สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ม้ง,เครือญาติ,เชียงใหม่
Author Leepreecha, Prasit (ประสิทธิ์ ลีปรีชา)
Title Kinship and Identity among Hmong in Thailand
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาอังกฤษ
Ethnic Identity ม้ง, Language and Linguistic Affiliations ม้ง-เมี่ยน
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 252 Year 2544
Source วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาวิชา มานุษยวิทยา เสนอต่อ University of Washington
Abstract

การบ่งบอกเครือญาติในประเทศไทย ได้ถูกกำหนดขึ้นใหม่โดยนโยบายการกลืนกลายและการบูรณาการของรัฐ การเผยแพร่ศาสนาพุทธและคริสต์ แม้การบ่งบอกเครือญาติจะเปลี่ยนไป แต่ทว่าก็ยังคงเป็นศูนย์กลางในการรักษาอัตลักษณ์ของม้ง ขณะที่ม้งปรับเข้ากับวัฒนธรรมไทยอันเป็นกระแสหลักและปรับตัวเข้ากับปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมสมัยใหม่ ม้งก็ได้ใช้บริบทสมัยใหม่เหล่านี้สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือญาติและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตน ในการศึกษานี้ ผู้ศึกษาตรวจสอบระบบเครือญาติและวิธีสืบทอดระบบเครือญาติจากกิจกรรมประจำวัน ได้แก่ การกำหนดการจำแนกเครือญาติใหม่โดยระบบจดทะเบียนและการศึกษาของรัฐ วัฒนธรรมไทย และการเผยแพร่ศาสนาพุทธและคริสต์ รวมทั้งวิธีรวมเครือญาติของตนเข้ากับความรู้และวิทยาการสมัยใหม่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อัตลักษณ์ของตน (จาก Abstract)

Focus

ศึกษาระบบเครือญาติและการจำแนกเครือญาติของม้งในประเทศไทยภายใต้บริบทชาตินิยมและโลกาภิวัฒน์ รวมทั้งการแปรเปลี่ยนการจำแนกบ่งบอกเครือญาติเนื่องจากกระบวนการทำให้เป็นไทยและกระบวนการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ โดยเน้นข้อมูลภาคสนามที่บ้านแม่สาใหม่ (น.1)

Theoretical Issues

ผู้ศึกษาสนใจวิธีการที่ม้งตอบสนองและการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมไทยและการรักษาการรวมเครือญาติของพวกเขาไว้ ทั้งนี้เพราะว่าแม้ปรากฏการณ์สังคมสมัยใหม่จะส่งผลกระทบก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ม้งก็ได้ใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์เหล่านั้นในการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอัตลักษณ์เครือญาติของตน (น.1) ผู้ศึกษาเห็นว่า ขณะที่การทำให้ทันสมัย (modernization) มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกครองคนท้องถิ่นให้มีชีวิตทางสังคมแบบสากลในกรอบที่กำหนด แต่ในอีกด้านหนึ่ง การทำให้ทันสมัยก็ได้สร้างโอกาสอันยิ่งใหญ่แก่คนท้องถิ่นในการเรียนรู้เทคโนโลยีและความรู้สมัยใหม่ อีกทั้งยังสร้างคนเหล่านี้ให้มีศักยภาพในการเปลี่ยนโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงพวกเขา และศักยภาพในการสร้าง (re-create) ตนเองในวิถีทางที่พวกเขาต้องการ ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงจิตสำนึกตนเอง (self-consciousness) ของกลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่นในการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเอง (น.3-4) และในการตระหนักถึงตนเอง (self-awareness) นี้ ม้งได้ใช้ปรากฏการณ์ของความเป็นสมัยใหม่ (phenomenon of modernity) สร้างกลไกและโอกาสในการติดตามสืบย้อนญาติของพวกเขาที่พลัดหายจากกันหลายรุ่นอายุ และความสมัยใหม่นี้ก็ให้โอกาสพวกเขาขยายความสัมพันธ์เครือญาติข้ามพรมแดนทางการเมืองและภูมิศาสตร์ (น.238)

Ethnic Group in the Focus

ม้งในประเทศไทยโดยเฉพาะที่บ้านแม่สาใหม่

Language and Linguistic Affiliations

ภาษาม้งขาว (White Hmong หรือ Hmong Dawb) และม้งน้ำเงินหรือม้งเขียว (Blue or Green Hmong หรือ Moob Ntuab) จัดอยู่ในกลุ่ม the Chuan-Qian-Dian Language ซึ่งผู้พูดภาษากลุ่มนี้มีมากกว่าสองล้านคนและอยู่กระจายกันในเสฉวน (Sichuan) ยูนนาน (Yunnan) และกุ้ยโจว (Guizhou) พวกเขาเรียกตนเองว่า "Hmong" หรือ "Hmoob" (น.29)

Study Period (Data Collection)

เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1997 ถึงเดือนกันยายน ค.ศ.1998

History of the Group and Community

Hmong หรือ Hmoob เป็นชื่อที่สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แผ่นดินใหญ่ตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศตะวันตกใช้เรียกตนเอง (น.25) เชื่อกันว่าแผ่นดินบ้านเกิดของม้งอยู่ในบริเวณแอ่งที่ราบแม่น้ำเหลืองและแม่น้ำแยงซี และเนื่องจากการรุกรานของชาวจีนฮั่น พวกเขาจึงได้อพยพกระจัดกระจายกันลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ ม้งได้มาถึงเวียดนามตอนเหนือในช่วงปลายคริสตทศวรรษ 1700 ถึงต้นทศวรรษ 1800 โดยตั้งถิ่นฐานอยู่บนที่สูงในบริเวณสิบสองจุไทซึ่งเป็นดินแดนที่คนไทครอบครอง ม้งได้เข้ามาในลาวตอนเหนือเมื่อประมาณปี ค.ศ.1810-1820 นอกจากหนีการกดขี่รุกรานของจีนแล้ว เหตุผลอีกประการหนึ่งในการอพยพก็คือเพื่อหาผืนดินที่อุดมสมบูรณ์สำหรับเพาะปลูก ส่วนในประเทศไทยนั้นคาดกันว่า มีม้งเข้ามาอาศัยตั้งแต่ช่วงปลายคริสตทศวรรษ 1800 แล้ว เพราะในปี ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) ได้พบว่า มีม้งตั้งบ้านเรือนอยู่ในจังหวัดตากแล้ว (น.30-31) สำหรับม้งที่เข้ามาในประเทศไทย มี 2 กลุ่ม ซึ่งแบ่งแยกตามภาษาถิ่นและการแต่งกาย ได้แก่ ม้งขาว (Hmong Dawb หรือ White Hmong) และม้งเขียวหรือน้ำเงิน (Mong Njua หรือ Moob Ntsuab หรือ Green or Blue Hmong) ม้งเขียวหรือน้ำเงินนี้บางครั้งก็เรียกตนเองว่า Mong Leng หรือ Moob Leeg เชื่อกันว่ายังมีม้งกลุ่มอื่นๆอีกที่อพยพเข้ามาในไทย แต่ได้ถูกกลืนกลายเข้าไปในม้งสองกลุ่ม (น.32) ม้งที่บ้านแม่สาใหม่ ก่อนที่ม้งจะเข้ามาตั้งบ้านแม่สาใหม่ในสถานที่ตั้งปัจจุบัน เดิมพวกเขาได้ตั้งบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่ม (hamlet) กระจายกันในบ้านป่าคาซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านแม่สาใหม่ พวกเขาอพยพมาที่บ้านแม่สาใหม่เนื่องมาจากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับพ่อค้าฝิ่นชาวยูนนาน เมื่อปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ.2488) ซึ่งเป็นปี่ที่ทหารญี่ปุ่นถอนกองทัพออกจากไทย ในช่วงเวลานั้น พ่อค้าฝิ่นชาวจีนยูนนานได้ตั้งศูนย์กลางการค้าใกล้ ๆ กับป่าคา และต่อมาเหตุการณ์ในปี ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) ที่ดงสามหมื่น อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งห่างขึ้นไปทางเหนือบ้านป่าคา พ่อค้าชาวจีนยูนนานได้จับตัวหัวหน้าหมู่บ้านตระกูล Xiong ไว้ ชาวบ้านต้องนำฝิ่น 12 จ๊อย (joi) กับม้า 3 ตัวไปแลกตัวหัวหน้าหมู่บ้าน ขณะที่ห่างลงมาทางใต้ศูนย์กลางการค้าฝิ่นใกล้ป่าคา พ่อค้าชาวยูนนานได้ฆ่าทหารไทย 3 นายซึ่งพบอยู่ในเส้นทางที่การเก็บภาษีฝิ่นจากชาวบ้าน ดังนั้นในปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ.2496) ทหารและตำรวจตระเวนชายแดน 400 นายจึงได้เข้าโจมตีกวาดล้างศูนย์กลางการค้าฝิ่นชาวยูนนาน ม้งที่ป่าคาประมาณ 70 ครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบในการต่อสู้ครั้งนี้ด้วย พวกเขาได้กระจัดกระจายกันไปอยู่ในหมู่บ้านม้งใกล้เคียง ครั้นต่อมาในปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ.2501) ม้งตระกูล Thao ก็ได้อพยพกลับเข้ามาตั้งบ้านเรือนใหม่เป็นกลุ่มใกล้ๆกับบ้านป่าคาเดิม ในปีต่อมา ตระกูล Yang ก็เข้ามาสร้างบ้านอยู่ด้วย จากนั้นตระกูล Xiong จากดงสามหมื่นก็อพยพตามเข้ามาอยู่ด้วยอีกกลุ่มหนึ่ง และในปี ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) ชาวบ้านก็ย้ายบ้านออกจากสถานที่เดิมห่างไปประมาณ 2 กิโลเมตร เพื่อให้เข้าถึงแหล่งน้ำ สถานที่แห่งใหม่นี้ก็คือ ที่ตั้งบ้านแม่สาใหม่ในปัจจุบัน (น.29-40)

Settlement Pattern

ไม่มีข้อมูล

Demography

บ้านแม่สาใหม่มีประชากร 186 ครัวเรือน 1,591 คน ในจำนวนนี้เป็นคนไทยพื้นราบและคนจีนยูนนาน 2 ครัวเรือน บ้าแม่สาใหม่มีชาวม้ง 5 ตระกูล ได้แก่ ตระกูล Hang (Haam/Taag) 17 ครัวเรือน ตระกูล Lee(Lis) 1 ครัวเรือน ตระกูล Thao (Thoj) 49 ครัวเรือน ตระกูล Xiong (Xyooj) 85 ครัวเรือน และตระกูล Yang (Yaaj) 32 ครัวเรือน นับถือผี 105 ครัวเรือน นับถือพุทธ 3 ครัวเรือน นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก 3 ครัวเรือน นิกายโปรแตสแตนท์ (แบ๊บติสท์) 58 ครัวเรือน และเซเวนเดย์แอดเวนติสท์ 17 ครัวเรือน (น.43-44) ประชากรทั้งหมดของบ้านแม่สาใหม่ เป็นชาย 809 คน หญิง 782 คน และแยกตาอาชีพได้ดังนี้ เป็นเด็กต่ำกว่าวัยเรียน 348 คน เ ป็นนักเรียน 531 คน เกษตรกร 531 คน แรงงานรับจ้าง 87 คน ค้าขาย 86 คน รับราชการ 4 คน เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ 1 คน พนักงานธนาคาร 2 คน และบาทหลวง (pastor) 1 คน (น.47)

Economy

ไม่มีข้อมูล

Social Organization

ครอบครัว สังคมม้งเป็นครอบครัวขยายตั้งถิ่นฐานข้างพ่อ ลูกชายแต่งงานพาภรรยาเข้ามาอยู่บ้านพ่อแม่ของตน ส่วนลูกสาวแต่งออกไปอยู่กับสามีและเป็นคนในตระกูลสามี ครัวเรือนหนึ่งประกอบด้วยครอบครัวหลายครอบครัว ชาวม้งขาว (Hmong Daw)ในประเทศไทยหลังจากน้องชายแต่งงานพาภรรยาเข้าบ้านได้ 2-3 ปี ครอบครัวลูกชายคนโตจะย้ายออกไปปลูกบ้านใหม่ใกล้ๆกับบ้านพ่อแม่ ส่วนครอบครัวลูกชายคนสุดท้องจะอยู่กับพ่อแม่ ดูแลสมาชิกในครัวเรือนและรับมรดกจากพ่อแม่ แต่ในหมู่ชาวม้งเขียวหรือน้ำเงิน (Mong Leng) ส่วนใหญ่ครอบครัวลูกชายทั้งหมดจะอยู่ด้วยกันหรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่แยกผีเรือนของตนจนกว่าพ่อแม่จะเสียชีวิต (น.49) การแต่งงาน เป็นการสืบสร้างการจำแนกความเป็นญาติ (reproducing kinship identities) ซึ่งปรากฏอยู่ในงานฉลองแต่งงาน สำหรับคู่บ่าวสาวพิธีฉลองการแต่งงานเป็นการตรึงพวกเขาเข้าไว้ในเครือข่ายของเครือญาติทั้งสองฝ่าย ส่วนที่สำคัญที่สุดของงานฉลอง คือ พิธีเชื่อมเครือญาติระหว่างครอบครัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาวรวมทั้งสมาชิกระหว่างตระกูลทั้งสอง พิธีนี้จะกระทำระหว่างในวันที่สองของงาน มีโต๊ะตั้งไว้ 2 ตัว สำหรับผู้ประกอบพิธี (ritual specialists) และผู้ช่วยรวมทั้งผู้เข้าร่วมพิธี (participants) ตัวหนึ่ง อีกตัวหนึ่งสำหรับสมาชิกครอบครัวเจ้าของบ้าน ครอบครัวเจ้าบ่าวและผู้ร่วมพิธีคนอื่น ๆ (attendees) เมื่อสิ้นสุดพิธีที่โต๊ะหลัก เจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าบ่าว (his attendant) ซึ่งนั่งจับคู่ตรงข้ามกับพี่ชายน้องชายของเจ้าสาว จะรินเหล้าใส่ถ้วยแล้วยื่นให้พี่ชายน้องชายของเจ้าสาว พร้อมกับกล่าวว่า Yawmdab - พี่เมีย ฉันให้ถ้วยเหล้านี้แก่ท่าน วันนี้ฉันกลายเป็นญาติของท่านโดยการแต่งงานกับน้องสาวท่าน และนับจากนี้ไปฉันจะเรียกท่านว่า "Yawmdab" ภายภาคหน้าไม่ว่าครอบครัวฉันจะเป็นอย่างไร บ้านฉันจะเล็กเท่าเล้าไก่หรือคอกหมู เมื่อท่านผ่านมาทางนี้ ท่านต้องมาเยี่ยมฉันกับน้องสาวท่าน จากนั้นพี่ชายน้องชายของเจ้าสาวก็รับถ้วยเหล้ามาดื่มและตอบว่า Yawmyij - น้องเขย วันนี้ท่านรับน้องสาวของฉัน ฉันจะเรียกท่านว่า "Yawmyij" ในวันข้างหน้า ไม่ว่าครอบครัวท่านจะเป็นอย่างไร บ้านจะเล็กเท่าเล้าไกหรือคอกหมู เมื่อใดที่ฉันผ่านมาทางนี้ จะแวะเยี่ยมท่านและน้องสาวแน่นอน แล้วเจ้าบ่าวก็รับถ้วยเหล้าจากพี่ชายเจ้าสาวมาดื่ม จากนั้นเจ้าบ่าวก็นำถ้วยเหล้าไปให้พ่อเจ้าสาว แม่เจ้าสาวและญาติคนอื่นๆ และปฏิบัติทำนองเดียวกัน เมื่อปฏิบัติขั้นตอนการสร้างความสัมพันธ์เครือญาติอย่างเป็นทางการแล้ว สมาชิกในตระกูลทั้งหมดของทั้งสองฝ่ายก็เกี่ยวดองกัน ดังนั้นการใช้คำเรียกญาติเพื่ออ้างอิงคนอื่นในวันข้างหน้าระหว่างสมาชิกทั้งสองฝ่ายจะอยู่ที่ขั้นตอนนี้ (น.75-78) ลักษณะการแต่งงานของม้งมี 2 แบบ คือ หนึ่ง การแต่งงานแบบ cross-cousin marriage เป็นการแต่งงานระหว่างลูกของพี่น้อง (siblings) ต่างเพศกันหรือลูกของพี่ชายกับน้องสาว และสอง การแต่งงานระหว่างลูกของพี่สาวน้องสาว (maternal parallel cousin marriage) สังคมอนุญาตให้ลูกของพี่สาวน้องสาวฝ่ายแม่เท่านั้นแต่งงานกันได้ และสามีของพี่สาวน้องสาวต้องอยู่ต่างตระกูลกันด้วย (น.78-79) ข้อห้ามในการแต่งงาน ได้แก่ 1) ห้ามสมาชิกในตระกูลเดียวกันแต่งงานกัน ถ้ามีการฝ่าฝืน คู่แต่งงานจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ผู้นำตระกูลจะปฏิเสธที่จะช่วยเหลือพิธีแต่งงานทั้งหญิงและชาย 2) ห้ามแต่งงานซ้อนกันในหมู่พี่น้อง (double marriage among siblings) ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานของผู้ชายคนเดียวกับพี่น้องผู่หญิงสองคน หรือการแต่งงานของพี่ชายกับพี่สาวและน้องชายกับน้องสาว คู่แต่งงานที่ฝ่าฝืนข้อห้ามนี้จะมีชีวิตครอบครัวไม่ยืนยาว และ 3) ในการแต่งงานระหว่างสองตระกูล ห้ามการแต่งงานข้ามรุ่นกัน ได้แก่ ห้ามผู้ชายแต่งงานกับน้องสาวของแม่หรือลูกของน้องสาว ถ้ามีการละเมิดข้อห้ามนี้ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะถูกลงโทษระหว่างพิธีแต่งงานเพื่อปรับระบบรุ่นอายุ (the generation system) ระหว่างสองตระกูล ในกรณีภายในช่วง 2-3 รุ่นอายุคน ห้ามการแต่งงานในหมู่ลูกหลานของตระกูลที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน สถานการณ์ที่อาจจะเกิดมี 2 กรณี คือ กรณีที่กลุ่มครอบครัวหรือสายตระกูลที่ร่วมตระกูลใหม่ (kiav xeem) และกรณีที่ลูกชายที่ติดมากับแม่ซึ่งแต่งงานใหม่ ในกรณีเช่นนี้ ห้ามคนที่เป็นสมาชิกในตระกูลใหม่แต่งงานกับลูกหลานในตระกูลเดิม (น.80-81) เครือญาติ สังคมม้งนับญาติข้างพ่อเป็นหลัก คนที่มีบรรพบุรุษร่วมกันถือเป็นคนในตระกูลเดียวกัน การจัดลำดับตระกูลของม้งมี 3 ลำดับ คือ ตระกูล(clan) ตระกูลย่อย (subclan) และสายตระกูล(lineage) - ตระกูล (clan) เป็นสมาชิกกลุ่มที่สำคัญที่สุดที่บ่งบอกบุคคลแต่ละคน เป็นการจัดระเบียบลำดับสายคนที่มีบรรพบุรุษร่วมกัน โดยการรวมสมาชิกที่เชื่อว่าเป็นลูกหลานของบรรพบุรุษคนเดียวกัน แม้ว่าจะไม่สามารถค้นหาร่องรอยความสัมพันธ์ย้อนกลับไปยังบรรพบุรุษที่ร่วมกันได้ก็ตาม ในภาษาม้งเรียกว่า xeem ซึ่งเชื่อกันว่าม้งรับคำนี้มาจากคำ "shing" หรือ "xing" ในภาษาจีนซึ่งหมายถึง กลุ่มสกุล (surname group) การรับรู้ถึงการมีบรรพบุรุษร่วมกันนำไปสู่หลักการที่ว่า ผู้ชายม้งที่ร่วมตระกูลเดียวกัน ถือเป็นพี่น้องหรือญาติ(brothers or relatives) ภาษาม้งเรียกว่า kwvtij ขณะที่ผู้หญิงที่มีตระกูลเดิม (natal clan) ร่วมกันจะกลายเป็นน้อง (sisters)ภาษาม้งเรียกว่า viv ncaus และก็ห้ามหญิงชายที่อยู่ในตระกูลเดียวกันแต่งงานกัน (น.49-51) - ตระกูลย่อย (subclan) ม้งไม่มีคำเรียกตระกูลย่อยโดยเฉพาะ แต่ก็มีคำที่หมายถึงตระกูลย่อย 2 คำ คือ cum (group) และ ib tug dabghuas(ritual ceremonial group) ตระกูลย่อยก็เช่นเดียวกับตระกูลที่เชื่อว่ามีบรรพบุรุษร่วมกัน แม้จะไม่สามารถสืบหาบรรพบุรุษที่ร่วมกันได้ เครื่องหมายเพียงอย่างเดียวที่แสดงความแตกต่างของตระกูลย่อยคือ การปฏิบัติพิธีกรรม คนในตระกูลเดียวกันจะปฏิบัติพิธีกรรมเหมือนกันและมีตำนานเหมือนกัน (the same mythology) คนต่างตระกูลกันจะมีแบบแผนการทำพิธีไม่เหมือนกัน นั่นเป็นเครื่องหมายแสดงว่าต่างกลุ่มกัน พวกเขาจะยังคงเป็นคนในกลุ่มเดียวกันนานตราบเท่าที่พิธีกรรมของพวกเขายังเหมือนกัน พิธีกรรมเหล่านั้น ได้แก่ พิธีไหว้ผีประตู (the door spiritual or dabroog) พิธีไหว้วัว (the ox spiritual or nyujdab) พิธีฝังศพ (the funeral ritual or kev pamtuag) และลักษณะหลุมศพ (the type of grape or tojntxa) (น.61) - สายตระกูล (lineage) เป็นกลุ่มสมาชิกที่สืบสายโดยตรงมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกัน โดยสามารถนับสืบย้อนกลับไปยังบรรพบุรุษร่วมกันได้ การนับสายตระกูลจะยังคงอยู่ตราบเท่าที่ลูกหลานของกลุ่มสายตระกูลสามารถสืบย้อนความสัมพันธ์ของพวกเขากลับไปยังคนที่เป็นบรรพบุรุษ สมาชิกในสายตระกูลเดียวกันจะทำพิธีกรรมแบบเดียวกัน ยกเว้นแต่บางคนที่รับพิธีปฏิบัติมาจากสายตระกูลอื่น พิธีกรรมสำหรับสายตระกูล ได้แก่ พิธีฝังศพ พิธีไหว้ผีบรรพบุรุษ (ancestral offerings or lagdab) พิธีไหว้วัว และพิธีไหว้หมู(pig ceremony or npuatai) (น.63-34) การสร้างและนับญาติ ม้งใช้คำเรียกญาติ (kinship terms) แทนการเรียกชื่อเฉพาะ (proper names) เพื่อกำหนดตัวบุคคลในพื้นที่ทางสังคมโดยยึดเครือญาติเป็นฐาน การใช้คำเรียกญาติเป็นกลไกทางสังคมในการสืบและสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างสมาชิกกลุ่ม (น.72) ภายในกลุ่มตระกูล ม้งต้องคำนึงถึงปัจจัย 3 ประการในการสืบสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติของพวกเขา คือ เพศ รุ่นอายุ (generation) และอายุ (age) ตามลำดับ เพื่อใช้คำเรียกญาติที่เหมาะสม ในกรณีของผู้ชายสองคนในตระกูลเดียวกันมาพบกันโดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พวกเขาสืบหาความสัมพันธ์เครือญาติโดยอ้างอิงกับบุคคลที่สามที่ทั้งสองต่างก็รู้จัก ถ้าทั้งสองคนต่างรุ่นอายุก็ไม่จำเป็นต้องตรวจดูปัจจัยอื่นอีก แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเดียวกัน ก็ต้องดูอายุ และถ้าไม่มีบุคคลที่สามให้อ้างอิง พวกเขาก็จะยึดอายุเป็นหลัก ถ้าทั้งช่วงอายุของทั้งสองฝ่ายไม่ต่างกันมาก ก็จะเป็นพี่น้องกัน แต่ถ้าอายุห่างกันมาก พวกเขาก็จะเป็นลุงกับหลานหรือปู่กับหลาน สำหรับกรณีผู้หญิงในตระกูลเดียวกัน ถ้าฝ่ายหนึ่งแต่งงานแล้ว ก็จะสืบสร้างความสัมพันธ์ผ่านตระกูลสามี แต่ถ้าเป็นโสดทั้งสองฝ่าย ก็จะใช้อายุและรุ่นของพ่อแม่ในการอ้างอิง หากไม่มีสิ่งใดให้อ้างอิง ถ้าพวกเขารุ่นอายุเดียวกัน ก็จะสร้างความสัมพันธ์เครือญาติชั่วคราวเป็นพี่น้องกัน แต่ถ้าต่างรุ่นอายุกัน ก็จะเป็นป้าหรืออากับหลาน (น.73-74)

Political Organization

ไม่มีข้อมูล

Belief System

พิธีกรรม พิธีไหว้ผีประตู (the door spiritual or dabroog) พิธีนี้ปฏิบัติทุกหนึ่งหรือสองปี หัวหน้าครอบครัวจะนำลูกหมูไปไหว้ผีประตูทิศใต้ของเรือน เพื่อขอให้ปกป้องคุ้มครองสัตว์เลี้ยงของครอบครัว หัวหน้าครอบครัวทุกคนในครัวเรือนต้องทำพิธีของตนเอง เพราะแต่ละครอบครัวต่างก็มีสัตว์เลี้ยงของตนเอง พิธีไหว้ผีประตูเป็นวิธีหนึ่งที่บ่งบอกถึงตระกูลย่อย โดยดูจากจำนวนชามหรือจานที่ใส่ของไหว้ ตระกูลย่อยแต่ละตระกูลจะจัดสิ่งของลงในชาม 5 หรือ 7 หรือ 9 ใบไปวางบนเตียงนนอนของหัวหน้าครอบครัว พิธีนี้จะทำภายในบ้านเท่านั้น โดยเฉพาะที่ประตูและที่เตียงของหัวหน้าครอบครัว เด็ก ๆ ผู้ชายร่วมพิธีโดยดื่มน้ำต้มเนื้อหมูที่นำไปเซ่นไหว้ ผู้ชายในครัวเรือนและผู้หญิงที่แต่งงานเข้ามาในตระกูลเท่านั้นที่กินอาหารในชามเหล่านั้น เพราะพวกเขาเป็นผู้สืบทอดตระกูล ส่วนผู้ร่วมพิธีที่อยู่ในตระกูลย่อยลูกสาวในครัวเรือนจะกินส่วนอื่นที่เหลือ (น.60-62, 82-83) พิธีไหว้วัว (the ox spiritual or nyujdab) เป็นพิธีไหว้พ่อแม่ของหัวหน้าครอบครัวที่เสียชีวิตไปแล้ว บางครอบครัวอาจจะเป็นปู่ย่า หรือปู่ชวดย่าชวด ผู้ชายทุกคนจะทำพิธีนี้ให้พ่อแม่ของตนหลังการแต่งงานและเมื่อเป็นหัวหน้าครอบครัว ตระกูลย่อยบางตระกูลจัดพิธีนี้เพียงครั้งเดียวให้พ่อแม่ที่เสียชีวิต ขณะที่บางตระกูลย่อยจะจัดเป็นครั้งคราว ทุกส่วนของวัว อาจจะใส่ในชาม 10 ใบและวางเป็นกองเล็กๆ 3 กอง หรือใส่ในชาม 13 ใบ และวางเป็นกองเล็ก ๆ 3 กอง หรือใส่ชาม 33 ใบ และวางเป็นกองเล็ก ๆ 3 กอง (น.62-63) พิธีไหว้ผีประตูและพิธีไหว้วัวนี้ จำนวนชามที่ใส่ที่ใส่ของและจำนวนกองเป็นเครื่องหมายแสดงตระกูลย่อย พิธีฝังศพ (the funeral ritual or kev pamtuag) พิธีนี้มีจุดสำคัญ 2 แห่ง จุดแรก การวางศพ ศพแขวนบนฝาผนังหรือวางบนพื้น จุดที่สอง ศพอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน ขณะฆ่าแม่วัวหรือควายเพื่อผู้ตาย ขณะเดียวกันลักษณะของหลุมศพก็บ่งบอกว่าเป็นแบบม้ง (Hmong style or ntxa Hmoob) หรือแบบจีน (Chinese style or ntxa Suav) หลุมแบบจีนจะวางก้อนหินบนหลุม ส่วนหลุมแบบม้งจะล้อมด้วยไม้ไผ่ หรือกิ่งไม้มีหนามบนหลุม (น.62) ระหว่างงานศพ บุตรชายและภรรยาจะจ่ายค่าอาหารทุกวันและจ่ายวัว (oxen) หรือควายเพื่อฆ่าในวันสุดท้ายของงาน วัวจะถูกฆ่าอย่างน้อยสองตัว ตัวแรกสำหรับไหว้วิญญาณ (laig dlaab หรือ a spiritual offering) ตัวที่สองเป็นส่วนเงินสินสอดของลูกสาว (his daughter(s)' bride wealth) ในกรณีผู้ตายเป็นหญิง จะมีวัวอย่างน้อย 3 ตัว ตัวแรกสำหรับวิญญาณของเธอ ตัวที่สองสำหรับเงินสินสอดลูกสาว และตัวที่สามสำหรับเงินของพ่อแม่ของผู้ตาย (her parents' wealth) (น.83-84) พิธีไหว้ผีญาติ (laigdab - the ceremony of offering food to deceased relatives) พิธีนี้ทำให้จดจำชื่อสมาชิกในสายตระกูล หัวหน้าครัวเรือนแต่ละครัวเรือนทำพิธีนี้ระหว่างงานเลี้ยงฉลองและเมื่อเก็บเกี่ยวพืชผลแล้ว เช่น งานฉลองปีใหม่ งานฉลองการแต่งงาน และพิธีฉลองข้าวใหม่ ก่อนสมาชิกครัวเรือนและผู้ร่วมงานจะมาร่วมงานฉลอง หัวหน้าครัวเรือนจะนำอาหารสุกและเหล้าไปเซ่นไหว้ญาติพี่น้องทุกคนของครอบครัวที่เสียชีวิตแล้ว เขาจะเรียกชื่อญาติพี่น้องและเชิญให้มาร่วมกินอาหาร โดยทั่วไปจะเชิญบรรพบุรุษของหัวหน้าครัวเรือน 3 รุ่นขึ้นไป เนื่องจากสังคมม้งไม่ได้เรียกขานกันด้วยชื่อตัว (proper name) ในชีวิตประจำวัน และไม่มีระบบตัวอักษรที่จะบันทึกชื่อ การทำพิธีนี้จึงช่วยให้จดจำบรรพบุรุษได้ (น.81-82) พิธีไหว้ผู้อาวุโสและหลุมศพบรรพบุรุษ (pe tsiab -the ceremony of paying respect to senior persons and ancestor's graves) ระหว่างปีใหม่จะรวมสมาชิกสายตระกูลให้ระลึกถึงผู้อาวุโสและคนที่ตายแล้ว ในหมู่ม้งน้ำเงินหรือเขียว (Hmong Njua) พิธีนี้ทำเพื่อผู้อาวุโสของสายตระกูล ในวันปีใหม่ผู้นำม้งที่ยังหนุ่มจะพากลุ่มไปยังบ้านผู้อาวุโสแต่ละบ้าน โดยนำอาหาร เหล้า และบางครั้งก็มีเงินและของอื่นๆ ไปเป็นของขวัญแก่ผู้อาวุโส พวกเขาจะขอขมาผู้อาวุโสในการกระทำที่ผ่านมาและอวยพรผู้อาวุโสให้มีอายุยืนสุขภาพแข็งอยู่เป็นที่พึ่งของพวกเขา สำหรับม้งขาว (Hmong Daw) ลูกหลานจะทำพิธีนี้ให้แก่พ่อแม่และคนที่เสียชีวิตแล้ว โดยเฉพาะระหว่าง 3 วันแรกหลังการตาย ลูกหลานจะนำอาหาร เหล้า กระดาษที่แทนเงินและธูป (joss sticks)ไปไหว้ที่หลุมแต่ละหลุม พวกเขาจะขอให้วิญญาณผู้ตายคุ้มครองพวกเขาในการทำกิจกรรมประจำวัน (น.87)

Education and Socialization

บ้านแม่สาใหม่มีโรงเรียนเปิดสอนในปี ค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ดำเนินการสอนโดยตำรวจตระเวนชายแดน ต่อมาในปี ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) กระทรวงศึกษาธิการก็เข้ามาดูแลดำเนินการสอน และในปี ค.ศ.1978 (พ.ศ.2521) ก็เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ.2541) มีห้องเรียน 15 ห้อง นักเรียน 380 คน ครู15 คน แต่ชาวบ้านส่วนมากส่งลูกเข้าไปเรียนโรงเรียนในเมืองเชียงใหม่และเชียงราย เนื่องจากโรงเรียนในท้องถิ่นมีคุณภาพไม่ดี และพ่อแม่ต้องการให้ลูกปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมคนพื้นราบเพื่อจะได้มีโอกาสดีกว่าในการศึกษาระดับสูงต่อไป (น.147-148)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

เรื่องเล่ากำเนิดตระกูล (clan) นานมาแล้ว เกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ระดับน้ำก็สูงขึ้น ๆ และในที่สุดน้ำก็ท่วมโลก นานถึง 120 วัน มนุษย์และสัตว์ต่างพากันล้มตายหมด ยกเว้นพี่น้องชายหญิงคู่หนึ่งที่พากันปีนเข้าไปในกลองไม้ก่อนที่น้ำจะท่วมโลก ขณะที่น้ำสูงขึ้น ๆ กลองก็ล่องลอยไปบนผิวน้ำ จนในที่สุดก็ไปชนกับท้องฟ้า (สวรรค์) พระเจ้า (Suab) ได้ยินเสียงดัง ก็ส่งลูกน้องลงมาดู หลังจากทราบเรื่อง พระองค์ก็สั่งให้ลูกน้องลงมาแก้ปัญหาน้ำท่วม พวกเขาเอาหอกเหล็กและทองแดงมาเจาะรูลงไปในโลก แล้วน้ำก็ไหลลงไปในรูเหล่านั้น และกลองก็กลับลงไปตั้งอยู่บนพื้นโลกอีกครั้ง พี่น้องชายหญิงคู่นั้นก็ปีนออกมาจากกลองและพบว่ามีเพียงพวกเขาสองคนเท่านั้นบนโลกนี้ พวกเขาต้องสร้างประชากรขึ้นมาใหม่ ผู้พี่ชายก็เกิดความคิดขึ้นมา เขาขอให้น้องสาวแต่งงานมีลูกกับเขา แต่น้องของเขาไม่เห็นด้วยเพราะพวกเขาเป็นพี่น้องกัน แต่พี่ชายก็ยังคงขอแต่งงานทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่งน้องสาวได้หยิบหินมา 2 ก้อน แล้วบอกกับพี่ชายว่า ถ้าเขาต้องการแต่งงานกับเธอจริงก็ให้ทำตามคำบอก คือ พวกเขาจะต้องนำหินคนละก้อนปีนขึ้นไปบนภูเขา เมื่อขึ้นไปถึงยอดเขาแล้ว ต่างคนต่างกลิ้งหินลงของตนลงมาข้างล่างคนละด้านของภูเขา รุ่งเช้าถ้าหินทั้งสองก้อนกลับขึ้นไปวางอยู่บนยอดเขาด้วยกัน เธอก็จะแต่งงานกับพี่ชาย พี่ชายตกลงกระทำตาม หลังจากที่ทั้งสองคนกลิ้งหินลงมาข้างล่างแล้ว ในตอนกลางคืน ขณะที่น้องสาวนอนหลับ พี่ชายก็แอบไปที่ภูเขา นำหินทั้งสองก้อนกลับขึ้นไปบนยอดเขาและวางไว้ด้วยกัน ตอนเช้าเมื่อทั้งสองคนขึ้นไปยอดเขาก็พบก้อนหินวางอยู่ด้วยกัน ดังนั้นน้องสาวจึงต้องแต่งงานกับพี่ชายตามสัญญา หลังจากแต่งงานได้สองปีน้องสาวก็ให้กำเนิดเด็กคนหนึ่ง มีรูปร่างเหมือนก้อนหินกลม ๆ ไม่มีหัว ไม่มีแขนขา แต่มีชีวิต พวกเขาจึงพากันไปหาพระเจ้า พระเจ้าบอกให้พวกเขาตัด "เด็ก" ออกเป็นชิ้น ๆ แล้วนำแต่ละชิ้นไปแขวนบนกิ่งไม้ของต้นไม้ชนิดต่าง ๆ ใกล้บ้าน เช้าวันต่อมา ปรากฏว่ามีกระท่อมจำนวนมากส่งควันทำอาหารออกมา กระท่อมแต่ละหลังมีคู่สามีภรรยาอาศัยอยู่ เมื่อพี่น้องสองคนเข้าไปเยี่ยมและถามว่าพวกเขาเป็นใคร คู่สามีภรรยาใหม่ที่อยู่ในกระท่อมมุงหลังคาด้วยใบ pwm tshis(pue shi -วัชพืชชนิดหนึ่ง) ซึ่งเป็นต้นไม้ที่พี่น้องชายหญิงได้แขวนชิ้นเนื้อ ตอบว่า พวกเขาเป็นสมาชิกของตระกูล lis (lee clan) คู่ที่อยู่ในบ้านหลังคาใบ ntsaj (ca -ต้นไม้ชนิดหนึ่ง) ก็บอกว่า พวกเขาเป็นสมาชิกของตระกูล yaj (ya or yang clan) คู่ที่อยู่ในบ้านหลังใบ tauj (tao- ต้นอ้อ) ตอบว่า พวกเขาเป็นสมาชิกตระกูล lang(lao clan) และอื่นๆ พี่น้องชายหญิงคู่นั้นจึงกลับไปเล่าเรื่องราวให้พระเจ้าทราบ พร้อมทั้งขอคำแนะนำจากพระองค์ พระเจ้าจึงบอกให้พวกเขาจัดพิธีแต่งงานแก่คู่หญิงชายเหล่านั้น และย้ำพวกเขาให้แนะนำคู่แต่งงานเหล่านั้นว่า ห้ามลูกหลานภายในตระกูลเดียวกันแต่งงานกัน การฝ่าฝืนข้อห้ามจะทำให้อายุสั้นและตาย และพวกเขาก็จะให้กำเนิดเด็กมีรูปร่างเหมือนกับพี่น้องชายหญิงที่ให้กำเนิดเด็กรูปร่างกลม ไม่มีหัว แขนขา ดังนั้น ลูกหลานม้งจึงได้ยึดถือปฏิบัติตามข้อห้ามจนถึงปัจจุบัน (น.51-54)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

การจำแนกเครือญาติ (Hmong kinship identity) ของม้งเป็นการจัดตำแหน่งแห่งที่ (a place) ให้แก่บุคคลในสังคมและเป็นแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวข้องกับคนอื่น ๆ โครงสร้างเครือญาติในสังคมม้งมีความผู้กพัน 3 แบบ คือ ผูกพันทางสายเลือด (consanguine tie) ผูกพันโดยการแต่งงาน (affinal tie) และผูกพันกันโดยมีตำนานและพิธีกรรมร่วมกัน ความผูกพันสองแบบแรกเป็นเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ (genealogical) ส่วนการมีตำนานและพิธีกรรมร่วมกันเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม (cultural) (น.243) ในการสร้างความสัมพันธ์เครือญาติ ถ้าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสายตระกูลจะยึดหลักความผูกพันทางสายเลือด แต่ถ้าเป็นความสัมพันธ์เครือญาติระหว่างสมาชิกในตระกูล (clan) และตระกูลย่อย (subclan) ยึดหลักความผูกพันทางพิธีกรรม (น.64) และกลวิธีในการสร้างความสัมพันธ์ข้ามกลุ่มนี้จะกระทำผ่านพิธีแต่งงาน พิธีศพ และการใช้คำเรียกเครือญาติ (kinship terminology) ซึ่งม้งใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์และบ่งบอกความเป็นญาติ รวมทั้งใช้จัดลำดับความสัมพันธ์เพื่อจุดมุ่งหมายทางสังคม (น.164) ในภาษาม้งมีคำสองคำที่แสดงถึงคู่ตรงข้ามกัน คือ kwvtij (ออกเสียง ku ti) กับ neejtsa (ออกเสียง neng sha) คำแรกหมายถึง คนม้งที่เป็นสมาชิกของตระกูลหนึ่ง คำนี้แสดงถึงญาติพี่น้อง (relatives) ที่ทำพิธีกรรมร่วมกัน (subclan) และมีบรรพบุรุษร่วมกัน (lineage) เมื่อใดที่คนม้งต้องการความช่วยเหลือ คนที่เป็น kwvtij ลำดับแรกที่เขาไปหาคือ คนที่ร่วมสายตระกูล จากนั้นจึงไปหาคนที่ร่วมตระกูลย่อย(subclan)และคนที่ร่วมตระกูล(clan)ตามลำดับ ส่วนคำ neejtsa หมายถึง คนม้งในตระกูลอื่น ได้แก่ สมาชิกในตระกูลของผู้หญิงที่แต่งงานเข้ามา (the fellow clan members of any married-in women) ซึ่งมิได้หมายเฉพาะสมาชิกในตระกูลภรรยาของตนเท่านั้น แต่ยังรวม สมาชิกในตระกูลเดิมแม่ สมาชิกในตระกูลเดิมของป้าสะใภ้ พี่สะใภ้น้องสะใภ้ และหลานสะใภ้ด้วย (น.65-66)

Social Cultural and Identity Change

คำเรียกญาติ เป็นกลวิธีหนึ่งที่ม้งใช้สร้างความสัมพันธ์เครือญาติข้ามกลุ่มญาติ ในปัจจุบันได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้คำเรียกญาติ ทั้งนี้ผู้ศึกษาเห็นว่าระบบการศึกษาของรัฐและความรู้สึกกดดัน (oppression) ในการเผชิญกับวัฒนธรรมไทยที่เป็นกระแสหลักมีอิทธิพลทางความคิด (reshape) ต่อความสัมพันธ์และคำเรียกญาติของม้งในกลุ่มคนรุ่นหนุ่มสาว (น.164) การบังคับให้นักเรียนพูดภาษาไทยกลางในโรงเรียน และความรู้สึกเป็นพลเมืองชั้นสอง ทำให้นักเรียนม้งสูญเสียความมั่นใจในการแสดงอัตลักษณ์ของตนในหมู่คนพื้นราบ พวกเขาจึงหลีกเลี่ยงการพูดภาษาม้ง และการใช้คำเรียกญาติของม้ง (Hmong kin term) คำและความหมายในภาษาไทยได้เริ่มเข้าไปแทนที่คำและความหมายในภาษาม้ง (น.155,165) นอกจากนั้นพวกเขายังใช้คำเรียกญาติของไทยในบริบทวัฒนธรรมม้งด้วย การใช้คำเรียกญาติของไทย (Thai kin term) ทำให้พวกเขาไม่สนใจสืบหาความสัมพันธ์เครือญาติซึ่งเป็นวิธีที่คนม้งใช้ค้นหาคำเรียกญาติที่เหมาะสม คนหนุ่มสาวเคยชินกับความสัมพันธ์เครือญาติและคำเรียกแบบไทย และรู้สึกว่าระบบการเรียกญาติของม้งที่ยึดหลักตระกูล รุ่นอายุ เพศ และอายุ ยุ่งยากมาก ขณะที่ระบบการเรียกของไทยพิจารณาเพียงเพศและอายุเท่านั้น การรับคำเรียกญาติและระบบการพิจารณาความเป็นญาติแบบไทยไม่เพียงมีอิทธิพลทางความคิดต่ออัตลักษณ์เครือญาติ แต่ยังมีอิทธิพลต่อความหมายด้วย คำเรียกญาติในภาษาไทยไม่ได้ให้หรือถ่ายทอดความรู้สึกของความเป็นญาติใกล้ชิดเหมือนกับคำเรียกของม้ง ในภาษาไทยไม่มีคำเรียกญาติที่มีความหมายเท่าเทียมกับคำในภาษาม้ง การนำคำในภาษาไทยไปใช้ในวัฒนธรรมม้งจึงทำให้เกิดการยืมความหมายคำในวัฒนธรรมม้ง ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ในหมู่คนม้ง โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวจึงเปลี่ยนไป (น.159,164-165) การเปลี่ยนศาสนาความเชื่อ ผู้ศึกษาเห็นว่า ระหว่างศาสนาพุทธกับคริสต์นั้น การหันมานับถือศาสนาคริสต์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมม้งมากกว่า แม้ว่าโครงการธรรมจาริกเผยแพร่พูทธศาสนาในหมู่ชาวม้งจะมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสำนึกความเป็นไทย และรวมกลุ่มคนต่างวัฒนธรรมเข้ามาภายใต้รัฐชาติเดียวกัน แต่เนื่องจากการหันมานับถือพุทธศาสนาหมายถึงการถูกกลืนเข้าไปในสังคมไทยและสูญเสียความเป็นม้ง ม้งจึงไม่ยอมรับนับถือพุทธศาสนาง่าย ๆ เหมือนกับการยอมรับคริสตศาสนา ผู้ศึกษาเห็นว่า การหันมานับถือศาสนาพุทธไม่ได้มีนัยยะสำคัญเท่ากับการหันมานับถือศาสนาคริสต์ที่ต้องการให้ม้งปฏิเสธความเชื่อดั้งเดิมอย่างถอนรากถอนโคน (น.174) ที่บ้านแม่สาใหม่ศาสนาคริสต์ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ม้งนับถือคริสต์กับที่ไม่นับถือคริสต์ โดยเฉพาะการรักษาความสัมพันธ์ของตระกูล ทั้งนี้เพราะข้อห้ามและข้อปฏิบัติของนิกายทั้งสาม ได้แก่ นิกายเซเวนเดย์แอดเวนทิสต์ห้ามดื่มเหล้า กินเนื้อหมู และเข้าร่วมพิธีกรรมเกี่ยวกับผี นิกายแบบติสต์อนุญาตให้กินเนื้อหมู แต่ห้ามดื่มเหล้าและเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม ส่วนนิกายโรมันคาทอลิก แม้จะให้ละทิ้งความเชื่อเดิมแต่ก็อนุญาตให้ปฏิบัติพิธีกรรมบางอย่างได้ (น.191) ผู้ศึกษาอธิบายว่า ความคิดเรื่องคู่ตรงข้ามของศาสนาคริสต์ระหว่างโลกแห่งความมืดกับโลกแห่งแสงสว่าง หรือพระเจ้ากับวิญญาณชั่วร้าย มิได้แยกเฉพาะการทำกิจกรรมทางพิธีกรรมในหมู่สมาชิกเครือญาติเท่านั้น แต่ยังแยกโลกหลังความตายของพวกเขาออกจากกันด้วย เนื่องจากผู้ที่นับถือคริสตศาสนาเชื่อว่า หลังจากการกลับมาของพระคริสต์ครั้งที่สอง พวกเขาจะมีชีวิตนิรันดรกับพระเจ้าในสวรรค์ (โลกแห่งความสว่าง) ขณะที่คนที่ไม่ได้นับถือคริสต์จะถูกส่งไปอยู่ในนรก (น.202-203) การนับถือศาสนาคริสต์จึงมีอิทธิพลต่อความคิด (reshape) ในการบ่งบอกหรือจำแนกความเป็นญาติของม้ง และทำให้เกิดความแตกแยกภายในสายตระกูล ตระกูลย่อย และตระกูล ขณะเดียวกัน ความแตกต่างของนิกายต่าง ๆ ก็ก่อให้เกิดกลุ่มย่อยภายในกลุ่มผู้นับถือคริสต์กลุ่มใหญ่ ความคิดเรื่องคู่ตรงข้ามของคริสต์ได้แยกม้งที่เป็นคริสต์ออกจากญาติ ๆ ของพวกเขาที่ยังนับถือผีอยู่ นอกจากนั้น วิธีที่มิชชันนารีแยกผู้ที่นับถือคริสต์ออกจากความเชื่อดั้งเดิมและการปฏิบัติทางวัฒนธรรม ได้สร้างความตึงเครียดในหมู่ญาติพี่น้องม้ง เช่น ผู้ที่นับถือคริสต์นิกายเซเวนเดย์แอดเวนทิสต์และแบบติสต์อย่างเข้มงวดไม่เข้าร่วมและช่วยเหลือญาติพี่น้องของเขาในการทำพิธีกรรมดั้งเดิม (น.210) การหันมาใช้นามสกุลแบบไทย ปัจจุบันคนม้งได้หันมาใช้นามสกุลแทนแซ่มากขึ้น ซึ่งผู้ศึกษาเห็นว่าระบบนามสกุลเป็นกลยุทธ์ของรัฐเพื่อกำหนดการสืบทอดมรดก จำแนกภูมิหลังทางชาติพันธุ์และกลืนกลายชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่คนไทย การมีแซ่ปรากฏในเอกสารราชการก่อให้เกิดความยุ่งยากในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐและคนพื้นราบ คนหนุ่มสาวม้งจึงเปลี่ยนมาใช้นามสกุลแบบไทยเพื่อปกปิดแซ่ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของตน การยอมรับหรือหันมาใช้นามสกุลก่อให้เกิดความตึงเครียดในหมู่สมาชิกของตระกูลแซ่ ยิ่งกว่านั้น การหันมาใช้นามสกุลยังนำไปสู่การกำหนดความคิดเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกในตระกูลและอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ใหม่ให้แก่คนรุ่นต่อไป คนรุ่นใหม่จะมองว่าเฉพาะคนที่มีนามสกุลไทยเหมือนตนเท่านั้นเป็นญาติ ขณะที่คนรุ่นเก่ามองว่าคนที่มีแซ่ร่วมกันเป็นญาติพี่น้อง และการเปลี่ยนจากแซ่มาใช้ระบบนามสกุลไทยยังเปลี่ยนคุณค่าทางวัฒนธรรมในหมู่ม้งด้วย ผู้นำม้งหลายคนกังวลว่า ในไม่ช้าก็จะมีการแต่งงานกันในหมู่สมาชิกคนตระกูลเดียวกัน เนื่องจากคนรุ่นใหม่ตระหนักรู้เฉพาะคนที่มีนามสกุลเหมือนตนเท่านั้นเป็นญาติใกล้ชิดที่ห้ามแต่งงานด้วย นอกจากนั้น คนรุ่นใหม่ก็จะสูญเสียความเป็นสมาชิกในตระกูลของตนและการติดต่อเชิงชาติพันธุ์กับคนในตระกูลที่อยู่ในชุมชนอื่นหรือต่างประเทศ (น.132-134)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ภาพที่ 1: แผนที่ภาคเหนือของไทย (น.36) ภาพที่ 2: แผนที่แสดงพื้นที่ศึกษาวิจัยและอุทยานดอยสุเทพ-ดอยปุย (น.37) ภาพที่ 3: พื้นที่วิจัย (น.38) ภาพที่ 4: แสดงพื้นที่วิจัยส่วนหนึ่ง ฝั่งซ้ายของห้วยแม่สา (น.38) ภาพที่ 5: แผนที่แสดงการแบ่งเขตการบริหารปกครองของพื้นที่วิจัย (น.45) ภาพที่ 6: แผนที่แสดงครัวเรือนของแต่ละตระกูล (น.46) ภาพที่ 7: ตารางปิรามิดประชากรของแม่สาใหม่ (น.47) ภาพที่ 8: เจ้าอาวาสวัดนำผู้ติดยาเสพติดสาบานตนก่อยออกจาศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด (น.168) ภาพที่ 9:โบสถ์แบบติสต์ แม่สาใหม่ (น.168) ภาพที่ 10: พิธีบวชพระและเณรชาวเขา (น.171) ภาพที่ 11: การประชุมตระกูล Xion (น.219) ภาพที่ 12:คุกตระกูล Thao (น.219) ภาพที่ 13: การขายของที่ระลึกนักท่องเที่ยวที่ศูนย์ช้าง (น.224) ภาพที่ 14: แผนผังสายตระกูล (น.229) ภาพที่ 15 แผนผังสายตระกูล (น.229)

Text Analyst อธิตา สุนทโรทก Date of Report 19 เม.ย 2564
TAG ม้ง, เครือญาติ, เชียงใหม่, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง