สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลื้อ,การแพทย์พื้นบ้าน,พะเยา
Author ภรตี ถูกจิตร
Title การแพทย์พื้นบ้านของไทยลื้อ : กรณีศึกษา บ้านท่าฟ้าเหนือ ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทลื้อ ลื้อ ไตลื้อ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 109 Year 2539
Source หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล
Abstract

การแพทย์พื้นบ้านไทยลื้อเป็นการแพทย์แบบประสบการณ์ คนลื้อมีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นต้น ปัจจุบันความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น โดยมากเป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงาน แบบแผนการดูแลสุขภาพของไทยลื้อคือการดูแลกันภายในครอบครัว เช่น นอนพัก หยุดทำงาน หาซื้อยามากินตามอาการเจ็บป่วย ถ้าอาการป่วยรุนแรงขึ้นจะขอคำปรึกษาหรือรับการรักษาจากหมอพื้นบ้าน ซึ่งมีวิธีการรักษาคือ การเป่า การใช้ยาสมุนไพรและพิธีกรรม หมอที่ใช้วิธีการรักษาแบบเป่าจะเรียกว่า "หมอเป่า" ซึ่งแบ่งตามความชำนาญในการรักษาโรค หมอที่ใช้ยาสมุนไพรในการรักษาจะเรียกว่า "หมอยาเมือง" ส่วนผู้ที่ทำพิธีกรรมต่างๆ จะเรียกว่า "ข้าวจ้ำ" และ "อาจารย์" ปัจจัยที่มีผลต่อการดำรงอยู่ของแพทย์พื้นบ้านคือความสะดวกในการไปรับการรักษา ความพึงพอใจต่อผลการรักษา ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาถูก ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และมีระบบวัฒนธรรมเดียวกัน การย้ายถิ่นฐานค่อนข้างน้อย เป็นผลให้สามารถดำรงเอกลักษณ์ของไทยลื้อไว้ได้ อย่างไรก็ตาม อนาคตการแพทย์พื้นบ้านไทยลื้ออาจจะสูญหายได้ถ้าขาดการสืบทอด

Focus

ศึกษาการเกิดโรคและรูปแบบการดูแลสุขภาพ ตลอดจนการแพทย์พื้นบ้านของไทยลื้อ บ้านท่าฟ้าเหนือ ตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทยลื้อ

Language and Linguistic Affiliations

"ลื้อ" หรือ "ไตลื้อ" เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไท (หน้า 25) สำเนียงการพูดที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เด่นชัดที่สุดคือ "ปากลื้อ" หรือพูดคำลื้อ (หน้า 35) ไม่มีภาษาเขียนเป็นของตนเอง แต่ใช้ตัวเขียนเป็นตัวเมืองซึ่งเป็นอักษรล้านนา (หน้า 37-38)

Study Period (Data Collection)

ตั้งแต่ กรกฎาคม 2535 ถึง กรกฎาคม 2539 (หน้า 5)

History of the Group and Community

ไทลื้อเดิมอาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนาทางตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน บางส่วนอาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันออกของรัฐฉาน ประเทศพม่า และภาคเหนือของลาว เหตุที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณหัวเมืองต่างๆ ในภาคเหนือของไทยนั้น เพราะเหตุผลทางการเมืองระหว่างรัฐที่ถูกจีนฮ่อเข้ายึดครองจึงอพยพหนีภัยมาอยู่ทางภาคเหนือของไทย และด้วยนโยบาย "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ของเจ้าผู้ครองล้านนาในอดีต คือเจ้ากาวิละ ได้ขับไล่พม่าออกจากแดนล้านนาสำเร็จ พ.ศ.2347 แต่พม่ายังมีอิทธิพลอยู่ในแคว้นสิบสองปันนาและหัวเมืองลื้อเขิน เจ้ากาวิละยกทัพไปตีพม่าอีกและกวาดต้อนผู้คนกลับมาล้านนาเพื่อไม่ให้เป็นที่ซ่องสุมกำลังของพม่าได้อีก จึงทำให้ไทยลื้อกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของทางภาคเหนือของไทย จังหวัดพะเยาก็เป็นที่หนึ่งที่ไทลื้อเข้ามาตั้งถิ่นฐานร่วมกับไทยยวน ก่อนจะมาที่พะเยาไทลื้อได้ย้ายถิ่นฐานไปที่ต่าง ๆ 4 ครั้ง คือประมาณปี พ.ศ. 2396 เจ้าเมืองน่านคือเจ้าอนัตวฤทธิเดชได้ยกทัพไปปราบข้าศึก เมืองเชียงตุง และได้เดินทัพเข้าตีแคว้นสิบสองปันนา รวมทั้งกวาดต้อนผู้คนมาไว้ที่บ้านหงาว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เป็นเวลา 7 ปี ต่อมาเจ้าเมืองน่านวิตกว่าไทยลื้อจะอพยพกลับสิบสองปันนา จึงได้อพยพไทยลื้อดังกล่าวไปอยู่ที่อำเภอเชียงม่วน จังหวัดน่าน (ขณะนั้นอยู่ในเขตการปกครองของเจ้าเมืองน่าน) โดยได้เลือกสถานที่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำยมและได้ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่บริเวณบ้านมาง บ้านทุ่งมอก บ้านท่าฟ้าเหนือ และบ้านท่าฟ้าใต้ ต่อมาผู้คนเริ่มหนาแน่นบางส่วนจึงอพยพไปอยู่ที่แห่งใหม่ (ปัจจุบันคืออำเภอเชียงคำ ปี พ.ศ. 2431 จนมาถึงปัจจุบัน) (หน้า 25-26) หมู่บ้านท่าฟ้าเหนือ : มีตำนานที่มาของชื่อหมู่บ้านท่าฟ้าดูที่หัวข้อ Folklore

Settlement Pattern

มีครัวเรือนทั้งหมด 105 หลังคาเรือน (สำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2536 โดยผู้ศึกษา) ลักษณะการตั้งบ้านเรือนกระจายตัวอยู่ตามแนวสองฟากถนนในหมู่บ้าน มีการย้ายถิ่นฐานน้อยเพราะสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการประกอบอาชีพได้ตลอดปี (หน้าที่ 34) (รายละเอียดโครงสร้างบ้านเรือนดูหัวข้อ Art and Crafts)

Demography

จำนวนประชากรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2536 มีจำนวน 375 คน ชาย 206 คน หญิง 169 คน ประชากรไทยลื้อบ้านท่าฟ้าเหนือส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงานร้อยละ 59.7 อยู่ในวัยเด็กหรือวัยที่เป็นภาระร้อยละ 25.6 และอยู่ในวัยสูงอายุ (ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป) ร้อยละ 14 .9 ประชากรทั้งหมดสืบเชื้อสายไทยลื้อโดยสังเกตจากสำเนียงการพูด (หน้า 35)

Economy

บ้านท่าฟ้าเหนือมีเนื้อที่ทั้งหมด 41,730 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตร 18,000 ไร่ แต่ละครอบครัวมีพื้นที่กรรมสิทธิ์ตั้งแต่ 1-5 ไร่ 75 ครอบครัว 6-10 ไร่ 15 ครอบครัว และไม่มีที่ดินทำกินจำนวน 13 ครอบครัว ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ทำไร่ นอกจากนี้ยังมีอาชีพประกอบเสริม เช่นหาของป่า รับจ้าง และอื่นๆ การทำนาปีละครั้งได้ผลผลิตข้าวประมาณ 350 กิโลกรัมต่อไร่ การทำสวน เช่น สวนผลไม้ ได้แก่ มะม่วง มะขาม เป็นต้น สวนผักสวนครัว ส่วนไร่ เช่น ไร่ข้าวโพด ไร่ยาสูบ ไร่ละหุ่ง เป็นต้น ชาวบ้านร้อยละ 85 ประกอบอาชีพมากกว่า 1 อย่าง ร้อยละ 15 ประกอบอาชีพอย่างเดียว เช่น รับจ้าง หาของป่า เป็นต้น เนื่องจากแต่ละครอบครัวประกอบอาชีพมากกว่า 1 อย่าง ดังนั้นแต่ละครอบครัวจึงมีรายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณ 10,000-25,000 บาทต่อปี (หน้า 43-44)

Social Organization

ครอบครัวไทยและครอบครัวไทยลื้อ บ้านท่าฟ้าเหนือ เดิมมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย เมื่อแต่งงานแล้วฝ่ายชายต้องไปอยู่บ้านพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นจะพาครอบครัวไปอยู่บ้านพ่อแม่ฝ่ายชายอีก 3 ปี จึงจะแยกครอบครัวเป็นอิสระได้ ปัจจุบัน ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น เพราะเมื่อแต่งงานแล้วสามารถแยกครอบครัวเป็นอิสระได้ แต่ก็ยังอาศัยอยู่ใกล้ ๆ บริเวณที่ดินพ่อแม่ของฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชายก็ได้ ไทยลื้อนิยมมีผัวเดียวเมียเดียว ไม่ชอบการหย่าร้างและการมีภรรยาหลายคน ระบบเครือญาติมี 2 ประเภท คือ เครือญาติทางสายโลหิต เป็นการนับญาติกันทางสืบสกุล ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่น้อง ส่วนเครือญาติอีกสายนับญาติเกี่ยวดองกันจากการสมรส ซึ่งเป็นญาติของฝ่ายสามีหรือภรรยา ทั้งสองฝ่ายมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ทำให้สมาชิกมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นญาติกัน สังเกตจากนามสกุลที่พบมากได้แก่ ไชยลังกา บัวแดง อุดทา มูลศรี แก้วสุ ใจกล้า เป็นต้น ไทยลื้อนับถือผู้อาวุโส เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆจะขอคำแนะนำปรึกษาผู้อาวุโส อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ฝ่ายชาย เนื่องจากไทยลื้อให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง วิถีชีวิตของไทยลื้อมีลักษณะเรียบง่าย ฝ่ายชายจะทำงาน ฝ่ายหญิงคอยหุงหาอาหาร การรับประทานอาหารมื้อเย็นเป็นช่วงเวลาที่อยู่พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว ส่วนผู้สูงอายุทุกวันพระจะมารวมตัวกันบริเวณลานหน้าวัดเพื่อช่วยกันทำความสะอาดลานวัดและบริเวณรอบ ๆ วัด พอช่วงสายก็เข้าวัดฟังเทศน์ ส่วนเด็กไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ชุมชนบ้านฟ้าเหนือชาวบ้านได้รวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มต่างๆ ได้แก่กลุ่มแม่บ้านที่ช่วยงานสาธารกุศลของหมู่บ้าน และกลุ่มผู้สูงอายุ (หน้า 36-37) บทบาทครอบครัวและเครือญาติมีส่วนช่วยสนับสนุนการรักษาสุขภาพแบบพื้นบ้านมาก ไม่ว่าจะเป็นการดูแล การให้กำลังใจตลอดจนการให้คำปรึกษากับสมาชิก ไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยและครอบครัว เพราะถือว่าไทลื้อต้องรักและสามัคคีกัน (หน้า 90)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ไทยลื้อมีความเชื่อและนับถือศาสนาพุทธผสมผสานกับการนับถือผี มีความเชื่อเรื่องขวัญและเรื่องไสยศาสตร์ ศูนย์กลางกิจกรรมด้านศาสนพิธีอยู่ที่วัดท่าฟ้าเหนือ ศูนย์กลางความเชื่อเรื่องผีอยู่ที่ "ข้าวจ้ำ" (ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการติดต่อระหว่างผีกับคน) และ "หอเจ้าเมืองมาง" การสักหมึก : ผู้ชายนิยมสักยันต์เรียกว่า "สักหมึก" เชื่อว่าถ้าไม่สักหมึก ตายไปจะเกิดเป็นวัวและถูกถลกหนังมาทำเป็นกลอง บริเวณที่นิยมสักตั้งแต่โคนขาบริเวณเหนือเข่าสองข้าง มองดูเหมือนกางเกงขาสั้น บริเวณรอบเอว และบริเวณต้นแขนทั้งสองข้าง ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ชายมีความอดทนและสามารถคุ้มครองผู้หญิงได้ ผู้หญิงไทยลื้อบางคนนิยมสักหมึกที่ท้องแขน ซึ่งเชื่อว่าเป็นการป้องกันผู้ชายมิให้ใช้เวทมนต์คาถามหาเสน่ห์ต่อตนได้ รูปที่นิยมสัก เช่น รูปสิงห์ รูปเสือ เชื่อว่าเป็นการผจญภัย แมวลอดบ่วง เชื่อว่าปลอดภัย รูปดอกบัวเชื่อว่าทนต่ออาวุธมีคม และผู้หญิงจะนิยมสักรูปกากบาทคล้ายสวัสดิกะของพรรคนาซี ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่และสิ่งนอกเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็นอื่น ๆ เช่น - "การตานธรรม" (การอุทิศส่วนกุศล) แก่ผู้ตาย เพราะเชื่อว่าได้ผลบุญกุศลอย่างมาก ทำให้ผู้ตายไปสู่สุขคติเร็วขึ้น การตานตุงเพราะเชื่อว่าผู้ตายจะเกาะชายตุงไปสู่สรวงสวรรค์ - การทำขวัญหรือสู่ขวัญช้างหลังจากได้งาน เชื่อว่าเป็นการขอโทษช้าง - การเลี้ยงผีฝายผีนาก็เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและข้าวไม่ให้ถูกรบกวนจากภัยต่าง ๆ - การสร้างบ้านเรือนมีการถือเคล็ดลางต่าง ๆ มีการแก้เคล็ด เช่น ขณะที่ขุดหลุม ถ้าพบเศษภาชนะแตกและเศษเหล็กถือเป็นลางไม่ดีต้องหยุด 1 วัน แล้วทำพิธีสะเดาะเคราะห์ แต่ถ้าพบกรวด ทราย หรือมีแต่ดินล้วน ๆ ถือว่าโชคดี เป็นต้น - การเลี้ยงสัตว์ต้องดูฤกษ์ยามให้ดีก่อน ถ้าไม่ปฏิบัติจะเกิดผลร้ายแก่ครอบครัว ดังคำสอนที่ว่า "ผีกิ๋นสิ่งใดบ่ได้ซื้อมาเลี้ยง จะหมดเสี้ยงสิบหายแล" - พิธีเลี้ยงผีเจ้าพ่อเมืองมาง ไทยลื้อเชื่อว่าเป็นผีบรรพบุรุษที่มาจากเมืองมางของแคว้นสิบสองปันนา ที่คอยติดตามทุกข์สุขของไทยลื้อทุกคน พิธีกำหนดเป็นประจำปีทุกวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ลื้อ (เดือนกุมภาพันธ์) โดยเชื่อว่าเป็นการเลี้ยงขอบคุณเจ้าพ่อเมืองมางที่คอยช่วยคุ้มครองและดูแลชุมชนให้ปกติสุข อีกทั้งเป็นการขอขมาหรือแก้บนของสมาชิกในชุมชนด้วย ผู้ทำพิธีคือ "ข้าวจ้ำ" พิธีกรรมของหมู่บ้านที่ถือปฏิบัติใน 12 เดือน ได้แก่ - เดือนเกี๋ยง (เดือน 1 ของไทยลื้อ ตรงกับเดือน 2 ของชาวล้านนาและตรงกับเดือนพฤศจิกายนตามปฏิทิน) ทำพิธีบูชาผีน้ำและขึ้นบ้านใหม่ - เดือนยี่ พิธีเลี้ยงผีเจ้าบ้าน ผีบรรพบุรุษ - เดือน 3 พิธีตานข้าวใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ - เดือนสี่ ทำพิธีทางศาสนา วันมาฆบูชา - เดือน 5 นิยมจัดงานแต่งงาน - เดือนหก งานสงกรานต์และขึ้นบ้านใหม่ - เดือน 7 บวชพระ แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ - เดือน 8 ขึ้นบ้านใหม่ - เดือน 9-11 เข้าพรรษา ตานก๋วยสลาก - เดือน 12 ออกพรรษา ผ้าป่า กฐินและขึ้นบ้านใหม่ (หน้า 39-42)

Education and Socialization

ในหมู่บ้านมีโรงเรียนบ้านท่าฟ้าเหนือ สร้างประมาณ พ.ศ.2482 เปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1- 4 ในปี พ.ศ. 2525 ขยายชั้นเรียนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชาวบ้านท่าฟ้าเหนือส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ในหมู่บ้านมีโรงเรียนท่าฟ้าเหนือ มีการศึกษาต่อในระดับมัธยมน้อยมาก มีไปเรียนต่อที่อำเภอเชียงม่วน 5 รายเพศชายทั้งหมด ส่วนผู้หญิงเมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้วทางครอบครัวไม่สนับสนุนให้เรียนต่อ จะให้ช่วยงานครอบครัว โรงเรียนนอกจากมีบทบาททางการศึกษาแล้วยังมีบทบาทในการอนุรักษ์การแต่งกายแบบไทยลื้อ และส่งเสริมให้เรียนดนตรีพื้นเมือง สะล้อ ซอ ซึง โดยใช้ทำนองจังหวะการขับลื้อและภาษาลื้อในการเรียนดนตรีพื้นเมือง เพราะปัจจุบันการขับลื้อขาดผู้สืบทอดเนื่องจากผู้ที่ขับลื้อได้เหลือเพียง 1 คน (หน้า 43 )

Health and Medicine

ลักษณะการเจ็บป่วยในอดีตของชาวบ้านท่าฟ้าเหนือ - โรคเด็กที่พบมากคือโรคไข้แล้วชัก เชื่อว่าสาเหตุมาจากถูกผีกระทำ ท้องอืดในเด็กเล็ก (แรกเกิด - 1 ปี) เด็กมีอาการร้องกวน ไม่ยอมนอนในช่วงบ่าย เชื่อว่าถูกผีกระทำเช่นกัน - การเจ็บป่วยในผู้ใหญ่มักเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการประกอบอาชีพ เช่น ไข้ป่า (มาลาเลีย) สาเหตุเชื่อว่าได้รับ "ไอพิษจากป่าฝน" อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เชื่อว่าเกิดจากการทำงานหนัก การเกิดผื่นคันตามบริเวณผิวหนังก็เชื่อว่าเกิดจากน้ำ จากแมลง และพืช อาการ "ลุต๊อง" (ท้องเสียหรืออุจจาระร่วง) เชื่อว่าเกิดจากการกินของเผ็ดหรือไม่แบ่งอาหารให้เจ้าที่กินบ้าง ดังนั้น ความเจ็บป่วยในอดีตมีทั้งความเจ็บป่วยที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากธรรมชาติ และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เช่น ผีกระทำให้เกิดเจ็บป่วย ได้แก่ ผีเจ้าที่ ผีกะ ผีปอป ผีตามอยและผีเจ้าเมืองมาง ซึ่งจะมีลักษณะคล้าย ๆ กันคือ เหม่อลอย ซึม ไม่กินอาหาร หรือไม่ก็อยากกินอาหารพิเศษ เช่น ลาบดิบ หลู้ (ลาบเลือด) เป็นต้น - ลักษณะการเจ็บป่วยปัจจุบันพบว่า การเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากธรรมชาติ การประกอบอาชีพ ร้อยละ 15.95 ผื่นคัน ร้อยละ 8.95 พิษจากแมลงต่าง ๆ ร้อยละ 8.17 โรคตาแดง ร้อยละ 5.06 ส่วนการเจ็บป่วยที่เกิดจากสาเหตุเหนือธรรมชาติมีเพียง ร้อยละ 5.45 เป็นอาการคล้ายคนโรคจิต ชาวบ้านเรียกว่า "ผีบ้าเข้า" การดูแลสุขภาพในอดีตจะเป็นแบบพึ่งพาตนเองในชุมชนก่อน เช่น นอนพักเพื่อสังเกตอาการ การรักษากับหมอพื้นบ้าน หรือทำพิธีทางไสยศาสตร์ ถ้าอาการไม่ทุเลาจึงเลือกรักษาสถานบริการสุขภาพของรัฐที่มีขณะนั้น เช่น สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลพะเยา (ก่อน พ.ศ. 2500 ยังไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอ) การดูแลสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยในปัจจุบัน ชาวบ้านท่าฟ้าเหนือยังเลือกที่จะใช้บริการหมอพื้นบ้านถึงร้อยละ 87.66 ซื้อยาตามร้านค้าที่มีในหมู่บ้านร้อยละ 49.74 และไปรับบริการจากสถานบริการของรัฐเพียง ร้อยละ 6.81 (หน้า 44-47) รูปแบบการรักษาแบบพื้นบ้าน มีหมอพื้นบ้าน 4 คน เป็นหมอเป่า 3 คน หมอยาเมือง 1 คน นอกจากนี้ยังมีบุคคลทำหน้าที่เสริมการรักษาทางจิตใจและทำพิธีกรรมต่าง ๆ อีก 3 คน คือ ข้าวจ้ำ 1 คน และอาจารย์ 2 คน โดยมีรูปแบบการรักษาคือ - การเป่า เป็นการท่องคาถา แล้วเป่าลมพรวดเดียวไปยังบริเวณที่มีอาการบางครั้งผู้ป่วยจะเรียก "เป่าเย็น" นอกจากนี้ยังมีการเป่าพ่นเป็นการท่องมนต์แล้วเป่าน้ำมนต์ที่มีสมุนไพรผสมไปยังบริเวณแผล ผู้รักษาเรียก "หมอเป่า" จะเป่าตามความชำนาญเฉพาะโรคนั้นและเรียกชื่อตามที่รักษา เช่นหมอเป่าตาเป่าพิษ หมอเป่าท้อง - การใช้สมุนไพร โดยการนำพืชมาทำเป็นยาหรือใช้เป็นส่วนประกอบของยาสามารถหาได้ในป่าบริเวณใกล้ชุมชนหรือปลูกเอง สมุนไพรเหล่านี้สามารถนำมารักษาได้ในรูปแบบต่าง ๆ กัน เช่น การ "ฮมไอ ฮมควัน" คล้ายการอบไอน้ำ การนาบแห้งนาบเปียก คล้ายการประคบ การฝน คือนำสมุนไพรแห้งในรูปแบบแท่ง เป็นกิ่งหรือก้านฝนกับหินผสมน้ำมนต์ใช้ได้ทั้งทาทั้งกิน การต้ม นำสมุนไพรทั้งสดและแห้งไปต้ม แล้วนำน้ำมาดื่มกิน การตำสด ๆ คือการนำสมุนไพรสดมาตำ การใช้สมุนไพรป่นหรือตำละเอียดมาทำแคปซูลหรือลูกกลอน เชื่อว่าเก็บง่ายกินง่าย หมอที่ใช้สมุนไพรเรียกว่า "หมอยาเมือง" - การใช้เฝือกหรือแซ่เป็นการนำไม้ไผ่ซีกเล็ก ๆ มาถักร้อยด้วยด้าย ใช้พันส่วนที่หัก ต้องเว้นพื้นที่ไม้แต่ละอันไว้ด้วยเพื่อกันชื้นไม่ให้เกิดกลิ่นอับและผื่นคัน ก่อนพันจะใช้ใบกล้วยอ่อนรองเชื่อว่าเป็นของเย็น จะช่วยดูดสิ่งไม่ดี สิ่งที่เป็นพิษที่อยู่ในแผลได้เมื่อใบกล้วยเหลืองจะเปลี่ยนใหม่ ชาวบ้านจะเรียกหมอที่ชำนาญการใช้เฝือกไม้ว่า "หมอยาเมือง" หรือ "หมอต่อดูกต่อเอ็น" - การรักษารูปแบบสุดท้ายคือการใช้พิธีกรรมในการรักษา ผู้ทำพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนหรือสัตว์เรียกว่า "อาจารย์" ส่วนผู้ที่ทำพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับผีเรียกว่า "ข้าวจ้ำ" (หน้าที่ 56-59)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ด้านสถาปัตยกรรม : บ้านของไทยลื้อส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง หลังคามุงด้วยสังกะสีและแป้นเกร็ด (กระเบื้องไม้) ตัวบ้านชั้นบนเมื่อขึ้นบันไดจะพบห้องโถงยกพื้นจากชานบ้าน เรียกว่า "เติ๋น" ทางทิศตะวันออกกั้นเป็นห้องนอนแล้วแต่จำนวนสมาชิกครอบครัว ห้องที่อยู่ทางทิศเหนือเป็นห้องพ่อแม่ ถัดไปเป็นห้องลูก ๆ ทางทิศใต้หรือทิศตะวันตกเป็นชานบ้านยื่นออกไป ใช้ทำครัว ในอดีตบริเวณนี้ใช้เชื่อมต่อกับยุ้งข้าว เรียกว่า "หลองข้าว" การสร้างห้องน้ำไม่นิยมสร้างในตัวบ้านหรือบนบ้านแต่จะสร้างอยู่ชั้นล่างห่างจากตัวบ้านประมาณ 10 เมตร บริเวณใต้ถุนเป็นที่เก็บอุปกรณ์การเกษตร บางทีใช้พักผ่อนหรือทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆไม่มีการกั้นรั้ว (หน้า 34-35) วัดท่าฟ้าเหนือ ตัวโบสถ์เป็นศิลปะไทยลื้อ สังเกตจากหลังคาโบสถ์ที่เป็นหลังคามีเอว คือเป็นหลังคาสองชั้นระหว่างรอยต่อชั้นเป็นทางตรงมองคล้ายเอวหลังคา ภายในตัวโบสถ์มีภาพวาดฝาผนังพุทธประวัติ และภาพวาดประวัติความเป็นมาและวิถีชีวิตของไทยลื้อบ้านท่าฟ้าเหนือ และภาพประเพณีวัฒนธรรม การแต่งกาย ประตูวัดถ่ายแบบซุ้มจากวัดในจังหวัดแพร่และน่าน นำมาประยุกต์สร้างเลียนแบบ ทำด้วยไม้สักล้วน (หน้า 39) การแต่งกาย : นิยมแต่งกายด้วยชุดลื้อ ที่ทำมาจากผ้าทอสีครามหรือสีน้ำเงินแก่ สีที่ย้อมมาจากธรรมชาติ เช่น สีน้ำเงินได้จากใบห้อม สีดำจากเมล็ดนิล สีเหลืองจากไม้ฝาง สีแดงจากเปลือกไม้ดู่ อดีตทอผ้าปั่นฝ้ายเอง การแต่งกายผู้หญิงสวมเสื้อปั๊ดมีลักษณะคล้ายเสื้อป้ายข้าง เป็นเสื้อรัดรูปเอวลอย ผ่าหน้า มีสาบเสื้อเฉียงมาผูกติดกับมุมด้านซ้ายหรือด้านขวาของตัวเสื้อ สาบเสื้อนิยมขลิบด้วยผ้าแถบสีต่าง ๆ แขนยาวกระบอก นุ่งซิ่นลื้อมีลวดลายสวยงาม ลายที่เป็นเอกลักษณ์คือ ลายเกาะ ลายผักแว่น ลายหางปลา ที่เอวใช้เข็มขัดเงินรัด ผมเกล้ามวยเรียก "ผมแม็ม" ปักมวยผมด้วยปิ่นเงินหรือดอกไม้ตามฤดูกาล โอกาสพิเศษจะโพกผ้าขาวที่ศีรษะ สะพายถุงย่ามสีแดง นิยมใส่ตุ้มหูและลานหูทำมาจากแผ่นทองคำบาง ๆ ม้วนแล้วสอดเข้ารูใบหูที่เจาะไว้ บางครั้งลานหูทำมาจากตุ้มหูพลอยสีต่าง ๆ พันผ้าสีแดงคล้ายลานหูแผ่นทอง การแต่งกายของผู้ชาย เสื้อคอกลมผ่าหน้า ชายเสื้อแหวกข้างยาวประมาณ 1 คืบ คล้าย ๆ เสื้อหม้อห้อมของชาวล้านนา นุ่งเตี่ยวสามดูก (คล้าย ๆ กางเกงขาก๊วย) โอกาสพิเศษโพกผ้าขาวเช่นกัน ปัจจุบัน การแต่งกายแบบไทยลื้อพบในผู้สูงอายุ หญิงวัยกลางคน และผู้ชายจะแต่งกายคล้ายชาวล้านนา วัยรุ่นแต่งตามสมัยนิยม (หน้า 38-39) ผู้ทำพิธีเลี้ยงผีเจ้าพ่อเมืองมางต้องแต่งกายด้วยสีขาวล้วน เสื้อคอกลม กางเกงขาก๊วย ผ้าพาดไหล่และโพกศีรษะ (หน้า 42) ดนตรี ของลื้อเป็นวรรณกรรมผสมดนตรีที่เรียกว่า "การขับลื้อ" ผู้ร้องเรียก ช่างขับ ผู้เป่าปี่เรียก ช่างปี่ ปี่ของไทยลื้อทำมาจากไม้รวก ลักษณะคล้ายปี่ของชาวล้านนาที่ใช้กับซอเชียงใหม่ การขับลื้อเนื้อหาจะกล่าวถึงวิถีชีวิต มักขับในงานมงคลและงานรื่นเริงต่าง ๆ (หน้า 38)

Folklore

มีเรื่องเล่าที่มาของชื่อบ้าน "ท่าฟ้า" ผู้เฒ่าได้เล่าต่อ ๆ กันมาว่า เดิมมีผู้เฒ่าสองสามีภรรยาจากบ้านมางได้มาทำไร่อยู่บริเวณท่าข้ามบริเวณนี้เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าต่างๆ สองผู้เฒ่าได้มาจับจองเป็นเจ้าของและปลูกพืชต่าง ๆ ทิ้งเอาไว้ เมื่อใกล้เวลาเก็บเกี่ยวต้องมานอนเฝ้าระวังสัตว์ป่าที่ชอบเข้ามาทำลายพืชไร่ วันหนึ่งมีช้างโขลงหนึ่งได้เข้าไปทำลายต้นข้าวที่กำลังออกรวงเกิดความเสียหาย ผู้เฒ่าโมโหจึงไล่ยิงช้างตายเสียจำนวนมาก เทวดารักษาป่าเห็นว่าผู้เฒ่าทำไม่ถูก เพราะเข้าไปบุกรุกแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่าเพื่อถางเป็นแหล่งทำกินของตน ถือว่าเบียดเบียนสัตว์แล้วยังฆ่าช้างป่าตายจึงลงโทษโดยบัลดาลให้ฟ้าผ่าทั้งสองผู้เฒ่าถึงแก่ความตาย ต่อมาบริเวณที่ผู้เฒ่าถูกฟ้าผ่าตาย เรียกว่า "เฒ่าฟ้าผ่า" เมื่อขยายหมู่บ้านออกไปถึงบริเวณนั้นก็ได้ชื่อว่า "บ้านเฒ่าฟ้า" และต่อมาสำเนียงอาจเพี้ยนหรือถูกเปลี่ยนเป็น "ท่าฟ้า" ในปัจจุบันอีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า หัวหน้าไทยลื้อที่อพยพมาจากหมู่บ้านหงาว อำเภอเทิงชื่อว่า แสนอิฐทิ หลังจากได้นำลูกบ้านถึงท่าฟ้าใต้ในปัจจุบัน ได้หยุดพักริมฝั่งน้ำยม และได้ตากผ้าไว้ เมื่อตกลงกันจะตั้งรกรากบริเวณนี้จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านตากผ้า" ต่อมาได้เพี้ยนเป็น "บ้านท่าฟ้า" มาจนถึงปัจจุบัน (หน้า 31 -32)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

แบบแผนการดูแลสุขภาพและรูปแบบวิธีการรักษาของไทลื้อ มีลักษณะการดูแลกันเองภายในครอบครัวโดยให้ความสำคัญกับหญิงตั้งครรภ์และเด็ก ซึ่งมีข้อห้ามในเรื่องอาหารและการปฏิบัติตัวโดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ (หน้า ง) ปัจจุบันไทลื้อโดยมากยังให้ความสำคัญกับการรักษาแบบพื้นบ้านและหมอพื้นบ้าน เพราะถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่มีค่าและเป็นมรดกที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ (หน้า 97)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมมีลักษณะเป็นสังคมเดี่ยวมากขึ้น (หน้า 36) ประเพณีบางอย่างเริ่มสูญหาย เช่น การแต่งกาย ปัจจุบันหญิงวัยกลางคนและผู้ชายจะแต่งกายคล้ายชาวล้านนา ส่วนวัยรุ่นจะแต่งกายตามสมัยนิยมมากขึ้น (หน้า 38) ดนตรีเช่นการขับลื้อเริ่มจางหายเพราะขาดผู้สืบทอด (หน้า 39) ปัจจุบันบ้านไทยลื้อไม่นิยมสร้างยุ้งข้าว เพราะทำนาปีละครั้ง ได้ข้าวมาก็ขายเหลือไว้เพียงส่วนน้อย พื้นที่ตรงยุ้งข้าวก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างอื่น กอปรกับสมาชิกของครอบครัวไม่ได้อยู่รวมกันเหมือนครอบครัวขยายในอดีต (หน้า 34)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

รูปภาพ - แผนที่จังหวัดพะเยา(หน้า 27) - แผนที่อำเภอเชียงม่วน(28) - แผนที่บ้านท่าฟ้าเหนือ(29) ตาราง - แสดงลักษณะทางประชากรของไทยลื้อบ้านท่าฟ้าเหนือ(35) - แสดงจำนวนของผู้ป่วยที่มารับการรักษาจากหมอ ว.(67) - แสดงจำนวนของผู้ป่วยที่มารับการรักษาจากหมอ อ.(70) - แสดงจำนวนของผู้ป่วยที่มารับการรักษาจากหมอ น.(73) - แสดงจำนวนของผู้ป่วยที่มารับการรักษาจากหมอ ด.(76) - แสดงลักษณะจำนวนผู้ป่วยที่มารับการรักษากับหมอพื้นบ้าน(84) - แสดงโรคหรืออาการที่ผู้ป่วยมารับการรักษากับหมอพื้นบ้าน(86) - การตัดสินใจเลือกแหล่งรักษาของผู้ป่วย(88)

Text Analyst ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง, สุวิทย์ เลิศวิมลศักดิ์ Date of Report 07 พ.ค. 2556
TAG ลื้อ, การแพทย์พื้นบ้าน, พะเยา, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง