สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ,เศรษฐกิจ,การตั้งถิ่นฐาน,นครปฐม
Author นำพวัลย์ กิจรักษ์กุล
Title การศึกษารูปแบบการตั้งถิ่นฐาน ประชากร เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของลาวโซ่งจังหวัดนครปฐม
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ไทยทรงดำ ไทดำ ไตดำ โซ่ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 182 Year 2536
Source สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract

ให้รายละเอียดของพิธีกรรมต่างๆ ลักษณะวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของลาวโซ่งในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ในด้านประชากร เศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย และการสาธารณสุขของลาวโซ่งที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม

Focus

วิถีชีวิตของลาวโซ่งที่จังหวัดนครปฐม

Theoretical Issues

ผู้เขียนไม่ได้บ่งบอกถึงทฤษฎีที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ไว้อย่างชัดเจนมากนัก แต่เป็นการศึกษาที่ให้รายละเอียดของข้อมูลต่าง ๆ ของพื้นที่ที่ทำการศึกษาในเชิงปริมาณที่เป็นสถิติที่แน่นอนในช่วงเวลานั้นๆ โดยศึกษาแบบสุ่มจากหมู่บ้านลาวโซ่งทั้งหมดที่มีอยู่ในจังหวัดนครปฐม

Ethnic Group in the Focus

ผู้ไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ลาวทรงดำ" (หน้า 21)

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

ไม่ระบุ

History of the Group and Community

ถิ่นฐานเดิมของลาวโซ่งคือบริเวณแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ในประเทศเวียดนามปัจจุบัน ต่อมาได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยในช่วงเวลาสงครามสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยให้พวกลาวโซ่งไปอาศัยอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี แต่ก็มีลาวโซ่งบางกลุ่มที่ต้องการเดินทางกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของตน แต่การเดินทางก็ทำได้ยากลำบาก และมีการเสียชีวิตระหว่างเดินทาง ดังนั้น ลาวโซ่งรุ่นหลังที่เกิดในประเทศไทย จึงไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ต้องตั้งหลักแหล่งอยู่ตามเส้นทางการเดินทาง ทำให้พบหมู่บ้านลาวโซ่งกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลาง รวมถึงที่จังหวัดนครปฐมนี้ด้วย (173-174)

Settlement Pattern

การตั้งถิ่นฐานของหมู่บ้านลาวโซ่งในจังหวัดนครปฐมเป็นแบบรวมกลุ่ม (Clustered Settlement) ในแนวเหนือใต้ (หน้า 34) และตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โดยส่วนมากแล้วจะสร้างบ้านอยู่รวมกันเป็นกลุ่มหมู่บ้านในพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึงในหน้าฝน ส่วนพื้นที่นาจะอยู่รอบนอกหมู่บ้าน (หน้า 34-37) แต่ก็ยังมีหมู่บ้านลาวโซ่งบางหมู่บ้านที่มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนแบบกระจายตัว (Dispersed Settlement หรือ Scattered Settlement) โดยจะเป็นการสร้างบ้านเรือนในพื้นที่การเกษตรของตนเอง ลาวโซ่งที่ตั้งบ้านเรือนในลักษณะนี้มักจะประกอบอาชีพทำสวน ทำไร่ ความห่างของบ้านแต่ละหลังก็ขึ้นอยู่กับขนาดที่ดินของแต่ละครอบครัว (หน้า 175) ลักษณะบ้านเรือนที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านลาวโซ่งในจังหวัดนครปฐมนี้ ได้แก่ ฝาบ้านที่ไม่ทำสูงถึงหลังคา และมีลักษณเอนออกทางตอนบน ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และบ้านโซ่งแบบดั้งเดิมจะไม่มีหน้าต่าง ส่วนของหลังคาที่สูงชัน คลุมตัวบ้านทุกด้านและเลยพื้นลงมา ยอดจั่วทั้ง 2 ด้าน มีไม้จริงแกะสลักเป็นรูปโค้งงอคล้ายเขากวาง เรียกว่า ขอกุด ห้องหัวท้ายบ้าน คือห้องสกัดทั้ง 2 ห้อง ซึ่งโดยปกติ บ้านแบบดั้งเดิม จะกั้นบ้านบริเวณหัวท้ายด้วยฝาขัดแตะออกเป็น 3 ห้อง คือ ห้องบริเวณหัวบ้านหรือนอกชานตอนขึ้นมาจากบันได ใช้เป็นที่สำหรับรับแขกผู้มาเยือน ห้องกลางเป็นห้องใหญ่ มีครัวไฟและเป็นที่อยู่อาศัย ห้องท้ายบ้านเป็นห้องท้ายสุด เรียกว่า "กว๊าน" ลดพื้นลงไปเล็กน้อย มีลักษณะโค้งมนทั้งฝาและหลังคา เหมือนกระโจม ห้องนี้ใช้เป็นห้องผีเรือน (หน้า 45-47) สำหรับฝาและพื้นบ้านเป็นไม้เนื้อแข็ง บางส่วนที่เป็นห้องโถงอาจใช้ไม้ตีเป็นตาราง มีช่องลม ทำให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทได้สะดวกและไม่ร้อนอบอ้าว (หน้า 55)

Demography

จากการศึกษาครัวเรือนลาวโซ่ง 303 ครัวเรือน พบว่า ครอบครัวลาวโซ่งส่วนใหญ่ไม่มีการคุมกำเนิด คิดเป็นร้อยละ 55 และคุมกำเนิด ร้อยละ 45 โดยใช้วิธีการทำหมันมากที่สุด คือ ร้อยละ 51.11 รองลงมาเป็นการรับประทานยาเม็ด ร้อยละ 28.89 นอกนั้นเป็นวิธีอื่น ๆ (หน้า 70)

Economy

ครอบครัวลาวโซ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ในจำนวนนี้ ร้อยละ 67.65 ทำนาปี ส่วนอีกประมาณ ร้อยละ 32.35 จะทำนามากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี เนื่องจากตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้แหล่งน้ำ รองลงมาได้แก่อาชีพเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่เลี้ยงได้แก่ หมู ไก่ วัว เป็ด และในปัจจุบันเริ่มนิยมเลี้ยงกุ้งมากขึ้น โดยเปลี่ยนจากนาข้าวมาเป็นบ่อกุ้ง โดยเฉพาะในบริเวณที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง จะซื้ออาหารที่เป็นวัตถุดิบ แล้วนำมาผสมเป็นอาหารสำเร็จ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ก็มีการทำไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไร่อ้อย และมีการทำสวนบ้าง โดยจะเป็นสวนพืชล้มลุก เช่น กุหลาบ กล้วยไม้ พืชผัก และสวนส้ม สำหรับอาชีพอื่น ๆ ก็ได้แก่ อาชีพรับจ้าง รับราชการ ค้าขาย และหัตถกรรม เป็นต้น เ นื่องจากอาชีพส่วนมากของครอบครัวลาวโซ่งที่ศึกษานี้คือการทำเกษตรกรรม ซึ่งมีช่วงเวลาที่ว่างจากงานหลัก ดังนั้น ลาวโซ่งจึงมีอาชีพรอง ซึ่งส่วนมากมักจะเลี้ยงสัตว์ สัตว์ที่เลี้ยง ก็ได้แก่ เป็ด ไก่ วัว กุ้ง และเลี้ยงไหม เป็นต้น และในบางครอบครัวที่มีอาชีพหลักคือการเลี้ยงสัตว์ รับจ้าง ค้าขาย และรับราชการ ก็มักมีอาชีพรองเป็นการทำนา ทำไร่ แต่จะทำในพื้นที่ที่ไม่มากนัก บางครอบครัวทำนาไว้เพื่อบริโภคตลอดปี (หน้า 74-76) แหล่งน้ำหลักที่ใช้ในการเกษตรกรรม ได้แก่ คลองชลประทาน รองลงมาคือ คลองธรรมชาติ ส่วนน้ำฝนนั้นเป็นแหล่งน้ำหลักของครอบครัวที่ทำไร่ (หน้า 86) ครอบครัวลาวโซ่งส่วนมากมีที่ดินเป็นของตัวเอง ร้อยละ 84.58 ต้องเช่าที่ดินร้อยละ 12.94 และอีกร้อยละ 2.48 ใช้ประโยชน์จากที่ดินของญาติพี่น้อง (หน้า 88) เกษตรกรลาวโซ่งส่วนใหญ่จะขายผลผลิตทันทีหลังจากเก็บเกี่ยวได้ในแต่ละฤดูกาล โดยแบ่งบางส่วนเก็บไว้ในยุ้งฉางเพื่อบริโภคในครอบครัว เมื่อต้องการใช้ ก็จะนำข้าวเปลือกไปจ้างสีเป็นข้าวสาร ในอัตราข้าวเปลือกถังละ 1 บาท มีบ้างบางครอบครัวที่มีฐานะดีและมียุ้งฉางขนาดใหญ่พอที่จะเก็บผลผลิตของตนไว้ เพื่อดูจังหวะและราคาของผลผลิตในช่วงที่มีราคาสูงจึงนำผลผลิตออกขาย ถึงแม้ว่าจำนวนโรงสีจะมีเพียง 1 ใน 3 ของหมู่บ้านทั้งหมด แต่ครอบครัวลาวโซ่งประมาณ 2 ใน 3 ขายผลผลิตให้กับโรงสี ซึ่งทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ราคาดี เพราะไม่ต้องผ่านคนกลาง ส่วนเกษตรอีกประมาณ 1 ใน 3 ขายผลผลิตให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น ซึ่งพ่อค้านั้นก็จะรวบรวมผลผลิตให้ได้จำนวนมาก แล้วจึงส่งให้พ่อค้าคนกลางหรือโรงงานแปรรูปอีกทีหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็น นอกจากนี้ก็ยังมีแห่งรับซื้อผลผลิตอื่น ๆ อีก เช่น หัวหน้าโควต้า รับซื้อผลผลิตจากผู้ที่ทำไร่อ้อยรายย่อย (หน้า 89-90) ในกลุ่มเกษตรกรที่ทำไร่ทำสวนมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในเรื่องการใช้ปุ๋ย การปรับปรุงพันธุ์พืช รวมทั้งการเปลี่ยนพืชที่ใช้ในการเพาะปลูก เมื่อเห็นว่าให้ผลประโยชน์ดีกว่า ทำให้ฐานะทางครอบครัวค่อนข้างดี เพราะไม่ปล่อยพื้นที่ให้ว่างเปล่า (หน้า 176)

Social Organization

ลักษณะครอบครัวลาวโซ่งเป็นครอบครัวขยาย (extended Family) มากกว่าครอบครัวเดี่ยว (Nuclear Family) ลักษณะครอบครัวของคู่แต่งงานในระยะแรกส่วนมากเป็นแบบ Matrilocal Residence คือคู่สมรสต้องไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิงระยะหนึ่ง หลังจากครบเวลาที่ได้ตกลงไว้แล้ว ก็จะแยกครอบครัวออกมาอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายชายอย่างถาวร ซึ่งเป็นแบบ Patrilocal Residence แต่ครอบครัวใหม่นี้อาจจะไปปลูกบ้านของตนเองอยู่เป็นอิสระต่างหาก ก็จะเป็นแบบที่เรียกว่า Neolocal Residence โดยคู่สามี -ภรรยาจะเลือกอยู่ใกล้กับฝ่ายใดก็ได้ แต่ส่วนมากมักอยู่ใกล้ฝ่ายชาย และหากฝ่ายชายเป็นลูกคนเดียวของครอบครัวก็จะนำภรรยาเข้าบ้านได้เลย ไม่ต้องกล่าวอาสาที่จะทำงานให้กับพ่อแม่ฝ่ายหญิง เช่นเดียวกัน ถ้าฝ่ายหญิงเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว ฝ่ายชายก็ต้องอาสาขาด คือไปอยู่กับพ่อแม่ฝ่ายหญิงตลอดชีวิต (หน้า 63-64) ลาวโซ่งอยากให้ลูกเป็นผู้ชายมากกว่าหญิง เพราะนับถือผีทางฝ่ายชาย ลูกชายเป็นผู้สืบผีบรรพบุรุษ และเลี้ยงผีบรรพบุรุษ (หน้า 66) พิธีการแต่งงานแบบโซ่งมี 4 ขั้นตอน คือ 1.ส่อง หมายถึงการหมั้น 2.สู่ หมายถึงการไปมาหาสู่ระยะการหมั้นเป็นระยะ ๆ 3.ส่ง คือวันแต่งงาน ซึ่งนิยมจัดงาน ในเดือนหก หรือเดือนคู่ 4. สา คือการที่เจ้าบ่าวอาสาจะอยู่ช่วยงานที่บ้านพ่อตาแม่ยายเป็นระยะเวลาหนึ่งตามแต่จะตกลงกัน (หน้า 138-140) ในบ้านของลาวโซ่งจะมีตู้กระจกสำหรับใส่เสื้อผ้าและเครื่องใช้ต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีหมอนทรงสี่เหลี่ยมใส่โชว์ไว้เพื่อแสดงความขยันของผู้หญิงที่อยู่ในบ้านนั้นๆ (หน้า 174) การจัดลำดับชั้นของลาวโซ่งแบ่งออกเป็น ชนชั้นผู้ท้าวกับชนชั้นผู้น้อย ลาวโซ่งทุกคนจะรู้ว่าตนเป็นชนชั้นใด แต่ความแตกต่างระหว่างชนสองชั้นนี้จะปรากฏในการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น คือชนชั้นผู้ท้าวและผู้น้อยจะไม่ปฏิบัติพิธีร่วมกัน การแบ่งชนชั้นเป็นไปตามชนชั้นของผู้เป็นพ่อ (หน้า 177)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

ลาวโซ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับผีและขวัญอย่างมาก โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ ซึ่งจะมีการเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปี หรือ 2-3 ครั้งต่อปี เรียกกันว่า พิธีเสนเรือน เพื่อขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองลูกหลาน โดยเชื่อว่า เมื่อจัดพิธีเสนเรือนแล้ว ผีเรือนจะมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ไม่อดอยากก็จะปกป้องคุ้มครองรักษาครอบครัวให้มีความสุข ความเจริญก้าวหน้า โดยสามารถทำพิธีเสนเรือนได้ทุกเดือน ยกเว้นเดือน 9, 10 และ 11 เพราะเชื่อกันว่า ในช่วงเวลานี้ ผีเรือนไปเฝ้าแถนหรอผีฟ้า ถ้าทำพิธีในช่วงนี้ก็จะไม่เกิดผลใด ๆ ผีเรือนไม่รับรู้ และโดยปกติแล้วมักนิยมทำพิธีในเดือนที่ว่างจากการทำนา คือประมาณเดือน 4 และเดือน 5 (หน้า 108-109) ก่อนที่จะเริ่มทำพิธีเชิญผีเรือนมารับเครื่องเซ่น หมอเสนจะต้องกล่าวชื่อผี 2 ตน คือนายอานกับนายเอน เพราะตามประวัติที่เชื่อสืบต่อกันมา บอกไว้ว่า มีผู้จะจัดทำพิธีเสนเรือน เมื่อฆ่าหมูแล้วนำไปล้างที่ลำธาร หัวหมูพลัดหายไปในลำธาร ไม่มีหัวหมูมาทำพิธี บังเอิญนายอานกับนายเอนไปทอดแห และได้หัวหมูนั้น เจ้าของหัวหมูจึงขอคืนเพื่อนำไปทำพิธีเสนเรือน นายอานกับนายเอนยอมคืนให้แต่มีข้อแม้ว่า เมื่อทำพิธีเสนเรือนครั้งใดจะต้องเอ่ยชื่อนายอานและนายเอนก่อนทุกครั้ง (หน้า 112) นอกจากพิธีเสนเรือนแล้ว ก็ยังมีการทำปัตตง คือการนำอาหารไปเซ่นในห้องผีเรือน เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษ การทำปัตตงมี 2 ประเภท คือ 1. การทำปัตตงเป็นประจำ ชนชั้นผู้ท้าวต้องทำปัตตงทุก ๆ 5 วัน ส่วนชนชั้นผู้น้อย ทำปัตตงทุก 10-15 วัน โดยเซ่นอาหาร 2 ครั้ง คือ เช้าและบ่าย เมื่อนำอาหารและเครื่องเซ่นไปวางไว้ในห้องผีเรือนได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็สามารถนำมารับประทานได้ 2. การทำปัตตงข้าวใหม่ ทำในเดือน 12 ข้างแรม หรือเดือนอ้ายข้างขึ้นของทุกๆ ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าว จึงต้องนำข้าวที่เก็บเกี่ยวมาใหม่นี้มาทำข้าวเม่า ข้าวราง รวมกับอาหารอื่น ๆ เซ่นผีเรือนในห้องผีเรือนก่อน แล้วจึงเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวในนา ทั้งนี้ก็เพื่อทดแทนบุญคุณ และเป็นศิริมงคลที่จะทำให้การทำนาได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น (หน้า 123) ในพิธีศพ ผู้ตายจะใส่เสื้อฮีโดยเอาด้านที่มีลวดลายสวยงามกว่า ออกด้านนอก เพราะเชื่อว่า ผู้ตายจะไปเฝ้าแถน จึงต้องแต่งตัวให้สวยงาม ที่คอเสื้อชั้นในจะเอาเหรียญบาทผูกติดไว้เพื่อเป็นเงินเปิดด่านนำไปใช้ในเมืองผี เรียกว่า "เงินจุกคนเสื้อ" (หน้า 146-147) ความเชื่อของลาวโซ่งในปัจจุบัน เป็นความเชื่อผสมผสานระหว่างความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณต่าง ๆ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม แบบลัทธิวิญญาณนิยม (Animism) กับความเชื่อในศาสนาพุทธ โดยความเชื่อแบบวิญญาณนิยมนี้มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติตนในการดำเนินชีวิตประจำวัน และลักษณะการผสมผสานทางความเชื่อนี้เป็นไปอย่างไม่ขัดแย้งกัน (หน้า 178)

Education and Socialization

ลาวโซ่งให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น มีผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเพิ่มมากขึ้นในทุกระดับชั้นการศึกษา คนที่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นลาวโซ่งที่มีฐานะดี เช่น พ่อค้า โดยมักส่งลูกหลานเรียนในสาขาวิชาครู ทหาร ตำรวจ เป็นต้น ส่วนครอบครัวที่มีฐานะไม่ดี มักให้บุตรหลานเรียนแค่การศึกษาภาคบังคับเท่านั้น แล้วให้ออกมาช่วยงานครอบครัว (หน้า 68)

Health and Medicine

ผู้ที่ป่วยไม่รุนแรงมากประมาณ ร้อยละ 78.10 จะไปรับการรักษาที่สถานีอนามัยตำบล ถ้าผู้ป่วยมีอารการรุนแรงจะไปรักษาที่โรงพยาบาลประจำอำเภอหรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด ส่วนการรักษาพยาบาลแบบอื่น ๆ เช่น ซื้อยามากินเอง รักษาทางไสยศาสตร์ ยาสมุนไพร มีเป็นจำนวนไม่มากนัก เพราะมีสถานีอนามัยตั้งอยู่ในย่านชุมชนของตำบล (หน้า 70-71) แต่เมื่อรักษาด้วยแพทย์แล้วยังไม่หายป่วย คนในครอบครัวก็จะไปหา "หมอเยื้อง" (ผู้ทำพิธีเสี่ยงทายว่าผีตนใดทำให้เจ็บป่วย) ให้ดูว่าเจ็บป่วยเพราะสาเหตุใด เมื่อทราบสาเหตุแล้วก็ต้องไปให้ "มด" (ผู้ทำหน้าที่ปัดรังควาญ สะเดาะเคราะห์ ต่ออายุ รักษาโรค) ทำพิธีตามขวัญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว โดยการนำเสื้อของผู้ป่วย เหล้า เงิน 20 บาท และบอกชื่อ สิง (นามสกุลแบบโซ่ง) ของผู้ป่วย มดจะนำสิ่งของทั้งหมดไปไว้บนหิ้งผีมด และก่อนเข้านอน มดจะบอกชื่อสิง เพศ อายุ ของผู้ป่วย และขอให้ผีมดตามหาขวัญของผู้ป่วย และในคืนนั้น มดจะฝันว่า ผีมดได้พานางไปตามหาขวัญของผู้ป่วย ในการฝันนี้จะใช้เวลา 3 คืน ถ้าเกิน 3 คืน ยังไม่พบขวัญของผู้ป่วย แสดงว่าผู้ป่วยนั้นต้องตาย ดังนั้นเมื่อครบ 3 คืน ญาติผู้ป่วยจะมาถามมดว่าพบขวัญหรือไม่ มดต้อง ให้ฟังตามความจริง แล้วคืนเสื้อของผู้ป่วยให้ญาตินำกลับไป (หน้า 125) แต่ถ้าหมอเยื้องบอกว่า ถูกผีมดกระทำ เนื่องจากต้องการที่จะมาอยู่ด้วย ก็จะต้องให้ผู้นั้นทำพิธีรับผีมด เรียกว่า "เสนหับมด" หรือ "พิธีเสนรับผีมด" โดยจะทำในเดือนใดก็ได้ยกเว้นเดือน 9, 10 และ 11 โดยมีหมอเสนผู้ชายเป็นผู้ทำพิธี บ้านใดที่ทำพิธีเสนหับมด จะต้องทำหิ้งสี่เหลี่ยมกว้างศอกยาวศอกไว้ตรงหัวนอนของผู้ป่วย แล้วเชิญผีมดขึ้นมาอยู่บนหิ้ง โดยมีเครื่องเซ่น ได้แก่ เหล้า หมาก พลู เป็นต้น หลังจากผีมดไปอยู่บนหิ้งแล้ว แสดงว่าบ้านนั้นมีผีมด ลาวโซ่งเชื่อว่า ผีมดเป็นผีครู ผู้รับผีมดมีสิทธิ์ฝึกฝนการเป็นหมอมดเพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ ได้ เพราะเท่ากับว่าผู้ป่วยนั้นได้เป็นผู้สืบเชื้อสายมด ต่อไป โดยจะต้องนำอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม ไปวางไว้บนหิ้งผีมด และก่อนจะไปทำพิธีที่ใดก็ต้องเซ่นเหล้าผีมด หรือผีครูก่อน ทุกครั้ง (หน้า 130)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

หัตถกรรมพื้นบ้านของลาวโซ่งส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ไผ่ หวาย ไม้สัก ใบตาล เป็นต้น เครื่องใช้ที่เป็นหัตถกรรมที่สำคัญ ดังนี้ - ปาน เป็นภาชนะที่ใช้ใส่เครื่องเซ่นในพิธีกรรมต่าง ๆ สานด้วยไม้ไผ่จักตอกแบบแบนหรือหวาย ขัดเป็นตารูปห้าเหลี่ยมโปร่ง และสานลายทึบสลับกันเป็นทรงกระบอกสูงประมาณ 30 ซ.ม. ส่วนมากมีขนาดใหญ่ เพราะจะได้ใส่เครื่องเซ่นทั้งคาวและหวานได้หมด ปานดังกล่าวถ้าใช้ในพิธีเสนเรือน เรียกว่า ปานเผื่อน ถ้าใช้ในพิธีเสนต่างๆ เรียกว่า ปานเสน และถ้าใช้ในพิธีเรียกขวัญหรือแต่งงาน เรียกว่า ปานขวัญ, ซ้าไก่ไถ่ เป็นตะกร้าขนาดใหญ่ สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายเข่ง มีสองหู ตาห่าง โปร่ง ใช้สำหรับใส่ไก่ ต้นกล้วย รวมทั้งเครื่องเซ่นอื่น ๆ ในพิธีเสนสะเดาะเคราะห์ต่ออายุผู้ป่วย เป็นต้น - ตาเหลวหรือเฉลว เป็นเครื่องสานทำด้วยไม้ไผ่สานหยาบ ๆ เป็นรูปห้าเหลี่ยมหรือหกเหลี่ยมมีที่ปัก ใช้ปักพื้นบริเวณสี่มุมบ้านเพื่อกันไม่ให้ผีอื่นเข้ามาในบ้านในขณะทำพิธีเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ - กะเหลบ เป็นภาชนะของใช้เอนกประสงค์ ทำด้วยไม้ไผ่และหวายสานเป็นลวดลายขัดไปมา มีลักษณะคล้ายโอ่งน้ำ ปากกลมเป็นกระพุ้ง ถักขอบปากด้วยหวาย ตอนกลางสอบให้เล็กลง และที่ส่วนก้นของกะเหลบเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก มีเชือกร้อยหูกะเหลบสำหรับใส่สะพาย - กะแอบหรือแอบข้าว เป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วสำหรับเป็นอาหารกลางวัน เมื่อออกไปทำงานนอกบ้าน เพราะสะดวกในการนำติดตัวและทำให้ข้าวเหนียวอุ่นอยู่เป็นเวลานาน สมัยก่อน "แอบข้าว" นั้นทำด้วยไม้เนื้อแข็ง โดยขุดจนเป็นรูปทรง มีฝาปิดและมีหูสำหรับร้อยเชือก ปัจจุบัน "แอบข้าว" จะสานด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะเป็นทรงกระบอกปากกลม ก้นสี่เหลียม และมีไม้ต่อเป็นขาคล้ายรูปกากบาท มีฝาครอบและมีหูสำหรับร้อยเชือกเพื่อใช้สำหรับสะพาย - "โห้" เป็นภาชนะที่มีลักษณะเป็นทรงกลมสูง สานด้วยไม้ไผ่ ขอบตอนบนและล่างแข็ง ด้านบนสานเป็นแอ่งคล้ายถาดขอบสูง ใช้สำหรับใส่เครื่องมือเย็บปักถักร้อยของหญิงโซ่ง - ซ้าหลอดหรือตะกร้าหลอด เป็นตะกร้าประจำตัวของหญิงโซ่ง เพื่อใส่หลอดด้ายสำหรับเตรียมทอผ้า ทำด้วยไม้ไผ่จักตอกเป็นเส้นสานเป็นรูปทรงรี ปานบานออก ส่วนก้นสอบเข้าเป็นรูปหกเหลี่ยมรี ใช้หวายเสริมฐานให้สูงขึ้น ด้านบนมีหูทำด้วยหวาย 6 เส้นมัดรวมกันเป็นที่สำหรับถือ (หน้า 156-159) เสื้อผ้า : ผู้ชาย - สวมเสื้อผ้าฝ้ายคอตั้งแขนยาวสีดำ ติดกระดุมเงินกลมยอดแหลมมีลวดลายคล้ายดอกบัว ประมาณ 10-15 เม็ด ตัวเสื้อเย็บเข้ารูปและสั้นกว่าเสื้อฮี ด้านข้างของเสื้อตอนปลายทั้ง 2 ด้าน เรียกว่า "เสื้อซอน" ส่วนกางเกงเป็นกางเกงขาสั้นสีดำหรือครามแก่ ปลายแคบยาวปิดเข่า เรียกว่า "ส้วงก้อม" และใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว - ผู้หญิง : ในชีวิตประจำวัน สวมเสื้อคล้ายเสื้อซอนแต่ไม่มีรอยผ่าที่ชายด้านของของเสื้อ แขนกระบอก เรียกว่า "เสื้อก้อม" และนุ่งผ้าซิ่นสีคราแก่มีลายทางสีขาวสลับ เรียกว่า ผ้าทอลายแตงโม ที่เชิงซิ่นติดตีนซิ่นลายขวาง กว้างประมาณ 2 นิ้ว ส่วนตอนบนของผ้าซิ่นใช้ผ้าดำไม่มีลาย กว้างประมาณ 12 นิ้ว เย็บติดกับตัวซิ่น เวลานุ่งจะพับมาทบกันตรงกลางแล้วขมวดไว้ตรงหน้าท้อง ดึงซิ่นด้านหน้าให้สูงกว่าด้านหลังเพื่อความสะดวกในการเดิน สำหรับหญิงโซ่งที่มีอายุมาก เวลาอยู่บ้านนิยมใช้ผ้าคาดอก เรียกว่า "ผ้าเบี่ยว" เป็นผ้าฝ้ายสีครามแก่หรือดำกว้างประมาณ 6-10 นิ้ว ยาวประมาณ 1 เมตร ปลายผ้าด้านหนึ่งปักลวดลายแบบโซ่ง เป็นลายคล้ายกับเสื้อฮี และในงานพิธีกรรมต่าง ๆ ลาวโซ่งจะแต่งกายด้วย "เสื้อฮี" ถ้าเป็นงานมงคล จะต้องใส่เสื้อฮีโดยเอาด้านที่ไม่ค่อยสวยงามออกด้านนอก ส่วนด้านที่มีลวดลายสวยงามจะใส่ออกข้างนอกก็ต่อเมื่อไปในพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับความตาย - เสื้อฮีของผู้ชาย : ทำด้วยผ้าฝ้ายสีดำ เป็นเสื้อคอกลมแขนกระบอกเข้ารูปยาวคลุมสะโพกผ่าหน้าตลอด มีกระดุมไว้คล้อง 1 เม็ด กุ๊นรอบคอด้วยผ้าไหมสีแดงแล้วเดินเส้นด้วยไหมสีอื่นทับให้สวยงาม ที่บริเวณแขนมีการปักตกแต่งตรงรักแร้และท้องแขนถึงชายเสื้อด้วยเศษผ้า ไหม ด้ายสีต่าง ๆ และกระจก - เสื้อฮีของผู้หญิง : เป็นเสื้อแขนสามส่วนคอตั้ง ด้านหน้าทำเป็นคอแหลม บริเวณรอยตะเข็บเสื้อทุกแห่งทั้งด้านในและด้านในประดับด้วยผ้าไหมและด้ายสีต่างๆ แต่ด้านที่มีลวดลายจะปักและตกแต่งลวดลายบริเวณชายเสื้อ ในเรื่องของทรงผม ผู้ชายจะตัดทรงดอกกระทุ่มหรือทรงสูง ส่วนผู้หญิงก็เริ่มไว้ผมยาว ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามวัย คือ 1. อายุ 13 - 14 ปี ไว้ผมยาวประมาณไหล่ เรียกว่า ทรง "เอื้อมไหล่หรือเอื้อมไร" 2. อายุ 14 - 15 ปี รวบผมแล้วพับปลายม้วนเข้าแล้วสับหวีไว้ที่ท้ายทอย เรียกว่า "สับปิ่น" และอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า ทรง "จุกผม" โดยทำผมเป็นกระบังไว้ข้างหน้า ด้านหลังไว้เปีย 3. อายุ 16 - 17 ปี รวบผมไว้ข้างหลังแล้วผูกเป็นปม ปล่อยชายผมลงมาข้างหน้า เรียกว่า ทรง "ขอดกระตอก" 4. อายุ 17 - 18 ปี ผูกผมเป็นเงื่อนตายทำผมเป็นโบว์ทั้งสองข้าง เอาชายไว้ทางด้านซ้าย เรียกว่า ทรง "ขอดซอย" 5. อายุ 19 - 20 ปี ผูกผมเหมือนเนคไทและมีชายผมยาวออกมาทางด้านขวา เรียกว่า ทรง "ปั้นเกล้าซอย" 6. อายุ 20 ปีขึ้นไป ต้องม้วนผมให้เป็นลอนใหญ่ข้างหน้า ผมด้านหลังที่เหลือ รวบแล้วม้วนตลบไว้กึ่งกลางศีรษะ ชายผมสอดเข้าไว้ข้างในไม่ต้องเหลือชาย แล้วใช้ไม้ขัดไว้ไม่ให้ผมหลุด เรียกว่า ทรง "ปั้นเกล้าหรือปั้นเกล้าถ้วน" (หน้า 96-99) สำหรับการแต่งกายในงานศพ พวกญาติที่ถือผีเดียวกันต้องใส่เสื้อฮีโดยเอาด้านที่มีลวดลายสวยงามออกด้านนอก ลูกชายและลูกสาวต้องใส่เสื้อผ้าสีขาวและโพกหัว สำหรับลูกชายคนโตต้องโกนศีรษะด้วย ส่วนภรรยาผู้ตายต้องเลาะตีนซิ่นออกและเปลี่ยนทรงผมจากปั้นเกล้า เป็นปั้นเกล้าตก (หน้า 145) มุ้งของโซ่งในอดีตนั้นจะทำด้วยฝ้ายสีดำ ตกแต่งชายมุ้งด้วยลวดลายต่างๆ เช่นเดียวกับเสื้อฮี ประดับกระจกสี (หน้า 140) ผ้าที่ใช้ทอส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้ายย้อมสีดำหรือน้ำเงิน ทอเป็นผืนสำหรับตัดเสื้อ กางเกง และของใช้อื่น ๆ ส่วนผ้าซิ่นของผู้หญิงจะทอเป็นพื้นสีดำสลับทางสีขาว เรียกว่า ผ้าทอลายแตงโม (หน้า 159)

Folklore

การเล่นคอนเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของลาวโซ่ง การเล่นแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย แต่ละฝ่ายจะมีลูกคอนฝ่ายละ 10-15 ลูก ให้ผู้เล่นแต่ละฝ่ายยืนห่างกันประมาณ 20 เมตร โดยยืนหันหน้าเข้าหากัน แล้วก็โยนลูกคอนไป-มา กติกาในการเล่นนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน ส่วนมากแล้วชายใดที่ปรารถนาหญิงสาวใดก็จะโยนลูกคอนไปที่สาวนั้น การเล่นคอนนี้มีทั้งเล่นในหมู่บ้านเดียวกัน และพากันไปเล่นที่หมู่บ้านอื่น ที่เรียกว่า การเล่นคอนค้าง หลังจากเล่นคอนในตอนกลางวันแล้ว ช่วงกลางคืนก็จะมีการเล่นแคน โดยฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะยืนเรียงแถวกัน เมื่อหมอแคนเริ่มบรรเลงเพลง ฝ่ายชายก็จะเข้ามาขอฝ่ายหญิงรำ รำกันเป็นคู่ ๆ จากนั้นก็จะมีพ่อขับแม่ขับ ร้องเพลงโต้ตอบกัน การเล่นแคนนี้อาจจะเล่นจนถึงเที่ยงคืนแล้วจะมีการรับประทานอาหารตามประเพณีแล้วอาจจะมีการเล่นแคนต่อหรือเลิกเล่นก็ได้ (หน้า 168-169)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไม่มีข้อมูล

Social Cultural and Identity Change

ลาวโซ่งที่สามารถอ่านและเขียนภาษาลาวโซ่งได้ ส่วนมากจะเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ส่วนเด็กหนุ่มสาวลาวโซ่งรุ่นใหม่จะพูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้คล่องเหมือนคนไทยทั่วไป แต่ไม่สามารถอ่านและเขียนภาษาลาวโซ่งได้ เพียงแต่ยังพูดภาษาลาวโซ่งได้เท่านั้น (หน้า 69) ส่วนประเพณีของลาวโซ่งก็มีการนำประเพณีแบบไทยหรือพิธีในพุทธศาสนาเข้าไปผสมผสาน (หน้า 141)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Text Analyst ชมพรรณ จันทิมา Date of Report 05 พ.ย. 2555
TAG ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง ผู้ลาว โซ่ง ไตดำ, เศรษฐกิจ, การตั้งถิ่นฐาน, นครปฐม, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง