สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ขมุ,วิถีชีวิต,ความเชื่อ,การตั้งถิ่นฐาน,แรงงานรับจ้าง,การอพยพ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
Author บุญช่วย ศรีสวัสดิ์
Title ข่า
Document Type บทความ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity กำมุ ตะมอย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) Total Pages 37 Year 2545
Source ชาวเขาในไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2506 โดย สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์)
Abstract

          ข่าในอดีตมีบทบาทในการเป็นข้าทาสรับใช้เจ้าลาวแต่โบราณ ส่วนพวกข่าม้อยในเวียดนามอยู่ในดินแดนนี้มากว่า 5,000 ปี ก่อนที่พวกจามเข้ามาอยู่ในเวียดนามตอนกลาง และก่อนที่ไทยและลาวจะอพยพลงมาจากจีนตอนใต้ หากถือภาษาเป็นเกณฑ์แบ่งตระกูลแล้ว ข่าเม่ดกับข่ามุ และข่าอื่น ๆ ถือเป็นคนละตระกูล แต่มีถ้อยคำตรงกันหรือคล้ายคลึงกันอยู่หลายคำ แต่ภาษาของข่าเม่ดจัดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมรเช่นเดียวกับพวกข่ามุและละว้า ข่ามุพูดภาษาข่ามุ ซึ่งแตกต่างจากพวกข่าอื่น ๆ เล็กน้อย เมื่อเข้ามาอยู่ในไทยนานเข้าก็พูดภาษาไทยภาคเหนือได้ ข่าถินหรือไผ่ ภาษาคล้ายพวกข่ามุและละว้า จัดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร

           เมื่อข่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักแต่งกายและสร้างบ้านเรือนตามอย่างชาวชนบททางภาคเหนือ ข่าที่อยู่อาศัยห่างไกลออกไปตามป่าลึกยังคงรักษาขนบธรรมเนียม การแต่งกาย การสร้างบ้านเรือนและวิถีชีวิตแบบข่าในประเทศลาวไว้ ส่วนข่าที่เข้ามาทำงานในไทยมักปกปิดว่าตนเป็นข่า แต่จะเรียกตนเองว่า "ไทยใหม่" ข่ารอบเมืองหลวงชอบให้เรียกตนเองเป็น "ลาวเทิง" หรือ "ชาวลาวบน" ข่ามุที่เข้ามาเป็นแรงงานรับจ้าง เมื่อมาอยู่นานเข้าก็ปรับเปลี่ยนการแต่งกาย และการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยดีขึ้น ทั้งยังพูดภาษาถิ่นนั้น ๆ ได้ จากเดิมที่เคยนับถือผีตามความเชื่อดั้งเดิมก็หันมานับถือศาสนาพุทธและคริสต์ แต่ไม่สร้างวัดวาอารามไว้ในหมู่บ้าน

Focus

เน้นศึกษาสภาพวิถีชีวิต วัฒนธรรมความเชื่อของข่าในไทย

Theoretical Issues

ไม่มีข้อมูล

Ethnic Group in the Focus

ข่าในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือและภาคกลาง เช่น ข่ามุ ข่าถิน ข่าฮอ และข่าเม่ด

Language and Linguistic Affiliations

          ข่ามุพูดภาษาข่ามุซึ่งต่างจากพวกข่าอื่น ๆ เล็กน้อย เมื่อเข้ามาอยู่ในไทยนานเข้าก็พูดภาษาไทยภาคเหนือได้ (หน้า 146)

          ในลาวเหนือมีข่ามุมากกว่าข่าอื่น จึงใช้ภาษากลางระหว่างข่าด้วยกัน ภาษาอื่นที่ผู้ชายพูดได้คือ ภาษาลื้อและลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง พวกที่อยู่ในเขตไทยพูดภาษายวน (ภาษาเหนือ) ทั้งยังพูดภาษาคนเมืองได้ (หน้า 156) 

          หากถือภาษาเป็นเกณฑ์แบ่งตระกูลแล้ว ข่าเม่ดกับข่ามุ และข่าอื่น ๆ เป็นคนละตระกูล แต่มีถ้อยคำตรงกันหรือคล้ายคลึงกันอยู่หลายคำ ภาษาของข่าเม่ดจัดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมรเช่นเดียวกับพวกข่ามุและละว้า (หน้า 162) ส่วนข่าถินหรือไผ่ ภาษาคล้ายพวกข่ามุและละว้า จัดอยู่ในตระกูลมอญ-เขมร (หน้า 167) 

          ในขณะที่ภาษาของข่าฮอ (ข่าฮอก) ต่างไปจากข่ามุ (หน้า 174)

Study Period (Data Collection)

ไม่มีข้อมูล

History of the Group and Community

          พงศาวดารของหลวงพระบางเล่าว่า ขุนลอยกทัพมาชิงเมืองชะวาจากพวกข่ากันฮางขับหนีไปอยู่ตามป่าเขาเมืองหลวงภูคา จากนั้นมาข่าต้องตกเป็น "ข้า" เป็นทาส ต้องส่งส่วยพืชไร่และแรงงานให้เจ้าเมืองหลวงพระบาง ธรรมเนียมเดิมพวกข่ามีบทบาทในการเป็นข้าทาสรับใช้เจ้าลาวแต่โบราณ ส่วนพวกข่าม้อยในเวียดนามอยู่ในดินแดนนี้มากว่า 5,000 ปี ก่อนที่พวกจามเข้ามาอยู่ในเวียดนามตอนกลาง และก่อนที่ไทยและลาวจะอพยพลงมาจากจีนตอนใต้ ข่าม้อยเป็นมิตรกับจามและเคยร่วมต่อสู้กับกองทัพจีน ในปี ค.ศ.420 ฝ่ายเยืองมายกษัตริย์จามได้นำกองทัพช้าง 500 เชือกของข่าม้อยออกรบพุ่งกับจีนจนแตกพ่าย แต่ภายหลังกลับหลงกลกองทัพจีน จนกษัตริย์จามต้องพ่ายแพ้เสียเมืองจำปา (เลิมเอิ๊บ) ให้แก่ก่องทัพจีน (หน้า 139-140) 

         เมื่อ พ.ศ.2114 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ลาวได้ยกกองทัพไปปราบปรามข่าในแขวงเมืองอัตปือ สารวันและนครจำปาศักดิ์ แทนที่จะประสบชัยชนะกลับถูกกลลวงพวกข่า ตกอยู่ในที่ล้อมระหว่างช่องเขาถูกข่าโจมตีแตกพ่ายย่อยยับ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชเสด็จหนีเข้าป่าหายสาบสูญ บ้างก็เชื่อว่าพวกข่าจับตัวไป ข่าในแขวงอัตปือของลาวตอนใต้ เคยร่อนทองคำส่งส่วยให้เจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมาร เมื่อสมัยที่จำปาศักดิ์ขึ้นต่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ต่อมามีการส่งส่วยทองคำเพิ่มให้ไทยสมัยพระราชวงศาเป็นเจ้าเมืองอัตปือ สมัยก่อนบรรดาเจ้าทางแถบอีสานมักจับข่ามาซื้อขายเป็นทาสรับใช้ เป็นธรรมเนียมไพร่ข่ามาประกาศยกเลิกเมื่อ พ.ศ.2327 กษัตริย์ไทยเห็นว่าเป็นเรื่องโหดร้ายทารุณ พวกข่าเมืองอัตปือจึงเป็นอิสระไม่ต้องตกเป็นทาสไทยลาวอีก (หน้า 141-142)

Settlement Pattern

          ข่านิยมสร้างบ้านเรือนแบบชาวชนบททางภาคเหนือ บางหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลตามป่าลึกยังคงสร้างบ้านเรือนแบบข่าในประเทศลาว (หน้า 143) ข่ามุเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยติดพรมแดนลาวที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย อ.ทุ่งช้าง อ. ปัว จ.น่าน มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 25 หมู่บ้าน (หน้า 145) 

          ข่ามุเมืองหลวงน้ำทา เวียงภูคา เมืองไซ และปากแบ่ง นิยมปลูกเรือนตามที่ลาดเชิงเขา ไม่นิยมอยู่บนยอดเขาสูง เนื่องจากอากาศหนาวจัด บางหมู่บ้านตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบติดตีนเขา หมู่บ้านมีจำนวน 20 - 50 หลังคาเรือน ทางเข้าหมู่บ้านหัวท้ายมีประตูผีเรียกว่า "อังกืน" สร้างจากเสาไม้จริง 2 ท่อน มีไม้พาดขวางด้านบน ข้างเสาประตูผีของหมู่บ้าน มีท่อนไม้เป็นศีรษะมนุษย์ฝังดินไว้สูงจากพื้นประมาณ 2 ฟุต เรียกว่า "จะลังคัต" มีศาลาหลังเล็กกลางหมู่บ้านสำหรับประกอบพิธีเซ่นไหว้ผี นอกจากนี้ยังมีศาลผีในป่า ตั้งอยู่บนเนินเขาเรียกว่า "เจ้าหอ" เป็นที่สำหรับผีเมือง หากมีพิธีเลี้ยงผีหมู่บ้านก็จะปักเฉลวบอกไว้ โดยการนำกิ่งไม้มาปักข้างทางแล้วปิดเครื่องหมายเฉลว เป็นสัญลักษณ์ว่าห้ามคนของหมู่บ้านอื่นเข้ามาสู่หมู่บ้านตน (หน้า 151, 152) ข่าถือเคล็ดลางในการปลูกสร้างบ้านเรือน และนิยมดูทิศทางทำเลที่ตั้งให้ถูกต้องตามเคล็ดลางเสมอ (หน้า 153) 

         ข่ามุ ปลูกสร้างกระต๊อบหลังเล็ก ๆ ด้วยไม้ไผ่ ขนาดพออาศัยหลับนอนและหุงหาอาหาร ไม่นิยมสร้างบ้านใหญ่โตกว้างขวาง บางหลังปลูกติดพื้นดิน ยกพื้นเพียงที่นอน บางหลังยกพื้นสูง 1- 2 เมตร ยิ่งตั้งบ้านเรือนบนเขาที่ห่างไกลมากเท่าไร บ้านเรือนที่สร้างก็ยิ่งเล็กลง มีเตาไฟอยู่ตรงกลาง ใช้ผิงให้ความอบอุ่นและใช้เป็นที่ทำอาหาร บ้านไม่มีหน้าต่างหรือช่องระบายลม บริเวณใต้ถุนใช้เป็นที่เก็บฟืน หรือเป็นเล้าไก่ มีหิ้งบูชาผีเรือนในห้องนอน (หน้า 148-150)

         ข่าเม่ด มักเลือกตั้งบ้านเรือนตามป่าทึบ ติดภูเขาหรือไหล่เขาที่ไม่สูงนัก มีทำเลใกล้แหล่งน้ำ ข่าเม่ดชอบโยกย้ายถิ่นอยู่เสมอ หากพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้ผลหรือเกิดโรคระบาด จะตั้งศาลผีไว้ข้างทางก่อนถึงหมู่บ้าน ถัดจากศาลผีมีหลักผี รอบเสาไม้หลักนี้มีเสาเล็ก ๆ ปักล้อมรอบ มักเลือกทำเลที่ตั้งในพื้นที่เป็นลูกคลื่นสูง ๆ ต่ำ ๆ สร้างบ้านไม่มีรั้ว ตัวบ้านปลูกเป็นกระท่อมหลังเล็ก ติดพื้นดิน สองข้างยกร้านเป็นที่นอน มีเตาไฟอยู่กลางบ้าน บ้านมุงหลังคาด้วยใบหวาย ใบคาหรือใบก้อ (หน้า 162)

         ข่าถิน นิยมสร้างบ้านเรือนหลังเล็ก ๆ ทำจากไม้ไผ่ ปลูกตามที่ลาดตีนเขา ใกล้หมู่บ้านของชาวเหนือ อีกพวกหนึ่งนิยมตั้งบ้านเรือนบนไหล่เขาสูงตามพรมแดนไทย-ลาว กลางป่าทึบ แปลนบ้านเป็นรูปสีเหลี่ยมขนมเปียกปูน ปลูกสร้างใหญ่โตกว้างขวาง ทำเป็นโรงเรือนยาวมีช่องทางเดินตรงกลาง กั้นเป็นห้อง ๆ สองฝั่งเป็นที่อยู่ของแต่ละครอบครัว บางหมู่บ้านมีบ้านพักรับรองแขก หมู่บ้านข่าถินจะช่วยกันปลูกสร้างบ้านเรือน และอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย (หน้า 167-169)

         ข่าฮอ (ข่าฮอก) เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณเมืองหลวงภูคา กองภูคา ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับที่พวกข่ามุอาศัยอยู่ ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านทางทิศตะวันตกของ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน จำนวน 29 หลังคาเรือน โดยปลูกสร้างบ้านหลังเล็ก ๆ อยู่ และมักนิยมโยกย้ายถิ่นอยู่เสมอ ข่อฮอในไทยปลูกสร้างบ้านเรือนตามที่ลาดตีนเขา ไม่นิยมอยู่ตามป่าตามเขาสูงอย่างข่าถิน (หน้า 173-174)

Demography

          ข่าบางกลุ่มอาศัยอยู่ตามป่าเขาชายแดนภาคอีสาน ต่อมาภายหลังได้อพยพไปอยู่ในเขตลาวกลายเป็นคนชนบท ปัจจุบันมีข่าอยู่ตามป่าแถบอำเภอมุกดาหาร จ.นครพนม นอกจากนี้ยังพบข่ามุอาศัยอยู่ใน 8 หมู่บ้านเขตอ.เชียงของ จ.เชียงราย 

          ข่าถิน ข่อฮอและข่ามุพบในเขต อ.ปัว อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีข่าเม่ดจำนวนไม่น้อยที่มารับจ้างทำงานในเขต จ.เชียงราย ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ น่าน (หน้า 142-143)

          สำหรับข่ามุซึ่งเข้ามาตั้งบ้านเรือนในไทยติดพรมแดนลาวประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา มีจำนวน 25 หมู่บ้านโดยประมาณ มีจำนวนประชากรราว 4,500 คน (หน้า 145)

         ข่าเม่ดที่เข้ามาเป็นคนงานรับจ้างตามชายแดนภาคเหนือของไทยใน อ.เชียงแสน เชียงของ แม่จัน จ.เชียงราย มีจำนวนประชากรประมาณ 200 คน หมู่บ้านหนึ่ง ๆ มีบ้านเรือน 10 - 20 หลังคาเรือน (หน้า 161,162) 

         ข่าถินมีจำนวนประชากร 16,000 คน ซึ่งมากกว่าข่ามุใน จ.น่าน เนื่องจากเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมานานถึง 35 ปีมาแล้ว โดยอพยพมาจากเขตไชยะบุรี (หน้า 167) 

          ใน 2 ตำบลของ อ.ปัว จ. น่าน มีข่าถินอาศัยอยู่ในหลายหมู่บ้านรวมทั้งสิ้นประมาณ 6,000 คน (หน้า 171) ข่าฮอกเข้ามาตั้งหมู่บ้านเพียงหมู่เดียวใน อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน มีจำนวนทั้งสิ้น 29 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 200 คน (หน้า 173)
  

Economy

          ข่าอพยพเข้ามาอยู่ในไทยเนื่องจากทำมาหากินฝืดเคือง และมักถูกเกณฑ์ไปใช้งานราชการ ข่ามุและข่าเม่ดจากประเทศลาวอพยพเข้ามาเป็นแรงงานค่าแรงต่ำให้กับชาวต่างชาติที่ได้สัมปทานป่าไม้ทางภาคเหนือ 

          นอกจากนี้ยังประกอบอาชีพคนงานตามไร่ยาสูบ ทำสวน ขุดดิน ถางหญ้า ตัดไม้ตามโรงงานต่าง ๆ เช่น โรงเลื่อย โรงสี โรงบ่มใบยาสูบ เป็นต้น ข่ามุส่วนใหญ่ที่เป็นแรงงานรับจ้าง มีอายุตั้งแต่ 10-25 ปี มีสัญญาทำงาน 1-2 ปี พอหมดสัญญาว่าจ้างรายปีก็มักเดินทางกลับถิ่นเดิม ต่อมาก็ตั้งตนเป็น "นายฮ้อย" หรือหัวหน้าชักชวนคนในหมู่บ้าน รวบรวมมา 20-30 คนเดินทางมารับจ้างทำงานทางเหนือ บ้างก็มอบเป็นค่ามัดจำตัวล่วงหน้าไว้กับบิดามารดาซึ่งมีฐานะยากจน ทำไร่ข้าวไม่พอรับประทานจนต้องขุดเผือกขุดมัน หากครบ 1 ปี นายฮ้อยไม่นำบุตรหลานกลับบ้านจะมีการปรับไหม

          นายฮ้อยมักพาข่ามุหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ลาวข้ามฝั่งโขงมารับจ้างตามจังหวัดชายแดนทางเหนือ มีรายได้จากการพาตัวมาเป็นเงินเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน ข่ามุและข่าเม่ดบางรายรับจ้างทำงานถาวรตามโรงงาน โรงสี โรงบ่ม ขับรถยนต์โดยสาร เป็นต้น ตามภาคเหนือและจังหวัดพระนคร (หน้า 145-147)

Social Organization

          ข่ามุมีการเกี้ยวพาราสีกันในงานปีใหม่ และมีประเพณีเที่ยวสาว หรือ "ที่ข่วง" ไม่มีการเขียนจดหมายรักหรือเที่ยวสาวในเวลากลางวัน บิดามารดาให้อิสระในเรื่องคู่ครอง มีการเสียค่าสินสอดทองหมั้นในการสู่ขอ มีการจัดพิธีแต่งงานโดยหมอผี บิดามารดากับผู้เฒ่าในหมู่บ้านทำพิธีผูกข้อมืออวยพรคู่บ่าวสาว แล้วเลี้ยงสุรา

          ตามธรรมเนียมชายชาวข่าต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง และไปช่วยงานบิดามารดาของฝ่ายหญิงจนมีบุตรด้วยกัน 1 คน จึงนำภรรยากลับไปอยู่บ้านตน มีการจัดพิธีรับขวัญสะใภ้เข้าบ้าน หญิงภรรยาต้องปรนนิบัติพ่อแม่สามีจะกลับไปเยี่ยมบ้านได้บางเวลาเท่านั้น หากฝ่ายชาย มีฐานะดีเสียค่าสินสอดมาก ก็สามารถนำหญิงไปอยู่บ้านตนได้ 

การหย่าร้างไม่ค่อยพบ เนื่องจากมีการเสียค่าปรับไหมสูง แต่ชายมีภรรยา 2 คนได้ ข่ามุเมืองหลวงภูคาชายเสียค่าปรับสูงกว่าฝ่ายหญิง ส่วนข่ามุเมืองไซ นอกจากชายต้องเสียค่าปรับแล้วยังต้องฆ่ากระบือเซ่นผีอีก 1 ตัว ข่ามุมักไม่ให้เกียรติและสิทธิแก่ภรรยาของตน หน้าที่ทุกอย่างในบ้านเป็นงานของฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจึงสบายกว่าฝ่ายหญิง (หน้า 153-155)

Political Organization

         ในสังคมนับถือผีแบบข่าถือว่า "หมอผี" เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ และการรักษาโรค ในขณะเดียวกันก็มีตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านซึ่งทุกคนต้องเคารพเชื่อฟัง ทำหน้าที่ติดต่อบุคคลภายนอก ผู้ที่หัวหน้าหมู่บ้านข่าถินให้ความเคารพเชื่อฟังคือ กำนัน อย่างไรก็ดี สังคมข่าถินไม่ไว้วางใจบุคคลภายนอกหมู่บ้าน แม้จะเป็นพวกที่รักสงบ (หน้า 170-171)

Belief System

          ข่ามุนับถือผีเรือน ผีหมู่บ้าน ผีเมือง ผีน้ำ ผีป่า มีหิ้งบูชา "พานเอีย" (ผีเรือน) อยู่ในห้องนอน ตั้งเครื่องเซ่น มักทำพิธีเลี้ยงผีหมู่บ้านกันในเดือน 6 จัดพิธีเซ่นผีที่ศาลากลางหมู่บ้าน โดยปิดเฉลวห้ามหมู่บ้านอื่นเข้ามาหมู่บ้านตน 3 วัน (หน้า 151)

          นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงผีเมืองที่ศาลผีในป่าบนเนินเขาเรียกว่า "เจ้าหอ" ทุก ๆ 3 ปีจะมีการฆ่ากระบือเซ่นผีเมือง และเซ่นผีไร่เมื่อจะปลูกข้าว ข่ามุในไทยหันมานับถือศาสนาพุทธและคริสเตียนบ้าง แต่ไม่มีวัดเมื่อจะทำพิธีก็มักนิมนต์พระสงฆ์หมู่บ้านอื่นมาทำพิธี แต่ส่วนใหญ่ยังคงยึดอยู่กับคติความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณ รวมถึงจารีตประเพณีแบบดั้งเดิมที่สืบต่อกันมา มีความเชื่อถือเรื่องเคล็ดลางปรากฏผ่านพิธีกรรม เช่น พิธีการสร้างบ้านเรือนมีการใช้ใบไม้จุ่มน้ำสาดไล่ความซวย พิธีผูกข้อมือร่ายเวทมนตร์คาถาเพื่อเรียกขวัญให้แก่สมาชิกในบ้านช่วงปีใหม่ หากมีคนในครอบครัวผู้ตายเจ็บป่วยหลังจัดงานศพ ต้องฆ่าหมู ไก่หรือแพะเซ่นผีเป็นการขอร้องมิให้มารบกวน จึงอาจกล่าวได้ว่า หมอผีหรือหมอเวทมนตร์มีบทบาทสำคัญทางสังคมตามจารีตแบบดั้งเดิม (หน้า 152-153, 157) 

          ข่าเม่ดนับถือผีเช่นเดียวกับข่ามุ ยามเจ็บป่วยจะมัดมือด้วยเส้นด้ายเรียกขวัญ และมีการเชือดคอไก่ นำเลือดไก่มาหยดทาที่หัวเข่าผู้ป่วย ส่วนผีเรือนมักเซ่นด้วยข้าวสุก หรือหากมีคนเจ็บป่วยจะเซ่นด้วยไก่ ผีหมู่บ้านหรือผีหลวงมักเซ่นปีละครั้งด้วยกระบือหรือหมูตามแต่จารีตของแต่ละหมู่บ้าน ทั้งยังมีการปักห้อยธงทิวและกระดาษสีตามชายคาศาลผีของหมู่บ้าน ระหว่างงานเลี้ยงผีหมู่บ้านจะมีการปักเฉลวกลางทางเข้าหมู่บ้านเพื่อห้ามคนต่างถิ่น (หน้า 163-164)

Education and Socialization

          เมื่อข่ามุเข้ามาทำมาหากินในประเทศไทย เป็นแรงงานรับจ้างก็เกิดการเรียนรู้และปรับตัวด้านการแต่งกาย การดูแลทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดขึ้น ทั้งยังพูดภาษาไทยภาคเหนือได้ เมื่อกลับไปบ้านถิ่นฐานเดิมก็มีสิ่งของ เสื้อผ้าไปให้คนทางบ้าน ทำให้เพื่อบ้านเกิดการเรียนรู้ว่า หากส่งบุตรหลานมาเป็นแรงงานรับจ้างก็จะเป็นการยกระดับฐานะขึ้น ในขณะที่ข่ามุที่เคยทำงานมาก่อนก็ยกฐานะตัวเองขึ้นเป็นหัวหน้าหรือ "นายฮ้อย" ชักชวนรวบรวมคนในหมู่บ้านเป็นกลุ่มเข้ามารับจ้างทำงาน

          ข่ามุบางคนหากินด้วยการเป็นนายหน้าจัดหาแรงงาน โดยหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่ฝ่ายลาวเข้ามารับจ้างทำงานตามจังหวัดชายแดนภาคเหนือของไทย โดยที่ตัวนายฮ้อยมีรายได้จากการพาตัวมาเป็นค่าจ้างแทน เมื่อข่ามุเห็นว่าในไทยหากินสะดวกก็ชักชวนกันอพยพเข้ามา เปลี่ยนแปลง ปรับตัวแต่งกายเลียนแบบคนในท้องถิ่นใกล้เคียง (หน้า 145 -147)
  

Health and Medicine

          ยามเจ็บป่วยข่ามุมักฆ่าไก่เซ่นผีเรือน และใช้รากไม้ สมุนไพรต้ม ทาตัว รมควัน ผิงแดด ผิงไฟ และผูกข้อมือเรียกขวัญ สะเดาะเคราะห์ตามแต่หมอผีในหมู่บ้านจะแนะนำ แต่มักยึดผีเป็นที่พึ่ง (หน้า 156-157) ส่วนข่าเม่ดหากมีคนเจ็บป่วย แล้วหมอผีบอกว่าผีเรือนโกรธเคืองก็ต้องเซ่นด้วยไก่ (หน้า 163) 

          ข่าเม่ดมีฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างอัตคัด และมีสุขภาพอนามัยไม่ดีนัก มักเจ็บป่วยเป็นไข้มาลาเรียเสมอเนื่องจากไม่มีผ้าห่มที่นอนหมอนมุ้ง เมื่ออากาศเย็นก็มักผิงไฟ เด็กจึงเสียชีวิตมากกว่าผู้ใหญ่ (หน้า 165) ข่าถินในยามเจ็บป่วยจะใช้การบนบานศาลกล่าว ไม่มีสถานีอนามัยและแพทย์แผนปัจจุบันหาได้ยาก สภาพภูมิประเทศที่อยู่บนไหล่าเขาสูง ทำให้การป่วยด้วยเชื้อไข้มาลาเรียมีน้อย ประกอบกับสุขลักษณะในการรับประทานอาหาร มีการปรุงให้สุกด้วยวิธีต่าง ๆ ก่อน จึงทำให้คนแก่มีอายุยืน (หน้า 169) ส่วนข่าฮอไม่มีรายละเอียด

Art and Crafts (including Clothing Costume)

          ในสมัยที่รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสทางภาคอีสาน พบข่าเมืองกุสุมาลย์ จ.สกลนคร ชายนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อผ่าอกแขนยาวสีดำ มาเข้าเฝ้าพร้อมจัดแสดงการรำกระแทกกระบอกไม้และการดูดเหล้าอุ (หน้า 142) ข่ามุดั้งเดิมขาดแคลนเครื่องนุ่งห่ม ในฤดูร้อนข่ามุนิยมเปลือยกายท่อนบนอยู่กับบ้าน (หน้า 149) 

          การแต่งกายของข่ามุหญิงนิยมใช้เสื้อสีดำสั้นเหนือเอว แขนยาว ขลิบแถบสีแดงเล็ก ๆ ริมคอเสื้อ ผ่าอก นิยมนุ่งผ้าซิ่นลายสีดำ-แดง หญิงทุกคนเจาะหู ใส่ลานเงินหรือตุ้มหู นิยมนำยางไม้มาย้อมฟันให้มีสีดำเงา สวมเครื่องประดับจำพวกสร้อยลูกเดือย หินลูกปัด ห่วงคอโลหะเงินกลม กำไลแขนเงิน ข่ามุชายแต่เดิมนิยมสักหมึกตามร่างกาย บ้างก็แต่งกายให้เข้ากับท้องถิ่นนั้น ๆ ข่ามุหญิงแต่เดิมนิยมสักดอกจันไว้ที่หลังมือ ปัจจุบันไม่นิยมแล้ว ทรงผมชายแต่เดิมนิยมไว้ผมยาวเกล้ามวยกลาง มีผ้าโพกศีรษะ ปัจจุบันตัดสั้น สวมเสื้อกุยเฮงสีดำผ่าอกตรงกลาง นุ่งกางเกงขายาวใต้หัวเข่า หญิงนิยมไว้ผมมวยเกล้าไว้ข้างหลัง มีแผ่นผ้าพันรอบมวยประดับกระดุมเปลือกหอยผูกห้อยเหรียญเงิน (หน้า 150) 

          การแต่งกายของข่าเม่ด คนแก่ชายในถิ่นทุรกันดารจะใช้ผ้าสีดำปิดที่ลับ มีผ้าพันรอบเอว ตวัดชายพกปล่อยให้ห้อยลงมาคืบเศษเรียกว่า "เตี่ยวแอ้ง" มักไว้ผมยาวเกล้ามวยโพกผ้าแดง ปัจจุบันชายหนุ่มข่าเม่ดนิยมแต่งกายแบบชายไทยลื้อ สวมชุดเสื้อกางเกงสีดำ หญิงนุ่งซิ่นสีดำสั้นแค่เข่า เสื้อดำขอบริมสีแดง เจาะหูเสียบดอกไม้แดงหรือต่างหูเงิน สวมกำไลข้อมือ ห่วงโลหะหรือขดทองเหลืองประดับรอบคอ สักหมึกตามร่างกายบางแห่ง (หน้า 163) 

          การแต่งกายของข่าฮอ (ข่าฮอก) แต่เดิมชายมักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่า ๆ ใช้ผ้ากว้างคืบเศษปิดบริเวณที่ลับห้อยลงไป หญิงนุ่งผ้าซิ่นสั้นเหนือเข่า ชอบเปลือยอกอยู่กับบ้าน มวยผมไว้ที่ท้ายทอย (หน้า 173) 

          เครื่องดนตรี ข่าเม่ดจะใช้กลองยาว ฆ้อง ฉาบ กลองมโหระทึก หรือใช้ไม้หลุ้ง (กระบอกไม้ไผ่กระทุ้งพื้นดินให้เกิดเสียงดัง) ในงานพิธีต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เช่น งานแห่ศพ พิธีเลี้ยงผีและงานกินข้าวใหม่ (หน้า 163) 

          นอกจากนี้ยังมีกลองมโหระทึก หรือ "กลองขงเบ้ง" กะเหรี่ยงเรียกว่า "ก้องกบ" แบบเดียวกับกลองละว้า ทำจากโลหะทองเหลืองมีรูปกบและลวดลาย เวลาตีจะมีเสียงดัง "โปง-โปง" ในงานปีใหม่มีการเป่าแคน ดีดเปีย ตีฆ้องกลอง มีการร้องเพลงเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหญิง ในการเที่ยวสาว "ข่วง" ชายหนุ่มจะดีดเปีย ร้องเพลงหรือเป่าแคนอย่างชาวลาวระหว่างเดินทางมาบ้านหญิงสาว ในพิธีแต่งงาน จะมีวงดนตรีประโคมนำไปบ้านเจ้าสาว มีการร้องเพลง "เติม" อวยพรและเต้นรำกระแทกกระบอกไม้ ในงานพิธีปลูกสร้างเรือนใหม่ ก็มีการเล่นดนตรีร้องเพลง เต้นรำกระแทกกระบอกไม้เป็นจังหวะ หนุ่มสาวมักร้องเพลงเล่นดนตรีกันจนดึกดื่น 
(หน้า 153,154156,165)

Folklore

          พงศาวดารเชียงตุงซึ่งตรงกับตำนานเมืองสิบสองจุไทยเล่าว่า มนุษย์ 5 คู่ออกมาจากผลน้ำเต้าปุง ข่าออกมาเป็นคู่แรกแถบเดียนเบียนฟูหรือเมืองแถง แต่ไม่ยอมอาบน้ำชำระร่างกายที่หนองน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าหากผู้ใดอาบน้ำที่หนองฮกหนองฮายแล้ว จะมีร่างกายผ่องใส สติปัญญาเฉลียวฉลาด ข่าจึงมีผิวดำเตี้ย เป็นต้นกำเนิดของข่าและพวกม้อยในลาวและเวียดนาม พงศาวดารเมืองยองเล่า พญาลกยกไปตีหัวเมืองต่าง ๆ รวมถึงเมืองเชียงรุ้งของไทยลื้อ ต่อมาพ่ายแพ้แก่โอรสเจ้าฟ้าเมืองเชียงรุ้ง จึงพากันหนีไปในเขตลาวกลายเป็นพวกข่า (ข้า) ต่าง ๆ เช่น ข่ามุ ข่าเม่ด ข่าฮอก ข่าเพน ฯลฯ (หน้า 103-104, 140-141) 

          อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า มีกบยักษ์ 2 ผัวเมียชื่อ "ยาถำ" กับ "ยาไถ่" จับสัตว์ป่ากินเป็นอาหาร ต่อมากบผัวเมียได้จับมนุษย์มากินเป็นอาหาร แล้วนำหัวกะโหลกใส่ตะกร้ามาแขวนบนเสาเมื่อทั้งคู่แก่ชราลงได้ไปดักเอาหลานของตนมากินเป็นอาหาร บรรดาบุตรชายทั้งเก้าปรึกษากัน แล้วก็พร้อมใจจับเอายาถำกับยาไถ่บิดามารดามาฆ่ากิน เกิดเป็นธรรมเนียมฆ่าบิดามารดาเมื่ออายุมากสืบต่อกันมา มีการสร้างกลองทองเหลืองทรงกลมมีรูปกบเกาะอยู่ริมกลอง เพื่อเป็นที่ระลึกว่าพวกข่ามีบรรพบุรุษเป็นกบ กลองนี้กะเหรี่ยงและข่าในลาวใช้ พม่าเรียก "กลองปะชี " แปลว่า "กลองกบ" ส่วนไทยเรียกกลองนี้ว่า "กลองมโหระทึก" (หน้า 106 -107)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          ข่าเม่ดมีรูปร่างลักษณะผิวพรรณคล้ายคลึงข่ามุ (หน้า 161) ข่าถินมีเอกลักษณ์ของเผ่าคือ มักมีนิสัยค่อนข้างเชื่องช้า ไม่นิยมสะสมอาหารไว้รับประทานและมักใช้ชีวิตไปตามยถากรรม แต่ในเผ่าไม่มีการลักขโมย ทำร้ายฆ่าฟัน ทะเลาะวิวาทหรือตลบตะแลงกัน มักอยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย เมื่อหาได้ก็แบ่งปันช่วยเหลือกัน สีเครื่องแต่งกายมักใช้สีดำเป็นพื้น บางคนใช้สีแสดงสัญลักษณ์ประจำเผ่า เช่น สวมเสื้อดำผ่าอก มีแถบผ้าลายแดงเหลือง (หน้า 168-170)
  

Social Cultural and Identity Change

          เมื่อข่าเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักแต่งกายและสร้างบ้านเรือนตามอย่างชาวชนบททางภาคเหนือ เช่น ข่ามุ ข่าถิน ข่าเม่ดและข่าฮอ ข่าที่อยู่อาศัยห่างไกลออกไปตามป่าลึกยังคงรักษาขนบธรรมเนียม การแต่งกาย การสร้างบ้านเรือนและวิถีชีวิตแบบข่าในประเทศลาวไว้ ข่าที่เข้ามาทำงานในไทย ตั้งบ้านเรือนและได้ภรรยาเป็นชาวเหนือมักปกปิดไม่แสดงอัตลักษณ์ว่าตนเป็นข่า แต่จะเรียกตนเองว่า "ไทยใหม่" ข่ารอบเมืองหลวงชอบให้เรียกตนเองเป็น "ลาวเทิง" หรือ "ชาวลาวบน" (หน้า 143) 

          ข่ามุที่เข้ามาเป็นแรงงานรับจ้าง เมื่อมาใหม่ๆ ยังไม่รู้จักขนบธรรมเนียม ก็มักแต่งกายสกปรกมอมแมมด้วยเสื้อผ้าสีดำ เมื่ออยู่นานเข้าก็เปลี่ยนแปลงไปแต่งกายสะอาดขึ้นและมีความเฉลียวฉลาดขึ้น ทั้งยังพูดภาษาถิ่นนั้นๆ ได้ ข่ามุที่อยู่ใกล้ชาวไทยลือก็แต่งกายคล้ายชาวไทยลื้อ อยู่ใกล้หมู่บ้านชาวลาวก็แต่งกายแบบลาว อยู่ใกล้หมู่บ้านชาวเหนือก็แต่งแบบชาวเหนือ เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และคริสเตียน แต่ไม่สร้างวัดวาอารามไว้ในหมู่บ้าน ใช้วิธีนิมนต์สงฆ์จากหมู่บ้านใกล้เคียงมาทำพิธีแทน บ้างก็ชักชวนบิดามารดาญาติพี่น้องอพยพเข้ามาอยู่ในพรมแดนด้านตะวันออกทางเหนือของไทย เนื่องจากเห็นว่าเมืองไทยหากินสะดวก มีพื้นที่ว่างเปล่าอุดมสมบูรณ์กว่าถิ่นเดิม (หน้า 146-148)

Map/Illustration

ข่า (หน้า 138) ข่ามุ (หน้า 144,158,159) ข่าเม่ด (หน้า 160) ข่าถิน (หน้า 166) บ้านของชาวข่าฮอ (หน้า 172)

Text Analyst ศมณ ศรีทับทิม Date of Report 27 เม.ย 2559
TAG ขมุ, วิถีชีวิต, ความเชื่อ, การตั้งถิ่นฐาน, แรงงานรับจ้าง, การอพยพ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง