สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง),สภาพสังคม,วัฒนธรรม,ความเปลี่ยนแปลง,ราชบุรี
Author โกศล มีคุณ
Title สภาพสังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปของชาวกะเหรี่ยง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity โพล่ง โผล่ง โผล่ว ซู กะเหรี่ยง, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 100 Year 2535
Source สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
Abstract

สภาพสังคมวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีความเปลี่ยนแปลงไปในทุกด้าน กล่าวคือ สถาบันครอบครัว ลดความสำคัญในการอบรมเลี้ยงดูเยาวชนลงไป ขณะที่คนหนุ่มสาวออกไปรับจ้างในเมืองมากขึ้น ส่วนสถาบันการศึกษามีบทบาทสำคัญมากขึ้น สถาบันด้านความเชื่อและประเพณีก็ลดความสำคัญต่อชุมชนลง คงปฏิบัติกันในลักษณะการอนุรักษ์ประเพณีเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากปัจจัยสำคัญด้านสภาพแวดล้อมทางกายภาพ จำนวนประชากร ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย รวมถึงปัจจัยด้านอุดมการณ์ ความเชื่อ ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง และนำไปสู่ผลกระทบกับชุมชนจนเกิดปัญหาสังคมขึ้นในที่สุด

Focus

เน้นการศึกษาสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงในเขตชายแดนไทย-พม่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง (หน้า 4, 5)

Theoretical Issues

ผู้เขียนได้อธิบายว่า มีปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร การเพิ่มขึ้นของประชากร การแพร่ขยายทางเทคโนโลยี การลงทุนในทางเกษตรกรรม และการสื่สารคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ได้ส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมในชุมชนกะเหรี่ยงสวนผึ้ง คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและการยอมรับประเพณีความคิดจากโลกภายนอกมากขึ้น (หน้า 74-84) และความขัดแย้งของกลุ่มคนต่าง ๆ ซึ่งยึดถือความเชื่อและประเพณีที่แตกต่างกันออกไป (หน้า 88)

Ethnic Group in the Focus

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือ "กะเร็น" (Karen) เป็นชาวเขาเชื้อสายธิเบต พม่า สันนิษฐานว่าเดิมอาศัยอยู่ในดินแดนด้านตะวันตกของธิเบต แล้วเข้ามาตั้งอาณาจักรในจีน ต่อมาถูกจีนรุกรานจึงถอยร่นมาอยู่บริเวณลุ่มน้ำแยงซี และถอยมาตามลำน้ำโขง และแม่น้ำสาละวินในเขตพม่า (หน้า 17-18) กะเหรี่ยงเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยกลุ่มหนึ่ง เป็นชนที่มีเอกลักษณ์ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมเป็นของตนเอง (หน้า 6) โดยเฉพาะความเป็นคนกะเหรี่ยงที่เรียกตนเองว่า "ปาเกอะญอ" ที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน (หน้า 25) กะเหรี่ยงจัดเป็นกลุ่มชาวเขาพวกหนึ่งที่มีจำนวนมากที่สุด อาศัยอยู่ตามพรมแดนไทย-พม่า ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนถึงจังหวัดระนอง (หน้า 20) แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มคือ กะเหรี่ยงสกอ (Skaw Karen) ส่วนมากอาศัยอยู่ตามภูเขา มีมากที่สุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน กะเหรี่ยงโปว์ (Pwo Karen) ชอบอาศัยอยู่ตามที่ราบ เรียกตนเองว่า โพล่ง หรือ กะโพล่ง, กะเหรี่ยงบะเว (B'hwe Karen) ส่วนมากอยู่ในรัฐกะเร็นนีในพม่า และบริเวณจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน กะเหรี่ยงต้องสู่ (Taungthu) ส่วนมากอาศัยอยู่ในพม่า (หน้า 19) ในพื้นที่ศึกษา เขตอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี มีชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงอาศัยอยู่ประมาณ 6,000 คน (หน้า 3) เป็นกลุ่มชนกะเหรี่ยงเผ่าโปว์ (หน้า 19)

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาของกะเหรี่ยง จัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน ธิเบต (Sino Tibe) คือพวกกาเร็นนิค (Karenic) (หน้า 20) ผู้วิจัยระบุว่า ชุมชนกะเหรี่ยงอำเภอสวนผึ้งในอดีต มีการใช้ภาษาท้องถิ่น ได้แก่ ภาษาไทย ลาว มอญ กะเหรี่ยง มีภาษาพูดของตนเองคือภาษาของบรรพบุรุษ ปัจจุบันภาษาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย ส่วนภาษาดั้งเดิมของท้องถิ่นใช้กันเฉพาะในบ้านหรือเฉพาะกลุ่ม (หน้า 45) ไม่มีการถ่ายทอดการเขียนการอ่านภาษากะเหรี่ยง ทำให้คนรุ่นหลังอ่านเขียนภาษากะเหรี่ยงไม่ได้ เด็ก ๆ ที่เรียนหนังสือจะใช้ภาษาไทยทั้งพูดและเขียน ปัจจุบันกะเหรี่ยงบ้านบ่อพูดภาษากะเหรี่ยงได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ขณะที่กะเหรี่ยงบ้านทุ่งแฝกยังคงสื่อสารกันเองด้วยภาษากะเหรี่ยงอยู่มาก เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ยังฟังภาษากะเหรี่ยงรู้เรื่อง และใช้ภาษาบรรพบุรุษของตนอยู่ (หน้า 62-63)

Study Period (Data Collection)

ผู้วิจัยแบ่งช่วงเวลาของการศึกษาออกเป็น อดีต คือ ก่อนปี พ.ศ. 2533 และปัจจุบัน คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ถึงปี พ.ศ. 2536 (หน้า 5)

History of the Group and Community

กะเหรี่ยงในประเทศไทยมีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเนื่องจากหลบหนีภัยอันตรายและเข้ามาตั้งหลักแหล่งที่ทำกิน เมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว ทางชายแดนพม่าติดต่อกับไทยด้านตะวันตก ยาวตลอดแนวจากเหนือจรดใต้ (หน้า 20-21) ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงส่วนใหญ่บันทึกผ่านนิทานมุขปาฐะ ซึ่งถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษ นิทานเหล่านี้สะท้อนให้เห็นสภาพแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม และสังคมวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงในอดีต (หน้า 23) สำหรับชุมชนกะเหรี่ยงอำเภอสวนผึ้งพบว่า เข้ามาอยู่บริเวณลุ่มน้ำภาชีประมาณ 200 ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าเดิมอาศัยอยู่ในประเทศพม่าและอพยพเข้ามาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเนื่องจากสงครามไทย-พม่า การอพยพครั้งแรกเข้ามาทางห้วยซองกะเลีย หรือพุท่อง เขตอำเภอวังสะ ปัจจุบันคืออำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมากะเหรี่ยงบ้านเมกะจะ เมืองมอระแหม่ง ได้ติดตามมาอีก ทางการจึงแต่งตั้งให้ พระยาศรีสุวรรณคีรี (ภูวะโพ่) เป็นนายอำเภอสังขละบุรี สืบต่อจนรุ่นลูกรุ่นหลาน (หน้า 21) สันนิษฐานว่า กะเหรี่ยงสวนผึ้งกลุ่มแรกอพยพมาจากหนองนกกะเรียน (หนองกะเหรี่ยง) ที่อำเภอจอมบึง ซึ่งเดิมอพยพหนีพม่ามาจากกาญจนบุรี แรกเริ่มมีประมาณไม่ถึง 10 ครอบครัวมาตั้งถิ่นฐานในชุมชนบ้านบ่อ ต่อมาก็มีผู้อพยพตามเข้ามาเรื่อย ๆ ทั้งกะเหรี่ยง คนไทย คนจีน และชนชาติอื่นๆ "บ้านบ่อ" เดิมเรียกว่า "หนองโพเซ่ง" หมายถึง หนองน้ำที่มีความเขียวชะอุ่ม เนื่องจากแต่เดิมที่ตั้งหมู่บ้านมีการขุดบ่อน้ำมาใช้ในชุมชน ทำให้เกิดมีบ่อน้ำใหญ่ในหมู่บ้าน บ้างแปลว่า "หนองชะอม" เพราะมีชะอมขึ้นอยู่มากมาย ขณะเดียวกันในอีกความหมายหนึ่งมาจากแหล่งน้ำชื่อ "ห้วยบ่อ" ซึ่งเพี้ยนมาจาก "ห้วยดีบอก" หรือ "ดีบอกขลุ" ซึ่งกะเหรี่ยงเรียก "ห้วยดีบุก" เนื่องจากเทือกเขาต้นน้ำมีแร่ดีบุกมาก (หน้า 50) ส่วนบ้านทุ่งแฝก คนรุ่นแรกเป็นกะเหรี่ยงพวกเดียวกันกับบ้านบ่อที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน บ้าน "ทุ่งแฝก" สันนิษฐานว่าเนื่องจากแต่เดิมที่แห่งนั้นมีต้นแฝกขึ้นหนาแน่น และชาวบ้านส่วนใหญ่ยังใช้แฝกมุงหลังคาบ้านอีกด้วย บ้านทุ่งแฝกปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นกะเหรี่ยงและยังคงสภาพดั้งเดิมอยู่ (หน้า 50 - 51)

Settlement Pattern

กะเหรี่ยงที่ชุมชนบ้านบ่อในอดีต ปลูกเรือนอยู่อาศัยกันเป็นครอบครัวและอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ตามเครือญาติ ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านใต้ถุนสูงแบบชั่วคราวทำด้วยไม้รวกหรือไม้ไผ่ เนื่องจากต้องย้ายที่ทำกินจึงไม่ใช้วัสดุถาวร ฝาบ้านทำด้วย "ไม้สับฟาก" หรือ "ไม้ซี่" หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือแฝก บันไดบ้านทำด้วยไม้ไผ่ชักขึ้นลงได้ ใต้ถุนบ้านเป็นที่รองข้าวที่นวดแล้ว มียุ้งข้าวอยู่ติดกับบ้าน ต่อมาจนถึงปัจจุบัน เป็นบ้านสมัยใหม่ คือบ้านไม้ทั้งหลังบ้าง เป็นไม้ครึ่งตึกบ้าง หลังคามุงสังกะสีหรือกระเบื้อง พื้นบ้านก็เปลี่ยนเป็นไม้จริง ไม้ที่ใช้เป็นพวกไม้เคี่ยม ไม้พวง ไม้เบญจพรรณ (หน้า 54-55) ส่วนบ้านทุ่งแฝก ในอดีตบ้านเรือนทำด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก ซึ่งไปตัดมาจากป่าใกล้ ๆ หมู่บ้าน การปลูกบ้านสมัยก่อนใช้วิธีเอาแรงกัน และเจ้าของบ้านต้องคอยซ่อมบ้าน 2-3 ปีต้องมุงหลังคาใหม่ ปัจจุบันบ้านเรือนสมัยใหม่มุงสังกะสีมากขึ้น แต่บ้านแบบเก่าก็ยังมีอยู่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ บ้านไม้ไผ่หลังคามุงแฝกเหลือน้อยลง ส่วนใหญ่มุงด้วยหญ้าคาซึ่งยังพอหาได้ในป่า (หน้า 57) เครื่องใช้ในบ้านของกะเหรี่ยงที่มีกันทุกบ้านคือ ครกตำข้าว เป็นครกที่ตำด้วยมือ และครกกระเดื่อง เครื่องทอผ้าด้วยมือ กระบอกน้ำทกด้วยไม้ไผ่ที่ใช้โงน้ำกิน โงสำหรับแบกของสานด้วยไม้ไผ่ เตาไฟที่ใช้หินสามก้อนวางล้อมกัน (เส้า) หม้อดิน ตะเกียง กระบุก ตะกร้าสานด้วยไม้ไผ่ มีด ปืนแก๊ปสำหรับล่าสัตว์ แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้วเพราะหมดความจำเป็น เปลี่ยนมาใช้หม้อไฟฟ้า เตาแก๊ส เตาถ่าน เป็นต้น (หน้า 55, 57)

Demography

ข้อมูลทะเบียนราษฎร อำเภอสวนผึ้ง ระบุว่า จำนวนประชากรอยู่อาศัยในอำเภอสวนผึ้ง สำรวจเมื่อ 30 กันยายน 2535 มี 9,468 ครัวเรือน จำนวน 41,464 คน เป็นชาย 21,790 คน หญิง 19,674 คน ในจำนวนนี้เป็นบุคคลบนพื้นที่สูง ประมาณ 7,000 คน หรือร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งอำเภอ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตำบลสวนผึ้ง และตำบลตะนาวศรี (หน้า 38, 42) โดยชุมชนบ้านบ่อ ประกอบด้วยประชากรหลายเชื้อชาติ มีทั้งสิ้น 497 หลังคาเรือน จำนวน 1,604 คน เป็นชาย 767 คน หญิง 837 คน (หน้า 50-51) ส่วนชุมชนบ้านทุ่งแฝก ประกอบด้วยกะเหรี่ยงเกือบทั้งหมด มีคนไทยเพียงครอบครัวเดียว ทั้งสิ้น 129 หลังคาเรือน จำนวน 497 คน เป็นชาย 256 คน หญิง 241 คน (หน้า 52) ประชากรของทั้งสองหมู่บ้านมีอัตราส่วนแตกต่างกัน เนื่องจากชุมชนบ้านบ่อมีผู้อพยพเข้ามามากทั้งคนไทย คนจีนและกะเหรี่ยง เพราะเป็น "ตัวเมือง" ของสวนผึ้ง โดยเฉพาะช่วงการพัฒนา พ.ศ. 2519 - 2525 ส่วนบ้านทุ่งแฝกอัตราอพยพมีค่อนข้างน้อย (หน้า 76)

Economy

กะเหรี่ยงสวนผึ้งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ทำนาเป็นหลัก เพื่อให้มีข้าวไว้กินได้ตลอดปี อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติในการเพาะปลูก นอกจากนั้น ยังปลูกพริก มะเขือ ข้าวไร่ ละหุ่ง ส่วนที่สูงหรือที่ดอนจะปลูกฝ้ายเพื่อทอผ้าไว้ใช้เอง เมื่อเสร็จงานทำไร่ ทำนา ฝ่ายชายจะเข้าป่า ล่าสัตว์ หาของป่า สานตะกร้า กระบุง และฝ่ายหญิงจะทำงานเย็บปักถักร้อย ทอผ้าและตำข้าว ปัจจุบันการทำเกษตรกรรมลดน้อยลง โดยเฉพาะที่บ้านบ่อ มีความเปลี่ยนแปลงมาก เนื่องจากป่าไม้ถูกทำลาย หลายครอบครัวไม่มีที่ดินทำกิน ส่วนใหญ่จึงกลายเป็นลูกจ้าง หนุ่มสาวก็เข้ามาทำงานรับจ้างในเมืองมากขึ้น ขณะที่บ้านทุ่งแฝกยังมีการทำไร่เป็นอาชีพหลักของครอบครัว แต่พอว่างจากงานไร่ งานนา ก็เข้าไปรับจ้างในเมืองด้วยเช่นกัน (หน้า 56, 58, 59, 61, 71, 73) การติดต่อกับสังคมภายนอกปัจจุบันสะดวกขึ้นเพราะมีถนนที่ได้มาตรฐาน มีรถโดยสารประจำทางวิ่งผ่าน แต่ละหมู่บ้านก็ยังมีรถใช้เอง โดยเฉพาะที่บ้านบ่อ มากกว่า 10 ครอบครัวมีรถยนต์ส่วนตัวและรถบรรทุกเล็ก รถจักรยานยนต์มีใช้เกือบทุกบ้าน ส่วนบ้านทุ่งแฝกมีรถยนต์ 6 คัน รถจักรยานยนต์ 18-20 คัน รถอีแต๋น 1 คัน รถกระบะ 3 คัน รถบรรทุก 2 คัน (หน้า 75, 79) เทคโนโลยีเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการใช้กันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ หม้อหุงข้าวไฟฟ้า วิทยุ โทรทัศน์ พัดลม โดยเฉพาะโทรทัศน์ และวิทยุ มีมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงหลังปี พ.ศ. 2530 ปัจจุบันกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนทั้งหมดมีวิทยุ โทรทัศน์ ใช้ นอกจากนั้นก็มีการใช้สารเคมีและเครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น (หน้า 71, 78, 79) รายได้หลักของชาวบ้านบ่อ และบ้านทุ่งแฝก ในอดีตขึ้นอยู่กับอาชีพเกษตรกรรม โดยอาศัยแรงงานในครอบคัวและปัจจัยตามธรรมชาติ มีรายจ่ายน้อย ต่อมาสภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป มีการลงทุนใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ย และใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกิดภาวะหนี้สิน และต้องแสวงหารายได้นอกภาคการเกษตร ได้แก่ การรับจ้างในไร่ หรือรับจ้างตามโรงงานในเมือง (หน้า 80-81)

Social Organization

ลักษณะครอบครัวเป็นแบบ "ผัวเดียว-เมียเดียว" (หน้า 54) และเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น หลังจากการรณรงค์ให้มีการวางแผนครอบครัวหรือการคุมกำเนิด ตั้งแต่ปี 2513-2514 และเริ่มมีประสิทธิผลช่วงปี 2525-2526 จากอดีตจำนวนบุตรต่อครอบครัวโดยเฉลี่ยเป็น 6.3 คน (2525) ปัจจุบันเฉลี่ยประมาณ 1.5 คน (2536) (หน้า 59) ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว การเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ถือเป็นค่านิยมดั้งเดิมในสถาบันครอบครัวของกะเหรี่ยง ลูกต้องปูที่นอนให้พ่อแม่ ภรรยาต้องปฏิบัติต่อสามีอย่างดี เด็ก ๆ ต้องล้างเท้าให้ผู้ใหญ่ปีละครั้ง ความสัมพันธ์เป็นไปแบบผู้น้อย-ผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันบทบาทของพ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูบุตรเปลี่ยนแปลงไป โดยโรงเรียนเข้ามามีบทบาทแทน เป็นผลให้เด็กดื้อและไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่มากขึ้น ขาดความเคารพผู้อาวุโส เนื่องจากได้รับการศึกษาสูงขึ้น อิทธิพลจากสื่อสมัยใหม่ และการออกไปทำงานนอกชุมชน สภาพความใกล้ชิดภายในครอบครัวจึงลดน้อยลง (หน้า 58, 59, 85, 86) การแต่งงาน ในอดีตกะเหรี่ยงจะยึดถือการแต่งงานกับคนเชื้อชาติเดียวกัน เพราะความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน และปัญหาด้านการสื่อสาร ความเชื่อ ประเพณีดั้งเดิม มีข้อห้ามไม่ให้คนกะเหรี่ยงแต่งงานกับคนเชื้อสายอื่น ปัจจุบันไม่มีข้อห้ามแต่งงานข้ามเชื้อชาติอีกต่อไป ความรู้สึกเป็นคนต่างเชื้อชาติลดลงไป มีคนกะเหรี่ยงแต่งงานกับคนจีน ไทย มอญ พม่า ส่วนใหญ่จะแต่งกับคนไทย โดยพิธีกรรมจะเป็นแบบเชื้อชาติใดก็เป็นที่ยอมรับได้ (หน้า 56, 58, 88, 95) การสู่ขอไม่มีการเรียกค่าสินสอด แต่งแล้วอยู่บ้านฝ่ายหญิง 1 ปี การจัดการมรดกไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่จะแบ่งให้ลูก ๆ เท่ากัน มีบ้างที่คนโตได้มากกว่า และลูกจะสืบทอดอาชีพตามพ่อแม่ (หน้า 56) ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ ยังมีความแน่นแฟ้นอยู่บ้าง แต่เริ่มมีข้อจำกัดและห่างเหินมากขึ้น (หน้า 59-60) มีการไปมาหาสู่น้อยลง เพราะทุกคนต้องทำงานแข่งกับเวลา (หน้า 56) และเนื่องจากมีการย้ายไปประกอบอาชีพในเมืองหรือชุมชนอื่น การพบปะกันจึงน้อยลง นอกจากจะมีการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ

Political Organization

โครงสร้างอำนาจทางการเมืองในอดีต การปกครองอำเภอสวนผึ้งเป็นไปอย่างยากลำบากและ ไม่ทั่วถึงกัน อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง รัฐบาลจึงจัดส่งหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ที่ 20 กรป.กลาง บก.ทหารสูงสุด ประกอบด้วยทหาร 3 เหล่าทัพ และข้าราชการพลเรือน ร่วมกันดำเนินการพัฒนาท้องถิ่น ด้านเศรษฐกิจ การเมืองและคมนาคม ตั้งแต่ปี 2511-2514 ในระยะหลังความเจริญด้านการคมนาคมประกอบกับความล้มเหลวของลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้เขตอำเภอสวนผึ้งมีความสงบเรียบร้อยขึ้น หน่วยงานด้านความมั่นคงที่ไม่มีความจำเป็นจึงได้ถอนออกนอกพื้นที่ไป (หน้า 38, 44) ผู้นำของชุมชน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผู้นำชุมชนที่บ้านบ่อ คือ กำนัน ส่วนที่บ้านทุ่งแฝก ผู้นำ คือ ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนได้รับความเชื่อถือจากความสามารถส่วนตัวและมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของชุมชน (หน้า 96 ดูรายนามผู้นำของกะเหรี่ยงสวนผึ้ง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หน้า 22) นอกจากนั้นผู้นำทางความคิดและการพัฒนาของชาวบ้านบ่อมาตลอดคือ เจ้าอาวาสวัดบ้านบ่อ ซึ่งได้สอนให้ชาวบ้านเลิกล่าสัตว์ ให้เอาอาวุธปืนไปฝังดิน และแนะนำให้เลิกนับถือผี (หน้า 66) ส่วนบ้านทุ่งแฝกก็มีพระนักปฏิบัติและพระนักพัฒนาที่ สำนักสงฆ์เขาตกน้ำ เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน และทำให้ชายกะเหรี่ยงยึดถือประเพณีการบวชแทบทุกคน (หน้า 69) ความขัดแย้ง กะเหรี่ยงเป็นผู้รักสันโดษ ไม่ชอบมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป จากการคบหาสมาคมกับชนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะที่บ้านบ่อนั้นเป็นชุมชนใหญ่ มีคนหลายกลุ่มอยู่ร่วมกัน ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การทะเลาะวิวาทของวัยรุ่นมักเป็นการก่อเหตุจากคนนอกถิ่น ส่วนบ้านทุ่งแฝกซึ่งเป็นกะเหรี่ยงแทบทั้งหมดมักจะไม่ค่อยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับใคร (หน้า 88) ในกรณีความขัดแย้งที่เป็นกรณีพิพาทเรื่องที่ดินทำกินเป็นปัญหามาก เนื่องจากราษฎรส่วนใหญ่ 94 เปอร์เซ็นต์ ประกอบอาชีพด้านการเกษตร และมีฐานะยากจน ทำให้มีการบุกรุกถางป่าและที่สาธารณะ ที่ดินที่ราษฎรครอบครองจึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย (หน้า 48)

Belief System

ความเชื่อ ความเชื่อของกะเหรี่ยงเกี่ยวกับหมอดู หมอผี เวทมนตร์คาถาหรือไสยศาสตร์มีมากมายหลายแบบ เช่น มีหมอดูทำนายโรคด้วยการ "ทำกะบาล" โดยใช้กระบอกไม้ไผ่และหญ้าคาตรวจว่าผู้ป่วยเป็นโรคใด ก็จะรักษาตามวิธีการของหมอนั้น หรือหมอผีก็จะตรวจว่า "ถูกของ" หรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าอาจมีการ "เสกของเข้าท้อง" ทำให้เกิดการเจ็บป่วย นอกจากนี้ยังมีการนับถือ "ผีกินปลา" "ผีกินไก่" เป็นต้น (หน้า 67) นอกจากนั้นมีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งของกะเหรี่ยงว่า หากมีใครกระทำสิ่งไม่ดีหรือผิดศีลซึ่งเรียกว่า "ผิดพระ" จะต้องทำการขอขมาต่อพระด้วยขันธ์ห้า ซึ่งสะท้อนให้เห็นการนับถือพระและลักษณะนิสัยซื่อสัตย์ของพวกเขา (หน้า 68) ศาสนา ชาวบ้านทุ่งแฝกนับถือพุทธศาสนาทั้งหมด และยึดถือประเพณีการบวชเป็นสำคัญ มีสำนักสงฆ์ 1 แห่งคือ สำนักสงฆ์เขาตกน้ำ (หน้า 52, 69) ส่วนชาวบ้านบ่อส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา จำนวนถึง 1,568 คน นับถือคริสตศาสนา 21 คน อิสลาม 15 คน มีวัด 1 วัดคือ วัดบ้านบ่อ และที่ประกอบพิธีกรรมของศาสนาคริสต์ 1 แห่ง (หน้า 51) อุดมการณ์ ค่านิยม ของกะเหรี่ยงคือ ความซื่อสัตย์ การเชื่อฟังผู้ใหญ่ การเชื่อฟังผู้นำ การให้ความร่วมมือและยึดถือความสามัคคี และการเคร่งครัดด้านศีลธรรมเรื่องของการมี "ผัวเดียวเมียเดียว" การยึดเหนี่ยวในพระพุทธศาสนา เป็นต้น (หน้า 84-85) ประเพณีที่สำคัญของกะเหรี่ยง ได้แก่ - ประเพณีรับขวัญ และกินข้าวห่อ ทำในเดือนเก้า โดยเชื่อว่าเมื่อเดินทางไปหาของป่าหรือล่าสัตว์อาจเกิดการตกใจจากสิงสาราสัตว์หรือผีดงผีป่า เมื่อกลับมาจึงต้องมีพิธีเรียกขวัญ มีการทำข้าวห่อเลี้ยงแขกผู้มาเยือน มีการยิงปืนและป้อนข้าวห่อกัน พิธีนี้เป็นโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบและร้องเพลงเกี้ยวพาราสีกัน - ประเพณีสงกรานต์ ทำในเดือนห้า มีการทำบุญ รดน้ำ ขนทรายและเล่นสะบ้า (หน้า 67) - ประเพณีการเลือกคู่ครองหรือ "การย่องสาว" เป็นผลจากการที่หนุ่มสาวได้พบกันในเทศกาลต่าง ๆ กล่าวคือ ฝ่ายชายเมื่อหมายตาสาวคนใดไว้ก็จะไปหาสาวตอนกลางคืน โดยพ่อแม่ไม่ได้กีดกัน แล้วสะกิดที่เอวผู้หญิงเพื่อปลุกให้ลุกขึ้นมาคุยกันโดยไม่มีการล่วงเกินแต่อย่างใด หลังจากไป "ย่อง" หรือคุยกับฝ่ายหญิงแล้วชอบพอกันตกลงจะร่วมชีวิตกัน ฝ่ายชายก็จะให้พ่อแม่ของตนไปสู่ขอต่อพ่อแม่ฝ่ายหญิง ถ้าไม่ตกลงก็สามารถไปย่องสาวคนอื่นอีกได้ แต่ถ้าฝ่ายชายไปย่องผิดลูกผิดเมียผู้อื่นจะต้องขอขมาฝ่ายหญิงโดยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน (หน้า 56) การตกลงแต่งงานกันไม่มีการเรียกค่าสินสอด แต่ผู้ชายอาจหมั้นฝ่ายหญิงโดยให้เม็ดเงิน เป็นเงินที่ทำเป็นเม็ด ๆ ร้อยเป็นสร้อย กำไลเงิน หรือแหวนเงิน ในวันแต่งงานมีการแห่ผู้ชายไปที่บ้านฝ่ายหญิง และผู้ใหญ่ให้พรแล้วเลี้ยงกัน (หน้า 58)

Education and Socialization

อำเภอสวนผึ้ง มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ 39 โรง ครู 370 คน นักเรียน 6,494 คน มีโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษา 2 โรงครู 52 คนนักเรียน 835 คน โรงเรียน ตชด. 4 โรง ครู 27 คน นักเรียน 439 คน (สำรวจปี พ.ศ.2535,หน้า 45) โรงเรียนแห่งแรกของชุมชนบ้านบ่อ เกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2484 เปิดสอนชั้น ป.1-ป.3 โดยมีครูเพียง 1 คน ต่อมาเริ่มมีครูบรรจุเพิ่มขึ้น และเริ่มขยายชั้นเรียนมากขึ้น โรงเรียนชุมชนบ้านบ่อให้บริการการศึกษาในเขตนี้ ปัจจุบันมีครู 20 คน นักเรียนประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กกะเหรี่ยงเกินกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโรงเรียนมัธยมเปิดขึ้นที่อำเภอสวนผึ้ง คือ โรงเรียนสวนผึ้งวิทยา (หน้า 60-61) หลังจากมีการศึกษาภาคบังคับสำหรับประชาชน กะเหรี่ยงส่งลูกหลานไปโรงเรียนกันมากขึ้น เนื่องจากอยากให้ลูกหลานรู้หนังสือและพูดภาษาไทยได้ กะเหรี่ยงบ้านบ่อส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนตามเกณฑ์บังคับทุกครอบครัว ครอบครัวที่มีฐานะเริ่มส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในเมือง ปัจจุบัน เด็ก ๆ เรียนระดับประถมศึกษา 100 เปอร์เซ็นต์ เรียนต่อระดับมัธยมศึกษา 60-70 เปอร์เซ็นต์ และระดับสูงกว่ามัธยมประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่บ้านทุ่งแฝก แม้จะส่งลูกหลานเรียนระดับประถมศึกษาตามเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับทุกครอบครัว แต่โอกาสเรียนต่อระดับมัธยมศึกษามีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (หน้า 60, 61, 62)

Health and Medicine

ในอดีตครอบครัวกะเหรี่ยงนิยมมีลูกมาก แต่ก็เสียชีวิตมากเนื่องจากไม่มีวิธีการรักษาอนามัยที่ถูกต้อง เช่น การคลอดบุตรโดยหมอตำแย มีการอยู่ไฟ กินน้ำมนต์รัดมดลูก น้ำมนต์บำรุงเลือด บางรายเอาไพลผสมน้ำปัสสาวะของสามี หรือ "น้ำมูด" ให้ภรรยากินหลังคลอดเพื่อกันท้องอืด (หน้า 58, 64) เมื่อเกิดการเจ็บป่วย กะเหรี่ยงใช้วิธีการรักษากันเองโดยใช้พืชสมุนไพร และอาศัยหมอดู ตรวจดวงชะตาผู้ป่วย สาเหตุเชื่อว่าสืบเนื่องจากเวรกรรม ถูกของ หรือผีเข้า ซึ่งก็จะรักษาตามเหตุนั้น เช่น ทำพิธีเรียกหนังควายออกจากท้อง การทำบุญเซ่นไหว้ เป่าคาถา ให้กินรากไม้ หรือนับถือ "พระน้ำมัน" (หน้า 64, 65) ปัจจุบัน การสาธารณสุขแผนใหม่ได้เข้าไปในหมู่บ้านอย่างทั่วถึง ชาวบ้านยอมรับการรักษาแผนใหม่ ที่บ้านบ่อมีสถานีอนามัยที่มีประสิทธิภาพ มีโรงพยาบาลทันสมัย และทางสถานีอนามัยได้เข้าไปเผยแพร่รณรงค์ให้มีการวางแผนครอบครัว ในปี พ.ศ. 2525-2526 โดยใช้วิธีเริ่มจากคนรู้จัก ให้ความรู้และแนะนำให้คุมกำเนิด เมื่อเริ่มมีคนทำและบอกต่อกันก็มีคนทำตามกันมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย วิธีคุมกำเนิดที่นิยมใช้ได้แก่ กินยา ฉีดยา ทำหมันและใส่ห่วง ตามลำดับ (หน้า 58, 64)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีการระบุไว้ในงานวิจัย กล่าวแต่เพียงว่า การแต่งกายของเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี จะแต่งกายด้วยชุดสีขาว ทำด้วยผ้าฝ้าย (หน้า 56) และเสื้อผ้าผู้หญิงจะย้อมสีกรมท่าแล้วปักลายด้วยลูกปัดและด้ายสีต่าง ๆ (หน้า 59) ส่วนงานหัตถกรรมซึ่งถือเป็นงานอดิเรกยามว่างจากงานไร่ งานนา ได้แก่ การทอผ้า สานกระบุง ตะกร้า เป็นต้น

Folklore

นิทานพื้นบ้านและเพลงกล่อมเด็ก ผู้ใหญ่จะเล่านิทานยามว่างจากงานตอนค่ำ โดยมีเด็ก ๆ ล้อมวงนั่งฟัง นิทานของกะเหรี่ยงมีเป็นจำนวนมาก และมีคติธรรมที่ให้ประโยชน์กับผู้ฟัง นอกจากนั้นยังมีเพลงกล่อมเด็กที่แม่ หรือยายร้องกล่อมเด็กเล็กอีกด้วย (หน้า 71) ส่วนการละเล่นตามประเพณี ได้แก่ การร้องเพลงเกี้ยวกันในงานประเพณีกินข้าวห่อ และการร้องเพลงประกอบแคนที่มีลักษณะเป็นการละเล่นพื้นบ้านโต้ตอบกันของกะเหรี่ยง การเล่นสะบ้าในงานสงกรานต์ เป็นต้น (หน้า 70, 72)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของกะเหรี่ยง ได้แก่ 1. ภาษา 2. การแต่งกาย 3. ประเพณีการรับขวัญ กินข้าวห่อ งานสงกรานต์ การ "ย่องสาว" การร้องเพลงโต้ตอบ 4. บ้านเรือนไม้ไผ่มุงหญ้าคาหรือแฝก 5. ความเชื่อเรื่องผี 6.วัฒนธรรมการเคารพผู้อาวุโส ความสามัคคีร่วมมือร่วมแรง ในที่นี้ผู้วิจัยได้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางสภาพสังคมวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงสวนผึ้งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พบว่า ปัจจุบันชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบ่อและบ้านทุ่งแฝกมีการผสมกลมกลืนทางชาติพันธุ์เป็นไทย ทั้งในแง่ภาษา การแต่งกาย ที่อยู่อาศัย ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงเหล่านี้กำลังสูญหายไปอันเนื่องจากปัจจัยแวดล้อมหลายประการ (หน้า 67-68,71,86, 94-98) ความสัมพันธ์กับภายนอก เจตคติต่อคนภายนอกและต่อความเป็นคนไทยของกะเหรี่ยงสวนผึ้งได้รับการยอมรับมากขึ้น เนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์กับชนกลุ่มอื่นและสังคมภายนอก การได้รับการปฏิบัติในฐานะคนไทย ทำให้กะเหรี่ยงทั้งสองหมู่บ้านมีความรู้สึกเป็นไทย ปัจจุบันจึงไม่มีปัญหาในการติดต่อกับกลุ่มชนชาติอื่นที่เข้าไปในหมู่บ้าน (หน้า 88)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงสวนผึ้ง ได้แก่ 1. สถาบันครอบครัว 2. สถาบันการศึกษา 3. สถาบันสาธารณสุข 4. สถาบันความเชื่อและประเพณี 5.สถาบันพักผ่อนหย่อนใจ (หน้า 90-92) ปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1. สภาพแวดล้อมทางกายภาพ 2. จำนวนและลักษณะประชากร 3. การแพร่กระจายความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4. ปัจจัยด้านสภาพทางเศรษฐกิจ 5. ปัจจัยเกี่ยวกับการสื่อสารคมนาคม 6. ปัจจัยด้านศาสนา ความเชื่อ อุดมการณ์ (หน้า 92-94) ผลจากการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1. การปฏิบัติต่อกันในครอบครัว 2. การประกอบอาชีพ 3. การใช้ภาษา 4. การเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส 5. ความสะดวกสบายในการดำรงชีวิต 6. คุณภาพชีวิต 7. การแต่งงานข้ามเชื้อชาติ 8.การเกิดปัญหาสังคมในหมู่บ้าน (หน้า 94 - 95, และดู abstract ประกอบ)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

แผนที่ อำเภอสวนผึ้ง (หน้า 39) หมู่บ้าน บ้านบ่อ และ บ้านทุ่งแฝก (หน้า 53) ภาพประกอบ ขั้นตอนดำเนินการวิจัย (หน้า 29) การวิเคราะห์ข้อมูล (หน้า 37)

Text Analyst วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ Date of Report 22 ก.ย. 2555
TAG โพล่ง โผล่ง โพล่ว ซู (กะเหรี่ยง), สภาพสังคม, วัฒนธรรม, ความเปลี่ยนแปลง, ราชบุรี, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง