สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject มอแกน , อัตลักษณ์, บ้านเกาะเหลาหน้านอก, ระนอง
Author ธีรศักดิ์ สุขสันติกมล
Title ผลกระทบของการพัฒนาภายหลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ.2547 ต่อการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอก จังหวัดระนอง
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity มอแกน บะซิง มาซิง, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเนเชี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) Total Pages 216 หน้า Year 2553
Source บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract

          งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอก จากอดีตจนถึงปัจจุบัน(พ.ศ.2554) และศึกษาแนวทางการพัฒนา และ ผลกระทบจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคเอกชนภายหลังเหตุการณ์สึนามิ ปี พ.ศ.2547 ที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน ซึ่งผลจากการศึกษาและวิเคราะห์พบว่า มีการสร้างชุดวาทกรรมในความพยายามควบคุมวิถีชาวมอแกน โดยภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมก่อนหน้า และต่อมาได้ผลักดันให้เกิดนโยบายฟื้นฟูวิถีชาวเล เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนองค์กรพัฒนาเอกชน ได้พยายามสร้างความเป็นธรรมให้กับชาวมอแกนในฐานะความเป็นอื่น มีการหยิบยื่นอัตลักษณ์ให้กับชาว มอแกนว่าเป็นกลุ่มชนด้อยพัฒนา ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งทำให้ชาวมอแกนตกอยู่ในภาวะที่ต่ำกว่าในความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับบุคคลภายนอก แต่ภายหลังเหตุการณ์สึนามิชาวมอแกนมีสิทธิมีเสียงต่อการเลือกรับและไม่รับต่อชุดวาทกรรมการพัฒนา ความสำนึกคิดต่อตนเองจึงมีผลต่อการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของชาวมอแกนในระยะต่อมา(หน้า ง)

Focus

          การศึกษาความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอก จังหวัดระนอง ตั้งแต่อดีตจนถึงปีพ.ศ.2554 ศึกษาการปฏิสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีต่อบุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรที่มาทำงานในพื้นที่ที่กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนอาศัยอยู่ ตลอดจนศึกษาแนวทางการพัฒนาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนภายหลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ.2547 แนวนโยบายในการดำเนินงานด้านการพัฒนาของกลุ่มหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของพวกเขา โดยใช้แนวคิดวาทกรรมการพัฒนาและความเป็นชาติพันธุ์เป็นกรอบในการวิเคราะห์ข้อมูล มีการเก็บข้อมูลจาก 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มมอแกนเกาะเหลาหน้านอก 2.หน่วยงานภาครัฐในจังหวัดระนอง 3.องค์กรภาคเอกชนที่ทำงานในพื้นที่เกาะเหลา และ 4.คนไทยในเมืองระนอง (หน้า ง) 

Theoretical Issues

          แนวคิดที่ใช้ในการศึกษาผลกระทบของการพัฒนาที่มีต่อการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน ได้แก่
          1.แนวคิดวาทกรรมการพัฒนา : พื้นที่ว่าด้วยอำนาจ ความรู้ และความเป็นอื่น
              วาทกรรมการพัฒนา คือ การกำหนดหรือสร้างความหมายให้กับสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งที่วาทกรรมว่าด้วยการพัฒนากำหนดสร้างขึ้นมา ผ่านการใช้อำนาจทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม มีการนิยามกลุ่มที่มีอำนาจน้อยกว่าหรือเข้าถึงทรัพยากรได้อยกว่าว่าด้อยพัฒนา ซึ่งเป็นผลผลิตหลังสงครามโลกครั้งที่2 ก็คือ เทคโนโลยีทางอำนาจ (Technology of power) ซึ่งการครอบงำจะเป็นไปโดยการจัดแบ่งประเทศออกเป็นประเภทต่างๆตามความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียม มีการเก็บกด ปิดกั้น และกดทับสิ่งต่างๆซึ่งไปกันไม่ได้กับวัฒนธรรมของตนเอง เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น เอกลักษณ์ และประวัติศาสตร์ ที่มักถูกสลายความเป็นตัวตน แทนที่ด้วยวัฒนธรรมของผู้มีอำนาจเหนือกว่า และมอบความเป็นอื่นให้ กรอบวิธีคิดนี้ได้นำมาวิเคระห์ปรากฏการณ์ทางสังคมในชุมชนชาวมอแกนหลังเหตุการณ์สึนามิ พ.ศ.2547 ที่หน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาทำงานด้านการพัฒนาให้ ซึ่งมีการกำหนด ช่วงชิง และนิยามพื้นที่จากการสร้างชุดขององค์ความรู้และความจริงเกี่ยวกับชาติพันธุ์มอแกน ในฐานะความเป็นอื่นของสังคม (Moken as Otherness) ทั้งในมิติของพื้นที่และวัฒนธรรมการดำรงชีวิต ว่าเป็นกลุ่มด้อยพัฒนา เป็นพื้นที่ล้าหลัง ไกลความเจริญ ทำให้สามารถอ้างความชอบธรรมในการเข้ามาทำงานพัฒนาภายในพื้นที่ สร้างการยอมรับจากชุมชนด้วยวาทกรรมแนวทางการพัฒนาที่ต้องการให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพยายามผนวกชาวมอแกนให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติไทยอย่างสมบูรณ์
 
          2.แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติพันธุ์ (Ethnicity) ซึ่งในที่นี้ผู้วิจัยได้นำงานศึกษาของ Fredrik Barth มาเป็นแนวทางในการศึกษา จากงานดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะทางชาติพันธุ์ว่า สมาชิกในต้องสำนึกตนเองว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มนั้นๆ มีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ขณะเดียวกันสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์อื่นต่างยอมรับความเป็นสมาชิกภาพนั้นด้วย โดยความเป็นตัวตนทางชาติพันธุ์หรืออัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ (Ethnic Identity)เป็นสิ่งที่เลื่อนไหล ไม่จำเป็นต้องมีขอบเขตที่แน่นอน สามารถเปลี่ยนแปลงได้  อัตลักษณ์ของกลุ่มนั้นเกิดจากการรักษาพรมแดนทางชาติพันธุ์ และการข้ามไปมาระหว่างพรมแดนเกิดขั้นได้ภายใต้เงื่อนไขของการใช้ทรัพยากรที่จำกัดของกลุ่มต่างๆที่อยู่ร่วมกัน  มีการปฏิสัมพันธ์เป็นแนวทางในการกำหนดขอบเขตของความเป็นสมาชิกและวิถีในการแสดงออกสัญลักษณ์ของกลุ่ม ซึ่งการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมต่างกันนั้น อาจทำให้พรมแดนชาติพันธุ์สามารถปรับเปลี่ยนให้มีความเข้มข้นมากขึ้นหรือเสื่อมสลายลงไป เป็นแนวทางในการศึกษาเรื่องอัตลักษณ์ของความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ภายใต้บริบทของความสัมพันธ์ทางสังคม ที่เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับองค์กรที่เป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  

Ethnic Group in the Focus

มอแกน

Language and Linguistic Affiliations

ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน (Austronesian)

Study Period (Data Collection)

ผู้วิจัยได้มีการระบุถึงช่วงเวลาที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ เดือนตุลาคม พ.ศ.2551 ถึง เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 (หน้า 8)

History of the Group and Community

          กลุ่มชาติพันธุ์มอแกนมีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ตั้งอยู่ในรัฐไทยหลายพื้นที่ เช่น หมู่เกาะสุรินทร์ เกาะพระทอง จังหวัดพังงา บ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เกาะพยาม เกาะช้าง และเหลา จังหวัดระนอง เป็นต้น (หน้า 3) ส่วนชาวมอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอก ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เป็นชาวเลกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย ชาวมอแกนได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เกาะเหลาหน้านอกตั้งแต่ปีพ.ศ.2516 โดยมีสิบตำรวจเอกทวี  รอดไพฑูรย์ ผู้ถือเอกสิทธิ์ในที่ดินบริเวณเกาะเหลาหน้านอก ได้ชักชวนและแบ่งพื้นที่ให้ชาวมอแกนได้ตั้งรกรากกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
          วิถีชีวิตของชาวมอแกนมีความผูกพันกับเรือมาตั้งแต่ในอดีต อพยพโยกย้ายไปตามแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ยังชีพด้วยการจับสัตว์น้ำต่างๆในทะเลมาเป็นอาหารและแลกกับเครื่องใช้ที่ต้องการ โดยปกติชาวมอแกนจะใช้ชีวิตเร่ร่อนในทะเล แต่ในฤดูมรสุมจะหลบคลื่นลมพักตามชายหาดหรือเกาะต่างๆ ด้วยความผูกพันกับทะเลเช่นนี้ ชาวมอแกนจึงมีความสามารถในการดำน้ำได้ลึกและนาน รวมถึงสามารถสังเกตแหล่งที่อยู่อาศัยและช่วงเวลาที่ปลาชุกชุมในทะเลได้อย่างแม่นยำ ในอดีตชาวมอแกนจะออกหาสัตว์ทะเลโดยใช้วิธีการแบบง่ายๆ แต่ในปัจจุบันชาวมอแกนที่บ้านเกาะเหลาหน้านอกได้มีการพัฒนาอาชีพให้หลากหลายมากขึ้นตามความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุที่เข้ามาถึง เมื่อผู้ชายออกเดินเรือ ผู้หญิงก็จะเก็บเปลือกหอยสวยงามตามหาดและในทะเลไปขายให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มรายได้ในการดำรงชีวิต ซึ่งเรือที่ใช้ออกหาสัตว์ทะเลแต่เดิมอย่างเรือก่าบางและเรือแจวเล็ก ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นเรือโทงที่ใช้เรื่องยนต์ในการขับเคลื่อนแทน และย้ายที่อยู่อาศัยจากบนเรือมาตั้งที่อยู่อาศัยแบบถาวรบริเวณริมชายฝั่งแทน

Settlement Pattern

          แต่เดิมบ้านเรือนของชาติพันธุ์มอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอกมีลักษณะเป็นบ้านยกพื้นสูงประมาณ 1เมตร ถึง 1 เมตรกว่า ผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวบ้านทำด้วยไม้ หลังคาจั่วมุงด้วยสังกะสี ภายในบ้านแบ่งสัดส่วนไว้สำหรับนอน ประกอบอาหาร และเก็บเครื่องมือที่ใช้ทำมาหากินอย่างเช่น เครื่องมือดำน้ำและอวน ส่วนของพื้นที่ที่ใช้ประกอบอาหารมักจะอยู่ภายในตัวบ้าน มีเพียงบางบ้านเท่านั้นที่นำอาหารออกมาประกอบบริเวณชานบ้าน และที่สำคัญทุกบ้านจะวางเรียงไม้ในครัวให้ห่างเพื่อใช้เทน้ำเวลาล้างภาชนะต่างๆ ส่วนการวางแนวบ้านจะแบ่งออกเป็นสองหรือสามแนวเหลื่อมกัน โดยแนวแรกตั้งอยู่ติดริมทะเลหรือนอกสุดของชายฝั่ง บ้านที่ตั้งในแนวนี้ส่วนใหญ่จึงมีเรือเป็นของตนเองเพื่อความสะดวกในการนำเรือเข้า-ออก ส่วนแนวการตั้งบ้านที่สองตั้งอยู่บนบนชายหาดเหนือแนวที่น้ำขึ้นสูงสุด แนวที่สามเป็นบ้านที่ตั้งถัดเข้าไปด้านใน ห่างจากชายห่างเข้าไปอีก และแต่ละบ้านจะมีระยะห่างพอสมควรเพื่อให้ลมพัดผ่านได้ดี
            แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ ในปี พ.ศ.2547 ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวมอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอกโดยสร้างบ้านถาวรใหม่ให้ ทำให้วิถีชีวิตที่เคยเร่ร่อนหยุดลงอย่างถาวร เนื่องจากองค์กรชุมชนมีข้อบังคับของการจะได้บ้านว่าต้องไม่มีการอพยพโยกย้ายอีก ซึ่งบ้านใหม่ที่ชาวมอแกนได้มาเป็นบ้านเสาปูน ตัวบ้านทำด้วยไม้ มีใต้ถุนสูงประมาณ 1 เมตรครึ่ง หลังคามุงกระเบื้อง ส่วนการวางแนวบ้านมีการตั้เรียงประมาณ 6-7แถว อย่างเป็นระเบียบ แต่ทำให้บ้านที่อยู่แถวหลังๆไปจากชายฝั่งไม่ได้รับลมพัดผ่านเหมือนแบบเดิม เพราะค่อนข้างอยู่ชิดติดกันและทุกบ้านมีลักษณะและขนาดเหมือนกันทั้งหมด    

Demography

          ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะเหลานั้น มีอาศัยอยู่ทั้งสองด้าน คือ เกาะเหลาหน้าในและเกาะเหลาหน้านอก โดยเกาะเหลาหน้าในมีประชากรที่อาศัยอยู่เป็นคนไทย มีบัตรประจำตัวประชาชนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ประมาณ 300 คน 70หลังคาเรือน ส่วนเกาะเหลาหน้านอกจะมีประชากรที่อาศัยเป็นชาวมอแกนจำนวน 254 คน 50 หลังคาเรือน (หน้า 38) 

Economy

          เมื่อวิถีชีวิตในการดำรงอยู่แบบโยกย้ายตลอดเวลาในท้องทะเลแบบชาวมอแกนดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงมาตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัยแบบถาวร ซึ่งตามมาด้วยความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น แหล่งอาหารในทะเลกลายเป็นพื้นที่ทำกินของเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ รวมถึงพื้นที่บางส่วนที่อยู่ในความคุ้มครอง จึงทำให้แหล่งอาหารของชาวมอแกนลดน้อยลง การติดต่อกับตนในเมืองก็เพิ่มมากขึ้นตามมา พร้อมกับการแลกเปลี่ยนสินค้าต่างๆ
          เนื่องจากการเลี้ยงชีพด้วยการทำประมงชายฝั่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของครอบครัวชาวมอแกน ดังนั้นพวกเขาจึงต้องหันไปรับจ้างออกเรือระเบิดปลาให้กับนายทุน โดยนายทุนจะออกทุนให้สำหรับค่าอาหารและค่าน้ำมันที่ลูกจ้างจำเป็นต้องใช้เพื่อทำงานในแต่ละวันด้วย แต่อาชีพนี้เป็นอาชีพผิดกฎหมาย ชายชาวมอแกนต้องเสี่ยงตายหรือพิการ จากการไล่ยิงของทหารพม่าในน่านน้ำหรือความอันตรายจากระเบิดที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง เป็นต้น แต่ชาวมอแกนส่วนใหญ่ก็ยอมเสี่ยงเพื่อรายได้ที่ดีกว่าอีกทั้งตัวเลือกก็ยังมีไม่มากนัก เพราะหลังจากเหตุการณ์สึนามิ สัตว์ทะเลก็หายากมากขึ้นด้วย
            ส่วนหญิงชาวมอแกน นอกเหนือจากงานเลี้ยงดูลูกๆแล้ว จะมีรายได้เสริมจากการหาเนื้อหอยติบหรือหอยเจาะตามโขดหิน รากไม้ แล้วนำไปขายในตัวเมืองระนอง  ซึ่งบางครั้งก็มีการร่วมทุนกันใช้เป็นค่าน้ำมันสำหรับเดินเรือออกไปหาหอย หรือแม้แต่หญิงชราชาวมอแกนก็สามารถหารายได้ให้กับลูกหลานได้เช่นกันจากการไปเป็นขอทานในตัวเมืองระนอง

Social Organization

          โครงสร้างทางสังคมของกลุ่มมอแกนบ้านเกาะเหลามีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ มีความเท่าเทียมกันในสังคม ผู้นำชุมชนสามารถถูกวิพากษณ์วิจารณ์ได้หากกระทำให้ชุมชนต้องเสียประโยชน์ ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มเป็นแนวราบ กล่าวคือ มีการร่วมกันแสดงความเห็นของสมาชิกกลุ่ม ลำพังเพียงผู้นำชุมชนไม่มีอำนาจตัดสินใจทุกเรื่องได้ หากแต่ในครอบครัวผู้ชายจะเป็นผู้นำ มีบทบาทในการตัดสินใจเรื่องราวภายในครอบครัว และติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนภายนอก ส่วนในการทำหน้าที่ต่างๆจะมีการจัดแบ่งไว้ชัดเจน คือ ผู้ชายออกเรือไปทำงานในทะเล ส่วนผู้หญิงจะหารายได้เสริมเล็กๆน้อยๆ เลี้ยงดูลูกหลาน และดูแลบ้านเรือน เด็กชาวมอแกนมีหน้าที่หลัก คือ  เรียนหนังสือ แต่เนื่องจากลูกคนโตของครอบครัวต้องช่วยเหลือพ่อแม่ทำมาหากิน จึงจำเป็นต้องหยุดเรียนบ่อยครั้งหรือบางคนก็ต้องออกจากโรงเรียนไป เมื่อเด็กมอแกนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อายุประมาณ 13-18 ปี พวกเขาจะเริ่มเรียนรู้บทบาทของตัวเองมากขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานครอบครัวของตนเองในอนาคต เพราะเด็กหญิงชาวมอแกนอายุ 15-16 ปี ก็สามารถแต่งงานมีครอบครัวได้แล้ว (หน้า 65)
 
          ความสัมพันธ์ของชาวมอแกนกับคนไทยในเมืองระนอง
          1) ชาวมอแกนกับนายจ้าง  เป็นความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ โดยชาวมอแกนจะได้รับสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีพ แต่อย่างไรตามชาวมอแกนก็มักจะถูกกดราคาของทะเลที่หามาได้และตกอยู่ภายใต้อำนาจที่ถูกสั่งไม่ให้พูดเกี่ยวกับรายละเอียดของการประกอบอาชีพด้วย
          2) มอแกนกับร้านค้า  เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบที่ค่อนข้างเท่าเทียมกันเพราะต่างฝ่ายต่างแลกประโยชน์ซึ่งกันและกัน พึ่งพาอาศัยกัน มีการติดต่อสัมพันธ์กันทางการค้า รวมถึงชาวมอแกนยังได้เรียนรู้และรับเอาวัฒนธรรมการบริโภคแบบคนเมืองมาด้วย
          3) มอแกนกับคนในตัวเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างชาวมอแกนกับคนในเมืองนั้นมีไม่มากหากไม่ใช่เพื่อการติดต่อค้าขาย เพราะคนในเมืองส่วนใหญ่มีทัศนคติต่อชาวมอแกนในแง่ลบเป็นส่วนใหญ่ โดยมองพวกเข้าในฐานะกลุ่มคนที่มักเข้ามาเป็นขอทานในเมืองและแต่งตัวสกปรก ถึงแม้ว่าจะมีบางกลุ่มที่มองพวกเขาในด้านบวก แต่อย่างไรก็ตามมุมมองของเขาก็ยังแฝงการมองในแง่ลบที่ออกมาจากความรู้สึกว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่น่าสงสาร และต้องการความช่วยเหลือในการพัฒนา

Political Organization

          เกาะเหลาอยู่ภายใต้การปกครองของสำนักงานเทศบาลตำบลปากน้ำท่าเรือ มีนางแดง  เนตรแสงแก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้าน(พ.ศ.2553) ซึ่งต้องมีการดูแลครอบคลุมไปถึงพื้นที่ของเกาะกำด้วย เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่6 ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เช่นเดียวกันกับเกาะเหลา (หน้า 39)
          ถึงแม้พื้นที่ทางกายภาพของเกาะเหลาจะแบ่งเป็นเกาะเหลาหน้านอกกับเกาะเหลาหน้าใน และมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ระหว่างสองพื้นที่ด้วย แต่หน้าที่ในการปกครองดูแลจะเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านทางฝั่งเกาะเหลาหน้าใน มีหน้าที่ดูแลไม่ให้มีการแบ่งแยกกันระหว่างชาวมอแกนกับชาวไทย ซึ่งทางเกาะเหลาหน้านอกเองก็มีการตั้งผู้นำชาวมอแกนขึ้นมาเพื่อการสื่อสารที่ง่ายขึ้น โดยคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับการเป็นผู้นำชาวมอแกน ได้แก่ ความสามารถในการพูดภาษาไทย ความสามารถในการสื่อสารกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และความสามารถในการถ่ายทอดข้อมูลให้กับสมาชิดได้เข้าใจทั่วถึงทั่วกัน
          นอกจากนั้นจะมีคณะกรรมการชุมชนที่เลือกขึ้นโดยสมาชิกชุมชน เพื่อช่วยในการดูแลจัดการด้วย แต่ภายหลังจากที่ครอบครัวของคนไทยได้เข้ามาเป็นผู้นำชุมชนมอแกน ทำให้ชาวมอแกนถูกลดบทบาทในการทำหน้าที่ต่างๆลง แต่การประสานงานกับองค์กรภายนอกเพื่อให้ได้มาซึ่งความช่วยเหลือต่างๆกลับมีเพิ่มมากขึ้น (หน้า 58-59)
          ภายหลังการเข้ามาช่วยเหลือของหน่วยงานเอกชนในเหตุการณ์สึนามิ ทำให้ภาครัฐหันกลับมาให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจชาวมอแกนมากยิ่งขึ้น เช่นการให้ความช่วยเหลือเรื่องการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลหรือการเรียกร้องเรื่องสัญชาติ เป็นต้น  ในด้านชีวิตความเป็นอยู่ของชาวมอแกนมีสำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดระนอง เป็นผู้ดูแลเรื่องสวัสดิการที่พึงจะได้รับตามสิทธิทางกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามทางหน่วยงานก็ยังไม่อาจดำเนินการให้ได้โดยตรง เพราะเรื่องสถานภาพของชาวมอแกนที่ยังไม่ได้เป็นสัญชาติไทย (หน้า 102)
            สำหรับบุคคลหรือหน่วยงานที่มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อชาวมอแกน ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านเกาะเหลาหน้านอกและเทศบาลตำบลปากน้ำท่าเรือ โดยบุคคลที่ทำหน้าที่ประสานงานกับทางราชการให้กับชาวบ้านมอแกน คือ ผู้ใหญ่บ้านเกาะเหลา  ทั้งการแจ้งเกิดแจ้งตาย และติดต่อราชการในเรื่องสำคัญต่างๆ รวมถึงดูแลความสงบเรียบร้อยทุกอย่างของลูกบ้าน ซึ่งมีบางครั้งที่ถูกแทรกแซงจากมูลนิธิหรือองค์กรพัฒนาเอกชน (หน้า 111)
          ส่วนทางเทศบาลตำบลปากน้ำท่าเรือเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน ให้ความช่วยเหลือทั้งปัญหาด้านสัญชาติ ส่งเสริมด้านอาชีพ สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และดำเนินการจัดให้มีกิจกรรมมวลชนนสัมพันธ์ต่างๆ

Belief System

          การนับถือศาสนาของชุมชนชาวเกาะเหลาหน้าในส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่มี 2-3 หลังคาเรือนที่นับถือพุทธศาสนาอยู่บ้าง ส่วนชาวมอแกนที่อาศัยอยู่บริเวณเกาะเหลาหน้านอกนับถือผีบรรพบุรุษและคริสต์ศาสนา (หน้า 38)
          ผีบรรพบุรุษ เป็นสิ่งสักดิ์สิทธิ์เพียงสิ่งเดียวที่ชาวมอแกนเคารพนับถือเพื่อให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวงที่อาจเข้ามาทำร้ายกลุ่มตน ซึ่งมีวิถีในการดำรงชีพแบบเร่ร่อนอยู่ในทะเล ก่อนที่ภายหลังองค์กรคริสตจักรจะเข้ามาช่วยเหลือพร้อมกับเผยแพร่ศาสนาไปในขณะเดียวกันหลังจากเหตุการณ์สึนามิ ทำให้ชาวมอแกนหันมานับถือศาสนาคริสต์กันเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป รูปแบบการเผยแพร่ศาสนาได้เน้นไปที่การปลูกฝังให้กับเด็กและเยาวชนมากกว่า จึงทำให้ชาวมอแกนหันกลับไปนับถือผีบรรพบุรุษเช่นเดิม (หน้า51-52)
            แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของศาสนาคริสต์ก็ยังได้ส่งผลกระทบต่อพิธีกรรมที่สำคัญของชาวมอแกนตั้งแต่อดีต คือ พิธีฉลองเสาหล่อโบง(ตัวแทนของบรรพบุรุษ) เพราะเมื่อเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์แล้ว พวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำพิธีแบบอื่นได้อีกต่อไป นอกจากนั้นยังมีทั้งเงื่อนไขของการขาดผู้ทำพิธีแบบโบราณและเครื่องที่ใช้สำหรับเซ่นไหว้อย่างสัตว์ทะเลไม่สามารถหาได้เช่นแต่ก่อน ซึ่งพิธีกรรมสำคัญนี้ ชาวมอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอกจะต้องไปร่วมพิธีกับชาวมอแกนที่พังงา แต่เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์สำหรับใช้เป็นค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเติมเรือเพื่อเดินทางไปพังงา ก็ยิ่งทำให้ผู้คนที่เดินทางไปเข้าร่วมพิธีกรรมประจำปีนั้น ลดน้อยลงไปตามกาลเวลาด้วยปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงข้างต้นนั้นเอง
 
          พิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวมอแกน
          1.พิธีกรรมที่พบในการเกิด คือ เนื่องจากสมัยก่อนมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด จึงมีพิธีการสวดมนต์ให้เด็กและแม่ที่กำลังจะคลอดอยู่รอดปลอดภัย ต่างจากปัจจุบันที่มีการแพทย์สมัยใหม่มาช่วยให้มีอัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการคลอดลดน้อยลง  ซึ่งทำให้บทบาทของหมอตำแยและพิธีการสวดมนต์เริ่มลดน้อยลงไป แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อที่ไม่ให้หญิงมีครรภ์นั่งขวางธรณีประตูก็ยังคงมีอยู่ เนื่องจากชาวมอแกนเชื่อว่าจะทำให้คลอดลูกยาก
            2.ความเชื่อและพิธีกรรมที่พบในการตาย คือ ในอดีตมีความเชื่อที่ว่า ผีที่เป็นคนตายจะกลับมาหลอกหลอนและทำร้ายตนเอง จึงมีการอพยพชุมชนทุกครั้งที่มีคนตาย ส่วนชาวมอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอกในปัจจุบันไม่ได้มีการอพยพย้ายถิ่นดังเช่นในอดีตแล้ว เพราะพวกเขามีสุสานฝังศพของบรรพบุรุษอยู่ที่เกาะช้าง โดยการฝังศพจะต้องทำการทันทีและหันหัวของศพไปทางทิศเหนือ แต่เมื่อศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชาวมอแกน พวกเขาก็จะเริ่มรับเอาวิถีการปฏิบัติแบบศาสนาคริสต์เพิ่มขึ้น และเริ่มมีการฝังศพภายในพื้นที่ของชุมชนมากขึ้นด้วย
 
          ความเชื่อแบบดั้งเดิมอื่นๆของชาวมอแกน ได้แก่ เมื่อจะออกไปหาปลาในทะเล ให้นำสุนัขขึ้นเรือไปด้วยหนึ่งตัว เพราะเชื่อว่าสุนัขจะส่งเสียงเตือนเมื่อมีวิญญาณร้ายเข้ามาใกล้เรือ , ห้ามทำถ้วยชามแตกภายในบ้านระหว่างที่ผู้ชายออกเรือหาปลา เพราะเชื่อว่าผู้ชายจะได้รับอันตรายระหว่างอยู่กลางทะเล , การไหว้เจ้าที่ก่อนออกเรือหาปลาทุกครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคล (หน้า 53-54) 

Education and Socialization


          ชาวมอแกนไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง มีแต่ภาษาพูด ซึ่งใช้ในการติดต่อสื่อสารกันภายในกลุ่มชาติพันธุ์ตนเอง 
          แต่ปัจจุบันชาวมอแกนบางส่วนก็เริ่มใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกันเองแล้ว โดยเฉพาะเด็กชาวมอแกนที่เข้าโรงเรียนในเมือง สามารถฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วยทำให้ภาษามอแกนเริ่มสูญหายลงไปเรื่อยๆ เพราะมีเพียงแค่วัยทำงานขึ้นไปจนถึงวัยชราเท่านั้นที่ยังใช้ภาษามอแกนอยู่
          การเรียนหนังสือโรงเรียนไทยของชาวมอแกน ที่บ้านเกาะเหลาหน้านอกนี้ มีมาเป็นระยะเวลาประมาณ 30-40 ปีแล้ว (หน้า 56) โดยชาวมอแกนในวัยทำงานมักจะเรียนให้อ่านออกเขียนได้บ้าง เพื่อผลประโยชน์เรื่องการซื้อขายกับคนไทย ส่วนเด็กๆชาวมอแกนรุ่นใหม่มักส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนอ่านเขียนภาษาไทยให้มาก เพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอาชีพลำบากหรือเสี่ยงอันตรายเหมือนตนเอง จากความเชื่อที่ว่าการศึกษาจะทำให้ชาวมอแกนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นนี้ ส่งผลให้มีการเปิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนมอแกนบ้านเกาะเหลาขึ้น เพราะชาวมอแกนต้องการจะเรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมของไทยมากขึ้น เพื่อการติดต่อสื่อสารในปัจจุบันที่ดีขึ้น รวมถึงการรู้หนังสือยังส่งผลต่อภาวะการเป็นผู้นำด้วย (หน้า 56)
            สำหรับโรงเรียนบ้านเกาะเหลาได้มีนโยบายเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับกลุ่มผู้ยากไร้และกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในปี พ.ศ.2544จึงทำให้ชาวมอแกนได้รับประโยชน์จากนโยบายประกันโอกาสทางการศึกษาด้วย โดยครูรุ่นใหม่จะทำการเปลี่ยนการเรียนการสอนให้เด็กมอแกนเรียนทันกลุ่มเด็กไทย และมีการพยายามสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นระหว่างเด็ก2กลุ่ม ที่แตกต่างกันในด้านภาษา ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม ซึ่งคุณครูจะจัดกิจกรรมให้เด็กไทยและเด็กมอแกนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น มีการดูแลเรื่องความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า และอุปกรณ์การเรียนให้กับเด็กมอแกนดูเรียบร้อยสะอาดตามากขึ้น ในขณะเดียวกันครูผู้สอนเองก็จะเรียนรู้ภาษามอแกนด้วย เพื่อจะได้มีการสื่อสารที่เข้าใจตรงกันมากยิ่งขึ้น  แต่ภายหลังจากเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 ทางโรงเรียนก็ได้ประสบปัญหาการขาดเรียนของเด็กนักเรียนมอแกน จากที่เคยมีเรือโดยสารไปรับส่งเป็นประจำ แต่เนื่องจากพ่อแม่เด็กเห็นว่าเด็กยังไม่ได้รับการเอาใจใส่ให้อ่านออกเขียนได้เท่าที่ควรประกอบกับเด็กๆต้องการอยู่บ้านเพื่อรอรับของบริจาคด้วย ทางโรงเรียนจึงจัดประชุมผู้ปกครองและรับปากที่จะกวดขันวิชาการให้มากขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 ทางโรงเรียนบ้านเกาะเหลาได้ออกนโยบายให้เด็กที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกคน อ่านออกเขียนได้ โดยเฉพาะเด็กมอแกน และในปี พ.ศ. 2553 โรงเรียนจึงได้นำวิธีการเรียนรูปรูปแบบพี่สอนน้องเข้ามาช่วย และให้ครูประจำชั้นติดตามเด็กที่ยังเรียนช้าอยู่ให้ตามทันเด็กคนอื่นๆและอ่านออกเขียนได้ทั้งหมดทุกคนด้วย(หน้า 102-105)
            ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอเมืองระนอง (กศน.อำเภอเมืองระนอง) เปิดการเรียนการสอนในเดือนกรกฎาคม ปี2553เป็นแหล่งเรียนรู้หนังสือไทยของชาวมอแกน อายุตั้งแต่ 15-59 ปี ดูแลและจัดการเรียนการสอนโดยมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (Mercy) ที่ศูนย์การศึกษามีการแบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่ได้เรียนและกลุ่มที่เรียนไม่จบ ใช้หลักการวัดผลจากการเข้าเรียนครบ 60 ชั่วโมง ต่อ 1 ภาคการศึกษา ไม่มีช่วงเวลาการเรียนการสอนที่ชัดเจน เพราะต้องคำนึงถึงเวลาที่ต้องประกอบอาชีพของชาวมอแกนด้วย วางเป้าหมายให้สามารถอ่าน-เขียนภาษาไทยได้ ควบคู่กับการเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย นอกจากนั้นยังมีสอนอาชีพเสริมให้ด้วย เช่น การทำสบู่หรือน้ำยาล้างจานไว้ใช้เอง การแปรแปรรูปเปลือกหอยเป็นเครื่องประดับที่มีมูลค่า เป็นต้น
          สรุปงานด้านการศึกษาของหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องภายในจังหวัดระนองที่ปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์มอแกน  ได้แก่ 
          1.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระนอง  เป็นหน่วยงานที่เน้นปฏิบัติงานในเชิงนโยบายมากกว่าการลงพื้นที่จริง มีการสนับสนุนในด้านงบประมาณและอุปกรณ์ทางการศึกษาต่างๆ เป็นต้น
          2.โรงเรียนบ้านเกาะเหลา เป็นสถานศึกษาที่มีความใกล้ชิดกับเด็กมอแกนมากที่สุด  และถือเป็นการเข้าสู่การศึกษาในระบบโรงเรียนอย่างเป็นทางการ
          3.โรงเรียนสตรีระนอง เป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในตัวเมืองระนอง มีบทบาทสำคัญในการรับนักเรียนที่ไม่มีสัญชาติไทย 
          4.ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองระนอง เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อกลุ่มมอแกนพื้นที่เกาะเหลาในช่วงเหตุการณ์สึนามิ มีการจัดกระบวนการเรียนรู้หนังสือไทยอย่างเป็นระบบให้กับกลุ่มผู้ใหญ่

Health and Medicine

          เมื่อชาวมอแกนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งมากขึ้นแล้ว พวกเขาก็เริ่มมีการดูแลสุขภาพและทำความสะอาดร่างกายมากขึ้น อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยหลายอย่าง เช่น การเข้ารับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน การฉีดวัคซีนป้องกันโรคสำหรับแม่และเด็ก รวมถึงคลินิกเอกชนเองก็มีไปใช้บริการด้วย ทั้งหมดนี้ส่งผลให้อัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคต่างๆ เช่น อหิวาตกโรคหรือเป็นไข้ ลดน้อยลงไปมากด้วย นอกจากนั้นเรื่องการทำความสะอาดร่างกายด้วยการอาบน้ำเค็มของชาวมอแกนที่ทำให้ผิวหนังในร่างกายตกสะเก็ดนั้น ได้ถูกแทนที่ด้วยการอาบน้ำจืด ที่เด็กชาวมอแกนได้รับการอบรมไปจากโรงเรียนว่าให้รู้จักอาบน้ำและแปรงฟัน รวมถึงการรับวัฒนธรรมการใช้ผงซักฟอกทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ใส่ของคนเมืองที่ชาวมอแกนก็ได้นำมาปฏิบัติตาม เพื่อให้ถูกมองว่าเป็นคนสกปรกแบบเดิมๆอีกด้วย น้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคของบ้านเกาะเหลาหน้าในก่อนหน้าเหตุการณ์สึนามินั้น ยังคงใช้น้ำจากบ่อในชุมชนอยู่ ภายหลังมีการสร้างระบบน้ำประปาหมู่บ้านให้โดยองค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำท่าเรือ แต่ใช้ไม่เพียงพอต่อคนทั้งหมู่บ้าน จึงกลับไปใช้น้ำบ่อเช่นเดิม ส่วนฝั่งเกาะเหลาหน้านอก น้ำที่ใช้ในการอุปโภคบริโภคมาจากบ่อน้ำตื้นบนภูเขาในพื้นที่เกาะเหลาหน้านอก (หน้า 39-40)
          การเข้ามาของมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (MERCY) ได้มอบโอ่งให้แก่ชาวมอแกนบ้านละ2ใบ ต่อมาโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งได้นำถัง 2,000ลิตร มามอบแก่ชาวมอแกนบ้านละ 1 ถัง เพียงพอต่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้มากขึ้น ส่วนน้ำที่ใช้ในการบริโภคจะต้องซื้อจากร้านขายของชำของคนไทยซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง แต่ถ้าชาวมอแกนบ้านไหนที่มีเรือเป็นของตนเองก็จะยอมข้ามไปซื้อน้ำที่ฝั่งระนองซึ่งราคาถูกกว่ามาก
          หลังจากเหตุการณ์สึนามิ การสืบทอดการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิมที่เชื่อในการรักษาทางไสยศาสตร์ของชาวมอแกนได้เปลี่ยนมาเป็นการรักษษด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน หน่วยงานสำคัญที่คอยดูแลได้แก่
          1) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง(สสจ.ระนอง)  เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ เน้นการทำงานเชิงนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อการดำเนินการ โดยหลังจากเหตุการณ์สึนามิปี พ.ศ.2547 หน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดต้องทำงานร่วมกับกลุ่ม NGOs ทำให้ไม่มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนและมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิบัติงานระดับจังหวัดเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวเลมากขึ้น รวมทั้งมีหน่วยงานในสังกัดที่ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่โดยตรง คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองระนองและสถานีอนามัยตำบลปากน้ำ ที่ช่วยให้การทำงานทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
          2) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองระนอง (สสอ.เมืองระนอง) เป็นหน่วยงานที่รับนโยบายมาจากสาธารณสุขจังหวัด โดยมีการลงพื้นที่ไปสำรวจปัญหาและประสานงานกับสถานีอนามัยในพื้นที่ ในปีพ.ศ.2553มีงานสำคัญเกี่ยวกับรักษาวัณโรคและเอดส์ที่กำลังแพร่ระบาดในชาวมอแกน สำหรับเกาะเหลาฝั่งหน้านอกจะขึ้นตรงอยู่กับสถานีอนามัยปากน้ำและกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ เช่น มูลนิธิ MERCY ที่ทำหน้าที่ดูแลพัฒนาการของเด็กชาวมอแกนเป็นระยะๆ และมีการให้ความรู้เรื่องสุขภาพและการวางแผนครอบครัวแก่ชาวมอแกน เป็นต้น และมีการทำงานร่วมกับศูนย์ควบคุมโรคติดต่อด้วย 
          3) สถานีอนามัยปากน้ำ (สอ.ระนอง) เป็นหน่วยงานที่มีทั้งการทำงานที่เข้าไปให้การดูแลรักษาพยาบาลในพื้นที่และรอรับให้การรักษาพยาบาลที่สถานีอนามัยด้วย แต่ภายหลังจากที่ NGOs เข้ามาทำงานด้วยได้ส่งผลกระทบต่อระบบความคิดเรื่องการพึ่งพาภายนอกของชาวมอแกนที่เพิ่มมากขึ้น คุ้นชินกับการรอรับสิ่งของช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ ทำให้การทำงานของสถานีอนามัยเป็นไปได้ยากกว่าเดิม เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวมอแกนที่ต้องการสิ่งของมาให้แก่พวกเขาด้วย และ
            4) โรงพยาบาลระนอง เป็นสถานพยาบาลที่มีความพร้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดระนอง โดยชาวมอแกนจะใช้บัตรคนไร้สถานะทางทะเบียนเข้ามารับการรักษาฟรี ถ้าไม่มีบัตรให้พิจารณาแยกเป็นกรณีไป แต่ปัญหาที่จะเกิดในการให้การรักษษพยาบาลชาวมอแกน คือ ความไม่เข้าใจเรื่องสิทธิที่ได้รับจากบัตร และการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างพยาบาลกับกลุ่มมอแกนขึ้น ทางโรงพยาบาลจึงได้มีการนำชาวพม่ามาเป็นล่าม เพราะมีชาวมอแกนที่สามารถพูดภาษาพม่าได้ดีกว่าภาษาไทย 

Art and Crafts (including Clothing Costume)

          ชาวมอแกนจะมีความสัมพันธ์ผ่านทางการแต่งกายภายในกลุ่มชนเดียวกัน ทำให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกผูกพันและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (หน้า 64)

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          ถึงแม้ว่าแนวทาง นโยบาย และการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน จะมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิถีชิวิตของชาวมอแกน แต่ก็ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมของพวกเขาทั้งในทางบวกและลบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะวาทกรรมในการพยายามควบคุมวิถีของชาวมอแกนแบบครบวงจร (หน้า 154 ) ที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ของชาวมอแกนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของรัฐที่ตอกย้ำความเป็นชายขอบ โดยก่อนเกิดโครงการฟื้นฟูวิถีชาวเล มีการผลิตซ้ำวาทกรรมในการเบียดขับชาวมอแกน เนื่องจากไม่ได้รับความช่วยเหลือและพัฒนา แต่เมื่อเกิดโครงการฟื้นฟูวิถีชาวเลขึ้น ก็ได้เกิดภารกิจพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆมากขึ้น ตั้งแต่การดำเนินงานระยะสั้น 6-12 เดือน และระยะยาว 1-3 ปี หรือจะเป็นนโยบายจัดตั้งเขตวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาวเล(มอแกน) เป็นการตอกย้ำความเป็นชายขอบซึ่งถูกแบ่งแยกออกจากพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นการสร้างความรู้สึกแตกต่างในทางภูมิศาสตร์ ที่อยู่อาศัย ภาษา และวัฒนธรรม แม้จะมีการพยายามรวมกลุ่มด้วยการให้สัญชาติไทยและบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อลดอคติทางชาติพันธุ์ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่จะได้รับงบประมาณในการให้

Social Cultural and Identity Change

          กลุ่มชนชาวเลเป็นกลุ่มชนที่อพยพเร่ร่อนไปตามท้องทะเล และมีการหยุดพักตามเกาะต่างในช่วงมรสุม และเมื่อหมดฤดูมรสุมก็จะออกเร่ร่อนในท้องทะเลต่อไป (หน้า 40) โดยการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาวเลมีตั้งแต่ทางตอนใต้ของประเทศพม่าจนถึงภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย ตั้งแต่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล โดยในพื้นที่เกาะเหลานั้น ชาวมอแกนได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานมาราว 30กว่าปีแล้ว  ซึ่งการอพยพจากฝั่งพม่าเข้ามาอยู่ฝั่งไทยที่ เกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยาม จังหวัดระนองเป็นไปได้ง่ายที่สุด เนื่องจากจังหวัดระนองมีอาณาเขตติดต่อทางทะเลกับประเทศพม่าทางจังหวัดเกาะสอง (หน้า 43)  ภายหลังมีการขีดเส้นพรมแดนสมมติทางทะเล แบ่งอาณาเขตรัฐชาติไทยกับพม่าในยุคล่าอาณานิคม จึงเกิดการแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนออกเป็น มอแกนไทยและมอแกนพม่า เช่นในปัจจุบัน
           อาหารในชีวิตประจำวันของชาวมอแกนได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากที่เคยรับประทานอาหารทะเลอย่างกุ้ง หอย ปู ปลา ก็เปลี่ยนเป็นนำของเหล่านี้มาแลกกับข้าวสาร พริก เกลือ เป็นต้น และภายหลังเมื่อมีการติดต่อกับคนเมืองมมากขึ้น ชาวมอแกนก็เริ่มหันไปบริโภคสินค่าทุกประเภทที่ชาวไทยเปิดเป็นร้านค้าของชำ ไม่ว่าจะเป็น ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม กาแฟ แกงถุง เป็นต้น ทำให้ชาวมอแกนต้องพยายามหาเงินมาเพื่อซื้อสินค้าเหล่านี้ แต่ในช่วงที่ขาดรายได้ หอยต้ม แกงหอยต่างๆที่หามาได้ ก็จะถูกนำมาเป็นอาหารหลัก นอกเหนือจากอาหารแล้ว วัฒนธรรมการบริโภคสิ่งอำนวยความสะดวกสบายของชาวมอแกนก็เป็นที่ต้องการสำหรับพวกเขาตามมาด้วย  
          การมอบสัญชาติไทยให้ชาวมอแกนในจังหวัดระนอง ภายใต้โครงการเร่งรัดการให้สถานะทางกฎหมายกับบุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย การปฏิบัติการมอบสิทธิแห่งการดำรงอยู่ภายในขอบเขตรัฐชาติไทยให้กับชาวมอแกนนั้น อาจทำให้ได้รับสิทธิเรื่องการออกนอกพื้นที่ การรักษาพยาบาล การสร้างอาชีพ และความมั่นคงในชีวิตที่มีมากขึ้นก็ตาม แต่ข้อกฎหมายเหล่านี้ก็ได้นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำและการสร้างอำนาจเหนือ โดยวิถีแบบนี้ขัดต่อการอยู่ร่วมกันแบบเท่าเทียมของชาวมอแกนที่มีมาแต่เดิม นอกจากนั้นยังส่งผลต่อการเดินทางข้ามน่านน้ำไทย-พม่า เพื่อปฏิสัมพันธ์และเข้าร่วมพิธีกรรมสำคัญกับญาติกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่อยู่ฝั่งพม่า เพราะเมื่อได้รับสัญชาติไทยจะมีผลต่อการไปมาหาสู่ เพราะจำเป็นต้องทำบัตรผ่านแดน ซึ่งพวกเขาไม่มีรายได้ที่จะนำมาจ่ายมากนัก จึงเสียโอกาสที่จะร่วมสืบสานวิถีชีวิตและความเชื่อดั้งเดิมได้อีกต่อไป (หน้า135)   

Map/Illustration

          ในงานวิจัยมีการแสดงแผนที่ประกอบการอธิบายลักษณะทางกายภาพของชุมชน ได้แก่
แผนที่แสดงที่ตั้งเกาะเหลา อำเภอเมืองระนอง (หน้า 35) 
แผนที่การตั้งถิ่นฐานของชาวเลสามกลุ่ม คือ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย (หน้า 41) 
แผนที่แสดงที่ตั้งชุมชนมอแกนเกาะเหลาหน้านอก (หน้า 42) 
สภาพพื้นที่เกาะเหลาหน้านอก (หน้า 36) 
การหาและแกะหอยติบของหญิงมอแกนบ้านเกาะเหลาหน้านอก (หน้า 46) 
หญิงชราชาวมอแกนมาเป็นขอทานในตัวเมืองระนอง (หน้า 47) 
ขนมขบเคี้ยวของเด็กมอแกนและคนไทยที่นำแกงถุงมาขาย (หน้า 48)
สิ่งให้ความบันเทิงกับชาวมอแกน (หน้า 49) 
บ้านหลังเก่าและหลังใหม่ของชาวมอแกนและเกาะเหลาหน้านอก (หน้า 50) 
ร่องไม้ไว้สำหรับเทน้ำภายในบ้านหลังใหม่ของชาวมอแกน (หน้า 51) 
ศูนย์การเรียนรู้หนังสือไทยของผู้ใหญ่ชาวมอแกน (หน้า 57) 
ถังและโอ่งเก็บน้ำที่ได้รับความช่วยเหลือ (หน้า 62) 
เครื่องปั่นไฟและสถานที่เก็บ (หน้า 63) 
เปรียบเทียบฝาบ้านที่กั้นสังกะสีกับฝาบ้านที่กั้นไม้อย่างดี (หน้า 126)
 
          ส่วนข้อมูลในรูปแบบตาราง ได้แก่
ตารางแจกแจงรายละเอียดกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการศึกษางานวิจัยชิ้นนี้ (หน้า 10) 
ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์มอแกนอดีตและปัจจุบัน (หน้า 58) 
ตารางสรุปมิติความสัมพันธ์ระหว่างมอแกนกับคนอื่น (หน้า 77) 
ตารางแสดงพัฒนาการปฏิบัติงานของเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทยฯ ในพื้นที่เกาะเหลา (หน้า 124) 
ตารางแสดงมาตรการฟื้นฟูตาม “โครงการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล” (ภาคผนวก ข) 
ตารางแสดงองค์กรที่ทำงานช่วยเหลือฟื้นฟูชุมชนมอแกนเกาะเหลาช่วงหลังสึนามิ พ.ศ.2547 (ภาคผนวก ค)

Text Analyst บงกช เจริญรัตน์ Date of Report 25 เม.ย 2559
TAG มอแกน, อัตลักษณ์ชาวมอแกน, บ้านเกาะเหลาหน้านอก, ระนอง, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง