สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง),ประวัติศาสตร์,ความสัมพันธ์,ภาคเหนือ
Author Renard, Ronald D.
Title ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของกะเหรี่ยงกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น : ภาพสะท้อนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ม้ง, ปกาเกอะญอ, Language and Linguistic Affiliations จีน-ทิเบต(Sino-Tibetan)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 241 Year 2523
Source THE UNIVERSITY OF HAWAII (วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก สาขาวิชาประวัติศาสตร์)
Abstract

แผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย การอยู่ร่วมกันในดินแดนผืนเดียวกันนำมาซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างกันทั้งดีและไม่ดี กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงก็เช่นกัน พวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประวัติความเป็นมาของกะเหรี่ยงนั้นยังไม่สามารถกล่าวได้อย่างชัดเจนเพราะพวกเขาไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการบอกเล่ากันเท่านั้น พวกเขาเชื่อว่าพวกเขานั้นถูกเอาเปรียบจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่กว่าเสมอ ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์นั้น คือ กลุ่มคนไท พวกไทเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่กระจัดกระจายอยู่ตามแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของทั้งสองกลุ่มบอกเล่าความสัมพันธ์ทั้งเป็นมิตรและแย่งชิง ไม่ว่าอย่างไรกะเหรี่ยงก็มักจะสูญเสียและถูกกลืนอยู่เสมอ เรื่องราวของกะเหรี่ยงปรากฎอยู่ในหลักฐานของทั้งพม่า ฉาน มอญ และไทย หลักฐานต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงการต้องอยู่ใต้อำนาจของกะเหรี่ยง พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ทำหน้าที่สอดส่องดูแลพรมแดนไทยมาตั้งแต่สมัยอดีต มีฐานะเฉกเช่นไพร่พลไทย ส่งส่วยแก่รัฐมาตลอด ดังนั้นน่าจะเป็นตัวผลักดันให้กะเหรี่ยงเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย พวกเขาเป็นแหล่งสินค้าป่าที่สำคัญ เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญ ความสำคัญดังกล่าวทำให้พวกเขากลายมาเป็นคนไทยได้ไม่ยากหนัก ขณะเดียวกันความสำคัญนั้นก็ทำให้พม่าและอังกฤษต้องการกะเหรี่ยงเช่นกัน กะเหรี่ยงจึงเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่ถูกโอบล้อมด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่จงใจจะครอบครอง กะเหรี่ยงที่กลายเป็นไทยทั้งคนไทยภาคกลางหรือคนไทยล้านนานั้น ต่างได้รับการปฏิบัติจากคนที่ราบไทยที่ต่างกัน คนไทยที่ราบล้านนาพยายามที่จะครอบครองและหาประโยชน์จากกะเหรี่ยง ขณะที่คนไทยที่ราบภาคกลางให้บทบาทหน้าที่แก่กะเหรี่ยงเพื่อช่วยเหลือประเทศ นโยบายจากกษัตรย์ผู้ปกครคองประเทศก็ย่อมผลต่อความสำคัญของกะเหรี่ยง เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นพระองค์ให้ความสำคัญแก่กะเหรี่ยงจนดูเหมือนว่า พวกเขากำลังจะได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์เช่นเดียวกับคนไทยอย่างแท้จริง แต่เมื่อขึ้นรัชสมัยรัชกาลที่ 6 การเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์นำมาซึ่งการลดบทบาทความสำคัญของกะเหรี่ยงและบีบให้พวกเขาต้องสูญเสียความเป็นกะเหรี่ยง จนสุดท้ายถูกกลืนเป็นคนไทย แม้ว่าจะเป็นคนไทยแต่พวกเขาก็ยังถูกทอดทิ้ง และไม่ได้รับสิทธิแห่งความเป็นพลเมืองอยู่ดีไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบัน

Focus

เน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในพื้นที่ชนชาติไท ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 ในฐานะชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งศึกษาประวัติศาสตร์ไทยตลอดช่วงยุค 1970 ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์ของประเทศกับวิถีชีวิตของคนรอบนอกเขตเมืองหลวงและวิธีปฏิบัติของคนที่ราบต่อชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะกะเหรี่ยง เพื่อเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงในพม่า (หน้า xxiii)

Theoretical Issues

ผู้ศึกษาใช้แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ กับการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม โดยศึกษาอธิบายแนวคิดดังกล่าวผ่านประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ชนไทกับกะเหรี่ยง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่มและสถานะของกลุ่มกะเหรี่ยงในสังคมกลุ่มชนไทมีผลต่อการเกิดกระบวนการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม อารยธรรมกลุ่มชนที่ใหญ่กว่ามีอำนาจกว่ามีผลต่ออารยธรรมของกลุ่มที่เล็กน้อย ทำให้เกิดการรับเอาวัฒนธรรมกลุ่มที่ใหญ่กว่าไปปรับใช้ ดังเช่นกะเหรี่ยงที่รับเอาวัฒนธรรมกลุ่มรอบข้างอย่างไทยไปปรับใช้จนผสมกลมกลืนเป็นวัฒนธรรมของตนที่ปรากฎในปัจจุบัน (หน้า 25)

Ethnic Group in the Focus

กะเหรี่ยงที่พูดภาษากะเหรี่ยง ซึ่งมีภาษาท้องถิ่นที่หลากหลาย โดยความหลากหลายของภาษาท้องถิ่นไม่ได้เป็นสิ่งกีดขวางหรือเครื่องชี้วัดความเป็นกะเหรี่ยงเลย เช่น กะเหรี่ยงโปว์จากบริเวณปากแม่น้ำเมย ประเทศพม่า เจอกับกะเหรี่ยงสกอร์จากเชียงใหม่ พวกเขาสามารถเข้าใจกัน พวกเขามีชุดแต่งกายที่เหมือนกัน ความเป็นกะเหรี่ยงจึงไม่ได้วัดจากภาษา บางกลุ่มชาติพันธุ์พูดภาษากะเหรี่ยงแต่ไม่ใช่กะเหรี่ยง เช่น Pa-o สิ่งที่ชี้วัดความเป็นกะเหรี่ยงคือ "อัตลักษณ์" ซึ่งภาษาก็เป็นเพียงหนึ่งในอัตลักษณ์ความเป็นกะเหรี่ยงเท่านั้น จากการศึกษาของ Peter Kunstadter ที่ทำการศึกษากะเหรี่ยง เขาได้ตั้งข้อสังเกตว่า "กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า กะเหรี่ยง จะวัดจากพื้นฐานความเชื่อ และลักษณะพฤติกรรม ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมากมาย เช่น กะเหรี่ยงในแม่สะเรียงเชื่อว่าพวกเขายังชีพด้วยข้าว เกลือ และพริก ในขณะที่กะเหรี่ยงบ้านโบ (ban Bq) จังหวัดราชบุรี กลับมีสภาพที่ดีกว่า มีพืชผัก รวมทั้งข้าว เกลือและพริก" ซึ่ง Kunstadter กล่าวว่า "มีการซ้อนทับกันของการจัดระเบียบทางสังคมภายในกลุ่ม" ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปรากฎชัด เช่น กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพม่า ซึ่งมีการเรียกแยกความเป็นกะเหรี่ยงต่างไป คนพม่าเรียกพวกเขาว่า "คะฉิ่น" (kayin) พวกมอญเรียก "korea" คนไทยภาคกลางเรียก "กะเหรี่ยง" (kariang) ไทยล้านนาเรียก "nyang และคนฉานเรียก "yang" โดยทุกลักษณะของการเรียกขานก็คือ กลุ่มกะเหรี่ยงเหมือนกัน กะเหรี่ยงมีจำนวนมาก กลุ่มย่อยของกะเหรี่ยงอย่าง เช่น กะเหรี่ยงป่า - jungle karens (ไทยล้านนาเรียกว่า nyang pa ฉานเรียกว่า yang pa และคนไทยภาคกลางเรียกว่า karang) หรือกะเหรี่ยงภูเขา - mountain karens (ไทยล้านนาเรียกว่า nyang doi ฉานเรียกว่า yang doi) กลุ่มกะเหรี่ยงบ้าน - house karens (ไทยล้านนาเรียกว่า nyang ban ฉานเรียกว่า yang wan) หรือ กะเหรี่ยงที่ราบ - plains karens (ไทยล้านนาเรียกว่า nyang biang คนไทยภาคกลางเรียกว่า kariang) คนไทยล้านนาและคนฉานหรือคนพม่านั้น จัดพวกกะเหรี่ยงโดยอิงจากสีของชุดแต่งกายของพวกเขา ชนไทและคนพม่าทั้งสองกลุ่มเรียกกะเหรี่ยงบางกลุ่มว่า "กะเหรี่ยงขาว" (คนไทยล้านนาเรียกว่า nyang khao คนพม่าเรียกว่า kayin hpyu) และเรียกกลุ่มกะเหรี่ยงอีกกลุ่มว่า "Taro - colored karens" (คนไทยภาคเหนือเรียกว่า nyang phu'ak ส่วนฉานเรียกว่า yang hpok) อีกกลุ่ม "กะเหรี่ยงแดง" (คนไทยล้านนาเรียกว่า nyang daeng ฉานเรียกว่า yang lang คนไทยภาคกลางเรียกว่า kariang daeng และพม่าเรียกว่า kayin-ni ) ซึ่งหมายถึง กลุ่มกะเหรี่ยงที่คาดผ้าสีแดง รวมทั้งชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มอย่าง โปว์ขาวที่ผู้หญิงมักแต่งกายด้วยสีแดง ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กลุ่มผู้รักชาติกะเหรี่ยงเรียกร้องแยกตัวจากพม่า เพราะพวกเขารู้สึกว่าไม่ใช่พวกพม่า กะเหรี่ยงนั้นอยู่ที่บริเวณแอ่งน้ำอิรวดี และถูกคนพม่าใช้กำลังบังคับหลอกลวงขับไล่พวกเขา ขโมยแผ่นดินของพวกเขา (หน้า 3-10)

Language and Linguistic Affiliations

ในช่วงปี ค.ศ.1832 มิชชั่นนารีชาวอเมริกันได้เข้ามาพัฒนาภาษาสกอร์ โดยใช้อักษรพม่า และต่อมามีการปรับปรุงระบบภาษาการเขียนเป็นการจดบันทึกของกะเหรี่ยงโปว์และมีอักษรโปว์ การเขียนต่างๆ ถูกนำมาใช้ในหนังสือพิมพ์ทางศาสนาของกะเหรี่ยงโปว์ นอกจากนี้มีการศึกษาประวัติศาสตร์กะเหรี่ยง โดยพยายามเชื่อมโยงกับภาษา ในช่วงปลายยุค 1800 มีการสรุปว่ากะเหรี่ยงเป็นกลุ่มที่มีมาก่อนคนจีน และปี ค.ศ.1901 มีการสรุปว่ากะเหรี่ยงอยู่ในกลุ่ม T'ai - Chinese ในปี ค.ศ.1911 สรุปว่าอยู่ในกลุ่มประชากรอินเดียมีความเกี่ยวดองกับคนไทย จนกระทั่งยุค 1970 Jame Matisoff, laraw Maran และJohn Okell ได้สรุปว่ากะเหรี่ยงอยู่ในกลุ่มภาษา Tibeto - Burman (หน้า 32, 36, 37)

Study Period (Data Collection)

ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนถึงกลางศตวรรษที่ 20 (หน้า xxiii)

History of the Group and Community

กะเหรี่ยงไม่มีการจดบันทึกประวัติศาสตร์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการบอกเล่าต่อกัน พวกเขาจะเก็บเรื่องราวต่าง ๆ จากความทรงจำของผู้นำคนก่อน ๆ และเรื่องราวประวัติศาสตร์มากมายมาจากเรื่องราวผู้นำที่ตายแล้ว เรื่องราวของสถานที่สำคัญของหมู่บ้าน บทเพลง บทกลอนเกี่ยวกับหมู่บ้าน พวกเขาเล่าว่า ในอดีตเมื่อกะเหรี่ยงถือกำเนิด พวกเขากำพร้าสูญเสียดินแดนให้แก่ชนไทและชาวพม่า โดยตามเรื่องราวที่เล่ามานั้นมีช่องว่างทางประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงในยุค 1800 ซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาที่กะเหรี่ยงไม่มีผู้นำ เพราะพวกเขาจำเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำไม่ได้เลย และแม้ว่าจะเข้ามาอาศัยในประเทศไทยซึ่งมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่พวกเขาก็ยังคงไม่มีบันทึกที่เขียนขึ้น พวกเขายังเล่าเรื่องตามผู้อาวุโสเล่าสืบต่อมา อย่างไรก็ตาม จากเรื่องเล่า Htau mai ba กะเหรี่ยงได้เล่าว่าพวกเขาข้ามแม่น้ำ Hti sei mai Ywa ซึ่งมีมิชชันนารีมากมายที่พยายามจะชี้ว่าคือแม่น้ำสายใด มีการพยายามหาแหล่งที่มาของกะเหรี่ยงหรือสรุปว่ากะเหรี่ยงคือ กลุ่มคอเคเชียนจากอินเดียที่ข้ามอ่าวเบงกอลมายังปากแม่น้ำอิรวดี จนกระทั่งยุคศตวรรษที่ 19 มีการเสนอว่ากะเหรี่ยงมีความสัมพันธ์กับกลุ่มดายักจาก Borneo กลุ่มชนในเอเชียกลาง กลุ่มคะฉิ่นหรือชิน บริเวณตอนบนของพม่า และม้งและเย้า บริเวณตอนใต้ของจีน หรือแม้กระทั่งบอกว่า พวกเขาคือชาวฮั่น ด้วยเหตุนี้การศึกษาประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงจึงพิจารณาที่ภาษา คำว่า "karen" มีความใกล้เคียงกับคำว่า "kayin" ของพม่าหรือที่ชาวสยามเรียกกะเหรี่ยงว่า "kariang" หรือที่ชาวฉานและคนล้านนาเรียกว่า "yang" ซึ่งในหลักฐานเอกสารของสยามมีการอ้างถึงยางแดงหรือกะเหรี่ยงแดง การอธิบายโดยใช้ฐานภาษานี้นำมาสู่บทสรุปของ Reverend Marshall ที่พยายามอธิบายว่ากะเหรี่ยงและอนารยชนเจียง (Ch'iang) ในสมัยราชวงศ์ชาง (Shang Dynasty) คือกลุ่มชนเดียวกัน กลุ่มเจียงเป็นกลุ่มเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนในบริเวณที่ราบเซี่ยงไฮ้ - ทิเบต และเป็นบรรพบุรุษของคนทิเบต กะเหรี่ยงนับถือผีแต่อาจมีการหยิบยืมศาสนาของกลุ่มรอบข้าง มีการเพาะปลูกเพราะพบคำสำหรับข้าว (ci หรือ hsi) พวกเขาอยู่บนเขาก่อนที่จะย้ายลงมาบริเวณที่ราบแม่น้ำปิง และเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดรัฐกะเหรี่ยงลำพูนมีการพูดถึง "Nau Yei Hpai" ผู้หญิงกะเหรี่ยงที่พันผมในวงแหวนและเหรียญเงิน และได้ก่อตั้งหริภุญชัย อาณาจักรที่ลำพูน เธอก่อตั้งแคว้นหริภุญชัยก่อนที่เมืองจะตกเป็นของไทย เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเรื่องของมอญหรือเจ้านางจามเทวีวงศ์แห่งลัวะ นอกจากเรื่องเล่าที่เกี่ยวพันกับการเกิดรัฐในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และความเชื่อว่าพวกเขามาก่อนชนไทและพม่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว กะเหรี่ยงบางกลุ่มได้เล่าเรื่องของบรรพบุรุษที่มีความคล้ายคึงกับพระคัมภีร์เก่า เล่าว่ากะเหรี่ยงถูกเลือกจากพระเจ้าเช่นเดียวกับชางฮิบรูที่เรื่องเล่าปรากฎในพระคัมภีร์เก่า มีความคล้ายคลึงเรื่องพระเจ้า Yahweh ของฮิบรูและ Ywa ของกะเหรี่ยง และเหตุการณ์กำเนิดผู้หญิงคนแรก ขณะเดียวกันตำนานเรื่องราวของกะเหรี่ยงยังปรากฎสอดคล้องกับเรื่องราวของชนไท กล่าวถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของกะเหรี่ยงก่อนที่ชนไทจะเข้ามาก่อนยุคพุทธกาลในปี 543 เมื่อชนไทเข้ามายังดินแดนได้สร้างเมืองเชียงรุ้ง เชียงแสน มีการติดต่อระหว่างชนไทและกะเหรี่ยง จนกระทั่งชนไทเข้าครอบครองพื้นที่ และสุดท้ายกะเหรี่ยงถูกยึดครองโดยกลุ่มคนไทยที่มีอำนาจเหนือกว่า ในขณะที่ตำนานเกี่ยวกับพม่ามีหลักฐานว่ากะเหรี่ยงอาศัยอยู่ตอนบน โดยอ้างจากจารึกพุกาม ที่กล่าวถึง "Cakraw" ชื่อที่ ปรากฎในจารึกมีการออกเสียงคล้าย sako หรือ sgaw ดังนั้นหาก Cakraw คือสกอร์ กะเหรี่ยงก็จะมีบทบาทสำคัญต่อการกำเนิดอาณาจักรปยูที่ศรีเกษตร ซึ่งปยูเป็นกลุ่มที่มีความใกล้ชิดกับกลุ่มออสโตร - เอเชียติค ปาล่อง โดยชาว Cakraw ตั้งถิ่นฐานในศรีเกษตรรวมกับปยู มีการแบ่งพื้นที่เพาะปลูก การเติบโตของชาวพม่าหรืออีกนัยคือชาวปยู ทำให้ความยิ่งใหญ่ของ Cakraw จบลง พม่าได้สร้างอาณาจักรแรกขึ้นกระจายทั้งแม่น้ำสาละวิน อิรวดี และอาระกัน ชาว Cakraw และชาว Plaws มีฐานะเป็นทาส เช่น เดียวกับมอญ อินเดีย และไท ต้องสร้างศาสนสถานแก่อาณาจักรพม่า ตามคติความเชื่อพุทธหินยาน (หน้า 30-36)

Settlement Pattern

กะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนบริเวณที่ราบลุ่มและบริเวณเชิงเขา แต่น้อยมากที่พื้นที่บริเวณนั้นจะมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะกะเหรี่ยงบอกว่าได้เสียพื้นที่อุดมสมบูรณ์ให้แก่ชนไทซึ่งกระจายอยู่หลายแห่งในแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง จีน อินเดีย พม่า และรัฐอิสระอีกหลายแห่ง โดยแต่เดิมพวกเขาเชื่อว่าพวกเขาตั้งบ้านเรือนใกล้ริมแม่น้ำปิงที่อุดมสมบูณ์ ซึ่งบริเวณดังกล่าวชนไทก็ตั้งถิ่นฐานเช่นกัน ชนไทปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเอาเปรียบ ทำให้กะเหรี่ยงต้องล่าถอยไปตั้งถิ่นฐานรอบๆเขตภูเขา บางส่วนต้องย้ายลงไปทางใต้จนถึงคาบสมุทรมาเลย์ (Malay peninsula) โดยที่กะเหรี่ยงสกอร์นั้นชอบอาศัยอยู่บนภูเขาที่ห่างไกลจากกลุ่มชาวฉานในที่ราบ และคนไทยที่ราบ แต่ก็ยังมีสกอร์บางกลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบเช่นกัน เช่น หมู่บ้านสกอร์ในอำเภอแม่สะเรียงที่มีความใกล้ชิดกับชนไท และชุมชนสกอร์บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำยม อย่างไรตามสกอร์จำนวนมากมักกล่าวว่า "พวกเขามีความสุขกับการอยู่บนที่สูง" ที่ซึ่งสามารถปลูกข้าวอย่างเพียงพอและพืชผลก็เติบโตได้ดีในอากาศและอุณหภูมิที่หนาวของภูเขา ในขณะที่กะเหรี่ยงโปว์ชอบตั้งถิ่นฐานใกล้กับชนไทมากกว่ากะเหรี่ยงสกอร์ เช่นกรณีหมู่บ้านกะเหรี่ยงโปว์บ้านน้ำรัด ซึ่งตั้งห่างจากตัวเมืองเชียงราย 5 กิโลเมตร (หน้า 1-2, 14)

Demography

กะเหรี่ยงจำนวน 3 - 5 ล้านคน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บริเวณพม่าตอนล่างและบริเวณสาละวิน รวมทั้งบริเวณสันน้ำเจ้าพระยา ส่วนกะเหรี่ยงอีกประมาณ 400,000 คน อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ชนไทที่คาบสมุทรมาเลย์ในตอนบนของรัฐฉานทางใต้ และยังกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากบริเวณพรมแดนไทย-พม่าตั้งแต่เหนือประจวบฯ จนถึงแม่ฮ่องสอน กะเหรี่ยงสกอร์อพยพมาจากพม่าตอนบนลงมาภาคเหนือของไทยและรัฐฉาน ส่วนกะเหรี่ยงโปว์นั้นเคลื่อนย้ายมาทางเหนือบริเวณเชียงใหม่ บางส่วนมาจาก Pa-an บางส่วนมาจากพม่า รวมทั้งเคลื่อนย้ายมาจากตอนบนของ Moulmein ไปตามสาละวินและแม่น้ำ Hlaingbwe ลงมาทางตะวันตกของไทย ประกอบกับนโยบายของเจ้ากาวิละแห่งเชียงใหม่ที่ต้องไพร่พลในการฟื้นฟูเชียงใหม่หลังยุคสงครามคองบอง เจ้ากาวิละได้นำกะเหรี่ยงที่มีความสามารถจากเทือกเขา Zwei Kabin ให้มาตั้งบ้านเรือนที่หางดง กะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวกลายเป็นกะเหรี่ยงโปว์กลุ่มหลักในภาคเหนือ นอกจากนี้กระจายอยู่ทางใต้ของแม่สะเรียง (หน้า 8, 132 )

Economy

กะเหรี่ยงอาศัยอยู่อย่างเรียบง่าย โดยการทำไร่หมุนเวียนและทำนาข้าว ปลูกพืชผักต่าง ๆ เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งเก็บของป่า และติดต่อแลกเปลี่ยนกับกลุ่มใกล้เคียง เช่น กะเหรี่ยงโปว์นำผลหมากจากพ่อค้ามาใช้รวมกับขมิ้นและใบพลูนำมาเคี้ยวทำความสะอาดฟัน นอกจากนี้ พวกเขายังปลูกยาสูบและฝิ่น กะเหรี่ยงสกอร์นั้นปลูกข้าวและพืชผลด้วยการทำไร่หมุนเวียน (เลื่อนลอย) และสกอร์บางส่วนในภาคเหนือทำนาข้าว แม้ว่าจะไม่ปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับการทำนาข้าวของสกอร์ในสยามในช่วงยุค 1880 แต่พบว่าในปี ค.ศ.1912 กะเหรี่ยงสกอร์ในเขตต้นน้ำเพชรบุรีต้องยังชีพด้วยการปลูกมันสำปะหลัง และพืชประเภทหัวต่างๆ อันมีความคล้ายคลึงกับกะเหรี่ยงโปว์ ในปี ค.ศ.1820 กะเหรี่ยงโปว์ล่องแพไปขายสินค้าที่กาญจนบรี ฝ้ายของพวกเขาเป็นที่นิยม กะเหรี่ยงแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อค้า โดยแลกฝ้ายกับขมิ้น dammar ยาสมุนไพร เครื่องประดับ และยารักษาโรค ในแต่ละปีคนไทยที่ราบหรือพ่อค้าจีนจะนำเกลือมาแลกเปลี่ยนกับฝ้าย ยาและเมล็ดฝ้ายจากกะเหรี่ยง นอกจากกะเหรี่ยงสกอร์แลกเปลี่ยนผลผลิตจากป่าเช่น น้ำผึ้ง หนังสัตว์ เนื้อกวางแห้ง และพริกไทย กับเกลือ เครื่องเงิน และสินค้าอื่นๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนสินค้ากับพ่อบ้านกะเหรี่ยงโปว์ กะเหรี่ยงสกอร์แลกเปลี่ยนผลผลิตจากป่าเพื่อแลกกับสิ่งทอราคาถูกจากคนไทย ส่วนในการทำไร่หมุนเวียนและการเก็บของป่านั้น กะเหรี่ยงโปว์จัดหาให้แก่คนไทยมากกว่าที่ตนเองได้รับ ดังนั้น กะเหรี่ยงจึงมีบทบาทสำคัญต่อการส่งออกของสยาม นับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี ค.ศ.1855 ระหว่างไทยกับอังกฤษ กะเหรี่ยงจัดหาสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราแก่กษัตริย์ไทยเพื่อส่งแก่จีน เช่น นอแรด งาช้าง ไม้จันทร์ กระวาน อำพัน ขนนกยูง ยางไม้ ทับทิม และบุษราคัม นอกจากการส่งสินค้าป่าแก่ราชสำนักแล้ว หลังสงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่ 1 จบลงด้วยชัยชนะของอังกฤษ กะเหรี่ยงภาคเหนือซึ่งอยู่ในสภาพที่อุดมไปด้วยไม้สักนั้น เป็นที่ต้องการของอังกฤษอย่างมาก เกิดการเรียกร้องอ้างพรมแดนกันระหว่างไทยกับอังกฤษ ทั้งนี้ เพราะราชสำนักทางเหนือต้องการผลประโยชน์จากการถือครองสักเช่นกัน ขณะที่มีการจัดการเรื่องการถือครองเขตป่าสักนั้น กะเหรี่ยงสกอร์และโปว์ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ไทยก็มีการค้าขายกับกลุ่มใกล้เคียง เช่น ชาว Pa-o และชาว Hqs ที่นำสินค้าฟุ่มเฟือยมาให้กะเหรี่ยง เช่น เครื่องประดับ กล่องบุหรี่ เครื่องเคลือบ รวมทั้งมีการค้าขายในตลาดในเมืองกับคนที่ราบด้วย โดยมี seihko หรือ sahai ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้าขายระหว่างกะเหรี่ยงกับคนที่ราบ พบว่าในช่วง 1890 กะเหรี่ยงโปว์เพาะปลูกพืชผลและผลไม้ เลี้ยงสัตว์และเลี้ยงช้างเพื่อใช้งานด้วย ส่วนกะเหรี่ยงสกอร์นั้นมีวิถีการเพาะปลูกที่คู่ขนานกับวิถีกะเหรี่ยงโปว์ กะเหรี่ยวสกอร์ทำนาข้าว รวมทั้งพืชผัก กะเหรี่ยงสกอร์บางคนซื้อกางเกงฉานมานุ่งพวกเขาทำเครื่องปั้นดินเผาใช้ซึ่งมีอายุยาวนานกว่าของไทย นอกจากเครื่องปั้นดินเผาแล้วยังมีเครื่องเรือนอื่นๆ เช่น โซ่ล่ามช้าง หม้อ เป็นต้น บทบาทสำคัญอีกอย่างของกะเหรี่ยงคือการส่งส่วย พวกเขาต้องจัดหาของป่าส่งแก่ราชสำนักไทย ทั้งนอแรด งาช้าง หนังสัตว์ สินค้าเหล่านี้ไทยได้จัดส่งออกกลายเป็นสินค้าสำคัญ งาช้างส่งไปญี่ปุ่น เกลือและตะกั่วส่งไปไซง่อน ดีบุกส่งไปฮานอย ช้างส่งไปอินเดีย เหล็กส่งไปมานิลา และครั่งส่งไปบอร์เนียว(หน้า 102,104-106, 131,140,165,167)

Social Organization

กะเหรี่ยงนับถือความสัมพันธ์ทางสายตระกูลฝ่ายแม่ (matrilineally - related) โดยแม่จะเป็นคนสำคัญในครัวเรือน เป็นสมาชิกเพียงคนเดียวในครอบครัวที่มีสิทธิในการครอบครองสัตว์เลี้ยงอย่างหมูและไก่ เมื่อแม่ตายต้องเผาหมูและไก่ตามไปด้วย (หน้า 91)

Political Organization

จากประวัติศาสตร์กะเหรี่ยงที่ปรากฎในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทย แสดงให้เห็นว่าชุมชนกะเหรี่ยงมีความสัมพันธ์กับไทยอย่างมาก โดยเป็นความสัมพันธ์ทางการเมืองซึ่งแบ่งเป็นบริเวณภาคกลางและภาคเหนือ กล่าวคือ ในยุคสมัยอยุธยาชุมชนศรีสวัสดิ์บริเวณภาคกลางมีฐานะเป็นรัฐกันชน รัฐรับใช้ที่สำคัญของอยุธยา ศรีสวัสดิ์ตั้งอยู่บริเวณแควใหญ่ กาญจนบุรี เป็นจุดสำคัญทางการแลกเปลี่ยนและเส้นทางติดต่อระหว่างอยุธยาและพม่า เส้นทางจากกาญจนบุรีผ่านศรีสวัสดิ์ต้องผ่านบริเวณด่านเจดีย์สามองค์ซึ่งเป็นบริเวณด่านพรมแดนไทย-พม่า เป็นบริเวณยุทธศาสตร์ทางการทหาร ศรีสวัสดิ์ปรากฎครั้งแรกในปี ค.ศ.1658 ในบันทึกของมิชชั่นนารีพบว่ามีการจับช้างเผือกถวายกษัตริย์ ต่อมาผู้ปกครองศรีสวัสดิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระศรีสวัสดิ์ ดูแลการขยายอำนาจของไทยในล้านนา รูปแบบที่ผู้ปกครองใช้ต่อศรีสวัสดิ์นั้นเป็นไปตามกฎหมายตราสามดวง ที่จัดลำดับความสำคัญเป็น 3 ลำดับ คือ หัวเมืองชั้นเอก โท และตรี ในขณะเดียวกันบันทึกทางประวัติศาสตร์ของพม่าได้กล่าวถึงกะเหรี่ยงที่สวามิภักดิ์ทำหน้าที่เป็นสายลับแจ้งข่าวแก่ไทย อย่างกะเหรี่ยงจาก Kyaukkaung ที่บอกตำแหน่งพม่าแก่ไทยทำให้ไทยมีชัยเหนือพม่าที่ท่าดินแดง โดย Kyaukkaung เป็นสถานที่ตอนบนแม่น้ำโขงที่เรียกว่า สังขละบุรี ผลพวงจากสงครามระหว่างไทยในสมัยพระจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 1 กับพม่าในช่วงราชวงศ์คองบองของพม่านั้น ทำให้ไพร่พลเดือดร้อน มีการกวาดต้อนผู้คนอพยพจากพม่ามายังไทย โดยเชื่อว่าไพร่พลเหล่านั้นจะเป็นกำลังของไทยที่จะต่อต้านพม่าได้ ดังนั้น คนมอญและกะเหรี่ยงจึงเป็นคนไทยตั้งแต่นั้นมา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 หัวหน้ากะเหรี่ยงได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนนางตำแหน่งขุนสุวรรณ เป็นผู้ปกครองเวียง การเติบโตของชุมชนศรีสวัสดิ์และสังขละบุรีอันเป็นถิ่นกะเหรี่ยงในบริเวณภาคกลางนั้น เหมือนเช่นหัวเมืองอื่น ๆ กะเหรี่ยงมีสถานะทางสังคมเป็นไพร่ ต้องจ่ายอากรแก่รัฐเช่นคนไทยอื่นๆ แต่กะเหรี่ยงนั้นไม่ใช่ไพร่หลวงที่ต้องใช้แรงงาน แต่พวกเขาเป็นไพร่ส่วยที่ต้อจ่ายส่วนด้วยสินค้าป่า ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ แก่ราชสำนักไทย เช่น งาช้าง ไม้ ไม้ซุง นอกจากการจ่ายส่วยแก่ราชสำนักไทยแล้วทั้งสองเมืองหัวหน้ายังต้องดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาแสดงความจงรักภักดีแก่ราชสำนักไทยอีกด้วย โดยภายหลังสงครามคองบองแล้วได้เกิดสงครามระหว่างอังกฤษและพม่าช่วงปี ค.ศ.1824-1826 อังกฤษต้องการครอบครองดินแดนพม่าเกิดการสู้รบบริเวณพรมแดนไทย-พม่า ทำให้ไทยเองต้องเตรียมตัวตั้งรับ ซึ่งกะเหรี่ยงในฐานะเมืองคุ้มกันก็ต้องเตรียมตัวสู้เช่นกัน กะเหรี่ยงจึงมีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เพียงกลุ่มเดียวที่ทำหน้าที่คุ้มกันพรมแดน โดยกะเหรี่ยงดูแลพรมแดนตั้งแต่ตากตอนใต้ถึงเพชรบุรี ในปี ค.ศ. 1845 รัฐส่วนกลางได้เข้าไปปกครองท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยง จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่ออังกฤษชนะสงครามกับพม่าครั้งที่ 2 (1852 - 1853 ) นำไปสู่การเกณฑ์ไพร่พลกะเหรี่ยงเข้ามาเป็นคนไทยอีกครั้ง ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 4 การครองราชย์ของรัชกาลที่ 5 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกะเหรี่ยง ส่วนกะเหรี่ยงทางภาคเหนือนั้นหลังสงครามไทย-พม่า (สงครามคองบอง) ไทยได้แต่งตั้งเจ้ากาวิละเพื่อฟื้นฟูเชียงใหม่ แต่เจ้ากาวิละมีทหารที่อ่อนแอ ไพร่พลที่มีจำนวนน้อย ทำให้ต้องนำไพร่พลกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มารวมกัน โดยใช้นโยบาย "เก็บผักใสชา เก็บข้าใส่เมือง" เมืองเชียงใหม่จึงเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเพื่อมาสร้างเมืองทั้งมอญ ไทยลื้อ ไทยขอน และกะเหรี่ยง เมื่อกะเหรี่ยงเป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ ราชสำนักเชียงใหม่เรียกร้องให้กะเหรี่ยงส่งส่วย บรรณาการแก่ตน พวกเขาต้องจัดหาสินค้าของป่ามากมายถวายแก่เชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้รับการคุ้มครองจากราชสำนักเชียงใหม่ ประกอบกับปัญหาการแย่งกันครองสิทธิในเขตป่าสักซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของกะเหรี่ยง ที่ทั้งเชียงใหม่ และอังกฤษต่างต้องการครอบครองทั้งคู่นำมาสู่การเกิดปัญหานำมาซึ่งการปักปันพรมแดนใหม่ที่อังกฤษกินดินแดนเข้ามาอีก 100 กิโลเมตร การกระทำดังกล่าว รวมทั้งความต้องการของไทยภาคกลางที่ต้องการดินแดนภาคเหนือ นำไปสู่การรวมอำนาจตามการปฏิรูประบบการปกครองของรัชกาลที่ 5 ทั้งเพื่อการครอบครองดินแดนเหนือและการรวบรวมไพร่พล โดยใช้การสักเลกเพื่อยึดเหนี่ยวกลุ่มคน แม้ว่ากะเหรี่ยงจะมีสถานะเป็นไพร่ในสังคมไทยแต่กะเหรี่ยงภาคเหนือและภาคกลางต่างมีความรู้สึกถึง ความสัมพันธ์ต่อคนไทยต่างกัน กะเหรี่ยงภาคเหนือได้รับการปฏิบัติที่กดขี่และเอาเปรียบมากมายจากราชสำนักล้านนา ในขณะที่กะเหรี่ยงภาคกลางกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐไทยในการทำหน้าที่ที่สำคัญในการดูแลพรมแดนเมื่อรัชกาลที่ 5 อภิเษกกับเจ้าดารารัศมีแห่งล้านนาเพื่อหวังจะรวมล้านนาเข้าสู่ไทย กะเหรี่ยงในล้านนาจึงกลายเป็นคนไทยแต่ความรู้สึกต่อรัฐไทยนั้นก็ยังเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีเช่นเดิม เพราะกะเหรี่ยงภาคเหนือนั้น กลับได้รับความสนใจห่วงใยจากอังกฤษมากกว่าในสมัยที่เป็นส่วนหนึ่งของล้านนา เช่น ได้รับวัคซีนโรคฝีดาษจากอังกฤษแทนที่จะได้รับจากรัฐไทยหรือล้านนา ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับกะเหรี่ยงต้องเปลี่ยนไปอีกเมื่อรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ พระองค์เปลี่ยนนโยบายในการสร้างรัฐชาติไทย โดยเฉพาะกับกะเหรี่ยงหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ พระองค์ใช้นโยบายเพิกเฉยอย่างนุ่มนวลไม่ใส่ใจหรือสนใจกับกลุ่มชาติพันธุ์ดังเช่นสมัยรัชกาลที่ 5 ประกอบกับการลดบทบาททางเศรษฐกิจของกะเหรี่ยงที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากตะวันตกได้ การลดอำนาจท้องถิ่นในผู้นำกะเหรี่ยงที่เคยได้รับในสมัยรัชกาลที่ 5 ยิ่งทำให้บทบาทของกะเหรี่ยงอ่อนแอลงจนต้องยอมรับวัฒนธรรมไทยเข้ามาปรับใช้เพื่อการอยู่รอด ถูกกลืนโดยวัฒนธรรมไทย ไร้อำนาจ บทบาททางการเมือง เศรษฐกิจ ดังที่ ปรากฎในปัจจุบัน (หน้า 66-69, 74, 88, 119, 121, 126, 143, 157, 195, 204, 213, 215, 238)

Belief System

กะเหรี่ยงส่วนมากในบริเวณภาคกลางของไทยช่วงปลายยุค 1800 มีความเชื่อในเรื่องผีสาง พุทธศาสนา และคริสตศาสนา โดยกะเหรี่ยงในที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ในไทยนั้น พวกเขาไม่ใช่ทั้งชาวพุทธและคริสต์ พวกเขานับถือ "Ywa" ซึ่งเป็นอำนาจเป็นพระเจ้า ที่มอบหนังสือหนังแกะที่บรรจุความรู้ศาสตร์ต่าง ๆ แก่กะเหรี่ยง แต่ถูกไก่กิน นอกจาก Ywa ยังเป็นแหล่งกำเนิดของมนุษย์คู่แรก เรื่องเล่าดังกล่าวทำให้กลุ่มมิชชั่นนารีนำมาใช้ในการชักชวนกะเหรี่ยงสกอร์เข้ารีต แต่สำหรับกะเหรี่ยงโปว์นั้นพวกเขาได้รับอิทธิพลจากมอญทำให้ยึดทางพุทธศาสนามากกว่า นอกจากนี้ กะเหรี่ยงในสยามยังเชื่อในบรรพบุรุษ (pihko) ที่ดูแลปกครองครัวเรือน ผีขุนน้ำและผืนดินที่จัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในพิธีกรรมการติดต่อกับผีบรรพบุรุษ สืบเนื่องมาจากเรื่องเล่าเกี่ยวกับไก่และหมู ที่กินหนังสือหนังแกะของ Ywa เข้าไป ซึ่งเป็นที่รวบรวมความรู้และเรื่องราวต่าง ๆ ของกะเหรี่ยง ทำให้ในการสืบค้นต่างกะเหรี่ยงจะทำพิธีกรรมโดยดูจากกระดูกไก่ ส่วนกะเหรี่ยงโปว์ในสังขละบุรีและบริเวณใกล้เคียงเป็นชาวพุทธ เช่นเดียวกับมอญ ไทย หรือ พม่า ผู้ยึดมั่นในศาสนาพุทธกลายเป็นพุทธศาสนิกชนจาการเข้าเรียนในโรงเรียนมอญ ในสยามกะเหรี่ยงมักจะเข้าวัดมอญที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง การเข้าวัดดังกล่าวนำไปสู่การบวชเรียนทางศาสนาเป็นพระสงฆ์ โดยที่พุทธศาสนานิกาย "Quasi" เป็นที่นิยมนับถือกันมากในสังขละบุรี กำเนิดโดย Telakhon ในไทยนิกายนี้แยกออกเป็น 2 สำนัก คือหนึ่งสำนักอยู่ในตาก และอีกสำนักอยู่บริเวณตอนบนของกาญจนบุรี มีฤาษีเป็นผู้นำแต่ละสำนัก ส่วนกะเหรี่ยงสกอร์นั้นเชื่อในผีวิญญาณ (animistic) แต่อย่างไรก็ตาม ในพิธีทางความเชื่อเรื่องผีก็ยังได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนา ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อศาสนาดั้งเดิมของกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงในภาคเหนือของไทยนั้น มีความเชื่อเรื่องผี พุทธและคริสต์ รูปแบบความเชื่อทั่วไปจะรวมความเชื่อเรื่อง Ywa และ Mu kau li ซึ่งเป็นวิญญาณที่หลากหลายทั้งผีขุนน้ำ ดิน ความเชื่อเรื่องกระดูกไก่และหมู ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ (awkre) และเชื่อในเรื่องพลังอำนาจของชีวิต (kla) ที่แตกต่างไปจากกะเหรี่ยงภาคกลาง กะเหรี่ยงโปว์ทางใต้ของแม่สะเรียงเชื่อเรื่องผี ยึดถือผีฝ่ายแม่ (myng chae) มากกว่าโปว์ภาคกลาง ผีจะคุ้มครองกะเหรี่ยงโปว์ที่สืบสายตระกูลบริสุทธ์ทางฝ่ายแม่เท่านั้น และจะกล่าวโทษคนที่เปลี่ยนเป็นพุทธหรือคริสต์ ทั้งนี้ การปรับตัวเป็นพุทธของกะเหรี่ยงโปว์นั้นมีความใกล้เคียงกับวิถีชีวิตมอญที่พวกเขามีความสัมพันธ์ด้วย จึงพบว่ามีวัดอยู่หลายแห่งในพื้นที่กะเหรี่ยงโปว์ ส่วนคริสตศาสนานั้น มิชชั่นนารีสามารถเข้าถึงกะเหรี่ยงภาคเหนือได้ดีกว่าราชสำนักล้านนาที่กดขี่ พวกเขาจึงกลายเป็นชาวคริสต์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ต่อมาพวกเขาก็ละทิ้งคริสตศาสนากลับมายึดถือความเชื่อดั่งเดิมแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบในพิธีกรรม ส่วนกะเหรี่ยงสกอร์นั้น มีทั้งคนที่นังถือพุทธหรือคนที่เป็นคริสต์แต่ยังปฏิบัติตามความเชื่อเรื่องผีเช่นเดิม อย่างบริเวณแม่สะเรียงที่ซึ่งกะเหรี่ยงสกอร์อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ราบที่เป็นพุทธ ทำให้เกิดการผสมกลมกลืนทางศาสนา ต่อมาช่วงปลายยุค 1800 กะเหรี่ยงสกอร์เริ่มรับศาสนาคริสต์ทำให้ราชสำนักล้านนาต่อต้าน แต่อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าการรับศาสนาอื่นนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกะเหรี่ยงอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องระบบการเขียน การอ่าน (หน้า 89, 91-92, 94, 97, 159-160)

Education and Socialization

ไม่มีข้อมูล

Health and Medicine

กะเหรี่ยงโปว์จะผสมผสานระหว่างความรู้ท้องถิ่น การรักษาด้วยสมุนไพรและการรักษาที่หยิบยืมมาจากคนไทย มอญและพม่า กะเหรี่ยงโปว์ที่แควน้อยจะต้มยาพิษ ขี้ผึ้ง และน้ำมันปาล์มไว้ใช้เป็นจำนวนมาก เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง รวมทั้งนำขมิ้นมาทำเซรุ่ม ต้านพิษว่านกำยาน หมอตำแยกะเหรี่ยงจะแนะนำผู้หญิงที่จะคลอดลูกให้อยู่ไฟหลังการคลอดลูกอย่างน้อย 7 วัน ซึ่งพิธีการดังกล่าวกะเหรี่ยงได้นำมาจากการปฏิบัติของคนไทย กะเหรี่ยงจะนำสายสะดือเด็กแรกเกิดใส่ในกระบอกไม้ไผ่แขวนไว้ที่ต้นไม้ใหญ่ ช่วงที่โรคฝีดาษระบาดนั้นกะเหรี่ยงจะรักษามันเมื่อฝีแตก จะขอจากผีให้ช่วยรักษา แต่ในบางครั้งพวกเขาก็ทำการขับไล่ผีร้ายด้วยเชื่อว่าเป็นเหตุของโรค ส่วนการแพทย์ของกะเหรี่ยงโปว์และสกอร์ภาคเหนือของไทยนั้น คล้ายคลึงกับกะเหรี่ยงภาคกลาง โดยเลือกใช้สมุนไพร อำนาจผี ยาพิษ และเวทมนตร์คาถา พวกเขาตระหนักดีว่า ผีคือต้นเหตุของการเจ็บป่วย ในการรักษาโรคตามร่างกาย จึงใช้การเสกเป่าน้ำที่ผสมระหว่างพริกและเสมหะจากในปาก รวมทั้งการรักษาโดยดูจากกระดูกไก่ (หน้า 103-104,168)

Art and Crafts (including Clothing Costume)

กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มที่ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มีเพียงการบอกกล่าวเล่าต่อกันมาเท่านั้น บทเพลงบทกลอนของกะเหรี่ยงจะเป็นการเล่าเรื่องยกย่องผู้นำคนก่อนคล้ายกับเรื่อง Htau mei Ba ที่พรรณนาเวลาตั้งแต่ช่วงบรรพบุรุษที่พวกเขาไม่สามารถตรวจสอบได้ ส่วนประเพณีของกะเหรี่ยงภาคกลางจะมีอยู่ 2 เทศกาลต่อปี เป็นเทศกาลของทั้งกะเหรี่ยงโปว์และสกอร์ กะเหรี่ยงโปว์ใกล้สังขละบุรีและในเพชรบุรีจะสร้างโครงสร้างไม้ไผ่สูง 30 เมตร ประกอบเทศกาลที่สำคัญในเดือน 3 (ปกติช่วงเดือนกุมภาพันธุ์) ใช้ไม้ไผ่ค้ำเสาสูงบนยอดเป็นฉัตร ส่วนอีกเทศกาลจัดระหว่างวันขึ้น 15 ค่ำเดือนเก้า (ปกติจัดช่วงเดือนสิงหาคม) งานนี้รู้จักกันดีในชื่อ "Kin Khao hq" มีการนึ่งข้าวผสมเมล็ดและเกลือ พิธีจะจัดบริเวณศูนย์รวมชุมชนมีเด็กชายหญิงนั่งเป็นวงกลมร่วมกันกินข้าวต้มมัด รวมทั้งมีการละเล่นเต้นรำ ตั้งเสาไม้ไผ่ 12 อัน จัดเป็นคู่ 6 คู่ กะเหรี่ยงโปว์จะการเป็นเฉลิมฉลองในงานแต่งงาน ประเพณีการแต่งงานของกะเหรี่ยงโปว์เป็นการป้องกันการหย่าร้าง การเป็นชู้ และการอยู่ก่อนแต่ง พิธีจะจัดในตอนเช้าแต่ถ้าเป็นการแต่งงานของแม่หม้ายวหรือพ่อหม้ายจะจัดตอนกลางคืน ผู้หญิงสกอร์ที่ยังไม่แต่งงานนั้นจะนุ่งชุดสีขาว และจะประดิดประดอยทำชุดเมื่อถึงช่วงแต่งงาน ในงานเทศกาล "Kin khao hq" ที่เป็นที่นิยมรู้จักกันในหมู่บ้านกะเหรี่ยงภาคกลางนั้นกลับไม่เป็นที่นิยมในกะเหรี่ยงภาคกลาง ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 กะเหรี่ยงตีกลองเฉลิมฉลองกันสนุกสนาน แต่กะเหรี่ยงสกอร์ไม่มีการเต้นรำ อย่างในงานศพกะเหรี่ยงสกอร์จะร้องเพลงเป็นวงกลมเท่านั้น การละเล่นของกะเหรี่ยงโปว์ในภาคเหนือนั้นมีการรำที่หลากหลาย รำดาบ ฟ้อน การแสดงดนตรีโดยฉิ่งและฉาบ โดยการรำดาบนั้นไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเฉลิมฉลองแต่เป็นการแสดงเพื่อแสดงถึงอำนาจของกลุ่มมากกว่า (หน้า 30, 31, 98, 100, 105, 163)

Folklore

กะเหรี่ยงเล่าสืบต่อกันมาว่า พวกเขาอาศัยอยู่ที่แห่งหนึ่งทางเหนือภายใต้การดูแลของหัวหน้าเผ่า (Htau mei Ba) ภายหลังหมูป่าทำร้ายกะเหรี่ยง หัวหน้าเผ่าและลูกชายจึงจัดการฆ่า พวกเขาต้องการแต่เขี้ยวของมันเท่านั้น เมื่อประชากรกะเหรี่ยงเพิ่มพูนขึ้นจึงต้องหาที่ใหม่ หัวหน้านำกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่งอพยพลงใต้และค้างแรมบริเวณแม่น้ำ Hti Sei Mai Ywa ทั้งหลายจับสัตว์น้ำที่มีเปลือกมาต้ม แต่หลังจากผิดหวังว่าเปลือกจะอ่อนลง หัวหน้าของพวกเขาก็ออกเดินทางไปคนเดียวพร้อมสัญญาว่าจะทำเครื่องหมายให้ตามถูก ต่อมานักเดินทางชาวจีนกลุ่มหนึ่งบอกพวกเขาว่าเป็นความผิดอย่างมากที่จะกินเปลือก ข้างในเปลือกต่างหากคือสิ่งที่กินได้ ภายหลังจากการกินพวกเขารีบออกตามหัวหน้า แต่ป่าที่โตได้ปกคลุมสัญญาณ ทำให้พวกเขาคลาดจากหัวหน้า จากเรื่องราวดังกล่าวทำให้พวกเขาเชื่อกันว่าทำให้พวกเขาต้องตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเล่ากันว่า เมื่อพวกเขาได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของชนไทและพม่าแล้ว กะเหรี่ยงมีน้องชาย 2 คน คนหนึ่งเป็นไท (หรือพม่า) อีกคนเป็นคอเคเชียน (คนผิวขาว) ที่เดินทางมาที่ถิ่นเกิดของพระเจ้ายะวา พระยะวาเตรียมหนังสือความรู้ไว้ 3 เล่ม เล่มหนึ่งเป็นทองประทานแก่คอเคเชียน เล่มเป็นเงินให้ชนไท และเล่มเป็นหนังแกะให้แก่กะเหรี่ยง กะเหรี่ยงเดินทางกลับบ้านโดยลืมหนังสือไว้ในไร่ เมื่อพวกเขาเตรียมพื้นที่ทำกินได้เผาพื้นที่และลุกลามไหม้หนังสือด้วย และไก่ยังมากัดกินหนังสืออีก ตั้งแต่นั้นมาความรู้ของพวกเขาก็สูญหายไปต้องค้นหาความรู้จากกระดูกไก่ ในขณะที่คอเคเชียนและชนไทจารึกความรู้ต่างๆ ลงในหนังสือของพระยะวา จึงมีความเจริญเติบโตรุ่งเรือง แต่กะเหรี่ยงกลับถูกอำนาจ ถูกลิขิตให้ต้องอยู่อย่างยากจน ทำงานหนัก และผจญชีวิตในป่า พวกเขาจึงเฝ้ารอน้องชายตัวขาวกลับมาพร้อมกับหนังสือเล่มทองและมอบความรุ่งเรืองแก่พวกเขา (หน้า 1- 2)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

กะเหรี่ยงเชื่อว่าพวกเขาเกี่ยวดองกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในพื้นที่ของชนไท พวกเขาเชื่อว่าพวกเขามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับ Lamet และคนที่สูงทางเหนือของรัฐฉาน มีการผสมสายพันธุ์กับคนไทยที่ราบและคนพม่าที่ราบ ในพม่าและรัฐฉานกะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะแยกเป็น 2 กลุ่มคือ "สกอร์" และ "โปว์" โดยเรียกตามภาษาท้องถิ่นพม่า ในประเทศไทยและพม่า สกอร์ เรียกตัวเองว่า "ปกาญอ - pakanyau" ส่วนโปว์เรียกตัวเองว่า "ปะล่อง - phlong" ซึ่งหมายถึง "คน" กะเหรี่ยงจำนวนมากบอกว่า "สกอร์" แทนข้างผู้ชาย "โปว์" แทนข้างผู้หญิง ทั้งกะเหรี่ยงสกอร์และโปว์ มีความแตกต่างทั้งทางภาษาและการแต่งกาย สกอร์มักจะอาศัยอยู่ที่สูง ไกลจากพม่าและพื้นที่ชนไท ส่วนโปว์มักอยู่บริเวณที่ราบใกล้กับชุมชนคนที่ราบ นอกจากการจัดประเภทกลุ่มชนกะเหรี่ยงโดยภาษาแล้ว การแต่งกายก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการจัดประเภท โดยในงานผู้ศึกษาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ "กะเหรี่ยงแดง" และ "กะเหรี่ยงขาว" ที่ยึดอัตลักษณ์ตามการแต่งกาย กลุ่มกะเหรี่ยงที่มีอยู่หลายกลุ่มย่อยนั้นมีความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น ก่อนช่วงศตวรรษที่ 20 บริเวณที่สูงของไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย นอกจากสกอร์ โปว์และลัวะ ยังมีขมุ กะเหรี่ยงแดง ม้ง และเย้า โดยทั้งหลายล้วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่ม Tibeto - Burman ไม่ใช่กลุ่ม Mon - khmer แต่กลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวกลับถูกอ้างว่าทั้งหมดเป็น "พวกลัวะ" อย่างไรก็ตามทั้งสกอร์ โปว์และลัวะต่างมีความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้อง ส่วนความสัมพันธ์กับม้ง เย้า อาข่า ลาหู่และลีซอ เป็นความสัมพันธ์ในเรื่องการแย่งชิงที่ดินของกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นที่เพาะปลูกข้าวและต่อมาปลูกฝิ่น โดยส่วนหนึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการจัดการของรัฐไทย เพราะกลุ่มชาติพันธุ์อย่างม้ง กะเหรี่ยงหรือกลุ่มอื่นๆ ถูกมองว่าทำลายป่า ปลูกฝิ่น ไม่มีการศึกษา ยากจน ทำให้รัฐต้องเข้าไปจัดการ โดยการเผยแพร่พุทธศาสนาบนพื้นที่สูง นำมาสู่ความสนใจในเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เกิดการศึกษากลุ่มชาติพันธุ์อื่น ส่วนในความสัมพันธ์กับชนไท ปัจจุบันพบว่ามีความใกล้ชิดกันมากขึ้น เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างกะเหรี่ยงกับไทย เช่น ในจังหวัดราชบุรี คนไทย กะเหรี่ยงอยู่ร่วมกันมานานหลายศตวรรษ ในขณะที่อดีตนั้นมีความขัดแย้งอยู่ตลอด เช่น เรื่องการตั้งถิ่นฐาน เป็นต้น ส่วนความสัมพันธ์กับกลุ่มมอญ มอญมองว่าพวกตนมีความใกล้ชิดกับกะเหรี่ยงมากกว่าชาวพม่า เพราะพวกเขามีความใกล้ชิดกับกะเหรี่ยง อย่างโปว์ บริเวณปากแม่น้ำของพม่าและภาคกลางของไทย กลุ่มชาติพันธุ์มีการติดต่อแลกเปลี่ยนพืชผลเป็นเพื่อนบ้านที่ชิดใกล้ มีการผสมผสานประเพณีระหว่างกัน แม้กระทั่งคำว่า "กะเหรี่ยง" ก็มีปรากฎอยู่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์มอญ เรื่องความสัมพันธ์ของกะเหรี่ยงกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อย่างพม่านั้น เป็นความสัมพันธ์บนพื้นฐานของการแย่งชิง โจมตีระหว่างกันตลอดมา เช่น ราชวงศ์ตองอูเข้าโจมตีรัฐกะเหรี่ยงแดงหลายครั้งในระหว่างยุค 1300 ในขณะเดียวกัน กลุ่มกะเหรี่ยงแดงก็สามารถขยายอำนาจไปในพื้นที่ใกล้เคียงได้ในช่วงยุคศตวรรษที่ 16 และต้น 17 ความสัมพันธ์กับรัฐไทยล้านนาและฉานนั้น ปรากฎว่ามีอ้างถึงกะเหรี่ยง ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ปรากฎว่ามีการกล่าวถึงกะเหรี่ยงในภาคกลาง โดยจากประวัติศาสตร์ของเจ้ากรุงสยาม ผลงานของ Jeremias Van Vliet ได้กล่าวถึงรัชสมัยพระเจ้านเรศวร (1572-1605) ที่ไทยสามารถปราบ "Kreng" ได้ที่เชียงใหม่ โดยกองกำลังของพระองค์เข้าปราบปรามกลุ่มคนที่สูงในเชียงใหม่ ลำปาง ลาวและ "Kreng" ซึ่ง David Wyatt ได้กล่าวว่า "Kreng" อาจอ้างถึงกะเหรี่ยง แม้ว่า Michael Vickery ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยจะเชื่อว่าไม่ใช่กลุ่มคนกะเหรี่ยงแต่คือสถานที่ก็ตาม อย่างไรก็ตามมีการพิสูจน์ที่เชื่อได้ว่า"Kreng" คือการอ้างถึงกะเหรี่ยง นอกจากจะปรากฎในช่วงสมัยพระเจ้านเรศวรแล้ว ในยุคศตวรรษที่ 17 ยังปรากฎว่ากะเหรี่ยงมีส่วนสำคัญในราชสำนักไทย มีการกล่าวถึงหัวหน้ากองกำลังที่มีส่วนในการรบกับตองอู ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพเชื่อว่าผู้นำนายนี้ "Saen Phumilokhaphetsorkan" เป็นกะเหรี่ยง หลักฐานอื่นๆ พบว่ามีการอ้างถึงสมัยพระเจ้านารายณ์ที่ส่งกองกำลังของพระองค์ไปตีเมืองรามตรี เมืองอัมลักและเมืองอินทรารักษ์คีรี กรมพระยาดำรงเชื่อว่าเมืองอันลักและรามตรีน่าจะหมายถึงเมืองของลัวะ ส่วนอินทรารักษ์คีรีคือเมืองกะเหรี่ยง ซึ่งหลักฐานปัจจุบันพบว่าอินทรารักษ์คีรีคือแม่ระมาดปัจจุบัน จากบันทึกพบว่าพระอินทรารักษ์คีรีมีตำแหน่งเป็นนายด่านของตาก เมื่อพระนารายณ์เข้าครอบครองเมืองจึงมีการกวาดต้อนคนมายังอยุธยา นายด่านคนนี้มีส่วนสำคัญมากในการเติบโตของบ้านเมือง เป็นข้ารับใช้ใกล้ชิดของพระนารายณ์ (หน้า 3, 10-12, 15-16, 18, 22, 52, 54, 56-58)

Social Cultural and Identity Change

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ผลพวงจากสนธิสัญญาเบาว์ริงค์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่มีการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจสินค้าป่าจากกะเหรี่ยงเป็นส่วนสำคัญในเศรษฐกิจไทย และเมื่อรัชกาลที่ 5 ครองราชย์ พระองค์ต้องการปฏิรูปประเทศ เชื่อว่าคนไทยต้องมีการศึกษา มีความทันสมัยเพื่อจะป้องกันประเทศได้ ต้องปฏิรูประบบการศึกษา รวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง รวมทั้งนโยบายรัฐชาติไทย ต้องทำลายความแตกต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์ ดังนั้นทำให้รัฐไทยเข้าไปสัมพันธ์กับกะเหรี่ยงมากขึ้น กะเหรี่ยงจึงใกล้ชิดและนำเอาขนบธรรมเนียมอย่างเรื่องศาสนา ความเป็นอยู่ และการแต่งกาย รวมทั้งการพูดจาภาษาไทยเข้าไปปรับใช้ กะเหรี่ยงโปว์บางกลุ่มเริ่มผสมกลมกลืนวิถีแบบไทย นอกจากนี้สืบย้อนไปยังช่วงสงครามคองบองในปี ค.ศ.1753 ช่วงนั้นกะเหรี่ยง จำนวนมากได้อพยพเข้ามายังไทย และปรับตัวกลายเป็นคนไทย ช่วยเหลือป้องกันประเทศด้านพรมแดนและภาคตะวันตกของไทย เมื่อสงครามจบลงกะเหรี่ยงตั้งบ้านเรือนถาวรเริ่มทำไร่หมุนเวียน มีการติดต่อกับคนไทยที่ราบ กะเหรี่ยงจัดหาสินค้าป่าแก่คนไทยในรูปแบบการส่งส่วย การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกะเหรี่ยงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง กะเหรี่ยงเข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของรัฐส่วนกลาง ไม่เฉพาะกะเหรี่ยงในภาคกลางแต่รวมถึงกะเหรี่ยงที่ล้านนาด้วย นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางศาสนามีการรับพุทธศาสนา และคริสตศาสนาเข้ามาในกลุ่ม รับศิลปะการละเล่นเต้นรำจากคนไทยนำมาร้องรำทำเพลงกัน กะเหรี่ยงล้านนาจัดการปรับเปลี่ยนการเฉลิมฉลองของหมู่บ้าน เช่น การรำดาบ ที่กลายมาเป็นการแสดงสำหรับราชสำนักแสดงความปรารถนาที่จะสัมพันธ์กับไทย ในช่วง 1800 กะเหรี่ยงโปว์และสกอร์จำนวนมากได้ผสมกลมกลืนเข้ามาเป็นคนไทย พวกเขาทำการเพาะปลูกตามวิธีคนที่ราบ มีการติตดต่อระหว่างคนไทยและกะเหรี่ยง จนมีการแต่งงานกันระหว่างคนไทยและคนกะเหรี่ยง ละทิ้งการแต่งกายดั้งเดิม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทยมากขึ้น กลายเป็น "คนเมือง" ที่มีเอกลักษที่มีเอกลักษณ์ล้านนา ไม่ใช่กะเหรี่ยง ดังที่เขาพูดว่า "เราเคยเป็นกะเหรี่ยง" "แต่ตอนนี้เราเป็นคนเมือง" (หน้า 108-110, 160, 169-170, 183, 214, 230, 236)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

รูปที่ 1 แผนที่ประเทศไทยและพม่า แสดงบริเวณรัฐคะยาและรัฐ KAWTHLE (หน้า XXI) รูปที่ 2 แผนที่เส้นทางด่านเจดีย์สามองค์ (หน้า 68) รูปที่ 3 แผนที่แสดงบริเวณพรมแดน (หน้า 81) รูปที่ 4แผนผังการเต้นรำไม้ไผ่ของชาวกะเหรี่ยง (หน้า 99) รูปที่ 5 แผนที่ภาคเหนือของไทย (หน้า 120) รูปที่ 6 แผนที่รัฐกะเหรี่ยงแดงและบริเวณรอบๆ (หน้า 124)

Text Analyst อินทิรา วิทยสมบูรณ์ Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ (กะเหรี่ยง), ประวัติศาสตร์, ความสัมพันธ์, ภาคเหนือ, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง