สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ,โครงสร้างครอบครัว,นครปฐม
Author งามพิศ สัตย์สงวน
Title สถาบันครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในกรุงเทพมหานคร : กรณีศึกษาครอบครัวไทยโซ่ง
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 376 Year 2545
Source ภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

ครอบครัวไทยโซ่งส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขยาย แต่จะมีขนาดเล็กกว่าในอดีต ในด้านจำนวนคู่ครองพบว่าทั้งหมดมีสามีหรือภรรยาเพียงคนเดียว ในด้านการสืบเชื้อสายนั้นฝ่ายชายยังคงมีความสำคัญอยู่มาก แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ในด้านที่อยู่อาศัยหลังการแต่งงานพบว่าส่วนมากจะอยู่กับญาติฝ่ายชาย ในเรื่องอำนาจของครอบครัวผู้ชายเป็นใหญ่กว่าภรรยา การสืบทอดมรดกยังใช้หลักการเดิมคือ ให้ลูกชายมากกว่าลูกสาว ลูกชายคนโตหรือคนเลี้ยงพ่อแม่จะได้มรดกมากที่สุด ในเรื่องการแต่งงานมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในรุ่นลูกหลาน เมื่อลูกหลานไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ หรือทำงานนอกชุมชนมักแต่งงานกับคนนอกกลุ่มไทยโซ่งมากขึ้น ในเรื่องการเลือกคู่ส่วนใหญ่เลือกคู่ครองเอง บางส่วนเป็นการแต่งงานแบบคลุมถุงชน สำหรับปัจจัยที่กำหนดพฤติกรรมของครอบครัวไทยโซ่งในปัจจุบันคือ ความเชื่อผีบรรพบุรุษเหมือนในอดีต ในด้านคำเรียกญาติพบว่าเด็กรุ่นใหม่นิยมใช้ภาษาไทยกลางมากกว่าไทยโซ่ง ในเรื่องการหน้าที่ของครอบครัวนั้นพบว่าหน้าที่สำคัญที่สุดคือ การเลี้ยงดูสมาชิกที่เป็นเด็กและคนชรา รองลงมาคือการให้สถานภาพทางสังคมและการให้ความอบอุ่นทางด้านจิตใจ การแบ่งงานทำตามเพศนั้นพบว่าสถานภาพของผู้ชายยังคงสูงอยู่ ญาติอาวุโสก็ยังมีบทบาทในครัวเรือนไทยโซ่งด้วยการช่วยดูแลบ้านและเป็นที่ปรึกษาในเรื่องประเพณีพิธีกรรมต่างๆ ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัวได้แก่ ความเจริญทางวัตถุเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ความผูกพันระหว่างพี่น้องพ่อแม่กับลูกหลานเริ่มห่างเหินเพราะแยกย้ายไปอยู่นอกชุมชน ส่งผลให้เกิดการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์ ศาสนา และพบคนนอกชุมชนมากขึ้น เด็กรุ่นใหม่ต้องการมีการศึกษาสูงขึ้น เพื่อจะได้ประกอบอาชีพที่ดี มีรายได้ดี ประเพณีการแต่งงานเริ่มผสมผสานโดยรับเอาประเพณีไทยและจีนมาไว้ด้วย ด้านการรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์พบว่าหาคนที่จะอ่านเขียนภาษาไทยโซ่งได้ยากมาก จะมีแต่คนสูงอายุเท่านั้นที่แต่งกายตามประเพณีไทยโซ่ง ส่วนหนุ่มสาวจะแต่งกายแบบโซ่งเฉพาะประเพณีที่สำคัญ นอกจากนั้นความคาดหวังต่อคนรุ่นใหม่มีน้อยลงเพราะเข้าใจสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่ ในด้านศาสนามีการผสมผสานความเชื่อทั้งของพุทธ พราหมณ์ และผี เข้าด้วยกัน ระบบการศึกษาและการแต่งงานกับคนไทย ทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมของไทยโซ่งมากขึ้น ซึ่งเด็กๆ ในโรงเรียนจะพูดอ่านภาษาไทยได้คล่องในเวลาเดียวกัน ใช้ภาษาโซ่งน้อยลง การแต่งงานกับคนไทยในกรุงเทพมหานครทำให้วัฒนธรรมไทยเข้าครอบงำวัฒนธรรมโซ่งมากขึ้น

Focus

เพื่อศึกษาระบบสังคมของสถาบันครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งในจังหวัดนครปฐม ซึ่งเน้นศึกษาโครงสร้างครอบครัว การหน้าที่ของครอบครัว ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการขัดเกลาทางสังคมหรือการอบรมเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว และปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมในครอบครัวในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่งที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครปฐม (หน้า 5)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทยโซ่ง

Language and Linguistic Affiliations

ไทยโซ่งมีภาษาและหนังสือของตนเองโดยเฉพาะ และมีตัวหนังสือคล้ายตัวหนังสือภาษาลาว มีระเบียบของภาษาหรือไวยากรณ์แบบเดียวกับภาษาไทย จัดอยู่ในตระกูลภาษาไทยสาขาตะวันตกเฉียงใต้ สำเนียงการพูดคล้ายกับสำเนียงทางภาคอีสาน และมีส่วนใกล้เคียงไปทางภาคเหนือ สำเนียงการออกเสียงมีเสียงสั้นกว่าภาษาไทยเล็กน้อย (หน้า 123, 124)

Study Period (Data Collection)

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2541 ถึง เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 (หน้า 73)

History of the Group and Community

ถิ่นเดิมของไทยโซ่งอยู่ที่สิบสองจุไทหรือเมืองแถง ซึ่งอยู่ตอนเหนือของประเทศลาว เมืองแถงในปัจจุบันคือเมืองเดียนเบียนฟูของเวียดนาม ชนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า ผู้ไทหรือไทดำ ไทยโซ่งได้อพยพเข้าประเทศไทยด้วยเหตุผลทางสงครามหลายครั้ง โดยอพยพผ่านลงมาทางเวียดนามตอนเหนือ ลาว และเข้าสู่ประเทศไทยเริ่มตั้งแต่สมัยธนบุรีจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุง รัตนโกสินทร์ โดยอาศัยตั้งถิ่นฐานที่เมืองเพชรบุรีเป็นแห่งแรก เนื่องจากเป็นพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ไทย และเห็นว่ามีภูมิประเทศคล้ายบ้านเมืองเดิมคือเมืองแถง แคว้นสิบสองจุไท บางส่วนที่ได้อพยพกระจายไปอยู่ที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยนั้นก็ด้วยเหตุผลที่ต้องการกลับไปยังถิ่นฐานเดิมของตน จึงพยายามเดินทางจากเพชรบุรีขึ้นไปทางเหนือ บรรดาคนแก่ได้เสียชีวิตระหว่างการเดินทางลูกหลานจึงไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ จึงพากันตั้งหลักแหล่งกระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ในประเทศไทยหลายแห่ง (หน้า 99, 100, 103) สำหรับไทยโซ่งหมู่บ้านเกาะแรตนั้นมีชาวบ้านเล่ากันต่อๆ มาว่า อพยพมาจากเพชรบุรีเป็นเวลาร้อยกว่าปีแล้ว เนื่องจากมีคนอยู่กันอย่างหนาแน่นทำให้เกิดการแย่งที่ทำมาหากิน ไทยโซ่งบางส่วนจึงพากันหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งมาในรูปแบบของขบวนเกวียนที่บรรทุกสัมภาระ สิ่งของ และชาวบ้านที่เดินเท้า ไทยโซ่งถือว่า วัว ควาย เป็นพาหนะคู่ใจ โดยการแสดงออกด้วยการนำเอาหัววัว ตลอดจนเขาและกระดูกบางส่วนประดับโชว์ไว้ที่บ้านเพื่อแสดงให้ลูกหลานเห็นว่า ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษเคยฝ่าฟันอุปสรรคและความยากลำบาก ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับวัว ควาย ที่เป็นพาหนะ และเป็นของคู่ใจในการประกอบอาชีพหลักคือ การทำนา ชาวบ้านเชื่อว่าการอพยพครั้งแรกมีผู้นำคือ ผู้ใหญ่ตาม ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านเกาะแรต เป็นผู้นำในการสร้างหมู่บ้านและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการรวมตัวกับชาวบ้านสร้างวัดเกาะแรตขึ้น สาเหตุที่คนโซ่งกลุ่มแรกเลือกทำเลหมู่บ้านเกาะ แรตในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำเพียงพอในการประกอบการเกษตร การตั้งถิ่นฐานในระยะแรกต้องหักร้างถางพงและจับจองที่ดินกันเอง กล่าวกันว่า พื้นที่เดิมของหมู่บ้านเกาะแรตมีลักษณะเป็นเกาะ และมีน้ำล้อมรอบ มีชาวบ้านพบเห็นแรต 2 ตัว นอนเล่นโคลนอยู่บริเวณนี้ บางคนกล่าวว่าพบเพียงแค่กระดูกแรตเท่านั้น จากการอาศัยอยู่ของแรตทำให้หมู่บ้านนี้มีชื่อเดิมว่า บ้านหนองแรต ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น เกาะแรต ในปัจจุบัน (หน้า 87 - 88)

Settlement Pattern

การตั้งบ้านเรือนของไทยโซ่งบ้านเกาะแรตจะรวมกันอยู่ในลักษณะกระจุกรวมตามแบบดั้งเดิม ซึ่งคนโบราณนิยมตั้งบ้านเรือนรวมกันในกลุ่มเครือญาติ และการตั้งบ้านเรือนมีลักษณะขนานกับลำคลองที่เลียบหมู่บ้าน บ้านบางหลังมีการหันหน้าบ้านเข้าหาลำคลองตามลักษณะโบราณ การรวมกันเป็นกระจุกส่วนใหญ่จะอยู่ทางทิศเหนือเนื่องจากอยู่ใกล้กับคลองท่าสารบางปลา การตั้งถิ่นฐานจะมีลักษณะเบาบางเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงตอนใต้ลงมาที่คั่นกลางด้วยถนนบางเลนดอนตูม (หน้า 82) ลักษณะบ้านไทยโซ่งแบบดั้งเดิมจะสร้างด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ต้นไม้ต่าง ๆ หญ้า ส่วนเสาจะทำด้วยไม้เนื้อแข็งทั้งต้น พื้นบ้านจะเป็นฟากที่ทำด้วยไม้ไผ่ทุบให้แบนเป็นชิ้น ๆ แผ่ออกเป็นแผ่นติดกัน หลังคาเป็นปีกนกหัวท้ายบ้านลากลงมายาวเสมอกับชายคาบ้าน มีลักษณะโค้งเป็นกระโจม มุงด้วยแฝก ภายในบ้านเป็นพื้นที่โล่งตามขนาดของบ้าน มุมหนึ่งของเสาบ้านจะเป็นที่เซ่นไหว้ผีเรือน สำหรับปัจจุบันการสร้างบ้านของไทยโซ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับแบบบ้านดั้งเดิม เพียงแต่เปลี่ยนหลังคาให้เป็นทรงจั่วอย่างไทย มุงด้วยกระเบื้องหรือสังกะสี และฝาผนังบ้านสูงขึ้นกว่าบ้านแบบเดิม มีเรือนครัวและใต้ถุนสูง บางบ้านมีลักษณะทันสมัยขึ้น มีการสร้างแบบเรือนไทยประยุกต์ สร้างด้วยปูนแทนไม้ มุงกระเบื้องแบบบ้านยุโรป แต่ยังคงมีห้องผีเรือนสำหรับเซ่นไหว้ผีเรือนซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของไทยโซ่ง (หน้า 95-96)

Demography

ลักษณะประชากรบ้านเกาะแรตมีการสืบเชื้อสายไทยโซ่ง บ้านที่ถือว่าเป็นเขตไทยโซ่งจะมีอัตลักษณ์ของตัวเองซึ่งจะมีนามสกุลขึ้นต้นว่าเพชร นอกจากนามสกุลอาจสังเกตจากการประกอบพิธีกรรมสำคัญคือ การประกอบพิธีปาดตงทุก ๆ 10 วัน หรือ 5 วัน แสดงให้เห็นว่าบ้านนี้เป็นครัวเรือนของไทยโซ่งอย่างแท้จริง จากจำนวน 146 ครัวเรือน มี 18 ครัวเรือนที่ไม่ได้เป็นไทยโซ่งเพราะไม่ประกอบพิธีกรรมดังกล่าว ดังนั้น ครอบครัวไทยโซ่งที่แท้จริงของหมู่บ้านนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 128 ครัวเรือน (หน้า 84, 85) สำหรับประชากรที่เป็นตัวอย่างในการศึกษาเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยโซ่ง มีจำนวนทั้งสิ้น 51 ครัวเรือน เป็นเพศชายจำนวน 22 คน และเพศหญิง 29 คน ประชากรตัวอย่างถูกแบ่งเป็น 3 รุ่นโดยใช้อายุเป็นเกณฑ์กล่าวคือครอบครัวรุ่นเก่าจำนวน 20 ครัวเรือนเป็นพวกที่มีอายุ 61 - 80 ปี จำนวน 18 ครัวเรือนและรวมกับรุ่นอายุ 81 ปีขึ้นไปอีก 2 ครอบครัว ครอบครัวในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออายุระหว่าง 41 - 60 ปี มีจำนวน 25 ครอบครัว และครอบครัวรุ่นใหม่อายุ 21 - 40 ปี มีจำนวน 6 ครัวเรือน (หน้า 163)

Economy

ชาวบ้านเกาะแรต หมู่ 11 มีจำนวนทั้งสิ้น 146 ครอบครัว มีอาชีพหลักในการทำนา 93 ครัวเรือน รับจ้างทั่วไป 30 ครัวเรือน ค้าขาย 20 ครัวเรือน รับราชการ 2 ครัวเรือน และเลี้ยงสัตว์ 1 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ของตำบลประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร มีทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ปลูกไม้ดอก ไม้ประดับ และมีอาชีพเสริมเป็นการเลี้ยงปลานิล เลี้ยงวัว เลี้ยงปลาทับทิม เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงไก่ คนในชุมชนมีรายได้ไม่ต่างกันมากนัก แต่หากมีที่นามากและมีกิจการเสริมรายได้จะดีขึ้น บางบ้านอาจจะร่ำรวยกว่าบ้านอื่นจากการขายที่ดิน เปิดร้านอาหาร อู่ซ่อมรถ ชีวิตชาวนาในปัจจุบันมีความสะดวกสบายมากขึ้น มีรถมอเตอร์ไซค์ทำให้การเดินทางไปมาสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องนำข้าวไปกินที่นา นอกจากนี้ การไถนา เกี่ยวข้าว มีการใช้รถไถ รถเกี่ยวข้าว ทำให้การเก็บเกี่ยวผลผลิต การเตรียมดิน ไม่ใช่สิ่งที่ยุ่งยาก และต้องการแรงคนมากๆ อีกต่อไป การทำนาใช้เวลาไม่มากโดยเฉพาะการทำนาหว่านน้ำตม ไม่เสียเวลามากเหมือนกับการทำนาดำ การมีอาชีพเสริม เช่น ทำบ่อปลานิล ทำให้ชาวบ้านมีรายได้โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และบางบ้านทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม ปลูกพืชอย่างอื่น เช่น หน่อไม้ และเลี้ยงไก่ (หน้า 106 - 109)

Social Organization

ในอดีตครอบครัวไทยโซ่งเป็นครอบครัวขยายที่มีขนาดใหญ่มาก มีสมาชิกหลายชั่วคนมาอยู่รวมกันและมีลูกหลายคนเพื่อช่วยกันทำมาหากิน และมีวัฒนธรรมคู่ครองเพียงคนเดียว การสืบเชื้อสายจะมีความเคร่งครัดมากที่ฝ่ายหญิงจะต้องไปอยู่กับฝ่ายชายหลังสมรสแล้ว ฝ่ายชายจะต้องสืบทอดภาระหน้าที่ในการดูบ้านของพ่อ สืบต่อประเพณีของพ่อพร้อมทั้งเป็นหลักให้ครอบครัว และคอยดูแลพ่อแม่ยามแก่ชรา และต้องสืบทอดการไหว้ผีเรือนประจำตระกูล ซึ่งแต่ละตระกูลจะเรียกเป็นภาษาโซ่งว่า สิง ซึ่งเปรียบได้กับคำว่า แซ่ ในภาษาจีน ส่วนฝ่ายหญิงที่เป็นลูกสะใภ้ เมื่อแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายชาย จ ะช่วยผู้ชายสืบพิธีการไหว้ผีเรือนและนับว่าเป็นญาติผีเดียวกัน การที่ฝ่ายหญิงต้องไปอยู่อาศัยบ้านฝ่ายชายหลังการแต่งงานถือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกเว้นในกรณีที่ฝ่ายชายอาสามาช่วยงานที่บ้านฝ่ายหญิง หรือในกรณีที่ฝ่ายหญิงไม่มีคนช่วยทำนา และค่าสินสอดในการแต่งงานมีราคาไม่แพง ครอบครัวไทยโซ่งจะถือให้ผู้ชายเป็นใหญ่ โดยเฉพาะการอาศัยอยู่ในละแวกบ้านของฝ่ายชาย ทำให้ฝ่ายหญิงที่เป็นสะใภ้มีความเกรงใจสามี ตลอดจนญาติของสามี นอกจากนี้ผู้ชายต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไปทำนาในที่ดินมรดกของตนเองเพื่อหาเลี้ยงฝ่ายหญิงและครอบครัว ทำให้สถานภาพและบทบาทของผู้ชายสมัยก่อนมีความมั่นคง และเป็นหลักให้ครอบครัวในด้านต่างๆ การให้ความสำคัญกับฝ่ายชายจึงทำให้ลูกชายจะได้รับทรัพย์มรดกจากพ่อแม่มากกว่าลูกผู้หญิง ทั้งนี้เพราะมีความเชื่อว่าลูกผู้ชายจะต้องมีหลักฐานมั่นคงสำหรับครอบครัว ส่วนลูกผู้หญิงพ่อแม่จะให้ทรัพย์สมบัติน้อยกว่าเพราะเชื่อว่าต้องไปอยู่กับฝ่ายสามี จะได้รับทรัพย์สมบัติจากสามี ความผูกพันในครอบครัวในอดีตนั้นจะมีความสนิทสนมปรองดองกัน ภรรยาที่แต่งงานเข้าบ้านฝ่ายชายมักมีความเกรงใจสามี และญาติ ๆ ของสามีโดยเฉพาะพ่อแม่ของสามี ดังนั้นมักมีความสัมพันธ์ที่ดีและไม่มีความขัดแย้งในครอบครัว โซ่งในอดีตจะแยกตัวออกจากคนไทยโดยชัดเจน มีการแบ่งแยกทางชาติพันธุ์อย่างมาก จึงทำให้แทบจะไม่มีโอกาสผสมผสานทางวัฒนธรรมโดยวิธีการแต่งงานกับคนไทย หรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เลย ซึ่งเกือบทั้งหมดจะแต่งงานกับคนไทยโซ่งด้วยกัน โดยเฉพาะรุ่นแรกที่อพยพเข้ามาในหมู่บ้าน และจะแต่งงานกับคนไทยโซ่งที่อยู่ในชุมชนเดียวกันหรือชุมชนใกล้เคียง ในอดีตผู้ใหญ่จะมีบทบาทมากในการเลือกคู่แต่งงานให้หนุ่มสาว เพราะผู้ใหญ่เชื่อว่าสะใภ้จะต้องมาอยู่กับพ่อแม่ พ่อแม่จึงต้องเลือกคนที่มีความสามารถในการปรนนิบัติพ่อแม่และเข้ากับพ่อแม่ได้ โดยบางรายพ่อแม่ญาติพี่น้องจะจัดให้มาพบกันและแต่งงานกัน ระยะเวลาที่พบกันก่อนแต่งงานมักไม่แน่นอน อาจเจอกันตั้งแต่เด็กหรือไม่เคยเจอหน้ากันเลย การแต่งงานจะจัดในห้องผีเรือน สินสอดมีราคาไม่กี่บาทหรืออาจไม่มีสินสอดเลย ด้านประเพณีการแต่งงานญาติพี่น้องจะช่วยกันจัดและเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ คนสมัยก่อนมีความหวังว่าการแต่งงานเพื่อสืบตระกูล มีลูกหลานคอยสืบประเพณีและช่วยกันทำมาหากิน ไทยโซ่งมีกฎเกณฑ์ข้อห้ามทางเพศที่ห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ระหว่างญาติสนิทและระหว่างญาติใกล้ชิด การแต่งงานกับญาติที่ใกล้ชิดมากทางสายเลือดถือว่าผิดประเพณี ในปัจจุบันครอบครัวไทยโซ่งมีขนาดเล็กลง ส่วนมากเป็นครอบครัวขยายที่มีขนาดเล็กกว่าเดิม เพราะมีลูกน้อยลง แม้ว่าครอบครัวจะมีขนาดเล็กกว่าในอดีต แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่ยังดำรงอยู่คือ การรักษาสถาบันครอบครัวที่ลูกชาย 1 คนต้องดูแลพ่อแม่ ดูแลบ้านเดิม (บ้านพ่อแม่) สำหรับครอบครัวที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมีลักษณะที่เป็นกรณีเฉพาะหลายครอบครัว เช่น ในครอบครัวหนึ่งพ่อปลูกบ้านให้ลูกสาวอยู่ในละแวกบ้าน โดยพาลูกเขยมาอยู่ใกล้กัน แสดงให้เห็นว่าพ่อมีบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจเลือกที่อยู่ให้กับลูกสาว ในบางกรณีครอบครัวเดี่ยวที่เกิดขึ้นในบางครอบครัวเกิดจากผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน แยกบ้านมาอยู่ต่างหากโดยที่นำหลาน ๆ มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ในหลายกรณีครอบครัวที่เคยมีสมาชิกเป็นพวกอาวุโสรุ่นปู่ย่า ตายาย เมื่อได้ล้มหายตายจากไป ทำให้ครอบครัวนั้นมีสภาพเป็นครอบครัวเดี่ยว จำนวนคู่ครองยังคงถือเรื่องคู่ครองเพียงคนเดียวเหมือนในอดีต การสืบเชื้อสายฝ่ายชายยังคงมีความสำคัญไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม แต่ความเคร่งครัดในการพึ่งพาลูกชายเริ่มมีความยืดหยุ่น ตามสถานการณ์ปัจจุบันที่ลูกชายไม่อยู่ติดบ้าน ทำให้มีข้อยกเว้นในการสืบตระกูล การนับญาติในปัจจุบัน มีความสัมพันธ์กับญาติทั้งสองฝ่าย แต่อาจจะสนิทกับญาติฝ่ายพ่อและฝ่ายแม่ต่างกัน ที่อยู่อาศัยหลังการแต่งงานส่วนใหญ่ยังคงเป็นบ้านฝ่ายชาย แต่มีบางคู่สมรสไปอยู่กับญาติฝ่ายภรรยา และบางคู่เลือกที่อยู่อาศัยหลังการสมรสเอง อำนาจครอบครัวส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือ ผู้ชายมีอำนาจในครอบครัว แต่มีระบบใหม่เกิดขึ้นเป็นระบบที่สามีและภรรยามีอำนาจในครอบครัวเท่าเทียมกัน สำหรับญาติอาวุโส ไม่ค่อยมีบทบาทในการหาเลี้ยงครอบครัว จึงทำให้ลดความสำคัญลงไปในปัจจุบันมีบทบาทเป็นผู้ให้คำสั่งสอน แนะนำ ในฐานะที่มีประสบการณ์มาก่อน ผู้นำครอบครัวไทยโซ่งในปัจจุบันยังคงเป็นเช่นเดียวกับในอดีต คือ พ่อมีความคาดหวังในการดูแลครอบครัวให้อยู่อย่างสงบสุข หาเลี้ยงครอบครัว ตลอดจนปกครองดูแลบ้านทรัพย์สินมรดก และตัดสินใจในการแบ่งทรัพย์สินมรดก การสืบทอดมรดกลูกผู้ชายยังคงได้มากกว่าลูกผู้หญิง แต่มรดกโดยเฉพาะที่ดินมีจำนวนน้อยลง เพราะต้องแบ่งให้ลูกหลายคน ที่ดินจึงแบ่งซอยย่อยออกเป็นหลายส่วน ลูกบางคนที่ได้รับการศึกษาและพ่อแม่ส่งให้เรียนหนังสือ อาจยอมเสียสละยกมรดกให้พี่น้องที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จากการที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง และมีหลายครอบครัวที่สมาชิกแยกออกไปทำงานต่างถิ่น ทำให้ความสนิทสนมผูกพันกันในครอบครัวลดลง ความสัมพันธ์ที่ยังคงแนบแน่นคือคู่สามีภรรยาที่ต้องอยู่เฝ้าบ้านและอยู่ประจำที่บ้าน ไทยโซ่งยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมที่ให้แต่งงานกับคนไทยโซ่งด้วยกัน และแต่งงานกับคนในชุมชนดียวกัน และพบเป็นส่วนน้อยที่แต่งงานกับคนไทยที่ไม่ใช่โซ่ง แต่ยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยโซ่งต่อไป ส่วนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ออกไปหางานทำหรือศึกษาในกรุงเทพมหานคร หรือในจังหวัดอื่น ๆ คนเหล่านี้มักพบคู่ครองที่ไม่ใช่ไทยโซ่ง จึงมักแต่งงานกับคนนอกชุมชนไทยโซ่งทั้งสิ้น การเลือกคู่ครองในปัจจุบันจะเลือกคู่ครองเอง ส่วนหนึ่งจะเป็นการที่ผู้ใหญ่ให้ความเห็นชอบในการเลือกคู่ครองของลูกหลาน ด้านพิธีหรือระเบียบประเพณีที่ใช้ในการแต่งงานแบบไทยโซ่งยังคงเหมือนเดิม แต่ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแต่งงานในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป สาเหตุหลักของการแต่งงานคือ ความรัก สำหรับสินสอดที่ใช้แต่งงานในห้องผีเรือน เชื่อกันว่า สะใภ้ต้องใช้ค่าสินสอดเท่ากับที่แม่ตัวเองแต่งงานอาจเป็น 14 บาท 20 บาท แล้วแต่ว่าแม่แต่งงานเท่าไร ด้านพิธีการแต่งงาน มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพราะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมไทย และวัฒนธรรมจีนด้วย กล่าวคือ มีการเพิ่มพิธีทางพุทธศาสนาเข้าไปด้วย เช่น มีการนิมนต์พระ เลี้ยงพระ มีการให้ค่าสินสอดแบบไทย รวมทั้งมีการจัดเลี้ยงที่คล้ายกับการเลี้ยงโต๊ะจีน ด้านกฎเกณฑ์ข้อต้องห้ามทางเพศมีบางครอบครัวที่ทำผิดประเพณีโดยการแต่งงานกับญาติที่ใกล้ชิดทางสายเลือด ซึ่งคนโซ่งทั่วไปเชื่อกันว่า แม่ของฝ่ายชายล้มป่วยบ่อย ๆ เพราะเกิดจากความไม่พอใจของผีเรือน เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการผิดผี (หน้า 283 - 301)

Political Organization

บ้านเกาะแรตมีผู้นำในชุมชนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว 6 ท่าน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านคนแรกเป็นปู่ของกำนันคนปัจจุบันของตำบลบางเลน กำนันคนปัจจุบันเป็นผู้นำที่มีบ้านเกิดอยู่ในหมู่บ้านนี้ และสืบสายตระกูลที่เคยเป็นผู้นำหมู่บ้านมาก่อน กำนันได้รับการศึกษา และรับราชการทหารที่กรุงเทพฯ โดยเป็นทหารเรือ และต่อมาลาออกจากราชการเนื่องจากความจำเป็นในการเสียสละเพื่อครอบครัว เพื่อที่จะกลับมาดูแลบ้านและครอบครัว กำนันคนปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2527 และได้รับเลือกให้เป็นกำนันในเดือนกันยายน พ.ศ. 2540 และได้รับรางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม (แหนบทองคำ) ประจำปี 2531 ได้สร้างความเจริญให้กับตำบลบางเลนเป็นอย่างมาก และเป็นผู้นำที่มีความตั้งใจจริงที่จะพัฒนาหมู่บ้านต่าง ๆ อย่างจริงจัง (หน้า 89, 90)

Belief System

ไทยโซ่งบ้านเกาะแรตมีการนับถือศาสนาต่าง ๆ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผสมผสานกันคือ ศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อเรื่องผี และขวัญ แต่ความเชื่อที่สำคัญที่สุดคือ ความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับผีเรือนและความเชื่อเรื่องขวัญ ผีมีประเภทต่างๆ คือ ผีฟ้าหรือผีแถน โดยเชื่อว่าเป็นผู้ดลบันดาลให้มนุษย์มาเกิด มนุษย์จึงอยู่ภายใต้การควบคุมของผีแถนและต้องปฏิบัติตามความประสงค์ของผีแถน เพื่อจะได้รับความคุ้มครองป้องกันภัยต่าง ๆ ผีบ้านผีเมือง เชื่อว่าทำหน้าที่คุ้มครองปกป้องบ้านเมืองให้อุดมสมบูรณ์ ผีป่าผีเขา เชื่อว่าในธรรมชาติจะมีผีสิงสถิตย์อยู่ หากคนละเมิดอาจเกิดภัยต่าง ๆ ได้ ผีเจ้าที่ หรือผีประจำหมู่บ้าน ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญประจำหมู่บ้าน คอยปกปักรักษาดูแลหมู่บ้านนั้น ๆ ผีบรรพบุรุษ คนไทยโซ่งเรียกว่า ผีเรือนหรือผีเฮือนคือ ผีพ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้ว โดยจะเชิญมาไว้บนเรือนและจัดให้อยู่ที่มุมในห้องหนึ่ง การนับถือผีเรือนละผีบรรพบุรุษ เกิดจากความรู้สึกกตัญญูและรู้คุณผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ลูกชายจะมีหน้าทีสืบผีคือ เลี้ยงผีบรรพบุรุษคอยจัดพิธีตามตำรา และไม่ละเมิดข้อบังคับที่กำหนดไว้ ผีขวัญ คนไทยโซ่งมีความเชื่อเรื่องขวัญ ซึ่งเป็นความเชื่อเก่าแก่มาก จึงมีพิธีที่จัดให้กับผีเรือนคือ การแปงขวัญ ผีนา เป็นความเชื่อของคนไทยโซ่งที่ทำนา โดยจะจัดพิธีไหว้ผีนาก่อนทำนาและช่วงที่เก็บข้าวขึ้นยุ้ง แต่ปัจจุบันการเซ่นไหว้ผีนาเหลือน้อยลง นอกจากความเชื่อเรื่องผีแล้ว คนไทยโซ่งยังมีความเชื่อเรื่อง ขวัญ เหมือนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย โดยเชื่อว่าแถนเป็นผู้สร้างมนุษย์ให้มาเกิด และทุกคนต้องมีขวัญติดตัวมาแต่กำเนิดคล้ายกับวิญญาณ ขวัญอาจตกหล่นหรือหายไปได้ง่าย ถ้าตกใจหรือเจ็บป่วยขวัญก็จะหนีออกไปจากตัว จึงต้องทำพิธีเรียกขวัญให้กลับคืนมาอยู่ในร่างกายตามเดิมเรียกว่า สู่ขวัญ โดยมีหมอผีมาทำพิธีเรียกขวัญ (หน้า 125 - 129) คนไทยโซ่งนอกจากจะมีความเชื่อในเรื่องผีแล้ว ยังคงรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสานกับความเชื่อแบบผี จนในที่สุดบรรพบุรุษของไทยโซ่งยอมรับนับถือพุทธศาสนากันทุกครัวเรือน และค่อนข้างเคร่งเหมือนกับคนไทยทั่วไป คนไทยโซ่งยอมรับนับถือพุทธศสานา เนื่องจากความเชื่อทางพุทธศาสนาไม่ได้ขัดแย้งกับความเชื่อดั้งเดิมของไทยโซ่งที่นับถือผี นอกจากนี้ไทยโซ่งเกาะแรตยังคงเลื่อมใสศาสนาพราหมณ์ด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากแต่ละบ้านจะมีศาลพระภูมิ บางบ้านมีการตกแต่งอย่างสวยงาม การทำพิธีตั้งศาลพระภูมิถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องขอให้พราหมณ์มาประกอบพิธีให้ตามแบบพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ทุกประการ (หน้า 130 - 132) ผู้วิจัยได้แบ่งประเพณีพิธีกรรมของไทยโซ่งบ้านเกาะแรตเป็น 2 อย่างคือ ประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีและขวัญ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของไทยโซ่ง และประเพณีที่เกี่ยวกับวงจรชีวิตของแต่ละปัจเจกบุคคล ประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผีและขวัญได้แก่ พิธีปาดตง คนไทยโซ่งจะไหว้ผีเรือนทุก ๆ 5 วัน ในกรณีที่เป็นบ้านสิงผู้ท้าว (ตระกูลเจ้า) และทุก ๆ 10 วันในกรณีที่เป็นบ้านสิงผู้น้อย (ตระกูลคนธรรมดา) เรียกว่า พิธีปาดตง คนไทยโซ่งจะมีวันตามประเพณีช่วงละ 10 วัน ซึ่งแต่ละบ้านแต่ละสกุลจะมีวันเฉพาะสำหรับทำพิธีปาดตง ที่มีการกำหนดมาไว้แต่เดิม ซึ่งจะเอาวันที่ต้นตระกูลผู้ชายเสียชีวิตคือวันทำปาดตง เพื่อไหว้และนำอาหารไปให้บรรพบุรุษ วันสำหรับทำปาดตงจะเวียนไปรอบละ 10 วัน 1 เดือนมี 30 วัน ก็จะมีวันที่สามารถทำพิธีปาดตงได้ 3 วัน วิธีการปาดตงคือ การนำเครื่องเซ่น อาหารคาวหวาน อย่างละ 2 ชนิด มาที่ห้องผีเรือนหรือกะล่อหอง 2 ครั้งในตอนเช้าและกลางวัน มีการบอกกล่าวเชิญให้ผีเรือนมารับประทานอาหาร โดยผู้ที่ทำพิธีจะต้องเป็นสมาชิกในครอบครัว ถ้าเป็นลูกเขยหรือลูกสะใภ้จะต้องสวมเสื้อฮีเข้ามาในห้อง คนไทยโซ่งบ้านเกาะแรตจะทำพิธีปาดตงกันทุกครอบครัวเพราะเชื่อกันว่า ถ้าลูกหลานไม่ทำจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่บุคคลนั้น รวมทั้งบุคคลที่อพยพมาอยู่กรุงเทพฯ ก็ยังต้องมีพิธีปาดตง เพราะถ้าไม่ทำจะเกิดปัญหาไม่สบายตัวเหมือนคนในหมู่บ้านเกาะแรต (หน้า 137 - 138) พิธีเสนเรือนหรือเสนเฮือน เป็นพิธีที่กระทำทุก ๆ 3 - 4 ปี เพื่อเป็นการทำบุญบ้านและไหว้ผีเรือน การเตรียมงานมีความสลับซับซ้อน และต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ในด้านพิธีกรรมต้องมีการทำเสนสะเดาะเคราะห์เพื่อปัดเป่าสิ่งอวมงคลออกจากบ้าน โดยใช้แม่มดซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีวิชามาทำพิธีนี้ เพื่อทำให้บ้านและคนสะอาดบริสุทธิ์พร้อมที่จะรับพิธีเสนเรือน พิธีเสนเรือนมี 2 ประเภท คือ เสนเรือนผู้ท้าว คือ เสนเรือนของผู้ที่สืบเชื้อสายจากตระกูลเจ้า และเสนเรือนผู้น้อยซึ่งสืบตระกูลมาจากคนธรรมดาสามัญชน คนไทยโซ่งส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลคนสามัญ พิธีเสนเรือนผู้น้อยจึงมีมากกว่า - พิธีเสนเรือนเป็นพิธีที่จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผีเรือนประเภทต่าง ๆ มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน เป็นการแสดงออกซึ่งความกตัญญู ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว เชื่อกันว่าเมื่อได้จัดพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนแล้ว ผีเรือนจะปกป้องคุ้มครองรักษาตนและครอบครัวให้มีความสุข เจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขึ้น พิธีเสนเรือนนี้มีผลต่อการจัดระเบียบทางสังคมของโซ่งมาก เพราะได้ช่วยให้ญาติพี่น้องทั้งใกล้ไกลได้มาอยู่ร่วมกันทำพิธี และได้ระลึกถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ รวมถึงการแสดงความมีน้ำใจของเพื่อนบ้านที่มีต่อกัน ช่วยเหลือกันในการจัดงาน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันมีมากขึ้น (หน้า 138 - 140) ประเภทของพิธีเสนที่ยังคงมีอยู่ในหมู่บ้านเกาะแรต ซึ่งพิธีบางอย่างอาจทำมากบ้างหรือน้อยบ้าง ได้แก่ เสนเรียกขวัญหรือเสนขึ้นเสื้อ เป็นการเสนให้ผู้ที่กำลังเจ็บป่วยให้หายจากการป่วย เสนสะเดาะเคราะห์ เป็นพิธีเรียกขวัญให้กลับคืนมาสู่ตัว เสนรับผีมด เป็นพิธีเสนให้ผีแม่มดเก่าแก่มาอยู่ด้วย เป็นการครอบครูแก่ผู้รับหน้าที่เป็นแม่มดคนใหม่ เสนฆ่าเกือด เป็นพิธีเสนฆ่าแม่เดิมของเด็กเมื่อแรกเกิด เพราะแม่เดิมจะคอยติดตามเด็กทำให้เด็กเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ เสนตง เป็นพิธีเสนเรียกขวัญอย่างหนึ่งหากคนในบ้านมีอาการเจ็บป่วยอยู่เสมอ เสนกวัดไกวหรือเสนกวัดกว้าย เป็นพิธีเสนปัดกวาดให้สิ่งชั่วร้ายออกไปจากเรือน เนื่องจากบ้านนั้นมีผู้ตาย ต้องจัดพิธีหลังจากเผาศพไปแล้ว 1 เดือน เสนปาดตง เป็นการนำเครื่องเซ่นไปไหว้ผีเรือนของตนทุก 10 วัน เสนตั้งบั้ง เป็นการเซ่นผีบรรพบุรุษที่เป็นผู้มีเวทมนต์ (หน้า 142 - 143) - ประเพณีการเสนตั้งบั้ง เป็นการไหว้ผีบรรพบุรุษผู้ที่มีเวทมนต์ สามารถรักษาไข้ ถอนพิษด้วยเวทมนต์ได้ เมื่อผู้นั้นตายลูกหลานจะอัญเชิญมาเป็นผีเรือน โดยจะจัดหิ้งที่อยู่ไว้ให้โดยห่างจากผีบรรพบุรุษธรรมดา แต่อยู่ในห้องผีเรือนเดียวกัน ผู้สืบผีจะต้องทำการเซ่นไหว้สองชุดแยกกัน ประเพณีเสนตั้งบั้งมีพิธีเพื่อรับขวัญ พิธีฉลองขวัญมนต์ มีการบรรเลงกล่อมขวัญ มีการเป่าปี่ประโคม เป็นการต้อนรับและยินดีที่แถนรับน้ำมนต์เครื่องเซ่นไหว้ มีการร่ายรำประกอบพิธีต่างๆ และสุดท้ายหมอพิธีจะกล่าวเชิญมนต์กลับที่เดิม เจ้าภาพนำอาหารมาเลี้ยงหมอพิธี และแขกที่มาในงานเป็นอันเสร็จพิธี ประเพณีเสนตั้งบั้งมีความเกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบทางสังคมในการช่วยทำให้คนในหมู่บ้านยังคงรักษาประเพณีไว้โดยทั่วกัน และให้ความนับถือต่อบรรพบุรุษของตนในทุกครอบครัว รวมทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีและสร้างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและญาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น (หน้า 144-145) - ประเพณีการไหว้ศาลประจำหมู่บ้าน เป็นประเพณีที่ทำเป็นประจำทุกปี และนับเป็นวันรวมญาติๆ ไทยโซ่งทั่วประเทศด้วย เพราะจัดงานในวันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันปีใหม่ของไทยโซ่ง การตั้งศาลประจำหมู่บ้าน ก็ด้วยความคิดที่จะพึ่งพาอาศัยให้คุ้มครองหมู่บ้าน เป็นที่พึ่งทางใจ จึงมีผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อสร้างศาลพ่อปู่หลายคน ปัจจุบันศาลพ่อปู่ตั้งอยู่ในซอย 4 หมู่ 12 บ้านเกาะแรต พ่อปู่คือ เจ้าพ่อบุญน้อย ได้เข้าประทับทรงคนในบ้านเกาะแรตเรื่อยมาเป็นเวลานาน ในปัจจุบันการไหว้ศาลพ่อปู่จะกระทำในวันที่ 14 เมษายนของทุกปี ในตอนเช้าจะมีการนำผลไม้ของหวาน เหล้า น้ำ มาไหว้ ตอนบ่ายมีการทำบุญกลางบ้าน ตอนเย็นมีการละเล่นพื้นเมือง ประเพณีการไหว้ศาลประจำหมู่บ้านชี้ให้เห็นถึงการจัดระเบียบทางสังคมในด้านการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน โดยการแสดงออกมาในรูปของกิจกรรมร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในด้านจิตใจให้ทุกคนอุ่นใจได้ว่า ศาลประจำหมู่บ้านจะคุ้มครองบ้านเรือน และสมาชิกไทยโซ่งทุกคนให้สุขสบายเป็นที่พึ่งทางใจ และผูกเชื่อมความสัมพันธ์ของไทยโซ่งได้เป็นอย่างดี (หน้า 146 - 149) - พิธีแปงขวัญ เป็นพิธีกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของไทยโซ่งบ้านเกาะแรต การแปงขวัญคือ การเรียกขวัญของตนเองให้กลับคืนมา โดยการจัดทำพิธีอ้อนวอนแถน หรือผู้เป็นใหญ่ในเมืองฟ้าให้ปล่อยขวัญกลับคืนมา มีการไถ่ขวัญด้วยสิ่งของการแลกเปลี่ยน การขับกล่อมเทวดาด้วยเครื่องดนตรี และการไต่ถามเทวดาด้วยการนับเมล็ดข้าวสารหรือทอดไม้คว่ำหงาย เป็นต้น ไทยทรงดำมีความเชื่อว่า ผีขวัญเป็นผีที่อยู่ในร่างกายของแต่ละคน เป็นมิ่งขวัญของเรือนร่างประดุจดังพี่เลี้ยงของร่างกาย การเกิดอาการเจ็บป่วยในเด็กเล็กๆ หมายความว่า ผีขวัญล่องลอยไปในที่ต่างๆ การนอนหลับฝันไม่ดีแสดงว่า ผีขวัญไม่อยู่กับตัวเที่ยวเตร่ไปโดยไม่รู้ที่อยู่ ผู้นั้นจะต้องเรียกขวัญโดยทำพิธีแปงขวัญเพื่อให้ขวัญกลับมาอยู่กับตัวเหมือนเดิม การแปงขวัญในบ้านเกาะแรตแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ การแปงขวัญเด็ก การแปงขวัญคนทั่วไป และการแปงขวัญผู้สูงอายุ ซึ่งเครื่องพิธีแปงขวัญจะใช้ต่างกันในแต่ละประเภท หลังจากพิธีแปงขวัญแล้วไทยโซ่งมีความรู้สึกสบายขึ้นมาก และในไม่ช้าก็จะหายจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ พิธีแปงขวัญเป็นพิธีกรรมที่ทำกันบ่อย ๆ และยังพบเห็นได้ทั่วไปในหมู่บ้านเกาะแรตในปัจจุบัน (หน้า 149-151) ประเพณีพิธีกรรมชีวิตของไทยโซ่งบ้านเกาะแรต ในชีวิตของไทยโซ่งแต่ละคน เคยผ่านพิธีกรรมชีวิต เช่น การบวช แต่งงาน และงานศพ มีความสำคัญในด้านการแสดงความพร้อมเพรียง ความสามัคคี การรักพวกพ้อง โดยเฉพาะการพร้อมใจกันมาช่วยงานพิธีเหล่านี้ ชาวบ้านจะนิยมบอกงานและมาร่วมงานกัน เมื่อบ้านใดก็ตามจัดงานในหมู่บ้าน - สำหรับการเกิด พิธีกรรมเฉพาะสำรับเด็กเกิดใหม่ไม่มี แต่ถ้าเด็กเจ็บป่วยจะมีการแปงขวัญให้กับเด็ก ธรรมเนียมของการจัดงานในหมู่บ้านต้องมีการจัดเลี้ยง เชิญแขก ซึ่งการจัดเลี้ยงแต่ละครั้งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน และคนรู้จัก - สำหรับงานบวช จะเป็นพิธีที่สำคัญในการผ่านชีวิตที่อายุ 20 ปีขึ้นไปของผู้ชาย กล่าวคือ การบวชให้กับพ่อแม่เป็นหน้าที่ของลูกผู้ชาย เมื่ออายุครบบวชพ่อแม่จะมีความหวังจากลูกชายว่าจะบวชให้พ่อแม่ และจะได้รับกุศลบุญจาการบวช เมื่อผ่านการบวชแล้วจะเป็นเวลาที่ฝ่ายชายจะหาคู่ครองซึ่งจะนำไปสู่การแต่งงานหรือ งานกินดอง หรือ งานกินหลอง หมายถึง งานเลี้ยงเพื่อความเกี่ยวดองเป็นญาติกัน - ประเพณีชีวิตที่สำคัญในบ้านเกาะแรตปัจจุบันคือ งานแต่งงาน และงานศพ - ประเพณีแต่งงาน จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดการชอบพอกัน ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปเจรจากับผู้ใหญ่ฝ่ายหยิงเรียกว่า ไปโอ้โลม ในการเจรจานี้ถ้าตกลงกันได้ก็จะกำหนดวันหมั้น ในวันหมั้นนั้นผู้ใหญ่ชายฝ่ายชายจะต้องเตรียมห่อหมากพลุ บุหรี่ 2 ชุด ให้หญิงสาว 2 คนถือไปพร้อมกับการแต่งกายชุดประเพณีด้วย ระหว่างการหมั้นนี้ฝ่ายชายจะไปเยี่ยมฝ่ายหญิงเป็นครั้งคราวได้ หรือไป ๆ มา ๆ เรียกว่า การไปมาหาสู่ วันแต่งงานคือ วันทำพิธีส่งตัวเจ้าสาวไปอยู่บ้านเจ้าบ่าวเรียกว่า สู่ หรือ นัดมื้อส่ง หรือ กินดอง (กินเลี้ยงกันระหว่างญาติทั้งสองฝ่าย) - พิธีรับขวัญ การรับขวัญ เรียกว่า การนั่งพานเทียนสู่ขวัญ พิธีเริ่มด้วยการตั้งปานขวัญ (พาน) ไว้กลางบ้าน เครื่องเซ่นนี้ใช้สำหรับเซ่นให้กับสิ่งที่รักษาขวัญของบ่าวสาว หมอขวัญจะเริ่มทำขวัญโดยกล่าวเป็นภาษาโซ่งทั้งหมด เป็นคำพูดที่เรียบเรียงมาอย่างคล้องจอง และเต็มไปด้วยคติธรรมและความรู้ในการครองเรือน คำกล่าวในการทำขวัญแบ่งได้เป็น 2 เรื่องคือ การสอนขวัญ และการหอมขวัญ การสอนขวัญ หมายถึง บอกให้คู่บ่าวสาวทราบถึงเวลาอันสมควรแล้วจึงมีพิธี ปู่เสื่อ กางหยัน คือปูที่นอนและกางมุ้ง ก่อนที่จะปูที่นอนและกางมุ้งหมอพิธีและญาติผู้ใหญ่จะต้อง สาดเงินสาดกำ คือโปรยทองลงบนพื้นที่นั้น เพื่อเจ้าบ่าวเจ้าสาวได้เก็บไว้เป็นสิริมงคล จากนั้นผู้ประกอบพิธีเข้ามุ้งลงนอนก่อน เพื่อเป็นเคล็ดว่าให้คู่สามีภรรยามีชีวิตคู่ที่ดี แล้วจึงให้คู่บ่าวสาวได้เข้านอนต่อไปเป็นอันเสร็จพิธี ประเพณีการแต่งงานเป็นการจัดระเบียบทางสังคมผ่านทางประเพณีอีกอย่างหนึ่ง กล่าวคือ การจัดประเพณีนี้เพื่อการรักษาไว้ซึ่งการครองเรือนให้เป็นครอบครัวที่ดี ซึ่งครอบครัวที่ดีนับเป็นพื้นฐานของสังคมที่ดีมีการขัดเกลามาอย่างดี ทำให้มีการจัดระเบียบโครงสร้างสังคมดีตามไปด้วย (หน้า 151-155) - ประเพณีการทำศพ (เฮ็ดแฮว) ไทยโซ่งถือว่า การตายเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อมีการตายคนทั้งหมู่บ้านจะหยุดการทำงานทุกอย่างเป็นการไว้ทุกข์ และช่วยกันจัดการเกี่ยวกับประเพณีงานศพนั้น เรียกว่า กำบ้านกำเมือง และถือเป็นความโศกเศร้าจนกว่าจะนำศพไปเผาเสร็จ แล้วจึงทำงานตามปกติได้ หากพ่อแม่ตายลงจะต้องเป็นผีเฝ้าเรือน หรือ ผีเรือน ประจำบ้านต่อไป มีการอัญเชิญเป็นผีเรือน จดชื่อใส่ในบัญชีประจำบ้านเรียกว่า ปับผีเรือน แต่ละครั้งที่มีการเซ่นอาหารเพื่อเลี้ยงผีเรือนก็จะนำปับผีเรือนนั้นมาอ่านชื่อ แล้วเรียกให้มารับเครื่องเซ่นที่ละคนในพิธีเสนเรือน ผีที่จะเชิญเป็นผีเรือนได้จะต้องเป็นผีที่ตายดีคือ เจ็บป่วยตาย แก่หมดอายุ และตายในบ้าน - พิธีส่งผี หมอผีจะเสี่ยงทายหาที่สร้างบ้านก่อน การสร้างบ้านนี้มีเคล็ดว่าจะต้องทำให้ต่างไปจากการสร้างบ้านให้คน หมอผีจะนำกระดูกทั้งหมดห่อผ้าขาวแล้วบรรจุลงไหแล้วฝังดิน จากนั้นอีก 2 วันจะมีพิธี แผ้วเรือน คือ การล้างเรือนโดยมีแม่มดมาทำพิธีเพื่อให้บ้านเรือนสะอาดพ้นจากความทุกข์เป็นอันเสร็จพิธี การประกอบพิธีศพตามประเพณีของโซ่งชี้ให้เห็นว่า มีการตระหนักถึงคุณค่าของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยเฉพาะที่เป็นญาติกันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพและบทบาทของสมาชิกในครอบครัวและสังคม (หน้า 156 - 158) - พิธีขึ้นบ้านใหม่ ก่อนที่เจ้าของบ้านจะเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านหลังใหม่ของตนเองได้ ไทยทรงดำมีพิธีขึ้นบ้านใหม่คือ พิธีเริ่มขึ้นประมาณบ่ายสี่โมงเป็นต้นไป พิธีการต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือกว่านั้น เจ้าของบ้านที่เป็นพ่อบ้านจะสวมเสื้อฮี สะพายย่าม เหน็บมีดได้มีฝักไว้ที่เอว แม่บ้านสวมเสื้อฮี นุ่งซิ่น สะพายแอบหรือกระแอบข้าวเหนียว ญาติพี่น้องช่วยกันหาบและถือสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ที่นอน หมอน มุ้ง กระบุง ตะกร้า และอื่น ๆ (หน้า 158-159) - พิธีข่มข่วง เป็นพิธีการข่มขวัญภูติผีปีศาจมิให้กล้ำกรายเบียดเบียนผู้คนหรือเจ้าของบ้าน ให้มีความสุขความเจริญ พิธีนี้เป็นการบำรุงขวัญและจิตใจให้คลายความกลัว คล้ายพิธีตัดไม้ข่มนาม (หน้า 159-160)

Education and Socialization

ในหมู่บ้านเกาะแรตคนในชุมชนนิยมส่งบุตรหลานเรียนในระดับประถมศึกษา และชั้นอนุบาลที่โรงเรียนวัดเกาะแรต ซึ่งเปิดสอนในระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียนเพราะถือว่าเป็นการศึกษาภาคบังคับ แต่นักเรียนอาจจะต้องเสียค่าอาหารกลางวัน แต่เสียในราคาถูกเพราะเป็นโครงการอาหารกลางวัน โรงเรียนแห่งนี้จัดการศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษากำหนด และอยู่ห่างจากหมู่บ้านเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร ชุมชนกับโรงเรียนมีความสัมพันธ์กัน โดยที่โรงเรียนจะขอความร่วมมือกับชุมชน ในด้านการบริจาคเงินสร้างอาคารเรียน และโรงเรียนมีหน่วยสัมพันธ์ชุมชนที่จัดกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันสำคัญทางศาสนา และวันกีฬา ปัจจุบันอาคารเรียนหลักมี 16 ห้อง และมีอาคารเรียนใหม่ที่กำลังสร้างอยู่ขนาด 2 ชั้น มีครูประจำ 10 คน อาจารย์ใหญ่ 1 คน ครูประมาณ 4 คน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านและมีพื้นเพเดิมเป็นชาวบ้านเกาะแรต มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 202 คน เป็นนักเรียนชาย 126 คน และนักเรียนหญิง 76 คน ในระดับก่อนอนุบาล ในหมู่บ้านเกาแรตหมู่ 11 มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยรับเลี้ยงเด็กและดูแลเด็กที่อายุไม่เกิน 4 ขวบ มีครูประจำที่สอนอยู่ 4 คน เด็กเล็กจะเรียนที่ศูนย์ประมาณ 2 ปี และจะเรียนต่อในระดับอนุบาลต่อไป (หน้า 112, 113) กระบวนการขัดเกลาทางสังคมของคนไทยโซ่งในอดีตไม่ได้คาดหวังอะไรจากลูกมาก นอกจากให้ช่วยทำนา สืบทอดประเพณีและเลี้ยงดูพ่อแม่ยามแก่เฒ่า ไทยโซ่งส่วนใหญ่อยากได้ลูกชายมากกว่าลูกสาว เพื่อสืบทอดประเพณีที่ต้องให้ผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัว สำหรับเรื่องการดูแลครรภ์ของคนสมัยก่อนมักดูแลแบบธรรมดา ไม่ได้ใส่ใจเป็นพิเศษ ทำงานในไร่นาได้ขณะที่ตั้งครรภ์ ในการเลี้ยงดูเด็กจะเลี้ยงดูอย่างธรรมชาติ ผูกเปลใต้ถุนบ้านและวิ่งเล่นตามไร่นา เมื่อโตขึ้นก็ให้รับผิดชอบงานบ้าน และช่วยผู้ใหญ่ทำงาน ในการเลี้ยงดูบุตรชายและบุตรหญิงจะมีการสอนให้ทำหน้าที่แตกต่างกันคือ ผู้ชายจะสอนให้เป็นผู้นำ ทำงานนอกบ้านและหาเลี้ยงครอบครัว ขณะที่ผู้หญิงจะเน้นการทำงานในบ้าน เช่น ทอผ้า หุงข้าว ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน ค่านิยมไทยโซ่งในอดีตที่ส่งเสริมให้มีขึ้นในหมู่ลูกหลานคือ การนับถือผู้อาวุโส ความกตัญญู ความขยันหมั่นเพียร การประหยัดมัธยัสถ์ และการรักญาติพี่น้อง ไทยโซ่งในอดีตควบคุมพฤติกรรมลูกโดยใช้ความเชื่อเรื่องการลงโทษของผีเรือน เพื่อให้ลูกหลานสืบประเพณีการนับถือผีเรือนต่อไป และมีการลงโทษด้วยคำพูด เช่น การดุว่า และการทำโทษด้วยการตี หากลูกยังเป็นเด็ก และอาจมีการตักเตือนบ้างเมื่อถึงเวลาสมควร การเลี้ยงดูบุตรในอดีตมีการเลี้ยงดู 3 แบบคือ แบบเผด็จการ แบบปล่อยปละละเลย และแบบประชาธิปไตย การให้การศึกษาในสมัยก่อนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนหนังสือถ้าเป็นผู้หญิง แต่ผู้ชายได้เรียนหนังสือเพราะการบวชเรียนและการจ้างครูมาสอนที่บ้าน ครอบครัวส่วนใหญ่ไม่ค่อยส่งเสริมด้านการศึกษาให้กับลูก เพราะขาดความรู้และสนใจแต่เรื่องทำมาหากิน ทัศนคติของพ่อแม่จึงมีความพอใจในวิถีชีวิตแบบธรรมดาง่าย ๆ เพียงแต่ลูกขยันทำมาหากินในนา มีรายได้มั่นคง ไม่มีหนี้สิน พอเลี้ยงตัวเองได้ก็ถือว่าลูกประสบความสำเร็จแล้ว (หน้า 309 - 311) สำหรับกระบวนการขัดเกลาทางสังคมในปัจจุบัน ไทยโซ่งยังมีความคิดแบบเดิมที่คาดหวังให้ลูกเป็นคนดี และกตัญญูต่อพ่อแม่ บางครอบครัวคาดหวังให้ลูกเรียนสูงระดับปริญญาตรี และได้ทำงานที่มั่นคงและมีรายได้ดี ครอบครัวรุ่นใหม่มีการวางแผนครอบครัวและส่วนใหญ่ยังคงคาดหวังจะมีลูกชายไว้อย่างน้อย 1 คน เพื่อสืบตระกูลและสืบทอดประเพณี ที่ต้องให้ลูกชายดูแลบ้าน และอีกจำนวนหนึ่งมีความคิดว่ามีลูกชายก็ได้ลูกสาวก็ดี การดูแลครรภ์และคลอดบุตรจะใช้บริการของสถานีอนามัยและโรงพยาบาลดอนตูม การเลี้ยงดูบุตรส่วนใหญ่ยังอิงกับแบบเดิม เนื่องจากพ่อแม่มีการศึกษาน้อย มีอาชีพเกษตรกรรม มีเพียงไม่กี่ครอบครัวที่มีการศึกษาโดดเด่นกว่าครอบครัวอื่น จึงมีแนวทางการเลี้ยงลูกในแบบที่ทันสมัย การเลี้ยงดูบุตรชายและบุตรหญิงในปัจจุบัน ไม่แตกต่างกันมาก มีความเท่าเทียมกันในด้านการให้ความรักความเอาใจใส่ แต่สิ่งที่มีความแตกต่างกันคือ การสอนให้ทำหน้าที่แตกต่างกัน โดยผู้ชายจะสอนเน้นการออกไปทำงานนอกบ้าน ขณะที่ผู้หญิงจะทำงานที่เบากว่าผู้ชาย แม้ว่าการเลี้ยงดูจะเป็นแบบดั้งเดิม แต่บริบทของสังคมเปลี่ยนไปทำให้ผู้หญิงเริ่มมีวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษา มักออกไปแสวงหาอาชีพที่ดีกว่าในเมือง ค่านิยมดั้งเดิมในการเลี้ยงดูบุตรยังคงมีอยู่ แต่มีการเพิ่มเติมค่านิยมทางการศึกษา ที่ส่งเสริมให้ลูกเรียนสูงๆ นอกจากนี้ครอบครัวไทยโซ่งทั้งหมดยังคงส่งเสริมการอนุรักษ์และเผยแพร่ประเพณีไทยโซ่งไปให้รุ่นลูกหลานได้สืบทอดไว้ต่อไปด้วย การลงโทษบุตรยังคงเป็นการว่ากล่าวตักเตือน การดุด้วยวาจา และมีการใช้การลงโทษด้วยการอ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์ของผีเรือน ซึ่งยังคงเหมือนก่อนทุกประการ แต่ความเชื่อถือของคนปัจจุบันอาจจะไม่เชื่อถือเรื่องเก่า ๆ ที่พ่อแม่เล่าให้ฟัง วิ ธีการเลี้ยงดูบุตรในครอบครัวที่พ่อแม่มีการศึกษาสูงจะเลี้ยงดูลูกแบบประชาธิปไตย ส่วนใหญ่จะเลี้ยงลูกแบบผสมผสาน นั่นคือเลี้ยงแบบเผด็จการในบางครั้ง เลี้ยงแบบปล่อยปละละเลยในบางส่วน และเลี้ยงแบบประชาธิปไตยในบางครั้งด้วย ทั้งนี้แล้วแต่สถานการณ์ การศึกษาและอาชีพของบุตรในปัจจุบัน ในครอบครัวที่มีการศึกษาดีและทำงานข้าราชการซึ่งมีจำนวนน้อยครอบครัว มีความสามารถในการส่งเสริมการศึกษาให้ลูกเรียนจบระดับอุดมศึกษา ครอบครัวส่วนใหญ่ยังมีความคิดแบบเดิมคือ พอใจในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และหาเลี้ยงชีพโดยการทำนา ขณะที่ครอบครัวอีกจำนวนหนึ่งมีความคิดก้าวหน้า โดยอยากให้บุตรเปลี่ยนอาชีพไปทำงานและศึกษาต่อโดยไม่เน้นการทำนาเป็นหลัก ขณะที่ครัวเรือนอีกจำนวนหนึ่ง พ่อแม่ตามใจลูกโดยไม่ขัดขวางลูก หากลูกจะเลือกอยู่บ้านหรือไปอยู่ที่อื่น พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังคงต้องการให้บุตรชายอยู่บ้านช่วยดูแลบ้าน และสืบทอดประเพณีดั้งเดิม และยังคาดหวังให้ลูกคนโตยังคงรับผิดชอบและเสียสละให้น้องตลอดจนเป็นที่พึ่งให้น้องและพ่อแม่ อย่างไรก็ตามมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้พ่อแม่ไม่มีอำนาจมากนักในการควบคุมลูกๆ (หน้า 312 - 316)

Health and Medicine

การรักษาพยาบาลในหมู่บ้านมีทั้งการรักษาแบบสมัยใหม่ และการรักษาแบบพื้นบ้าน ชาวบ้านปัจจุบันนิยมไปรับการรักษาแบบแผนปัจจุบันที่อนามัย มากกว่าที่จะใช้บริการหมอแบบดั้งเดิม อย่างไรก็ตามความเชื่อหมอดั้งเดิมยังคงมีอยู่มาก ซึ่งชาวบ้านส่วนหนึ่งเชื่อว่า หมอแผนโบราณ เช่น หมอพ่นยา สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ โดยชาวบ้านจะตอบแทนหมอด้วยสิ่งของเล็ก ๆ น้อยๆ เช่น เสื้อผ้า และหมอสมัยโบราณที่ขาดไม่ได้คือ หมอตำแย ซึ่งมีความสำคัญในการทำคลอดเด็กในหมู่บ้านเกาะแรต ก่อนที่ความเจริญทางการแพทย์สมัยใหม่จะเข้าไปถึง ความสามารถของหมอตำแยจะเริ่มจากการคัดท้องให้กับคนท้องที่ใกล้จะคลอด เป็นผู้ช่วยในการทำคลอด และอาบน้ำให้เด็ก ตลอดจนทาสมุนไพรให้แก่ผู้ที่เพิ่งคลอดบุตร ให้คำแนะนำในเรื่องการอยู่ไฟ ส่วนยาบำรุงครรภ์ในสมัยก่อนมักจะเป็นยาดองเหล้าและยาสมุนไพรแผนโบราณ ที่หาซื้อได้จากร้านขายยาในตลาด ในปัจจุบันไม่มีการคลอดบุตรด้วยหมอตำแยแล้ว หญิงรุ่นใหม่ฝากครรภ์ที่อนามัย และคลอดบุตรที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ แต่สิ่งที่ยังนิยมสืบทอดกันอยู่คือ การอยู่ไฟหลังคลอดบุตร สำหรับในปัจจุบัน มีสถานีอนามัยประจำตำบล ซึ่งเป็นสถานีอนามัยขนาดเล็ก มีเจ้าหน้าที่บริหารงานสาธารณสุข 1 คน และเจ้าพนักงานสาธารณสุข 2 คน โดยสถานีอนามัยประจำตำบลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข งานของสถานีอนามัยคือ การให้การรักษาพยาบาลเบื้อต้น การส่งเสริมสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน การวางแผนครอบครัว การอนามัยแม่และเด็ก และงานด้านการโภชนาการ ผู้ที่มารับการรักษาพยาบาลที่สถานีอนามัยมักเป็นชาวบ้านจากหมู่บ้านแถบนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนักมากและเกินขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลคือ โรงพยาบาลบางเลน โรงพยาบาลดอนตูม และโรงพยาบาลประจำจังหวัด รายได้ของสถานีอนามัยส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณของทางราชการและบางส่วนเรียกเก็บเงินจากคนไข้ (หน้า 114 - 116)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแสดงออกในงานฝีมือของชาวบ้านถือได้ว่าเป็นงานศิลปะมีหลายแขนงด้วยกัน ฝ่ายชายจะเน้นด้านการจักสานเป็นภาชนะรูปทรงต่าง ๆ เช่น ปานหรือพาน โฮ้ใส่เศษผ้า สานขมุกใส่เสื้อผ้า ซ้าหลอด หรือตะกร้าหลอด งอบ กระจาดหาบ แอบใส่ข้าว ไหนึ่ง เชี่ยนหมาก มุ้ง และอุปกรณ์ในพิธีแต่งงาน เช่น กระเหล็บ การจักสานในสมัยก่อนจะสานเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ในปัจจุบันกลายเป็นการจักสานเพื่อการท่องเที่ยวคือ พยายามจะอนุรักษ์งานด้านนี้ไว้เพื่อโชว์นักท่องเที่ยวและสาธารณชนมากกว่าที่จะมุ่งประโยชน์ใช้สอย ส่วนฝ่ายหญิงจะเย็บปักถักร้อย ผู้หญิงโซ่งในสมัยก่อนมีความสามารถในการทอผ้าสวมเอง ตลอดจนปักหมอน เย็บหมอนเป็นลวดลายต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีความสามารถในด้านการทำอาหารเฉพาะอย่างที่เป็นอัตลักษณ์ของไทยโซ่งแท้ เช่น แกงผลำ และแกงโฮเฮ การละเล่นที่นิยมกันในสมัยโบราณคือ การรำแคน ที่เป็นอัตลักษณ์ของไทยโซ่งหลังจากว่างจากงานนาช่วงเดือนเมษายน มีวงแคนจากหมู่บ้านอื่นมาเล่นตามข่วงซึ่งเป็นที่ร่วมกันทำงานของผู้หญิงในตอนกลางคืน เช่น ทอผ้า ตำข้าว ปัจจุบันการรำแคนมีเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่มีการฟื้นฟูอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิม โดยจัดให้มีการรำแคนทุกๆ ปีในงานชุมนุมไทยทรงดำแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตามศิลปะที่เริ่มสูญหายไปคือ การขับกลอนแบบโซ่ง ซึ่งน้อยคนนักที่จะมีความสามารถในการขับกลอนแบบเดิมได้ คนหนุ่มสาวบางคนไม่นิยมพูดภาษาโซ่งต่อกัน มักจะพูดกับคนมีอายุ หรือผู้ใหญ่ การแต่งกายของไทยโซ่งผู้ชายจะนุ่งกางเกงสีดำขาแคบ เรียกว่า ช่วงก้อม บางครั้งสวมเสื้อยาวสีดำ เรียกว่า เสื้อฮี สำหรับสวมใส่ไปงานพิธีต่าง ๆ เช่น เสนเรือน แต่งงาน และเล่นคอน เป็นต้น สำหรับผู้หญิงนุ่งผ้าถุงพื้นสีดำ มีสีขาวสลับเป็นทางยาว เรียกว่า ซิ่นลาว ประกอบด้วยผ้า 3 ชิ้นคือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น ส่วนเสื้อเป็นสีดำแขนยาวทรงกระบอกรัดรูป ติดกระดุมเงินถี่ราว 10 - 12 เม็ด ทรงผมนิยมไว้ผมยาวแล้วปั้นเกล้าตั้งไว้บนศีรษะ ถ้าเป็นหญิงแต่งงานแล้วปั้นเกล้าจะลดต่ำลงมาไว้ทางด้านหลัง ผู้หญิงบางครั้งไม่สวมเสื้อ แต่ใช้ผ้าแถบยาวสีต่างๆ ตาดอก (ฮ้างนม) เรียกว่า ผ้าเปียว ปล่อยให้ชายยาวลงมา ลักษณะคล้ายกับผ้าสไบเฉียงแต่ผืนแคบกว่า (หน้า 97-98, 117-118, 120-121)

Folklore

นิทานพื้นบ้านที่มักจะเล่าสู่กันฟังอย่างสนุกสนาน ถึงความแตกต่างในด้านภาษาของไทยโซ่งกับคนไทยคือนิทานเรื่อง กระบ่วง คนไทยโซ่งแต่เดิมจะใช้มือหรือกาบหอยในการรับประทานอาหาร เมื่อเวลาไปตลาดอยากจะซื้อช้อนมาใช้ในบ้านบ้าง แต่หาทั้งตลาดไม่มีใครขายให้เพราะไปถามหา กระบ่วง ซึ่งคนจีนในตลาดไม่เข้าใจว่าคืออะไร จึงบอกว่าไม่มี เมื่อชาวบ้านไปพบช้อนจึงบอกว่าสิ่งนี่เองเป็น กระบ่วง คนจีนก็บอกว่าไม่ใช่ สิ่งของนี้เรียกว่า ช้อน ซึ่งเป็นการติดต่อทางวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันในด้านการใช้ภาษา (หน้า 119)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ในอดีตอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ยังคงรักษาไว้ได้อย่างมั่นคง คือ การพูดภาษาโซ่ง และคนจำนวนหนึ่งก็ยังสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยโซ่งได้ นอกจากนั้นยังคงอนุรักษ์การแต่งกายไว้ได้อย่างสมบูรณ์ เพราะในชีวิตประจำวันแต่งกายแบบไทยโซ่งแทบทุกครัวเรือน สำหรับประเพณีความเชื่อก็เป็นแบบความเชื่อผี แม้ว่าจะมีการผสมผสานความเชื่อเข้ากับพุทธศาสนา ในเรื่องความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ไทยโซ่งของคนรุ่นก่อนมีสูงมาก จนกระทั่งเกิดการแบ่งแยกและไม่สังสรรค์กับคนไทยอย่างสนิทชิดเชื้อ สำหรับสิ่งที่คนรุ่นเก่าคาดหวังไว้คือ การสืบทอดการนับถือผีเรือน ที่ต้องมีการจัดงานประเพณี เพื่อแสดงความกตัญญูและเคารพนับถือ เช่น เสนเรือน ปาดตง งานศพ แต่งงาน และงานอื่น ๆ ในปัจจุบันหาคนที่อ่านเขียนภาษาไทยโซ่งได้น้อยมาก และมีแนวโน้มว่าคนรุ่นใหม่จะไม่นิยมพูดภาษาโซ่ง หรือการแต่งกายแบบไทยโซ่งในชีวิตประจำวัน ในปัจจุบันที่หมู่บ้านแห่งนี้ มีเฉพาะคนสูงอายุเท่านั้นที่ยังคงแต่งกายแบบดั้งเดิม และเมื่อมีงานประเพณีสำคัญๆ เช่น งานศพ สงกรานต์ งานบวช หรืองานแต่ง คนรุ่นหลังจึงจะแต่งกายแบบไทยโซ่ง ซึ่งครัวเรือนส่วนใหญ่ที่ผู้วิจัยทำการศึกษายังคงรักษาวัฒนธรรมโซ่งด้านการแต่งกายไว้ได้เป็นอย่างดี ความภาคภูมิใจของการเป็นไทยโซ่งยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะไทยโซ่งที่มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้าน และอยู่ร่วมกับเครือญาติ แต่ในคนรุ่นหลังที่ไม่มีความผูกพันกับหมู่บ้าน ความภูมิใจจะมีน้อยมาก โดยเฉพาะไทยโซ่งที่อยู่ต่างถิ่นที่อยู่รวมกับคนไทย ในด้านความรักความสามัคคีของคนไทยโซ่งแสดงให้เห็นจาการก่อตั้งสมาคมไทยทรงดำแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเกาะแรต และเกิดจากความแข็งแกร่ง และความพร้อมของผู้นำในหมู่บ้านเกาะแรต ที่มีความสามัคคี ช่วยเหลือกันดี จนกลายเป็นศูนย์กลางของคนไทยโซ่งในประเทศไทย สำหรับความคาดหวังของผู้นำครอบครัว มีความคาดหวังให้ลูกหลานสืบทอดประเพณีความเชื่อผีเรือน แต่ความคาดหวังเกิดขึ้นในระดับที่ไม่มากนัก คือ คาดหวังให้ลูกอย่างน้อย 1 คน มาทำพิธีตามประเพณี (หน้า 334, 335)

Social Cultural and Identity Change

โครงสร้างครอบครัวไทยโซ่งในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ ในด้านของระบบเศรษฐกิจที่จะต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยที่มีความเป็นทุนนิยม การผลิตข้าวทำเพื่อการส่งออกขายให้โรงสี การเพิ่มประชากรโดยธรรมชาติ ทำให้แต่ละครอบครัวมีสมาชิกจำนวนมาก ส่งผลให้คนรุ่นลูกมีที่ดินทำกินน้อยลงหลังจากแบ่งมรดกแล้ว การศึกษาภาคบังคับที่เข้ามาในหมู่บ้านทำให้คนส่วนหนึ่งมีโอกาสเรียนต่อ เนื่องจากฐานะทางบ้านดีพอสมควร และมีหัวคิดก้าวหน้าและกลายเป็นชนชั้นนำของหมู่บ้าน กล่าวได้ว่าโครงสร้างครอบครัวของไทยโซ่งในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงในลักษณะสำคัญ ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่ชัดเจนและรวดเร็ว โดยเฉพาะการเข้ามาของความเจริญทางวัตถุและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้าง ความผูกพันในครอบครัว เนื่องจากพี่น้องเริ่มห่างเหินกันโดยแยกย้ายกันไปอยู่ที่ไกลๆ และมีการแต่งงานข้ามเชื้อสาย เป็นผลมาจากการติดต่อทางวัฒนธรรม การมีโอกาสประกอบอาชีพในที่อื่น และมีการศึกษาที่สูงขึ้น นอกจากนี้พิธีกรรมที่เกิดขึ้นมีการผสมผสานกับประเพณีไทยที่เพิ่มสินสอดเป็นจำนวนเงินที่สูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงมีลักษณะสัมพันธ์สอดคล้องกันเป็นลูกโซ่ นั่นคือเมื่อมีโอกาสในการศึกษา และการประกอบอาชีพก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการแบ่งงาน ที่ผู้หญิงมีสถานภาพที่สามารถทำงานเลี้ยงตัวเอง และมีเงินเดือนเช่นเดียวกับผู้ชาย เมื่อมีการศึกษาที่สูงขึ้น ทำให้สถานภาพที่ติดตัวมาตังแต่กำเนิดสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยยกสถานภาพให้สูงขึ้นด้วยการศึกษาและอาชีพ นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ที่มีสถานภาพทางสังคม เช่น มีการศึกษาและหน้าที่การงานสูงกว่ารุ่นพ่อแม่ ทำให้มีทัศนคติและแนวคิดที่แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ (หน้า 328 - 330)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ปัจจัยที่ทำให้ครอบครัวไทยโซ่งประสบความสำเร็จในการเลี้ยงดูบุตร ทำให้บุตรมีการศึกษาระดับปริญญาตรีคือ ภูมิหลังของครอบครัวที่ครอบครัวมีทรัพย์สินที่ดินมาก พ่อแม่มีการศึกษามากกว่าคนไทยโซ่งทั่วไปในหมู่บ้าน ครอบครัวมีฐานะทางเศรษฐกิจดี มีการขัดเกลาด้านการศึกษา ที่มุ่งสอนค่านิยมที่จะช่วยให้เกิดสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา เช่น อดทนอดกลั้น ขยัน ตั้งใจมั่น และเห็นคุณค่าของการศึกษา นอกจากนี้วิธีการเลี้ยงลูกแบบประชาธิปไตย การมีจำนวนบุตรน้อย และบุตรมีความตั้งใจและสนใจทางด้านการศึกษามาก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้บุตรประสบความสำเร็จในการเรียน (หน้า 227 - 230) สำหรับครอบครัวที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงดูบุตรเกิดจาก เป็นครอบครัวที่ยากจน มีที่ดินทำกินน้อยหรือไม่มีเลย มีอาชีพทำนา มีการศึกษาน้อยจึงไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา พ่อแม่ไม่ได้สั่งสอนค่านิยมที่จะทำให้เกิดสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนแก่บุตร เป็นชนชั้นล่างระดับกลางและระดับล่างของชุมชน มีวิธีการเลี้ยงดูบุตรแบบปล่อยปละละเลย มีจำนวนบุตรมาก และบุตรมีทัศนคติไม่มดีต่อการศึกษา ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้บุตรไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษา (หน้า 279 - 282)

Map/Illustration

ตารางแสดงผลสรุปผลสมมติฐาน (หน้า 194 - 196)

Text Analyst ปนัดดา ปิ่นแก้ว Date of Report 05 พ.ย. 2555
TAG ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ, โครงสร้างครอบครัว, นครปฐม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง