สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject โส้ โซร ซี,ทัศนคติ,แนวคิด,ความเชื่อ,มุกดาหาร
Author แสงเพชร สุพร
Title โลกทัศน์กลุ่มชาติพันธุ์โซ่: กรณีบ้านหนองยาง ตำบลขะโนดน้อย อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity โส้ โทรฺ, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 143 Year 2533
Source ศิลปมหาบัณฑิตสาขาวิชาไทยคดีศึกษา (เน้นมนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม
Abstract

โลกทัศน์ ทัศนะและแนวคิดที่โซ่ได้ยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่อดีตและส่งผลสู่สมาชิกปัจจุบัน จากการศึกษาโลกทัศน์ของโซ่ที่มีต่อมนุษย์และสังคม พบว่า

โซ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มมอญ-เขมร ชอบอยู่ตามป่าทึบและภูเขา โซ่ยอมรับในอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเห็นว่าเป็นชนชั้นปกครอง ในการแต่งงานนิยมกันภายในกลุ่ม ให้ความสำคัญแก่บุตรชายมากกว่าหญิง เชื่อถือผู้นำของตนอย่างเคร่งครัด มีความภูมิใจในชาติกำเนิดและต้นตระกูลของโซ่เป็นอย่างมาก ยึดถือการทำบุญโดยไม่เบียดเบียนสัตว์ โซ่มีโลกทัศน์ที่เห็นว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอันประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ และธรรมชาติเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของโซ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โซ่จะผูกพันอยู่กับป่าไม้และภูเขา เห็นคุณค่าของธรรมชาติ แต่ธรรมชาติเหล่านี้มีอำนาจเหนือมนุษย์ เช่น อำนาจของผีแถน ผีมเหสักข์ ผีประจำธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน โซ่ก็เชื่อเรื่องของกรรมเวร ความดีความชั่ว โชคชะตาราศี การเข้าทรงผี การเหยา ซึ่งเป็นสิ่งที่ผสมผสานกันระหว่างพุทธศาสนากับผี โลกทัศน์ของโซ่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านสังคม โซ่มีความผูกพันกันในกลุ่มเครือญาติและกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันมากกว่าบุคคลภายนอก ด้านเศรษฐกิจ โซ่ยังคงดำรงการผลิตแบบยังชีพ ไม่เชี่ยวชาญการผลิตเพื่อขาย และไม่ค่อยรับเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษาและการสาธารณสุข (หน้า 80-81)

Focus

ศึกษาโลกทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ ที่เกี่ยวกับมนุษย์ สังคม ธรรมชาติ ศาสนาและสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อ เศรษฐกิจ และการเมือง (บทคัดย่อ)

Theoretical Issues

ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้ทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่ (Structural-Functional Theory) โดยทฤษฎีนี้ชี้ให้เห็นว่า การที่สังคมจะดำรงอยู่ได้นั้นต้องมีโครงสร้าง เพื่อปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นต่าง ๆ ของสังคม อาทิ หน้าที่การอบรมเรื่องวัฒนธรรม เช่น ปลูกฝังประเพณี ความเชื่อ หน้าที่การปกครอง เช่น การสร้างระเบียบควบคุมพฤติกรรม และระงับข้อพิพาท หน้าที่ด้านเศรษฐกิจ เช่น การจัดการเกี่ยวกับการผลิต การบริโภคและการแจกจ่ายผลผลิต เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดโลกทัศน์ อันเป็นการหยั่งเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับตนเอง เกี่ยวกับบุคคล และสภาพแวดล้อม ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และเหนือธรรมชาติ ดังที่ผู้วิจัยได้เสนอผลงานของ สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ และคนอื่น ๆ ตอนหนึ่ง ที่ได้เสนอโลกทัศน์ของชาวไทยภาคใต้ ซึ่งได้กล่าวว่า ค่านิยมพื้นฐานคือ ทางผ่านโลกทัศน์ของคนไทยภาคใต้ ซึ่งได้กล่าวว่า ค่านิยมพื้นฐานคือ ทางผ่านโลกทัศน์ เพราะเขานิยมเขาจึงทำตาม (สิ่งที่นิยม) เมื่อทำตามก็ก่อให้เกิดความรู้ เกิดประสบการณ์นั้นเป็นกระจกส่องให้แลเห็นหยั่งเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ตนพบเห็นได้ ทั้งที่เกี่ยวกับตนเองและสภาพแวดล้อม เป็นต้น (หน้า 8-9) สิ่งที่พบจากการศึกษามีดังนี้ โลกทัศน์ที่โซ่มีต่อมนุษย์และสังคม พบว่า โซ่มีความผูกพันกับครอบครัว กลุ่มเครือญาติ และเผ่าพันธุ์ของตนเอง ให้ความสำคัญต่อผู้อาวุโส ไม่นิยมให้คนนอกเผ่ามาเป็นผู้นำ มีระบบและระเบียบแบบแผนของตนเองอย่างเด่นชัด ซึ่งยึดปฏิบัติเป็นขนบมาแต่โบราณ ถือความซื่อสัตย์เป็นเรื่องใหญ่ ทัศนะต่อกันระหว่างหญิงและชายมีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ลักษณะครอบครัวโซ่จะเป็นครอบครัวเดี่ยว (บทคัดย่อ, หน้า 46-47) โซ่บ้านหนองยางได้นำเอาโลกทัศน์เดิมมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น การอยู่ร่วมกัน การครองเรือน การปฏิบัติตามฮีตคลอง ข้อห้ามและกฎเกณฑ์ทางสังคม เป็นต้น (หน้า 73-74) โลกทัศน์ที่มีต่อธรรมชาติ พบว่า โซ่ให้ความสำคัญต่อธรรมชาติและระบบนิเวศมาก และเชื่อว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นส่วน ต่าง ๆ ของชีวิตมนุษย์ ถ้าร่างกายมนุษย์ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไป ชีวิตมนุษย์ก็ดำรงอยู่ไม่ได้จะแตกสลายไป อีกทั้ง ชีวิตมนุษย์ยังต้องอาศัยชีวิตอื่น ๆ จากธรรมชาติจึงจะอยู่รอดได้ โซ่มีที่ทำกินบนเทือกเขาภูพาน ดังนั้น ป่าไม้และภูเขาจึงมีความผูกพันกับโซ่มากที่สุด โซ่จึงให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ การเกรงกลัวธรรมชาติ และมองธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต (บทคัดย่อ, หน้า 54,74) โลกทัศน์ต่อศาสนา และสิ่งเหนือธรรมชาติ พบว่า โซ่บ้านหนองยางนับถือผี และสืบทอดการนับถือผีบรรพบุรุษมาแต่บุพกาล ทุกบ้านจะมีอัฐิบรรพบุรุษสำหรับบูชา และต่อมานับถือศาสนาพุทธด้วย มีการทำบุญควบคู่กับการถือผี เชื่อในเรื่องวิญญาณว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นอกจากนี้ โซ่ยังมีความเชื่อเรื่องเกี่ยวกับเวทย์มนตร์คาถา ขวัญ และไสยศาสตร์ และด้วยอิทธิพลของแนวคิดดั้งเดิมเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ส่งผลให้โซ่ผูกพันกับสิ่งเหนือธรรมชาติตั้งแต่เกิดจนตาย และปฏิบัติต่อสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้ด้วยการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข เพื่อให้พืชผลงอกงาม เพื่อให้หายเจ็บป่วย หรือเพื่อให้ปกป้องคุ้มครอง เป็นต้น การปฏิบัติตามความเชื่อการนับถือผี และการผิดผี บางอย่างโซ่จะยึดถือกฎระเบียบของกลุ่มมากกว่ากฎหมายบ้านเมือง เช่น การปรับไหมตามประเพณี การยอมความกัน เป็นต้น (บทคัดย่อ, หน้า 61-72, 74-75)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์โซ่ บ้านหนองยาง หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ตำบลชะโนดน้อย อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 180 ครอบครัว (หน้า 6,9)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาของโซ่อยู่ในตระกูลภาษาออสโตร-อาเชียติค สาขาย่อยมอญ-เขมร (หน้า 3)

Study Period (Data Collection)

ระยะเวลาการศึกษา 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2532 ถึงวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2533 (หน้า 9)

History of the Group and Community

โซ่มีถิ่นฐานเดิมที่เมืองภูวดลสอางค์ (เมืองภูวา-นากระแด้ง) ในประเทศลาว อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ อาศัยอยู่ตามซอกเขาและเขตป่าทึบ อพยพเข้าสู่ประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ครั้ง ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ. 2359 เชื่อกันว่าโซ่ได้เข้ามาตามคำทำนายและคำสั่งของแถนให้โยกย้ายหาที่อยู่ใหม่ เพื่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรือง โดยเดินทางข้ามแม่น้ำโขงมายังเทือกเขาภูพาน เข้าไปอยู่บริเวณป่าทึบที่มีลักษณะคล้ายกับที่อยู่เดิม และมีหนองน้ำศักดิ์สิทธิ์อยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว ที่เรียกว่า "หนองฮะ" (ปัจจุบันทางราชการได้ทำเป็นชลประทานหนองหนาว) สำหรับโซ่ที่บ้านดงหลวงนั้น บรรพบุรุษได้ข้ามมาทางแก้งกะเบา และเดินเท้าเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่บ้านหนองยางปัจจุบัน โดยคิดว่าหนองยางเป็นหนองน้ำศักดิ์สิทธิ์ และเมื่ออยู่ไปไม่นานก็ไปพบที่อยู่ใหม่ เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ มีป่าหนาและมีหนองน้ำ จึงย้ายไปอยู่ที่ใหม่ห่างจากบ้านหนองยางไปทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นด้านบ้านดงหลวง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร การอพยพครั้งที่ 2 ของโซ่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ 2385 ถึง 2387 เป็นการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยครั้งใหญ่ โดยเข้ามาทางจังหวัดนครพนม ด้วยการถูกกวาดต้อนของกองทัพไทยจากเมืองตะโปนมา เข้ามาในประเทศไทยและกระจายกันอยู่สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 กลุ่มเมืองรามราช อยู่ในจังหวัดนครพนม แถบเมืองท่าอุเทน อำเภอเมือง ศรีสงคราม บ้านแพง โพนสวรรค์ ผู้นำกลุ่มนี้ คือ พระอุทัยประเทศ กลุ่มที่ 2 กลุ่มเมืองกุสุมาลย์มณฑล อยู่ในจังหวัดสกลนคร ที่อำเภอกุสุมาลย์ พรรณานิคม ส่องดาวและอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย ผู้นำกลุ่มนี้ คือ พระอรัญอาษา กลุ่มที่ 3 กลุ่มหัวเมืองภาคตะวันออก อยู่ที่อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี อำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี มีการปะปนกับชาวลาว ผู้นำกลุ่มนี้ คือ เพี้ยเมืองสูง กลุ่มที่ 4 กลุ่มเมืองมุกดาหาร มีโซ่กระจายอยู่ทั่วไป เช่น ที่อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอคำชะอี อำเภอดอนตาล อำเภอเมือง และอยู่กันหนาแน่นที่อำเภอดงหลวง ส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์อยู่ที่ อำเภอเขาวง และอำเภอกุฉินารายณ์ (หน้า 3-6) โซ่บ้านหนองยาง เป็นโซ่กลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเขตเมืองมุกดาหาร (หน้า 18-22)

Settlement Pattern

หมู่บ้านถูกจัดระเบียบเป็นบล๊อคๆ ภายในมีถนนขนานกัน 3 สาย โดยมีเส้นกลางเป็นถนนหลัก และมีถนนตัดกับเส้นดังกล่าว 4 เส้น โรงเรียนและวัดอยู่บริเวณขอบของหมู่บ้าน (หน้า 35) ลักษณะบ้านของโซ่ ส่วนใหญ่จะนำเอาไม้ไผ่ที่มีอยู่ตามเขาภูพาน มาประกอบเป็นบ้าน นำมาทำเสาบ้าน ส่วนฝาก็ใช้ไม้ไผ่สานเป็นลายขัด พื้นบ้านใช้ลำไม้ไผ่ทุบและสับเป็นฟากซึ่งใช้แทนกระดานได้เป็นอย่างดี โซ่มีทัศนะในการเลือกทำเลที่ดินเพื่อใช้ในการปลูกบ้านเรือน คือ ไม่ปลูกใกล้ต้นไม้ใหญ่ ไม่ปลูกคล่อมตอไม้ที่ไม่ใช่ไม้เนื้อแข็ง ไม่ปลูกบ้านในบริเวณที่เป็นบ้านร้างมาก่อน หรือวัด หรือป่าช้า โดยเชื่อว่าจะทำให้เจ็บป่วยและไม่เจริญ (หน้า 56-57)

Demography

บ้านหนองยาง แบ่งออกเป็น 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 5 มีจำนวนประชากร 117 ครอบครัว ประชากร 690 คน และหมู่ที่ 6 มีจำนวนประชากร 67 ครอบครัว ประชากร 570 คน (หน้า 36)

Economy

บ้านหนองยาง เป็นสังคมเกษตรกรรม แรงงานส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ผลผลิตที่ได้จากการเกษตรต่ำ รายได้น้อย และนำรายได้ส่วนนั้นไปซื้ออาหารและสิ่งจำเป็นในชีวิต ชาวบ้านหนองยางยังคงทำการเกษตรแบบดั้งเดิม โดยใช้แรงงานคนและสัตว์ ไม่มีเทคโนโลยีเข้าช่วย พื้นที่เพาะปลูกอยู่ตามที่ราบซอกเขา โดยทำเป็นที่นา ชาวบ้านบางส่วนใช้บริเวณป่าเขาทำสวนข้าวไร่ มันสำปะหลัง หรือปลูกพืชเศรษฐกิจ พื้นที่ทำสวนของโซ่จะอยู่ห่างจากบ้าน พื้นที่ใช้ปลูกข้าวเป็นส่วนใหญ่ และปลูกพืชอื่นแซมบริเวณที่สวน มีแตงโม แตงไทย พริก มะเขือ ข้าวโพด ถั่วชนิดต่างๆ เผือก และมันเทศ การเพาะปลูกของโซ่ยังต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก และพื้นที่ทำนามีน้อยทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ โซ่จึงต้องอาศัยผลิตผลจากป่าและธรรมชาติ นอกจากการเพาะปลูกแล้วยังมีการตกปลาและล่าสัตว์แบบดั้งเดิม โซ่เป็นกลุ่มชนที่กลัวในผีน้ำ การหาปลาของโซ่จึงหาตามลำห้วยเล็กๆ และใช้วิธีการจับปลาแบบดั้งเดิม คือ การหวิดปลา ซึ่งจะได้ปลาขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ หรือ หาซื้อปลาจากผู้ที่จับมา บ้านหนองยางไม่มีตลาดซื้อขายสินค้าระหว่างกลุ่ม แต่มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ในวงแคบเพียงกลุ่มหรือหมู่ของตนเอง โซ่ไม่สนใจเรื่องค้าขายแต่เน้นการผลิตเพื่อยังชีพเป็นสำคัญ (หน้า 37,52,56,57,77)

Social Organization

ชาวบ้านหนองยางทุกครอบครัว มีการช่วยเหลือและผูกพันต่อกันทุกครอบครัว อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ผู้สูงอายุ สามีและพ่อ จึงเป็นที่ยอมรับและเชื่อฟังในระดับครอบครัวและหมู่บ้าน (หน้า 37) นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างญาติพี่น้องแล้ว ชาวบ้านหนองยางยังมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นในเชิงเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน โดยการแบ่งปันอาหาร และพึ่งพาอาศัยกันในด้านอื่นๆ เช่น การช่วยกันรักษาความเจ็บป่วย การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (หน้า 49) โซ่มีลักษณะครอบครัวเดี่ยว ส่วนใหญ่จะมีขนาดครอบครัวประมาณ 5-7 คน และหลังแต่งงานโซ่มักจะออกเรือน ไม่ค่อยอยู่ชายคาเดียวกับพ่อแม่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง (หน้า 47) การแต่งงานของโซ่ : หนุ่มสาวโซ่มีอิสระในการเลือกคู่ครอง (หน้า 47) เมื่อพอใจกันจะมีพิธีสู่ขอ ซึ่งทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะต้องติดต่อผ่าน "ล่าม" หรือ "พ่อล่าม" ด้วยเชื่อว่าหากมีบุคคล คือล่ามหรือพ่อล่ามรับรอง แสดงว่า บุคคลที่จะแต่งงานด้วยเป็นคนดี การแต่งงานโดยไม่มีล่าม ถือเป็นข้อห้ามของโซ่ จากนั้นจะมีพิธีการลักพาสาว และมีการบอกกล่าวแก่ญาติพี่น้อง ซึ่งจะมารวมกัน "เจี๊ยะสล่า" หรือ "กินดอง" ในประเพณีของไทยลาว มีอีกกรณีคือ การลักพาตัวกันไปก่อน แล้วกลับมาทำการเสียผีทีหลัง (หน้า 42) หลังแต่งงานแล้ว โซ่มักออกเรือน ไม่ค่อยอยู่รวมกันกับพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นครอบครัวโซ่จึงเป็นครอบครัวเดี่ยว (หน้า 47) ข้อห้ามเกี่ยวกับการเลือกคู่ของโซ่ มีดังนี้ 1. ห้ามมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้สืบสายเลือดเดียวกัน เช่น บิดา มารดา บุตร หรือญาติพี่น้องที่เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน 2.ห้ามมีเพศสัมพันธ์ระหว่างลูกที่เกิดจากพี่น้องไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม 3. ห้ามมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน (หน้า 46)

Political Organization

ชาวบ้านไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่าที่ควร เพราะส่วนใหญ่จะไม่ต้อนรับคนแปลกหน้า เนื่องจากบริเวณพื้นที่อำเภอดงหลวง เคยถูกแทรกแซงจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อประเทศชาติมาแล้ว รวมทั้งได้รับความไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะการเข้าไปช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปโดยไม่ศึกษาชุมชนเสียก่อน ขาดความเข้าใจในระบบคิดของโซ่ อย่างเช่นในกรณี การกั้นชลประทานหนองหนาว หรือหนองฮก หนองฮะ ซึ่งโซ่ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในตำนานของโซ่ และเป็นพื้นที่ที่โซ่ได้อาศัยทำการเพาะปลูก ชาวบ้านจึงคัดค้านแต่รัฐไม่ฟังเสียง ทำให้พื้นที่ทำนาถูกน้ำท่วม โซ่บางรายไม่มีที่ทำนาทำให้ยากจนลงไปอีกกว่าเดิม (หน้า 38-39) โซ่จะเชื่อผู้นำของตนเป็นหลัก และผู้นำจะต้องเป็นโซ่เท่านั้น (หน้า 76)

Belief System

พิธีกรรมของโซ่บ้านหนองยาง พิธีกรรมของโซ่เป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามอายุ และในการดำเนินชีวิต ดังนี้ ประเพณีการเกิด หญิงโซ่เมื่อตั้งท้องได้ 8 เดือน จะต้องทำพิธีตัดกำเนิด โดยใช้หมอโซ่ที่มีวิชาอาคม จะเป็นพ่อหมอหรือแม่หมอก็ได้ที่ไม่เป็นหม้าย มีการตั้งคายหรือยกครูในการทำพิธี คายประกอบด้วยกระทงหน้าวัว (สามเหลี่ยม) ทำให้มี 9 ห้อง ข้าวดำ ข้าวแดง แกงส้ม แกงหวาน ด้ายดำ ด้ายขาว เครือสูด และน้ำส้มป่อย เมื่อได้ครบจะทำพิธีสวด เมื่อจะเสร็จพิธีจะนำฝ้ายสีขาวมาพาดศีรษะแม่ ปล่อยอีกข้างหนึ่งผูกกับกระทง อีกข้างหนึ่งให้พ่อของเด็กจับ ผู้ตั้งครรภ์เหยียดขาไปทางกระทง เมื่อทำพิธีไล่หรือตัดกันแล้วก็ให้สามีนำกระทงไปส่งทางทิศตะวันตก ก็เสร็จพิธี เมื่อเด็กเกิดมาแล้วจะใช้คมไม้ไผ่ตัดสายรก จากนั้นห่อเด็กขึ้นกระด้ง มีเฒ่าแก่มาร้อง "กู้ฮุกกู ถ้าแมนลูกสูเอาไปคืนเมื่อนี้ ถ้ากลายมื้อนี้เป็นลูกของกู" เป็นอันเสร็จพิธี และแม่จะอยู่ไฟ 15 วันถึง 1 เดือน (หน้า 41-42) โซ่ทั่งบั้ง เป็นกาลเล่นที่ถือเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เป็นการใช้กระบอกไม้ไผ่กระทุ้งกับดิน เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของชาวบ้าน ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับผี สมัยโบราณผู้เล่นมี 6 คนเป็นชายล้วน นุ่งผ้าเตี่ยวไม่สวมเสื้อ โดยเริ่มจากพิธีการเหยา เชิญผีมาร่วมกันเล่น โดยร้องเป็นภาษาโซ่ มีอุปกรณ์ในการเล่นคือ พะเนาะ หรือ พังฮาด หน้าไม้ สิ่วหัก เสียมหัก จอบหัก และบั้งไม้ไผ่ ปัจจุบันอุปกรณ์ประกอบพิธีดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป และมีการนำท่ารำเข้ามาเกี่ยวข้อง มีกลอง ฉิ่ง ฉาบ ซุง ซอ และแคน มาบรรเลงจังหวะเพื่อประกอบความสนุกสนานรื่นเริง (หน้า 40) พิธีเหยา โซ่จะใช้พิธีเหยาประกอบกัน 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการเหยาในการรักษาผู้ที่เจ็บป่วย เมื่อหายแล้ว หรือกำลังจะหาย จะมีพิธีเรียกขวัญ ซึ่งเป็นส่วนที่สอง พิธีเหยาจะเชิญ "หมอเหยา" มาทำพิธี หมอเหยาคือผู้ที่ทรงเจ้า หรือเจ้าจ้ำ มีการแต่งเครื่องคายในการยกครู ซึ่งแล้วแต่หมอเหยาที่เจ้าภาพเชิญมา ส่วนใหญ่จะแต่งขัน 5 และ 6 ซึ่งจะมีเครื่องต่าง ๆ ดังนี้ เทียนสีขาว ดอกไม้ ไข่ไก่ดิบ ดาบหรือง้าว น้ำหอมที่ทำจากขมิ้น ขันหมาก ข้าวสาร เหล้า และเงิน 12 บาท ผ้าถุงสำหรับสตรี และผ้าขาวม้า 1 ผืนสำหรับผู้ชาย สำหรับการรักษาคนป่วย จะมีการเชิญวิญญาณในร่างออกมา และถามถึงความต้องการ ซึ่งจะจัดให้ตามต้องการ แต่มีข้อแม้ว่าต้องให้คนป่วยหายเร็ว ๆ จากนั้น จะมีพิธีตัดด้ายที่ติดอยู่ที่กระทงเพื่อส่งผี จากนั้นมักต่อด้วยพิธีสู่ขวัญหรือเรียกขวัญ การขับกล่อมส่วนมากจะเป็นการลำภาษาโซ่ ลักษณะเหมือนการลำมหาชัย หมอเหยาจะเป็นใครก็ได้ มีทั้งชายและหญิง (หน้า 42-43) พิธีซังกระมูจ พิธีส่งวิญญาณผู้ตาย ซึ่งเชื่อกันว่า เมื่อตายแล้วจะเป็นผีที่ดิบอยู่ ต้องผ่านพิธี "ซังกระมูจ" เสียก่อนจึงจะเป็นผีสุก เพื่อให้วิญญาณไปสู่สุขคติและไปสวรรค์ คำว่า "ซาง" หรือ "แซง" หมายถึง การจัดระเบียบแบบแผนของวิถีชีวิตของโซ่ "กระมูจ" หมายถึง "ผี" ดังนั้น "ซางกระมูจ" จึงหมายถึง การต่าง ๆ ที่ทำขึ้นเพื่อให้ผีได้เดินทางตามทางของผีไปยังอีกโลกหนึ่ง หากไม่ทำพิธีซางญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่มักจะพบกับอาการเจ็บป่วย หรือเป็นไข้เรื้อรังเพราะผีดังกล่าว พิธีซางกระมูจจะทำก่อนนำศพลงจากเรือน ถ้าเป็นศพของญาติสายเลือดเดียวกันจะเก็บไว้ในเรือน แต่ถ้าเป็นเขย หรือสะใภ้ หรือบุคคลอื่นที่มาอยู่ชายคาด้วย จะต้องนำศพไปตั้งไว้ด้านนอก ห้ามนำเข้าในเรือนอย่างเด็ดขาด การทำพิธีนี้ต้องทำพิธีทั่งบั้งด้วย โดยมีญาติพี่น้องของผู้ตายเข้าร่วม และมีอุปกรณ์ในการประกอบพิธีครบ เช่น กระบอกไม้ไผ่ ถาด สิ่วหัก มีด ตะแกง เป็นต้น เพื่อให้ผู้ตายนำไปใช้ได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การเขียนรูปอวัยวะเพศไว้ที่ฝาโลงศพ หรือใช้ไม้แกะก็ได้ ถ้าผู้ตายเป็นชายจะได้รับรูปอวัยเพศของผู้หญิง และถ้าเป็นศพของผู้หญิงจะได้รับของผู้ชาย เพื่อให้เมื่อเกิดใหม่จะได้ไม่ขาดคู่ หลังจากพิธีซางกระมูจ ก็จะเป็นพิธีนำศพไปป่า โดยจะไม่นำศพลงบันไดบ้านเด็ดขาด จะต้องนำลงด้านใดด้านหนึ่งของบ้าน การนำศพไปนั้น ถ้าเป็นผู้ชายจะนำศีรษะไปก่อน ถ้าเป็นหญิงจะนำเท้าไปก่อน (หน้า 43-44) ความเชื่อเรื่องผีของโซ่บ้านหนองยาง สืบทอดมาตั้งแต่บุพกาล แม้หันมานับถือศาสนาพุทธแล้ว แต่ก็ยังนับถือผีอยู่ โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ โดยผนวกผีและพุทธศาสนาไว้ร่วมกัน ทั้งทำบุญและประกอบพิธีกรรม ความเชื่อในลัทธิผี (Animism) ของโซ่ มีความเชื่อที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ การถือผี และ การผิดผี ความเชื่อเกี่ยวกับการถือผี จะมีการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นประจำตามความเชื่อ ที่สำคัญคือ พญาแถน ผีบรรพบุรุษ ผีมเหสักข์ หรือ ผีปู่ตา โซ่ให้ความสำคัญกับแถนมากที่สุด รองลงมาคือ ผีบรรพบุรุษ สุดท้ายคือ ผีมเหสักข์ ทุกครั้งที่มีการจัดงานบุญ หรือ งานประเพณีของโซ่ ก็จะเชิญทั้งแถน ผีมเหสักข์ และผีบรรพบุรุษ ร่วมด้วยทุกครั้ง (หน้า 61,63-64) 1) พญาแถน เป็นผู้ให้กำเนิดมนุษย์ แถนมีอำนาจเหนือธรรมชาติ สถิตอยู่บนสวรรค์ สร้างและควบคุมธรรมชาติได้ อาจบันดาลให้ฝนแล้ง เกิดพายุ น้ำท่วม ได้หากเกิดความไม่พอใจ และเพื่อเป็นการเอาใจแถนให้แถนพอใจ จะมีการบวงสรวงบูชาแถนด้วยการบูชาไฟ และรำถวายแถน ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่โซ่ถือปฏิบัติ คือ พิธี "โซ่ทั่งบั้ง" เป็นการบูชาให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตนเองและชุมชน 2) ผีบรรพบุรุษ คือ วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลัยไปแล้ว แต่ยังวนเวียนอยู่ในบ้านเรือน เพื่อดูแลให้อยู่เย็นเป็นสุข และตักเตือนในสิ่งไม่ดีงาม ทุกครอบครัวจะมีอัฐิบรรพบุรุษเก็บไว้บนบ้าน และหากใครปล่อยปละละเลยเรื่องการเก็บอัฐิบรรพบุรุษให้ดี จะพบกับความยากจน หรือเจ็บป่วย 3) ผีมเหสักข์ หรือ ปีปู่ตา เป็นผีที่มีคุณธรรมของโซ่ คอยปกป้อง คุ้มครองให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ผีมเหสักข์ของหมู่บ้านหนองยางสถิตอยู่บริเวณหนองยาง พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีมเหสักข์ คือ พิธีเลี้ยงบ้าน จะทำในเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ ความเชื่อเกี่ยวกับการผิดผี คือ การกระทำที่ล่วงเกินต่อผีต่าง ๆ เช่น ผีบ้านผีเรือน ผีบรรพบุรุษ ผีไท้ ผีปู่ตาหรือผีมเหสักข์ เป็นต้น โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ การล่วงเกินคือการไม่ประพฤติปฏิบัติตามครรลองที่ดีงาม ซึ่งถือปฏิบัติกันมาจนเป็นจารีตประเพณี ผลอาจเกิดโชคร้ายแก่บุคคล หรือครอบครัว ฉะนั้น หากใครมีพฤติกรรมที่ผิดผีจะต้องได้รับโทษ อาจเป็นการปรับไหม การปรับไหมที่นิยมทำกัน คือ การจัดอาหารคาว หวาน ข้าวตอก ดอกไม้ เหล้าไห และสัตว์ที่ใช้เซ่นสรวงขอขมาสามารถแยกได้ตามระดับความผิดเป็น 3 ระดับ คือ (หน้า 64,66) 1) ระดับเบา "ผิดน้อย กินไก่" เช่น ลูกเขยไม่เชื่อฟัง เป็นต้น 2) ระดับกลาง "ผิดหลายแน่ กินหมู" เช่น การมีเพศสัมพันธ์กันก่อนแต่งงานของหนุ่มสาว เป็นต้น 3) ระดับสูงสุด "ผิดครูบาอาจารย์ กินวัว กินควาย" โซ่มีความเชื่อในสิ่งที่มีในธรรมชาติ เชื่อในเรื่องไฟ ที่มีทั้งไฟดี และไฟร้าย ไฟดี เป็นไฟที่ให้คุณในการหุงหาอาหาร และหลอมเหล็กต่างๆ และไฟร้าย เป็นไฟที่ร้อนแรง เกิดจากธรรมชาติ หรือผีบันดาล ส่วนลมก็ช่วยให้เกิดฟ้า ฝนตก เพื่อความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร บางครั้งโซ่จะมีพิธีบวงสรวงเจ้าฟ้า เจ้าป่า เจ้าลม นอกจากนี้ โซ่จะนำธรรมชาติมาผูกพันกับวิถีชีวิตในการทำนาย เช่น คนธาตุไฟจะไม่แต่งงานกับคนธาตุไม้ จะอยู่กันไม่ยืดเพราะไฟจะไหม้ไม้ (หน้า 58) และยังมีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์และเวทย์มนต์คาถา ซึ่งได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ เพื่อใช้ป้องกันตัว มีการใช้คุณไสย เช่น การใส่ของ มีคาถามหาเสน่ห์ที่หญิงโซ่จะท่องและผสมกับแป้งหรือครีมทาหน้า(หน้า 71-72)

Education and Socialization

การศึกษาของโซ่อยู่ในระดับต่ำ และไม่ให้ความสนใจทางการศึกษาของบุตรเท่าที่ควร เห็นว่าบุตรคือ แรงงานสำคัญ เดิมการศึกษาเล่าเรียนของโซ่มีการศึกษาพระธรรมวินัยตามวัดและเรียนกับครูในบ้าน มีการถ่ายทอดวิชาชีพด้วยการปฏิบัติจริง โดยการไปเรียนด้วยรับใช้ด้วย การรับใช้ถือเป็นค่าเรียนหนังสือ ส่วนใหญ่จะเรียนเลข อ่านไทย อักษรธรรม อักษรไทยน้อย และมีผู้ชายเรียนเป็นส่วนมาก ปัจจุบันทางรัฐบาลได้จัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษา เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ไม่นิยมศึกษาต่อชั้นมัธยม เพราะเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ส่วนมากเมื่อจบชั้นประถมศึกษาแล้วจะออกมาเป็นแรงงานทำการเกษตร (หน้า 39)

Health and Medicine

โซ่ใช้พืชสมุนไพรในการวางแผนครอบครัวแบบดั้งเดิม โดยใช้ต้มกินในตอนที่คลอดลูกใหม่ๆ และใช้ว่านคุมกำเนิด โดยเชื่อว่าใครมีไว้ครอบครองแล้วจะไม่มีบุตร (หน้า 47) โซ่มองว่าสุขภาพของตนเองสัมพันธ์กับความดี ชั่ว หรือความพอใจของผี คือเมื่อเกิดการเจ็บป่วยมักจะโทษธรรมชาติ หรือผีบรรพบุรุษ และเชื่อว่า คนเราถ้าอยู่แบบบริสุทธิ์จะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอย่างเด็ดขาด (หน้า 78)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

การแต่งกายของโซ่ ในอดีต ชายมักใส่เสื้อสีดำ คอกลมตั้งเล็กน้อย มีปกด้านหน้าผ่าอกตลอด แหวกชายเสื้อด้านข้าง กางเกงใช้กางเกงขาก๊วย บางครั้งนุ่งผ้าดำสอดเตี่ยวสูง กางเกงชั้นในสีขาวเป็นกางเกงหัวรูด ตัดผมสั้นทรงกระบอก ใส่รองเท้าที่ทำจากหนังควาย จะใส่ลูกประคำที่ทำด้วยเงินหรือแก้ว หรือลูกมะกล่ำคล้องคอ เป็นสัญลักษณ์ ส่วนหญิงจะใส่เสื้อสีดำแขนกระบอก เสื้อผ่าอกติดกระดุม สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้วจะไม่มีผ้าแดง ผ้าถุงใช้ผ้ามัดหมี่ต่อหัว ต่อเชิง ผมเกล้ามวยปอม ถ้าพิธีสำคัญจะใส่กำไลข้อมือ ข้อเท้า สร้อยเงิน คล้องคอ ตุ้มหูทำด้วยเงินขนาดใหญ่ ไม่สวมรองเท้า การละเล่นของโซ่ "โซ่ทั่งบั้ง" เป็นการละเล่นที่สำคัญที่สุดและถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ของโซ่ โดยการใช้กระบอกไม้ไผ่ทุ้งกับดิน เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของชาวบ้านชาวเมือง การเล่นในอดีต จะมีผู้เล่นประกอบพิธีประมาณ 6 คน เป็นผู้ชายล้วน ผู้เล่นนุ่งห่มเหมือนโบราณ โดยนุ่งผ้าเตี่ยว ไม่สวมเสื้อ เริ่มจากพิธีการเหยา แล้วเชิญชวนผีมาร่วมกันเล่น กิน ไปด้วยโดยใช้การร้องเป็นภาษาโซ่ อุปกรณ์ในการเล่น คือ พะเนาะ หรือพังฮาด หน้าไม้ สิ่วหัก จอบหัก เสียมหัก และบั้งไม้ไผ่ ปัจจุบันการประกอบพิธีเปลี่ยนแปลงไป และมีการนำท่ารำเข้ามาใช้ และยังนำกลอง ฉิ่ง ฉาบ ซุง ซอและแคน มาบรรเลงจังหวะเพื่อประกอบความสนุกสนานรื่นเริง (หน้า 40)

Folklore

ตำนานของโซ่ โซ่เชื่อว่ามีบรรพบุรุษที่กล้าหาญในเรื่องการสู้รบและการเดินป่า ได้แก่ ขุนทั้งสาม คือ ปู่ลางเชิง ขุนเค็ก ขุนคาน ซึ่งมีความเก่งกล้าสามารถ เคยขึ้นไปอยู่ที่เมืองแถน แต่ก็กลับลงมาอยู่เมืองมนุษย์ ที่บริเวณนาน้อยอ้อยหนู ทำมาหาเลี้ยงชีพ จนได้เกิดมวลมนุษย์จากผลไม้ที่เรียกว่า "น้ำเต้าปุง" โซ่เชื่อว่าบรรพบุรุษของเขาเกิดจากน้ำเต้าปุ้ง และมีการนับถือกันอยู่จนปัจจุบันว่า ข่า หรือกระโซ่เป็นที่คนโต ย้อเป็นพี่รอง ภูไท และไทยลาวเป็นน้องสุดท้อง (หน้า 19) ตำนานของโซ่บ้านหนองยางที่อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในเขตเมืองมุกดาหาร กล่าวไว้ว่า เป็นคำสั่งของพระยาแถน โดยผู้ทรงเจ้าทรงผีของโซ่ประกาศบอกกันทั่วไปว่า อีกไม่ช้าจะเกิดกลียุคในบริเวณเมืองตะโปน หรือเมืองเซโป (ปัจจุบันอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) จึงขอให้ลูกหลานที่รักอิสระและความสงบอพยพหนีข้ามแม่น้ำโขงไปอยู่ยังดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ และอุดมสมบูรณ์ซึ่งจะทำให้ชาติพันธุ์โซ่มีความรุ่งเรืองสืบไปในอนาคต (หน้า 18-22)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

โซ่มีลักษณะเด่นเฉพาะกลุ่มในเรื่องภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อและวัฒนธรรม ไม่ค่อยคบค้าสมาคมกับชนกลุ่มอื่น นิยมแต่งงานในกลุ่มของโซ่เองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยยอมรับเทคโนโลยีจากภายนอก ยังคงผลิตแบบยังชีพ มีการพึ่งพาตนเองอย่างสูง รวมทั้งการช่วยเหลือกันภายในกลุ่มเครือญาติ ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้โซ่บ้านหนองยางยังคงธำรงเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ให้ดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน (หน้า 22)

Social Cultural and Identity Change

ผู้วิจัยพบว่า โซ่ไม่ยอมรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามาสู่สังคมโซ่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงเกิดขึ้นยาก

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

1. มีตารางแสดงข้อมูลทั้งหมด 11 ตาราง 2. มีแผนภูมิ 2 แผนภูมิ 3. มีรูปภาพประกอบทั้งสิ้น 18 ภาพ 4. แบบสัมภาษณ์ และรายนามผู้ให้สัมภาษณ์

Text Analyst ขนิษฐา อลังกรณ์ Date of Report 11 เม.ย 2556
TAG โส้ โซร ซี, ทัศนคติ, แนวคิด, ความเชื่อ, มุกดาหาร, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง