สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject คะยัน กะจ๊าง ,ปะด่อง ,กะเหรี่ยงคอยาว ,แลเคอ ,กะเหรี่ยง,แม่ฮ่องสอน, การท่องเที่ยว
Author Phone Myint Oo
Title Commoditization of Culture and Tourism Development in an Ethnic Community: A Case study of the Long-Necked Kayan in Mae Hong Son Province
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity กะยัน แลเคอ, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
Total Pages 126 Year 2552
Source วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาการพัฒนาอย่างยั่งยืน บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
Abstract

          เน้นการศึกษาถึงความเป็นอยู่และมุมมองของชาวคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)ที่ได้ลี้ภัยเข้ามาอาศัยในประเทศไทย แต่กลับตกอยู่ในสถานะเครื่องมือเพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดและไม่ได้รับอิสระในการเคลื่อนย้าย ทำให้ชาวกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการใส่ห่วงทองเหลือง

          จากการศึกษาพบว่าชาวกะเหรี่ยงที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยอยู่ในการควบคุมของนักธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ได้รับเงินเดือนจากการเปิดหมู่บ้านให้นักท่องเที่ยว ทำให้เกิดการส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ให้ใส่ห่วงทองเหลืองเพิ่มขึ้นจากเหตุผลหลายประการโดยเฉพาะเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่จะมองว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้หนีออกจากการถูกควบคุมของธุรกิจการท่องเที่ยวได้ และเปลี่ยนความคิดจากการมองว่าห่วงทองเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมชนเผ่าเป็นว่าห่วงทองเหลืองเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุมชาวปะด่อง และทำให้ตนเองไม่ได้รับสิทธิเท่ากับคนอื่น เช่นการขออพยพไปยังประเทศที่ 3 เป็นต้น ทำให้ในปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่มีการถอดห่วงทองเหลืองเพิ่มขึ้น

Focus

          เน้นการศึกษาถึงความเป็นอยู่และมุมมองของชาวคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)ที่ได้ลี้ภัยเข้ามาอาศัยในประเทศไทย แต่กลับตกอยู่ในสถานะเครื่องมือเพื่อการท่องเที่ยวของจังหวัดและไม่ได้รับอิสระในการเคลื่อนย้าย ทำให้ชาวกะเหรี่ยงรุ่นใหม่มองว่าการใส่ห่วงทองเหลืองเป็นสิ่งที่กักขังคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)ไว้อยู่ในสถานะเช่นนี้ 

Theoretical Issues

          ใช้การเก็บข้อมูลผ่านการสังเกตเป็นหลัก มีการเก็บข้อมูลผ่านสื่อ เอกสาร การสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว และจากการบันทึกเหตุการณ์ เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์ของชาวคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)ในปัจจุบัน

Ethnic Group in the Focus

คะยัน(ปะด่อง หรือกะเหรี่ยงคอยาว) จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

Language and Linguistic Affiliations

         คะยัน(Kayan) มาจากคำว่า Kan Yan ซึ่งแปลว่าคนที่อาศัยอยู่ถาวรในพื้นที่ของตน  ปะด่อง(ปะด่อง) มาจากการที่ชาวไทใหญ่เรียก Kayan ว่า Yan Pad Daung ซึ่งหมายความว่าชาวกะเหรี่ยงที่ใส่ห่วง ต่อมา Yan Pad Daung จึงได้เปลี่ยนมาเป็น Padaung(ปะด่อง) ในภาษาพม่า (หน้า 6)

          Kyay Kwin Pat เป็นคำเรียกกลุ่มผู้หญิงที่ใส่ห่วงทองเหลือง เพื่อใช้แยกจากชาวกะเหรี่ยงที่ไม่ได้ใส่ห่วง โดยทั่วไป มีการใช้คำว่า Lel pin shay ซึ่งหมายถึงคอยาว และ lel pin shay หมายถึงคอสั้น ในการเรียกกะเหรี่ยงที่ใส่ห่วงและไม่ใส่ห่วง แต่การเรียกว่าผู้หญิงคอยีราฟ (Giraffe woman) นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สุภาพ (หน้า 6)

          ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกตนเองว่า ปะด่อง แต่นักวิชาการชาว Kayan และชาว Kayan ที่รู้ว่าที่มาของคำว่า ปะด่อง คืออะไร ไม่ยอมรับการเรียกว่า ปะด่อง แต่ควรจะเรียกว่าแลเคอ (Lahwi) มากกว่าเพื่อส่งเสริมแนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิของชาว Kayanในการตัดสินใจด้วยตนเอง (หน้า 6-7)

          จากการสังเกตพบว่าชาวกะเหรี่ยงใช้ภาษาไทยเมื่อพูดกับนักท่องเที่ยวชาวไทย ใช้ภาษาอังกฤษกับคนต่างชาติ ใช้ภาษากะเหรี่ยงภายในชุมชนและโรงเรียน และใช้ภาษาพม่าสำหรับการประกาศข่าวสาร (หน้า 24)

          ในชุมชนมักจะใช้ภาษา Kayan ในหมู่ ปะด่อง และภาษา Kayaw ในหมู่คะยอหูใหญ่ ชาวบ้านบางคนสามารถพูดภาษาไทยได้ ภาษา Kayan ที่ใช้สามารถแบ่งได้เป็น 6 แบบซึ่งแตกต่างกันในการออกเสียงและสำเนียง ที่เกิดจากการผสมระหว่างกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยงแดงแต่ละกลุ่มและที่อยู่อาศัยที่ต่างกันในพม่า (หน้า 59)

Study Period (Data Collection)

มิถุนายน 2551

History of the Group and Community

          ชาวกะเหรี่ยงลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายอพยพของไทยนั้นมาจาก 9 หมู่บ้านของรัฐคะยา โดยกลุ่มแรกมาจากหมู่บ้าน Lay Mile ได้เริ่มอพยพเข้ามาสู่ค่าย Huay Pu Keng ในปีค.ศ. 1989 (หน้า 10)

          ชาวปะด่องไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์ของตนเอง ไม่มีความรู้เกี่ยวกับประเทศบ้านเกิดของตน และแทบไม่มีเอกสารบอกเล่าการเคลื่อนไหวของปะด่องในช่วงแรกเลย (หน้า41)

          นักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าชาว Kayan อพยพมาจากทางตอนใต้ของพม่าและตั้งถิ่นฐานที่ Taung Ngu (หน้า 22) บางท่านเสนอว่า Kayan เคยอยู่ในประเทศจีนเพราะเชื้อชาติ การใช้ภาษาและพิธีกรรมเหมือนกันชาวจีน และเชื่อว่าชาว Darat บนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซียมีความเกี่ยวข้องกับ Kayan (หน้า 26-27)

Settlement Pattern

          ฐานที่ตั้งของกองกำลังกะเหรี่ยงนั้นตั้งอยู่ห่างจาก Huay Pu Keng ไม่กี่ไมล์ และอยู่ในบริเวณที่เปรียบเสมือนกันชนระหว่างประเทศไทยและพม่า (หน้า 10)

          ชาวปะด่อง อาศัยอยู่ใน 3 หมู่บ้าน คือ ห้วยเสือเฒ่า (Huay Sua Tao),บ้านในสอย( Ban Nai Soi) และ ห้วยปูแกง(Huay Pu Keng) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ต่อมาหน่วยงานภาครัฐได้ลงมติให้ทั้ง 3 หมู่บ้านรวมกันและย้ายมาอยู่รวมกันที่ใกล้ๆ ห้วยปูแกงเพื่อรักษาวัฒนธรรม (หน้า 49)

          กระท่อมใน Huay Pu Keng ทำจากไม้และใบไม้ซึ่งไม่ค่อยทนทาน หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมให้ชาว Kayan อาศัยอยู่ในบ้านแบบ Kayan และไม่อนุญาตให้ใช้ซีเมนต์ หลังคาสังกะสี หรือวัสดุต่างๆ ที่ทนทานถาวร เพราะว่าชาว Kayan ไม่มีสิทธิ์ในการใช้พื้นที่ และเพื่อให้แน่ใจว่าชาว Kayan ยังคงดำรงชีวิตแบบที่นักท่องเที่ยวต้องการจะชม (หน้า 97)

Demography

         ในช่วงปี 1990 ชาวกะเหรี่ยงแดงหลายพันคนได้มีการอพยพเข้าสู่ฝั่งชายแดนไทยโดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากการต่อสู้ระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงแดงและทหารของรัฐบาลพม่า ผู้ชายคะยันบางคนที่อาศัยอยู่ในห้วยปูแกงนั้นก็เคยเป็นทหารของกองกำลังกะเหรี่ยงมาก่อน (หน้า 10,47-48)

          พบว่ามีคะยันหลายครอบครัวที่อพยพออกจากหมู่บ้านไปอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย เพื่อเป็นการเริ่มขบวนการขออพยพไปยังประเทศที่ 3 (หน้า 18)

          เมื่อปีค.ศ. 1996 ปะด่องได้มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขต Huay Pu Keng โดยเริ่มแรกมี เพียง 3 ครอบครัว (หน้า 50)  ในช่วงแรกของการอพยพเข้าไทย มี ปะด่อง จำนวน 300 คนต่อมาในปี 2008 จำนวนของผู้อพยพเพิ่มเป็น 500 คนซึ่งรวมถึง 120 คนที่เป็นผู้หญิงใส่ห่วงทองเหลือง กระจายอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัย หมู่บ้าน และจังหวัดต่างๆ (หน้า 50)

          ปัจจุบันในหมู่บ้านมีลูกบ้านจำนวน 333 คนประกอบด้วยผู้ชาย 169 คนและผู้หญิง 164 คน มีผู้ถือสัญชาติไทย 9 คน ถือบัตรประจำตัวชาวเขา 59 คน และ 101 คนที่ไม่มีบัตรประจำตัวอะไรเลย มี 32 ครอบครัวที่เป็นชาว ปะด่อง และผู้หญิงที่ใส่ห่วงทองเหลืองจำนวน 26 คน (หน้า 56)

          ในขณะที่ทำการศึกษา (3 กรกฎาคม 2008) พบว่ามีชาว ปะด่อง 11 คนหายไปจากหมู่บ้าน (หน้า 80)

          ทางภาคตะวันออกของพม่ามีชาวปะด่องอาศัยอยู่ประมาณ 25,600 คน และมีจำนวน 800 คนที่เป็นผู้หญิงคอยาว (หน้า 2)

          ในอดีตชาวปะด่องแทบจะไม่มีการย้ายออกจากพื้นที่ของตนเลย แต่ในปัจจุบัน ชาวปะด่องถูกบังคับให้ย้ายที่อยู่อาศัยจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้าน โดยหน่วยงานภาครัฐของไทย (หน้า 6)

Economy

          ผู้หญิงปะด่องเป็นผู้ที่นำรายได้หลักเข้าสู่ครอบครัว โดยการนั่งให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ขายผ้าทอมือที่ทอในเวลาว่างระหว่างวันและสินค้าต่างๆ ทำให้หลายครอบครัวส่งเสริมให้ลูกสาวช่วยหาเงินเข้าครอบครัวโดยการใส่ห่วงทองเหลือง (หน้า 12,62)

          ผู้หญิงโสดชาวปะด่องที่สวมห่วงทองเหลืองนั้นได้รับรายได้เดือนละประมาณ 1,500 บาทในขณะที่ถ้าเป็นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะได้รับรายได้ประมาณ 2,000 บาทต่อเดือนจากกลุ่มนักธุรกิจในพื้นที่ที่รณรงค์ให้ชาวคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)อาศัยรวมกันในหมู่บ้านเดียว ในขณะที่ผู้ชายจะได้รับค่ากินอยู่เดือนละ 260 ต่อเดือนเท่านั้น (หน้า 14) ผู้ชายชาวปะด่องโดยปกติจะทำงานในนาข้าวหรือออกไปรับจ้างตามไซต์งานก่อสร้าง (หน้า 16)

          ในครอบครัวชาวปะด่องจะมีการทำไวน์ข้าว ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่สามารถดื่มได้ตั้งแต่เด็กทารกจนถึงผู้ใหญ่ ส่วนมากจะดื่มกันในโอกาสพิเศษ และความสามารถของผู้หญิงในการไวน์ข้าวนี้ถือเป็นการแสดงฐานะทางสังคมอย่างหนึ่ง (หน้า 16)

          ผู้หญิงปะด่องจะเก็บไม้ไผ่ หน่อไม้ มะระ ผักต่างๆ เห็ด สมุนไพร ฯลฯ จากป่า (หน้า 52) หน่อไม้และข้าวถือเป็นอาหารหลักของชาวปะด่อง โดยข้าว น้ำมันและเกลือจะได้รับจาก NGO (หน้า 52) ในอดีตมีการทำเกลือจากขี้เถ้า มีการทำเครื่องดื่ม “Khaung” โดยการทายีสต์ลงบนข้าวหรือข้าวฟ่าง ใส่ภาชนะ หมักไว้ตั้งแต่ 1 อาทิตย์ถึง 2 ปี บางครั้งจะมีคนจากหมู่บ้านใกล้ๆ นำเนื้อสัตว์มาขาย แต่ชาวปะด่องจะเก็บไก่และหมูสำหรับการประกอบพิธีทางศาสนาและพิธีกรรม การประกอบอาหารส่วนใหญ่จะทำโดยการอบ และมีกฎข้อห้ามถึงอาหารที่ไม่ควรกินคู่กัน เช่นเนื้อควายกับเห็ด เป็นต้น (หน้า 52) หมูเป็นสิ่งที่ใช้ในการจ่ายค่าปรับคือจ่ายค่าทดแทนตามกฎหมายวัฒนธรรมของ Kayan (หน้า 69)

          ไม่มีข้อแตกต่างเกี่ยวกับเรื่องของอายุต่อจำนวนเงินที่ได้รับ เด็กผู้หญิงจะไปโรงเรียน ช่วยงานบ้านและช่วยขายของในวันหยุด (หน้า 63) แต่พบว่านักธุรกิจจะไม่จ่ายเงินเดือนให้ในช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว ชาวบ้านยังคงได้รับข้าวและน้ำมันบางส่วนจาก NGO แต่เมื่อขาดแคลนก็ไม่สามารถเรียกร้องจากหน่วยงานใดๆ ได้ (หน้า 63)

         ไกด์ทัวร์จะไม่ชอบให้เด็กปะด่องพูดกับนักท่องเที่ยวโดยตรง และถ้าเกิดว่าเห็นเด็กคนในพูดกับนักท่องเที่ยว ไกด์ก็จะไม่เชิญชวนให้ไปที่ร้านของเด็กคนนั้น (หน้า 84)

         ในประเทศไทย การที่เด็กปะด่องจะหางานทำในองค์กรได้นั้นส่วนหนึ่งขึ้นกับการเปลี่ยนศาสนา ทำให้เด็กรุ่นใหม่หลายๆ คนเลิกนับถือประเพณีดั้งเดิมและเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง แต่ส่วนใหญ่ทางเลือกในการทำงานของเด็ก      ปะด่อง นั้นจะเปิดกว้างสำหรับเด็กที่จบการศึกษาระดับ Post-Ten เท่านั้น (หน้า 93)

           โดยทั่วไปมีนักท่องเที่ยวประมาณ 600 คนต่อเดือน หมู่บ้านมีการเก็บค่าผ่านประตู 250 บาทสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ไม่ได้เลยถ้าเป็นนักท่องเที่ยวไทย (หน้า 81)

          ผู้ชายชาวปะด่องจะไม่เคยเข้าไปนั่งที่ร้านขายของ เพราะว่านักท่องเที่ยวจะสนใจแต่ผู้หญิงใส่ห่วงทองเหลืองเท่านั้น (หน้า 95) มีเด็กปะด่องเข้าทำงานในร้านอาหารหรือในฟาร์มในจังหวัดแม่ฮ่องสอน (หน้า 101)

          ราคาของเรือที่เดินทางมายัง Huay Pu Keng นั้นถูกควบคุมโดยหมู่บ้าน Huay dua และแม้ว่าชาวปะด่องบางคนมีเรือเป็นของตนเอง แต่ก็ไม่สามารถมีส่วนในการทำธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งได้ (หน้า 109)

          ชาวปะด่องสามารถซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์สมัยใหม่ เช่นนาฬิกา โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์หรืออาจจะซื้อรถได้ เพราะว่าวิถีชีวิตของปะด่องนั้นเรียบง่าย เก็บของป่ามารับประทานและรับประทานเนื้อน้อยมาก สวมใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองที่ทำในครัวเรือน และไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน เพราะ NGO เป็นคนสนับสนุน (หน้า 110-111)

Social Organization

         Kayan เป็นกลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งของกะเหรี่ยงแดง (Karenni) และสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มย่อย คือ Kayan Lahta, Kayan a Ngan (Kayaw หรือกะเหรี่ยงหูใหญ่), Kayan Lahwi (Padaung หรือคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)) และ Kayan Ka Khaung ในพม่า ปะด่องจะอาศัยอยู่ในรัฐคะยา และรัฐฉานทางตะวันตกของแม่น้ำสาละวินและรอบๆ ภูเขา Pekon (หน้า 2)

         ผู้ชายปะด่องมีส่วนช่วยกับการท่องเที่ยวเพียงแค่ขายสินค้าพื้นเมืองและทำงานบ้าน (หน้า 16)

         ชาวปะด่องเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างเงียบและมักจะไม่แสดงอารมณ์ของตนเองออกมาให้กับคนแปลกหน้าได้รับรู้ (หน้า 18) เป็นคนซื่อสัตย์และขยันทำงาน (หน้า 27)

         ผู้หญิงคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน (หน้า 36)

         ชาวปะด่องสามารถแต่งงานระหว่างลูกพี่ลูกน้องได้ โดยปกติแล้วครอบครัวปะด่องจะเป็นครอบครัวเดี่ยว แต่เมื่อลูกชายแต่งงานก็จะกลายเป็นครอบครัวขยาย เพราะยึดหลักสืบเชื้อสายผ่านทางพ่อ มีกฎเกณฑ์ระบุเรื่องผู้ที่จะสามารถแต่งงานกันได้อย่างชัดเจนซึ่งถ้าเกิดว่าไม่ปฏิบัติตามก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือการสืบเชื้อสายจะสิ้นสุดลง ทำให้ชาว Kayan จะตรวจสอบลำดับความสัมพันธ์กันก่อนเสมอก่อนที่จะแต่งงาน แต่ในปัจจุบัน Kayan ได้มีการแต่งงานระหว่างเผ่ากับหลายๆ กลุ่มทำให้มีการผ่อนปรนกฎเกณฑ์บางข้อ (หน้า 61)

          ในหมู่บ้านมีคณะกรรมการจัดสำรวจประชากรที่ใส่ห่วงทองเหลืองทุกเดือน เพื่อตรวจสอบเงินที่จะได้รับ นำมาคำนวณค่าเข้าหมู่บ้าน และร้านขายของที่ระลึกที่เปิดโดยแต่ละครอบครัว (หน้า 62)

          ภายในครอบครัว ผู้หญิงเป็นผู้หารายได้เข้าบ้าน ผู้ชายยังคงเป็นหัวหน้าครอบครัวและลูกๆ จะเชื่อฟังคำพูดของทั้งพ่อและแม่ (หน้า 65)

          ชาวปะด่องต้องดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ภายในหมู่บ้าน เพื่อให้เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าตนเองจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ก็ต้องเก็บให้พ้นจากสายตาของนักท่องเที่ยว (หน้า 95) ไม่มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ทุกคนจะตื่นแต่เช้า ทำอาหารเช้าและเที่ยง ออกไปยังแปลงเกษตร ผู้ชายตัดต้นไม้เพื่อถางที่สำหรับเพาะปลูกเพิ่ม ผู้หญิงจะเก็บไม้และเผาหญ้า และยังช่วยผู้ชายเวลาหว่านเมล็ด เก็บเกี่ยวและนวดข้าวอีกด้วย

          ในช่วงนอกฤดูกาลเพาะปลูก ผู้ชายจะล่าสัตว์ เก็บฟืน ซ่อมแซมบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงจะทอผ้าและปั้นเครื่องปั้นดินเผาส่วนมากดำรงชีวิตด้วยการพึ่งตนเอง สินค้าที่ต้องซื้อเช่นใบมีดคันไถ พลั่ว เครื่องเงิน ด้ายและไหมพรมจากชาวไทใหญ่ ชาวบ้านทำการเกษตรแค่เพื่อยังชีพ ที่ดินที่เหลือก็จะให้คนอื่นเช่า (หน้า 64) แต่ในห้วยปูแกงชาวบ้านไม่มีพื้นที่เพาะปลูกและไม่ได้รับอนุญาตให้ล่าสัตว์ ทำให้ผู้หญิงเปลี่ยนมานั่งในร้านขายของ ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป ผู้ชายช่วยเหลืองานบ้านและไปหาเพื่อนหรือญาติพี่น้อง เล่นฟุตบอล สถานการณ์ที่ไม่มีอะไรให้ทำและความรู้สึกสิ้นหวังทำให้ผู้ชายปะด่องหลายคนหันไปหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  (หน้า 65)

          ผู้ชายบางคนมีความสามารถในการทำเครื่องดนตรีท้องถิ่น บางคนเป็นนายท้ายเรือ ซึ่งการเป็นนายท้ายเรือนั้นจะได้รับเงิน 20 บาทต่อการข้ามแม่น้ำ 1 เที่ยว ผู้ชายบางส่วนเคยถูกว่าจ้างให้ตัดไม้จากนักธุรกิจหรือตำรวจไทย ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยจะได้รับค่าจ้างวันละ 200-300 บาท ในการตัดไม้นั้นก็ไม่มีการใช้เครื่องมือใดๆ ใช้เพียงมีด ขวาน เลื่อยมือ และเมื่อตัดเสร็จก็ต้องเตรียมไม้ให้พร้อมสำหรับส่งให้ผู้ว่าจ้าง ผู้ชายบางคนมีการทำเหล้าและไวน์จากข้าว แต่ทำกันอย่างลับๆ เนื่องจากถูกทางการไทยสั่งห้าม (หน้า 65)

          ชาวบ้านจะเข้าไปเก็บของป่าทุกๆ 3-4 วัน (หน้า 69) อาหารของชาวปะด่อง จะประกอบด้วยหน่อไม้ ผักต่างๆ มีการรับประทานเนื้อบ้างแต่น้อย (หน้า 69) ในตอนเย็นบางวัน ปะด่องจะมารวมกลุ่มกันที่บ้านใครคนหนึ่ง ดื่มไวน์ข้าวและร้องเพลง (หน้า 71)

          ชาวบ้านในห้วยปูแกงทุกคนมีหน้าที่ในการช่วยงานหมู่บ้าน (หน้า 56) ชาวบ้านนำน้ำจากบึงมาใช้ประโยชน์โดยการต่อท่อมายังหมู่บ้าน ซึ่งเป็นระยะทางค่อนข้างไกล บางครั้งมีเศษใบไม้อุดตันในท่อหรือท่อหลุด ทำให้ชาวบ้านมการจัดเวรดูแลท่อส่งน้ำ (หน้า 56)

          มีการใช้ไฟฟ้าจากแผง Solar cell ที่รัฐบาลไทยนำมาติดตั้งในปี ค.ศ. 2006 โดยสามารถใช้งานได้ 3-4 ชั่วโมงหลังจากพระอาทิตย์ตก มีโทรทัศน์ส่วนรวมอยู่ในกระท่อมใกล้โรงเรียน และภายในหมู่บ้านสามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ 2 จุด (หน้า 56,70)

Political Organization

           การที่ตั้งของกองกำลังกะเหรี่ยงภายใต้การควบคุมของพรรคชาวกะเหรี่ยงก้าวหน้า (KNPP) อยู่ใกล้กับหมู่บ้าน ทำให้ KNPP ทำให้ KNPP มีบทบาทสำคัญในทางการเมืองของทั้งหมู่บ้าน
คะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)และค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง (หน้า 10)

          ชาวปะด่องไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ กับบริษัทนำเที่ยวเพราะว่าตนเองอาศัยอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้ลี้ภัยหรือแรงงานผิดกฎหมาย และการท่องเที่ยวทำให้พวกเขามีเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ต่อไป (หน้า 12)

         หน่วยงานภาครัฐของไทยมองว่าคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)เป็นแรงงานอพยพทางเศรษฐกิจที่ได้รับรายได้ที่ดีจากการท่องเที่ยวและเป็นผู้เลือกในการตั้งหมู่บ้านนอกค่ายผู้ลี้ภัยด้วยตนเอง (หน้า 13)

         ชาวปะด่องรู้ว่าตนเองกำลังถูกควบคุมโดยหน่วยงานท้องถิ่นมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เพราะมีวัฒนธรรมที่ประหลาดกว่ากลุ่มอื่นๆ และหน่วยงานเหล่านั้นได้รับผลประโยชน์ในระดับภาคและระดับประเทศ (หน้า 31)

         หน่วยงานระดับท้องถิ่นก็ประบสบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)เพื่อการท่องเที่ยวเช่นกัน เพราะถ้าเกิดว่าตนเองให้การสนับสนุนปะด่อง มากกว่ากลุ่มอื่นก็อาจจะถูกมองว่าลำเอียงได้ แต่ถ้าไม่ส่งเสริมให้ชาวปะด่องอยู่รวมกันในที่เดียว ก็จะทำให้กลุ่มนี้กระจัดกระจายอยู่ตามค่ายลี้ภัยต่างๆ และไม่เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว พร้อมๆ กับการถูกโจมตีของสื่อ กลุ่มสิทธิมนุษยชนและ NGO (หน้า 31)

          คนส่วนมากใน Huay Pu Keng ไม่มีเอกสารหรือบัตรประจำตัวที่ทางการไทยยอมรับ UNHCR ยอมรับปะด่องในฐานะผู้ลี้ภัยถ้าเกิดอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย แต่ไม่รวมถึงการอาศัยอยู่นอกค่าย และถ้า ปะด่อง ต้องการจะอพยพไปยังประเทศที่ 3 ก็ต้องเริ่มจากการย้ายและเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยก่อนเป็นอันดับแรก (หน้า 50)

          Huay Pu Keng อยู่ในความควบคุมและบริหารจัดการโดยนักธุรกิจไทยจาก Huay Dao ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เป็นท่าเรือระหว่างแม่ฮ่องสอนและ Huay Pu Keng (หน้า 55)

          องค์กรที่เกี่ยวข้องกับศาสนามีส่วนช่วยในการจัดการเครื่องอุปโภคบริโภคเช่นผ้าห่ม เสื้อผ้าและอาหาร บางครอบครัวที่เป็นคาทอลิคได้รับเงินช่วยเหลือ แต่ภายหลังจากที่ชาว Kayan เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ องค์กรเหล่านี้ได้ชักจูงให้พวกเขาถอดห่วงทองเหลืองออก (หน้า 75)

          ปะด่องไม่เชื่อเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการชักจูงให้ลงทะเบียนเพื่อขอบัตรประจำตัวอีกต่อไป และล้มเลิกความหวังที่จะได้รับบัตรประจำตัวประชาชน บางคนไม่แม้แต่จะยื่นใบสมัครเพราะในปัจจุบันก็ถูกบังคับให้ไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้แม้ว่าตนเองจะถือบัตรประจำตัวประเภทอื่นก็ตาม (หน้า 89)

          หน่วยงานท้องถิ่นละ KNPP ได้ออกกฎห้ามผู้หญิงใส่ห่วงทองเหลืองขี่จักรยานยนต์และต้องแต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองเมื่อมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมหมู่บ้าน (หน้า 96) หน่วยงานราชการไทยบอกว่าปะด่อง ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยแต่เป็นผู้ที่อพยพมายังประเทศไทยด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่ UNHCR กลับตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานราชการไทยเป็นผู้ให้ ปะด่อง ออกมาอาศัยอยู่นอกค่ายผู้ลี้ภัย (หน้า 104)

          ชาวปะด่องไม่สามารถทำอะไรที่ไม่เหมาะสมหรือขัดกับวัฒนธรรม หรือรับแขกมาค้างคืนโดยไม่มีการบอกคณะกรรมการหมู่บ้านก่อน (หน้า 104) มีกฎระบุว่าผู้หญิงที่ใส่ห่วงทองเหลืองจะไม่ได้รับเงินเดือนหากออกนอกหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าหมู่บ้านหรือคณะกรรมการหมู่บ้าน (หน้า 105) กลุ่มนักการเมืองกะเหรี่ยงแดง มีการร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นไทยและนักธุรกิจในการจัดการหมู่บ้านคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)เพราะว่าแต่ละคนได้รับส่วนแบ่งจากรายได้ของหมู่บ้าน (หน้า 105)  ถ้าปะด่องอยากจะย้ายเข้าไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย จะต้องลงทะเบียนกับ UNHCR ก่อนและต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย (หน้า 107)

          รัฐบาลไทยไม่มีนโยบายส่งชาว ปะด่องกลับพม่า แต่ถ้าปะด่องต้องการจะเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด รัฐบาลไทยก็พร้อมจะอนุญาตโดยไม่มีเงื่อนไข (หน้า 108)

          ภายในชุมชน Kayan มีหน่วยงาน NGO หลายหน่วยงานที่มีส่วนร่วม เช่น UNHCR,  TBBC, KSDP, JRS, IRC เป็นต้น เพือาส่งเสริมสิทธิของชาวบ้าน มอบอาหารและสนับสนุนให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ (หน้า 113)

          ปะด่อง ไม่ได้อยู่ในฐานะคนไทย ไม่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ การศึกษา หรือสิทธิ และเนื่องจากว่าอาศัยอยู่ในฐานะคนพลัดถิ่น ทำให้ไม่สามารถถูกจ้างงานได้ (หน้า 49)

          การที่ปะด่อง อยู่ในฐานะผู้อพยพแบบผิดกฎหมาย ทำให้ ปะด่อง มักจะถูกหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงรายข่มขู่เกี่ยวกับการบังคับให้ย้ายถิ่นเพื่อประโยชน์ทางการท่องเที่ยว (หน้า 79)

          ในปัจจุบันชาว ปะด่องถูกล่อลวงโดยองค์กรค้ามนุษย์ โดยเหยื่อจะถูกบังคับให้โชว์ตัวให้กับนักท่องเที่ยวในรีสอร์ทและได้รับเงินเดือนเดือนละ 4,000 บาท และโดนข่มขู่ว่าจะฆ่าถ้าเกิดพยายามหลบหนี ส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัจจุบันชาว ปะด่อง ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น ก็เพราะว่าชาวปะด่อง เองคิดว่าถ้ามีคนให้ข้อเสนอที่ดี ก็พร้อมที่จะยอมไปด้วย เพราะเชื่อว่าตนเองจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในสถานที่ใหม่ (หน้า 80-81)

Belief System

         ตามธรรมเนียมแล้ว ผู้หญิงปะด่องจะต้องสวมห่วงทองเหลืองจำนวน 16-22 ห่วงรอบๆ คอ ซึ่งการใส่ห่วงทองเหลืองนี้นั้นจะกดให้ไหล่ต่ำลง ทำให้ดูคอยาวกว่าคนปกติ ห่วงทองเหลืองบางชิ้นมีน้ำหนักมาก ระหว่าง 5-20 กิโลกรัม ผู้หญิงที่ใส่ห่วงทองเหลืองจะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัวจากการที่ห่วงเสียดสีกับคอจึงมักจะรองคางและไหล่ด้วยผ้า นอกจากนั้นบางคนยังมีการสวมห่วงที่รอบเข่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบหมุนเวียนเลือดและทำให้ไม่สบายตัวเช่นเดียวกัน เชื่อกันว่ากห่วงทองเหลืองเป็นเสมือนการเชื่อมโยงของผู้หญิงที่ใส่กับบรรพบุรุษมังกรของตน (หน้า 5,42,44-45)

          ตามธรรมเนียมดั้งเดิม ผู้ที่จะต้องใส่ห่วงทองเหลืองนั้นมีแค่ผู้หญิงที่เกิดในวันพุธที่พระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงปะด่องในประเทศไทยเกือบทุกคนสวมห่วงทองเหลืองเพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งความสวยงาม (หน้า 5-6)

          การท่องเที่ยวทำให้กระบวนการใส่ห่วงทองเหลืองนั้นเร็วขึ้นกว่าเดิม (หน้า 13)

          ตามธรรมเนียมดั้งเดิมเด็กอายุ 5 ปีจะใส่ห่วงนัก 1 กิโลกรัม เพิ่มอีก 2 ห่วงเมื่ออายุ 10 และ 15 ปี และอีก 2 ห่วงเมื่อก่อนอายุ 20 ปี แต่ในปัจจุบันห่วงแรกจะใส่เมื่ออายุ 5 ปี ห่วงที่ 2 เมื่อ 8 ปี ห่วงที่ 3 เมื่ออายุ 13 ปีและ 2 ห่วงสุดท้ายเมื่ออายุ 15 ปี (หน้า 14)

          Kayan มีแนวความคิดที่ว่า Taung Ngu เมืองที่ตั้งถิ่นฐานเป็นศูนย์กลางของโลก (หน้า 22)

          ผู้หญิงปะด่อง บางคนเชื่อว่าการที่จะดูสวยนั้นคือการมีคอที่ยาว เพราะจะทำให้ดูสง่าเหมือนหงส์ บางคนเชื่อว่าการใส่ห่วงทองเหลืองมาจากความเชื่อว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากนาค (หน้า 35)

         ห่วงทองเหลืองเปรียบเสมือนเครื่องรางเคลื่อนที่ได้ของครอบครัว เชื่อว่าการได้แตะห่วงนั้นจะทำให้รักษาโรคและขอให้เดินทางปลอดภัย ผู้หญิงบางคนจะยัดเงินไว้ในห่วง ทำให้เด็กๆ มองว่าผู้หญิงปะด่องเหมือนต้นคริสตมาสเคลื่อนที่ได้ คือเต็มไปด้วยสมบัติและพลังอำนาจ (หน้า 45)

         ผู้ชายปะด่องจะชอบผู้หญิงที่ใส่ห่วงที่ทำจากทองเหลืองมากกว่าคนที่ไม่ได้สวม เพราะมีค่านิยมว่ายิ่งคอยาวเท่าไหร่ก็จะทำให้ดูสง่ามากขึ้นเท่านั้น (หน้า 45)

         4 เหตุผลหลักของการใส่ห่วงทองเหลืองคือ

             1. เพื่อป้องกันการไม่พอใจของผู้นำชาวไทใหญ่และชาวพม่า
             2. เพื่อแยกตนเองออกจากเผ่าอื่น
             3. เพื่อแสดงว่าตนเองสืบเชื้อสายมาจากมังกร
             4. เพื่อป้องกันผู้หญิงไม่ให้ปนกับเผ่าอื่น แต่ในปัจจุบันเหตุผลหลักของการใส่ห่วงทองเหลืองคือเพื่อความงามและรักษาวัฒนธรรมของตนระหว่างการอยู่นอกบ้านเกิด (หน้า 46)

         ชาวปะด่อง ส่วนมากอยากรู้อนาคตของตนเอง จึงชอบทำนายโดยการอ่านกระดูกไก่ เพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมจากการทำผิดพลาดของตนเองอีก มีหมอผีเป็นผู้ทำนายจากกระดูกไก่เพื่อพยากรณ์อนาคตของหมู่บ้านในปีข้างหน้า และขอคำแนะนำในเรื่องที่สำคัญ (หน้า 69,74) 

         ชาวบ้านนับถือวิญญาณ (Ka Khwan) ศาสนาพุทธ วิญญาณและศาสนาพุทธ หรือวิญญาณและศาสนาคริสต์ ชาว Kayan ได้นับถือแนวความคิดของ Ka Khwanมาตั้งแต่สมัยอพยพมาจากมองโกเลียจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าบางคนจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ แต่ยังมีคนจำนวนมากเข้าร่วมงานประเพณีตามวัฒนธรรมดั้งเดิม (Kan Khwan) ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มกะเหรี่ยงแดง (หน้า 71)

         ตามความเชื่อของชาว Kayan โลกถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้า Phu Kabukathin เทพ 2 องค์และผู้ส่งสาร 4 องค์ ทุกสิ่งในจักรวาลถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านเครือข่าย ช่วงแรกของการสร้างโลก โลกยังคงมีความหนาแน่นที่น้ำและที่ดินและน้ำเป็นของเหลว ทำให้พระเจ้าปลูกเสา (Kan Htain Bo) ขึ้นมาต้นหนึ่งบนพื้นดิน เมื่อเสาต้นนี้โตขึ้น โลกก็พัฒนามี ทั้งหมด 14 ชั้นและมีความเสถียร (หน้า 72)

          นอกจากนั้นพระเจ้ายังได้ประทานหลัก 5 ข้อในการดำเนินชีวิต คือความซื่อตรง จิตใจที่บริสุทธิ์ ความสะอาด ความสงบสุขและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อให้โลกมีความเสถียรและเพื่อความเจริญของมนุษย์ ชาว Kayan จะต้องแสดงความเคารพต่อ Kan Htain Bo โดยการจัดพิธี มีการตั้งเสา Kan Htain Bo ในช่วงมีนาคม – เมษายนของทุกๆ ปีโดยใช้ต้น Eugenia ซึ่งเป็นต้นไม้ต้นแรกของโลก กลุ่มผู้ชาย (pwai) จะเต้นรำแสดงความเคารพต่อเสา มีการเต้นรำ เล่นกลองและขลุ่ยไม้ไผ่ ผู้หญิงจะโปรยใบ Eugenia และไวน์ข้าว และพรมน้ำใส่กลุ่มผู้ชายเพื่อให้เย็น บนเสามีการตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อของชาว Kayan การจัดพิธีนี้มีการหมุนเวียนกันจัดใน 3 หมู่บ้านและค่ายผู้ลี้ภัย โดยจะจัด 4 ปี 1 ครั้ง (หน้า 72-73)

          ชาวบ้านที่เป็นคริสต์ส่วนมากนับถือ Baptist และเผ่าคะยอทั้งหมดนับถือนิกายคาทอลิค บาทหลวงและนักบวชเป็นชาว Kayan แต่ไม่ได้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเพราะต้องเดินทางไปยังทุกหมู่บ้านและค่ายผู้ลี้ภัย ในบางครั้งองค์กรทางศาสนาจะมีการเลือกผู้ชายในหมู่บ้านไปเข้ารับการอบรมในแม่ฮ่องสอนหรือเชียงใหม่ เช่นองค์กร International Rescue Committee (หน้า 74)

         ชาว Kayan เริ่มเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ในช่วงปีค.ศ. 1850 โดยหมู่บ้านแรกที่เริ่มเปลี่ยนคือ Moung Blo ซึ่งทำให้ชาว ปะด่อง เริ่มปฎิเสธที่จะใส่ห่วงทองเหลืองในประเทศพม่า (หน้า 92)

          ตามธรรมเนียมของ Kayan จะต้องมีการตัดต้นไม้มาทำเสา Kan Htain Bo  1 ต้นทุกปีแต่จากข้อกำหนดเรื่องการห้ามตัดไม้ทำให้ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการ ต้นไม้ที่จะใช้ในการทำเสา Kan Htain Bo นั้นต้องเป็นต้น Eugenia สูงอย่างน้อย 10 ฟุต กว้างมากกว่า 30 นิ้ว แต่ในปัจจุบันชาวบ้านต้องใช้ต้นไม้ประเภทอื่นแทน (หน้า 107)

          คนรุ่นเก่าจะนับถือวิญญาณและศาสนาพุทธ แต่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ และเลิกปฏิบัติตามพิธีกรรมดั้งเดิม ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิคยังมีการเข้าร่วมพิธี Kan Htain Bo แต่ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ Baptist จะไม่เข้าร่วมในพิธีกรรมใดๆ (หน้า 113)

Education and Socialization

          กลุ่มการเมืองของกะเหรี่ยงแดงนั้นมีการสร้างระบบการศึกษาของตนขึ้นมาเองสำหรับเด็กรุ่นใหม่ โดยความช่วยเหลือของ NGP แต่ว่าเป็นการศึกษาที่ไม่ถูกกฎหมายและไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานไทย (หน้า 15)

          ใน 1 ครอบครัวอาจจะมีการนับถือศาสนาที่แตกต่างกันได้ (หน้า 71)

          องค์กรทางศาสนามีส่วนช่วยเหลือกิจกรรมทางการศึกษา โดยเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้ครู และบางครั้งมีอาสาสมัครต่างชาติมาสอนในโรงเรียนเหล่านี้ (หน้า 75)

          ภายใน Huay Pu Keng มีโรงเรียน nursery อนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น แต่โรงเรียนทั้งหมดไม่ได้ใช้ระบบการศึกษาของประเทศไทย ถ้าต้องการเรียนต่อ นักเรียนจะต้องเดินทางไปเรียนที่ค่ายผู้ลี้ภัยในสอยซึ่งมีหลักสูตรการเรียน 2 ปีใน 4 วิชา ภายหลังจากจบการที่นี่จะได้รับประกาศนียบัตร แต่พบว่าภายในโรงเรียนมีปัญหาขาดแคลนครูและหนังสือเรียน ครูจากชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาสอนในค่ายและครูที่เป็นคนกะเหรี่ยงเองนั้นก็มีความรู้ไม่ถึงขั้น แต่ทุกคนต่างก็พยายามกันอย่างสุดความสามารถ (หน้า 75)

          วิชาที่เปิดสอนประกอบด้วยภาษาอังกฤษ เลข ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาพม่า ภาษากะเหรี่ยง ภาษาไทย และวิทยาศาสตร์ โดยอิงตามหลักสูตรที่พัฒนาโดย KNPP และหน่วยงาน NGO ภาษาที่ใช้เป็นหลักในโรงเรียนคือภาษาพม่าและ Kayanหนังสือเรียนบางส่วนก็อ้างอิงตามหนังสือเรียนของโรงเรียนในพม่า มีการแบ่งระดับการศึกษาเป็นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามระบบการศึกษาของพม่า ตัวโรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากเงินบริจาคของนักท่องเที่ยวและองค์กรการกุศล (หน้า 76) โดยโรงเรียนใน Huay Pu Keng จะได้รับการสนับสนุนจาก NGO และองค์กรทางศาสนา ที่ให้เงินเดือนครูในโรงเรียนเดือนละ 1000 บาท นอกจากนั้นยังมีองค์กรการกุศลของประเทศอังกฤษ (the Karenni student development program – KSDP) ให้การสนับสนุนโรงเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้น (หน้า 76) โครงการ Children on the edge ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Forster Company ช่วยสนับสนุนโรงเรียนในด้านการเงิน หนังสือ อุปกรณ์การเรียนและเครื่องมือสำหรับซ่อมแซมโรงเรียน (หน้า 77)

          เด็กปะด่องเรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกผ่านโทรทัศน์และซีดี (หน้า 88)

          NGO และองค์กรทางศาสนาเป็นเสมือนตัวกลางประสานงานระหว่างนักธุรกิจ หน่วยงานท้องถิ่นและส่งเสริมให้ชาวปะด่อง เรียกร้องสิทธิของตนจากหน่วยงานท้องถิ่น (หน้า 91)

          เด็กปะด่องมองว่าการศึกษาเป็นหนทางในการหนีออกจากห่วงของการท่องเที่ยว ออกสู่โลกภายนอก สังเกตได้จากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการคาดหวังถึงการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เช่นระดับมหาวิทยาลัยในเชียงใหม่หรือกรุงเทพ รวมถึงต่างประเทศ (หน้า 99,101)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

         มีการบันทึกข้อมูลของชาวปะด่องในงานเขียนภาษาอังกฤษน้อยมาก พบเพียงแค่บันทึกความทรงจำของนักวิชาการ Kayan เรื่อง From the Land of Green Ghosts และงานของ Khon Eden Phan เรื่อง The Narratives, Beliefs and Customs of Kayan People (หน้า 21)

         มีหนังสือพิมพ์ Kantarawaddy Times ที่จัดทำโดยนักหนังสือพิมพ์ชาวกะเหรี่ยง (หน้า 22)

          มีบทเพลงที่เนื้อหาแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย การพลัดพรากจากครอบครัวและบ้านเกิด เป็นต้นเพื่อแสดงความรู้สึกและสภาพของตนเองให้กับโลกภายนอกได้รับรู้ นอกจากนั้นยังมีเพลงสมัยใหม่ที่แสดงถึงความหวังของชาว Kayan รุ่นใหม่ (หน้า 24-25)

          จำนวนและมูลค่าของห่วงทองเหลืองแสดงถึงสถานะและระดับความสำคัญของครอบครัวผู้สวม (หน้า 45)

          มีเพียงผู้สูงอายุของปะด่อง เท่านั้นที่ยังใส่ชุดพื้นเมืองแบบเต็ม ในขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่จะใส่เสื้อพื้นเมืองกับ Longyi (หน้า 63) เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยแต่งกายตามธรรมเนียม ยกเว้นใส่ห่วงทองเหลือง (หน้า 88)

Folklore

มีความเชื่อหลายอย่างเกี่ยวกับการใส่ห่วงทองเหลือง เช่น

          1. เชื่อว่าเกิดจากการที่วิญญาณไม่พอใจผู้หญิงปะด่องเลยส่งเสือมากัด พวกผู้หญิงเกิดความกลัวจึงหยิบห่วงทองเหลืองมาสวมที่คอเพื่อป้องกันตนเอง (หน้า 27)
          2. เชื่อว่าห่วงทองเหลืองเริ่มใส่ครั้งแรกเพื่อให้ผู้หญิงไม่เป็นที่ต้องการของพ่อค้าทาส
          3. เป็นความตั้งใจที่จะทำให้ผู้หญิง Kayan โดดเด่นเพื่อจะได้สามารถไถ่ตัวจากการจับกุมระหว่างสงครามระหว่างเผ่าได้ และแยกตนเองออกจากเผ่าอื่น
          4. การใส่ของมีค่ารวมถึงห่วงทองเหลือง เป็นวิธีป้องกันการถูกขโมย (หน้า 46)
 
          มีตำนานซึ่งมาจากเผ่าพะโอถึงกำเนิดของเผ่า Kayan ว่าเกิดจากมังกรหญิงแปลงร่างเป็นมนุษย์กับมนุษย์ผู้ชาย เมื่อผู้ชายรู้ว่าผู้หญิงเป็นมังกรแปลงมาก็ไม่กลับมาหาอีกทำให้มังกรเสียใจมากจึงกลับไปมหาสมุทร และทิ้งไข่ 2 ฟองไว้ที่ชายหาด ฤๅษีชื่อ Tay Taa มาพบเข้าจึงนำกลับไป และแบ่งกับเพื่อนอีกคนชื่อ Dee Ha ดูแลไข่คนละฟอง ซึ่งเมื่อไข่ฟักออกมาก็พบว่าเป็น
เด็กผู้หญิงที่เป็นชาว Kayan คนแรกและเด็กผู้ชายที่เป็นบรรพบุรุษของเผ่าพะโอ (หน้า 43-44)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

          หมู่บ้านของชาวคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)ในปัจจุบันถูกบางคนมองว่าเปรียบเสมือนสวนสัตว์มนุษย์ เนื่องจากสมาชิกในหมู่บ้านอาศัยอยู่เพื่อรองรับการท่องเที่ยวตามแนวชายแดนไทยพม่า โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยว และถูกควบคุมโดยบริษัทนำเที่ยว แม้ว่าชนเผ่าจะไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างชัดเจนจากการที่ให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชนเลยก็ตาม (หน้า 1,12,37)

         ในประเทศพม่า ชาวพม่าในย่างกุ้งเชื่อตามแนวความคิดที่ออกมาจากรัฐบาลว่าชาวปะด่องนั้นเป็นพวกมนุษย์กินคน และจำนวนมากที่ไม่รู้จักชาวปะด่อง (หน้า 1)
         คนไทยรู้จักปะด่องในชื่อคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว) (หน้า 2) ในประเทศพม่าเรื่องของชาวปะด่องมีความเกี่ยวข้องกับทางด้านการเมืองเท่านั้น ในขณะที่สำหรับประเทศไทย ปะด่องมีบทบาททั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ (หน้า 14)

         ชาวปะด่องมองว่าการใส่ห่วงทองเหลืองเป็นการใส่เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ซึ่งพวกเขาก็ยอมรับว่าไม่สามารถห้ามความสนใจของนักท่องเที่ยวได้ (หน้า 29)

          การที่กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายถูกดึงให้เข้าไปมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำให้แต่ละกลุ่มรู้สึกสูญเสียเกียรติของตนเอง เพราะนักท่องเที่ยวปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนสิ่งของที่ต้องการจะถ่ายรูป (หน้า 31)

          ผู้หญิงปะด่องถูกมองว่าเป็นเพียงสิ่งของในการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวที่ปฏิบัติราวกับว่าผู้หญิงเหล่านี้เป็นสิ่งของให้มองและให้อยู่ในรูปถ่าย (หน้า 34)

          ปะด่องต้องการให้คนภายนอกมองว่าการปฏิบัติตามวัฒนธรรมของพวกเขานั้นเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ชนเผ่า ไม่ใช่สิ่งของสำหรับนักท่องเที่ยวหรือสิ่งประหลาดในสวนสัตว์มนุษย์และการที่มีการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาที่หมู่บ้านนั้นก็ทำให้วัฒนธรรมนี้เปลี่ยนไปอยู่ในทางเศรษฐกิจ (หน้า 36)

          ชาวปะด่องเชื่อว่าเป็นพี่น้องกับเผ่าพะโอ (หน้า 42)

           เมื่อปะด่องอพยพเข้ามายังประเทศไทย ผู้หญิงคอยาวก็ได้กลายเป็นทรัพย์สินที่สำคัญเพราะมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจอย่างมาก ทำให้มีการแยก ปะด่อง ออกจากผู้ลี้ภัยกลุ่มอื่นๆ และตั้งหมู่บ้านให้โดยเฉพาะโดยกลุ่มของนักธุรกิจและหน่วยงาน (หน้า 49)

          นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่สนใจถึงประเพณีหรือวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังจากใส่ห่วงทองเหลือง แต่เป็นเพราะการที่ปะด่องมีรูปลักษณ์ที่ประหลาด จึงเป็นที่สนใจ (หน้า 83)

          ชาวปะด่องไม่ต้องการจะกลับไปบ้านเกิดที่ยังไม่มีความสงบสุข แม้ว่าเมื่ออยู่ในประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิของผู้อพยพ และสัญชาติก็ตาม (หน้า 89)

Social Cultural and Identity Change

          ในประเทศพม่า วัฒนธรรมของชาวคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)กำลังค่อยๆ เลือนหายไปอย่างช้าๆ แต่ในประเทศไทย การปฏิบัติตนตามธรรมเนียมของชาวคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)กลับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งมีจำนวนคนสวมห่วงทองเหลืองเพิ่มขึ้นและอายุที่เริ่มใส่นั้นก็เริ่มเร็วขึ้นเช่นกัน (หน้า 14)

          คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่มีมุมมองที่ต่างกันในการได้รับเงินเดือนจากการท่องเที่ยวและความต้องการที่จะอพยพไปอยู่ในประเทศที่ 3 คนรุ่นใหม่มองว่าห่วงทองเหลืองเป็นเครื่องมือให้คนภายนอกแสวงหาผลประโยชน์ (หน้า 38)

          เด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องการใส่ห่วงทองเหลืองอีกต่อไป เด็กผู้หญิงต้องการที่จะไปโรงเรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ และต้องการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หรือมองในอีกแง่หนึ่งคือเด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องการที่จะแตกต่างจากคนอื่น ทำให้การใส่ห่วงทองเหลืองแทบจะหายไปหมดแล้วในประเทศพม่า (หน้า 92)

          ในช่วงที่ผ่านมามีจำนวนเด็กผู้หญิงที่ใส่ห่วงทองเหลืองเพิ่มขึ้น แต่เมื่อไม่นานมานี้มีเด็กผู้หญิงหลายคนที่เริ่มถอดห่วงทองเหลืองออก (หน้า 97) เหตุผลที่ทำให้มีจำนวนเด็กผู้หญิงใส่ห่วงทองเหลืองเพิ่มขึ้นนั้นมาจากการที่พ่อแม่ต้องการรักษาวัฒนธรรม การกดดันของเพื่อน เพื่อความสวยงามและเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจ (หน้า 98)

          อย่างไรก็ตาม มีเด็กรุ่นใหม่เริ่มถอดห่วงทองเหลืองออกนั้นมาจากการศึกษา ที่ทำให้เด็กเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อวัฒนธรรมและห่วงทองเหลือง เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ยึดมั่นกับธรรมเนียมของเผ่าเหมือนคนรุ่นก่อน เด็กส่วนมากไม่ต้องการที่จะแตกต่างจากคนอื่น และเด็กบางคนมองว่าห่วงทองเหลืองเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุม เพราะมีประสบการณ์ที่ว่าการใส่ห่วงทองเหลืองจะหมายถึงการที่ถูกจัดเขตให้อยู่แต่ภายในหมู่บ้านและไม่ได้ออกไปเห็นโลกภายนอก (หน้า 98-99)

          ชาวปะด่องในปัจจุบันน้อยมากที่ใส่ห่วงทองเหลืองและแต่งกายแบบชุดพื้นเมืองครบถ้วน แต่คนส่วนมากจะใส่ห่วงทองเหลืองแต่ทำสีผม ใส่เสื้อผ้าแบบปกติและใช้สินค้าสมัยใหม่ (หน้า 117)

Critic Issues

          นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่สนใจถึงประเพณีหรือวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังจากใส่ห่วงทองเหลือง แต่เป็นเพราะการที่ปะด่อง มีรูปลักษณ์ที่ประหลาด จึงเป็นที่สนใจ (หน้า 83)

          ชาวปะด่องไม่ต้องการจะกลับไปบ้านเกิดที่ยังไม่มีความสงบสุข แม้ว่าเมื่ออยู่ในประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิของผู้อพยพ และสัญชาติก็ตาม (หน้า 89)

Other Issues

          ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่มีความลังเลอย่างมากระหว่างการแสวงหาหนทางเรียนต่อและเรียกร้องสิทธิของตน หรือการขออพยพไปอาศัยในประเทศที่ 3 (หน้า 15)

          การท่องเที่ยวในกลุ่มชาติพันธุ์นั้นสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้นได้ ถ้าแต่ละกลุ่มได้เอกสิทธิ์ในการควบคุมวัฒนธรรมของตนเอง (หน้า 32)

          ผู้ชายใน Huay Pu Keng นิยมการเล่นฟุตบอลมาก และจะเล่นกันทั้งเช้าและเย็น (หน้า 67)

          หน่วยงานท้องถิ่นมองว่าวัฒนธรรมที่โดดเด่นของปะด่องจะหายไปอย่างรวดเร็ว ถ้าเกิดว่าปะด่องได้รับอิสระมากเกินไป แต่ปรากฏว่าวัฒนธรรมนั้นก็กำลังหายไปเพราะการถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด (หน้า 121)

Map/Illustration

1. รูปภาพแสดงฟิล์มเอกซเรย์ของชาวคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)ที่ใส่ห่วงทองเหลือง
2. รูปภาพแสดงรูปมังกรและการแต่งกายของมังกร
3. รูปภาพแสดงคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)และคะยอหูใหญ่
4. รูปภาพแสดงชาวปะด่องที่กำลังทำกีตาร์พื้นเมือง
5. รูปภาพแสดงเสา Kan Htain Bo
6. รูปภาพแสดงการทำนายจากการอ่านกระดูกไก่
7. รูปภาพแสดงโรงเรียนที่ Huay Pu Keng
8. รูปภาพแสดงโฆษณาภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
9. รูปภาพแสดงโบสถ์ใน Huay Pu Keng
10. รูปภาพแสดงผู้หญิงชาวปะด่องขี่จักรยานยนต์
11. รูปภาพแสดงผู้หญิงปะด่องที่เพิ่งถอดห่วงทองเหลือง
12. รูปภาพแสดงผู้หญิงปะด่องใช้โทรศัพท์มือถือ
13. รูปภาพแสดงห่วงทองเหลืองปลอมสำหรับนักท่องเที่ยวใส่ถ่ายรูป
14. แผนที่แสดงรัฐคะยาในพม่า
15. แผนที่แสดงชายแดนระหว่างไทย – พม่าและจังหวัดแม่ฮ่องสอน
16. แผนที่แสดงหมู่บ้านคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)และบริเวณที่ศึกษา
17. แผนที่แสดง Huay Pu Keng
18. แผนที่แสดงจังหวัดแม่ฮ่องสอนและหมู่บ้านคะยัน(กะเหรี่ยงคอยาว)ทั้ง 3 หมู่บ้าน

Text Analyst กรกนก ศฤงคารีเศรษฐ์ Date of Report 08 มิ.ย 2562
TAG คะยัน กะจ๊าง, ปะด่อง, กะเหรี่ยงคอยาว, แลเคอ, กะเหรี่ยง, แม่ฮ่องสอน, การท่องเที่ยว, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง