายกระดูกไก่ และการเสี่ยงทายทำนายเมล็ดข้าวสาร การเสี่ยงทายทำนายเมล็ดข้าวสารจะทำโดยการนำเมล็ดข้าวสารมา 1 ถ้วย ผู้ทำพิธีจะยกถ้วยข้าวสารขึ้นมาอธิษฐานเพื่อให้ผีต่างๆ ได้รับรู้และบันดาลให้เกิดผลในการเสี่ยงทาย หลังจากนั้นผู้ทำพิธีก็จะนำเมล็ดข้าวสาร 1 กำมือจากในถ้วยมากำไว้ และนับจำนวนของเมล็ดข้าวสารนั้นโดยการจับคู่ ถ้าเมล็ดข้าวสารที่นับได้เป็นคู่จะได้ผลทำนายว่าการเสี่ยงทายนั้นดี แต่ถ้าผลการนับเมล็ดข้าวสารนั้นออกเป็นคี่จะได้ผลทำนายจากการเสี่ยงทายว่าไม่ดี (หน้า 63-64) การเสี่ยงทายทำนายกระดูกไก่ จะทำโดยการนำกระดูกไก่ที่เก็บไว้จากการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีเรือนมาทำการเสี่ยงทาย ด้วยการนำเอากระดูกไก่มา 2 อันแล้วอธิษฐาน หลังจากนั้นก็จะนำกระดูกไก่มาขูดเพื่อหารูจากกระดูกแล้วจึงเอาไม้เล็ก ๆ ไปเสียบเข้าที่รูกระดูกไก่ แล้วทำนายจากลักษณะของไม้ที่เสียบเข้าไป โดยหากไม้ทำมุมตั้งฉากกับกระดูกย่อมเป็นเครื่องหมายว่าโชคไม่ดี แต่ถ้าไม้เสียบรูกระดูกไก่เสียบทำมุม 45 องศากับกระดูกถือว่าโชคดี (หน้า 64) โครงการพระธรรมจาริกเป็นโครงการเผยแพร่พุทธศาสนาในหมู่ชาวเขาของรัฐบาลไทย เพื่อให้ชาวเขาที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยซึ่งอพยพมาจากที่ต่างๆ เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา โครงการพระธรรมจาริกได้เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2507 เมื่อนายประสิทธิ์ ดิศวัฒน์ หัวหน้ากองสงเคราะห์ชาวเขาได้อุปสมบทและจำพรรษา ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร ได้มีความคิดที่จะให้พระภิกษุสงฆ์นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเผยแพร่ในหมู่ชาวเขา จึงได้ถวายคำปรึกษากับพระธรรมกิตติโสภณ (พระพุทธิวงศ์มุนีปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรและเห็นว่ามีประโยชน์แก่ประเทศชาติ จึงได้มอบหมายให้พระศรีวิสุทธิวงศ์ (พระเทพโมลีปัจจุบัน) ซึ่งเป็นอนุกรรมการสาขาวัฒนธรรมทางจิตใจ ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมหารือวางแผนกับหัวหน้ากองสงเคราะห์ชาวเขา เพื่อวางหลักการและวิธีการดำเนินงานของโครงการพระธรรมจาริกในขั้นทดลอง โดยโครงการได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2508 โดยมีมูลนิธิเอเชียได้ให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่กรมประชาสงเคราะห์ ในการทดลองปฏิบัติงานการเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ชาวเขาได้เริ่มพระธรรมจาริกรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2508 ได้มีพระภิกษุฝ่ายต่างๆ รวมทั้งหมด 50 รูป พระธรรมจาริกเหล่านี้ได้มีการจัดแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 5 รูป เดินทางไปปฏิบัติงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาในหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่างๆ จำนวน 10 หมู่บ้านใน 5 จังหวัดคือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก และเพชรบูรณ์ มีการปฏิบัติงานเป็นเวลา 1 เดือน (หน้า 66-67) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโครงการพระธรรมจาริกได้ขยายพื้นที่ในการดำเนินงานในหมู่บ้านชาวเขาเพิ่มมากขึ้น และได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมถึงหมู่บ้านคนไทยที่อาศัยอยู่บนภูเขา ในปี พ.ศ. 2513 จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์การศึกษาและฝึกอบรม การติดต่อประสานงานของโครงการพระธรรมจาริกที่วัดศรีโสดา ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่า "ศูนย์อบรมพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรชาวเขา" เพื่อให้พระภิกษุสามเณรทั้งพื้นราบและชาวเขาที่ได้อุปสมบท ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร ได้เข้ามารับการศึกษาและฝึกอบรม โดยจะศึกษาทั้งทางสายปริยัติธรรมและสายสามัญ (หน้า 68) การดำเนินงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาในหมู่บ้านชาวเขาของโครงการพระธรรมจาริกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 - 2526 ได้อาราธนาพระภิกษุสามเณรทั้งชาวเขาและชาวพื้นราบออกไปปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากการที่พระธรรมจาริกได้กระทำตัวให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของชาวเขา ให้ปฏิบัติตัวตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังได้ชักจูงแนะนำให้บุตรหลานชาวเขาได้บวชเป็นพระภิกษุสามเณร ณ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร แล้วเข้าศึกษาที่วัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ ในการดำเนินงานจะไม่มุ่งเน้นให้ชาวเขาต้องละทิ้งการถือผีแล้วมานับถือศาสนาพุทธ แต่จะเป็นการนับถือพุทธศสานาควบคู่ไปกับการถือผี แต่หากมีผู้ใดต้องการจะตัดผีทางโครงการพระธรรมจาริกก็จะให้พระธรรมจาริกเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมตัดผีให้ (หน้า 73, 75) บ้านแม่โต๋เป็นพื้นที่ในการปฏิบัติงานตามโครงการพระธรรมจาริกเพื่อเผยแพร่พุทธศสานาแก่ชาวเขา มีการจัดตั้งอาศรมพระธรรมจาริกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2521 รวมแล้วมีพระธรรมจาริกที่เคยจำพรรษาที่อาศรมแห่งนี้ 19 รูป แต่ในปัจจุบันที่อาศรมพระธรรมจาริกหมู่บ้านแม่โต๋ไม่มีพระธรรมจาริกจำพรรษาอยู่เป็นระยะเวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว อาศรมบ้านแม่โต๋จึงอยู่ในความดูแลของพระธรรมจาริกที่จำพรรษาอยู่ที่อาศรมบ้านแม่ขะปู ผลการทำงานของคณะพระธรรมจาริกที่บ้านแม่โต๋ มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธและทิ้งการถือผี จำนวน 7 หลังคาเรือน แต่ยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับขวัญและยัว นอกจากนี้ยังมีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการถือผี ยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับผี มีการประกอบพิธีกรรม "เอาะแฆะ" และในขณะเดียวกันก็เรียกตนเองว่าเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ "บาพอ" ซึ่งกะเหรี่ยงที่ยังคงถือผีควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาพุทธจะยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการถือผี เชื่อเกี่ยวกับโชคลาง การเสี่ยงทำนาย มีความเชื่อในเรื่องขวัญและยัว และยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับการเจ็บป่วยว่ามีสาเหตุมาจากการกระทำของผี หรือเชื่อว่าการเจ็บป่วยมีสาเหตุเกิดมาจากขวัญหนีหรือขวัญหาย (หน้า 75-76) คริสต์ศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่ในหมู่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในประเทศไทย เป็นคริสต์ศาสนานิกายอเมริกันแบพติสท์ ซึ่งเป็นคริสต์ศาสนานิกายหนึ่งในคริสต์ศาสนานิกายโปแตสแตนท์ และได้เข้ามาเผยแพร่โดยผ่านมาทางประเทศพม่าเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1828 โดยมีกะเหรี่ยงจากประเทศพม่าที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ได้เข้ามาเผยแพร่ โดยทำงานร่วมกับมิชชั่นนารีอเมริกันแบพติสต์ การเริ่มเข้ามาเผยแพร่ในหมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในประเทศไทย โดยผ่านมาทางประเทศพม่าเพราะจำนวนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในประเทศไทยมีจำนวนมากและประกอบกับมีปัญหาทางด้านการเมืองในประเทศพม่า จึงทำให้เริ่มมีการเข้ามาเผยแพร่คริส ศาสนาในประเทศไทย คณะผู้เผยแพร่ศาสนาได้มีความพยายามหลายครั้งในการเข้าเผยแพร่ในประเทศไทยในนามคริสตจักรพม่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1830 แต่ไม่ประสพความสำเร็จ และมีการนำเข้ามาเป็นครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1830 แต่ประสพปัญหาเกี่ยวกับการเดินทางที่ลำบาก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1880 ได้มีอาสาสมัครกะเหรี่ยงในพม่าที่นับถือศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแพร่ศาสนาจำนวน 3 คน โดยเดินทางเข้ามาทางจังหวัดเชียงรายและเดินทางต่อไปยังจังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงใหม่ การเข้ามาเผยแพร่ศาสนาในครั้งนั้นปรากฏว่ามีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงประมาณ 400 คน ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ จนถึงปี ค.ศ. 1948 มีคริสตจักรที่ได้ก่อตั้งถึง 8 คริสตจักร และได้มีการอบรมชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่นับถือคริสต์ศาสนา เพื่อเป็นผู้ออกไปเผยแพร่ศาสนาในหมู่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงด้วยกัน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1948 Van Benschoten มิชชั่นนารีอเมริกันแบพติสท์ ได้อาสาสมัครมาทำงานในพม่า แต่ประสพกับปัญหาสงครามกลางเมืองในพม่า จึงได้เดินทางมาทำงานเผยแพร่ศาสนาในหมู่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1950 ที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ และในปี ค.ศ. 1954 เขาก็ได้ร่วมกับผู้นำคริสตจักรต่าง ๆ จากจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่สะเรียงก่อตั้งคริสตจักรกะเหรี่ยงแบพติสท์ขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกคริสตจักรแบ่งออกเป็น 6 ภาค ได้แก่ ภาคเชียงราย ภาคเชียงใหม่ ภาคมูเส่คี ภาคแม่สะเรียง ภาคซีโยน และภาคปาย มีคริสตจักรทั้งหมด 66 คริสตจักร สมาชิกประมาณ 12,000 คน (หน้า 76, 78, 79) คริสตจักรกะเหรี่ยงแบบติสท์มีกิจกรรมหลักคือ การประกาศเกียรติคุณของพระเยซูคริสต์เผยแพร่ศาสนา การให้การศึกษาแก่ชาวเขา โดยการสร้างโรงเรียน หอพัก และสนับสนุนด้านทุนการศึกษา สร้างโรงพยาบาลและให้การฝึกอบรมสุขอนามัยพื้นฐาน พัฒนาอาชีพการเกษตร การทำงานของคริสตจักรกะเหรี่ยงแบพติสท์ เป็นอิสระจากสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย ยกเว้นภาคเชียงรายที่ขึ้นอยู่กับภาค 10 ของสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย (หน้า 80) คริสต์ศาสนาได้เริ่มเข้ามาเผยแพร่ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมา โดยผู้เผยแพร่ศาสนาจากประเทศพม่า ที่ตำบลบ่อแก้วได้มีการสร้างคริสตจักรแห่งแรกที่บ้านแม่ยางห้า ซึ่งบ้านของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (สะกอ) เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติงานและในประมาณปี ค.ศ.1958 ได้มีการสร้างโรงเรียนฝึกอบรมพระคัมภีร์ ต่อมาเมื่อจำนวนผู้ที่นับถือคริสต์ศาสนามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการขยายคริสตจักรบ้านห้วยฟานและคริสตจักรบ้านแม่โต๋ ที่หมู่บ้านแม่โต๋ทางคริสตจักรได้เข้าไปตั้งโบสถ์เมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา แต่เดิมชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านแม่โต๋ที่นับถือสาสนาคริสต์จะเดินทางไปเข้าโบสถ์ที่บ้านสบห้วยฟาน "คริสตจักรเบทาเนีย" แต่ต่อมาจนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ที่หมู่บ้านแม่โต๋เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการจัดสร้างโบสถ์ขึ้นในหมู่บ้าน ทางคริสต์ศาสนาได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่บ้านแม่โต๋ที่นับถือศาสนาคริสต์ คือ การนำพันธุ์ไม้ผลมาแจก การนำเสื้อผ้าเครื่องกันหนาวมาแจกทุกปี และมีการให้ทุนการศึกษาสำหรับชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์ และที่บ้านแม่ยางห้าได้มีการสร้างหอพักสำหรับนักเรียนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์ ที่ได้ทุนมาศึกษาที่โรงเรียนแม่ยางห้าซึ่งเป็นศูนย์ฝึกอบรมพระคัมภีร์ (หน้า 81) การเปลี่ยนศาสนาของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงมานับถือศาสนาพุทธ แบ่งออกได้เป็น 2 กรณีคือ กรณีที่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธอย่างเดียว ไม่ประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผี "บาพอ" ปัจจัยในการเปลี่ยนศาสนามาจากการประกอบพิธีเลี้ยงผีมีความยุ่งยากเกี่ยวกับพิธีกรรม มีข้อห้ามในการปฏิบัติมาก และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก กรณีที่สองเป็นกรณีที่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธและประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีควบคู่ไปด้วย "บาพอ เอาะแฆะ" ปัจจัยการเปลี่ยนศาสนาเป็นเพราะความเชื่อที่ว่า ศาสนาพุทธเป็นของคนไทยถ้าพวกเขาจะเป็นคนไทยพวกเขาต้องนับถือศาสนาพุทธ กะเหรี่ยงบางคนได้แต่งงานกับคนเมืองหรือกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธ ทำให้ต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธตามคู่สมรสแต่ก็ยังคงถือผีตามเดิม บางคนเชื่อว่าศาสนาพุทธและผีเป็นสิ่งเดียวกัน (หน้า 83, 85, 87) การเปลี่ยนศาสนาของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงบ้านแม่โต๋ ที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์สามารถแบ่งปัจจัยการเปลี่ยนศาสนาได้เป็น 2 กรณีคือ กรณีของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ตามบิดามารดาหรือสามีภรรยา และกรณีของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์เพราะเจ็บป่วยรักษาไม่หาย และมีฐานะยากจน (หน้า 91)

Education and Socialization

ประชากรบ้านแม่โต๋ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการศึกษา ไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้มีจำนวนถึง 139 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 47.61 โดยจะเป็นผู้ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 10 - 60 ปี แต่มีประชากรกะเหรี่ยงที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนบ้านแม่โต๋ ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนบ้านแม่โต๋ได้ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2524 โดยแยกเป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 และกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาในโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ มี 57 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.52 นักเรียนที่เรียนอยู่ในชั้นมัธยมมีจำนวน 2 คน ศึกษาโดยทุนส่วนตัว มีประชากรที่เรียนจบระหว่างชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 40 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.70 ส่วนประชากรที่เหลือจำนวน 56 คน เป็นประชากรในวัยเด็กที่ยังไม่ได้เข้าโรงเรียน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.18 (หน้า 34)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสะกอ ผู้ชายจะสวมกางเกงขายาวแบบจีนสีดำ ก้นหย่อนยาวมาคลุมน่อง สวมเสื้อสีแดงปักริมขอบคอและชายเสื้อด้วยสีแดง ตัวเสื้อใช้ผ้าสองชิ้นเย็บต่อกัน เว้นที่พอสวมคอลงไปได้ บางคนสวมเสื้อเชิ้ตแล้วสวมทับด้วยเอสีแดง โพกศีรษะด้วยผ้าแพรสีชมพูหรือสีต่าง ๆ ยกเว้นสีดำ สำหรับผู้หญิงกะเหรี่ยงที่ยังไม่ได้แต่งงานทุกคนจะสวมชุดกระโปรงสีขาวยาวลงไปจนถึงข้อเท้า บางคนทอเป็นเส้นสีแดงเล็กๆ รอบสะโพกและกลางขาตัดกับสีขาว เสื้อแบบนี้จะทอใช้กันเอง มีรูปร่างคล้ายถุงกระสอบหรือที่เรียกว่า ทรงกระบอกมีแขนสั้น ตรงคอผ่าเป็นรูปสามเหลี่ยม ไว้ผมมวยหรือโพกไว้ด้วยผ้าสีขาว เจาะรูหู รอบคอสวมลูกเดือยหิน เด็กผู้หญิงจะแต่งกายเช่นเดียวกับหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งงาน ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเชื่อว่าสีขาวเป็นสีของสาวพรหมจารีย์ ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้ว จะสวมเสื้อสั้นแค่เอว ใช้สีดำหรือสีน้ำเงินเป็นสีพื้น ตรงกึ่งกลางอกล่างจะเย็บด้วยเส้นด้าย และร้อยลูกเดือยหินสีขาวเป็นรูปตารางหมากรุก และสวมผ้าถุงสีแดงซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงว่าเป็นหญิงที่แต่งงานแล้ว กะเหรี่ยงบ้านแม่โต๋มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการแต่งกาย ผู้ชายและเด็กจะไม่แต่งกายแบบกะเหรี่ยง แต่จะสวมกางเกงขายาวกับเสื้อเชิ้ตหรือเสื้อยืด จะสวมใส่ชุดกะเหรี่ยงเมื่อมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือประกอบพิธีกรรมการเลี้ยงผี "เอาะแฆะ" ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้วบางคนมีการติดต่อกับคนเมืองก็จะมีการแต่งกายแบบคนพื้นราบ ตามสมัยนิยม หญิงสาวที่ยังไม่แต่งงานจะยังคงสวมใส่ชุดสีขาวอยู่แต่ไม่โพกศีรษะด้วยผ้าขาว นอกจากจะต้องเข้าทำพิธีกรรมทางศาสนาจะโพกศีรษะด้วยผ้าขนหนูสีขาวแทนผ้าที่ทอเอง (หน้า 35-36)

Folklore

เรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของการตั้งชื่อหมู่บ้านว่า แม่โต๋ หรือ โต๋โคละ นั้น มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ลำห้วยแม่โต๋นั้นแปลกกว่าลำห้วยอื่น ๆ คือ ลำห้วยแม่โต๋นั้นจะไหลไปทางทิศเหนือแทนที่จะไหลไปทางทิศใต้เช่นเดียวกับลำห้วยอื่น ๆ กะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาอยู่ครั้งแรกเห็นเป็นสิ่งแปลก จึงได้ตั้งชื่อลำห้วยนั้นว่า "โต๋โคละ หรือ ลำห้วยแม่โต๋" ซึ่งมีความหมายว่า "ลำห้วยที่มีอยู่ลำห้วยเดียว" และนำมาเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านดังกล่าว (หน้า 32)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

เดิมสิ่งที่แสดงถึงความเป็นคนกะเหรี่ยง "ปาเกอะญอ" ก็คือการมีความเชื่อเกี่ยวกับกำเนิดของเผ่าพันธุ์ของกะเหรี่ยงว่า เกิดมาจากการสร้างของ "ยัว" มีความเชื่อเกี่ยวกับการถือผี เชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ มีการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผี "เอาะแฆะ" มีการแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่า และพูดภาษากะเหรี่ยง แต่เมื่อมีการติดต่อกับสังคมภายนอกได้มีการรับวัฒนธรรมใหม่เข้ามาและมีการปรับใช้ จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมขึ้น แต่สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือ ความเป็นคนกะเหรี่ยง ที่เป็นพี่น้องกันทางสายเลือดและความเป็นญาติเกี่ยวดองไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด แต่ถ้าเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงด้วยกัน พวกเขาจะมีความรักต่อกัน มีความช่วยเหลือกัน ยังคงมีการแลกเปลี่ยนแรงงานเอามื้อเอาวัน หรือเรียกในภาษากะเหรี่ยงว่า "นาเคาะล่อเซาะ" และมีการแลกเปลี่ยนแรงงานและชดใช้แรงงานในการไปช่วยปลูกบ้านเรือน (หน้า 96-97)

Social Cultural and Identity Change

หมู่บ้านแม่โต๋เป็นหมู่บ้านที่มีการเข้าไปเผยแพร่ศาสนาทั้งศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ ด้วยเหตุผลของการเข้าไปเผยแพร่ที่ต่างกัน ศาสนาพุทธเข้าไปในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย เพื่อเข้าไปเผยแพร่ให้ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย หันมานับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ส่วนศาสนาคริสต์เข้าไปเผยแพร่ในหมู่บ้านด้วยความต้องการเผยแพร่พระกิตติคุณของพระเจ้า (หน้า 83) ภายหลังการเปลี่ยนศาสนามานับถือศาสนาพุทธของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ การละทิ้งความเชื่อเดิม ในกรณีของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธ (ตัดผี) "บาพอ" พวกเขาจะละทิ้งความเชื่อเดิมเกี่ยวกับผีทั้งหมดรวมถึงผีบรรพบุรุษด้วย แต่ยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องยัว และเชื่อเกี่ยวกับเรื่องขวัญ สำหรับกรณีของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธควบคู่ไปกับการถือผี "บาพอ เอาะแฆะ" พวกเขาจะยังคงปฏิบัติตามความเชื่อเดิมทุกประการ มีการยอมรับความเป็นคนไทย และมีการแต่งงานกับคนไทย (เหนือ) มีการยอมรับภาษาไทยมีการพูดโต้ตอบเมื่อถูกถาม เกิดการเปลี่ยนแปลงของลักษณะบ้านเรือน จากเดิมที่ทำด้วยไม้ฟาก หลังคามุงด้วยใบตองตึงหรือหญ้าคา ได้เปลี่ยนเป็นบ้านที่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงด้วยกระเบื้อง สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากแต่เดิมกะเหรี่ยงถือผี เมื่อผู้หญิงที่เป็นเจ้าของบ้านเสียชีวิตลง สามีจะต้องทำการรื้อถอนบ้านแล้วไปหาที่ปลูกบ้านใหม่ แต่เมื่อเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธไม่ว่าจะตัดผีหรือยังคงถือผีอยู่ เมื่อภรรยาเสียชีวิตสามีก็ไม่ต้องรื้อบ้านและย้ายที่ปลูกบ้าน แต่ยังคงอยู่บ้านหลังเดิมนั้นได้ (หน้า 89, 91) การเปลี่ยนแปลงภายหลังการเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ได้แก่ การละทิ้งความเชื่อเกี่ยวกับการถือผี ไม่ประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผี มีการเปลี่ยนแปลงในพิธีกรรมการแต่งงานซึ่งจะต้องไปประกอบพิธีกรรมที่โบสถ์ ไม่มีการเลี้ยงสุรา ฤกษ์ส่งตัวจะเข้าหอเวลาใดก็ได้ไม่ต้องรอเวลากลางคืนเช่นเมื่อครั้งนับถือผี นอกจากนี้ยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในงานศพ คือแต่เดิมตามประเพณีกะเหรี่ยงเมื่อมีงานศพเพื่อนบ้านทุกคนจะต้องไปช่วยกัน และหนุ่มสาวไปช่วยกันซอ "อื่อทา" อยู่เป็นเพื่อนบ้านศพ 3 วัน 3 คืน ก่อนนำศพไปเผาหรือฝัง แต่เมื่อนับถือศาสนาคริสต์ไม่มีการซอ "อื่อทา" แต่จะประกอบพิธีกรรมตามศาสนาคริสต์แล้วนำศพไปฝัง (หน้า 96)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่หมู่บ้านแม่โต๋ หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง (หน้า 29) ผังแสดงการนับญาติของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง (หน้า 48) แผนภูมิการบริหารงานพระธรรมจาริก (หน้า 71)

Text Analyst ปนัดดา ปิ่นแก้ว Date of Report 10 เม.ย 2556
TAG ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง), การเปลี่ยนศาสนา, ประเพณี, สะเมิง, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง