สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ขมุ,วิถีชีวิต,เศรษฐกิจ,การเปลี่ยนแปลง,น่าน
Author พัฒน์รพ ขันธกาญจน์
Title การเปลี่ยนแปลงการผลิตจากเพื่อบริโภคไปสู่การผลิตเพื่อขาย ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวขมุ : ศึกษาเฉพาะกรณีบ้านภูคำ ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity กำมุ ตะมอย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 151 Year 2532
Source สาขาวิชามานุษยวิทยา ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract

การศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงการผลิตจากเพื่อบริโภคไปสู่การผลิตเพื่อขายของชุมชนขมุบ้านภูคำ ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน พบว่า มีปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการผลิต ได้แก่ ปัจจัยภายนอก คือ อิทธิพลของระบบเศรษฐกิจการตลาดภายนอก และความก้าวหน้าทางคมนาคม ส่วนปัจจัยภายใน คือ ความกดดันทางด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน และสภาพนิเวศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยทั้งสองนี้มีส่วนผลักดันให้ขมุบ้านภูคำหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน โดยการนำพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่เข้ามาปลูกในชุมชน คือ ส้ม เนื่องจากรายได้จากการขายผลผลิตทำให้เกษตรกรสวนส้มมีฐานะทางเศรษฐกิจสูงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่คนในชุมชนหันมาปลูกส้มเพิ่มขึ้น ผลการปลูกส้มนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการผลิตจากเดิมที่ผลิตเพื่อบริโภคไปสู่การผลิตเพื่อขาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชน คือ เกษตรกรจำเป็นต้องผูกพันและขึ้นอยู่กับระบบตลาดมากขึ้น ระบบการใช้แรงงานเริ่มเปลี่ยนแปลงไป จากการแลกเปลี่ยนแรงงานที่เรียกว่า "เอามื้อ " (เอาแรง) เริ่มลดลง เปลี่ยนมาเป็นระบบแรงงานแบบรับจ้าง มีการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่ทันสมัย มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบถาวรควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบหมุนเวียน ส่วนในด้านระบบความเชื่อ ไม่พบความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตอย่างในอดีต เพราะการผลิตที่เปลี่ยนไป นอกจากนั้น การผลิตเพื่อขายยังมีส่วนทำให้ผู้คนในชุมชนมีสัมพันธภาพที่ไม่ดีต่อกัน เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลาเข้าร่วมในกิจกรรมชุมชน เกิดความไม่เข้าใจกันในหมู่สมาชิกของชุมชน อันมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมได้ในที่สุด (หน้า 143-144)

Focus

ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตของชุมชนอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของชุมชนขมุบ้านภูคำ (บทคัดย่อ)

Theoretical Issues

ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าระบเศรษฐกิจของขมุบ้านภูคำได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านการผลิตเพื่อการบริโภคไปสู่ระบบการผลิตเพื่อขาย เช่น การปลูกส้มเพื่อการค้า (หน้า 115) ซึ่งผู้เขียนอธิบายว่า มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกชุมชน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือ (หน้า 115-130) 1. อิทธิพลของตลาดที่เข้าไป เพราะชุมชนไม่สามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด 2. ความก้าวหน้าทางคมนาคมเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ทำให้ชาวบ้านติดต่อโลกภายนอกได้สะดวกขึ้น 3. ความกดดันทางประชากรซึ่งมีผลต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน 4. สภาพนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะการสูญเสียป่า การปรับตัวดังกล่าวมีผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของสังคมและวัฒนธรรมชุมชน ดังนี้ 1. ทำให้เกิดกลุ่มใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญต่อชุมชน เช่น พ่อค้า เป็นต้น (หน้า 136) 2. ทำให้เกิดความแตกต่างมากขึ้นทางเศรษฐกิจของครัวเรือนต่าง ๆ ในชุมชน (ดูบทคัดย่อประกอบ)

Ethnic Group in the Focus

ชุมชนขมุบ้านภูคำ ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน (บทคัดย่อ)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาขมุเป็นภาษาในกลุ่มภาษาออสโตรเอเชียติค (Austro-Asiatic) สาขามอญ-เขมร (Mon-Khmer) ในกลุ่มย่อยที่เรียกว่า ขมุอิค (Khmuic) (หน้า 11,15)

Study Period (Data Collection)

ระหว่างเดือนมกราคม พ.ศ. 2530 - มิถุนายน พ.ศ. 2531 รวมเวลา 1 ปี 6 เดือน (บทคัดย่อ )

History of the Group and Community

ขมุ เป็นข่าสาขาใหญ่ที่สุดสาขาหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแถบทางเหนือของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในนาม "ลาวเทิง" หรือ "ผู้เทิง" ขมุ พบมากในจังหวัดหลวงพระบาง เชียงขวาง ไชยะบุรี น้ำทาพงสาลี แถบสองฝั่งแม่น้ำทา แม่น้ำแบ่ง แม่น้ำอู แม่น้ำเสือง แถบ Lai Chau ของเวียดนามตอนเหนือตอนบน และแถบจังหวัด Thanh Hao และในสิบสองปันนาภาคใต้ อาศัยตามเนินเขา หรือที่สูงตามซอกเขาใกล้ลำธาร บางหมู่บ้านอยู่ที่พื้นราบ ขมุ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากดินแดนประเทศลาว และเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบภาคเหนือของประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 150 ปีมาแล้ว (หน้า 1) จากการศึกษาขมุในไทย ได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ขมุฮอก ขมุลื้อ และขมุเลาะ ส่วนขมุที่บ้านภูคำ ได้จัดอยู่ในขมุลื้อ การเข้ามาของขมุในเขตเมืองน่าน ชาว "ข่า" หรือ "ขมุ" ถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานและเป็นกำลังรบในระหว่างสงครามของอาณาจักรล้านนาไทยในสมัยรัชกาลที่ 2 และจากเอกสารในสมัยรัชกาลที่ 5 ขมุได้เข้ามาเป็นลูกจ้างทำป่าไม้ ซึ่งขมุบางส่วนก็ได้ตั้งหลักแหล่งตามภูเขาแถบชายแดนตอนเหนือของประเทศไทย จนกระทั่งมีการอพยพครั้งใหญ่เมื่อครั้งที่ประเทศสาธาราณรัฐประชาธิปไทยประชาชนลาวเปลี่ยนระบบการปกครองมาเป็นระบบสังคมนิยม (หน้า 12-15) สำหรับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนบ้านภูคำ เมื่อระยะเวลากว่า 3 ชั่วคนได้มีชาวเขาเผ่าขมุจำหนวนหนึ่งได้อพยพมาจากบ้านห้วยตองในสาธารณรัฐประชาธิปไทยประชาชนลาว ได้เข้ามาตั้งรกรากที่หมู่บ้านภูคำ นอกจากนี้ยังมีชาวเขาเผ่าขมุจากหลายแห่งอพยพมารวมกันและร่วมกันตั้งหมู่บ้านภูคำขึ้น ในปี พ.ศ. 2525 น้ำป่าได้ท่วมหมู่บ้าน จึงต้องย้ายหมู่บ้านและโรงเรียนมาอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเก่า ตรงบริเวณที่ราบที่ห้วยหลุน้อยกับห้วยหลุหลวงไหลมาบรรจบกัน (หน้า 18)

Settlement Pattern

หมู่บ้านขมุเป็นหมู่บ้านถาวร เนื่องจากขมุทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน จึงไม่จำเป็นต้องโยกย้ายชุมชนทำกินเหมือนชนเผ่าที่มีรูปแบบการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย (หน้า 19)

Demography

ขมุในประเทศไทยอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นในจังหวัดน่าน ได้แก่อำเภอทุ่งช้างมี 10 หมู่บ้าน อำเภอเชียงกลางมี 7 หมู่บ้าน อำเภอท่าวังผามี 4 หมู่บ้าน และ 1 หมู่บ้านในอำเภอสาและอำเภอเมือง รวม 941 ครัวเรือน ประชากร 5,135 คน นอกนั้นอยู่ประปรายในจังหวัดเชียงราย 8 หมู่บ้าน 277 ครัวเรือน ประชากร 1,691 คน ลำปาง 4 หมู่บ้าน 29 ครัวเรือน ประชากร 140 คน และอุทัยธานี 2 หมู่บ้าน 54 ครัวเรือน ประชากร 318 คน และมีขมุเพียงเล็กน้อยที่กาญจนบุรีและเชียงใหม่ (หน้า 13) ขมุที่บ้านภูคำต่างได้รับสัญชาติไทยเหมือนเช่นคนไทยทั่วไป มีจำนวน 150 คน เป็นชาย 67 คน หญิง 84 คน แยกเป็นเด็กชาย 20 คน เด็กหญิง 26 คน มีจำนวนครอบครัวทั้งสิ้น 37 ครอบครัว (หน้า 21)

Economy

ขมุทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ด้วยการตัดฟันโค่นเผาแล้วเพาะปลูก เป็นการใช้ที่ดินที่แตกต่างไปจากชาวเขากลุ่มอื่นที่ทำการเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย การทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน จะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ 1 จนถึง 5 ปี แล้วจะพักให้พื้นที่ฟื้นตัว เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ประมาณ 3-10 ปี จากนั้นจึงกลับมาใช้ประโยชน์อีก (หน้า 19) ขมุบ้านภูคำได้อาศัยลำน้ำจากห้วยหลุหลวง และห้วยหลุน้อยเพื่อการเพาะปลูกสืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต จนถึงปี พ.ศ.2527 ได้มีการต่อประปาภูเขาใช้น้ำสายตรงโดยไม่มีท่อพักจากแอ่งน้ำ "อ่างคำ" ซึ่งอยู่บริเวณด้วยหลุน้อยที่อยู่ไกลจากหมู่บ้านออกไป 0.5 กิโลเมตร (หน้า 21) พืชหลักในไร่ของขมุบ้านภูคำ คือ ข้าว ปลูกไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน เป็นอาหารหลักของคนในชุมชน มีการปลูกแบบพืชผสม ปลูกข้าวเป็นพืชหลักหรือพืชประธาน และมีพืชรอง ปลูกผสมในพื้นที่เดียวกับพืชหลัก พืชรองได้แก่ พืชอาหารเสริมที่บริโภคในลักษณะผล เมล็ด ลำต้นและหัวพืชผักสวนครัว พืชทำเครื่องใช้ เช่น น้ำเต้า และยาสูบ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปที่ข้าวไร่ บางครอบครัวปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวโพด ฝ้าย และส้ม (หน้า 70-71) การเพาะปลูกจะทำบริเวณไหล่เขา ไม่มีระบบชลประทาน ความสมบูรณ์ของผลผลิตจึงขึ้นอยู่กับธรรมชาติ การปลูกพืชที่ใช้เมล็ด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ฝ้าย ใช้การหยอดลงหลุมแล้วกลบ (หน้า 75,82) แรงงานที่สำคัญสำหรับการเกษตรจะเป็นแรงงานจากกลุ่มเครือญาติ เนื่องจากครอบครัวขมุเป็นครอบครัวเดี่ยวมีแรงงานไม่เพียงพอ (หน้า 38) ขมุบ้านภูคำ มีอาชีพรองคือ การหาของป่า ได้แก่ การหาต๋าวหรือลูกชิด ขายโดยมีพ่อค้ามารับซื้อ และนำลงไปขายยังตลาดพื้นราบด้วยตนเอง รายได้จากการขายต๋าว ประมาณครัวเรือนละ 1,000-3,000 บาท การเก็บก๋งหรือดอกไม้กวาด โดยเก็บเอาช่อดอกมาตากแดดเพื่อให้ดอกร่วงเหลือแต่ก้านติดช่อนำมามัดเป็นกำเพื่อชั่งกิโลขาย การหาหวาย ซึ่งสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารบริโภคในครัวเรือน หากมีปริมาณมากจะนำลงไปขายยังพื้นราบ และการหาน้ำผึ้งที่หาในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ ไก่ เป็ด สุกร โค กระบือ และม้า ใช้เป็นแรงงานในการบรรทุกของ อาชีพค้าขายและอาชีพรับจ้างแรงงาน (หน้า 105-110)

Social Organization

ครอบครัวขมุเป็นครอบครัวเดี่ยว หลังจากแต่งงานฝ่ายชายจะไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิงประมาณ 1-2 ปี เพื่อเป็นแรงงานให้กับฝ่ายหญิง หรือจนกว่าบ้านใหม่ของคู่สมรสจะเสร็จ ลักษณะการเลือกที่อยู่อาศัยภายหลังการแต่งงานของขมุบ้านภูคำ จึงเป็นการตั้งถิ่นฐานแบบมาตาลัย (Matrilocal Residence or Uxorical Residence) ในครอบครัวขมุบ้านภูคำ พ่อ (สามี) เป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ และเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน ภรรยาไม่มีบทบาทในการตัดสินใจเท่ากับสามีของตน บทบาทของภรรยาในเรื่องอำนาจจำกัดเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับครัวเรือนโดยตรง ขมุไม่นิยมมีบุตรมาก ต้องการมีบุตรเพียง 1-3 คน เพราะกลัวจะเลี้ยงไม่ไหว เพราะความยากจน (หน้า 24) เมื่อเกิดการหย่าร้าง ในอดีตไม่มีการจดทะเบียนสมรส ฝ่ายชายจะกลับไปบ้านเดิมของตน ส่วนเรือนนั้นยกให้ฝ่ายหญิง ปัจจุบันมีการจดทะเบียนสมรสและจดทะเบียนหย่าร้างที่อำเภอ ขมุไม่ตั้งข้อรังเกียจกับหญิงหม้าย ในการสืบทอดมรดก เมื่อบุตรเติบโตสามารถหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง หรือแต่งงาน บิดามารดาจะแบ่งพื้นที่ทำกินให้กับลูกของตนทุกคน โดยจะแบ่งที่ดินให้กับบุตรชายคนโตมากกว่าบุตรคนอื่นๆ ส่วนบุตรสาวหรือบุตรชายคนสุดท้อง จะได้ที่ทำกินและบ้านอยู่อาศัยและที่ดินของบิดามารดา เพราะต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูบิดามารดาในยามแก่เฒ่าจนกว่าจะสิ้นชีพ (หน้า 31) การนับญาติมีทั้งทางสายเลือด การแต่งงาน นับญาติโดยการสมมุติ ทั้งที่เป็นญาติตามกฎหมาย ได้แก่ บุตรบุญธรรม และญาติร่วมน้ำสาบาน ที่เรียกว่า เสี่ยว ซึ่งทำให้ลูก หลาน เหลน มีความสัมพันธ์เช่นเดียวกับญาติ (หน้า 34)

Political Organization

ในอดีตขมุอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าผู้ครองนครน่าน ปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับการปกครองของตำบลงอบ มีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และมีคณะกรรมการหมู่บ้านตามรูปแบบการปกครองสมัยใหม่ของไทย แต่ก็ยังคงนำรูปแบบการปกครองแบบดั้งเดิมเข้ามาผสมผสาน คือ มีระบบผู้อาวุโสเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาตัดสินคดีความในกรณีเกี่ยวเนื่องกับจารีตประเพณีของชุมชน (หน้า 62)

Belief System

ขมุให้ความสำคัญกับความเชื่อเรื่องผีและวิญญาน ซึ่งจะแทรกอยู่ในพิธีกรรมทั้งที่เกี่ยวข้องกับผีโดยตรง พิธีเกี่ยวกับชีวิต และพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการผลิต เมื่อมีการแต่งงาน ถ้าครอบครัวฝ่ายหญิงนับถือผีบ้าน (ผีบรรพบุรุษ) ฝ่ายชายต้องนับถือผีตามสายตระกูลของฝ่ายหญิง หากฝ่ายชายนับถือผีฝ่ายตนอยู่ก่อนแล้วจะต้องทำพิธีไขว้ผี (ทั้ง 2 ตระกูลเข้าด้วยกัน) โดยหัวหน้าครอบครัวฝ่ายหญิงเป็นผู้ประกอบพิธีไขว้ผีในวันแต่งงานและเลี้ยงผีในวันเดียวกัน ขมุมีข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่ถือผีสายตระกูลเดียวกันแต่งงานกัน (หน้า 28, 29) เมื่อเด็กคลอด พ่อจะเป็นผู้นำผิวไม้ไผ่บางคมตัดสายสะดือของลูก นำใส่กระบอกไม้ไผ่ไปมัดไว้กับต้นไม้ใหญ่ในระดับสายตา ถ้ามัดไว้สูงเชื่อว่าจะทำให้ลูกตาเหลือก ถ้ามัดต่ำกว่าระดับสายตาลูกจะมีสายตาต่ำ ระหว่างทางที่เดินไปห้ามเดินเลี้ยวลด และถ้าอยากให้ลูกร่าเริง พ่อก็จะเดินยิ้มและรำไป ถ้าอยากให้ลูกขยัน เมื่อมัดรกเสร็จ ขณะกลับบ้านให้หาฟืนและแบกฟืนกลับบ้าน เมื่อเด็กอายุครบ 7 วันมารดาจะทำพิธีสู่ขวัญให้กับเด็ก โดยมีหมอขวัญเป็นผู้ทำพิธี ส่วนหญิงเมื่อคลอดลูกแล้วต้องอยู่ไฟประมาณ 10 วัน (หน้า 41-42) เมื่อมีการตายเกิดขึ้น ระหว่างที่รอการฝัง จะมีพิธีสำคัญ คือ พิธีตัดพัด เป็นการตัดความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นและคนตาย จะมีการนำกรวยใบตองแห้งไปวางไว้ที่ศพ และกรวยใบตองดิบจะอยู่ที่คนเป็น นำด้ายขาวมาผูกที่กรวยทั้งสอง แล้วใช้มีดตัดให้ขาดออกจากกัน เมื่อตัดแล้วคนเป็นต้องเดินออกไปอย่าหันไปมองศพเด็ดขาด แล้วหามศพไปป่าช้าซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน (หน้า 52-53) ระบบความเชื่อขมุเป็นการนับถือภูติผีและวิญญาณ เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีผี หรือวิญญาณที่เรียกว่า "โฮร่ย (Hrooy)" สถิตย์อยู่ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ลำธาร ป่าเขา พื้นดิน ทุ่งหญ้า ไร่ข้าว ฯลฯ ผีหลวง เป็นผีที่ขมุบ้านภูคำเคารพนับถือมากที่สุด มีอำนาจมากกว่าผีทั้งปวง และสร้างศาลให้เป็นที่สิงสถิตย์ของผีหลวงในบริเวณป่าใกล้หมู่บ้านไม่ไกลจากทางออกหมู่บ้าน ศาลผีหลวงจะได้รับการซ่อมแซมทุกปีก่อนจะทำพิธีเซ่นไหว้ประจำปี วันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี - ผีประจำหมู่บ้าน (โฮร่ยกุ้ง) เป็นผีที่ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผู้คนในบ้านและให้คุณแก่มนุษย์มากกว่าให้โทษ - ผีบ้าน (โฮร่ยก่าง) เป็นผีที่ให้คุณแก่มนุษย์มากที่สุด ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผู้ที่อาศัยในบ้าน โดยจะแทรกตัวอยู่ในทุกส่วนของบ้าน ทำให้ผีบ้านขมุไม่มีหิ้งที่สิงสถิตย์ แต่จะทำพิธีเซ่นไว้ผีบ้านที่บริเวณเตาไฟ ซึ่งเป็นเตาไฟที่ไม่ใช้ประกอบอาหาร บุคคลภายนอกที่ไม่ได้นับถือผีบ้านเดียวกันจะแตะต้องเตาไฟผีดังกล่าวไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการผิดผีบ้าน ปัจจุบันมีผู้นับถือผีบ้านเพียงไม่กี่หลังคาเรือน เพราะการเลี้ยงผีบ้านต้องเซ่นด้วยสัตว์ใหญ่ เช่น วัว เป็นการสิ้นเปลืองจึงเลิกนับถือผีบ้านไป - ผีครู เป็นผีที่สิงสถิตย์อยู่ในบ้าน แต่มิได้มีทุกครอบครัว เฉพาะครอบครัวของหมอคาถา (หมอเมื่อ) หรือผู้ที่มีความรู้ทางเวทย์มนต์คาถาเท่านั้น มีการเซ่นไหว้ผีครู พร้อมกับผีหมู่บ้าน ในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ผีป่าหรือผีอื่นๆ เป็นผีที่ให้โทษแก่มนุษย์หากมนุษย์ได้กระทำสิ่งลวงเกิน นอกจากความเชื่อในเรื่องผีแล้วยังมีความเชื่ออำนาจเหนือธรรมชาติ เช่น อำนาจคุณ-ไสย เวทย์มนต์คาถา อาคม (หน้า 54-60) ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตปรากฏในแต่ละขั้นตอน ได้แก่ พิธีขอพื้นที่ทำกินจากผีไร่ (โฮร่ยเจ้าตี้) ก่อนการตัดฟัน พิธีบนขอให้ผีไร่ คุ้มครองผลผลิตที่ปลูก พิธีนวดข้าว และพิธีเลี้ยงผีไร่ (หน้า 87-88)

Education and Socialization

สำนักงานการประถมศึกษาได้จัดตั้งโรงเรียนบ้านภูคำขึ้นในปี พ.ศ. 2501 ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 โรงเรียนหลังเก่าได้ถูกน้ำป่าพัดเสียหาย จึงย้ายโรงเรียนไปทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านเก่า โรงเรียนบ้านภูคำเปิดสอนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ชาวบ้านส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับ สามารถพูด เขียนและอ่านภาษาไทยได้ ส่วนเด็กวัยก่อนเรียนไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ เพราะครอบครัวขมุใช้ภาษาขมุในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน (หน้า 22) การอบรมเลี้ยงดูเด็ก เด็กที่อยู่ในวัยทารกจนถึงอายุ 6-7 ขวบ ทั้งหญิงและชายจะอยู่ในความดูแลและอบรมสั่งสอนของมารดา ให้รู้จักหน้าที่ของบุตร หรือหน้าที่ของผู้หญิงผู้ชาย เมื่อเด็กอายุประมาณ 7-8 ปีขึ้นไป มารดาจะสอนให้เด็กรู้จักการทำงานตามเพศ งานของผู้หญิงจะเป็นงานบ้าน ส่วนงานของผู้ชาย เช่น การล่าสัตว์ นอกจากบิดามารดาแล้ว ปู่ ย่า ตา ยาย จะทำหน้าที่สั่งสอนลูกหลานด้วย โดยเฉพาะเวลาที่บิดามารดาเด็กออกไปทำงานในไร่ (หน้า 43)

Health and Medicine

ขมุได้รับระบบแพทย์สมัยใหม่เข้ามาในชุมชน มีการอบรมด้านการใช้ยาและด้านสาธารณสุขให้กับผู้สนใจ ขมุนิยมคุมกำเนิดด้วยการใช้ยาคุมกำเนิด โดยไปขอคำแนะนำและใช้บริการจากสถานีอนามัยที่ตั้งอยู่บ้านงอบ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของไทลื้อ ห่างจากบ้านภูคำออกไปประมาณ 5 กิโลเมตร และคลอดบุตรด้วยวิธีการแพทย์แผนใหม่ (หน้า 25, 42) นอกจากไปรับการรักษาที่สถานีอนามัยตำบลแล้ว บ้างก็ไปใช้บริการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลทุ่งช้าง อำเภอทุ่งช้าง นอกจากการรักษาด้วยการแพทย์สมัยใหม่แล้ว ขมุยังคงมีการรักษาที่เรียกการรักษาพยาบาลแบบจารีตประเพณี คือ การรักษากับ "หมอเมื่อ" (หมอพื้นบ้าน) ซึ่งเป็นผู้อาวุโสในชุมชน เป็นคนที่มีวิชา มีคาถาอาคมและที่เคารพศรัทธาของคนในชุมชน หมอเมื่อจะหาสาเหตุของความเจ็บไข้ด้วยวิธี "เซาะเมื่อ" ซึ่งมีทั้งการจับคู่ข้าวสาร หมอจะขานชื่อผี ถ้าเป็นผีตนนั้นผลการเสี่ยงทายข้าวสารจะเป็นคู่ 3 ครั้งติดกัน จากนั้นทำสะตวงขอขมาผีตนนั้น และส่งผีโดยนำสะตวงไปวางที่ทางสามแพร่ง การเซาะเมื่อด้วยการจับยามด้วยไข่ (ไข่ตั้ง) หมอจะถามว่าอาการเจ็บป่วยนั้นเกิดจากผีหรือไม่ ถ้าใช่ไข่ไก่จะตั้งขึ้นมา ถ้าไม่ใช่ก็จะล้ม และการเสาะเมื่อด้วยวิธีส่องเทียน หมอจะจุดเทียนส่องไปตามลำตัวคนไข้เพื่อหาสาเหตุ เมื่อหายจากอาการเจ็บป่วยจะต้องเลี้ยงผีและทำพิธีสู่ขวัญคนไข้ (หน้า 44-46)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ลักษณะบ้านเรือน ขมุสร้างบ้านเรือนด้วยไม้จริง และหลังคามุงด้วยสังกะสีเช่นเดียวกับบ้านชายไทยพื้นราบภาคเหนือ ส่วนผู้มีฐานะยากจนจะสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบหญ้าคา บ้านยกพื้นสูงจากพื้นดินถึงพื้นเรือนประมาณ 1 เมตร รูปทรงบ้านเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความกว้างและยาวของตัวบ้านขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกในครัวเรือน พื้นที่ใช้สอยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นห้องนอนและห้องครัวและส่วนที่เป็นสถานที่รับแขกหรือใช้พักผ่อน โดยมีฝาและประตูกั้นแยกจากกัน ภายในมีเตาไฟ 2 เตา เตาหนึ่งใช้ประกอบอาหาร อีกเตาหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือ เป็นเตาไฟผีบ้าน (โฮร่ยก่าง) ใช้ให้ความอบอุ่นในฤดูหนาวและใช้เป็นสถานที่เซ่นไหว้ผีบ้าน พื้นบ้านทำเป็น 2 ระดับ ระดับห่างกันประมาณ 1 คืบ ส่วนล่างติดกับบันไดบ้าน ใช้สำหรับล้างถ้วยชาม และล้างวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร มีหิ้งเล็ก ๆ สูงไม่เกิน 1 เมตร ลักษณะคล้ายร้านน้ำสำหรับวางโอ่งน้ำดื่มและคว่ำถ้วยชาม การสร้างบ้านส่วนใหญ่จะมีห้องนอนเดี่ยว สอดคล้องกับโครงสร้างครอบครัวเดี่ยว บุตรนอนรวมกับพ่อแม่เมื่อยังเล็ก จนเติบโตจึงกั้นฝาแยกห้องนอน บริเวณบ้านมีพื้นที่ปลูกพืชสวนครัว บางครอบครัวมีครกกระเดื่องอยู่ใต้ถุนบ้าน มียุ้งข้าวแยกออกจากตัวบ้าน ครอบครัวที่เลี้ยงหมู วัว หรือควายจะสร้างคอกไว้ใกล้บ้าน (หน้า 20)

Folklore

ที่มาของชื่อหมู่บ้าน "ภูคำ" จากคำบอกเล่ากล่าวว่า เนื่องจากมีต้นพลูที่มีใบสีเหลืองคล้ายทองคำขึ้นอยู่ตรงกลางหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านพลูคำ" ในเวลาต่อมา ชื่อ"พลูคำ" ได้กลายเป็น "ภูคำ" เนื่องจากการใช้ตัวอักษรโดยไม่คำนึงถึงความหมายที่เขียนหากยึดถือสำเนียงเสียงไว้เป็นสำคัญ (หน้า 18)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ถึงแม้รูปแบบการผลิตของขมุบ้านภูคำ จะเปลี่ยนแปลงไปจากเพื่อบริโภคไปสู่การผลิตเพื่อขาย ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตของชุมชนในหลายด้าน แต่สิ่งที่ยังคงอยู่อันเป็นการธำรงเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่เห็นได้ชัด คือ ในเรื่องของภาษา ที่ขมุบ้านภูคำยังคงใช้ภาษาขมุสื่อสารในชีวิตประจำวัน ความเชื่อในเรื่องผีที่ยังคงมีความผูกพันอยู่กับความคิดและจิตใจของขมุบ้านภูคำ และปรากฏออกมาในพิธีกรรม ได้แก่ ความเคารพในผีหลวง ที่มีการสร้างศาล และต้องมีพิธีเซ่นไหว้ประจำปีทุกปี นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในผีประจำหมู่บ้าน ผีบ้าน ผีครู และผีป่า (หน้า 55-59) รวมทั้งกฎ ระเบียบ จารีตประเพณี อันเป็นสิ่งที่ใช้ควบคุมสมาชิกในสังคม เป็นสิ่งที่ไม่ควรฝ่าฝืนหรือกระทำผิด ถ้ากระทำผิดจะต้องถูกปรับไหมตามลักษณะความผิดและความร้ายแรง ที่กระทำผิดในจารีต ระเบียบและประเพณี เป็นสิ่งที่ทำให้คนในชุมชนประพฤติปฏิบัติไปในทางที่ถูกต้องเหมาะสม และเป็นแบบแผนเฉพาะของขมุบ้านภูคำ (หน้า 62)

Social Cultural and Identity Change

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของขมุบ้านภูคำ มาจากอิทธิพลภายนอกที่คนในชุมชนต้องพึ่งต่อระบบเศรษฐกิจภายนอก ทำให้ระดับการพึ่งพาตนเองลดลงในระดับหนึ่ง เปลี่ยนจากการพึ่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ไปเป็นการซื้อสินค้าเครื่องอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น ต้องใช้เงินสดในการแลกเปลี่ยน ก่อให้เกิดความจำเป็นต้องผลิตเพื่อขาย ต้องปลูกพืชเศรษฐกิจที่เป็นพืชยืนต้น เช่น ส้ม และใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ ๆ การคมนาคมที่สะดวก ทำให้คนในชุมชนได้ติดต่อกับภายนอกมากขึ้น และเป็นช่องทางในการรับวิทยาการใหม่ๆ ส่วนปัจจัยภายใน เกิดภาวะกดดันในเรื่องของที่ดินที่มีจำกัด เนื่องจากประชากรที่สูงขึ้นและไม่สามารถขยายพื้นที่ทำการเกษตรได้ และจากสภาพนิเวศน์ที่เปลี่ยนไปมีผลกระทบต่ออาชีพหาของป่า จากปัจจัยผลักดันดังกล่าวทำให้มีความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตแบบเดิมที่ผลิตเพื่อบริโภคไปสู่วิถีการผลิตแบบใหม่ คือ ผลิตเพื่อขายที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบถาวร เมื่อการผลิตเปลี่ยนไปจากปลูกข้าวไร่ มาเป็นการปลูกส้ม ขั้นตอนการผลิตก็แตกต่างกัน ย่อมทำให้พิธีกรรมในแต่ละขั้นตอนนั้นหายไป แรงงานการผลิตเพื่อบริโภคที่ผูกพันอยู่กับเครือญาติ กลายเป็นแรงงานรับจ้างในการผลิตเพื่อขาย ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในการช่วยเหลือกันจางหายไป (หน้า 116-121,132)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst ขนิษฐา อลังกรณ์ Date of Report 30 มิ.ย 2560
TAG ขมุ, วิถีชีวิต, เศรษฐกิจ, การเปลี่ยนแปลง, น่าน, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง