สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject คะแมร์ลือ,ลาว, กูย กวย(ส่วย), ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, วัฒนธรรม, ลุ่มแม่น้ำมูล, สุรินทร์
Author เจริญ ไวรวัจนกุล และคณะ, ไพทูรย์ มีกุศล, ชื่น ศรีสวัสดิ์, สะอาด ทุนภิรมย์, สุเมธ คงสวัสดิ์, นิคม วงเวียน, เครือจิต ศรีบุญนาค
Title วัฒนธรรมลุ่มน้ำมูล : กรณี เขมร ลาว ส่วย จังหวัดสุรินทร์
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ขแมร์ลือ คะแมร คนไทยเชื้อสายเขมร เขมรถิ่นไทย, กูย กุย กวย โกย โก็ย, Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 285 Year 2533
Source ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสุรินทร์
Abstract

การศึกษานี้ รวบรวมงานวิชาการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกันทางวัฒนธรรมเขตลุ่มแม่น้ำมูล โดยเป็นกรณีศึกษาเฉพาะวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ เขมร, ลาว, ส่วย รวมทั้ง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์  ได้รวบรวมรายงานการวิจัยย่อย  5 เรื่อง เป็นประเภทบทความ 2 เรื่อง และ รายงานการสำรวจ 1 เรื่อง ลุ่มแม่น้ำมูล เป็นแหล่งน้ำสำคัญทางเกษตรกรรมของพื้นที่อีสานตอนใต้ ทั้งยังเป็นแหล่งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม โบราณคดี ที่สืบทอดจากอารยธรรมฟูนัน และขอมโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก (หน้า 34) จากรายงานการวิจัย “การสำรวจวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล โครงสร้าง และ ภาวการณ์รับรู้” (หน้า1-118) พบว่า ภาวะการรับรู้ข้อมูลวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล ของ นักศึกษาปริญญาตรี ที่ทำแบบทดสอบก่อนเรียน และ กลุ่ม นักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 , ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ปีที่ 6  ในสถานศึกษา จังหวัดสุรินทร์ อยู่ในระดับต่ำ  (หน้า 113-116) .ในส่วนของผลการวิจัย “วัฒนธรรมแม่น้ำมูลเชิงชาติพันธุ์วิทยา และประวัติศาสตร์กรณีผสมกลมกลืนของกลุ่งชาติพันธุ์ กวย เขมร และ ลาว”  (หน้า 119-125)  พบว่า ชุมชนกูย เป็นชุมชนที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมอย่างเหนียวแน่น ประชากร ในเขตอีสานใต้ ที่ในอดีตเรียกว่า “หัวเมืองเขมรป่าดง” ซึ่งมี ประชากรกลุ่มที่พูดภาษา เขมร, ภาษา กวย (กูย) และ ภาษาไทยอีสาน (ไทยลาว) แม้ว่าไทยอีสานจะมีรกรากในพื้นที่แถบนี้มาก่อน แต่ในสมัยธนบุรี เป็นต้นมา มีการรวมหัวเมืองตามกลุ่มวัฒนธรรม จนเกิดการผสมกลมกลืน (Assimilation)  จนปัจจุบัน มาอยู่ใต้แนวคิดของ รัฐชาติ  (หน้า 124) นอกจากนี้การศึกษา “วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างของชาวไทย-กูย (ส่วย) ในจังหวัดสุรินทร์ “ (หน้า126-156) เห็นได้ว่าการให้ความสำคัญต่อ ช้าง ไม่เพียงด้านเศรษฐกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเท่านั้น (หน้า 154-155) ยังเกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องต่างๆอีกด้วย แม้ว่าความเชื่อบางส่วนมีแนวคิดจากพุทธศาสนา แต่ความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ก็ยังมีบทบาทต่อสภาพชุมชนที่ต้องอยู่รอดในภาวะที่ยากแค้นและอยู่ห่างไกล  (หน้า 195-196) ซึ่งเป็นการศึกษาใน “บทวิเคราะห์วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อของชาวส่วย”  (หน้า181-197) ในกรณีความเชื่อของ ไทยเชื้อสายเขมร ที่บ้านพลวง ก็เช่นกัน ที่มีแนวทางปฏิบัติครอบคลุมทุกด้านในวิถีชีวิตประจำวัน เช่น ข้อปฏิบัติ และลักษณะบุคคล, โหราศาสตร์, สุขภาพ ยารักษาโรค, เหตุการณ์ธรรมชาติ เป็นต้น  ดังที่ปรากฏในการศึกษา “ความเชื่อของชาวไทย เขมร ศึกษากรณีบ้านพลวง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์” (หน้า 162-180)   และ เมื่อนำความเชื่อ มาปรับใช้กับปัญหาความเจ็บป่วย จากการศึกษา  “ความเชื่อกับการฟ้อนรำของลาว ส่วย เขมร ในเขตจังหวัดสุรินทร์” (หน้า 198-201)  แสดงถึงการเชื่อมโยงความเชื่อ และ ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อการดำเนินชีวิต                การศึกษา “วัฒนธรรมการทำงานของชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศึกษากรณีบ้านพะวร อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ”  (หน้า157-161) แสดงให้เห็นโครงสร้างทางสังคมในชนบท ที่เป็นสังคมเกษตรกรรม โดยที่ความเชื่อพื้นฐานนั้นเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลต่อการทำงาน บทบาทหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว และชุมชน  (หน้า 159-161) รายงานการสำรวจสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ในเขตจังหวัดสุรินทร์ (หน้า 202-286) มรดกอารยธรรมโบราณ ได้แก่ปราสาท หลายแห่ง ที่ปรากฏจากการสำรวจพบว่าปัญหาทางกายภาพ ที่เกิดจากความชื้น และรากไม้วัชพืช ที่ขึ้นปกคลุมอาคาร การขาดการดูแล ประกอบกับ มีการบุกรุกเขตโบราณสถานเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดทัศนะอุจาด (eye sore) เป็นผลสืบเนื่องจากความไม่มีความรู้ และ เข้าใจ ใน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น สอดคล้องกับการวิจัยในเรื่องภาวการณ์รับรู้ข้างต้น(หน้า 113-116)  ด้วยเหตุที่โบราณสถานต่างนอกจากจะเกี่ยวพันกันทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังแฝงไว้ด้วยตำนาน และเรื่องราวของท้องถิ่น ที่จำเป็นต้องส่งเสริมความรู้ดังกล่าวให้กับคนรุ่นต่อๆไป (หน้า 284-285)

Focus

การดำรงชีวิต,วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ของชุมชน ส่วย(กูย)  ลาว เขมร ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และบางพื้นที่ ของจังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งมีการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างชาติพันธุ์ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

Theoretical Issues

ไม่ปรากฏ

Ethnic Group in the Focus

ไทยเชื้อสาย เขมร,  ลาว (ไทยอีสาน),  ส่วย (กูย) (หน้า 119)

Language and Linguistic Affiliations

“เขมรอีสาน” (การพัฒนาของภาษาเขมรในจังหวัดสุรินทร์),  ลาว (ไทยอีสาน),  ส่วย  (กูย) ภาษาในตระกูล มอญ-เขมร  (หน้า 198 ,224)

Study Period (Data Collection)

ในระหว่างปี พ.ศ.  2531 (หน้า 113) และในระหว่างปี พ.ศ. 2533 (หน้า 126, 213 )

History of the Group and Community

รากฐานของวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล นั้นผสมผสานจากวัฒนธรรม จำปาศักดิ์ วัฒนธรรมอัตปือแสนปาง และ วัฒนธรรมนครวัด วัฒนธรรมจำปาศักดิ์ มีนครจำปาศักดิ์ ซึ่งสันนิษฐานกันว่า มีศูนย์กลางที่ ปราสาทวัดภู ทางตอนใต้ ของประเทศลาว ราวก่อน พ.ศ. 987 ได้มีกษัตริย์ขอม กลุ่มของ แขกจาม และ ลาวส่วยได้สร้างเมืองขึ้นที่ กาลจำบากนาคบุรีศรี  เมื่อเกิดกบฏที่นครเวียงจันทน์ ทายาทเชื้อสายพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช กษัตริย์นครเวียงจันทน์  โดยการนำของราชครูหลวงโพนสะเม็ก หนีมาตั้งเมืองใหม่ ที่เมืองกาลจำบากนาคบุรีศรี  (หน้า 58)   เมื่อเกิดอาณาจักรขอม ขอมได้เข้าช่วงชิงพื้นที่จากอาณาจักรฟูนันทางตอนใต้ ได้รับวัฒนธรรมเชิงคตินิยม  ศาสนา มาจากฮินดูพราหมณ์ของอินเดีย  (หน้า 59) ในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ลาวได้มีการแยกตัวกันออกเป็นรัฐอิสระ คือ หลวงพระบาง, เวียงจันทน์, จำปาศักดิ์ (หน้า 69)
การนี้ทำให้นโยบายอยู่ร่วมกัน ของอัตปือแสนปาง กับ จำปาศักดิ์  จำปาศักดิ์ต้องคอยป้องกันการรุกรานจากทางเหนือ แต่ส่วยอัตปือนั้น เบื่อหน่ายสงคราม ไม่สามารถ ที่จะทนต่อการต้องหาช้าง ส่งกองทัพจำปาศักดิ์ เพื่อใช้ในสงคราม เกิดความขัดแย้งและถูกดูแคลนโดยประชากรลาวของจำปาศักดิ์ ที่เรียก ส่วย ว่า “ข่า” คำนี้สันนิษฐานว่ามาจากการกร่อนคำว่า “ขี่ข่า” ส่วย จึงต้องอพยพมาอีกฝากของแม่น้ำโขง (หน้า 70)  วัฒนธรรมนครวัดสืบทอดมาจากวัฒนธรรมพราหมณ์ฮินดูในช่วงแรก และผสานเข้ากับ วัฒนธรรมพุทธศาสนาจากอินเดียตอนเหนือ ในช่วงหลัง (หน้า 71)
ความเป็นพราหมณ์ ต้องการสืบทอด ไปสู่รุ่นต่อๆไป ไม่นิยมการแสดงออกโดยตรง ที่จะให้ชนพื้นเมืองเข้ามาในระบบความเชื่อของตน จึงได้อาศัย เทพเจ้าที่ตนนับถือ แสดงเป็นสัญลักษณ์ที่มีอำนาจเหนือ ภูตผี ที่ชนพื้นเมืองนับถืออยู่ เห็นได้จาก ทับหลังปราสาท ที่สลัก เทพเจ้าที่ประทับเหนือเกียรติมุข  (หน้า 73-75)  จากการทำสงครามกับกองทัพอยุธยา ได้มีเขมร อพยพเข้ามาทางตอนใต้ลุ่มแม่น้ำมูล ทำให้มีการสันนิษฐานว่า ขอม อาจจะมีเค้าจากคำว่า “กรอม” หรือ ขแมร์กรอม คือ เขมรต่ำ หรือ เขมรป่าดง(หน้า 79)  ประวัติศาสตร์ในประเด็นของวัฒนธรรมนี้ได้มาเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมของชนกลุ่มต่างๆในลุ่มแม่น้ำมูลโดยเฉพาะจังหวัดสุรินทร์ได้รับการสันนิษฐานจากนักประวัติศาสตร์ว่า พื้นที่อันเป็นที่ตั้งเมืองมีชุมชนอาศัยอยู่ย้อนไปถึง สมัยอณาจักรเจนละ (พุทธศตวรรษที่ 12),  สมัยอารยธรรม ทวาราวดี  ราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 และ สมัยอารยธรรมขอม (หน้า 220) จนกระทั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พ.ศ. 2260 ชาวพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกตัวเองว่า ส่วย หรือ กูย ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบเมืองอัตปือแสนปาง แคว้นจำปาศักดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนของไทย ได้พากันอพยพ โดยได้แยกย้ายกันไปตั้งชุมชนต่าง รวม 6 ชุมชน ในเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ปัจจุบัน ได้แก่ บ้านเมืองที (ตำบลเมืองที อำเภอเมือง ), บ้านโคกเตา (กุดหวาย)  (อำเภอรัตนบุรี), บ้านเมืองเลิง (อำเภอจอมพระ) บ้านอัจจะประนึ่ง หรือโคกยาง (อำเภอสังขะ) , บ้านกุดปะไท (อำเภอศีขรภูมิ) และ บ้านโคกลำดวน (อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ)  (หน้า 218) ชุมชนทั้งหมดนี้ขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย (หน้า 219) เนื่องจากมีบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น หลวงสุรินทร์ภักดี หรือ เชียงปุม หัวหน้าหมู่บ้านเมืองที ย้ายหมู่บ้านจากบ้านเมืองที มาตั้งอยู่ที่บริเวณคูประทายบริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสุรินทร์ในปัจจุบันนี้ (หน้า 218) ในสมัยกรุงธนบุรี ได้ยกบ้านคูประทายสมันต์เป็นเมือง และเลื่อนบรรดาศักดิ์หลวงสุรินทร์ภักดีเป็น พระยาสุรินทรภักดีณรงค์จางวาง ให้เป็นเจ้าปกครอง ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองประทายสมันต์เป็น เมืองสุรินทร์ตามสร้อยบรรดาศักดิ์เจ้าเมือง เมือสุรินทร์มี เจ้าเมืองปกครองสืบเชื้อสายกันมารวม 11 คน (หน้า 220) จากนั้นได้มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยส่งข้าหลวงมาประจำจังหวัด ต่อมาเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รวมระยะเวลา ตั้งเมืองสุรินทร์ จนมาเป็นจังหวัด ( พ.ศ. 2306-2533) นับรวมเวลาได้ 227 ปี (หน้า 220)

Settlement Pattern

ในการศึกษาพื้นที่เชิงวัฒนธรรม ของจังหวัดสุรินทร์ แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนโบราณถึง 88 แห่ง พื้นที่ผังตัวเมืองเดิมมีลักษณะเป็นรูปวงรี  มีกำแพงเมืองเก่า และคูน้ำ 2 ชั้นล้อมรอบเมือง สำหรับทางทิศตะวันตก มีกำแพงดินถึง 3 ชั้น (หน้า 216,221) จากการสำรวจทางโบราณคดี สองครั้ง ระหว่าง พ.ศ. 2503-2504 และ พ.ศ. 2517 พบโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปะขอม กระจัดกระจายอยู่ในอำเภอต่างๆ มากกว่า26 แห่ง  ต่อมาพบเพิ่มอีก เป็น 33 แห่ง และมีแหล่งเตาเผา 1 แห่ง  (หน้า 216 ) พื้นที่ บ้านพะวร  หมู่ที่ 2 ตำบลแสนไชย อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนในกรณีศึกษาเกี่ยวกับชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีอายุชุมชนประมาณ 120 ปี  พื้นที่ทำนา 1,930 ไร่  พื้นที่บ้านและสวน 85 ไร่  มีหนองน้ำสาธารณะ 4 แห่ง  บ่อบาดาล 6 บ่อ  บ่อดิน (บ่อน้ำตื้น)  3 บ่อ (หน้า 157)

Demography

โครงสร้างประชากร ในวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล บริเวณพื้นที่จังหวัด นครราชสีมา และ บุรีรัมย์ ตะวันตก มีประชากรไม่น้อยกว่า  1 ล้านคน ตอนเหนือ จังหวัดบุรีรัมย์ เลียบไปตามลำน้ำมูล ทางตอนเหนือของจังหวัดสุรินทร์ และ ศรีสะเกษ จนถึงอุบลราชธานี มีประชากรไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน (หน้า 79-80 ) ประชากรกลุ่มวัฒนธรรมสายนครวัด เป็นประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ของประชากรจังหวัดสุรินทร์ 
        กรณีศึกษา บ้านพะวร  อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ มี   ประชากร 1,516  คน 209 ครอบครัว ครอบครัวขยาย 158  ครอบครัว, ครอบครัวเดี่ยว 51  ครอบครัว สมาชิกแต่ละครอบครัวเฉลี่ยประมาณ 7-8  คน (หน้า  157 )
ส่วย (กูย) เป็นกลุ่มชนที่พูดภาษาในตระกูล มอญ-เขมร  กูยมีเลือดผสมระหว่าง แวดคิด (Veddid) กับพวกมาลาเนเชี่ยน (Melanasian) หน้าตาคล้ายพวกเซมัง (พวกเงาะ)  ผมหยิกผิวคล้ำ จมูกบาน ริมฝีปากหนา กลุ่มคนไทยในลาว เรียก กูย ว่า “ข่า” ส่วน ไทยในภาคเหนือเรียกว่า “ละว้า”   มีลักษณะทางชาติพันธุ์ใกล้เคียงกับ ชนกลุ่มน้อยในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ซึ่งพูดภาษามุณฑ์  (Munda)       (หน้า 127 )

Economy

ช้างเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ในชุมชน ส่วย (กูย) ช้างเป็นเครื่องแสดงสถานะภาพทางสังคม  (หน้า 151)  การคล้องช้าง ตั้งแต่โบราณมีด้วยกัน 3 วิธีคือ  วังช้าง เป็นการทำคอกขนาดใหญ่เพื่อจับช้างทั้งโขลงในคราวเดียว  การคล้องช้าง คือทำเพนียดทั้งโขลงแล้วเลือกคล้องเฉพาะแต่ช้างที่ต้องการ ที่เหลือ ก็จะปล่อยไป วิธีสุดท้าย การโพนช้าง คือ การจับช้างโดยหมอช้าง โดยใช้ช้างต่อไล่คล้องช้างป่า ด้วยเชือกปะกำ  (หน้า 137) ส่วย (กูย)ได้พึ่งพาช้างในเชิงเศรษฐกิจอย่างมาก ตั้งแต่การคล้องช้างป่าเพื่อนำมาขายเพื่อใช้แรงงาน ราคาช้าง ประมาณ 70 ปีก่อน อยู่ที่เชือกละ 1-2 ชั่ง ในปัจจุบัน ช้าง 1 เชือก ราคาประมาณ100,000 - 130,000 บาท ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้งานในแถบจังหวัด เพชรบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ   (หน้า 148 ) นอกจากนี้ ช้างยังสามารถแสดงโชว์ และ นำไปให้เช่า ขี่ท่องเที่ยว หรือ เข้าร่วมขบวนแห่ต่างๆ ตลอดจนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากช้าง ได้แก่ งาช้าง ขนช้าง และน้ำมันช้าง ก็สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้กับผู้เลี้ยงช้าง ดังนั้นในสังคมกูย  ผู้มีช้างย่อมมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า คนอาชีพอื่นๆ  (หน้า 149 )
สำหรับปัญหาทางเศรษฐกิจ ของชุมชนบ้านพะวร ได้แก่ เรื่องรายได้ และ การมีงานทำ โดยคนในชุมชนมีรายได้จากการทำนา เพียงอย่างเดียว รายได้เสริมจากการรับจ้างนั้นได้รับน้อยมาก ผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อไร่เป็นการทำนาที่อาศัยน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัว ประมาณ 9,545 บาทต่อปี เฉลี่ยคนละ 1,363 บาท ต่อปี ซึ่งต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของคนในประเทศ  (หน้า 158 )

Social Organization

พระสงฆ์นั้นได้รับความเคารพจากชุมชน รูปใดเป็นที่เคารพศรัทธามาก โดยจะต้องรับการสรงน้ำในพิธีบุญบั้งไฟมากกว่า 2 ครั้ง พระรูปนั้นจะได้คำนำหน้าว่า “ยาครู” ส่วนพระที่ผ่านการสรงน้ำในพิธีดังกล่าวเพียงครั้งเดียวจะเรียกว่า ”ยาซา” เมื่อลาสิกขาแล้ว จะมีคำนำหน้าว่า “จารย์ซา” สำหรับยาครู หากลาสิกขา จะเรียกว่า “จารย์ครู” (หน้า 107)โดยทั่วไปกูย เป็นกลุ่มชนที่มีระเบียบวินัย และมีเอกภาพทางสังคมสูง เฉพาะอย่ายิ่ง กูยตำแร็ย (ส่วยช้าง) ซึ่งนับถือผีปะกำจะเคร่งครัดในศีลธรรมสูงมาก เช่นไม่ฆ่าสัตว์, ลักทรัพย์, ประพฤติผิดทางเพศ เป็นต้น  มีความเคารพเชื่อฟังผู้นำ ในการเข้าตั้งสัจสาบานในการจับช้าง ที่เรียกว่า “เข้าปะกำ” จะไม่มีการทะเลาะวิวาทกัน แม้แต่สมาชิกในครอบครัว ก็ต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดด้วย  (หน้า 131)
กรณีศึกษาของหมู่บ้านพะวร มักมีการแต่งานในหมู่เครือญาติ  หรือคนในหมู่บ้านเดียวกัน เมื่อมีครอบครัวจึงมักตั้งบ้านเรือน ในหมู่บ้านเดิม ทำให้ความสัมพันธ์มีความเหนียวแน่นมาก  พบว่าในหมู่บ้าน ร้อยละ 50 ใช้นามสกุล ใน 3 สกุลหลัก คือ วงศ์ภักดี, สาลีพันธ์, พะวร   พระสงฆ์ยังคงบทบาท ที่สำคัญในชุมชน ที่ต้องให้ความรู้ พัฒนาชุมชน และ อบรมศีลธรรม จริยธรรม (หน้า 158) ในแต่ละขั้นตอนของการทำนา เริ่ม ตั้งแต่การไถ การปักดำ การเก็บเกี่ยว และ การนวดข้าว จะอาศัยแรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก  มีการขอแรงญาติพี่น้อง และ การจ้างแรงงานบ้างบางกรณี สำหรับการลงแขก มักเป็นการช่วยเหลือกัน ในการไถ, เก็บเกี่ยว, นวด ข้าว แม้จนงานซ่อมแซมบ้าน แต่ไม่นิยมลงแขกดำนา (หน้า 160)   พ่อมีบทบาทความเป็นผู้นำสูงมาก ในการควบคุมดูแล งานไร่นา และการตัดสินใจต่างๆ ส่วนแม่ จะคอยดูแลเรื่องงานบ้าน เลี้ยงเด็ก  และคอยช่วยงานต่างๆ  (หน้า 161 )

Political Organization

 
การปกครองพื้นที่ อีสานในอดีต ได้นำหลักพุทธศาสนา มาผสานกับหลักรัฐศาสตร์ เพื่อสร้างระบบให้มีปัจเจกภาพ จะเห็นได้จาก ระบบจำปาศักดิ์ อันประกอบด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชบุตร และ เพียอัน เป็นตำแหน่งการปกครองที่ลดหลั่นกันลงมา (หน้า 2, 58-63 )  ปรัชญาของการปกครองในวัฒนธรรมจำปาศักดิ์ เป็นการปกครองที่ปฏิเสธกำลังอาวุธ ยกย่อง ธรรม เป็นอำนาจ ของความถูกต้อง และ ยุติธรรม มีการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง โดยการทำความเข้าใจ และ การประนีประนอม  (หน้า 61) ในสังคมกูยที่มีอาชีพคล้องช้าง หมอเฒ่า หรือ ครูบาใหญ่ จะมีหน้าที่ปกครอง และสอบสวนความผิด หมอช้างมีศักดิ์ และฐานะในกลุ่ม ไม่เหมือน กัน  หมอเฒ่าจะแบ่งคณะหมอช้างออกเป็น ชมรม ย่อยๆ ในชมรมหนึ่ง จะมี หมอใหญ่ หรือ หมอสดำ หมอเสดียง หมอจา และ ควาญช้าง ทุกคนในชมรมต้องเชื่อฟัง และ รับใช้ หมอใหญ่ซึ่งเป็นหัวหน้า เช่นเดียวกับ หมอเฒ่า ลูกน้องต้องกินข้าว และ นอน ทีหลังหัวหน้า (หน้า 144) หมอช้าง ผู้ที่เคยละเมิดศีลห้า จะไม่สามารถเข้าร่วมการคล้องช้างได้ จนกว่าจะมีการสารภาพบาป กับครูบาใหญ่ ครูบาฯก็จะทำพิธี “ประสะ” ให้หมดมลทินก่อน  กับทั้งผู้ทำผิดต้องเสียเงินค่าปรับ ตามแต่ประเภทความผิดที่กำหนดไว้  (หน้า  142-143)  จากกรณีศึกษาการปกครองท้องถิ่น ที่บ้านพะวร มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง กำนัน ซี่งจะคำนึงถึงคุณสมบัติเป็นอันดับแรก รองลงมาอาศัยความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ (หน้า 157 )

Belief System

ความเชื่อเกี่ยวกับ ฤกษ์ และโชคลาง ของชาวไทยเชื้อสายเขมร ที่บ้านพลวง แสดงออกจากคำทำนายเหตุการณ์ และ ลักษณะของบุคคล และ สัตว์  (หน้า 162-164 ) เช่น เชื่อว่าโคมีจุดด่างสีขาว สี่จุด (ปาก, หน้าผาก, หาง และ ปลายขาทั้งสี่) จะนำโชคดีมาให้ผู้เลี้ยง  ถ้าเห็นตัวบึ้ง (คล้ายแมงมุมตัวใหญ่สีดำ) มาขุดรู เชื่อว่าจะได้โชคลาภ  ถ้าหากต้องการให้การเดินทางประสบโชคดี เวลาออกจากบ้านต้องหันหน้าออก ตามทิศมงคลในแต่ละวันเช่น วันอาทิตย์  หันหน้าออกทิศเหนือ เป็นต้น  (หน้า 162 )  ถ้ามีของหายต้องการคำทำนายว่าจะได้คืนหรือไม่ ให้เขียน เลข 1 2 3  แล้วใส่ลงในภาชนะ จับเสี่ยงทาย  หากจับได้เลข 3 ทำนายว่าจะได้ของคืน (หน้า 163)   ถ้ามีฟ้าผ่าต้นไม้ในที่ดินของผู้ใด ให้เจ้าของที่ดินทำพิธีรับโชค ซึ่งต้องมีการตั้ง “เรือนผกา” ซึ่งปลูกเป็นศาลเตี้ยๆ มีกองทราย เล็ก ปักหญ้าคา 3 เส้น ใบโพธิ์ 1 ใบ พร้อม หมอน ใบ เสื่อ ผืน วางไว้บนศาล มีวงด้ายสายสิจญ์วงรอบต้นไม้นั้น ที่โคนต้นไม้ มีดอกไม้ธูปเทียน อาหารคาว หวาน เสื้อผ้าใหม่ ผ้าขาวม้าใหม่  จากนั้นเชิญอาจารย์มาสวดขอพรจากเทวดา  (หน้า 163)
การฝังเข็มทองคำ (ปันเจ้าะเมี้ยะ) เป็นการฝังเข็มทองคำที่ลงคาถาอาคม เพื่อความก้าวหน้าในการงาน อาชีพ และอยู่ยงคงกระพัน  ตัวเข็มต้องมีเนื้อทองไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ขนาดยาว 1 องคุลี (ประมาณ 1 นิ้ว) โดยฝังใต้ผิวหนังบริเวณแขนทั้งสองข้าง หน้าขา และจุด ที่อาจารย์กำหนด โดยต้องมีการยกครูเสียก่อน ของในพิธียกครู มีผ้าขาว 5 ศอก เทียนเล็ก 40 เล่ม เงิน 224 บาท และกรวยดอกไม้ธูปเทียน  (หน้า 164-165)  นอกจากนี้ชาวบ้านพลวง ยังเชื่อถือในเครื่องรางของขลังอื่นๆ ได้แก่ กุมารทอง หรือ ลูกกรอก (โกนเกราะ), น้ำมันพราย, งาช้างหัก (พลุตันไรบะ)  (หน้า 166)  ในส่วนความเชื่อเกี่ยวกับภูตผี ปีศาจ ซึ่งสามารถให้คุณ ให้โทษได้ เช่น ผีตายาย (คมอยตายาย) ที่เชื่อว่าคอยคุ้มครองผู้ที่เป็นลุกหลาน เวลาเจ็บป่วย ก็จะทำการบนบานต่างๆ หากลูกหลานไม่ทำบุญอุทิศให้ ผีก็จะโกรธ และให้โทษ นอกจากนี้ มี ผีปอป (ทมบ) ที่ชอบกลิ่วคาวเลือด มักกินสัตว์เป็นๆ ผีนี้มักทำร้ายคนด้วยการบิดไส้ ผู้ที่เรียนวิชาอาคม แล้วละเมิดข้อห้ามมักกลายเป็นผีปอบ ผีอาระ, ผีป่า (คมอยปรี), ผีต้นไม้ หรือนางไม้ (คมอยเดิมเชอ) ผีเหล่านี้ อยู่ตามป่า เขาลำห้วย หนองน้ำ  การที่จะเข้าป่าไปทำสิ่งใด ต้องไหว้บอกกล่าวก่อน  หากมีอาการผีเข้า  ต้อง เชิญอาจารย์มาปราบ ดื่มน้ำมนต์ เสกเป่า เอาด้ายผูกคอ ผีก็จะออกไป (หน้า 170) ไทยเชื้อสายเขมร ที่บ้านพลวง ยังนับถือ ผีตายาย หรือ ผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีกระท่อมตา (เนี้ยะตา) โดยผีเหล่านี้ จะเป็นวิญญาณอารักษ์ คุ้มครองลูกหลาน ในเดือน 10 แรม 15 ค่ำ จะมีพิธีเซ่นผีตายาย เรียก “ พิธีแซนโดนตา” ส่วนผีเนี้ยะตา จะทำพิธีเซ่น ก่อนการลงมือทำนา  และวันที่ขนข้าวขึ้นยุ้ง เรียกว่า “ การแซนสะเรอวเลิงยุง” นอกจากนี้ผีเนี้ยะตา ยังเป็นที่พึงทางจิตใจ  มักมีการบนบาน เมื่อเกิดเจ็บป่วย หรือ เพื่อสะเดาะเคราะห์   (หน้า 117)   ความเชื่อเกี่ยวกับลักษณะบุคคล  ชาวบ้านพลวงเชื่อว่า ทารกแรกคลอด ที่มีเยื่อหุ้มศรีษะออกมา (เรียกว่า สะนม) แ ละมีสายรก พันคอ หรือ พันตัวเป็นสายสะพาย (ซังวา) แสดงว่าเด็กนั้นเป็นผู้มีบุญ วาสนาดี  การจำแนกลักษณะคนดี หากเป็นชาย ต้องมีคิ้วไม่จรดกัน  หากเป็นหญิง  ตาต้องได้ส่วนกับใบหน้า ไม่โตเกินไป เอวบาง แขน ขา ต้องเรียวงาม นิ้วเรียว ฟันเรียบเสมอกัน สมลักษณะ หาก เป็นหญิง สูงวัย หน้าผากต้องมีรอยย่นมาก   ผู้ทีมีลักษณะไม่ดี มักมีตาโตเกินไป หญิง มีเต้านมขรุขระ ก้นย้อย คางเหลี่ยมคล้ายเสือ มีเส้นเอ็นพาดที่เต้านม เป็นต้น  และหากมีปานแดง (พะโน้น) หญิงนั้นต้องให้อาจารย์มาแก้อาถรรพ์  หากผู้ใด มีฟันที่งอกจากเพดานปาก ( ก๊า) หรือ งอกจากโคนลิ้น(กย) เชื่อว่า สามารถเรียนคาถาอาคมได้ดี  และยังเชื่อว่าผู้ที่มี ก๊า หรือ กย หากอ้าปากในหน้าฝน ฟ้าจะผ่า  (หน้า 171)
ประเพณีท้องถิ่นในชุมชนลุ่มแม่น้ำมูล มักอยู่บนพื้นฐานของพุทธศาสนา เป็นการทำบุญตามเทศกาลในแต่ละเดือน ดังนี้ เดือนอ้าย บุญเข้ากรรม (การอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุ) เดือนยี่  บุญคูณลาน เป็นการทำบุญข้าวเปลือกที่ลานนวดข้าว ซึ่งเชื่อกันว่าการทำบุญด้วยสิ่งของที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงนั้นได้กุศลมาก  เดือนสาม บุญข้าวจี่ (ตามการเรียกทางสายวัฒนธรรมจำปาศักดิ์)  เดือนสี่ บุญพระเวส (ผเวส) เป็นงานบุญเทศน์มหาชาติ งานบุญนี้ถือเป็นบุญบ้าน ที่ต้องทำตามมติเอกฉันท์ของทั้งหมู่บ้าน (หน้า 104)   เดือนห้า  บุญสรงน้ำ  คือการทำบุญรดน้ำพระพุทธรูป เมื่อถึงวันงานทางวัดจะตีกลองโฮม ประกาศให้ชาวบ้านมาร่วมแห่พระพุทธรูป แล้วสรงน้ำ รวมทั้งสรงน้ำพระภิกษุ และผู้สูงอายุเพื่อขอพรด้วย  (หน้า 105)  เดือนหก บุญบั้งไฟ  เป็นการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพระยาแถน และมีการประกวด แข่งขัน บั้งไฟกันด้วย นอกจากนี้ยังมี “พิธีฮด” โดยมีการนิมนต์พระสงฆ์มารับการสรงน้ำ และเปลี่ยนผ้าจีวรใหม่ (หน้า 107) เดือนเจ็ด บุญซำฮะ หมายถึงการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งไม่ดีทั้งหลาย  เดือนแปด  บุญเข้าพรรษา  เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน นำของไทยทานเป็นห่อๆไปถวายพระ และอีกส่วนนำไปแขวนที่ต้นไม้  เพื่อบูชาหรืออุทิศให้บรรพบุรุษ (หน้า  108) เดือนสิบ บุญข้าวสาก ทำอย่างบุญข้าวประดับดิน แต่เวลาถวายของให้พระ จะกองรวมกันให้เป็นสังฆทาน และช่วงบ่ายมีการทำบุญอุทิศให้ตาแฮก (ผีหัวนา)ด้วย (หน้า 110) เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา หรือ บุญไต้น้ำมัน  เดือนสิบสอง บุญกฐิน ผู้ที่ประสงค์จะทอดกฐิน ต้องทำสลาก ระบุชื่อ และวันเวลา มาติดไว้หน้าพระอุโบสถ เป็นการจอง ว่าจะนำผ้ากฐินมาถวาย โดยไม่เจาะจงพระที่จะรับ เพราะถือว่าพระที่จะได้ผ้ากฐิน นั้นเกิดจากมติของสงฆ์ (หน้า 111)
จากหลักฐานหนังสือผูกที่วัดองค์ตื้อ แขวงเวียงจันทร์  (หน้า 112)ได้กำหนดจารีต ที่ควรประพฤติ สิบสี่ ประการ อันเป็นรากฐานอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำมูล สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1. เมื่อได้ของสิ่งใดมา มักต้องมีการให้ทานทำบุญเสียก่อน แล้วให้มีการแบ่งปันแก่พี่น้องเพื่อนฝูง ตามสมควร 2. ให้รู้จักประมาณในการใช้จ่าย และการหาทรัพย์ และเว้นจากการพูดคำหยาบ 3. ให้บูชาเทวดา  4. ให้ล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน 5. ถึงวันพระให้รักษาศีล ขอสมาผีบ้านผีเรือน 6.  ก่อนนอนให้ล้างเท้า  7. ในวันพระ ให้เมีย เอาดอกไม้ ธูป เทียนมาขมา ผัว แล้วเอาดอกไม้นั้นไปไหว้พระ  8. วันพระขี้น หรือ แรม 15 ค่ำ ให้นิมนต์พระ มาทำบุญที่บ้าน  9. เวลาใส่บาตรให้อ่อนน้อมไม่ชะโงกมอง ห้ามถูกบาตร อย่างกางร่ม หรือมีผ้าคลุมหัว ไม่อุ้ม ไม่จูงลูกหลาน ในเวลาใส่บาตร  10. เวลาพระสงฆ์เข้าปริวาสกรรม ให้เอาขันดอกไม้ธูปเทียนไปบูชา 11.   เมื่อมีพระสงฆ์เดินผ่าน ให้นั่งลงยกมือไหว้ แล้วจึงสนทนา 12.  อย่าเหยียบเงาพระ หรือผู้ทรงศีล   13. ห้ามเอาของเหลือ ถวายพระสงฆ์ ภรรยาห้ามของของเหลือให้สามีกิน  14. ห้ามมีเพศสัมพันธ์ ในวันพระ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันมหาสงคราม วันเกิดโต (หน้า 112 )
ในการออกคล้องช้าป่า ส่วยมีพิธีกรรม ความเชื่ออยู่หลายพิธี เริ่มตั้งแต่ พิธีถอดกระดูกคางไก่ เป็นพิธีเสี่ยงทายในการออกไปคล้องช้างป่า โดยจะเซ่นไว้ผีปกำด้วยไก่ และดูหัวไก่ว่า ปกติเรียบร้อยหรือไม่ หากหัวไก่สีเขียวช้ำ ปากไก่เผยเข้าหาคอ แล้ว เป็นลางไม่ดี ห้ามออกป่า  (หน้า 141) พิธีเปิดป่า (เบิกไพร) เป็นพิธีที่ กูยจัดขึ้นก่อนออกไปคล้องช้างในป่า  เพื่อขออนุญาตเจ้าป่าในการคล้องช้าง ต้องตั้งเครื่องเซ่นบนศาลเล็กๆที่หมอช้างสร้างขึ้น ประกอบด้วย เนื้อสัตว์ 1 ตัว ข้าวสาร หมาพูล บุหรี่ สุรา  จากนั้นจะกล่าวคำขอช้าง จาก “อากง” ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าป่า เมื่อเสร็จพิธีก็จะตั้งค่ายพักแรม เรียก “ชมรม”   มีการจุด “กองกำพวด” หรือ กองไฟศักดิ์สิทธิ์  เพื่อป้องกันอันตราย กองไฟที่จุดข้างหน้าเรียก “กำพวดเซิง”  ด้านขวาเรียก “กำพวดสดำ”  กองด้านซ้ายเรียก “กำพวดเสดียง”  (หน้า 143)
ชาวบ้านพลวง มีความเชื่อในเรื่องการทำนายฝัน เช่น หากฝันว่าได้ ม้า โค กระบือ ทำนายว่า จะได้คู่ สามี หรือ ภรรยา ฝันว่า ได้บวชเป็นพระ ทำนายว่า จะได้ยศศักดิ์ ถ้าฝันเห็นช้าง ทำนายว่า ฝนจะตกหนัก  ถ้าจะได้บุตรชาย มักจะฝันว่า ได้ สร้อยคอ ได้ดาบ ได้ แหวนพลอย  กรณีฝันที่เป็นลางไม่ดี เช่น ฝันว่าเลือดออก  ฝันเห็นพระจันทร์  ฝันว่าฟันหัก   นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับ   (หน้า  166-167 )
ในหมู่บ้านพะวรนั้น ยังคงมีความเชื่อรากฐานในการนับถือสิ่งเหนือธรรมชาติ และ ผีบรรพบุรุษ ควบคู่ไปกับ การนับถือ พุทธศาสนา (หน้า 159)  ในการทำเกษตรกรรม ยังเชื่อว่า ปัจจัยสำคัญที่มีต่อผลผลิตนั้นขึ้นอยู่กับธรรมชาติเป็นหลัก  รองลงมา คือ เป็นผลจาก ความรู้ ความขยัน ของ มนุษย์  กับทั้งอำนาจดลบันดาลเหนือธรรมชาติ และ โชควาสนา

Education and Socialization

ในชุมชนบ้านพะวร มีโรงเรียนประถมศึกษา  1 แห่ง จัดการศึกษาตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กไปจนจบในระดับประถมศึกษา ในปีพ.ศ.2529 มีนักเรียน จำนวน 420 คน พบว่าจบการศึกษาภาคบังคับไม่ถึง 1 ใน 4  ถึงแม้ผ่านการศึกษาภาคบังคับ แต่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ก็มีจำนวนมาก ส่วนใหญ่ที่ไม่สามรถเรียนได้ เพราะต้องไปช่วยครอบครัวทำงาน  นอกจากนี้การอบรมความรู้และศีลธรรม โดยอาศัยการบวชก็ยังมีอยู่ ร้อยละ 50 ของผู้ชายมักผ่านการบวชพระสงฆ์ หรือ สามเณร แล้ว  (หน้า 158)

Health and Medicine

ยากลางบ้าน เกิดจากภูมิปัญญาที่สั่งสมมาของไทยเชื้อสายเขมร บ้านพลวง ที่นำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ โดยนำมาต้ม หรือ ฝนทา รักษาโรค ตัวอย่างสมุนไพรที่ใช้ ยาแก้ผิดสำแดง ใช้รากครอบจักวาล (กันจ้ำ หรือ กันตรุม) รากหญ้าพันงูขาว, รากขัดมอบตัวเมีย มัดด้ายดำ 3 เปลาะต้มรวมกันกับตะปู 1 ดอก ยาอีกขนานหนึ่งใช้ รากลูกเดือย, รากถั่วแระ ต้มน้ำดื่ม  ถ้าใช้วิธีฝนน้ำดื่ม ให้ใช้รากมะกล่ำตาหนู ใช้รากหม่อน, พริกไทย, เหล็ก , รากกระถิน มัดด้ายดำ 3 เปลาะต้มน้ำดื่ม    ยาแก้โรคบิด ใช้สะแก 7 ยอด มัดด้ายดำ 3 เปลาะใส่น้ำ 3ขัน ต้มให้เหลือ 1ขัน      ยาแก้ท้องร่วง ใช้เปลือกทับทิม แช่น้ำดื่ม อีกตำรา ใช้เปลือก หรือ ยอดฝรั่ง กำมือ มัดหัวมัดท้ายต้ม   แก้พิษสัตว์ต่างๆ ใช้ เปลือกตะโก หรือยอดบอระเพ็ดตำพอกแผล  ยาแก้ไข้    ใช้รากหม่อน, รากหมาก, รากมะเฟืองเปรี้ยว ฝนใส่น้ำดื่ม ใช้รากหญ้าคา, รากขัดมอนตัวเมีย แช่น้ำดื่ม  แก้ปวดท้อง ใช้แก่นประดู่ขูดเอามากลั่นดื่มพร้อม เสกคาถา  หรือจะใช้ เปลือกประดู่กับหญ้าหวาย ต้มน้ำดื่ม แก้ไข้มาเลเรีย ใช้แก่นมะขามตัดเป็นท่อน ผ่าจากล่างขึ้นบน เคี่ยวกับน้ำ3 ส่วน  เอา1 ส่วน(หน้า  174 -176)  ยาสั่ง ในความเชื่อชาวบ้านพลวง มี 2 ประเภท  “ถนัมปะปุล” เป็นยาสั่งที่ทำให้ตายได้หลังจากได้รับยา 2-3 ชั่วโมง  “ถนัมปดัม”  เป็นยาสั่งที่ผสมมากับอาหาร  ส่วนประกอบยาสั่ง มักทำจากพืช หรือ สัตว์บางชนิด บางครั้งจะผสมกัน ที่ทำจากพืชเช่น ผลสบู่ดำ หัวกระเทียมบด ที่มีเชื้อรา รากคำเงาะ เห็ดร่างแห เป็นต้น ส่วนที่ทำจากสัตว์ เช่น ดีนกงู ดีปลาช่อน ( ปั๊วะแดง)  คางคกแดง จิ้งเหลนหางแดง เป็นตน  คนโดนยาสั่งมักมีอาการ อาเจียนรุนแรง, เลือดออกปาก และจมูก, ชัก , หมดแรง หมดความรู้สึก , น้ำลายฟูมปาก เมื่อตายแล้วตัวจะเขียว  สมุนไพรที่แก้ยาสั่ง เป็นสมุนไพรป่า บางชนิดต้มกับน้ำมะพร้าวให้ดื่ม หรือ บดไส้ในผลฝักเขียวให้กิน  บ้างก็ใช้น้ำต้มผักแขยง หรือ ไส้ในฝักเขียวผสมปูนาบด กรอกปากผู้ป่วย (หน้า 179)
บ้านพะวร มีสำนักงานผดุงครรภ์ และ อนามัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น สถานีอนามัยประจำตำบลจานแสนไชย เมื่อ ปี พ.ศ. 2524 อย่างไรก็ตามในระยะที่ศึกษาหมู่บ้านนี้ ร้อยละ 50  ยังไม่มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะใช้ (หน้า 158)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

สถาปัตยกรรมลุ่มน้ำมูล แยกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ สถาปัตยกรรมลุ่มน้ำมูลตอนบน และสถาปัตยกรรมลุ่มน้ำมูลตอนล่าง  (หน้า 81)  ลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน สถาปัตยกรรมที่พบ เกิดขึ้นทับซ้อนกันหลายสมัย มีอายุตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 11- 17  พบได้ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีศิลปะแบบฮินดูพราหมณ์ และ แบบฮินดูพุทธ (หน้า 83)
ปราสาทหินพิมาย  เป็นเทวาลัย อุทิศให้เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์  มุขด้านทิศใต้ปรางค์ประธาน จำหลัก ภาพศิวนาฏราช (หน้า 89)  สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1  ภายหลังมีอิทธิพลของศิลปะศรีวิชัย และทวาราวดี เข้ามา พบ พระพุทธรูป และ รูปพระโพธิสัตว์ที่ปราสาทด้วย (หน้า 82-85)  ปราสาทหินพนมรุ้ง  ทับหลังสลักรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์  มีรูปสลักพระอินทร์เป็นเทพทวารบาล หน้าบัน มีรูปสลักพระกฤษณะ จับช้างและสิงห์ ทั้งยังมีภาพสลัก ที่แสดงอานุภาพของเทพเจ้า เช่น ภาพกวนเกษียรสมุทร , ภาพเทพบนหน้ากาล หรือ เกียรติมุข (หน้า 87)  ศิลปกรรมที่พบในเขตอารยธรรมลุ่มแม่น้ำมูลตอนล่าง และ พื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ล้วนมีความเชื่อมโยงกับอารยธรรมขอมโบราณ  จำแนกได้ เป็น 2 ช่วงเวลา ในช่วงแรก เป็นยุคก่อนเมืองพระนคร (Pre Angorian Period)  ซึ่งประกอบไปด้วยรูปแบบศิลปะ 5 แบบ ได้แก่ ศิลปะแบบพนมดา,  ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก,   ศิลปะแบบไพรกะเม็ง,  ศิลปะแบบกำพงพระ   และศิลปะแบบกุเลน  สำรับช่วงที่2 สมัยเมืองพระนคร (Angorian Period) มีรูปแบบศิลปะ 9 แบบ ได้แก่ ศิลปะแบบพะโค,   ศิลปะแบบบาแคง,   ศิลปะแบบเกาะแกร์,  ศิลปะแบบแปรรูป, ศิลปะแบบ บันทายสรี,  ศิลปะแบบเกลียว, ศิลปะแบบ ปาปวน   ศิลปะแบบนครวัด และ ศิลปะแบบบายน  (หน้า 244-246) ศิลปะแต่ละแบบ ปรากฏทั้งโบราณสถาน ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรม ปราสาท ขอมโบราณ และโบราณวัตถุ เช่น ทับหลัง ชิ้นส่วนอาคาร ตลอดจน แผ่นศิลาจารึก  ประเภทสถาปัตยกรรมแบ่งได้เป็น 2 ประเภท 1 เทวาลัย ศาสนสถาน 2 ปราสาทเรือนไฟ หรือ ที่พักคนเดินทาง (หน้า 85)
ปราสาทที่มีศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก (Sombor Preikuk)  (หลัง พ.ศ. 1150-1200 ตรงกับสมัยพระเจ้าอีศานวรมันที่1) ใน จ.สุรินทร์ ได้แก่ปราสาทภูมิโพน ตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์คำว่า “ภูมิโพน” เป็นภาษาเขมรแปลว่า ที่ซ่อน หรือ ที่กำบัง  ปราสาทนี้เป็นปราสาทขอมรุ่นเก่า เป็นร่องรอยของอารยธรรมเจนละ สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่  13 นับเป็นปราสาทขอมโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย (หน้า 278) ประกอบด้วยปราสาทอิฐ 3 หลัง และฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลงซึ่งสร้างขึ้นเพิ่มเติมภายหลัง ปรางค์ประธาน ก่ออิฐหลังใหญ่ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดก่อนด้วยอิฐมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้สิบสอง  เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้าออกด้านทิศตะวันออก ส่วนยอดก่อหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ เท่าที่เป็นได้ในปัจจุบันมี 3 ชั้น ใต้หน้าบรรณของประตูทางเข้าออกมีลายสลักเป็นรูปใบไม้ นอกจากนั้ยังพบทับหลังศิลปะเขมรแบบไพรกเม็ง (Prei Kmeng) (ราว พ.ศ. 1180-1250)อีกด้วย และจากการขุดแต่ง ได้พบจารึกอักษรปัลวะ อายุในราวพุทธศตวรรษที่ 12- 13 ด้วย (หน้า 281)  ด้านทิศเหนือองค์ปรางค์ประธาน ที่ท่อน้ำมนต์ สลักจากหินทรายสีชมพู ประติมากรรมที่ใช้ประดับอาคาร มีรูปพระนารยณ์ทรงครุฑ ศิลปขอมแบบบายน พุทธศตวรรษที่  18  ใกล้ๆบริเวณปราสาท มีสระน้ำ 3 สระ คือ สระตา สระตราว สระ ปรือ (หน้า 277) สำหรับศิลปะแบบไพรกเมง   ที่พบที่ปราสาทภูมิโปนนี้ มีลักษณะต่อเนื่องจากแบบสมโบว์ไพรกุก  อาจถือได้ว่าเป็นศิลปะขอมรุ่นแรก ทับหลัง ลักษณะรูปโค้งมีวงรูปไข่ แต่ไม่มีตัวมกร แทนบริเวณภายในที่เป็นรูปใบไม้ม้วน และเน้นลวดลายใบไม้และดอกไม้ (หน้า  227-228)
 ศิลปะแบบกุเลน (Kulen) (พ.ศ.1370-1420) อยู่ระหว่างยุคเก่าและยุคเมืองพระนคร จึงมีทับหลังที่มีลวดลายที่ดูแปลกใหม่ เพราะได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่มีอิทธิพลจากศิลปะจาม และชวา  มีที่มีลายพวงมาลัยลักษณะเป็นรูปโค้งตามรูปแบบเก่าอีก กับลายก้านขด ส่วนบริเวณตรงกลางก็จะเป็นรูปมังกร (หน้า 230) ในส่วนของปราสาทที่เป็นแบบศิลปะขอม ในยุคเมืองพระนคร ได้แก่ ปราสาท สังข์ศิลปชัย ต.กระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์  ซึ่งเป็นศิลปะแบบพระโค (Preah Ko) (พ.ศ.1420-1440) ศิลปะแบบนี้ ทับหลังมีขนาดสูงมาก มีการแกะลายท่อนพวงมาลัยตรงกลางหมุนม้วนออก ส่วนตอนปลายก็จะเป็นลวดลายของใบไม้  มีพวงอุบะคั่นอยู่ระหว่างลาย  หน้าบันสลักภาพบุคคล พร้อมบริวารในตัวอาคาร เสาติดผนัง มีลาบประดับต่างๆเช่น ลายก้านขด, ลายบัวขาบคั่นลายก้ามปู ประติมากรรมมีรูปร่างค่อนข้างอ้วน มีกระบังหน้า เหนือขึ้นไปเป็นมงกุฎยอดแหลม ทรงผมเกล้าเป้นทรงกระบอก มักแต่งกายแบบโจงกระเบนเรียบ ชายผ้ารูปคล้ายสมอเรือ สวมอาภรณ์มาก และพบประติมากรรมสัมฤทธิ์ในสมัยนี้อีกด้วย (หน้า 231-232)
 ศิลปะแบบบาแค็ง (Bokheng) (พ.ศ.1436-1468) ในยุคนี้มักเป็นปราสาทหินทราย ลักษณะของทับหลังจะเป็นท่อนพวงมาลัยตรงกลางมักโค้งลงเล็กน้อย รหว่างลายใบไม้ก้านขดไม่มีอุบะคั่น กรอบหน้าบันด้านบนเป็นหยักประดับด้วยลายวงโค้ง ปลายเป็นรูปมกรหันหน้าออก ภาพบุคคลกลางหน้าบันจะมีลายพฤกษาล้อมรอบ เช่น ทับหลังปราสาทมีชัย  บ้านกระเทียมอ.สังขะ จ.สุรินทร์(หน้า 233,244)
ศิลปะแบบเกาะแกร์(Koh Ker) (พ.ศ.1464-1490 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่4) สถาปัตยกรรมแบบนี้ ทับหลังจะมีภาพในแบบของบาแค็ง และชอบที่จะสลักให้เป็นเรื่องราว หน้าบันยังมีทั้งแบบบาเค็ง ที่มีหยักด้านบน และทรงโค้งแล้ว ยังพบหน้าบันแบบสามเหลี่ยม ลักษณะลาดเท ประกอบเครื่องไม้มุงกระเบื้องด้วย ศิลปะแบบนี้พบได้ที่ ปราสาทมีชัย (หมื่นชัย)  บ้านกระเทียม อ.สังขะ จ.สุรินทร์  (หน้า 234, 244)
ศิลปะแบบแปรรูป (Pre Rup) (พ.ศ.1487-1510 สมัยพระเจ้าราเชนทรวรมัน) ส่วนใหญ่เป็นการเลียนแบบศิลปะแบบพระโค ทับหลังมักมีลายแนวเล็กๆเพิ่มขึ้นใหม่ ปราสาทในศิลปะแบบนี้ได้แก่ ปราสาทบ้านแบง อำเภอกาบเชิง ปราสาทมีชัย(สเร็ย) ปราสาทสังข์ศิลปชัย และ ปราสาทบ้านจารย์ อำเภอสังขละ จ.สุรินทร์  (หน้า 235,244 )
 ศิลปะแบบบันทายสรี (Bantcay Srei) (พ.ศ.1510-1550 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 5) สมัยนี้เป็นยุคการฟื้นฟูศิลปะขอมขึ้นใหม่  ช่างได้หาแรงบันดาลใจจากศิลปะในอดีต และของต่างประเทศ ทับหลังมีลวดลายอย่างแบบพะโค แต่เติมให้ลายละเอียดขึ้น นิยมลายก้านต่อดอกประดับ กรอบหน้าบันก็มักใช้ลายนี้เรียงจากสูงลงมาหาต่ำ วงโค้งเหนือรูปบุคคลกลางหน้าบัยมักมีเศรียรนาค ลักษณะเสานั้นลายบัวไม่มีแล้ว ยังคงอยู่แต่วงแหวนรอบเสา (หน้า  235,244)
 ศิลปะแบบคลัง (พ.ศ.1508-1553) ในสมัยนี้ได้เริ่ม การมุงหลังคาด้วยศิลา ทับหลัง มีลวดลายคประดับน้อยกว่าแบบบันทายสรี สลักรูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยที่ออกมาจากปาก แล้วใช้มือมายึดที่พวงมาลัยเอาไว้ กรอบหน้าบัน ยังคงใช้ลายก้านต่อดอก ที่ปลายเป็นหน้ากาลคายนาคพบได้ที่ ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดจังหวัดสุรินทร์  และลวดลายที่พบในจารึก ปราสาทภูมิโพน และ จารึกหลังที่124 จาก จ.สุรินทร์  (หน้า 237,244)
ศิลปะแบบบาปวน (Baphuon) (พ.ศ.1560-1630  ช่วงแรกสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1) ศาสนสถานในยุคนี้ มีซุ้มโคปุระ (ประตู) ประกอบกับระเบียงล้อม และมักทำปราสาทที่มุมระเบียงด้วย ทับหลัง มีลักษณะเป็นการเล่าเรื่อง โดยมีภาพบุคคลเป็นส่วนใหญ่ มีรูปของหน้ากาล ผสมผสานรวมกับเทวดาที่นั่งอยู่ภายในซุ้ม กรอบหน้าบันสลักเป็นตัวนาคนูนออกมา มีเศรียรนาคที่ปลายทั้งสองข้างไม่มีหน้ากาลประกอบ ปราสาทเมืองต่ำ ปราสาทพนมรุ้งจังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทบ้านพลวงปราสาทบ้านพลวง เป็นปราสาทขนาดเล็ก ทับหลังปราสาทสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หน้าบันสลักเป็นภาพพระกฤษณะกำลังยกภูเขาโควรรธนะ ส่วนภาพสลักบริวาณ เป็นรูปสัตว์ต่างๆในป่าหิมพานต์  (หน้า 85) ศิลปะแบบนี้ใน จ.สุรินทร์ พบที่ ปราสาทตาเมือนธม อ.ปราสาท ปราสาทวัดโพธิญาณ อ.ศรีขรภูมิ ปราสาท บ้านพลวง อ. ปราสาท ปราสาท บ้านปราสาท(นางบัวตูม)  อ.ปราสาท ปราสาทบ้านไพล อ.ปราสาท ปราสาทยายเหงา อ.สังขะ  (หน้า 246)ปราสาทยายเหงา ตั้งอยู่ที่ตำบลสังขะ อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์เป็นปราสาทก่อด้วยอิฐเป็นกำแพงรับน้ำหนัก มีการเสริมผนังให้นูนออกตรงมุมฉากของเรือนธาตุ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นปราสาทนี้มีจำนวน 2 องค์ บนแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าออกทางด้านหน้าเพียงประตูเดียว ส่วนยอด ทำเป็นชั้นหลังคาซ้อนกันขึ้นไป การเข้ากรอบประตูหินแบบ 3 แฉก ซึ่งไม่เหมือนกับ ศิลป สกุล ขอมแบบอื่นๆ สันนิษฐานว่ามีอายุ ไม่ต่ำกว่า ศิลปขอมแบบปาปวน  (หน้า 273-274)  ศิลปะแบบนครวัด (Angor Wat) (พ.ศ.1650-1718  สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่2 ) สมัยนี้ ศิลปะขอมเจริญถึงขีดสุด  ปราสาทสร้างบนฐานมีชั้นระเบียงรอบ มีซุ้มประตู และ ปราสาท ที่มุมระเบียง ทับหลังในช่วงต้นยุค ส่วนใหญ่จะเป็นรูปภาพของการเล่าเรื่องราว ต่อมาเป็นแบบพรรณพฤกษา เช่นที่พบในแบบปาปวน บริเวณตรงกลางภาพจะมีขนาดเล็กแทรกอยู่ และปรากฏทับหลังแบบใหม่ที่ไม่มีท่อนมาลัย แต่มีเพียงลายก้านขดม้วนไปทางเดียวกัน หน้าบัน มักเป็นการสลักภาพกลุ่มบุคคล กรอบหน้าบันเป็นรูปมกรคายนาคเช่นเดิม ภาพสลักบนผนังพบแต่ภาพสตรี และลายก้านต่อดอก ยังพบการสลักภาพบุคคลเล็ก ตรงกลางอีกด้วย ปราสาทศีขรภูมิ  หรือ ปราสาท ระแงง (หน้า 257) เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมแบบนครวัด  มีลักษณะเป็นปรางค์หมู่ 5 องค์ เป็นปราสาทก่ออิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยตัวฐานก่อด้วยศิลาแลงกว้าง 23.40 เมตร ยาว 25 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร โดยมีคูน้ำ ล้อมรอบสามด้าน โดยเว้นด้านตะวันออก ลักษณะทางศิลปกรรม สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นศาสนสถานในลัทธิไศวนิกายและในพุทธศตวรรษที่ 22 มีการบูรณะเพิ่มเติมที่องค์ปราสาทแถวหลังฝั่งทิศใต้ เป็นแบบศิลปะล้านช้างและยังมีจารึกอักษรธรรมปรากฏอยู่ ณ ปราสาทหลังนี้ปรางค์ประธานสูงประมาณ 32 เมตร ทับหลังเป็นภาพพระศิวนาฏราช ท่ามกลางลายพรรณพฤกษา ประกอบลายโค้งท่อนมาลัย บริเวณเสากรอบประตูสลักเป็นรูปนางอัปสราถือดอกบัว และทวารบาลยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา (หน้า  260) ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลยในประเทศไทย พบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น  (หน้า 257-262)
ศิลปะแบบบายน (Bayon) (พ.ศ.1720-1780 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่7) ศิลปะแบบนี้มีลักษณะที่พิเศษ ได้แก่ ยอดปราสาทมักสลักหน้าคนขนาดใหญ่ทั้ง สี่ทิศ ทับหลัง มีการแตกลายท่อนพวงมาลัยออก  ลายก้านขดนิยมหมุนม้วนสลับกัน มักทำกรอบประดับภาพบุคคล หรือ ทวารบาลบนผนัง ประติมากรรมมนุษย์มีใบหน้ายิ้ม ในสมัยนี้มีการสลักพระพุทธรูป มีพระเนตรปิด ครองจีวรเรียบ บางครั้งเกศาขมวดแบน นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมสัมฤทธิ์ เช่น พระพุทธรูปนาคปรก รูปมารแบก  ปราสาทจอมพระ ปราสาทช่างปี่ ปราสาทตาเบือน ปราสาท ตาเมือนโต๊จ ปราสาทมีชัย จังหวัดสุรินทร์  (หน้า 242-243,246)  ปราสาทตระเปียงเตีย หรือ ตะเปียงเตีย ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเกาะ ตำบลตะเปียงเตีย อำเภอลำดวน จังหวัดสุรินทร์ มีลักษณะเป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 4 ชั้น ส่วนยอดทำเป็นรูปดอกบัวตูม จากลัษณะสถาปัตยกรรม พบว่าเป็นแบบลาวร่วมสมัยกับอยุธยาตอนปลาย หรือตอนต้นรัตนโกสินทร์ (หน้า 267-268) ตระเปียงเตีย เป็นภาษาเขมรท้องถิ่น แปลว่า หนองเป็ด  (หน้า 266)  ศิลปะแบบกำพงพระ (พ.ศ.1250-1350) เป็นศิลปะมีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง มีลวดลายพรรณไม้ ลักษณะเป็นลายวงโค้งและปกคลุมไปด้วยใบไม้จนเหมือนพวงมาลัย และปลายทั้งสองก็จะม้วนออก ประติมากรรม นั้นบางรูปเริ่มมีทรงผม  ในส่วนประติมากรรม สัมฤทธิ์ขนาดเล็ก ได้แสดงอิทธิพลของ อินเดีย ชวา และ จาม (หน้า   229)  อาคารประเภท ปราสาทเรือนไฟ(ที่พักคนเดินทาง) จากการสันนิษฐาน ได้แก่ ปราสาทมีชัย, ปราสาทบ้านจอมพระ จ.สุรินทร์ เนื่องจากพบจารึกเกี่ยวกับสมุนไพร  ปราสาทวัดสระกำแพงน้อย จ.ศรีสะเกษ , ปราสาท บ้านจำปาศรี จ.มหาสารคาม ลักษณะปราสาทเรือนไฟ จะประกอบด้วย ปรางค์  และ วิหาร อย่างละ หลัง มีกำแพงล้อมรอบ มีประตูทางทิศตะวันออกด้านเดียว ลวดลายเป็นศิลปะแบบบายน ตัววิหารมีหน้าต่างหลอกสลักลูกมะหวด ยังพบอีกว่า ปราสาท ตาเมือนน้อย  เป็นปราสาท เรือนไฟ ที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ มีปราสาทขนาดเล็ก ยอดปรางค์แบบบายน วิหารเป็นซุ้มประตู สร้างด้วยศิลาเกรียม (ทะมอเกรม)  (หน้า 93)
หัตกรรมของชุมชนกูย ได้แก่เครื่องมือที่ในการคล้องช้าง 10 อย่าง (หน้า 138-139 )ได้แก่ หนังปะกำ หรือเชือกปะกำ บ่วงบาศ ทำจากหนังควายตากแห้ง นับถือกันมากว่าศักดิ์สิทธิ์ ทามคอ หรือ ทาม  ทำจากหนัง หรือ หวายฝั่นเกลียว 6 ถึง  8 เกลียว ทามคอ มี 2 เส้น สำหรับสวมคอช้างป่า เส้นหนึ่ง  อีกเส้น ใช้ผูกต้นไม้เป็นหลักผูกช้างเชลยที่คล้องได้  ระหว่าง หูทาม ทั้งสองด้าน จะมีเชือกร้อยรัดหูทามไว้พอดีกับคอช้าง มีโซ่โยงติดกันด้วย กาหรั่น ป้องกันไม่ให้โซ่ทามบิดรัดคอช้าง  กาหรั่น หรือ เดื่อง มีลักษณะเป็นห่วงเหล็ก ใหญ่ เล็ก ติดกัน สำหรับยึดโซ่ไว้กับทาม สลก หรือ ซดก ทำจากหนังฝั่นเกลียว 3 เกลียว ปลาย สองข้างทำเป็นห่วง มีลักษณะคล้ายทามคอ ใช้ผูกคอช้างต่อข้างหนึ่ง อีกข้างผูกปลายหนังปะกำ  ชนัก ทำด้วยเหล็กเส้นบิดเกลียวต่อกัน 3 ห่วง 2 ท่อน คล้ายเหล็กบังเหียนม้า ใช้เชือกป่าน หรือ ปอเหนียว เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร ยาว 4-5 เมตร  สอดในห่วงที่ต่อกับท่อนเหล็กเกลียว กับห่วงรับเชือกข้างละห่วง เอาชายทั้สองมาผูกกันสวมคอช้าง เพื่อให้หมอ สอดหัวแม่เท้าคีบเชือกชนัก กันพลัดตกเวลาช้างวิ่ง
โยง มีทั้งขนาดใหญ่ และ เล็ก ทำจากหนังบิดเกลียว 2-3 เกลียว ใช้ผูกชื่อเพื่อโยงผูกขาช้าง
สนามมุก เป็นถุงทำจากหนังเอามาเย็บ ไว้ใส่ของกิน ของใช้  ไม้คันจาม ทำจากไม้เนื้อแข็ง (ไม้แก่น) เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-1.5 นิ้ว ยาวประมาณ 5 เมตร  ที่ปลายเหน็บเชือกบ่วงหนังปะกำไว้คล้องเท้าช้างป่า   ไม้งก ทำจากไม้เนื้อแข็ง (ไม้แก่น)  รูปร่างงอคล้ายค้อน ยาว 50-60 เซนติเมตร ปลายด้านหนึ่งเจาะรูเพื่อร้อยเชือก ผูกข้อมือ ท้ายช้างไม่ให้หลุด ไว้ตีเร่งช้าง
 ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ชาวบ้านพะวร มักทำใช้เอง เป็นพวกเครื่องมือประมงจำพวก ลอบ,ไซ, ลัน เป็นส่วนใหญ่  สำหรับการทำ แห และ ข้อง มีบ้างรองลงมา เครื่องมือที่ใช้ทำนา ที่ทำใช้เอง ส่วนใหญ่ เป็น คราด อุปกรณ์นอกจากนี้มักหาซื้อมาใช้ (หน้า 160)
การรำผีฟ้า  เป็นการรำประกอบพิธีกรรมอีสานโบราณ เพื่อรักษาคนป่วย ซึ่งเป็นการรำขออำนาจ เหนือธรรมชาติให้มาช่วยรักษา เป็นวิธีการสื่อสารกับพระยาแถน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ที่สร้างและควบคุมความเป็นไปของมนุษย์   การรำจะเป็นท่าง่ายๆ ประกอบดนตรี ที่ดูอ่อนช้อย ผู้รำจะอยู่ในอาการเคลิบเคลิ้ม ทำนองลำผีฟ้า (ขับร้อง) มี สาม ช่วง ช่วงแรกเรียก “ลำส่อง” เพื่อหาสาเหตุความเจ็บป่วย  ช่วงที่สอง “ลำปัว” หรือ ลำรักษา ช่วงนี้ ผู้ป่วยมักลุกขึ้นรำตาม และช่วงสุดท้าย “ลำส่ง” เป็นการส่งผีออกจากตัวคนป่วย หลังจากนั้นต้องทำการบางอย่างตามที่ผีขอ (หน้า 199 )
การรำผีมอ เป็นการรำประกอบพิธีกรรมโบราณ ในการรักษาคนป่วยของกูย  มีการใช้ท่ารำง่ายๆ ประกอบทำนองดนตรี เชื่อว่าไม่มีท่ารำตายตัว เพราะผีพารำ (หน้า 199) นอกจากนี้ การรำมม็วต หรือ เรื้อมม็วต ก็เป็นการรำเพื่อรักษาผู้ป่วยเช่นกัน โดยผู้ประกอบพิธีเรียก ครูมม็วต จะเป็นร่างทรง เทพ หรือภูติผี มีวงกันตรึมบรรเลงประกอบ ทำนองและการร้องโหยหวน เยือกเย็น กล่าวกันว่าพอที่จะทำให้คนป่วยลืมความเจ็บป่วยได้ชั่วระยะหนึ่ง (หน้า 200)
ศิลปะการทำบั้งไฟ นับว่าเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของชาวอีสาน โดยเอามูลเจีย หรือดินปะสิว มาคั่วกับถ่านต้นปอ หรือหม่อน แล้วตำ หรือบดให้ละเอียดให้ได้ดินปืน แล้วเอาใส่กระอกไม้ไผ่ หรือ ท่อเหล็ก แล้วตำ หรือ อัดให้แน่นที่สุดเจาะรูตรงกลางแล้วมัดหางติดชนวนใช้ตอกหรือเชือกปอขันให้แน่นเพื่อไม่ให้ระเบิด แล้วประกอบลูกแอ้ ซึ่งลูกบั้งไฟเล็ก ลดหลั่นขนาดกันเหมือลูกโหวด เพื่อให้เกิดเสียงเวลาบั้งไฟหมดแรงขับตกลงดิน (หน้า 105-106 ) บั้งไฟมี 3 ประเภท บั้งไฟน้อย ขนาดดินปืนต่ำกว่า สิบกิโลกรัมลงมา บั้งไฟหมื่น บรรจุดินปืน ระหว่าง สิบ ถึง ยี่สิบ กิโลกรัม  บั้งไฟ แสน บรรจุดินปืน ตั้งแต่ ยี่สิบ กิโลกรัม  ขึ้นไป (หน้า 106)

Folklore

ตำนานสิงหล มีบันทึกว่า พราหมณ์ฮินดูผู้หนึ่ง นามว่า “คันธิยะ” หรือ “คันธินยะ”  เดินทางจากอินเดียมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ต่อมาได้สมรสกับธิดาแห่งนาคปุระ นามว่า “โสมะ” และได้สถาปนาตนเองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรฟูนัน ตำนานดังกล่าวสอดคล้องกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อินเดียที่กล่าวว่า ในพ.ศ. 239 พระเจ้าอโศก ได้ส่งสมณทูต เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเป็นดินแดนที่มีชุมชนที่พูดภาษาสันกฤต แสดงว่าบริเวณดังกล่าวมีชุมชนพราหมณ์ฮินดูอยู่ก่อนแล้ว  (หน้า 37)
ในภูมิพื้นโศลกเมืองเวียงจันทร์หลักฐานที่บันทึกประวัติศาสตร์เมืองจำปาศักดิ์ เมืองนี้เป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่ง ในเขตอินโดจีนตอนกลาง มีอายุในช่วง พุทธศตวรรษที่ 11 ซึ่งเป็นยุคเปลี่ยนผ่านจากอาณาจักรฟูนัน สู่ อาณาจักรขอม เดิมชื่อ “นครกระติบกลาง” เล่าขานกันว่า ราวพ.ศ. 987 กษัตริย์ขอม พร้อมด้วยไพร่พล แขก จาม และลาวปนส่วย ได้มาตั้งเมือง ณ บริเวณนี้ จึงตั้งชื่อเมืองกระติบกลาง ว่า“กาลจำบากนาคบุรี” สำหรับตำนานจากใบลานในวัดองค์ตื้อ และตำนานธาตุพนม กล่าวตรงกันว่า ในปี พ.ศ. 2256 พระสงฆ์ทรงสมณคุณรูปหนึ่ง นามว่า ” ราชครูหลวงโพนสะเม็ก”  (ยาครูขี้หอม) เป็นผู้เปลี่ยนชื่อเมืองเดิม เป็น “จำปาศักดิ์นัคบุรีศรี” นอกจากนี้ ยังมีตำนานเกี่ยวกับ สาเหตุที่มาของพิธีเสียผีว่า หลังจากเจ้าผู้ครองเมือง องค์แรกสิ้นพระชนม์ มีการปกครองในรูปกรมการเมือง นางเภา ธิดา ของกรมการผู้หนึ่งต่อมา เป็นกรมการเมือง ลักลอบได้เสียกับหนุ่มเมืองหนองบัวลำภูแล้วภายหนังหนุ่มนั้นหนีไป นางเภาจึงได้สาปแช่งว่า หากชายลักลอบได้เสียหญิงแล้ว ให้ฝ่ายหญิงเอาความฝ่ายชาย เอาเงินมาพลีกรรมบวงสรวง เสื้อเมือง ทรงเมือง ไม่เช่นนั้นให้ “ข้าวตายคา นาตายแล้ง” (หน้า  56 )  ในสังคมกูย มีความผูกพันกับช้างมาก จนเกิดมีนิทานว่า สามี ภรรยาคู่หนึ่ง ขัดสนยากจน ทนเก็บของป่า มาแลกข้าวประทังชีวิต และมาขออาศัยกับควาญช้าง ในขณะที่ครอบครัวควาญช้าง มีแต่เรื่องทะเลาะวิวาทเป็นประจำ ทำให้ ขวัญของช้างเบื่อหน่าย หนีไป จนมาเห็นสามีภรรยา ที่ยากจน อยากช่วยเหลือ มาแสดงเป็นนิมิตลำแสง ภรรยานั้นเห็นว่ามีขวัญช้างมาส่องแสงที่หัวนอน ก็เอาผ้ามาห่อเก็บไว้ จากนั้นก็ตั้งใจทำมาหากินจนมีชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนครอบครัวควาญช้างก็หมดเนื้อหมดตัว แสดงให้ว่า กูยต้องปฏิบัติต่อช้างอย่างดี (หน้า 151-152)
ตำนานของการทำบุญข้าวสาก เกี่ยวเนื่องกับนิทานชาดกในพุทธศาสนา ว่าด้วยการจองเวรของภรรยาน้อยที่มีต่อภรรยาหลวงที่พยายามจะทำลายครรภ์และตัวภรรยาน้อยด้วยความอิจฉาได้เวียนว่ายตายเกิดมาจองเวรกันหลายชาติจนในชาติสุดท้ายภรรยาน้อยมาเกิดเป็นนางยักษ์จะจับทารกน้อย ของภรรยาหลวง พระพุทธเจ้าได้ตรัสห้ามไว้ไม่ให้จองเวร แล้วครอบครัวนั้นได้พานางยักษ์ไปเลี้ยงดูอย่างดี ทำให้คลายความอาฆาต จึงตอบแทนด้วยการพยากรณ์ฝนฟ้าในแต่ละปี แนะวิธีทำนาไม่ให้เสียหาย จนได้รับผลดี จนกระทั่งชาวบ้านได้ล่วงรู้ ได้เคารพดูแลนางยักษ์  ยักษ์ก็ตอบแทนโดยบอกสภาพดินฟ้าอากาศล่วงหน้า เลยกลายมาเป็นพิธีไหว้ผีหัวนาของชาวอีสาน (หน้า 109-110)
ตำนานพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับปราสาทภูมิโพน มี 2 เรื่อง เกี่ยวกับธิดากษัตริย์ขอม( เนียงด๊อฮทม) และ เรื่อง นางผมหอม (เนียงช๊อคกระโอบ) เรื่องแรกเล่ากันว่าปราสาทนี่กษัตริย์ขอมได้สร้างไว้เป็นที่หลบภัยของราชวงศ์ในกลางป่า พระนางศรีจันทร์ (เนียงด๊อฮทม)ได้มาหลบภัย นางเกิดสังหรณ์ว่าอาจมีอันตราย  จึงเสี่ยงทายหาคนช่วย โดยทำกระทงใส่รูปของตนกับเครื่องหอม ลอยน้ำไป จนได้ เจ้าชายโฮลมาน เจ้าเมืองๆ หนึ่ง ได้เข้ามาช่วยสร้างป้อม กำแพง พร้อมทั้งขุดสระหลายสระรอบปราสาท และให้สัญญากันว่า หากจะขอความช่วยเหลือให้ตีกลอง ปรากฏภายหลังจากคำอ้อนวอน ของชายที่ติดตามมาต้องการให้พระนางตีกลอง จนเจ้าชายมาช่วยแต่ไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์อะไร เลยเลิกสัญญาต่อกันพระนางเสียใจมาก จนกระทั่งมีพรานมารู้ว่ามีธิดากษัตริย์มาซ่อนตัวอยู่ จึงนำข่าวไปบอก เจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่ง  เจ้าเมืองนั้นเลยยกทัพมาต่อสู้และรับพระนางไป  (หน้า 277-278)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การธำรงอัตตลักษณ์ ของ เขมร, ลาว (ไทยอีสาน) และ ส่วย(กูย) ที่ชัดเจนคือ การใช้ภาษาที่แตกต่างในแต่ละกลุ่ม และ ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ยังปฏิบัติกันอยู่ในแต่ละกลุ่ม โดยทั่วไปส่วย (กูย) มีชีวิตที่เรียบง่าย รักสันติ อหิงสา (หน้า 70) ด้วยการนับถือผีปะกำ ส่วยช้าง (กูยตำแร็ย) จึงมีความเป็นระเบียบวินัยมาก และมีเอกภาพทางสังคมสูง (หน้า 131) เมื่อครอบครัวส่วย ยังมีช้างอยู่ในการครอบครอง อยู่ ครอบครัวนั้นก็ยังคงถือว่าช้าง เป็นสัญลักษณ์แห่งบรรพบุรุษ มีการประกอบพิธีกรรมต่างสำหรับศาลปะกำ รวมทั้งถือว่าช้างเป็นสมาชิกในครอบครัว ก็ต้องปฏิบัติตามจารีต ธรรมเนียมที่สืบทอดมา (หน้า 155)

Social Cultural and Identity Change

 
ส่วย เขมร ลาว (ไทยลาว)  มีมรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ที่แตกต่างกัน  เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ และ ภายใต้การปกครองเดียวกันมาเป็นเวลานาน  จนยอมรับวัฒนธรรมของชาติ (National Culture) ร่วมกัน เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลง ให้เกิด วัฒนธรรมย่อย (Sub- Culture)   (หน้า 119) ส่วยที่มีการแต่งานกับเขมร เมื่อ 200 ปีที่ผ่านมาได้รับวัฒนธรรมเขมรเข้ามา ผสม กลายเป็น “เขมรส่วย” (Khmer-Soai)  ส่วนการผสมผสานวัฒนธรรมของส่วย กับกลุ่มลาว ทำให้เกิด วัฒนธรรม “ลาวส่วย” (Lao_Soai) (หน้า 121) การคมนาคมที่เจริญขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่ออาชีพของกูยเลี้ยงช้าง ทำให้สัตว์พาหนะนั้นหมดบทบาทในการขนส่งโดยสารถูกทดแทนด้วยการใช้เครื่องจักร เครื่องยนต์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ การเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยปัจจุบัน ทำให้ มีการแบ่งกลุ่ม ส่วย (กูย) สองกลุ่ม คือ กลุ่มดั้งเดิม หรือ กลุ่มอนุรักษ์  กับ กลุ่ม หัวก้าวหน้า หรือ ส่วย (กูย) ใหม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับศูนย์อำนาจปกครองของรัฐ ทำให้มีความเห็น และค่านิยม เช่นเดียวกับ ไทยกลุ่มอื่นๆ  (หน้า 153)  นอกจากนี้ผลจากกิจกรรมส่งเสริม และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ก็มีส่วนที่ทำให้ ส่วย เกิดสำนึกที่แตกต่าง และมีความสับสน ต่อรากฐานดั้งเดิมของตน (หน้า 9)

Critic Issues

ไม่ปรากฏ

Map/Illustration

แผนที่
1.         แผนที่ภูมิศาสตร์อินโดจีน แสดงอาณาจักรฟูนัน ขอม และจาม (ของ จอห์น สตาฟอร์ด) (หน้า 37)
2.         ผังจำลองนครวัต (หน้า 40)
3.         แผนที่แสดงเมือง (หน้า 64)
4.         แผนที่แสดงอาณาจักรเจนละ แบ่งเป็นเจนละบก และ เจนละน้ำ (หน้า 96 )
5.         แผนผังกำแพงเมือง คูเมืองสุรินทร์ ที่แสดงถึงอิทธิพลศิลปะทวาราวดี  (หน้า 221 )
6.         แผนที่แสดงพื้นที่การพูดภาษาพื้นเมือง เขมร ลาว ส่วย ในจังหวัดสุรินทร์ (หน้า  223 )
7.         แผนที่แสดงที่ตั้งกำแพงเมือง คูเมืองสุรินทร์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  (หน้า 248 )
8.         แผนผังโบราณสถานกำแพงเมือง คูเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ (หน้า 249 )
9.         แผนผังปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ  จังหวัดสุรินทร์  (หน้า  257 )
10.     แผนผังปราสาทยายเหงา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์   (หน้า 273 )
11.     แผนผังปราสาทภูมิโพน  (หน้า 279 )
ตาราง
1.         ตารางรายชื่อหัวเมืองลาวตะวันออก,หัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือ  ,หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ , หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง (หน้า 30-32)
2.         ตารางวันที่เหมาะสมในการทำพิธีต่างๆ (หน้า 172 )
3.         ตารางวิธีการทำนายฝนโดยกำหนดจุดบนตัวโค  (หน้า 173)
4.         ตารางกำหนดการสำรวจสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น จังหวัดสุรินทร์  (หน้า  213)
5.         ตารางรูปแบบศิลปะสมัยเมืองพระนคร  (หน้า 244 )
6.         ตารางรูปแบบศิลปะสมัยเมืองพระนคร  (หน้า 244 )
7.         ตารางรูปแบบศิลปะสมัยก่อนเมืองพระนคร  (หน้า 245 )
8.         ตารางรูปแบบศิลปะแบบบาปวน, แบบนครวัต และ แบบบายน  (หน้า 246 )
สารบัญภาพ
1.         ภาพแม่น้ำมูลถ่ายย้อนแสง หรือ ภาพลายเส้นแสดงภาคอีสานตอนล่าง  (หน้า 33)
2.         ภาพกวนเกษียรสมุทรที่นครวัต  (หน้า 34)
3.         ภาพศิลปะเครื่องปั้นสมัยราชวงศ์ฉาง (หน้า37)
4.         ภาพลายเส้นแสดงการชนไก่ (สเค็ทช์จากนครวัต) (หน้า 39)
5.         ภาพลายเส้นพระพิฆเนศ (สเค็ทช์จากนครวัต) (หน้า 49)
6.         ภาพลายเส้นที่นครวัตแสดงเชิงเทียนนาคเศียร (หน้า 52)
7.         ภาพปราสาทวัดภู (หน้า 62)
8.         ภาพลายเส้นแสดงภาพเทวรูป และโขลงช้าง (หน้า 67)
9.         ภาพทับหลังที่แสดงกาลมุข หรือเกียรติมุข หรือหน้ากาลซึ่งเป็นฐานรองรับเทวรูปสำคัญ (หน้า 73)
10.     ภาพพระธาตุพนมองค์เดิม (หน้า 76)
11.     ภาพลายปราสาทหินพิมาย และ ปราสาทเขาพนมรุ้ง (หน้า 82)
12.     ภาพปราสาทบ้านพลวง (หน้า 86)
13.     ภาพจำลักทับหลังปราสาทบ้านพลวง (หน้า 86)
14.     ภาพจำหลักทับหลังปราสาทพนมรุ้ง (หน้า 86)
15.     ภาพเปรียบเทียบการจำหลัก และศิลปกรรม ปราสาทศีขรภูมิ กับ ปราสาทหิน-   พิมาย (หน้า 88)
16.     ภาพลายปราสาทวัดสระกำแพงใหญ่ และกู่พระโกนา (หน้า 89)
17.     ภาพปราสาทตาเมือนน้อย (หน้า 92)
18.     ภาพปราสาทเมืองจำปาศรี (หน้า 92)
19.     ภาพใบเสมาพบที่ปราสาทสระแจง จังหวัดปราจีนบุรี (หน้า 97)
20.     ภาพเขียนที่ผาแต้ม (หน้า 99)
21.     ภาพริ้วขบวนแห่การทำบุญเทศกาลของชาวลุ่มน้ำมูล (หน้า 102)
22.     ภาพปราสาทศีขรภูมิใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นหินทราย ศิลาแลง และ อิฐ (หน้า 217)
23.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะแบบพนมดา (หน้า 227)
24.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบสมโบร์ไพรกุก (หน้า 228)
25.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบไพรกแมง และกำพงพระ (หน้า 229)
26.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมก่อนแบบกุเลน (หน้า 231)
27.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอบแบบกุเลน (หน้า 231)
28.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบพะโค (หน้า 232)
29.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบบาแค็ง (หน้า 233)
30.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบเกาะแกร์ (หน้า 234)
31.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบบันทายสรี (หน้า 236)
32.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบแปรรูป (หน้า 237)
33.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบคลัง และแบบบาปวน (หน้า 238)
34.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบบาปวน และแบบนครวัต (หน้า 238)
35.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบนครวัต (หน้า 240)
36.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบนครวัต (หน้า 241)
37.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบนครวัตและแบบบายน (หน้า 243)
38.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบนครวัต (หน้า 243)
39.     ภาพเครื่องแต่งกายบุรุษศิลปะขอมแบบบาปวน และแบบนครวัต (หน้า 238)
40.     ภาพแสดงกำแพงเมืองชั้นในด้านหน้าวัดพรหมสุรินทร์ (หน้า  252 )
41.     ภาพคูเมืองนอกกำแพงชั้นในด้านหน้าวัดจุมพลสุทธาวาสก่อนการบูรณะ
(หน้า  253 )
42.  ภาพกำแพงเมืองชั้นในด้านหน้าวัดพรหมสุรินทร์ถูกขุดทำแปลงปลูกผักทุกปีจนอยู่ในสภาพทรุดโทรม (หน้า  254 )
43.  ภาพคูเมืองนอกกำแพงเมืองชั้นในด้านหน้าวัดพรหมสุรินทร์ มีวัชชพืชขึ้นหนาแน่น และอยู่ในสภาพน้ำเสีย (หน้า  254 )
44.  ภาพปราสาทศีขรภูมิ อำเภอศีขรภูมิ  จังหวัดสุรินทร์ ด้านทิศตะวันออก แสดงให้เห็นองค์ปรางค์ประธาน และ ปรางค์บริวาร (หน้า  256)
45.  ภาพแสดงปรางค์ที่ยอดเปิดออก เนื่องจากบัวกลุ่มที่ตกลงมา  (หน้า  263 )
46.  ภาพความเสียหายของสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม(ปราสาทศีขรภูมิ) (หน้า 265 )
47.  ภาพปราสาทตะเปรียงเตียด้านทิศตะวันออก  (หน้า  267)
48.  ภาพร่องรอยปราสาทโบราณในบริเวณวัดเทพนิมิตร  (หน้า  268 )
49.  ภาพสิ่งก่อสร้างชิดปราสาทตระเปรียงเตียจนขาดความสวยงาม  (หน้า 269 )
50.  ภาพส่วนของปราสาทที่กำลังจะพังทลาย  (หน้า 270 )
51.  ภาพปราสาทยายเหงา อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ องค์ด้านทิศใต้  (หน้า 271 )
52.  ภาพมกรคายนาคที่มุมกรอบหน้าบันปราสาทยายเหงา  (หน้า  273)
53.  ภาพปราสาทยายเหงา องค์ด้านทิศเหนือใช้เหล็กค้ำยันป้องกันการพังทลาย 
(หน้า 274 )
54.  ภาพปรางค์ประธาน (องค์สูง) และฐานอาคารก่อศิลาแลง (ฐานเตี้ย) (หน้า 280 )
55.  ภาพร่องรูน้ำมนต์จากปรางค์องค์ประธาน (หน้า 281)
56.  ภาพแสดงวัชพืชขึ้นบนองค์ปรางค์ประธาน   (หน้า 282 )
57.  ภาพแสดงการผุสลายขององค์ปรางค์ประธาน   (หน้า 283)

Text Analyst นายพรนรินทร์ เพิ่มพูล Date of Report 23 ก.พ. 2558
TAG คะแมร์ลือ, ลาว, กูย กวย(ส่วย), ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, วัฒนธรรม, ลุ่มแม่น้ำมูล, สุรินทร์, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง