สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject เญอ,ลาวโซ่ง,คนอีสาน,การเปลี่ยนแปลง,เศรษฐกิจ,การเมือง,สังคม,วัฒนธรรม,ผลกระทบ,ตะวันออกเฉียงเหนือ
Author สมศักดิ์ ศรีสันติสุข, สุวิทย์ ธีรศาศวัต, ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์, ดุษฎี กาฬอ่อนศรี
Title การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในชุมชนบ้านเยอ บ้านไทยดำ และบ้านไทยลาว : การศึกษาเปรียบเทียบเฉพาะกรณี
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, เยอ กูยเยอ, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 372 Year 2530
Source คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น. ขอนแก่น : ยูเสด
Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของชุมชน ลักษณะปัจจัย ละผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรมในชุมชนบ้านเยอ ไทยดำ และไทยลาว โดยใช้วิธีการวิจัยภาคสนามเก็บข้อมูลเป็นเวลา 1 ปี โดยใช้เทคนิควิธีการวิจัยทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ผลการวิจัยพบว่า การตั้งถิ่นฐานของทั้งสามชุมชนมีความคล้ายกัน แต่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและอายุแต่ละชุมชนนั้นแตกต่างกัน ลักษณะทางเศรษฐกิจทั้งสามชุมชนคล้ายกันในด้านอาชีพ การแลกเปลี่ยนแรงงาน และวิถีทางเศรษฐกิจซึ่งเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพมาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเงินสด ทางการเมือง รัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชุมชน และชาวบ้านมีทัศนคติที่ดีต่อรัฐ ลักษณะเครือญาติและครอบครัวแต่ละชุมชนเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ และแตกต่างกันในเรื่องแบบแผนครอบครัว บทบาทของพ่อแม่ การแต่งงานและการแบ่งมรดก ซึ่งในบ้านไทเยอและบ้านไทยลาวนั้นมีความห่างเหินกันมากขึ้น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ แต่บ้านไทยดำยังแน่นแฟ้นกันเหมือนในอดีต การศึกษานิยมเรียนต่อกันมากขึ้นกว่าในอดีต บทบาทของครูมีมากขึ้นกว่าในอดีต การสาธารณสุขนิยมการแพทย์แผนตะวันตกมากขึ้น ระบบความเชื่อและประเพณี เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ และแตกต่างไปตามแต่ละชุมชน กล่าวโดยสรุป อัตราการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในแต่ละชุมชนมีมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมตามลำดับ โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือปัจจัยทางนิเวศวิทยา ปัจจัยด้านชาติพันธุ์ และปัจจัยด้านบุคลิกภาพ ปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกันทั้งสามชุมชนและเป็นอัตราที่เร็วกว่าด้านอื่น การเปรียบเทียบผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจคล้ายกันทั้งสามชุมชนคือ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆด้านการเกษตร การมีหนี้สินมากขึ้นและทัศนคติต่อฐานะของชาวบ้านนั้นมีฐานะเดียวกัน ส่วนด้านการเมืองทั้งสามชุมชนคล้ายกันคือกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้นและคุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ด้านสังคมและวัฒนธรรมมีความคล้ายคลึงกันทั้งสามชุมชน คือ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกในครัวเรือน การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทัศนคติที่ดีต่อการพัฒนาท้องถิ่นและ เจ้าหน้าที่รัฐ การกลมกลืนทางวัฒนธรรมและปัญหาสังคมในชุมชน แต่สิ่งที่ไม่ได้รับผลกระทบได้แก่ การปฏิบัติในครัวเรือนในเรื่องศาสนาและเชื่อฟังผู้ที่มีอาวุโส แต่ก็แตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน ดังนั้นผลกระทบทางของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มีมากกว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมตามลำดับ (หน้า 2-5)

Focus

ศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในชุมชนบ้านไทเยอ บ้านไทดำ และบ้านไทลาว

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

มีไทเยอ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ของกลุ่มหนึ่งของกวยหรือกุยหรือข่า (หน้า 87) ไทย ดำ (หน้า 91) และ ไทยลาว

Language and Linguistic Affiliations

ไทเยอจะพูดภาษาเยอตลอด แม้ว่าจะพูดและเข้าใจภาษาอีสานแต่จะใช้สนทนากับคนต่างถิ่นเท่านั้น เด็ก ๆ เมื่อเข้าโรงเรียนจะเรียนรู้ภาษาไทยที่โรงเรียน (หน้า 155) ไทยดำจะพูดภาษาไทยดำ จนเมื่อมีการติดต่อกับภายนอกมากและมาตั้งบ้านเรือนมากขึ้นจึงเริ่มมีการพูดภาษาไทยอีสานกับคนอีสานทั้งคนภายในและภายนอกหมู่บ้าน ส่วนภาษาไทยภาคกลางจะใช้เฉพาะการเรียนที่โรงเรียนเท่านั้น (หน้า 160-162) ไทยลาว คนในชุมชนนิยมใช้ภาษาถิ่น(ภาษาไทยลาว) ส่วนภาษากลางฟังได้แต่พูดไม่ถนัดเท่าภาษาถิ่น (หน้า 166)

Study Period (Data Collection)

2 ปี โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างชุมชนชาติพันธุ์สองแห่งกับชุมชนบ้านไทยลาวซึ่งใช้เวลาเก็บข้อมูลภาคสนาม 12 เดือน ส่วนอีก 1 ปีเป็นการประมวลผลข้อมูลและการเขียนรายงาน (หน้า 39)

History of the Group and Community

ประวัติชุมชนบ้านเยอ เยอเป็นกลุ่มหนึ่งของพวกกวย กุยหรือข่า ประวัตินั้นสืบเนื่องมาจากสมัยเจ้าสร้อยศรีสุมทรพุทธางกูรปกครองจำปาภักดี ได้แผ่อำนาจการปกครองไปสองฝั่งลำน้ำโขง และแถบอีสานใต้ ได้สร้างเมืองขึ้นในแถบนี้คือ ศรีนครลำดวน พวกข่าหรือเยอจึงได้อพยพมาด้วยในตอนนั้น ในสมัยรัตนโกสินทร์หัวหน้าข่ากูยได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระและให้ปกครองบ้านเมือง ต่อมามีการเล่าว่าผู้นำหมู่บ้านเยอที่มีบรรดาศักดิ์เป็นพระได้รวมตัวกันที่บ้านปราสาทเยอ และนำเยอมาตั้งบ้านใหม่รอบ ๆ บ้านเดิม มีพระคิลาเป็นผู้นำอยู่บ้านเดิม พระโคตรและพระแก้วมาตั้งชุมชนบ้านเยอ โดยก่อนหน้านั้นได้ตั้งที่บ้านโนนแกดก่อน เพราะตอนนั้นบริเวณชุมชนมีพวกข่าตองเหลืองและพวกเขมรอาศัยอยู่ หลังจากไทยรบชนะเขมรแล้วจึงค่อยถอนร่นไป เยอที่บ้านโน แกดจึงมาตั้งถิ่นฐานที่นี่ หลังจากตั้งชุมชนแล้วมีเยออีกกลุ่มมาจากเมืองดง (ปัจจุบัน คือ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ) อพยพเข้ามาชุมชนบ้านเยอนี้โดยเยอที่อพยพมาจากเมืองดงนี้อพยพมาจากเวียงจันทร์ก่อน เยอทั้งสองกลุ่มไม่รู้สึกแบ่งแยกและมีการแต่งงานระหว่างกัน ประวัติชุมชนบ้านไทยดำถิ่นเดิมไม่สามารถบอกได้ แต่ทราบว่าอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งบริเวณแม่น้ำอู (แม่น้ำที่ไหลบรรจบกับแม่น้ำโขงที่หลวงพระบาง) ในแคว้นสิบสองจุไทยและเมืองแถง(ปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟู) เป็นเมืองหลวง จนถึงพุทธศตวรรษที่ 1920 จึงได้เข้ามาอยู่ในปกครองของหลวงพระบาง แต่บางคราวก็ปกครองไม่ทั่วบางครั้งจึงขึ้นกับจีนหรือญวนหรือลาวบ้างเรียกว่า "สามฝ่ายฟ้า" การอพยพของไทยดำได้ถูกกวาดต้อนมาหลายครั้งทั้งสมัยธนบุรี สมัยรัชกาลที่ 1 หรือสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อปราบได้ก็ให้กวาดต้อนไทยดำไปตั้งบ้านเรือนที่เพชรบุรีและหัวเมืองตะวันตก ส่วนกรณีของไทยดำที่จังหวัดเลยนี้เป็นผลจากการยกกองทัพไปปราบฮ่อเมื่อปี พ.ศ.2417 พบว่า ชุมชนบ้านไทยดำอพยพมาจากแคว้นพวน ปีนั้นพวกฮ่อยกมาตีเมืองเชียงขวางซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญของแคว้นพวน ทางหลวงพระบางเกรงว่าจะยกมาตีเมืองหลวงพระบางด้วยจึงขอความช่วยเหลือมายังไทย พ.ศ. 2418 ทางกรุงเทพฯ ได้ส่งพระยาภูธราภัย (คนแก่จะเรียกว่า พระยาชมภู) เป็นแม่ทัพไปปราบฮ่อทางหลวงพระบางเมื่อได้รับชัยชนะ จึงใช้นโยบายอพยพผู้คนจากแคว้นพวนมาไทยด้วย ส่วนหนึ่งคือไทยดำซึ่งคราวนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งหลักแหล่งทีจังหวัดลพบุรี ที่บ้านหมี่ คลองสนามแจง ตั้งบ้านเรือนที่นี่ราว 7-8 ปี ต่อมาเจ้าเมืองบริขันธ์มาขอราษฎรกลับไปยังเชียงขวาง รัชกาลที่ 5 ก็ทรงยินยอม เมื่อถึงเมือหล่มสักเจ้าเมืองบริขันธ์ต้องกลับไปเจรจากับทางฝรั่งเศษจึงให้ไทยดำพักอยู่ที่นี่โดยขึ้นกับพระยาพานทอง เจ้าเมืองหล่มศักดิ์ยาวนาน 16 ปี ต่อมาชาวฝรั่งเศสจึงมาขอนำไทยดำที่ตกค้างกลับไปยังลาวบางส่วนขออยู่ที่หล่มศักดิ์ต่อบางส่วนขอกลับโดยมีชาวฝรั่งเศสนำทางเมื่อถึงเวียงจันทร์ก็ทิ้งไทยดำไว้ไม่ยอมไปส่งต่อที่เชียงขวาง จึงได้เดินทางต่อกันไปเอง แต่เมื่อถึงเชียงขวางพบว่าไม่เหมาะที่จะตั้งบ้านเรือนอยู่ จึงคิดที่จะกลับไปยังหล่มศักดิ์ โดยเดินทางข้ามโขงมาขึ้นที่บ้านสง่าว ตามเส้นทางบ้านปากปัด นาคร้อ ท่าบ่ม ตั้งบ้านเรือนที่นั่นต่อมาได้ย้ายมาที่บ้านนาเบนแล้วจึงย้ายมาที่ชุมชนบ้านไทยดำปัจจุบัน คงเป็นเพราะทำเลดีมีความอุดมสมบูรณ์ ปี พ.ศ.2448 มีครอบครัวมาตั้งหลักแหล่ง 15 ครอบครัว จึงให้ชื่อว่าหมู่บ้านป่าหนาด ตามชื่อต้นหนาดที่มีมากมายในบริเวณนั้น ประวัติชุมชนบ้านไทยลาว ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2450 ครอบครัวแรกที่มาตั้งคือ นายมุน อ้อชัยภูมิ เกิดที่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา สาเหตุที่ย้ายเนื่องจากชาวบ้านท่าเดื่อซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มใหญ่ต้องการย้ายจากบ้านท่าเดื่อ เนื่องจากอยู่ติดลำน้ำชี มีปัญหาน้ำท่วม ชาวบ้านท่าเดื่อจึงชวนนายมุนซึ่งตอนนั้นตั้งอยู่ที่บ้านหลุบโพธิ์เพื่อให้ช่วยรักษาชาวบ้าน เนื่องจากนายมุนเป็นหมอ สาเหตุที่ตั้งที่นี่ก็เพราะเป็นที่กว้างขวางและน้ำท่วมไม่ถึง นอกจากนี้ชาวท่าเดื่อมีที่นาใกล้กับบ้านโนนตะแบกอยู่แล้ว ที่นี่มีที่ว่างใช้เลี้ยงควายได้เพียงพอ และมีหนองน้ำท่งลุยมีน้ำตลอดปี (หน้า 93-94)

Settlement Pattern

การตั้งถิ่นฐานของทั้ง 3 ชุมชนมีลักษณะใกล้เคียงกันคือเป็นที่เนิน น้ำท่วมไม่ถึง และลักษณะการตั้งบ้านเรือนแบบกระจุกกันเป็นกลุ่ม แต่ความหนาแน่นแตกต่างกันตามทำเลที่ตั้ง คือบ้านเยอจะมีขอบเขตหนาแน่นค่อนข้างมาก รองลงมาคือบ้านไทยลาว ส่วนบ้านไทยดำค่อนข้างเป็นระเบียบและไม่หนาแน่น โดยหมู่บ้านจะเรียงรายกันไปตามถนนกลางบ้าน โดยการตั้งหมู่บ้านแบบนี้เป็นไปตามลักษณะของหมู่บ้านที่ต้องการการพึ่งพาและร่วมมือกันในสังคม นอกจากการตั้งถิ่นฐานยังเป็นไปในลักษณะที่เอื้อแก่การทำเกษตรกรรมคือจะตั้งชุมชนใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี (หน้า 85)

Demography

ชุมชนบ้านเยอ จำนวนประชากรที่มีอายุระหว่าง 0-14 ร้อยละ 22.9 (299 คน) ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีร้อยละ 6.4(66 คน) ส่วนวัยแรงงานอายุระหว่าง 15-60 มีร้อยละ 64.4 (659 คน) ดังนั้นส่วนที่เป็นภาระเท่ากับร้อยละ 55.4 แสดงว่าวัยแรงงานรับภาระการเลี้ยงดูน้อย ทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนนี้ค่อนข้างดี อัตราการเกิดและตายลดลง (ตารางและแผนภาพหน้า 97และ 98) แสดงให้เห็นถึงการสาธารณะสุขที่ดีและมีการวางแผนครอบครัว (หน้า 96) ชุมชนบ้านไทยดำ ประชากรที่มีอายุอยู่ระหว่าง 0-14 ปีมีร้อยละ 27.7 (299 คน) วัยแรงงานอายุระหว่าง 15-60 ร้อยละ 65.3 (541 คน) ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 7.0 (58 คน) อัตราส่วนที่เป็นภาระเท่ากับ 53.0 แสดงให้เห็นว่าลักษณะชุมชนคล้ายกับบ้านเยอ (หน้า 96) ชุมชนบ้านไทยลาว ประชากรที่มีอายุระหว่าง 0-14 ปีร้อยละ 31.7 (457 คน) ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 7.5 (108 คน) ประชากรวัยแรงงานอายุ 15-60 ร้อยละ 60.8 (876 คน) อัตราส่วนผู้ที่เป็นภาระเท่ากับ 64.5 แสดงว่าวัยแรงงานต้องรับภาระเลี้งดูมากพอสมควรเศรษฐกิจชุมชนอยู่ในลักษณะกำลังพัฒนา อัตราการเกิดมีค่อนข้างมาก ปัจจุบันชาวบ้านรู้จักการคุมกำเนิดมากขึ้น (หน้าที่ 96, 99)

Economy

ชุมชนบ้านเยอ อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพสำคัญในอดีต (พ.ศ. 2489) มีอาชีพหลักอาชีพเดียวคือทำนาปัจจุบันมีหลากหลายขึ้น แต่ทำนาก็ยังเป็นหลักอยู่ ปลูกฝ้ายเริ่มเมื่อ พ.ศ.2489 ต่อมาเลิกเพราะราคาไม่ดีมาเลี้ยงไหมแทน ต่อมามีทำไร่อ้อยแต่ราคาไม่ดีก็เลิกปลูก การทำปอมีการทำเรื่อย ๆ อาชีพที่สำคัญอีกอย่างคือพ่อค้าคนกลาง เริ่มเมื่อปี พ.ศ.2499 ปัจจุบันบทบาทคือการรับซื้อข้าว ปอ จากชาวบ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง การค้าในอดีตไม่ต้องพึ่งร้านค้าเพราะหาของป่ามาเป็นอาหารและสามารถแลกเปลี่ยนระหว่างเพื่อนบ้านและญาติพี่น้องได้ ต่อมามีร้านค้าเพิ่มขึ้นจากร้านเดียวเป็น 9 ร้าน ส่วนการแลกเปลี่ยนสิ่งของก็ยังมีอยู่แต่ไม่ใช่แค่ญาติพี่น้องแต่แลกเปลี่ยนกันทั้งหมู่บ้านและหมู่บ้านอื่น ชุมชนบ้านไทยดำ อาชีพหลักคือเกษตรกรรม ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ แต่เดิมทำนาเป็นหลักเพื่อบริโภคในครัวเรือน ปัจจุบันผลิตเพื่อขาย ปัจจุบันมีการเกษตรหลายประเภทขึ้น เช่น ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ การทำไร่ครั้งแรก คือ ไร่ฝ้าย เป็นพืชเศรษฐกิจเมื่อ พ.ศ 2478 ตั้งแต่นั้นทำกันเฉลี่ยครัวเรือนละ 10-15 ไร่ จนทำกันทุกครัวเรือนเมื่อ พ.ศ. 2489 ปัจจุบันต้นทุนมากขึ้นเหลือทำเพียง 9 ครัวเรือน ไร่มันสำปะหลัง ทำกันเมื่อปี พ.ศ. 2518 ต่อมา พ.ศ. 2516 ราคามันสำปะหลังเริ่มตกชาวบ้านเลิกปลูกแล้ว ไร่ข้าวโพด เริ่มพร้อมมันสำปะหลัง ปัจจุบันยังทำอยู่โดยมีพ่อค้ามาซื้อแล้วนำไปขายต่ออีกที การเลี้ยงสัตว์เดิมเลี้ยงวัวควายไว้ใช้งานและขาย ปัจจุบันใช้รถไถมากขึ้น การเลี้ยงจึงลดลง ส่วนสัตว์ประเภทอื่นคือการเลี้ยงหมู เป็ดและไก่เพื่อไว้บริโภค ประกอบพิธีกรรม และขาย การทำสวนส่วนมากเพื่อไว้บริโภคถ้าเหลือจึงขาย การแลกเปลี่ยนและการจ้างแรงงานเดิมทำกันในหมู่ญาติพี่น้อง ต่อมาเริ่มจ้างแรงงานนอกมากขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 โดยจ้างจากหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อเป็นแรงงานในการทำนา ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่า ลักษณะทางเศรษฐกิจของชุมชนไทยดำนั้นเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบยังชีพมาเป็นระบบเศรษฐกิจเพื่อขาย (หน้า 105-107) ชุมชนไทยลาว การทำนาเป็นอาชีพสำคัญทั้งในอดีตและปัจจุบัน คาดว่าน่าจะในอนาคตด้วย ความแตกต่างคือมีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ทำให้ขายได้ราคาดีขึ้น รวมทั้งมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น การทำไร่เริ่มก่อนปี พ.ศ. 2500 แต่เพื่อบริโภค ภายหลังจึงเริ่มขาย การทำไร่ คือมันสำปะหลังเมื่อ 2505 จน พ.ศ. 2527 ราคาตกจึงปลูกลดลงหันไปทำไร่ปอแทน การค้าขายมีบทบาทตั้งแต่ พ.ศ. 2465 รายแรก ๆ เลิกหมดแล้ว ปัจจุบันมี 10 ร้านค้าขายทั้งทั่วไปและรับซื้อปอและมันสำปะหลัง จนมีลานตากมันแล้วจึงนำไปขายต่อยังอำเภอและจังหวัดอีกทอด โรงสีมี 6 แห่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2469 ต่อมา พ.ศ. 2525 มีเพิ่มอีก 3 โรง ทุกโรงจะมีการเลี้ยงหมู เพราะได้รำจากการสีข้าวมาเลี้ยงหมู การแลกเปลี่ยนแรงงานเดิมทำกันในญาติพี่น้อง แต่มีแนวโน้มลดลง เป็นการจ้างงานมากขึ้นโดยเฉพาะในด้านเกษตร ค่าจ้างเช่นเก็บเกี่ยวคิดเป็นร้อยละ 50-65 บาท ถ้าเป็นวันวันละ 30 บาท การจ้างมีตลอดปี การจ้างแรงงานในชุมชนที่สำคัญคือการไปทำงานนอกประเทศเช่นตะวันออกกลาง เงินเดือนมีตั้งแต่ 6,000-10,000 บาท ซึ่งเป็นความฝันสูงสุดของชาวบ้านที่มีความรู้ระดับ ป. 4 หรือ ป. 6 การไปนอกมักเป็นคนระดับปานกลางเพราะทุนสูงโดยเฉลี่ยประมาณคนละ 43,000 บาท จึงมีการกู้เงินขึ้นซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 5-10 บาทต่อเดือน งานที่ทำในต่างประเทศคือ กรรมกรก่อสร้าง ช่างปูน ช่างกระเบื้อง งานกึ่งวิชาชีพมีน้อย เช่นช่างไฟฟ้า พนักงานวิทยาศาสตร์ ประเทศที่ไปมาก คือ ซาอุฯ อิรัก และบาเรนห์ ดังนั้นพอสรุปได้ว่าระบบเศรษฐกิจชุมชนบ้านไทยลาวเปลี่ยนจากแบบยังชีพมาเป็นระบบเศรษฐกิจการค้ามากขึ้น (หน้า 108, 113)

Social Organization

ชุมชนบ้านเยอ ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวขยายแบบชั่วคราว ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูกเขย หลาน หรือญาติพี่น้องมาอาศัยอยู่ในครัวเรือน ชุมชนนี้ลูกเขยต้องมาอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย เมื่อมีบุตรหรือลุกสาวคนต่อไปแต่งงานแล้ว จึงจะไปตั้งครอบครัวใหม่ได้ การตั้งครอบครัวใหม่เลยยังไม่มี บทบาทของพ่อแม่ มีหลายอย่าง ได้แก่ การเอาใจใส่ลูก อบรมสั่งสอนการดำรงชีวิต การเลือกคู่ครองหากเห็นว่าเหมาะสมก็จะไปสู่ขอให้ ในปัจจุบันพ่อแม่ลดบทบาทลง มีสถาบันอื่นๆ เกิดขึ้น ได้แก่โรงเรียน ลูกมักเชื่อฟังครูมากกว่าพ่อแม่ พ่อแม่รู้สึกว่าลูกเชื่อฟังน้อยกว่าแต่ก่อนลูกสามารถหาความบันเทิงจากแหล่งต่าง ๆ ได้เอง ทำให้ครอบครัวเป็นหน่วยทางเศรษฐกิจ การแต่งงาน ในอดีตการเกี้ยวพาราสีมักเกิดขึ้นในกิจกรรมที่หนุ่มสาวร่วมกันทำ เช่น การลงแขก ดำนา เป็นต้น ซึ่งอยู่ในสายตาพ่อแม่ตลอดเวลา ถ้าเห็นดีก็จะมาแต่งงานกันตามประเพณี แต่ปัจจุบันได้ต่างไปตากเดิม เพราะกิจกรรมลดลง หนุ่มสาวมีอิสระมากข้นที่จะพูดคุยกัน โดยไม่ได้อยู่ในสายตาพ่อแม่อย่างในอดีต ประเพณีการแต่งงานทั้งอดีตและปัจจุบันเหมือนกันแต่มีสินสอดมากขึ้น (รายละเอียดการแต่งงาน ดู หน้า 127-130) การแต่งงานข้ามเผ่าพันธุ์มีมา 150 ปี แล้วคือกับทั้งคนเขมร คนลาวอีสาน มอญ และไทยแต่ยังมีจำนวนไม่มาก เพราะในอดีตเยอมักไม่ค่อยออกไปนอกหมู่บ้านมากนัก และไม่มีปัญหาด้านภาษา การแบ่งมรดกในอดีตราว 30 ปีก่อนจะแบ่งที่นาให้ลูกสาวเท่านั้น ไม่ให้ลูกชายเลย แต่อาจได้พวกวัวควายบ้างเพราะเมื่อแต่งงานแล้วจะไปอยู่ฝ่ายภรรยาได้มรดกจากภรรยาแทน และเชื่อว่าลูกชายเก่งกว่าลูกสาวทำมาหากินเองได้ สำหรับการให้ลูกสาวจะให้กับลูกที่อยู่กับพ่อแม่มากที่สุด เพราะเป็นผู้ดูแลพ่อแม่มักเป็นลูกคนสุดท้อง ถ้าไม่มีลูกสาว ลูกชายจะนำภรรยามาอยู่กับพ่อแม่และได้มรดกไป ต่อมาการให้มรดกให้ลูกชายและลูกสาวเท่า ๆ กัน ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ ในชุมชนมีความผูกพันกันมากช่วยเหลือกันเกือบทุกด้าน อาจเป็นเพราะภายในหมู่บ้านเป็นพี่น้องกันหมดแม้ออกเรือนไปก็อยู่ใกล้เคียงกัน ภายหลังเมื่อมีความคิดในเชิงเศรษฐกิจมากขึ้น ความห่างเหินกันก็มากขึ้นตามความสัมพันธ์จะแสดงออกในช่วงมีพิธีกรรมเท่านั้น เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงเข้ามามีบทบาทแทน แม้แต่การกู้ยืมเงิน ปัจจุบันไม่นิยมยืมกับญาติ (หน้า 125-134) ชุมชนบ้านไทยดำ ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวขยายแบบชั่วคราว ลูกชายคนโตจะอยู่กับพ่อแม่เพื่อสืบวงศ์ตระกูลที่ต้องบูชาผีบรรพบุรุษ ส่วนบุตรชายคนอื่นมักไปอยู่กับฝ่ายหญิงจนลูกสาวคนอื่นแต่งงานจึงค่อยแยกออกมาเป็นครอบครัวเดี่ยว ปัจจุบันครอบครัวเดี่ยวมีร้อยละ 62.7 ครอบครัวขยายแบบชั่วคราวร้อยละ 37.3 บทบาทของพ่อแม่ในสังคมมีต่อลูกมากในทุก ๆ ด้านในอดีตแต่ปัจจุบันโรงเรียนเข้ามาแทนที่ในเรื่องการสั่งสอนละเรื่องโลกทัศน์ภายนอกการแต่งงานในอดีตพ่อแม่ติดตามอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะสนับสนุนหรือไม่หนุ่มต้องมาคุยที่บ้าน จึงมีลักษณะของสาวทอผ้าแล้วหนุ่มจะมาเกี้ยวพาราสีด้วย แต่ปัจจุบันหนุ่มสาวสามารถคุยกันได้อิสระมากขึ้น พ่อแม่ไม่มีบทบาทตัดสินใจแทนลูกได้ (รายละเอียดการแต่งงานหน้า 135-138) การกลมกลืนทางวัฒนธรรม หากคนภายนอกมาแต่งต้องยอมรับวัฒนธรรมแบบบ้านไทยดำ ส่วนหนุ่มที่ไปแต่งสาวหมู่บ้านอื่นนั้นทำตามประเพณีของฝ่ายหญิง การแบ่งมรดกจะให้ทั้งชายและหญิง แต่จะให้บุตรชายที่เลี้ยงดูพ่อแม่มากกว่าคนอื่นทั้งในอดีตและปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลง สืบสกุลทางฝ่ายชาย การแบ่งจะแบ่งเมื่อลูกแต่งงานกันหมดแล้ว กรณีที่คนโตกับคนเล็กสุดห่างกันมากพ่อแม่จะแบ่งให้ก่อน ส่วนคนเล็กจะดันไว้ให้ ทุกครั้งที่แบ่งพ่อแม่จะกันส่วนของตนไว้ เพื่อยกให้คนที่ปรนนิบัติตอนแก่ ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ มีความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นมาก ถือตระกูลฝ่ายชายเป็นใหญ่สกุลเรียกว่า "ซึง" สืบเชื้อสายทางบิดา ต่อมาเมื่อ รัชกาลที่ 6 ทรงมีนโยบายให้ใช้นามสกุลจึงมักเอาชื่อบรรพบุรุษที่สืบทราบมาตั้ง ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติยังคงแน่นแฟ้นเหมือนแต่ก่อน (หน้า 134-141) ชุมชนบ้านไทยลาว ลักษณะครอบครัวบ้านไทยลาวเป็นครอบครัวขยายแบบชั่วคราว ฝ่ายชายจะแต่งงานแล้วมาอยู่กับครอบครัวของฝ่ายหญิง เมื่อมีบุตรหรือลูกสาวของครอบครัวฝ่ายหญิงแต่งงาน ก็จะแยกไปตั้งครอบครัวใหม่บริเวณใกล้ ๆ กัน สรุปว่าชุมชนนี้มีครอบครัวเดี่ยวร้อยละ 59.32 และครอบครัวขยายร้อยละ 40.8 ชุมชนนี้พ่อแม่มีบทบาทต่อลูกมาก แต่ในปัจจุบันสถาบันการศึกษาได้มาทำหน้าที่ในการสั่งสอนแทน การแต่งงานในอดีตหนุ่มสาวจะอยู่ภายใต้กรอบประเพณีมาก การไปไหนสองต่อสองหรือการถูกเนื้อต้องตัวกันทำไม่ได้ การเกี้ยวพาราสีมักจะทำกันในเวลาตอนค่ำ หญิงสาวเกือบทุกคนต้องปั่นฝ้ายหรือทอเส้นไหม ฝ่ายชายจะเป่าแคนให้สาวฟัง หากไม่ปั่นฝ้ายก็จะไปนั่งคุยกันบนเรือน โดยพ่อแม่จะเปิดโอกาสให้ด้วยการเข้าไปนอน ชายหนุ่มต้องทำตัวเรียบร้อยมาก การเกี้ยวมักทำกันในหมู่บ้านเดียวกันและดูใจกันนาน นอกจากนี้ ก็จะมีการเกี้ยวกันเมื่อมีเทศกาลต่าง ๆ ด้วย นอกจากนี้ฝ่ายชายต้องบวชก่อนแต่งงานและต้องบวชจนครบอายุพรรษา อีกข้อหนึ่งในการพิจารณาของฝ่ายสาวคือต้องผ่านการเกณฑ์ทหารแล้ว นอกจากนี้ยังพิจารณาจากนิสัยด้วย เรื่องฐานะมิใช่เรื่องสำคัญ ปัจจุบันหนุ่มสาวมีอิสระในการเลือกคู่มากขึ้น การแต่งงานยังต้องดูจากฐานะด้วยมักจะแต่งกับคนที่มีฐานะใกล้เคียงกัน หญิงสาวที่พ่อแม่มีฐานะร่ำรวยในสมัยหลังจะแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อยเพราะเด็กหนุ่มจะมา "ตอม" มาก แต่หากยากจนถึงหน้าตาดีก็ต้องรอนานหน่อย เพราะชายหนุ่มไม่ค่อยสนใจหญิงที่มีฐานะยากจน(รายละเอียดการพิธีการแต่งงานดูหน้า 144-146) การกลมกลืนทางวัฒนธรรมในอดีตมีการแต่งงานกับชาติพันธุ์กุลาและจีน รวมทั้งมีการแต่งงานกับชาวต่างชาติด้วยคือชาวสหรัฐอเมริกา การแต่งงานกับคนทางภาคก็มีบ้างแต่มักแต่งกับคนบ้านเดียวกันมากว่า การแบ่งมรดกเมื่อแต่งงานฝ่ายชายต้องไปอยู่บ้านฝ่ายหญิงและรับมรดกจากฝ่ายนั้น ยกเว้นในกรณีที่มีชายล้วน การแบ่งมรดกจะแบ่งให้ลูกสาวเท่า ๆ กันเว้นลูกสาวคนเล็กที่มีหน้าที่เลี้ยงพ่อแม่จะได้สองส่วน ส่วนที่เกินมาเรียกว่า "เบี้ยเผาผี" การที่ฝ่ายชายอยู่กับบ้านฝ่ายหญิงเป็นการควบคุมฝ่ายชาย เพราะถ้าเป็นคนไม่ดีอาจไม่ได้รับมรดก ดังนั้นต้องเกรงใจพ่อตาแม่ยาย แต่ทว่าหากฝ่ายชายต้องการมรดกจากพ่อแม่ตนเองก็ย่อมได้แต่ในอดีตมีน้อย แต่ปัจจุบันมีมากขึ้น เพราะที่ดินหายากขึ้น มรดกจากพ่อตาแม่ยายอย่างเดียวอาจไม่พอทำกิน มรดกที่แบ่งส่วนมากเป็นที่ดิน รองมาเป็นวัวควาย เรือน สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ตุ่มน้ำเป็นต้น ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ ในอดีตมีความผูกพันกันมากปัจจุบันลดลง ถ้าฐานะต่างกันก็ไม่สนิทกันเท่าไร ในอดีตมีการพึ่งพากันมากปัจจุบันลดลง เพราะแต่ละคนมีงานมากขึ้น แต่หากมีญาติเจ็บป่วยก็จะมีญาติพี่น้องไปเยี่ยมเหมือนสมัยก่อน (หน้า 141-148)

Political Organization

ชุมชนบ้านเยอ ลักษณะผู้นำเดิมเป็นผู้ที่ชาวบ้านเกรงใจกลายเป็นตัวแทนของรัฐส่วนผู้นำที่ไม่ได้เป็นทางการไม่ได้เปลี่ยนแปลงบทบาทเท่าใดนักแต่เป็นผู้อาวุโสแทน ลักษณะผู้นำต้องเป็นคนขยันซื่อตรงไม่ดื่มเหล้าและไม่เล่นการพนัน ความสำพันธ์ระหว่างผู้นำกับชาวบ้านเป็นไปด้วยดีมีการประชุมละชาวบ้านสนใจ ความขัดแย้งภายในชุมชนลักษณะแรกคือ เรื่องอำนาจการเมืองท้องถิ่นเช่นการชิงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านทำให้เกิดฝ่ายและการจับผิด อีกลักษณะเป็นเรื่องของกองทุนหมู่บ้านกับสินค้าซึ่งมีการตั้งทำให้มีสมาชิกและมาซื้อสินค้ามากขึ้นทางร้านค้าเลยไม่พอใจทัศนคติของชาวบ้านต่อการทำงานของรัฐดีขึ้นกว่าในอดีต โครงการพัฒนาต่าง ๆ ในหมู่บ้านริเริ่มมาจากโครงการของรัฐ (หน้า 113-115) ชุมชนบ้านไทยดำ ลักษณะผู้นำในอดีตมีกำนันไทยดำเป็นผู้นำ ต่อมามีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำแทนโดยเป็นตำรวจตระเวนชายแดนมาก่อน ชาวบ้านเชื่อว่าสามารถนำโครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐมาสู่ชาวบ้านได้ ส่วนผู้นำไม่เป็นทางการมักเป็นไทยดำที่ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับผู้นำมีมากชาวบ้านมาประชุมพร้อมเพรียงกันเป็นอย่างมาก ความขัดแย้งภายในชุมชนมีบ้างระหว่างไทยดำผสมกับไทยดำแท้ ในเรื่องการใช้น้ำปะปา ต่อมาแก้ไขได้ด้วยการติดมิเตอร์ การเลือกตั้งชาวบ้านสนใจการเมืองท้องถิ่นมากกว่าระดับชาติ ชาวบ้านมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานของรัฐและดีขึ้นกว่าในอดีต โครงการพัฒนาต่าง ๆ ในหมู่บ้านปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาส่งเสริมมากขึ้น (หน้า 115-116) ชุมชนบ้านไทยลาว ผู้นำมีความเปลี่ยนแปลงจากผู้นำในชุมขนมาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ผู้ใหญ่บ้านมีความมีเงินเดือนและมีเกียรติมากกว่าแต่ก่อน ทำให้ต้องมีการหาเสียงแข่งขันกันในการเลือกตั้ง ลักษณะผู้นำมีทั้งฐานะทางเศรษฐกิจดี ปานกลาง และจน ลักษณะสืบทอดตำแหน่งมักเป็นลูกหรือหลาน ผู้นำไม่เป็นทางการได้แก่ผู้อาวุโสในหมู่บ้านและเจ้าอาวาส ความสำพันธ์ของชาวบ้านมีความเปลี่ยนแปลงความเคารพเลื่อมใสลดลง อาจเพราะคนเยอะขึ้นและบุคลิกภาพผู้นำเป็นคนชอบเล่นการพนันมีหนี้สิน ในส่วนดีคือกล้าสามารถปราบโจรผู้ร้ายได้ วัยรุ่นยำเกรง ความขัดแย้งภายในชุมชนปัจจุบันมีความรุนแรงและมากกว่าในอดีตระหว่างผู้นำกับชาวบ้านในเรื่องขัดผลประโยชน์กัน เงินที่เก็บจากชาวบ้านผู้ใหญ่บ้านนำไปใช้ส่วนตัวมาก ชาวบ้านจึงร้องเรียนอำเภอและมีการปลดผู้ใหญ่บ้านออก การเลือกตั้งชุมชนนี้สนใจการเลือกตั้งท้องถิ่นมากกว่าระดับชาติ การเลือกตั้งใช้วิธีการแยกกลุ่มหรือยกมือ ทัศนคติปัจจุบันของชาวบ้านต่อเจ้าหน้าที่รัฐดีขึ้น โครงการพัฒนาต่างๆมีมากขึ้นเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น(หน้า 113-118)

Belief System

ชุมชนบ้านเยอ มีความเชื่อในพุทธศาสนามีวัดชุมชนสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2342 พระในอดีตนอกจากเป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมแล้ว ยังมีบทบาทในการพัฒนาชุมชนในบางโอกาสด้วย เช่น "พระอาจารย์บุญทัน" นอกจากนี้ยังมีระบบความเชื่อในเรื่องผีด้วย เช่น ผีปู่ตา พิธีขอฝน พิธีแฮกนา การทำบุญเปิดยุ้งข้าว นอกจากนี้ ก็ยังมีประเพณีของชาวบ้านด้วย คือประเพณีบุญข้าวจี่ บุญมหาชาติ บุญสงกรานต์บุญบ้องไฟ บุญเข้าพรรษา บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสากหรือบุญข้าวสลาก บุญออกพรรษาบุญลอยกระทง ส่วนความเชื่ออื่น ๆ มีดังนี้ คือ ประเพณีการเกิด พิธีบวช ประเพณีการตาย (หน้า 204-218) ชุมชนบ้านไทยดำ เชื่อในพุทธศาสนามีวัดประจำชุมชนคือวัดโพนแก้ว แต่ในอดีตนับถือผีบรรพบุรุษมาก จะไม่สนใจพระพุทธศาสนา เมื่อบุคคลภายนอกและภาครัฐส่งเสริมจึงเริ่มนับถือศาสนาพุทธมากขึ้น ปัจจุบัน ความเชื่อเรื่องการนับถือผีก็ยังมีอยู่ คือการนับถือผีเรือนและการสืบผี ผีเอน คือ ผีบรรพบุรุษ ส่วนการสืบผีคือ การสืบสกุลทำโดยบุตรชายและมักเป็นคนโต จะมีห้องสำหรับผีเรือนเรียก "กะลอห้อง" และมีการเซ่นผีเรือนด้วย นอกจากนี้ ชุมชนยังมีความเชื่อเกี่ยวกับหอรักษาและประเพณีเลี้ยงบ้าน โดยหอรักษาชุมชนมี 4 หอที่ชาวบ้านนับถือกันมาก พิธีเลี้ยงปาง 3 ปีจัดกันครั้งหนึ่ง ปัจจุบันเลิกไปแล้ว ประเพณีค้ำฟ้า เกิดขึ้นเพราะเชื่อว่าจะทำให้ฝนตก ส่วนประเพณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของไทยดำแต่เป็นอิทธิพลมาจากไทยลาวก็มีคือ ประเพณี 12 เดือน เช่น บุญคนลาน บุญข้าวจี่ สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา ทำบุญทอดกฐินและผ้าป่า นอกจากนี้ประเพณีการตายของไทยดำก็แตกต่างจากชุมชนอื่น (หน้า 218-232) ชุมชนบ้านไทยลาว นับถือพุทธศาสนา มีวัดโพธิ์ศรีสะอาดเป็นวัดประจำชุมชน ส่วนระบบความเชื่อนับถือผีก็มี คือ ผีปู่ตาหรือผีปู่บ้าน เป็นผีบรรพบุรุษ ผีตาแฮก ผีไร่นา ผีฟ้าหรือผีบรรพบุรุษนับถือกันเป็นบางครัวเรือน ผีกองกอยหรือผีปอป แต่ปัจจุบันไม่มีใครพบอีกแล้ว ประเพณีของชาวบ้านก็มีประเพณี 12 เดือน (หน้า 233-239)

Education and Socialization

ใช้ระบบโรงเรียน ชุมชนบ้านเยอมีโรงเรียนประชาบาล ตำบลทุม 2 (วัดบ้านขมิ้น) หลักสูตรประถมศึกษา (หน้า 153-156) ชุมชนบ้านไทยดำ มีโรงเรียนประถมศึกษา คือ โรงเรียนบ้านนาป่าหนาด และโรงเรียนมัธยมคือโรงเรียนเขาแก้ววิทยาสรรพ์ (หน้า 157-162) ชุมชนบ้านไทยลาว ในอดีตมีวัดเป็นสถานที่อบรมบุตรหลาน ส่วนการศึกษาเดิมต้องไปเรียนที่ รร.บ้านกุดไผ่ ต.ตลาดแล้ง ต่อมามีโรงเรียนวัดที่วัดโพธิ์ศรีสะอาดใช้ศาลาวัดเป็นที่เรียน ต่อมาจึงมีโรงเรียนเอกเทศที่เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขึ้น (หน้า 162-166)

Health and Medicine

ชุมชนบ้านเยอ ในอดีตเคยมีไข้ไทฟอยด์และไข้จับสั่นระบาด การรักษาเดิมเคยใช้ยาพื้นบ้าน คือยารากไม้ฝนผสมกับน้ำ ผู้รักษาคือหมอยา มี 3 คน แต่ละคนรักษาเฉพาะด้านกัน หากถูกสัตว์มีพิษกัดต่อยก็จะรักษากับหมอเป่า จะใช้เวทมนต์คาถารักษา ส่วนการเป่าอีกชนิดจะใช้เวทมนต์เป่ากันผี เช่น กันผีปอป ส่วนการป่วยโดยไม่รู้สาเหตุเชื่อว่ามาจากการผิดผี ใช้การรักษาทางไสยศาสตร์อาจรักษากับหมอธรรม หรือผีฟ้า ส่วนการรักษาโดยการแพทย์แผนตะวันตกละยาตะวันตก เพิ่งเริ่มนิยมเมื่อ 25-10 ปีที่ผ่านมานี้เอง (หน้า 170-179) ชุมชนบ้านไทยดำ ในอดีตใช้หมอพื้นบ้าน หมอเป่าเป็นผู้ที่รักษาโดยใช้เวทย์มนต์คาถา เป่าตรงที่เจ็บป่วยและเชื่อว่าผีทำให้คนไม่สบาย หมอขวัญ รักษาโดยการเรียกขวัญที่ทำให้เจ็บป่วยหายไป การทำนายอาการจะใช้วิธีหักไม้(ใช้ทำนายได้หลายอย่าง) มีหมอหักไม้เป็นผู้ทำนาย หมอผีมีวิธีการรักษาต่างกันที่น่าสนใจคือต้องตั้งคาย (เครื่องพิธี) ก่อนการไล่ผีเพื่อกันผีอื่น ๆ เข้าแทรก หมอทรงจะดูอาการแล้วทำนายโดยหมอจะสวมชุดไทยดำชุดใหญ่ หมอจะทำพิธีแล้วมีคนมาเข้าทรงมาบอกให้ทำ หมอปี่กับหมอมดหรือหมอมนต์ต้องมีเชื้อสายมาแต่กำเนิดใช้การเข้าทรงในการรักษา ปัจจุบันใช้วิธีการสมัยใหม่ในการรักษา (หน้า 182-191) ชุมชนบ้านไทยลาว ในอดีตประมาณปี 2488 เคยมีโรคระบาดที่ทำให้คนตายกันมาก ชาวอีสานเรียกว่า โรคหมากสุกหมากห่าง (ฝีดาษหรือไข้ทรพิษ) ส่วนโรคอื่น ๆ ก็มี โรคหีโม่ (โรคคุดทะราด) ใช้ยาแผนโบราณรักษาไม่ได้ผล เมื่อเป็นชาวบ้านจะใช้ สีระยอม (จุนสี) แต้มแผลแต่ไม่หาย ปี 2490 รัฐบาลได้ส่งยาแผนปัจจุบัน (ประเภทซัลฟา) มารักษาโรคจึงค่อยหายไป ปัจจุบันไม่มีใครพบโรคนี้อีก ผู้รักษาโรคในอดีต คือหมอยา ใช้รากไม้ในการรักษา หมอเวทมนต์คาถามักรักษาโรคเกี่ยวกับเด็กที่เป็นกำเริดโดยมากหมอมักใช้เวทมนต์คาถาและการยารากไม้มาผสมกันด้วย หมอแผนโบราณถ้าพามารักษาที่บ้านถ้าไม่หายไม่เอาเงิน ถ้าซื้อยาไปต้มกินเองที่บ้านจึงจะคิดเงิน ปัจจุบันชาวบ้านนิยมแพทย์แผนสมัยใหม่มากขึ้น (หน้า 191-197)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ชุมชนบ้านเยอมีการละเล่น คือ การเล่นลูกไก่ นิยมเล่นในคืนเดือนหงาย การเล่นตีลูกไฟและตีคลี นิยมเล่นในฤดูแล้ง (หน้า 244) ชุมชนบ้านไทยดำ มีการละเล่นคือ อิ่นมะก๊อฟ นิยมเล่นเมื่อมีการเซ่นไหว้ผีเจ้าบ้านหรือผีเรือนแล้ว หรือร่วมฟังพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการรักษา ตลอดจนเมื่อมีงานเฮือนดีหลังจากมีคนตายในหมู่บ้าน มักเล่นกันกลางแจ้ง ปัจจุบันมักเล่นเฉพาะในงานเลี้ยงบ้านหอรักษา และงานเทศกาลต่าง ๆ (หน้า 246-247) ชุมชนบ้านไทยลาว การละเล่นนิยมเล่นกันในช่วงสงกรานต์ เช่น ไม้หึ่มหรืออี อีหนอน ซี่ยงหลังหรือมอญซ่อนผ้า หนอนซ่อนคู่ โยนหลุมด้วยกระเบื้อง (เคยนิยมแต่ปัจจุบันเลิกไปแล้ว) ปักม้าหลังโปก ยู้ซ่าว ดึงหน้า (หน้า 250)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

เขมร ลาว (หน้า 182) กุลา จีน สหรัฐอเมริกา (หน้า 146) มักเป็นความสัมพันธ์จากการแต่งงาน

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมทั้งสามชุมชนนั้นคล้ายคลึงกัน ในเรื่องบทบาทของพ่อแม่ ในอดีตเคยมีมากเป็นหน่วยทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม แต่ปัจจุบันครอบครัวมีบทบาทเฉพาะในหน่วยทางสังคมบางอย่างเท่านั้น เพราะรัฐได้ตั้งสถาบันบางอย่างขึ้นแทนที่ เช่น โรงเรียน (หน้าที่ 148, 152) การแต่งงานในอดีตการเกี้ยวพาราสีจะอยู่ในสายตาของพ่อแม่ การดูใจก่อนแต่งงานใช้เวลานาน สถานที่เกี้ยวพาราสีมักเป็นที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ปัจจุบันมีอิสระมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสายตาพ่อแม่ ที่พบปะมักเป็นที่ส่วนตัว ค่าสินสอดมากขึ้น การแต่งงานข้ามชาติพันธุ์มีมากขึ้น (หน้า 152) ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติปัจจุบันมีความห่างเหินขึ้นกว่าในอดีต (หน้า 152) ในเรื่องทางวัฒนธรรมระบบความเชื่อเรื่องการนับถือผียังคงมีความเชื่ออยู่มากไม่เปลี่ยนแปลงจากในอดีตเท่าใดนัก (หน้า 243)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่หน้า 77 แผนที่หน้า 80 แผนที่หน้า 83 ตารางสรุปที่1 หน้า 86 ตารางสรุปที่2 หน้า 95 ตารางสรุปที่ 3 หน้า112 ตารางสรุปที่ 4 หน้า 120-121 ตารางสรุปที่ 5 หน้า149 -151 ตารางสรุปที่ 6 หน้า 167-168 ตารางสรุปที่ 7 หน้า 199-200 ตารางสรุปที่ 8 หน้า 240-241

Text Analyst ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง Date of Report 05 ม.ค. 2566
TAG เญอ, ลาวโซ่ง, คนอีสาน, การเปลี่ยนแปลง, เศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม, วัฒนธรรม, ผลกระทบ, ตะวันออกเฉียงเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง