สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ไทเบิ้ง ไทเดิ้ง,วัฒนธรรม,ลุ่มแม่น้ำ,เขื่อน,ป่าสัก,ลพบุรี,สระบุรี
Author ภูธร ภูมะธน และคณะ
Title มรดกวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสัก
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ไทเบิ้ง ไทเดิ้ง, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 481 Year 2541
Source ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี
Abstract

ชุมชนที่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสักชุมชนปัจจุบันคือ ไทยเบิ้ง บ้างเรียกว่า ไทยเดิ้ง หรือไทยโคราช มีชุมชนใหญ่อยู่ที่บ้านมะนาวหวาน บ้านโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม และบ้านชัยบาดาล อำเภอชัยบาดาล จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุสถานกำหนดได้ว่าเป็นชุมขนที่มีการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 และด้วยเหตุที่เป็นเส้นทางผ่านทั้งทางบกและทางน้ำ(แม่น้ำป่าสัก) ไปยังหัวเมืองอื่นๆ ชุมชนแถบนี้จึงหนาแน่นขึ้นเนื่องจากการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชนอื่นๆเข้ามาอาศัยในแถบนี้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มไทยลาว ที่อพยพตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านมะกอกหวาน บ้านท่ากรวด และบ้านแก่งผักกูด เป็นต้น ชุมชนไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ที่อาศัยในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสัก เป็นชุมชนที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมกับชุมชนไทยเบิ้งใกล้เคียง เช่น บ้านดีลัง บ้านสระโบสถ์ บ้านเพนียด บ้านโคกสลุง บ้านบัวชุม และเมืองนครราชสีมา ด้วยสาเหตุของการสมรส พิธีกรรม การปครองและการเป็นเส้นทางผ่าน ไทยเบิ้งที่อาศัยในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสักมีเอกลักษณ์ในเรื่องของ ภาษาพูด ประเพณี ความเชื่อ ภูมิปัญญา สังคม สถาปัตยกรรม และผลงานทางวัฒนธรรม เช่น ภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม การแต่งกาย ดนตรี การละเล่นเพลงพื้นบ้าน การละเล่นทั่วไปและกีฬา นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ชุมชนไทยเบิ้งในพื้นที่ดังกล่าว เป็นชุมชนที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมแบบผสมผสาน กล่าวคือเป็นชุมชนที่มีทั้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะของตน ลักษณะวัฒนธรรมแบบชุมชนไทยภาคกลางบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลักษณะวัฒนธรรมไทยโคราช

Focus

ศึกษาวัฒนธรรมไทยเบิ้ง ลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสัก

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทยเบิ้ง ไทยเดิ้ง หรือไทยโคราช

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาไทยเบิ้ง บ้างมีผู้เรียกในชื่ออื่นว่า “ภาษาไทยเดิ้ง” หรือ “ภาษาไทยโคราช “ มีภาษาพูดคล้ายกับภาษาไทยภาคกลาง แต่มีเสียงวรรณยุกต์ต่างไป ออกเสียง “ร” ชัดเจน ใช้คำสรรพนาม “เขา” เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 (หมายถึงตัวผู้พูด) และนิยมลงท้ายประโยคด้วยคำว่า เบิ้ง เดิ้ง เหว่ย และด๊อก ภาษาไทยเบิ้ง มีหน่วยเสียงพยัญชนะ 21 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระ 18 หน่วยเสียงและหน่วยเสียงวรรณยุกต์ 5 หน่วยเสียง นอกจากนี้พบว่ายังมีการใช้ภาษาไทยภาคกลาง ภาษาลาว และภาษาเขมรบ้างสำหรับตั้งชื่อชุมชน (หน้า ช – ซ,266,273)

Study Period (Data Collection)

มิถุนายน พ.ศ. 2539 – พฤษภาคม พ.ศ. 2541

History of the Group and Community

ไม่ปรากฏข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่ชัดเจน จากศึกษาทางวิชาการทราบเพียงว่าการศึกษาในยุคต้นมีคำอธิบายเกี่ยวกับ “ไทยโคราช” ว่าหมายถึงไทยที่อยู่ในโคราชหรือจังหวัดนครราชสีมาทั้งหมด ชนกลุ่มนี้พูดภาษาไทยด้วยสำเนียงที่แปลกและเหน่อ ต่อมามีการใช้ “ไทยเบิ้ง” หรือ “ไทยเดิ้ง” ปะปน ทั้งนี้คงจะด้วยเหตุผลที่ว่า กลุ่มวัฒนธรรมไทยโคราช แท้จริงแล้ว มีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อื่นนอกจากจังหวัดนครราชสีมา อันหมายรวมถึงพื้นที่บางอำเภอของจังหวัดลพบุรี ซึ่งในทางวิชาการมีการกล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของไทยเบิ้ง ไทยเดิ้ง หรือไทยโคราชในจังหวัดลพบุรีมานานกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว (หน้า 18) การตั้งถิ่นฐานแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีแสดงการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน อย่างน้อยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อราว 3,000 – 4,000 ปี ส่วนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มชาวไทยเบิ้งมาตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา เช่น เมื่อ พ.ศ. 2235 สมัยสมเด็จพระเพทราชา ขบถบุญกว้าง ได้ใช้เส้นทางยกพลจากเมืองนครราชสีมา เดินทัพตัดลงมาทางเมืองบัวชุม เมืองไชยบาดาล กวาดได้ผู้คนเป็นอันมากก็ยกกองทัพผ่านไปเมืองลพบุรี นอกจากนี้ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุชื่อหัวเมืองฝ่ายตะวันออกของกรุงศรีอยุธยา คือ เมืองบัวชุม และเมืองไชยบาดาล จากการสำรวจพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำป่าสักและบริเวณใกล้เคียงในปัจจุบัน พบว่าไทยเบิ้งมีการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆคือ ที่ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล อำเภอโคกสำโรง อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี (หน้า 20-21) ตำบลแก่งผักกูด พื้นเพเดิมของประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากอำเภอหนองโน อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี เดิมเป็นหมู่บ้านขึ้นกับตำบลโคกสลุง อำเภอชัยบาดาล พ.ศ.2494 มีการแบ่งเขตการปกครองของอำเภอชัยบาดาลใหม่ ตั้งตำบลมะกอกหวาน บ้านแก่งผักกูดจึงย้ายไปขึ้นกับตำบลมะกอกหวาน พ.ศ.2521 ได้ย้ายมาขึ้นกับอำเภอท่าหลวงตราบปัจจุบัน (หน้า 366) บ้านโคกสลุง จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าเป็นแหล่งชุมชนโบราณมาหลายยุค ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน ตำบลโคกสลุงขึ้นกับเมืองไชยบาดาล (ชัยบาดาล) มาโดยตลอด กระทั่ง พ.ศ. 2505 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศตั้งอำเภอพัฒนานิคม จึงได้แยกตำบลโคกสลุงมาขึ้นกับอำเภอพัฒนานิคมตั้งแต่นั้นมา (หน้า 373) ตำบลชัยบาดาล มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในอดีตมีฐานะเป็นเมืองชั้นโทที่อยู่ในความปกครองของเมืองโคราช ปี พ.ศ.2457 ยกฐานะเป็นเมืองไชยบาดาล ขึ้นกับเมืองเพชรบูรณ์ พ.ศ.2461 โอนขึ้นอยู่กับเมืองสระบุรี ปีพ.ศ.2484 ได้โอนอำเภอไชยบาดาลไปขึ้นกับการปกครองของจังหวัดลพบุรี(หน้า 386-387) ตำบลมะกอกหวาน เดิมเป็นหมู่บ้านขึ้นกับตำบลชัยบาดาล ได้รับการยกฐานะเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอชัยบาดาล เมื่อ พ.ศ.2484 (หน้า 394) ตำบลมะนาวหวาน ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่ชัด ก่อนจะมีการจัดการปกครองท้องที่แบบมณฑลเทศาภิบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 บ้านมะนาวหวานขึ้นกับเมืองไชยบาดาล มณฑลนครราชสีมา ต่อมา พ.ศ.2457 ถูกโอนขึ้นกับมณฑลเพชรบูรณ์ พ.ศ.2461 ถูกโอนขึ้นกับจังหวัดสระบุรี และ พ.ศ.2484 ขึ้นกับจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2505 ตำบลมะนาวหวานโอนมาขึ้นกับอำเภอพัฒนานิคม จนกระทั่งปัจจุบัน (หน้า 399) ตำบลหนองบัว เดิมเป็นหมู่บ้านขึ้นกับตำบลคำพราน เมืองไชยบาดาล มณฑลนครราชสีมา พ.ศ.2461 อำเภอไชยบาดาลโอนมาสังกัดจังหวัดสระบุรี ตำบลคำพรานจึงขึ้นกับจังหวัดสระบุรี พ.ศ. 2484 ได้โอนอำเภอไชยบาดาลขึ้นกับอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ต่อมา ปีพ.ศ.25015 ตั้งอำเภอพัฒนานิคม จึงได้แบ่งบ้านคำพรานฝั่งซ้าย บ้านหนองบัว บ้านหนองกรดมาขึ้นกับอำเภอพัฒนานิคม โดยมีแม่น้ำป่าสักเป็นเส้นแบ่งเขต และตั้งบ้านหนองบัวเป็นตำบลตั้งแต่นั้นมา (หน้า 407)

Settlement Pattern

ไม่มี

Demography

ตำบลแก่งผักกูด เมื่อปี พ.ศ. 2539 มีประชากร 616 ครัวเรือน รวม 2,722 คน เป็นชาย 1,361 คน หญิง 1,361 คน ตำบลโคกสลุง มีประชากร 1,853 ครัวเรือน รวม 8,621 คน เป็นชาย 14,217คน หญิง 4,404 คน ตำบลชัยบาดาล มีประชากร 1,309ครัวเรือน รวม 7,015 คน เป็นชาย 3,464 คน หญิง 3,551 คน ตำบลมะกอกหวาน มีประชากร 499 ครัวเรือน รวม 1,952 คน เป็นชาย 941 คน หญิง 1,011 คน ตำบลมะนาวหวาน มีประชากร 674 ครัวเรือน รวม 2,977 คน เป็นชาย 1,500 คน หญิง 1,477 คน ตำบลหนองบัวมีประชากร 1,251 ครัวเรือน รวม 5,538 คน (หน้า 367,375,388,395,400,408)

Economy

ชุมชนไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ที่อาศัยในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสักในอดีต ระยะเริ่มก่อตั้งชุมชนจนถึงก่อน พ.ศ.2500 ส่วนใหญ่อาศัยป่าในการประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว เช่น การทำไต้ การทำลาน ส่วนอาชีพอื่นๆได้แก่ อาชีพทำสวน ทำไร่ ทำนา หาปลา ค้าวัวควาย ล่าสัตว์และหาของป่า ปัจจุบันประชาชนที่อาศัยบริเวณที่จะสร้างเขื่อนป่าสัก ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการทอผ้าเพื่อจำหน่ายบ้างเล็กน้อย (หน้า ช,89-91,100,143)

Social Organization

ลักษณะทางสังคมของชุมชนไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ที่อาศัยในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสัก เป็นสังคมสงบสุข มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (หน้า ช) ชุมชนไทยเบิ้งบริเวณแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก เป็นสังคมที่มีความเป็นอยู่เหมือนชาวไทยชนบททั่วๆไป มีลักษณะเป็นครอบครัวขยายหรือครอบครัวเสริม มีสมาชิกในครัวเรือน 5-6 คน ประกอบด้วย สามี ภรรยา บุตร บิดา มารดา หรือญาติพี่น้องฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาศัยอยู่ด้วย เมื่อลูกแต่งงาน ฝ่ายชายจะเข้ามาอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิงหรือปลูกเรือนอยู่ใกล้บ้านพ่อแม่หรือญาติพี่น้องของฝ่ายหญิง สามีเป็นผู้นำ เป็นผู้หารายได้และจัดการทรัพย์สินของครอบครัว มีอิทธิพลและอำนาจเหนือคนอื่นๆ ส่วนภรรยาเป็นผู้ตาม มีหน้าที่จับจ่าย จัดอาหาร เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน ทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูก ด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวไทยเบิ้ง สามี ภรรยาและบุตรมีความใกล้ชิด สนิทสนมกัน แต่ละคนมีเวลาให้กันพอสมควร มีการพูดคุยกันในเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีต่อกัน ภรรยายกย่องสามี สามียอมรับภรรยา พ่อแม่และญาติดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด มีการนับระบบเครือญาติ มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้อง ระหว่างปู่ย่าตายายและหลาน และระหว่างเพื่อนบ้าน จึงทำให้สังคมไทยเบิ้งเป็นสังคมที่สงบสุข (หน้า 208,211,215,224)

Political Organization

ตำบลแก่งผักกูด แบ่งการปกครองออกเป็น 7 หมู่บ้าน 616 ครัวเรือน ตำบลโคกสลุง แบ่งการปกครองออกเป็น 11 หมู่บ้าน ตำบลชัยบาดาลแบ่งการปกครองออกเป็น 2 ประเภท คือเขตสุขาภิบาลและนอกเขตสุขาภิบาล ตำบลมะกอกหวานแบ่งการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้าน ตำบลหนองบัวแบ่งการปกครองออกเป็น 11 หมู่บ้าน (หน้า 367,374,388,395,408)

Belief System

ชุมชนไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ที่อาศัยในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสักนับถือพุทธศาสนา มีความเชื่อเรื่องการถือโชคลาง โหราศาสตร์ ภูตผีปีศาจไสยศาสตร์และความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆเหมือนกับคนไทยทั่วๆไป ปัจจุบัน ไทยเบิ้งที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ยังมีความเชื่อเรื่องผี เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีปอบ ผีพรายผีกระสือ ผีตายโหง ผีปะกำ ผีนางไม้ ผีตะมอยและผีโรง เป็นต้น (หน้า ช,58,62-63,69) หญิงตั้งครรภ์ชาวไทยเบิ้งมีความเชื่อ ข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติหลายประการ อาทิ ห้ามทำบาป ไม่ตกปลา ไม่ฆ่าสัตว์ ห้ามเตรียมของใช้ของลูกไว้ก่อน ห้ามกินกล้วยแฝด กลัวว่าจะมีลูกแฝด ทำให้คลอดยาก ห้ามข้ามขอนไม้ใหญ่ ไม่ไปเยี่ยมผู้ป่วยหนัก ไม่ไปงานศพ มีความเชื่อว่าถ้าได้ลอดท้องช้างหรือกินน้ำในรอยเท้าช้าง จะทำให้คลอดง่าย เป็นต้น (หน้า 40-41) เมื่อมีเด็กคลอดใหม่ ผู้เป็นพ่อเด็กหรือแม่ใหญ่จะเป็นผู้นำรกไปฝังใต้บันได เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อเด็กเตอบโตขึ้นจะได้เป็นคนรักบ้าน เป็นห่วงบ้าน เมื่อเด็กอายุ 13-14 ปี จะมีพิธีตัดจุก ตัดแกละ หรือตัดเปียโดยนิมนต์พระสงฆ์สวดชยันโตรดน้ำพุทธมนต์และเป็นผู้โกนผมให้(หน้า 41,44) ความเชื่อเกี่ยวกับสวัสดิมงคลในการดำเนินชีวิตของไทยเบิ้ง ส่วมใหญ่เป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับอาชีพการเกษตรกรรม เช่น ห้ามสวมรองเท้าเดินลุยผ่านลานข้าว เพราะเชื่อว่าลานข้าวเป็นที่อยู่ของแม่โพสพ การเลี้ยงสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ใช้งาน ไมนิยมเลี้ยงวัว 5 ม้า 6 ตัว ถือว่าอัปมงคล และเมื่อเสาบ้านมียางไม้ไหลออกมา ไทยเบิ้งเชื่อว่ามีผีสิงอยู่ภายในเสาต้นนั้น ทำให้อยู่ไม่เป็นสุข เกิดอันตรายต่อผู้คนในบ้าน ต้องแก้เคล็ดโดยหาหมอหาครูมาทำพิธีตอกตะปูสะกดผีปัดเป่าให้ผีออกจากเสา บ้างก็มีการเลี้ยงผีไว้โดยการปิดทอง คาดผ้าแดงและถวายพวงมาลัย ผีก็อาจให้คุณแก่ผู้อยู่อาศัยภายในบ้านได้ เป็นต้น (หน้า 83-84 )

Education and Socialization

ปัจจุบัน ตำบลแก่งผักกูด มีโรงเรียนประถมศึกษา 4 แห่ง ตำบลโคกสลุง มีโรงเรียนประถมศึกษา 4 แห่งและโรงเรียนมัธยมศึกษา 1 แห่ง ตำบลมะกอกหวาน มีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ 1 แห่ง ตำบลมะนาวหวาน 3 แห่ง และตำบลหนองบัว 1 แห่ง(หน้า 367,374,395,400,408)

Health and Medicine

ด้านการรักษาโรคของชุมชนไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก มีหมอรักษาโรคหลายประเภท เช่น หมอยาสมุนไพร หมอตำแย หมอรักษาโรคให้กำลังใจ เช่น หมอน้ำมนต์ (หน้า ช) การคลอดบุตรของสตรีชาวไทยเบิ้งทำคลอดโดยหมอตำแย เมื่อเด็กตกฟาก จำนำด้ายมัดสะดือ 3 เปลาะ ใช้ขมิ้นรองมือ วางสายสะดือบนขมิ้น ใช้ผิวไม้รวกตัดออก 2 เปลาะ ใช้รังหมาร่าเผาไฟ บดละเอียดนำไปพอกสะดือเพื่อให้สะดือแห้ง และต้องระมัดระวังไม่ให้สะดือเปียกน้ำ (หน้า 41) สมาชิกภายในชุมชนไทยเบิ้งมีสุขภาพดีเนื่องจากรักษาที่อยู่อาศัยอย่างสะอาด นิยมบริโภคเนื้อปลา ผักพื้นบ้านต้ม รับประทานแต่อาหารสุก ประกอบอาชีพที่ทำให้ได้ออกแรงเสมอ ไม่ขับถ่ายสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำ หากมีโรคภัยไข้เจ็บจะใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ตัวอย่างยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคทั่วไปของชุมชนไทยเบิ้ง อาทิ ยาสมุนไพรสำหรับเด็ก ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำ และนม ใช้เป็นอาหารบำรุงเด็ก รังหมาร่าย่างไฟป่น สำหรับโดยสะดือเด็กอ่อนไม่ให้เน่า ตานหม่อน ใช้กวาดลิ้น มะขามใช้สะเก็ดฝนกับน้ำปูน กินแก้ท้องเสีย สมุนไพรสำหรับทำความสะอาดและสมานแผน เช่น หนุมานประสานกาย สำหรับสมานแผล ใบตำลึง ใบมะลิ โขลกทาแผลอีสุกอีใส ใบส้มโอ ส้มซ่า ต้มอาบน้ำสระผม แก้หวัด ตับเต่าน้อย ตับเต่าใหญ่ และข้าวเย็นยากอ ต้มกินขณะอยู่ไฟ ขับน้ำคาวปลา เป็นต้น (หน้า 221 – 224) ปัจจุบัน ตำบลแก่งผักกูด ตำบลโคกสลุง ตำบลมะกอกหวาน ตำบลมะนาวหวาน มีสถานีอนามัยตำบลละ 1 แห่ง (หน้า 367,374,395,400)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ชุมชนไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ที่อาศัยในเขตที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนป่าสักมีเครื่องมือประกอบอาชีพส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่ ไม้ หวาย เถาวัลย์และกก เครื่องมือบางชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เช่น ตระกร้าถือ ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกระบุงขนาดเล็ก “เครื่องมือดำรงชีพ ประกอบอาชีพและพิธีกรรม” ของไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก สามารถแบ่งตามหน้าที่ใช้สอยได้ 5 ประเภท คือ เครื่องมือการเกษตร เช่น ไถ คราดและเกวียน เครื่องมือจับสัตว์ เช่น ลอบ ไซ ตุ้ม ลัน อีจู้ สุม และกระชัง เครื่องมือเครื่องใช้ภายในครัวเรือน เช่น กระบุง กระบาย กระจาด กะโล่ กระด้ง และตะกร้า เครื่องมือเบ็ดเตล็ด เช่น อุปกรณ์การทอเสื่อ ม้าหั่นใบยา เครื่องมือที่ใช้ในการจักสาน ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น พานดอกไม้ ธงคาถาพัน และม้าแห่นาค (หน้า ช,101-103) ด้านการทอผ้า พบว่านิยมทอผ้าฝ้ายเป็นลายตารางรูปสี่เหลี่ยม สำหรับไว้ใช้เอง เช่น ผ้าเย็บที่นอน หมอน ผ้าถุง ผ้าขาวม้าและย่าม ด้านการแต่งกายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มคือ สตรีสูงอายุนิยมนุ่งโจงกระเบน ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ส่วนชายนุ่งโสร่งตาหมากรุก พาดผ้าขาวม้าที่ไหล่ หากออกไปทำงานนอกบ้าน นิยมสะพายย่าม ในกรณีที่ไปร่วมงานศพ สามารถแต่งกายสีใดก็ได้ไม่ถือว่าผิดธรรมเนียมประเพณีแต่อย่างเดียว ส่วนประเพณีการแต่งกายสีขาวหรือดำไปงานศพนั้นได้รับแบบอย่างจากคนลพบุรี การแต่งกายของเพศหญิงในโอกาสปกติ เด็กหญิง สวมเสื้อกระโจม นุ่งซิ่นผืนเล็ก สีครามหรือสีดำ นิยมไว้ผมจุก แกละ และโก๊ะ หญิงสาวสวมเสื้อกระโจม และเสื้ออีแปะ มีผ้าสไบหรือผ้าขาวม้าพาดเฉียงไหล่ เสื้อกระโจมที่พบมี 2 แบบคือ เสื้อแบบจีบหรือรูดที่อกยาวคลุมสะโพกส่วนบน เหนืออกมีขอบพอดีอก มีสายเล็กๆที่บ่าทั้งสองข้าง ส่วนอีกแบบเป็นแบบจีบรูดที่อก ขอบเหนืออกใช้ขอบถักด้วยด้ายสีขาวเป็นลวดลายต่างๆ เช่นลายดอกไม้ ลายสัตว์และลายตัวหนังสือ นุ่งโจงกระเบน ตัดผมทรงดอกกระทุ่ม นิยมใช้ดินสอพองผสมขมิ้นทาหน้า นิยมเคี้ยวหมากและใช้สีผึ้งทาปาก หญิงวัยกลางคนและวัยชรา ยังคงแต่งกาย ไว้ผม แต่งหน้าและใช้สีผึ้งเช่นเดียวกับเมื่อตอนสาว ส่วนการแต่งกายของเพศชาย เด็กชายสวมเสื้อคอกลม คอกระบอก ปกฮาวาย ปกเชิ้ต นุ่งกางเกงขาสั้น กางเกงขาก๊วย ไว้ผมทรงจุก แกละ และโก๊ะ ชายหนุ่ม สวมเสื้อคอกลม เสื้อกุยเฮง คอกระบอก นุ่งกางเกงขาก๊วย กางเกงแพร นุ่งกางเกงขาสั้น ขายาว มีผ้าขาวม้าเคียนที่เอว ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ส่วนชายวัยกลางคนอยู่บ้านไม่นิยมสวมเสื้อ เมื่อออกนอกบ้าน สวมเสื้อแบบเดียวกับชายหนุ่ม ถ้าแต่งกายไปวัดจะมีผ้าขาวม้าตาดำลายใหญ่พาดที่ไหล่ การแต่งกายในพิธีแต่งงาน ผู้หญิงสวมเสื้อกระโจมสีอ่อน ห่มสไบแพรหรือผ้าขาวม้า ต่อมา บางคนสวมเสื้อกระโจมไว้ข้างใน สวมเสื้อปกฮาวายทับนอก นุ่งโจงกระเบนผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายสีเข้ม ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ผู้ชายสวมเสื้อคอกระบอกหรือคอกลม ห่มผ้าขาวม้าเฉียงที่ไหล่ ต่อมานิยมสวมเสื้อปกฮาวาย ปกเชิ๊ต ห่มสไบหรือผ้าขาวม้าเป็นสไบเฉียง นุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน หรือนุ่งกางเกงแบบทั่วไป ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม ส่วนการแต่งกายในงานบวชนาค นาคนุ่งผ้าซิ่นสีขาวหรือสีอื่น หรือนุ่งผ้าม่วงแบบจีบหน้านางคาดเข็มขัดนาก เงินหรือทอง ห่มสไบเฉียงบ่าสีขาว บ้างก็ห่มสไบเฉียงด้วยผ้าขาวม้า สวมเครื่องประดับที่ทำด้วยทอง (หน้า 51,161-168) ด้านสถาปัตยกรรมของชุมชนไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก มีลักษณะเฉพาะกลุ่มคือ เรือนยกเสาสูงแบบเรือนไทย มีประตู หน้าต่างขนาดเล็ก บ้างก็สลักอกเลาของประตูเป็นลวดลายแบบง่ายๆ ฝาเรือนทำด้วยฟาก และฝาค้อ (ฝาค้อเป็นฝาที่ไม่อาจหาได้ ณ ที่อื่น เนื่องจากต้นค้อที่นำมากรุแผงทำฝา เป็นพืชพื้นถิ่นแถบลุ่มแม่น้ำป่าสัก) และเนื่องจากชุมชนไทยเบิ้งตั้งถิ่นฐานในเส้นทางคมนาคมระหว่างที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ไปยังที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชุมชนในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำป่าสัก แถบจังหวัดเลย-เพชรบูรณ์ สถาปัตยกรรมในพื้นที่ศึกษาจึงมีลักษณะผสมผสานระหว่างกลุ่มชนทั้งสองอย่างน่าสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในศาสนา ลักษณะเฉพาะของเรือนบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักคือ ในอดีตเป็นเรือนผสมผสานระหว่างเรือนเครื่องผูกและเรือนเครื่องสับ โดยโครงสร้างเรือนใช้ไม้จริงในการก่อสร้าง ส่วนฝาเรือนเป็นเครื่องสับ เช่น ฝาฟาก หลังคามุงด้วยแฝก เป็นต้น รูปแบบของเรือนมีความหลากหลาย นอกจากนั้น เมื่อราวไม่เกินหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ชาวจีนได้เข้ามามีบทบาทด้านการค้าขายในพื้นที่ สถาปัตยกรรมบางหลังจึงได้รับอิทธิพลจีนผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย ดังเช่นที่ หอไตรวัดกัณฑาพฤกษ์ และหอสวดมนต์วัดจันทาราม และเมื่อราว 60-70 ปีก่อน นิยมปลูกเรือนไม้ใต้ถุนสูง หลังคาทรงปั้นหยา และทรงมนิลา (หน้า ช,227,256261) เครื่องดนตรีของชุมชนไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ได้แก่ เพี้ย (จิ้งหน่อง) ปี่ โทน และกลองยาว ส่วนเพลงพื้นบ้านที่สำคัญคือ เพลงปฏิพากษ์ ใช้โต้ตอบกันด้วยกลอนเพลง มีหลายรูปแบบ เช่น เพลงหอมดอกมะไฟ เพลงพวงมาลัย เพลงระบำบ้านไร่ เพลงโนเน เพลงพิษฐาน เพลงช้าเจ้าหงส์ และเพลงโคราช ซึ่งเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุดและยังมีผู้เล่นได้บ้างจนถึงปัจจุบัน ส่วนในด้านการละเล่นทั่วไปและกีฬาพื้นบ้านมีทั้งของเด็กและผู้ใหญ่ มีลักษณะคล้ายกับชาวไทยภาคกลางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและไทยโคราช เช่น มอญซ่อนผ้า งูกินหาง ลูกช่วง เบี้ยริบ สะบ้า และต่อไก่(หน้า ซ,23) ชาวไทยในลุ่มแม่น้ำป่าสักที่อายุ 50 ปีขึ้นไปนิยมสักตามส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น สักเป็นรูปงูใหญ่ เสือ สิงห์ หรือหนุมาน ด้วยหมึกสีดำ โดยนิยมสักหลังจากบวชเรียน (หน้า 73) เอกลักษณ์ผ้าทอของไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ได้แก่ รูปแบบการทอ ลักษณะลวดลายแบบง่ายๆไม่ซับซ้อน ลวดลายผ้าเกิดจากการใช้สีที่ต่างกันระหว่างเส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืน สีผ้านิยมใช้สีเข้มและเป็นสีตัดกันมากกว่าสีกลมกลืน (หน้า 160) งานศิลปกรรมที่พบ ณ ชุมชนไทยเบิ้งในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสักที่สำคัญ อาทิ “ธรรมมาสน์” ส่วนใหญ่ได้แนวคิดการออกแบบจากธรรมมาสน์บริเวณภาคกลางของประเทศไทยลักษณะรูปแบบไม่ซับซ้อนคือ ยกพื้นสูง มีหลังคาซ้อนชั้น และหลังคาจั่ว นิยมตกแต่งด้วยลายไม้ฉลุหรือแกะสลักลายนูนต่ำเป็นลายพรรณพฤกษา นอกจากนี้ยังได้สำรวจพบ “ประติมากรรม” จำนวนหนึ่ง ซึ่งมีอายุตั้งแต่สมัยทวารวดี ศิลปะเขมร สมัยอยุธยา สมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 11-ปัจจุบัน) ลักษณะประติมากรรมสามารถจำแนกได้ 3 แบบ คือ แบบจารีตประเพณี ได้แก่ พระพุทธรูป พระศรีอาริย์ และพระสังกัจจายน์ แบบพื้นบ้าน เช่น พระพุทธรูปและประติมากรรมรูปบุคคลและรูปสัตว์ที่แกะสลักโดยฝีมือชาวบ้าน และประติมากรรมอิทธิพลศิลปกรรมจีน เช่น ประติมากรรมปูนปั้นที่ถังเก็บน้ำ ณ วัดจันทาราม ส่วนจิตรกรรมที่พบในพื้นที่ อาทิภาพพระบฏเรื่องมหาชาติ และสมุดข่อยพระมาลัย ณ วัดจันทาราม ซึ่งคงมีอายุไม่เก่าเกินกว่าสมัยรัตนโกสินทร์ (หน้า 286,290-302,313) เครื่องดนตรีและเพลงพื้นบ้านของไทยเบิ้งในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสัก พบว่า เครื่องดนตรีที่สำคัญคือ เพี้ย (จิ้งหน่อง) ปี่ และกลองยาว เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่มีความซับซ้อนในการเล่นและการประดิษฐ์ เครื่องดนตรีบางชิ้น เช่น เพี้ย อาจได้รับอิทธิพลจากชุมชนไทยลาว ส่วนเพลงพื้นบ้านมีหลายประเภท เช่น เพลงรำโทน เพลงกลองยาว เพลงประกอบการเล่นเข้าผี เพลงหอมดอกมะไพ เพลงพวงมาลัย เพลงระบำบ้านไร่ เพลงโนเน เพลงพิษฐาน เพลงช้าเจ้าหงส์ เพลงโคราช เพลงประกอบพิธี เพลงพื้นบ้านดังกล่าวมีทั้งเพลงที่ใช้เสียงเครื่องดนตรี และเพลงที่ใช้คำกลอนกล่าวโต้ตอบกันระหว่างหญิงชาย (เพลงปฏิพากษ์) เพลงที่เป็นที่นิยมของไทยเบิ้งในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักคือ เพลงโคราช ซึ่งมีเนื้อหาดังตัวอย่างเพลงโคราชจากบ้านชัยบาดาน ชื่อเพลงโกยกิน ความว่า “(ชาย)ถึงพี่จะรักนางชอบนางพี่ไม่กล้าบอก...กะนาง พี่มาหลงรักน้องอยู่ทางหลังพี่ไม่กล้าพอกะน้อง นุ่งผ้าไทยเนื้อไทยหนอแม่ไหมเนื้อถี่ พี่หลงรักมานานหลายปี ฉันทนทุกย้อนยอกจะบอกเฒ่าถี่ ไม่ทำเป็นเนื้อทับเนื้อ...ถือ ถ้าพี่รักนางได้ไปหัวได้ดอกเลา จะบอกว่ารักสักคำกลัวน้องไม่เหลียวหนอตาดู ไม่นางดีหรือนางร้าย อยากเปิดหัวใจให้นางรู้ ว่าพี่มารักหลงแม่เนื้อริน จะเห็นใจพี่หรือๆนางฤา” (หน้า 337,342)

Folklore

เพลงกล่อมเด็ก ที่สำรวจพบในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก เช่น เพลงกล่อมเด็ก ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ความว่า “นกเขาขันเอย ขันแต่เช้าจนเย็น ขันไปเสียเถิดเอย แม่จะฟังเสียงเล่น เนื้อเย็น....ของแม่จะนอนเปลเอย” เพลงกล่อมเด็ก ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ความว่า “เล เล เล...หนูน้อยนอนเปลแม่จะไกว โหนงเหนงเอย คดข้าวไปนา นกกวักว่าชายโหนงเหนงเอย โอละเห่...หนูน้อยนอนเปลแม่จะไกว นอนซะเถิดเอย...นอนหลับเสียเถิดเอย แม่จะไกว โหนงเหนงเอย คดข้าวไปนา ไอ้นกกวักว่าชายโหนงเหนงเอย” เป็นต้น (หน้า 45) เพลงบวชนาค ของตำบลมะนาวหวาน อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ความว่า “บวชซะเถิดนาคเอย พ่องามเอย พ่องามที่ใบหน้า ให้บวชแทนคุณให้นานนมที่ได้อบรมเลี้ยงมา ให้นาคบวชโปรดโยมมารดาเอย บวชซะเถิดพ่อนาคเอย ก็พ่อเนื้อ...ใย ก็อย่าห่วงเลยสีกง ก็อย่าหลงเลยสีกา ก็ไม่ได้เลี้ยงพ่อนาคมา ให้บวชโปรดมารดาเอย บวชซะเถิดพ่อนาคเอย ก็พ่อเนื้อ...ใย ก็อย่าห่วงเลยสีกา สีกาอยู่ข้างหลัง โยมจะระวังไว้ให้ พ่อนาคไม่ต้องเป็นห่วงเป็นใยเอย บวชซะเถิดพ่อนาคเอย ก็พ่อเนื้อ...ใย สีกาอยู่ข้างหลังใครจะระวังไว้ให้ ก็ให้พ่อนาคบอกโยมให้เข้าใจเอย บวชซะเถิดพ่อนาคเอย ก็พ่อเนื้อ...ใย ก็ใครเป็นชู้พ่อนาคบ้าง ให้มาร้องเพลงสั่งนาคที ถ้าร้องเพลงไม่ได้ ก็ให้มายืนใกล้ๆตรงนี้ ก็พอใจพ่อนาคดีเอย พี่จะบวชซะแล้วก็แม่สีกาน้องเอ๋ย ไอ้ปากก็บอกว่าคอย คอย คอย ไอ้ตูดก็ปล่อยร่ำไป ใครจะบวชเข้าไปได้เล่าเอย” (หน้า47-48) การละเล่นเกี่ยวกับผีของไทยเบิ้งในลุ่มแม้น้ำป่าสัก เช่น การเล่นนางกะลา และการเล่นนางสาก นางด้ง นางเชือก และการเล่นนางกวัก การเล่น “นางสาก” วิธีเล่นจะใช้กะลาก้นกลวงผ่าครึ่งวางคว่ำไว้ 1คู่ ห่างกันพอประมาณ ให้ผู้เล่นนั่งยองๆเหยียบบนกะลาเป็นร่างทรง มีคนตีโทนร้องเชิญผีมาเข้าร่างทรง เมื่อผีเข้า กะลาจะหมุนไปรอบๆ คนทรงที่อยู่อยู่บนกะลาจะก้าวลงมาจากกะลา ออกมาร่ายรำตามจังหวะโทน ผีที่เชิญมาเข้าทรงถือเป็นผีชั้นสูง เชิญมาเพื่อให้มาคอยดูแลชาวบ้านให้มีความสุข ส่วนการละเล่น “นางสาก นางด้ง นางเชือก”และการเล่น “นางกวัก” ก็เป็นการเข้าทรงคล้ายๆกัน แต่เรียกต่างกันตามอุปกรณ์ที่ใช้เล่น เป็นต้น (หน้า 68-69 ) ตัวอย่างเพลงร้องในการแห่นางแมวเพื่อขอฝน ความว่า “นางแมวเอย มาร้องขอฝน ขอน้ำมนต์รดแมว ขอเบี้ยค่าจ้าง หามนางแมวมา ให้ฝนตกเจ็ดห่า ฟ้าผ่าเจ็ดที(ยายชี) แก้ผ้าดูหี ฝนเทลงมา ฝนเทลงมา จั๊กเทลงมา ฝนเทลงมา ใครไม่ให้ไก่ ให้หนูเกล็ดข้าว ใครได้ข้าวไม่ได้ข้าว ก็ให้ข้าวตายฝอย ให้กลอยตายนึ่ง ผัวใครขี้หึง แม่บึ้งตอดตา ฝนเทลงมา ฝนเทลงมา จั๊กเทลงมา ฝนเทลงมา ” เป็นต้น (หน้า 82) “โคลงเสดียด”หรือ “โคลงเสนียด” เป็นโคลงที่กล่าวถึงคำสอนที่บอกเล่ากันมาว่าเหตุหรือสิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วไม่ดี ดังตัวอย่างจากคำบอกเล่าของนายอำนาจ บุญด้วยลาน อดีตกำนันตำบลมะนาวหวาน ความว่า “ ปลูกเรือนไม้ไผ่ เอาปลายไปทางตะวันออก แมงมุมตีอก หนูกุกบนเรือน เรียกเพื่อนตามกัน เสาเรือนตกน้ำมัน ไม้รังนางเรียง ที่ลุ่มเอียง ที่ตะเคียงน้ำแข็ง ผึ้งต่อบินมา ทำรวงทำรัง ไม้หักใช้ค้ำ เหี้ยแย้ตะกวดขึ้นเรือน ไก่เถื่อนเข้าบ้าน แร้งกาจับหลังคา ข้าวสารแตกตา ออกเป็นตุ่มใบ สิงสัตว์กินไข่ ในฟูกในหมอน วัวควายเสียจักร...” (หน้า 85) วรรณกรรมโบราณของไทยเบิ้งที่พบมีลักษณะใกล้เคียงกับวรรณกรรมของชาวไทยภาคกลาง เขียนด้วยอักษรไทยและอักษรขอมลงบนสมุดไทยขาว สมุดไทยดำ(สมุดข่อย) และใบลาน เนื้อหาที่พบ อาทิ ประเภท นิทาน นิยาย คำสอน คติธรรม ตำรายา ตำราหมอดู กฎหมาย และวรรณคดีเรื่องไชยเสน ไชยทัต และนิราศเดือน เป็นต้น (หน้า 273 - 285)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ประเพณีท้องถิ่นของไทยเบิ้งในเขตลุ่มน้ำป่าสักโดยทั่วไปมีประเพณีคล้ายกับชาวไทยภาคกลาง ประเพณีที่ทำกันเสมอคือประเพณีเนื่องในพุทธศาสนา อาทิ ประเพณีเทศน์มหาชาติ ประเพณีเข้าพรรษาและออกพรรษา ประเพณีตรุษสงกรานต์ ประเพณีวันสารท วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอาสาฬหบูชา เป็นต้น (หน้า 53) ปฏิสัมพันธ์ในเรื่องเครื่องดนตรี และเพลงพื้นบ้านของไทยเบิ้งในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสักพบว่า ผู้คนในภาคกลางและชุมชนไทยแถบนครราชสีมามีปฏิสัมพันธ์กับไทยเบิ้งในพื้นที่กำหนดศึกษา มีการการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนทักษะซึ่งกันและกัน จนเกิดการผสมผสานเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม(หน้า343) วัฒนธรรมไทยเบิ้งในพื้นที่กำหนดศึกษาในเขตลุ่มแม่น้ำป่าสัก อันได้แก่ ภาษา วรรณกรรม ศิลปกรรม เครื่องดนตรี เพลงพื้นบ้าน การละเล่นและกีฬาพื้นบ้าน มีลักษณะคล้ายกับชาวไทยภาคกลางแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและชาวไทยโคราช แต่โน้มเอียงไปทางกลุ่มชาวไทยโคราช เช่น ภาษา ประติมากรรม ดนตรี และเพลงพื้นบ้าน ซึ่งอาจสรุปได้ว่าไทยเบิ้งแถบลุ่มแม่น้ำป่าสักคงเป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกับชาวไทยโคราช (หน้า 355)

Social Cultural and Identity Change

ในอดีตไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก นิยมทอผ้าไว้ใช้เอง มีการเตรียมการทอผ้าเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูกฝ้าย ปั่นด้าย และย้อมสีด้าย แต่ปัจจุบันบางครอบคัวมีการทอผ้าเพื่อจำหน่าย และนิยมซื้อเส้นด้ายย้อมสีสำเร็จรูปสำหรับทอผ้า (หน้า ช) ในอนาคต การทอผ้านิยมทอเพื่อการค้ามากขึ้น มีการใช้กี่ทอมือน้อยลงและจะค่อยๆลดความนิยมลงเนื่องจากมีการทอที่ยุ่งยาก ต้องใช้เวลานาน จึงหันมาใช้กี่กระตุกมากขึ้น เนื่องจากทอได้รวดเร็วกว่า ลักษณะลวดลาย นิยมทอลายแบบใหม่มากขึ้น อันอาจทำให้ลวดลายดั้งเดิมของผ้าทอไทยเบิ้งค่อยๆหายไป (หน้า 160) ปัจจุบันเด็กหญิง เด็กชาย ชายหนุ่มและสาวๆแต่งกายเหมือนเด็กทั่วไปในท้องถิ่นอื่นๆ (หน้า 169) การเล่นเครื่องดนตรีของไทยเบิ้งบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักปัจจุบันไม่มีผู้เล่นเพื้ย(จิ้งหน่อง)และปี่มานานหลายสิบปีแล้ว (หน้า 343)

Other Issues

ไม่มีข้อมูล

Map/Illustration

- แผนที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก(หน้า 9) - แผนที่แสดงที่ตั้งเขื่อนป่าสัก(หน้า 10) - ผังแสดงสกุลแสงอุทัย(หน้า 13) - ศาลเจ้าพ่อขุนเพ็ชรสุธานี(หน้า 15) - ศาลเจ้าพ่อชัยบาดาล(หน้า 15) - ศาลเจ้าพ่อหลวง (หน้า 16) - แผนที่แสดงหมู่บ้าน กลุ่มวัฒนธรรมไทยเบิ้งที่สำคัญในจังหวัดลพบุรี(หน้า 19) - แผนที่แสดงหมู่บ้านแถบลุ่มแม่น้ำป่าสักบริเวณสร้างเขื่อนป่าสัก(หน้า 19) - หญิงชาวไทยเบิ้ง(หน้า 24) - ชายชาวไทยเบิ้ง (หน้า 24) - แผนที่พระราชอาณาจักรสยาม ฉบับแมคคาร์ธีร์ พ.ศ.2431 (หน้า 28) - เปลเด็ก หมู่บ้านชาวไทยเบิ้ง ลุ่มน้ำป่าสัก(หน้า 45) - สมุดไทย เรื่องผีเพลีย-ผีตะมอย (หน้า 66,67) - ตำราดูฤกษ์ยาม (หน้า 76,77) - ครกตำหมาก (หน้า 134) - เสื้อกระโจมแบบที่ 1 (หน้า 162) - เสื้อกระโจมแบบที่ 2 (หน้า 162) - เสื้ออีแปะ (หน้า 162) - รูปประกอบการทำข้าวโปง (หน้า 180) - โบสถ์วัดหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม (หน้า 228) - โบสถ์วัดโคกสำราญ ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี(หน้า 231) - ฝาเรือนแบบต่างๆ พบที่ลุ่มแม่น้ำป่าสัก (หน้า 257) - โทนดินเผา ขึงด้วยหนังงู (หน้า 315) - สาธิตการใช้ผ้าขาวม้าผูรอบศีรษะ ทำเป็นงวง ของการเล่นผีนางช้าง (หน้า 327)

Text Analyst สุวิทย์ เลิศวิมลศักดิ์ Date of Report 02 พ.ค. 2556
TAG ไทเบิ้ง ไทเดิ้ง, วัฒนธรรม, ลุ่มแม่น้ำ, เขื่อน, ป่าสัก, ลพบุรี, สระบุรี, Translator Chalermchai Chaichompoo
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง