สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวเวียง, พระราหู ,การกลมกลืนทางวัฒนธรรม, นครปฐม
Author นิภาพร โชติสุดเสน่ห์
Title พระราหู : ภาพสะท้อนความกลมกลืนทางความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง
Document Type ปริญญานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ลาวเวียง ลาวกลาง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
(เอกสารฉบับเต็ม) Total Pages 79 Year 2541
Source นิภาพร โชติสุดเสน่ห์. พระราหู: ภาพสะท้อนการผสมกลมกลืนทางความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง. สารนิพนธ์ ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541
Abstract

          วัฒนธรรมและความเชื่อมักมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เพื่อให้ความเชื่อเหล่านั้นดำรงอยู่ในสังคมต่อไปได้ ความเชื่อเรื่องราหูก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยมีปัจจัยต่างๆที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังนี้
          ปัจจัยภายนอก  สภาพภูมิประเทศ เศรษฐกิจและสังคม นั้นย่อมมีผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนและส่งผลถึงความเชื่อเรื่องราหูได้
           สภาพภูมิประเทศ พ.ศ. 2504 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งชุมชนศีรษะทองที่เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดนครปฐมก็กลายเป็นส่วนหนึ่งแผนการพัฒนาดังกล่าว โดยเฉพาะการที่มีถนนเพชรเกษมที่ตัดผ่านชุมชนทำให้มีการคมนาคมสะดวก ส่งผลให้ชุมชนรับความเชื่อค่านิยมจากสังคมภายนอกได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
           สภาพสังคม สังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ความไม่แน่นอน ความไม่พึงพอใจในชีวิตจนไม่สามารถที่จะหาทางออกให้กับตนเองได้ จนทำให้ต้องมีการพึ่งพาอำนาจที่อยู่เหนือธรรมชาติ แต่กระนั้นเองราหูกลับไม่ได้ตอบสนองเรื่องราวดังกล่าว เพราะราหูนั้นเป็นเทพเจ้าที่ช่วยเรื่องความปลอดภัยและเมตตามหานิยม จนกระทั่งใน พ.ศ. 2538เกิดสุริยุปราคาขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นพร้อมกับถูกนำไปเชื่อมโยงกับคำทำนายทางโหราศาสตร์      และมีการเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องราหูที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวขึ้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเรื่องราหู
          สื่อมวลชน ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ความคิดความเชื่อเรื่องราหูของชุมชนวัดศีรษะทองแพร่กระจายไปในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2538 นั้น พบว่าการเผยแพร่ความเชื่อราหูทำให้เกิดสุริยุปราคาและมีการนำเสนอว่าที่วัดศีรษะทองนั้นมีความเชื่อเรื่องราหูมาอย่างยาวนาน และได้สร้างราหูองค์ใหญ่จึงเกิดความศรัทธาจากสังคมภายนอกและทำให้ความเชื่อเรื่องราหูเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
          ปัจจัยภายใน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเชื่อภายในนั้นมีความสอดคล้องกันอย่างดีกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกภายนอก ในช่วง พ.ศ. 2538 ได้เริ่มมีการริเริ่มความคิดที่จะสร้างพระราหูองค์ใหญ่ เพื่อที่จะทำให้วัดศีรษะทองมีจุดเด่นเช่นวัดอื่นๆ และเอกลักษณ์ดังกล่าวนั้นอาจจะกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อีกด้วย กลายเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นอีกด้วย จนกระทั่ง พ.ศ. 2539 ที่พระราหูเสร็จนั้นได้มีการแห่รอบจังหวัดเพื่อให้ทุกคนสักการะ หลังจากนั้นเองก็มีคนจากทุกสารทิศเข้ามาเพื่อไหว้พระราหู และความเชื่อที่พระราหูเป็นเทพเจ้าที่โดดเด่นเรื่องเมตตามหานิยมและความแคล้วคลาดกลายเป็นเทพเจ้าแห่งโชคภาพ

บทบาทหน้าที่ของความเชื่อหระราหู
          ความเชื่อเรื่องพระราหูนั้นมีบทบาทและหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา ความเชื่อพระราหูเปลี่ยนแปลงไปตามบทบาทที่สอดคล้องกับช่วงเวลา โดยจะกล่าวถึงต่อไปดังนี้ ในช่วงแรกชาวลาวเวียงถูกอพยพมาจากเวียงจันทร์ ความต้องการบ่งบอกถึงความเป็นชาติพันธุ์มีสูงประกอบกับความยากลำบากของการใช้ชีวิต ความเชื่อเรื่องราหูจึงเป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้อย่างมี ไม่ว่าจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและความต้องการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ลาวเวียง
          เมื่อชุมชนลาวเวียงมีความมั่นคงแล้ว ราหูก็เป็นเรื่องราวที่ใช้เพื่อบอกเล่าความเป็นมาของชุมชน เพราะเมื่อมีการเล่าเรื่องราหูนั้นก็จะต้องมีการเล่าเรื่องราวของชุมชนศีรษะทองอีกด้วย ความเชื่อเรื่องราหูที่แตกต่างกันกับชาวไทย โดยที่ชาวลาวเวียงมองว่าราหูเป็นตัวแทนแห่งความดีนั้น ได้เปลี่ยนแปลงจากนามธรรมเป็นรูปธรรมโดยการนำมาแกะกะลาตาเดียว ได้เป็นการบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของชาวลาวเวียงได้อย่างดี
          เมื่อชาวลาวเวียงอยู่ในชุมชนร่วมกับชาติพันธุ์อื่นๆ ความเชื่อเรื่องราหูก็กลายเป็นเครื่องมือที่สร้างความกลมกลืนให้กับชุมชน เนื่องจากทุกคนนับถือความเชื่อเรื่องราหูละวัดศีรษะทองเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นราหูยังมีบทบาทในการควบคุมทางสังคม โดยมีศาสนาพุทธเป็นจุดเชื่อมกล่าวคือ หากใครทำผิดศีลธรรมก็จะทำให้ราหูลงโทษความเชื่อเรื่องราหูนั้นทำให้สถานะทางสังคมของบุคคลที่สามารถติดต่อกับพระราหูนั้นสูงส่งขึ้นไปอีกด้วย อย่างเช่นกรณีของเจ้าอาวาสที่ได้รับความนับถือจากสังคม
          จนเมื่อในช่วงเวลาปัจจุบันที่ความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้น ความเชื่อเรื่องราหูได้มีบทบาทในการช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางจิตใจ กลายเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจของชาวลาวเวียงและผู้ที่มาสักการะกราบไหว้                       
          ความเชื่อเรื่องพระราหูนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความกลมกลืนทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยกลุ่มลาวเวียงนั้นมีความคิดความเชื่อเรื่องราหูที่แตกต่างจากกลุ่มคนไทย ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไป เกิดการรวมชาติมีการแต่งงานข้ามกลุ่มชาติพันธุ์จนไม่ได้มีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ความเชื่อเรื่องราหูของชาวลาวเวียงก็ยังคงแพร่กระจายไปยังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆอีกด้วย
          หากคิดถึงการรวมกลุ่มชาติพันธุ์ของชาวลาวเวียงกับชาวลาวครั่งที่จังหวัดสุพรรณบุรีนั้นปรากฏว่ามีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับชาวลาวเวียงนั้นพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงที่เป็นชนกลุ่มน้อยกลับมีการเผยแพร่ความเชื่อค่านิยมให้กับชนกลุ่มใหญ่ได้ คือความเชื่อที่ว่าพระราหูเป็นเทพเจ้า จากที่ชาติพันธุ์อื่นๆมองว่าเป็นมาร  แตกต่างจากกลุ่มลาวครั่งที่เป็นฝ่ายรับวัฒนธรรมมากกว่าและถูกกลืนไปในที่สุด
          หากคิดถึงการกลมกลืนทางวัฒนธรรมอาจจะเป็นความกลมกลืนที่ไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบ เนื่องจากยังมีคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมรับว่าการนำพระราหูมาบูชาในเชิงพานิชย์นั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ ดังนั้นจึงเลือกที่จะเชื่อความเชื่อพระราหูในแบบเดิมต่อไป แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่ความเชื่อราหูกระแสใหม่นั้นจะได้รับความนิยมจนกระทั่งกลายเป็นความกลมกลืนทางวัฒนธรรมอย่างสมบูรณ์แบบไปเช่นกัน และเมื่อใดก็ตามที่ความเชื่อเรื่องราหูไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการทางจิตใจของผู้คนในสังคมได้ก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อดังกล่าวอย่างแน่นอน

Focus

          ความเชื่อเรื่องราหูเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถใช้บอกเอกลักษณ์ ความแตกต่างของชาวลาวเวียงในตำบลศีรษะทอง อำเภอ นครชัยศรี จังหวัด นครปฐม ซึ่งชาวลาวเวียงมีความเชื่อในเรื่องราหูที่เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติ ราหูไม่ได้เป็นความเชื่อทางจิตใจ แต่ยังเป็นสื่อภาษาทางวัฒนธรรม ที่เชื่อมโยงคนในชุมชนเข้าด้วยกัน แต่การที่ชุมชนมีการติดต่อกับสังคมภายนอก ทำให้วิถีชีวิตของชุมชนเปลี่ยนไป ทำให้ความเชื่อเรื่องราหู กลับมาทำหน้าที่อีกหน้าที่หนึ่ง คือ การเชื่อมโยงความรู้สึกปลอดภัยและไร้ซึ่งความกลัวทำให้สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ ซึ่งทำให้ความเชื่อเรื่องราหูแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว
            นอกจากนั้น ชาวลาวเวียง ยังมีการรับความเชื่อวัฒนธรรมจากภายนอก กลายเป็นความกลมกลืนทางวัฒนธรรม งานศึกษาชิ้นนี้จึงมุ่งสนใจเรื่องของกระบวนการสังเคราะห์ การผสมเกี่ยวกับระบบความเชื่อของพระราหู กับสังคมภายนอกของชุมชนลาวเวียง 

Theoretical Issues

          การศึกษาความเชื่อพระราหู ที่ศึกษาในแง่ของความกลมกลืนทางวัฒนธรรม บทบาทและการเปลี่ยนแปลงความเชื่อครั้งนี้ ได้ใช้ความคิดเรื่อง การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของ Milton M. Gordon ที่ว่าการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมเป็นกระบวนการทางสังคมที่ทำให้ประชากรที่มีเชื้อชาติต่างกันมีการสืบทอดทางสังคมที่ต่างกัน อยู่รวมกันในอาณาเขตเดียวกัน ได้บรรลุถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางวัฒนธรรม (พิมพิไล ตั้งเมธากุล: 2529, 9 อ้างใน นิภาพร โชติสุดเสน่ห์ : 2541 , 76) โดยความเชื่อเรื่องราหูกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการกลมกลืนทางวัฒนธรรม เนื่องจากความเชื่อเรื่องราหูนั้นมีการเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นการที่เจ้าอาวาสที่เป็นชาวลาวเวียง ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนาพุทธที่คนไทยนับถือ เป็นผู้ที่สืบทอดความเชื่อเรื่องราหู ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อไปในทิศทางเดียวกันได้อีกด้วย
           ความคิดเรื่องการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมของ Oscar Handin (1951,87) ที่กล่าวถึงเรื่องของการกลมกลืนที่สมบูรณ์แบบว่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในช่วงเวลาแรกเนื่องจากมองว่า ความกลมกลืนมักเกิดกับคนรุ่นใหม่ ที่เกิดมาพบกับสภาพความกลมกลืนนั้น หรับผู้ใหญ่ไม่มีวันที่จะเข้ากับสภาพทางสังคมที่เกิดขึ้นใหม่ได้ เพราะมีความรู้สึกนึกคิดที่ฝังจิตฝังใจกับสภาพแวดล้อมแบบเก่า(พิมพิไล ตั้งเมธากุล: 2529, 5อ้างใน นิภาพร โชติสุดเสน่ห์ : 2541 , 77) ซึ่งก็ปรากฏว่าในชุมชนแห่งนี้มีความขัดแย้งอยู่เล็กน้อยในเรื่องความเชื่อราหูแบบใหม่ นั่นคือ ผู้ใหญ่ในชุมชนมองว่าไม่สมควรที่จะนำพระราหูมาเป็นเรื่องพานิชย์และไม่ยอมทำตามพิธีกรรมแบบใหม่ เช่น การไหว้ของดำ

Ethnic Group in the Focus

ลาวเวียง

Language and Linguistic Affiliations

          ภาษาลาวเวียงเป็นภาษาที่ไม่ได้ใช้อีกต่อไปแล้วในชุมชนบ้านศีรษะทอง เพื่อเป็นการปรับตนเองให้ดูกลมกลืน ไม่ให้มีความเป็นอื่น เหตุผลดังกล่าวนั่นเองที่ทำให้ภาษาไทยกลางเข้ามาแทนที่ภาษาลาวเวียง โดยกลุ่มลาวเวียงนั้นมีการใช้ตัวอักษรแบบลาว-ขอม ในภาษาเขียน โดยนิยมใช้เป็นคาถาอาคมเพื่อลงลักษณ์ให้กับพระราหูมีความศักดิ์สิทธิ์

Study Period (Data Collection)

ปี 2541

History of the Group and Community

          เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตีเมืองเวียงจันทร์แตก ซึ่งในครั้งนั้นได้นำพระแก้วมรกตมายังประเทศไทย พร้อมกับกวาดต้อนชาวลาวเวียงจันทร์เข้ามาด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วยชนชั้นสูง ขุนนาง ชาวนา ไพร่ทาส พระสงฆ์ ชาวลาวเวียงจันทร์ เมื่อเข้ามาประเทศไทยก็ได้นำตำราและความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่อง โหราศาสตร์ การทำเกษตร เป็นต้น และส่วนใหญ่ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณ แม่น้ำท่าจีนและมีพวกหนึ่งเข้ามาอยู่ในตำบลศีรษะทองในปัจจุบัน ซึ่งได้ทำการพัฒนาขุดอ่างเก็บน้ำ ทำระบบชลประทาน เก็บหอมรอมริบ
          จนกระทั่งมีความคิดที่จะสร้างวัด เมื่อขุดดินเพื่อสร้างวัดกลับพบว่าเจอเศียรพระที่หล่อด้วยทอง จึงตั้งชื่อวัดว่าวัดหัวทอง เมื่อปี 2353 จนกระทั่งในสมัย รัชกาลที่ 4ได้มีการขุดคลองชลประทานเพื่อเป็นทางเสด็จพระราชดำเนินไปบูชาพระปฐมเจดีย์ ซึ่งผ่านทางตอนใต้ของบ้านศีรษะทองในปัจจุบัน ชาวบ้านจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อให้อยู่ใกล้คลองมากขึ้น และย้ายวัดหัวทองมาอยู่ใกล้คลองเจดีย์บูชา ซึ่งหลวงพ่อน้อย นาวารัตน์ เจ้าอาวาสขณะนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดศีรษะทอง และได้รับการยกฐานะเป็นตำบลศีรษะทองในที่สุด

Settlement Pattern

ไม่ปรากฏ

Demography

          ชุมชนศีรษะทองนั้น มีประชากร 3 กลุ่ม คือ ไทย จีน และลาวเวียง ชาวไทยนั้นเป็นชาวไทยภาคกลางเจ้าของพื้นที่ อาศัยอยู่ก่อนใคร ส่วนชาวจีนนั้น เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามา ประกอบอาชีพค้าขายมีฐานะดี ส่วนชาวลาวเวียง เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาเนื่องจากภัยการเมือง และยังคงเป็นกลุ่มที่คงเอกลักษณ์ทาชาติพันธุ์เอาไว้อย่างชัดเจน
          การอยู่ด้วยกันหลายกลุ่มชาติพันธุ์นั้นก่อให้เกิดความขัดแย้งได้เช่นกัน ผู้เฒ่าชาวลาวเวียงเล่าว่าเมื่อก่อนมีการล้อเลียนชาวลาวเวียงว่า “พวกลาวกินกบ”“พวกขี้ลาว”เป็นต้น แต่ปัจจุบันการล้อเลียนดังกล่าวนั้นไม่ได้แสดงให้เห็นเนื่องจาก คนรุ่นใหม่ ณ ปัจจุบันไม่ทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มลาวเวียง หรือพูดอีกอย่างก็คือ มีการกลมกลืนทางวัฒนธรรมจนเป็นรูปแบบเดียวกันไปเสียแล้ว
          บริเวณหมู่ที่สองตำบลศีรษะทอง มีประชากร 1084 คน 295 ครัวเรือน ชาย 528 หญิง 556 คน (คณะกรรมการอำนวยการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท, 2541)

Economy

          ปัจจุบันชาวบ้านศีรษะทองนิยมขายที่ดินของตนเองให้แก่โรงงานและหมู่บ้านจัดสรร ส่วนตัวเองนั้นไปเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันพบว่ามี 4 ครัวเรือนเท่านั้นที่ทำนา (นิภาภร โชติสุดเสน่ห์, 2541:22) การทำสวนเป็นอาชีพที่เพิ่งเริ่มทำเนื่องจากเห็นว่ามีผลผลิตที่คงที่และแน่นอน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการทำสวนผลไม้ เช่น มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่กล้วย ปัจจุบันมี 14 ครัวเรือนที่ทำสวนผลไม้ นอกจากนั้นยังมีการปลูกผัก ปลูกดอกไม้ มีการเลี้ยงวัว สุกร ไก่ เป็ด เป็นต้น           
         อาชีพรับจ้าง เนื่องจากเป็นอาชีพที่ได้รับสวัสดิการ มีรายได้ที่แน่นอนจึงเป็นที่นิยม โดยรับจ้างในโรงานที่อยู่รอบๆชุมชน โดยจากการสำรวจขององการบริหารส่วนตำบลพบว่ามีโรงงานอยู่โดยรอบถึง 16 แห่งด้วยกัน
         อาชีพรับจ้างรองลงมาคือการรับจ้างแกะกะละมะพร้าว โดยเฉพาะกะลาตาเดียวที่เป็นเครื่องรางของขลังที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีรับจ้างทั่วไปไม่ว่าจะเป็นรับจ้างในภาคการเกษตร หรือว่างานช่างอย่างเช่น ซ่อมของใช้ภายในบ้านเป็นต้น

Social Organization

          สถาบันครอบครัวถือเป็นสถาบันที่มีความใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของชาวศีรษะทองมากที่สุด ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตมากเพียงใด ลักษณะครอบครัวของชาวศีรษะทองนั้นเป็นวัฏจักรของครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยาย  โดยเริ่มต้นจากครอบครัวที่มี พ่อ แม่ ลูก เมื่อลูกแต่งงานก็นำครอบครัวมาอยู่ด้วยกันกลายเป็นครอบครัวขยาย และเมื่อพ่อ แม่ เสียชีวิตก็กลายเป็นครอบครัวเดี่ยว เป็นอย่างนี้เรื่อยไป
          ส่วนเรื่องการหาคู่ครองนั้นในปัจจุบันพบว่า เป็นเรื่องของความสมัครใจ ต่างจากอดีตที่พ่อแม่มักจะเป็นคนที่หาคู่ครองให้หนุ่มสาม โดยที่จะให้พบกันในงานประเพณีต่างๆ โดยการเลือกนั้นพิจารณาจากคุณสมบัติดังนี้ ฝ่ายชาย ต้องเป็นคนขยัน ไม่กินเหล้า เล่นการพนัน ส่วนฝ่ายหญิงต้องทำงานบ้านเป็น ขยันขันแข็ง เมื่อหนุ่มสาวรักกันพ่อแม่ก็จะยินยอม โดยที่อาจจะมีการตักเตือนหากไม่ประทับใจหรือคิดว่าคู่ครองของลูกไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็จะไม่ขัดใจอะไร
         รูปแบบการแต่งงานเป็นการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการที่สามีมีเมียน้อยนั้นเป็นสิ่งที่พอจะยอมรับได้ แต่ถือเป็นเรื่องไม่ดีนัก เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงและลูกๆจะใช้นามสกุลของฝ่ายชายเท่านั้น ปัจจุบันจึงมีการปรากฏนาวสกุลที่ไม่ใช้นามสกุลตั้งเดิมในบริเวณนี้ เนื่องจากมีการแต่งงานนอกชุมชนมากยิ่งขึ้น ส่วนการตัดสินใจตั้งหลักปักฐานของหนุ่มสาวนั้นขึ้นอยู่กับการตกลงกันของ พ่อ-แม่ ชายหญิงซึ่งอาจจะดูเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจแรงงาน ที่บ้านใดฐานะดีกว่าก็ไปอยู่กับคนนั้น หรืออาจจะเป็นการสร้างครอบครัวใหม่
          นอกจากนั้นสังคมสมัยใหม่ มีการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นอาจทำให้การพบกันและมีความรักในต่างแดนเกิดขึ้นแล้วลงหลักปักฐานในสถานที่แห่งนั้น ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่านิยมและความเชื่อของชาวศีรษะทองเปลี่ยนไปคือการย้ายเข้ามาของคนต่างถิ่นที่เป็นคู่ครองของชาวศีรษะทอง ที่นำความเชื่อค่านิยมใหม่ๆ ทำให้ชุมชนศีรษะทองเปลี่ยนแปลงไป
          การนับญาตินั้นไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าคู่สมรสให้ความสนิทสนมกับฝ่ายใดมากกว่า ส่วนการหย่าร้าง สามารถหย่าร้างกันได้เมื่อพบว่าไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไปแล้ว โดยลูกจะอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้แล้วแต่ตกลงกัน โดยส่วนใหญ่จะอยู่กับแม่เนื่องจากมีความสนิทสนมกับแม่มากกว่า

Political Organization

ไม่ปรากฏ

Belief System

          ชุมชนศีรษะทองส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ ควบคู่กับความเชื่อต่างๆที่หลากหลาย ความเชื่อดังกล่าวได้แก่ หอปู่ตา เป็นศาลเจ้าที่ชาวบ้านนิยมไปร้องขอความช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงเลขเด็ดเพื่อเสียงดวง คนทรง เป็นผู้ที่มีอำนาจสามารถติดต่อกับสิ่งที่เหนือธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าต้นคนทรงพ่อปู่ตาที่ปัจจุบันไม่มีใครสืบทอดอีกต่อไปแล้ว ศาลเจ้าพ่อป่าแดง ซึ่งมีคุณลุงนิพนธ์ พรวรรณศิริเวช เป็นคนทรงปัจจุบัน โดยได้อัญเชิญศาลเจ้าพ่อมาอยู่ที่บ้าน เนื่องจากเชื่อว่าอาการป่วยที่รักษาไม่หายของตนนั้นเกิดจาก การที่ตนไม่ยอมรับเป็นคนทรงให้กับเจ้าพ่อป่าแดง นอกจากนั้นยังมีเจ้าพ่อไกรลาศที่เพิ่งย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านได้เพียงแค่ 3เดือนเท่านั้น ศาลเจ้าพ่อตาไฟ ส่วนพระราหูนั้นเป็นสิ่งที่ชาวลาวเวียงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยนับถือมานับตั้งแต่อาศัยอยู่เวียงจันทร์แล้วมีพิธีการมากมายเนื่องจากมีการนับถือหรือมีความเชื่อ ที่จำแนกออกมาได้ 3 ประเภทด้วยกัน อย่างแรก เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน งานศพ งานบวช ซึ่งเชื่อมโยงกับศาสนาพุทธ พิธีการไหว้เสาตี้ตามหัวสวนของชาวนา ส่วนอีก 2  ประเภทที่เหลือนั้นเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชน คือ พิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อ การไหว้พระราหู และพิธีกรรมที่เหมือนกับชาวไทยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสงกรานต์ ปีใหม่ เป็นต้น
 
          พิธีกรรมนั้นเป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารกับสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ซึ่งในชุมชนศีรษะทองได้มีการทำพิธีต่างๆเกี่ยวกับราหู ไม่ว่าจะเพื่อขอพร หรือแสดงความเคารพ โดยมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยมีพิธีการต่างๆดังนี้
          พิธีกรรมปลุกเสก
          การลงลักษณ์อักษรขอมลาวให้กับพระราหูนั้นถือเป็นพิธีที่สำคัญจะทำให้ราหูมีความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น โดยผู้ที่ทำพิธีนั้นจะต้องเป็นพระภิกษุที่ได้รับการครอบครูเท่านั้น โดยจะต้องมีการจัดเตรียมของอย่างเช่น เครื่องบัดพลี ดอกไม้โต๊ะหมู่บูชา หลังจากนั้นจะรูปสลักราหูทั้งหมดมา จัดเตรียมธูปเทียนให้พร้อม หากเป็นรูปดวงอาทิตย์ให้จัดอย่างละ 6 หากเป็นพระจันทร์ให้จัดอย่างละ 15
          ช่วงเวลาในการทำพิธีนั้นมักจะเลือกวัน พฤหัสบดี วันเสาร์ วันอังคาร และยิ่งหากเป็นวันที่มีจัทนทรุปราคาหรือสุริยุปราคาจะทำให้ราหูมีความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้น โดยคนที่เข้าพิธีนั้นจะเป็นใครก็ได้ที่ได้รับการครอบครูแล้ว โดยเริ่มต้นจะมีบทสาดทางพระพุทธศาสนาเริ่มก่อน จากนั้นจะมีบทสาดภารวาณ (ภารต้น) เป็นบทสวดเกี่ยวกับราหู หลังจากนั้นจะมีการอัญเชิญวิญญาณหลวงพ่อไต(เจ้าอาวาสองค์แรก) มาเป็นองค์ในพิธี หลังจากนั้นเจ้าอาวาสจะทำการนั่งสมาธิ 10นาทีเป็นอย่างต่ำแล้วจึงลงลักษณ์อักษรทีละตัวจนกระทั่งเสร็จถือว่าเป็นเรื่องที่จบพิธี
          หลังจากทำพิธีเสร็จแล้วชาวบ้านจะนำรูปสลักราหูมาบูชาที่บ้าน โดยการบูชานั้นก็จะอาราธนาขอพรสิ่งที่ต้องการ ส่วนคนที่มีความสนใจเรื่องพระราหูก็จะสามารถที่จะกล่าวคาถาบูชาราหูโดยเฉพาะ ทั้งนี้จะขึ้นอยู่ด้วยกับช่วงเวลาที่สวดและอักขระที่ลงด้วย นอกจากนั้นยังมีการนำแก้วแหวนเงินทองต่างๆมาใส่ไว้ในกะลา โดยเชื่อว่าจะเป็นการทำให้โชคลาภความร่ำรวยเพิ่มมากขึ้น ราหูนั้นชาวบ้านชื่อว่าจะทำให้คนที่บูชาเป็นที่รักใคร่เอ็นดู ป้องการการทำของ เสนียดจัญไร
           
          พิธีกรรมการไหว้ครู
          เริ่มจัดขึ้นในช่วงที่หลวงพ่อน้อยเป็นเข้าอาวาส โดยกำหนดให้วันพฤหัสแรกของเดือนสิบ เป็นวันทำพิธี ส่วนในปัจจุบันหลวงพ่อมานิตย์ เป็นคนกำหนดให้วันพฤหัสของเดือนสี่(ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนมีนาคม พิธีดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อครู ได้แก่ เทพครูฤๅษีเจ้าอาวาสรูปก่อนๆ วัวธนู พระราหู สำหรับพิธีนั้นจะแบ่งเป็นสองช่วงเวลา คือ ช่วงเช้า จะเริ่มต้นขึ้นด้วยการ บูชารัตนตรัยไหว้บรรพบุรุษ กล่าวสรรเสริญเทพเจ้าต่างๆ จากนั้นอาจจัดพิธีการครอบครู เจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตรหาร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลและให้พระสงฆ์รับวัตถุของชาวบ้านที่นำมาเขาพิธี แล้วลูกศิษย์เอาน้ำพระพุทธมนต์ไปบูชา
          ส่วนตอนเย็นจะเป็นการสวดนพเคราะห์ ซึ่งเป็นการนำพิธีสวดนพเคราะห์มาเชื่อมโยงกับความเชื่อราหู เพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังใจ หากคนใดที่ได้รับคำทำนายดีก็จะได้หมดทุกข์หมดโศกไปเสีย ไม่ต้องตกอยู่ในวัฏจักรของความทุกข์ ความสุข
          ในพิธีนั้นจะมีการวางธงไว้ 9ธง เป็นธงประจำวันอาทิตย์ถึงวันเสาร์ และยังมีธงวันพุธกลางคืนเป็นวันพระจำพระราหุและวันเสาร์กลางคืนเป็นธงของพระเกตุ แล้วจะมีอาหารตั้งบูชาในแต่ละวัน ส่วนราหูองค์ใหญ่นั้นจะนำอาหารเครื่องดำมา รวมถึงการตบแต่งพระราหู พิธีกรรมเริ่มด้วยการบูชาเทวดาอ่านโองการเป็นภาษาบาลีและการสวดนพเคราะห์
          พิธีไหว้ครูนั้นได้รับความสนใจจากคนทุกเพสทุกวัย ที่มีเวลาก็จะต้องมาร่วมพิธีดังกล่าว นอกจากนั้นยังพบว่าที่บ้านลุงศรี คนแกะกะลาตาเดียวยังมีการไหว้ครูทุกวันพฤหัสแรกของเดือน 12 ของทุกปี

          พิธีสะเดาะเคราะห์
          หากมีชาวบ้านคนใดที่ได้รับคำทำนายว่าจะมีทุกข์ ก็จะมีการสะเดาะเคราะห์ ซึ่งพบได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่ที่ชุมชนแห่งนี้มีสิ่งหนึ่งที่พิเศษขึ้นมาคือ การถวายอาหารดำ 8อย่าง โดยมีดังนี้ 1.ไก่ดำ หมายถึง หากินดี 2. เหล้า หมายถึง 3.กาแฟดำ หมายถึง คิดอะไรก็สมหวัง  4. เฉาก๊วย หมายถึง มีความรอบคอบ 5.ถั่วดำ หมายถึง ความรุ่งเรือง 6.ข้าวเหนียวดำ หมายถึง ความเหนียวแน่นเรื่องครอบครัว  7. ขนมเปียกปูน หมายถึง รางวัล 8. ไข่เยี่ยวม้า หมายถึง วิ่งเต้นสำเร็จ  การถวายของดำ 8อย่างนั้นเป็นพิธีที่เริ่มขึ้นใหม่ โดยมีการเริ่มความเข้าใจว่าจะต้องถวายของดำแด่พระราหูเมื่อ พ.ศ. 2538เมื่อสื่อมวลชนเริ่มนำเสนอเรื่องพระราหูและจากนั้นเมื่อชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงต้องการที่จะบูชาจึงติดต่อทางวัดให้ทางวัดเตรียมของดำดังกล่าวให้เพื่อความสะดวก โดยในชุมชนนั้นมีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้ยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยมองว่าเป็นเรื่องของเชิงพานิชย์

          พิธีสวดนพเคราะห์
          เป็นพิธีที่มีการจัดขึ้นในทุกวันสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นวันพุทธที่ 8 เดือน 8วันไหว้ครู และตามคำเรียกร้องของชาวบ้าน โดยรายละเอียดนั้นได้กล่าวไปแล้วข้างต้นในพิธีไหว้ครู โดยมีการบูชาเทพเจ้าในช่วงเช้า หลังจากนั้นมีการทำนายดวงในช่วงเย็น ช่วงค่ำก็เป็นการสวดนพเคราะห์ขึ้นเพื่อที่จะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ที่ได้คำทำนายว่าจะโชคร้าย โดยมีการกล่าวโองการบูชาเทวดา พระครูฤๅษี อัญเชิญพระราหู เมื่อทำพิธีอัญเชิญเทพเจ้าต่างๆแล้วก็จะเริ่มสวดนพเคราะห์ โดยเริ่มสวดไปแต่ละวันโดยเริ่มจากวันพุธกลางคืนก่อน และไปจบลงที่วันเสาร์กลางคืนคือวันของพระเกตุ จากนั้นพระสงฆ์จะ สวดมงคลคาถา และพรหมน้ำมนต์ทั้ง 8 ทิศ

Education and Socialization

การศึกษาของชาวศีรษะทองนั้นมีสองระบบด้วยกันดังนี้
          1. ศึกษาผ่าระบบการศึกษาโดยมีโรงเรียนบ้านศีรษะทอง ก่อตั้งเมื่อปี 2477 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดค่านิยมแบบวัฒนธรรมไทยกระแสหลัก
          2. การศึกษาภูมิปัญญาของชาวลาวเวียงผ่านคำบอกเล่าหรือการศึกษาผ่านทางสายโลหิตส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการศึกษาวิทยาคม ไสยศาสตร์ การรักษาโรคต่างๆ เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องแกะกะลาตาเดียวของชาวเวียงที่ถ่ายทอดกันจากพ่อสู่ลูก หรืออาจารย์สู่ลูกศิษย์ โดยระบบนี้จะสงวนไว้กับคนที่เป็นชาวลาวเวียงเท่านั้น

Health and Medicine

          การรักษาปรากฏเล็กน้อยอยู่ในตำนานของเจ้าอาวาสวัดศีรษะทองคือ หลวงพ่อตันที่เป็นหมอยา สามารถรักษาโรคต่างๆได้ นอกจากนั้นยังมีความเชื่อเรื่องน้ำมนเจ็ดบ่อที่หลวงพ่อตันเป็นผู้ปลุกเสก เชื่อกันว่าหากดื่มกินก็จะหายจากอาการป่วยไข้ต่างๆ

Art and Crafts (including Clothing Costume)

สัญลักษณ์พระราหู
          จากการศึกษางานชิ้นดังกล่าวพบข้อมูลที่เป็นงานศิลปะหัตกรรมที่โดดเด่นของชาวลาวเวียงคือ สัญลักษณ์พระราหู ชาวลาวเวียงเชื่อในความเป็นอมตะของราหูและมีอำนาจไม่ต้องเกรงกลัวความชั่วร้าย จึงมีการสร้างสัญลักษณ์หรือเครื่องรางของขลังเอาไว้หลายอย่างด้วยกันดังนี้

กะลาตาเดียว
          การแกะกะลาตาเดียว สำหรับกะลาตาเดียวนั้นถือเป็นสิ่งชาวไทยนับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นของที่หายาก โดยในอดีตกะลาตาเดียวสามารถนำมาใช้ให้หมอยารักษาโรค และเป็นสิ่งนำโชคได้ แต่ที่วัดศีรษะทองนั้น การนำกะลาตาเดียวมาแกะเพื่อเป็นเครื่องรางหรือเป็นสัญลักษณ์ของราหูนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ทำกันมาเนิ่นนาน นับตั้งแต่สมัยที่หลวงพ่อน้อยเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดศีรษะทอง
          ปัจจุบัน(พ.ศ. 2541)ชาวบ้านที่ชุมชนวัดศีรษะทอง 5 คน เท่านั้น โดยการแกะนั้นจะนำมากะลามาตัดเป็นชิ้นให้พอดีมือ คิดลอกลายลงบนกะลา โดยลอกเป็นโครงสร้างรวมๆ แล้วจึงค่อยลงดินสอเป็นลวดลายเด่นชัด เอาแป้งเปียกมาติดกระดาษที่ทาบไว้กับกะลาแล้วจึงเอาลงไปแช่น้ำ จากนั้นก็เริ่มเอามาแกะตามลวดลายที่วางไว้ ลงรายละเอียดเขียนตัวอักษรแล้วแต่ความชำนาญของแต่ละคน เกลาผิวและขัดเงาให้เรียบร้อยสวยงาม
          จากการแบ่งประเภทของเครื่องรางของกะลาตาเดียวนั้นสามารถแบ่งได้เป็นประเภทต่างๆดังนี้ คือ หนึ่งประเภทแขวนคอ จะแกะเป็นรูปใบเสมาเอาไว้แขวนคอโดยจะมีห่วงอยู่ข้างๆหากเป็นขนาดใหญ่ โดยจะมีรูปราหูยกมืออมจันทร์หรือดดวงอาทิตย์ ซึ่งจะมีลวดลายที่แตกต่างกันไปตามเอกลักษณ์ของช่างแกะ
          - แบบแขวนขนาดใหญ่ จะมีขนาด 8-9 ซม. โดยมีลักษณะเด่นคือส่วนชฎาของราหูนั้นจะมียอดมนไม่แหลม
          - แบบบูชา แบบสามเกลา หรือแบบ 9 หน้า นิยมเอากะลาตาเดียวมาแกะทั้งลูก โดยจะมีราหู 3 หน้า อมดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ จะลงอักขระด้านหน้าราหู และมักจะลงอุตรงชฎา
          - แบบกุมดวงคาถา ไม่อมดวงจันทร์ แต่จะเอามากุมดวง มีคาถาบรรจุอยู่ในดวง โดยแบ่งเป็น 16 ช่องแล้วบรรจุคาถาอยู่ในช่องต่างๆ
          - แบบไม่อมจันทร์ เป็นแบบเขวนแบบใหญ่แต่จะราหูไม่อมจันทร์หรือดวงอาทิตย์ ไม่มีอักขระปรากฏอยู่ที่ด้านหน้า แต่จะเขียนไว้ที่ด้านหลังเป็นส่วนใหญ่

          ปัจจุบันเครื่องรางราหูนั้นมีมากมายกว่าแค่เพียงกะลาตาเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นโลหะประเภทต่างๆ เช่น นวโลหะ เงิน เป็นต้น เครื่องรางของขลังในปัจจุบันที่หลงเหลืออยู่นั้น มีนับตั้งแต่รุ่นหลวงพ่อน้อยลงมาเป็นส่วนใหญ่ โดยได้มาจากการเช่า การเอามาจากวัดศีรษะทอง ซึ่งผู้ที่เดินทางมาไกลมักจะได้ไว้เพื่อช่วยให้เดินทางได้ปลอดภัย ทำให้ราหูตกไปเป็นของคนนอกชุมชนเช่นกัน
รูปราหูองค์ใหญ่
           เนื่องจากราหูเป็นตำรับที่ได้รับมาจากลาวเวียง ทางวัดและชาวบ้านจึงคิดว่าเพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษ จึงน่าจะสร้างราหูองค์ใหญ่ขึ้นมาเป็นอนุสรณ์เตือนใจชาวบ้านรุ่นหลัง โดยราหูองค์ใหญ่ มีรูปร่างหน้าตาเป็น แทตย์ คือมีความดุร้าย มีครึ่งตัวเฉพาะท่อนบน สีสำริด อยู่ในท่าอมจันทร์ มีความกว้าง 109นิ้ว น้ำหนัก 2 ตัน โดยชาวบ้านมองว่าราหูองค์ใหญ่เป็นเหมือนเอกลักษณ์ของวัด โดยชาวบ้านจะเคารพหลวงพ่อน้อยและราหูองค์ใหญ่ขอให้ท่านคุ้มครอง

Folklore

          กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงกับความเชื่อพระราหู
ความเชื่อพระราหูของกลุ่มลาวเวียงนั้นได้รับการสืบทอดมาจากการตำราที่ขนมาจากเวียงจันทร์เมื่อครั้งที่ถูกมาเป็นเชลยเมื่อช่วงต้นรัตนโกสินทร์ และความเชื่อดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดและเผยแพร่โดยเจ้าอาวาสวัดศีรษะทองดังนั้นจึงขอนำเสนอประวัติการสืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศีรษะทองดังนี้

          ประวัติการสืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศีรษะทอง
          การสืบทอดตำแหน่งเจ้าอาวาสนั้น เป็นการสืบทอดความเชื่อเรื่องราหูด้วย เนื่องจากวิทยาคมเรื่องราหูมาจาตำราภาษาขอมลาว ที่นำมาจากเวียงจันทร์ ดังนั้นจึงมีความเชื่อว่าวิทยาคมดังกล่าวควรจะมีคนลาวเวียงเป็นผู้สืบทอด  โดยจะสังเกตได้จากการสืบทอดตำแหน่งในช่วงแรกของการตั้งวัด ดังนี้
          หลวงพ่อไตคือเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดศีรษะทอง เป็นคนเวียงจันทร์ที่เป็นเชลยศึกเข้ามาอาศัยอยู่ ณ ชุมชนแห่งนี้ เป็นเกจิอาจารย์ที่มีความแกร่งกล้า เจ้าอาวาสคนต่อมา คือหลวงพ่อตัน มีความสัมพันธ์คือเป็นหลานของหลวงพ่อไต สืบทอดความรู้วิทยาคมจากหลวงพ่อไต ได้สร้างควายธนู ราหูอมจันทร์และน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ และได้ถ่ายทอดวิทยาอาคมต่างๆให้กับหลวงพ่อลีซึ่งเป็นน้องชายและได้เป็นเจ้าอาวาสต่อไป นอกจากจะเป็นเกจิอาจารย์แล้วยังเป็นหมอยารักษาโรคอีกด้วย เรียกได้ว่าช่วงเวลาดังกล่าววัดเป็นที่รวมจิตใจของชาวบ้านได้อย่างแท้จริง และยังทำให้ชาติพันธุ์ต่างๆเข้ากันได้มากขึ้นอีกด้วย
          จนกระทั่งเมื่อหลวงพ่อลีลาสิกขา เจ้าอาวาสคนต่อๆมาคือหลวงพ่อทองซึ่งเป็นพระไทย และหลวงพ่อน้อยที่เป็นญาติกับหลวงพ่อลีกลับไม่ได้มีความสนใจและไม่สามารถที่จะสืบทอดความเชื่อเรื่องราหูได้ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2456 หลวงพ่อน้อยเป็นเจ้าอาวาส ความเชื่อเรื่องราหูกลับมาอีกครั้ง
          หลวงพ่อน้อย เป็นคนลาวเวียง ได้ร่ำเรียนวิทยาอาคมจากพ่อของตนเอง เมื่อบวชเป็นพระก็เป็นพระที่น่าเลื่อมใส คือ เคร่งครัดในการปฏิบัติ หมั่นท่องตำราคำสอนจนได้รับความศรัทธาจากชาวบ้าน หลวงพ่อน้อยได้สร้าง      วัวธนูและราหูอมจันทร์ที่ถือว่าเป็นที่ต้องการอย่างมากจากคนที่สนใจของขลังเวลานั้น หลวงพ่อน้อยเป็นเจ้าอาวาสจนกระทั่งมรณภาพ หลวงพ่อปิ่นเป็นเจ้าอาวาสต่อ ได้สร้างเครื่องรางของขลังคือควายธนูและราหูอมจันทร์และได้รับความนิยมเช่นกัน
          จนกระทั่งหลวงพ่อปิ่นสิ้นลงการสืบทอดความเชื่อเรื่องราหูก็กายไปอีกเช่นกัน จนกระทั่งหลวงพ่อมานิตย์ได้เข้ามาเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ ปี พ.ศ. 2535-ปัจจุบัน(2541) ในช่วงแรกนั้นหลวงพ่อมานิตย์ ไม่ได้มีความเชื่อเรื่องราหูแต่อย่างใด แต่ด้วยความที่เป็นคนศีรษะทอง มีเชื้อสายลาวเวียงทางฝั่งแม่ และได้รับความคาดหวังจากคนเก่าแก่ของสังคม หลวงพ่อจึงยอมรับความเชื่อดังกล่าว โดยท่านได้สร้างพระราหูองค์ใหญ่ขึ้นในวัด รูปปั้นหลวงพ่อน้อยและได้รื้อฟื้นพิธีต่างๆเกี่ยวกับราหูอีกด้วย

ความเชื่อเรื่องพระราหูของชาวลาวเวียง
         ราหูสำหรับชาวศีรษะทองนั้น เป็นยักษ์ตัวใหญ่ มีพละกำลังมาก ผิวตำมันวาวเหมือนนิล มีหางเป็นนาคมีครุฑเป็นพาหนะ โดยจากตำนานที่ชาวบ้านได้รับเกี่ยวกับราหู และเป็นตำนานที่วัดศีรษะทองได้เผยแพร่ในการทำพิธีกรรมต่างๆ คือตำนานที่อยู่ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 24 หน้า 340ครบสองร้อยปีรัตนโกสินทร์กล่าวว่า
          ในช่วงที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาบนโลกนั้น มีพี่น้องที่เป็นชายด้วยกัน 3คน คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระราหู เกิดความเลื่อมใสพระพุทธเจ้าจึงอยากทำบุญถวายภัตราหาร พี่ชายคนที่หนึ่งได้นำขันทองบริสุทธิ์ใส่อาหารถวายแด่พระพุทธเจ้า แล้วขอให้ตนเองมีแสงสว่างส่องแสงเรืองรองตลอดเวลา ส่วนพี่ชายคนที่ 2 คือพระจันทร์นำขันเงิน บริสุทธิ์ ใส่อาหารแล้วอธิฐานขอให้ตนเองมีรางการที่สวยงามคนเห็นแล้วหลงใหลเหมาะที่จะอยู่เคียงข้างพี่ชาย ส่วนน้องคนสุดท้ายเกิดอาการน้อยใจเนื่องจากไม่รู้ว่าจะเอาอะไรใส่อาหารถวายพระพุทธเจ้าจึงเอากระบุงใส่อาหารแล้วถวาย พระพุทธเจ้าแล้วขอให้ตนเองเป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภ มีพละกำลังมหาศาล และคอยบดบังรัศมีของพี่ชาย
ผลบุญดังกล่าวนั้นได้ทำให้ พระอาทิตย์พี่ชายเกิดเป็นสุริยเทพบุตร พี่ชายคนที่สองเกิดเป็นจันทรเทพบุตร ส่วนราหูนั้นเกิดเป็น อสุทินราหู เป็นยักษ์ที่มีกำลังมาก สามารถดลบันดาลโชคลาภได้ อีกทั่งมีฤทธิ์มากเทพทั้งหลายต้องเกรงใจ
          ส่วนความเชื่อเรื่องสุริยุปราคาและเรื่องจันทรุปราคาของชาวลาวเวียงนั้นมีความเชื่อที่แตกต่างจากชาวบ้านทั่วไปที่มองว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นการที่ราหูกำลังต้องการบดบังรัศมีของพี่ชายตน แต่ชาวลาวเวียงกลับมองว่าเป็นการพบกันระหว่างพี่น้องทั้งสามคน โดยชาวบ้านจะเคาะกะลาและสิ่งต่างๆ เพื่อแสดงความยินดีและเพื่อให้พี่น้องทั้งสามตกใจไม่ลืมตัวจนไม่จากกัน จนทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนได้

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          ตำบลศีรษะทองประกอบด้วย 3 ชาติพันธุ์ด้วยกันนั้นคือ ไทย ลาว จีน โดยทั้ง 3 กลุ่มนั้นมีการบ่งแยกที่อยู่กันอย่างชัดเจน  และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการอยู่อาศัยปะปนกันมากขึ้น แต่ก็ยังมีชื่อเรียกหมู่บ้านให้เห็นเป็นร่องรอย กล่าวคือ คนไทยกลางนั้นอยู่ทิศตะวันตกของวัดศีรษะทอง ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “หมู่ไทย” ชาวลาวเวียงอาศัยอยู่ทางเหนือ ชาวบ้านเรียกบริเวณดังกล่าวว่า “หมู่ลาว” ชาวไทยและชาวลาวเวียงนั้นมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันแต่แตกต่างกันที่ภาษาและวัฒนธรรม ส่วนชาวจีนนั้นจะอาศัยอยู่ที่จุดศูนย์รวมของผู้คนเพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการทำการค้า
          การเข้ามาอยู่อาศัยในชมชนนั้นจึงทำให้ได้มีโอกาสเกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยชาวไทยและชาวลาวนั้นมีอาชีพเป็นชาวนามาแต่ดั้งเดิม โดยจะอาศัยฤดูน้ำหลาก วิดน้ำจากลำคลองที่ใกล้กับที่นาเข้ามาในนาของตนเอง ส่วนแรงงานนั้นเป็นการร่วมกันลงแขก โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นกลุ่มชาติพันธ์ใดๆ เป็นความสมัครใจ ทำให้เกิดการปติสังสรรค์และสามารถสร้างความสนิทสนมระหว่างชาติพันธุ์ต่างๆ
          ส่วนคนจีนที่เข้ามาทำอาชีพเกษตรกรรมนั้นยังได้นำความรู้ในเรื่องการเลี้ยงหมูเข้ามาสู่ชุมชนอีกด้วย คนจีนภายนอกชุมชนเป็นตัวกลางในการนำสินค้าในชุมชนออกไปขายและนำสินค้าภายนอกพร้อมกับข่าวสารต่างๆเข้ามาในหมู่บ้านด้วยเช่นกัน ในบางครั้งมีการหาอาหารตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นปลา ผัก ต่างๆ ได้เป็นจำนวนมากก็มักจะนำมาแบ่งกันหรือชักชวนกันมารับประทานโดยไม่แบ่งชาติพันธ์ ทำให้เกิดความกลมเกลียวกันมากขึ้น
          ด้านพื้นฐานความเชื่อเรื่องศาสนาก็กลายเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกันที่ทำให้เกิดการประสานความสัมพันธ์ โดยการนับถือศาสนาพุทธเหมือนกัน การมีวัดเป็นที่พึ่งทางจิตใจเช่นเดียวกัน และยังเป็นพื้นที่ในการทำความตกลง การจัดการต่างๆ และยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดการพบปะในประเพณีและงานบุญต่างๆที่เกิดขึ้นในวัด นอกจากนั้นยังมีการสร้างสายสัมพันธ์พิธีกรรมของต่างชาติพันธุ์ เช่น แสดงความยินดีและแบ่งปันอาหารกันในเทศการของชาวจีนอย่าง ตรุษจีนอีก และการร่วมกันทำบุญ สาดน้ำในพิธีแห่นางแมวด้วย
          เนื่องจากความสนิทสนมดังกล่าวนั่นเองที่เป็นผลให้ปัจจุบันมีการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างเกิดขึ้นมากมาย และได้กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการกลมกลืนของชาติพันธ์ต่างๆมากขึ้น ในช่วงเวลาแรกนั้นมีความขัดแย้งกันเล็กน้อยระหว่างคนไทยและคนลาวเวียง โดยคนลาวมาองว่าคนไทยนั้นชอบใช้ความรุนแรง อยากเป็นผู้ปกครอง ส่วนคนไทยมองว่าชาวลาวเวียงนั้นเกียจคร้าน สกปรกยากจน จนคนไทยมักล้อเลียนพวกลาวเวียงว่า ลาวกินกบ ลาวแก้ง ไอ้ขี้ลาว เป็นต้น ด้วยความที่เป็นชนกลุ่มน้อย จึงมีความเป็นไปได้ว่าคนลาวจะไม่แสดงตนอย่างชัดเจนเพื่อหลบเลี่ยงความขัดแย้งดังกล่าว
          ส่วนคนจีน เป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูง ส่งผลให้สถานะทางสังคมสูงอีกด้วย ชาวจีนไม่ยินดีที่จะให้ลูกหลานแต่งงานกับชาวไทยที่มองว่ารักสบาย เป็นนักเลงชอบวางอำนาจ และชาวลาวเวียงที่มองว่าเกียจคร้าน อาจทำให้ลูกหลานของตนลำบากได้ในที่สุด ความสัมพันธ์รูปแบบเหล่านี้ได้คลี่คลายลงไปมากในปัจจุบัน ระบบทุนนิยมที่เข้ามาทำให้ระบบการแลกเปลี่ยนในรูปแบบเงินตราเข้ามามีบทบาทที่สำคัญมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ ระบบการศึกษาก็เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ทำให้คนที่อยู่ในประเทศไทย มีอุดมการณ์ ค่านิยมและความเชื่อที่เหมือนกัน ผ่านรูปแบบการปกครองของรัฐที่ทำให้ทุกคนนึกถึงความเป็นไทยอย่างเหนียวแน่นกว่าในอดีต

Social Cultural and Identity Change

          การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งกับความเชื่อเรื่องราหูของชุมชนวัดศีรษะทอง โดยสอดคล้องกับปัจจัยภายนอกดังนี้  สภาพภูมิประเทศ พ.ศ. 2504 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีแผนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งชุมชนศีรษะทองที่เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดนครปฐมก็กลายเป็นส่วนหนึ่งแผนการพัฒนาดังกล่าว โดยเฉพาะการที่มีถนนเพชรเกษมที่ตัดผ่านชุมชนทำให้มีการคมนาคมสะดวก ส่งผลให้ชุมชนรับความเชื่อค่านิยมจากสังคมภายนอกได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
          สภาพสังคม สังคมไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น และเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ความไม่แน่นอน ความไม่พึงพอใจในชีวิตจนไม่สามารถที่จะหาทางออกให้กับตนเองได้ จนทำให้ต้องมีการพึ่งพาอำนาจที่อยู่เหนือธรรมชาติ แต่กระนั้นเองราหูกลับไม่ได้ตอบสนองเรื่องราวดังกล่าว เพราะราหูนั้นเป็นเทพเจ้าที่ช่วยเรื่องความปลอดภัยและเมตตามหานิยม จนกระทั่งใน พ.ศ. 2538เกิดสุริยุปราคาขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นพร้อมกับถูกนำไปเชื่อมโยงกับคำทำนายทางโหราศาสตร์      และมีการเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องราหูที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ดังกล่าวขึ้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเรื่องราหู
สื่อมวลชน ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ความคิดความเชื่อเรื่องราหูของชุมชนวัดศีรษะทองแพร่กระจายไปในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2538นั้น พบว่าการเผยแพร่ความเชื่อราหูทำให้เกิดสุริยุปราคาและมีการนำเสนอว่าที่วัดศีรษะทองนั้นมีความเชื่อเรื่องราหูมาอย่างยาวนาน และได้สร้างราหูองค์ใหญ่จึงเกิดความศรัทธาจากสังคมภายนอกและทำให้ความเชื่อเรื่องราหูเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน
             ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้สังคมชุมชนศีรษะทองเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพ กระบวนการผลิต ความเชื่อเรื่องพระราหูเป็นต้น

Other Issues

ความเห็นของลาวเวียงและกลุ่มชาติพันธุ์ใกล้เคียงเรื่องราหู
           ความเชื่อเรื่องราหูของคนไทยในชุมชนที่มีการติดต่อกับชาวลาวเวียงเป็นระยะเวลานั้นมีความแตกต่างกับความเชื่อเรื่องราหูของชาวลาวเวียงหรือไม่ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาดังกล่าวเอาไว้ดังนี้
           
ด้านเศรษฐกิจ

          ในการประกอบอาชีพนั้นมีความไม่แน่นอนอยู่ในแต่อาชีพ เช่นเกษตรกรก็เป็นอาชีพที่ต้องพึ่งลมฟ้าอากาศ จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวลาวเวียงนิยมไหว้หอปู่ตา แต่ก็มีบางคนที่ไหว้ราหูเช่นกัน ปัจจุบันถึงแม้จะมีอาชีพต่างๆมากมาย แต่อาชีพเหล่านั้นก็ยังคงเจอเรื่องความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการลงทุน หรือความคาดหวังในเรื่องหน้าที่การงานของข้าราชการ ความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชนชั้นแรงงาน ความเดือดร้อนต่างๆเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านหันมาพึ่งความเชื่อเรื่องราหู โดยคาดว่าความคิดเรื่องเศรษฐกิจนั้นเป็นผลจากการแพร่กระจายของวามคิดเรื่องราหูแนวใหม่ โดยจะกล่าวถึงเรื่องนี้ต่อไปข้างหน้า

ด้านสังคม
          ชาวลาวเวียงนั้น มองว่าราหูนั้นเป็นความเชื่อที่ดีไม่ได้ทำอันตรายต่อใคร แต่สำหรับชาวไทยที่มองว่าราหูนั้นเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดจันทรุปราคาและสุริยุปราคาซึ่งจะทำให้เกิดความชั่วร้ายต่างๆ ความเชื่อที่ต่างกันดงกล่าวนั้น ทำให้ความเชื่อเรื่องลาวเวียงกลายเป็นความเชื่อที่กลายเป็นอัตลักษณ์บ่งบอกความเฉพาะเจาะจงของชาวลาวเวียง และยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวศูนย์รวมจิตใจของชาวลาวเวียงอีกด้วย
           
ด้านศาสนา
          ชาวลาวเวียงได้นำความเชื่อของราหูมาประยุกต์ใช้กับความเชื่อศาสนาพุทธ โดยมองว่าหากผู้ใดไม่ทำตามศีลธรรมความดีงาม หรือไม่ทำตัวเหมาะสมประเพณีจะถูกพระราหูลงโทษ
           
ความเชื่อด้านต่างๆ
          ความเจ็บป่วย แม้ว่าปัจจุบันจะมีการรักษาในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ความการรักษาด้วยความเชื่อเรื่องราหูตามแบบปฏิบัติเดิมนั้นก็ยังคงมีอยู่ เช่น เมื่อมีอาการที่รักษาด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่ไม่หายแล้วจึงมีการบนบานขอพรให้ราหูช่วยเหลือ โดยสวนใหญ่พบว่า อาการ ไม่มีแรง ปวดหัว ปวดเมื่อยหายแทบทุกราย          
            การเดินทาง เมื่อมีการสร้างราหูองค์ใหญ่ขึ้นนั้น ทำให้ชาวบ้านที่ต้องเดินทางออกนอกชุมชนศีรษะทองต้องผ่านมาเคารพขอพรราหูเสียก่อน เพื่อขอให้ราหูคุ้มครองเดินทางอย่างปลอดภัย หรือหากเป็นการเดินทางเพื่อการค้า ทำธุรกิจก็จะเชื่อว่าราหูนั้นจะทำให้ประสบความสำเร็จอีกด้วย โดยเมื่อกลับมาจะนำอาหารมาถวายเป็นการตอบแทน หรือแม้กระทั้งการสอบก็จะมาบอกราหูให้ช่วยแล้วถวายอาหารเป็นการตอบแทนเช่นกัน
          ส่วนความเชื่อเรื่องราหูเป็นความเชื่อของชาวลาวเวียงก็ตาม แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในที่ชุมชนแห่งนั้นล้วนแล้วแต่เจอกับความไม่แน่นอนเช่นกันทั้งหมด ดังนั้นราหูจึงมีความสำคัญกับประชาชนในชุมชนศีรษะทองและใกล้เคียง           
          ความใกล้ชิดกับศาสนาพุทธที่ใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการทำพิธีนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเช่นกันที่ทำให้ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงนับถือความเชื่อเรื่องราหู เนื่องจากคนไทยนั้นนับถือศาสนาซึ่งมีวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน ดังนั้นหากไปถามคนไทยที่อยู่ในชุมชนวัดศีรษะทองนั้นก็ล้วนมีความเชื่อเช่นเดียวกับชาวลาวเวียงเช่นกัน
           ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า ความเชื่อเรื่องราหูนั้นไม่อาจนำมาบ่งบอกอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ลาวเวียงได้ สิ่งที่ยังหลงเหลือที่ยังสามารถบ่งบอกเอกลักษณ์ได้นั่นคือ “ภาษา” เช่นคำว่า เฮา ฮือ แต่ภาษาเหล่านี้มักใช้ในคนเฒ่าคนแก่ ปัจจุบันนั้นไม่มีอะไรที่บ่งบอกถึงความเป็นลาวเวียงได้อีกแล้ว
           ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงความเชื่อของพระราหู
ชาวลาวเวียงเชื่อว่า พระราหู เป็น เทพผู้ทรงศีล สามารถทำให้เกิดความปลอดภัยแคล้วคลาด โดยชาวบ้านจะมีการพกพาพระราหูไว้กับตัวอยู่เสมอ ความเชื่อเรื่องราหูนั้นได้กลายเป็นเอกลักษณ์ของชาวศีรษะทองไปเสียแล้ว
           จากการศึกษาพบว่าความเชื่อเรื่องราหูนั้นน่าจะมีการแพร่กระจายเมื่อสมัยหลวงพ่อน้อย ที่มีการให้ลูกศิษย์แกะสลักกะลาตาเดียว ทำให้ผู้คนเริ่มรับรู้ว่าพระราหูคือของชุมชนศีรษะทอง ส่วนเรื่องพิธีกรรมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากสมัยหลวงพ่อน้อยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ราหูนั้นยังเป็นสิ่งที่เชื่อกันเช่นเดิมว่าจะชวยในเรื่องของความปลอดภัยและเมตตามหานิยมอีกด้วย
           เมื่อ 5 ปีก่อนนั้นมีการนำความเชื่อเรื่องราหูเข้ามาเป็นกระแสใหม่ นั่นคือมีการสร้างรูปราหูองค์ใหญ่และสร้างรูปปันเจ้าอาวาสองค์ก่อนที่สืบทอดความเชื่อเรื่องราหู โดยมีการตกลงกันระหว่างหลวงพ่อมานิตย์เจ้าอาวาส กับกรรมการวัด และในช่วงเวลานี้เองที่ถือเป็นการดึงดูดผู้ที่สนใจจากภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะคนในกรุงเทพทีเข้าบูชาพระราหูทำให้พระราหูในวัดศีรษะทองนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจและโชคลาภ เพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคลภายนอก ต่างจากชาวพระราหูของชาวลาวเวียงที่มองในเรื่องของความปลอดภัยและเมตตามหานิยม
           เรื่องการสวดนพเคราะห์นั้น เป็นการสวดเพื่อโชคชะตาราศี โดยเป็นพิธีการที่มีมานานแล้วในศาสนาพุทธ แต่มีการนำความเชื่อเกี่ยวกับพระราหูเข้าไปด้วย โดยมองว่าพระราหูจะช่วยให้เรื่องร้ายกลายเป็นดีได้ เป็นต้น ซึ่งพิธีดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวบ้านทุกเพศทุกวัย
           ส่วนเครื่องไหว้ของดำ 8อย่างนั้น เป็นสิ่งที่ได้เกิดขึ้นใหม่ ทางวัดได้เป็นคนจัดเตรียมเครื่องของดำนี้เอาไว้ แล้วคิดราคาอาหารดังกล่าวจากญาติโยมที่ต้องการถวาย โดยส่วนนี้มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งต่อต้านว่าพระไม่ควรใส่ใจเรื่องวัตถุและการค้า จึงนำอาหารที่เคยถวายพระราหูไปถวายเช่นเดิมต่อไป ความเชื่อเรื่องราหูนั้นเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของความเปลี่ยนแปลง คือมีการรับรู้ความเชื่อราหูจากอดีตที่มาจากเวียงจันทน์และคามเชื่อตามความหมายใหม่ ดังนั้นบทต่อไปจะกล่าวถึงสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงความเชื่อเรื่องราหู

Text Analyst สุร แก้วเกาะสะบ้า Date of Report 27 พ.ค. 2562
TAG ลาวเวียง, พระราหู, การกลมกลืนทางวัฒนธรรม, นครปฐม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง