สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database
Sorted by date | title

   Record

 
Subject ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ กะเหรี่ยง, ไต คนไต ไตโหลง ไตหลวง ไตใหญ่, จีนยูนนาน จีนมุสลิม,การศึกษา,เชียงราย
Author ชนิตา รักษ์พลเมือง และคณะ
Title การศึกษาของชาวไทยใหญ่ จีนฮ่อ ลัวะ และ กะเหรี่ยง : การศึกษาเฉพาะกรณีบ้านไม้ลุงขน บ้านถ้ำ บ้านกองลอย และบ้านผาแตก
Document Type รายงานการวิจัย Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity ปกาเกอะญอ, ไทใหญ่ ไต คนไต, จีนยูนนาน จีนฮ่อ มุสลิมยูนนาน, Language and Linguistic Affiliations ไท(Tai)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร Total Pages 163 Year 2531
Source จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Abstract

บุตรหลานกลุ่มผู้พลัดถิ่นไทยใหญ่และจีนฮ่ออพยพ ได้รับการผ่อนผันให้เข้าศึกษาในโรงเรียนภายในหมู่บ้าน ซึ่งโดยหลักการแล้วทางโรงเรียนจะไม่ออกใบรับรองให้ การเข้าเรียนของกลุ่มนี้จึงไม่เป็นการบังคับ ดังนั้นจึงมีบุตรหลานของกลุ่มผู้อพยพพลัดถิ่นอีกหลายคนที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน แต่เมื่อได้เข้าโรงเรียนแล้วบางโรงเรียนจะให้เรียนร่วมกับนักเรียนไทยภายใต้หลักสูตร การเรียนการสอนและหลักเกณฑ์การประเมินผลการศึกษาเดียวกัน โอกาสในการศึกษาต่อของกลุ่มผู้อพยพพลัดถิ่นเหล่านี้มีน้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบกัน จะพบว่าจีนฮ่อมีโอกาสได้รับสัญชาติไทยมากกว่า จึงทำให้มีโอกาสในการศึกษาสูงกว่าด้วย นอกจากจะศึกษาหาความรู้จากโรงเรียนทางการของไทย เด็กไทยใหญ่และจีนฮ่อยังได้เรียนรู้จากครอบครัว พระสงฆ์ และผู้นำชุมชนในหมู่บ้านด้วย สำหรับกลุ่มชาวเขาเผ่าลัวะ และกะเหรี่ยงนั้นได้รับสัญชาติไทย จึงมีหน้าที่ส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาภาคบังคับในโรงเรียน หลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนภายในหมู่บ้านทั้งสองนี้ ไม่ได้ใช้หลักสูตรพิเศษสำหรับชาวเขา แต่ใช้หลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 เช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐบาลอื่น ๆ ดังนั้นทางโรงเรียนจึงต้องปรับเนื้อหาให้เข้ากับสภาพท้องถิ่น ส่วนความรู้ที่ลัวะและกะเหรี่ยงได้รับนอกโรงเรียนนั้นเป็นการเรียนรู้จากครอบครัวเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการสอนพูดและการนับถือผีตามความเชื่อของกลุ่ม ปัญหาการศึกษาที่มีร่วมกันได้แก่ ปัญหาการเรียนโดยใช้ภาษาอันเป็นภาษาที่เด็กเหล่านี้ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ปัญหาครูส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอบรมก่อนและหลังการปฏิบัติงานในโรงเรียน และปัญหาความสอดคล้องของเนื้อหาหลักสูตรกับสภาพท้องถิ่น สำหรับกลุ่มผู้อพยพพลัดถิ่นนั้น มีปัญหาทางการศึกษาในโรงเรียนมากนับตั้งแต่แนวปฏิบัติในการรับเข้าเรียนที่ไม่แน่นอน จนถึงการที่ไม่ได้รับใบรับรองเมื่อจบการศึกษาอันเป็นการตัดโอกาสในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ

Focus

ศึกษาสภาพและปัญหาด้านการศึกษาของไทยใหญ่บ้านไม้ลุงขน จีนฮ่อบ้านถ้ำ ลัวะบ้านกองลอย และ กะเหรี่ยงบ้านผาแตก (หน้า 22)

Theoretical Issues

ไม่มี

Ethnic Group in the Focus

ไทยใหญ่ จีนฮ่อ ลัวะ และ กะเหรี่ยงสะกอ

Language and Linguistic Affiliations

ไม่มีข้อมูล

Study Period (Data Collection)

พ.ศ. 2529 - 2531

History of the Group and Community

ไทยใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 กลุ่มใหญ่คือ คนไทยเชื้อสายไทยใหญ่ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีบรรพบุรุษเป็นไทยอพยพมาจากประเทศพม่าเป็นเวลานานมาแล้วจนได้ผสมกลมกลืนกลายเป็นคนไทยได้รับสัญชาติไทย ส่วนใหญ่จะมีถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นไทยใหญ่ที่ถือเป็นชนกลุ่มน้อยสัญชาติพม่า ซึ่งเป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการเมือง หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศพม่า ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าที่อาศัยกระจัดกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทางด้านชายแดนไทย-พม่ามีหลายเชื้อชาติด้วยกัน ได้แก่ กะเหรี่ยง มอญ ไทยใหญ่ คะฉิ่น ลาว บางกลุ่มเข้ามาอยู่นาน 30-40 ปี เช่น พวกไทยใหญ่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และบางพวกเพิ่งจะอพยพเข้ามาในระยะไม่เกิน 15 ปี (หน้า 32, 33) เมื่อครั้งประเทศจีนได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายรัฐบาลจีนคณะชาติเป็นฝ่ายแพ้สงครามได้อพยพถอยหนีลงมาทางใต้มุ่งเข้าสู่บริเวณชายแดนไทยทางภาคเหนือ การอพยพมิใช่มีเฉพาะกองกำลังทหารเท่านั้น แต่ยังมีครอบครัวของทหารจีนคณะชาติและพลเรือนที่มิได้เป็นญาติพี่น้องของทหารจีนคณะชาติ อพยพหนีภัยเข้ามาอีกจำนวนหนึ่งด้วย โดยเข้ามาอาศัยอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2496 เป็นต้นมา และอพยพเข้ามาครั้งหลังสุดประมาณปี 2503 - 2504 (หน้า 40) จากหลักฐานทางฝ่ายล้านนาเชื่อว่าบรรพบุรุษลัวะเข้ามาอยู่ล้านนาไทยตั้งแต่สมัยพุทธกาล และถิ่นของลัวะได้ชื่อว่าเป็นถิ่นของมนุษย์กินคน ชอบล่าหัวคนเหมือนพวกว้าทางตอนเหนือของพม่า เมื่อมอญเข้ามาในภูมิภาคนี้จึงเรียกพวกลัวะว่า ยักษ์ และในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ได้กล่าวถึง ขุนหลวงวิลังคะ ซึ่งเป็นหัวหน้าลัวะคนสุดท้ายในประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่าชื่อนี้มาจากคำว่า มิลักขุ ซึ่งหมายถึงกลุ่มชนที่ยังป่าเถื่อนอยู่ในเวลานั้น (หน้า 46-47) ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาวเขาที่มีมากที่สุดในประเทศไทย เล่ากันว่าถิ่นฐานเดิมของพวกนี้อยู่เป็นอาณาจักรริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งเป็นทางภาคเหนือของประเทศไทยและรัฐฉานในปัจจุบัน เมื่ออาณาจักรถูกตีแตกไปในระหว่างที่ไทยอพยพลงมาจากน่านเจ้า กะเหรี่ยงได้อพยพจากพม่ามาประเทศไทย กะเหรี่ยงที่อยู่ในหุบเขาแม่ปิงเป็นกะเหรี่ยงโบราณจำพวกที่ลงมาทางใต้ ชาวเขาเผ่ากะหรี่ยงจะกระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรื่อยไปจนถึงชายแดนไทยทางด้านตะวันตกคือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน (หน้า 48)

Settlement Pattern

การตั้งบ้านเรือนของไทยใหญ่และชาวไทยจะไม่แบ่งออกเป็นอาณาเขต ลักษณะบ้านเรือนมีทั้งแบบหลังคามุงจากและตึก มีกลุ่มบ้านเด่นกลุ่มหนึ่งซึ่งเลียนแบบบ้านไทลื้อ เรียกกันว่า บ้านเก้าหลัง ภายในหมู่บ้านมีร้านค้าอาหาร ร้านค้าของชำ (หน้า 58) การตั้งบ้านเรือนของจีนฮ่อจะเป็นระเบียบอยู่สองข้างทางถนนถ้ำปลา อยู่รวมเป็นกลุ่มไม่กระจัดกระจาย ลักษณะบ้านเรือนยังคงเอกลักษณ์ของชาวจีน มีการติดป้ายชื่อสีแดงเป็นภาษาจีนและมีลวดลายการตกแต่งบ้านแบบจีน บ้านเรือนมีทั้งแบบบ้านไม่ไผ่และบ้านตึก (หน้า 61) การตั้งบ้านเรือนของลัวะจะไม่แยกออกจากชาวไทยพื้นเมือง ลักษณะบ้านเรือนมีทั้งบ้านไม้และบ้านตึก (หน้า 63) การตั้งบ้านเรือนของกะเหรี่ยง ส่วนใหญ่จะอยู่ตามบริเวณไหล่เขาและพื้นที่ลุ่มที่มีแม่น้ำลำธารไหลผ่าน ล้อมรอบด้วยเนินเขา ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่จะสร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง มุงหลังคาด้วยใบคาหรือใบตองตึง บ้านเรือนที่สร้างด้วยไม้และมุงหลังคาสังกะสีมีเป็นส่วนน้อย ลักษณะบ้านเป็นแบบบ้านกะเหรี่ยงที่มีเตาไฟอยู่ภายในบนกะทะดินเกือบกลางบ้าน สำหรับใช้เป็นที่ปรุงอาหารและให้ความอบอุ่น (หน้า 65)

Demography

หมู่บ้านไม้ลุงขน มีประชากรในปี พ.ศ. 2531 จำนวน 2,361 คน 505 หลังคาเรือน ในจำนวนนี้เป็นประชากรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (ไทยใหญ่) ประมาณร้อยละ 40 ชาวไตกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในหมู่บ้านนี้คือไทยใหญ่และไทลื้อ ทั้งสองกลุ่มนี้ถือบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า (หน้า 58) บ้านถ้ำ มีประชากรเกือบทั้งหมดเป็นจีนฮ่ออพยพ จากการสำรวจของจังหวัดเชียงรายในปี พ.ศ. 2524 มีประชากรที่เป็นจีนฮ่อรวม 1,560 คน และในเดือนมกราคม 2530 คาดว่าจะมีประชากรกว่า 1,600 คน ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับสัญชาติไทยแล้วประมาณ 100 คน ที่เหลือยังคงเป็นผู้อพยพ (หน้า 60, 61) บ้านกองลอย มีประชากรส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายลัวะ แต่ทุกคนมีสัญชาติไทยเป็นคนไทย ราษฎรที่อาศัยอยู่มีประมาณ 230 ครัวเรือน มีจำนวนประมาณ 1,460 คน (หน้า 63) บ้านผาแตก เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่มีกะเหรี่ยงเผ่าสะกออาศัยอยู่มาก ซึ่งนอกจากหมู่บ้านนี้แล้วยังมีบ้านแม่หลอดใต้ บ้านแม่หลอดเหนือ บ้านแม่จิ้ว บ้านแม่ตอน รวมทั้งสิ้นมีประมาณ 100 หลังคาเรือน มีประชากรประมาณ 400 กว่าคน บางบ้านเป็นคนไทยทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง โดยทั่วไปแต่ละบ้านจะมีขนาดราว 20-30 หลังคาเรือน เฉพาะบ้านผาแตกมีจำนวน 23 ครัวเรือน มีประชากรในปี พ.ศ. 2529 ประมาณ 125 คน (หน้า 65)

Economy

แต่เดิมก่อนที่ไทยใหญ่จะอพยพมาบ้านไม้ลุงขนส่วนมากจะประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา เมื่ออพยพมาแล้วส่วนหนึ่งประกอบอาชีพเดิม และบางส่วนประกอบอาชีพค้าขายเนื่องจากบริเวณนี้อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอแม่สาย บางคนก็ทำหัตถกรรมในบ้าน เช่น ไม้กวาด ถุงย่าม ทอผ้า นอกจากนี้ยังมีอาชีพรับจ้างซึ่งได้ค่าแรงถูกกว่าคนไทย เช่น รับจ้างทำนา ทำไร่ ทำงานโรงงานเจียรนัยพลอย รับจ้างคนของข้ามฝั่ง เป็นต้น (หน้า 58-59) จีนฮ่อในบ้านถ้ำส่วนใหญ่จะมีอาชีพเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ และมีบางส่วนทำไร่ ซึ่งเดิมเคยนิยมทำไร่หญ้าหวาน แต่ปัจจุบันเลิกปลูกเพราะราคาตก บางส่วนไปเช่านาทำเพราะไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง สำหรับผู้ที่ได้สัญชาติไทยแล้วบางส่วนก็ออกไปทำงานในจังหวัดอื่น (หน้า 62) ลัวะบ้านกองลอยประกอบอาชีพทำไร่มะเขือเทศ หรือที่เรียกกันว่า มะเขือส้ม และมีอาชีพทำนาซึ่งมีขนาดเล็กทำได้เพียงปีละครั้งเนื่องจากขาดแคลนน้ำ มีแหล่งน้ำธรรมชาติแห่งเดียวเป็นลำห้วยเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน และด้วยสาเหตุการขาดแคลนน้ำพื้นดินบริเวณนี้จึงไม่อุดมสมบูรณ์ มีปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง นอกจากนี้มีบางครอบครัวประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ และจากการสำรวจพบว่าไม่มีคนในหมู่บ้านออกไปทำงานนอกตำบลเลย (หน้า 64) สำหรับกะเหรี่ยงบ้านผาแตกผู้วิจัยไม่ได้กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจ แต่ได้กล่าวถึงการประกอบอาชีพของกะเหรี่ยงโดยทั่วไปว่ามีอาชีพทำการเพาะปลูก และได้ชื่อว่าเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติโดยการเพาะปลูกด้วยวิธีทำไร่นาหมุนเวียน และรับวิธีทำการเพาะปลูกมาจากคนไทยพื้นราบ (หน้า 49)

Social Organization

การรวมกลุ่มของไทยใหญ่ค่อนข้างหลวมไม่รวมกลุ่มกันอย่างเป็นปึกแผ่น ครอบครัวของไทยใหญ่ส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันหลายช่วงอายุ ตั้งแต่ปู่ย่าตายายจนถึงหลาน ผู้ชายและผู้อาวุโสจะมีอำนาจในครอบครัว (หน้า 59) จีนฮ่อมีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพื้นฐานของคนเหล่านี้เป็นอดีตทหารและครอบครัวของทหาร คนจีนในหมู่บ้านจึงมีระเบียบวินัย แต่ชาวจีนเหล่านี้ก็ไม่ได้ต้องการแยกตัวไปจากคนไทยและมีคนจีนหลายคนที่แต่งงานกับคนไทย เมื่อแต่งงานแล้วจะต้องพูดภาษาจีนได้ การตัดสินใจในครอบครัวจะเชื่อตามบิดาเป็นสำคัญ (หน้า 62) ลัวะในหมู่บ้านยังคงพูดภาษาลัวะกันได้ทุกคน มีการรักษาประเพณีบางประเพณีของเผ่าไว้ เช่น การนับถือผีและพิธีแต่งงาน แต่ในด้านการแต่งกายและดนตรีฟ้อนรำนั้นไม่ปรากฏว่ามีผู้รับเอกลักษณ์ของเผ่าไว้ในหมู่บ้าน (หน้า 64) สำหรับกะเหรี่ยงบ้านผาแตกผู้วิจัยไม่ได้กล่าวถึงโครงสร้างทางสังคม

Political Organization

ระบบการปกครองของหมู่บ้านไม้ลุงขนจะมีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำ ขณะเดียวกันไทยใหญ่ก็ให้ความเคารพผู้เฒ่าผู้แก่ และมีการแต่งตั้งหัวหน้าบ้านไทยใหญ่เพื่อเป็นตัวแทนในการประสานงานกับทางการไทย (หน้า 58) จีนฮ่อในบ้านถ้ำเมื่อแรกตั้งหมู่บ้านนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของกองกำลังตำรวจชายแดน (ตชด.) แต่ในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของนายอำเภอ มีผู้ใหญ่บ้านชาวไทยคอยดูแล แต่ขณะเดียวกันจีนฮ่อในหมู่บ้านก็มีการเลือกตั้งหัวหน้าหมู่บ้านชาวจีน และรองหัวหน้าหมู่บ้าน การเลือกตั้งนี้จะดำเนินการในการประชุมหมู่บ้าน ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 3 ปี นอกจากนี้ยังมีการเลือกกรรมการหมู่บ้านและกรรมการศึกษา (หน้า 61) ลัวะเมื่ออพยพมาตั้งหมู่บ้านที่บ้านกองลอย ได้มีผู้นำทางการของหมู่บ้านคือผู้ใหญ่บ้านหรือพ่อหลวง แต่ตามประเพณีแล้วลัวะจะให้การนับถือแก่ผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ตระกูลเก่าแก่ที่สุดในหมู่บ้านคือ ตระกูลตาสา ในหมู่บ้านได้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้านและกรรมการการศึกษา แต่กรรมการการศึกษาไม่ใคร่มีบทบาทเท่าใดนัก (หน้า 64) การปกครองบ้านผาแตกเป็นหมู่บ้านหลักในบรรดาหมู่บ้านทางการหมู่ 10 ซึ่งอยู่ใต้การดูแลของผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนี้ยังมีการตั้งกรรมการประจำหมู่บ้าน ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นคนไทยพื้นเมืองและกะเหรี่ยง ทำหน้าที่ดูแลกิจการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ กิจการปกครอง กิจการป้องกันและรักษาความสงเรียบร้อย กิจการคลัง กิจการสาธารณสุข กิจการการศึกษาและวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังมีการตั้งกรรมการด้านโครงการ C.C.F. ในกรรมการชุดนี้มีครูโรงเรียนบ้านผาแตกร่วมเป็นกรรมการด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากจะมีผู้นำทางการนี้แล้ว ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในหมู่บ้านยังให้ความเคารพนับถือแก่หมอผีประจำหมู่บ้านและผุ้อาวุโส (หน้า 65)

Belief System

ไทยใหญ่มีการนับถือพุทธศาสนา ตลอดจนประเพณีต่าง ๆ ก็ใกล้เคียงกับประเพณีไทยล้านนา เมื่อมีงานเทศกาลไทยใหญ่จึงสามารถร่วมด้วยได้อย่างดี แหล่งกิจกรรมสำคัญของหมู่บ้านคือวัดผาสุการาม ซึ่งเป็นวัดพุทธศาสนามีลักษณะการก่อสร้างแบบไทย แต่ภายในโบสถ์มีภาพเขียนนิทานชาดกไทยใหญ่ซึ่งมีอักษรไตละไทยกำกับอยู่ และอีกแห่งหนึ่งที่ชาวบ้านนิยมไปจัดงานต่าง ๆ คือบริเวณศาลเจ้าพ่อคำแดง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณลานไม้ลุงขน อันเป็นสัญลักษณ์และที่มาของชื่อหมู่บ้าน ทุกปีจะมีพิธีเซ่นไหว้เจ้าพ่อคำแดง โดยมีการเชิญม้าทรงมาจากฝั่งพม่า (หน้า 59) ภายในหมู่บ้านถ้ำ มีทั้งวัดทางพุทธศาสนาชื่อวัดถ้ำเสาหิน ศาลเจ้าแม่กวนอิม โบสถ์ของคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคทอลิก และสุเหร่าของศาสนาอิสลาม จีนฮ่ออพยพในบ้านถ้ำนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีผู้นับถือศาสนาอิสลามเพียง 7 - 8 ครัวเรือน พิธีกรรมทางศาสนาในหมู่บ้านนี้จึงมีหลากหลาย จากการที่จีนฮ่อส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประกอบกับมีบางส่วนที่แต่งงานกับคนไทย ประเพณีที่จัดในหมู่บ้านจึงมีทั้งประเพณีไทย เช่น เทศกาลเข้าพรรษา ออกพรรษา และประเพณีจีน เช่น งานตรุษจีน ในราวเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ และงานเช็งเม้งในเดือนเมษายนของทุกปี ลักษณะรูปแบบการจัดพิธีกรรม ประเพณีต่าง ๆ เช่น การทำพิธีศพ การบวช ฯลฯ จะมีทั้งแบบไทยและจีนแล้วแต่ทางครอบครัวจะเลือก (หน้า 62) บ้านกองลอย มีศาสนสถานที่สำคัญคือวัดพระธาตุกองลอย ตั้งอยู่บนดอยเหนือหมู่บ้าน เป็นที่ที่ชาวบ้านใช้ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ประเพณีสำคัญของหมู่บ้านมีการเลี้ยงผีประจำหมู่บ้านทุก 3 ปี จัดงานวันสงกรานต์ และวันยี่เป็งในเดือนพฤศจิกายน ในงานนี้จะมีการทำกระทงแต่ไม่มีการลอยเพราะไม่มีแหล่งน้ำ (หน้า 64) กะเหรี่ยงในบ้านผาแตก นับถือผีตามความเชื่อของเผ่า ซึ่งมีทั้งผีบ้านและผีป่า มีศาลตั้งอยู่ชายหมู่บ้าน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ บางหลังมีหิ้งบูชาพระอยู่บนบ้าน แต่ภายในหมู่บ้านไม่มีวัดมีเพียงอาศรมพระธรรมจาริกวัดผายอง มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ 1 รูป ไม่ปรากฏว่ามีโบสถ์คริสต์อยู่ในหมู่บ้าน แม้จะมีการได้รับความช่วยเหลือจากโครงการ C.C.F. เพราะองค์การนี้มุ่งพัฒนามากกว่าเผยแผ่ศาสนา (หน้า 66)

Education and Socialization

ในหมู่บ้านไม้ลุงขน มีโรงเรียนเพียงแห่งเดียวคือ โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หน่วยงานทางการศึกษาอื่น ๆ อยู่ใกล้บริเวณหมู่บ้าน มีหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานประถมศึกษาอำเภอแม่สาย สำนักงานศึกษาธิการอำเภอแม่สายซึ่งดูแลการศึกษานอกโรงเรียนด้วย คาดว่าประชากรในบ้านไม้ลุงขนมีผู้รู้หนังสือจำนวนมาก เด็กไทยใหญ่สามารถเข้าโรงเรียนได้โดยการผ่อนปรนของทางการไทย มีผู้ปกครองไทยใหญ่ส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนประมาณร้อยละ 50 ที่เหลือทั้งเด็กและผู้ใหญ่ส่วนหนึ่งเข้าร่วมโครงการการศึกษานอกโรงเรียน (หน้า 60) จีนฮ่อบ้านถ้ำ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษามาก มีการตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนกลาง และใช้หลักสูตรสอนภาษาจีนควบคู่กับหนังสือแบบเรียนจากไต้หวัน เด็กจีนฮ่อได้รับการศึกษาทั้งในโรงเรียนจีนและโรงเรียนทางการไทยคือ โรงเรียนบ้านถ้ำ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นอกจากนี้เด็กจีนฮ่อยังมีการเรียนภาษาจีนตามบ้านต่าง ๆ นอกเหนือจากเรียนที่โรงเรียนจีน สำหรับการเข้าโรงเรียนทางการของไทยนั้น เด็กจีนฮ่อยังเป็นผู้อพยพจึงไม่ถูกบังคับให้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา แนวทางการรับบุตรจีนฮ่ออพยพเข้าเรียนเป็นไปแนวเดียวกับไทยใหญ่ ต่อเมื่อได้รับสัญชาติไทยแล้วทางโรงเรียนจึงจะออกหลักฐานการศึกษาย้อนหลัง ส่วนการศึกษานอกโรงเรียนที่จัดขึ้นในหมู่บ้านได้มีจีนฮ่อส่วนหนึ่งเข้าร่วมโครงการ (หน้า 62-63) ลัวะบ้านกองลอย เป็นคนไทยสัญชาติไทย จึงมีสิทธิและหน้าที่เข้ารับการศึกษาเหมือนคนไทยทั่วไป เด็กทุกคนจะต้องเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในหมู่บ้านมีโรงเรียนเพียงแห่งเดียวคือ โรงเรียนบ้านกองลอย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ลัวะส่วนใหญ่ไม่ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษา และผู้มีอายุส่วนหนึ่งในหมู่บ้านได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการการศึกษานอกโรงเรียน (หน้า 64) กะเหรี่ยงเป็นคนไทยมีสัญชาติไทยจึงมีสิทธิและหน้าที่เข้ารับการศึกษาภาคบังคับ โรงเรียนภายในหมู่บ้านมีเพียงแห่งเดียวเป็นโรงเรียนชั่วคราวสังกัดกรมประชาสงเคราะห์ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กถึงประถมศึกษาปีที่ 6 และใช้หลักสูตรประถมศึกษาพุทธศักราช 2521 แทนหลักสูตรพิเศษอื่น ๆ ที่ได้ปรับไว้สำหรับชาวเขา (หน้า 66) ผู้วิจัยได้ทำการเปรียบเทียบการศึกษาของไทยใหญ่ จีนฮ่อ ลัวะ และกะเหรี่ยง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่เมื่อพิจารณาในแง่ของสัญชาติ กล่าวคือ กลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทยกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ไทยใหญ่บ้านไม้ลุงขนและจีนฮ่อบ้านถ้ำ กับกลุ่มที่ได้สัญชาติไทย คือกลุ่มชาวเขาเผ่าลัวะบ้านกองลอย และกะเหรี่ยงบ้านผาแตก โดยหยิบยกประเด็นสำคัญขึ้นมาเปรียบเทียบดังนี้ นโยบายการศึกษา ไทยใหญ่ผู้พลัดถิ่นและจีนฮ่ออพยพ เป็นเพียงผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศได้ชั่วคราวเท่านั้น การให้การศึกษาจึงเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม ต่างจากกลุ่มชาวเขาทั้งลัวะและกะเหรี่ยง ซึ่งมีสิทธิได้รับการศึกษาเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป การศึกษาของกลุ่มผู้พลัดถิ่นจึงไม่เป็นการบังคับ การเข้าเรียนของบุตรหลานกลุ่มนี้เป็นการผ่อนปรนให้เข้าโรงเรียนโดยโรงเรียนไม่ออกใบรับรองให้ ยกเว้นจะได้รับการพิจารณเป็นราย ๆ ไป เมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้สัญชาติไทย ยังพบความแตกต่างบางประการในระหว่างสองเชื้อชาตินี้ ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้อยู่ภายใต้แนวปฏิบัติในการรับเข้าเรียนเหมือนกัน โดยยึดตามแนวปฏิบัติในหนังสือที่ ศธ. 0204/8763 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2526 อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะได้สัญชาติไทยของกลุ่มจีนฮ่ออพยพนั้นมีมากกว่ากลุ่มผู้พลัดถิ่นคนไทย และมีจีนฮ่อบางคนในบ้านถ้ำได้สัญชาติไทย ทางโรงเรียนสามารถออกใบรับรองย้อนหลังได้ ในช่วงปี 2529 ทางการได้กำหนดแนวปฏิบัติต่อทั้งสองกลุ่มนี้อย่างชัดเจน คือทางการจะไม่จัดการศึกษาภาคปกติให้กับผู้พลัดถิ่นไทยใหญ่เหมือนกับคนไทย ส่วนกลุ่มจีนฮ่อมีนโยบายละลายพฤติกรรม โดยจัดให้เข้ารับการศึกษาภาคปกติได้ในเขตจังหวัดที่อยู่ในความควบคุม และถ้าครอบครัวได้สัญชาติไทยแล้วก็ได้เรียนเหมือนคนไทยทุกประการ สำหรับชาวเขารัฐบาลมีนโยบายรวมพวก และมุ่งให้การศึกษาภาคบังคับเพื่อให้เกิดสำนึกเป็นคนไทย และเห็นว่าการให้การศึกษาสำหรับกลุ่มนี้ควรใช้หลักสูตรเฉพาะ จึงได้เกิดหลักสูตรประถมศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา หลักสูตร ศศช. เป็นต้น อย่างไรก็ตามในแนวปฏิบัติปรากฏว่าลัวะในบ้านกองลอยและกะเหรี่ยงบ้านผาแตก ต่างก็เรียนตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 เช่นเดียวกับเด็กไทยพื้นเมือง (หน้า 122) สภาพและปัญหาการศึกษาในโรงเรียน ด้านปัจจัยป้อนทางการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่ศึกษาทั้ง 4 กลุ่ม ไทยใหญ่ผู้พลัดถิ่นและจีนฮ่ออพยพ ซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยจะถูกจำกัดให้อยู่ภายในเขตควบคุมของทางการ การจะออกนอกเขตควบคุมนั้นต้องทำตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ในขณะที่กลุ่มชาวเขาทั้งสองกลุ่มนี้ไม่ได้ถูกจำกัดเขตเพราะถือเป็นพลเมืองไทยเหมือนกัน เมื่อเปรียบเทียบหมู่บ้านทั้ง 4 แห่งนี้มีช่วงเวลาที่กลุ่มชนทั้ง 4 ได้มาอยู่อาศัยเป็นเวลาใกล้เคียงกัน แต่ปรากฏว่าการดำรงรักษาเอกลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมต่างกัน หากเทียบกลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทยด้วยกัน ไทยใหญ่บ้านไม้ลุงขนรับเอาลักษณะและวิถีชีวิตคนเมืองเข้ามาจนเกือบไม่เหลือวัฒนธรรมไทยใหญ่ดั้งเดิมของตน แต่สำหรับกลุ่มจีนฮ่อซึ่งมีรากฐานประเพณีอันยาวนาน จึงยังคงรักษาเอกลักษณ์เดิมของกลุ่มอยู่มาก ส่วนในระหว่างกลุ่มชาวเขานั้นลัวะได้มีโอกาสรับเอาวัฒนธรรมไทยไปมาก และเกือบจะกลืนกลายเป็นคนไทยพื้นเมืองแล้ว ส่วนกะเหรี่ยงยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของตนเอาไว้ (หน้า 123) ด้านบริบททางการศึกษาของโรงเรียน ทั้ง 4 หมู่บ้านไม่มีหมู่บ้านใดเป็นที่ตั้งของหน่วยงานทางการศึกษา แต่บ้านไม้ลุงขนอยู่ใกล้ตัวอำเภอมากที่สุดจึงสามารถติดต่อราชการได้สะดวกกว่า โครงการพิเศษทางการศึกษาในกลุ่มชนทั้ง 4 เป็นโครงการส่งเสริมการศึกษาในท้องถิ่นที่ใช้ภาษาอื่นมากกว่าภาษาไทยในโรงเรียนบ้านถ้ำของจีนฮ่อ และโครงการ C.C.F. ในหมู่บ้านลัวะ นอกจากนี้ ทั้ง 4 หมู่บ้าน มีการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านและกรรมการศึกษา แต่กรรมการศึกษาในหมู่บ้านชาวเขามักจะไม่มีบทบาทนัก สำหรับไทยใหญ่กับจีนฮ่อนั้นได้เข้ามามีบทบาทร่วมในการศึกษาของเด็กพอควร โรงเรียนของทุกหมู่บ้านที่ศึกษาเปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สังกัดสำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติ ยกเว้นโรงเรียนบ้านผาแตก ซึ่งอยู่ในความดูแลของหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา กรมประชาสงเคราะห์ ผู้บริหารของโรงเรียนทุกแห่งเป็นคนไทย ครูส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่มีภูมิลำเนาเดิมในท้องถิ่นและต่างจังหวัด ครูส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการอบรมเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยมาก่อน ทำให้ต้องปรับตัวด้านภาษา วัฒนธรรมประเพณีและความเป็นอยู่ จะมียกเว้นครูบางคนในโรงเรียนบ้านถ้ำ บ้านกองลอย และครูชาวเขาในโรงเรียนบ้านผาแตก ซึ่งมีบางคนเคยได้รับการอบรมการสอนชาวเขามาแล้วก่อนมาปฏิบัติงาน (หน้า 124-125) เป้าหมายการให้การศึกษาแก่นักเรียนชนกลุ่มน้อย ครูและผู้บริหารในโรงเรียนดังกล่าวมีความเห็นตรงกันในกลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทยว่า ควรให้การศึกษาโดยมีเป้าหมายในการสร้างความจงรักภักดีต่อชาติไทยเป็นลำดับแรก ในขณะที่เห็นว่าเป้าหมายสำหรับให้การศึกษาแก่ชาวเขาเผ่าลัวะและกะเหรี่ยงนี้ควรให้ความรู้และทำการอาชีพเป็นประการแรก ในด้านนักเรียนจะมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ นักเรียนไทยใหญ่ จีนฮ่อ และกะเหรี่ยง ส่วนใหญ่จะมาโรงเรียนเพราะอยากรู้หนังสือไทย ในขณะที่นักเรียนลัวะ เกือบทุกคนอยากมาโรงเรียนเพราะบิดามารดาให้มาเรียน สำหรับผู้ปกครองของทั้ง 4 กลุ่มนี้ต่างให้ความสำคัญต่อการรู้หนังสือไทยและอยากให้ลูกหลานเข้าเรียนโรงเรียนทางการของไทย (หน้า 126-127) ด้านกระบวนการให้การศึกษา กลุ่มชนทั้ง 4 กลุ่มนี้ต่างได้รับการศึกษาตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 เหมือนกับคนไทยทั่วไป แม้ในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้สัญชาติไทย เช่น ไทยใหญ่และจีนฮ่อ ต่างก็ได้เรียนร่วมกับนักเรียนไทยภายใต้หลักสูตรเดียวกัน อย่างไรก็ตามโรงเรียนของทั้ง 4 กลุ่มต่างมีการปรับหลักสูตรทางการนี้กล่าวคือ ในกลุ่มชาวเขาที่ได้สัญชาติไทยเป็นคนไทยซึ่งเป็นเป้าหมายในการให้การศึกษาของไทย การปรับหลักสูตรจึงพยายามให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น และเชื้อชาติของนักเรียน แต่สำหรับกลุ่มผู้อพยพพลัดถิ่นนั้นไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการให้การศึกษาของไทย การปรับหลักสูตรของโรงเรียนจึงคำนึงถึงนักเรียนไทยพื้นเมืองเป็นหลัก (หน้า 127) ในด้านหลักสูตรแอบแฝง เมื่อเทียบกลุ่มที่ได้สัญชาติไทยกับกลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทยพบว่า บรรยากาศในโรงเรียนของกลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทยนั้น ไม่มีเอกลักษณ์ของไทยใหญ่หรือจีนฮ่ออยู่ในโรงเรียนทางการของไทย ส่วนในโรงเรียนของชาวเขาพบว่าโรงเรียนกะเหรี่ยงมีบรรยากาศเป็นกะเหรี่ยงอยู่มาก มีการแต่งกายประจำเผ่ากะเหรี่ยงในวันศุกร์ แต่โรงเรียนลัวะนั้นไม่ปรากฏเอกลักษณ์ของลัวะทั้งในโรงเรียนและในหมู่บ้าน กลุ่มนักเรียนที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยทั่วไปร่วมเรียนกับนักเรียนไทยพื้นเมืองได้อย่างปกติ สำหรับกลุ่มที่ได้สัญชาติไทยพบว่าสามารถเข้าร่วมเรียนในโรงเรียนของทางการไทยได้อย่างค่อนข้างน่าพอใจ แต่พบว่านักเรียนกะเหรี่ยงมีปัญหาในด้านการเรียนมากกว่านักเรียนลัวะ เนื่องจากนักเรียนกะเหรี่ยงใช้ภาษาประจำเผ่าของตนในชีวิตประจำวัน และยังคงสภาพความเป็นชาวเขาไว้ได้มากกว่าลัวะ (หน้า 129-130) ผลผลิตทางการศึกษา ในเชิงคุณภาพการศึกษากลุ่มนักเรียนไทยใหญ่ จีนฮ่อ และลัวะ มีผลการเรียนในระดับปานกลางโดยเฉลี่ย แต่นักเรียนกะเหรี่ยงเมื่อสอบทบกับกลุ่มโรงเรียนสบเปิง ซึ่งสังกัด สปช. จะอยู่ในระดับปานกลางและต่ำกว่าปานกลางและเมื่อเทียบกลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทยต่างมีปัญหาในด้านวิชาภาษาไทยในกลุ่มทักษะ นักเรียนไทยใหญ่มีผลการเรียนต่ำกว่านักเรียนไทยในทุกกลุ่มประสบการณ์ นักเรียนจีนฮ่อมีผลการเรียนใกล้เคียงกับนักเรียนไทยในกลุ่ม สปช. สลน. และ กพอ. ส่วนในกลุ่มทักษะปรากฏว่านักเรียนจีนฮ่อมีผลการเรียนวิชาภาษาไทยต่ำกว่านักเรียนไทยพื้นเมืองมาก สำหรับกลุ่มที่ได้สัญชาติไทยนั้นนักเรียนลัวะมีผลการเรียนดี กว่านักเรียนกะเหรี่ยง สำหรับโอกาสทางการศึกษาตามกฏหมายแล้วนักเรียนสัญชาติไทยย่อมมีโอกาสดีกว่า (หน้า 131) สำหรับผลผลิตในเชิงปริมาณนั้นเมื่อดูจากอัตราการตกซ้ำชั้นและการออกกลางคัน พบว่า นักเรียนกลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทยมีอัตราดังกล่าวไม่มากนัก แต่มีบ้างที่ต้องตกซ้ำชั้นในกรณีไทยใหญ่เพราะไม่ตั้งใจเรียน เนื่องจากรู้ว่าไม่ได้รับใบรับรอง ส่วนจีนฮ่อมีสาเหตุมาจากความเหนื่อยล้าในการที่ต้องเรียนทั้งโรงเรียนทางการในเวลาปกติ และเรียนหนังสือจีนนอกเวลาวันละ 2 ครั้ง สำหรับนักเรียนลัวะต้องออกกลางคันเพราะช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ และปัญหาความยากจน ส่วนนักเรียนกะเหรี่ยงต้องออกลางคันหรือตกซ้ำชั้น เพราะความเหนื่อยล้าจากการเดินเท้าระยะไกลมาเรียน และปัญหาที่ต้องช่วยบิดามารดาทำงาน สำหรับการศึกษาต่อนั้น กลุ่มผู้พลัดถิ่นไทยใหญ่ไม่มีการศึกษาต่อ เพราะถูกจำกัดในด้านสัญชาติ และการออกใบรับรองการศึกษาในระดับประถมศึกษาเช่นเดียวกับนักเรียนจีนฮ่ออพยพ แต่กลุ่มหลังยังมีโอกาสเรียนต่อได้ ส่วนนักเรียนลัวะและกะเหรี่ยงนั้นแม้จะมีสิทธิเรียนต่อในชั้นสูงแต่มีอัตราการศึกษาต่อต่ำมาก (หน้า 135) ปัญหาการศึกษาในโรงเรียน เมื่อเทียบในกลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทยพบว่าปัญหาสำคัญของกลุ่มนี้คือ การที่แนวปฏิบัติของทางการในเรื่องการรับเข้าเรียนไม่แน่นนอน ครูและเจ้าหน้าที่มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของเป้าหมายในการศึกษา ครูบางคนต้องปรับตัวมากเพราะมาจากจังหวัดอื่น ผู้ปกครองไทยใหญ่มีพื้นฐานการศึกษาต่ำไม่เข้าใจระบบการศึกษาของไทยจึงช่วยเหลือบุตรในเรื่องนี้ไม่ได้ ส่วนจีนฮ่อจำนวนมากก็ให้ความสำคัญแก่การเรียนหนังสือจีนมากกว่า นอกจากนี้ทั้งหมู่บ้านไทยใหญ่และจีนฮ่อต่างมีปัญหาในด้านสภาพแวดล้อมในชุมชนที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา สำหรับในกลุ่มชาวเขาสัญชาติไทยไม่มีปัญหาในด้านนโยบายการศึกษา แต่มีปัญหาความสอดคล้องของหลักสูตรประถมศึกษา 2521 กับสภาพจริงในท้องถิ่น ครูต้องปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมชาวเขาและมีความยากลำบากในการดำรงชีวิต เพราะขาดทั้งน้ำและไฟฟ้าในหมู่บ้านกองลอย ส่วนบ้านผาแตกยังไม่มีไฟฟ้าแม้จะมีการต่อท่อประปาแต่หมู่บ้านก็ยังอยู่ห่างไกลเส้นทางคมนาคมมาก นอกจากนี้ ครูในโรงเรียนกะเหรี่ยงยังไม่ได้รับการอบรมในด้านวิธีการสอน มาตรฐานการศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลก็ยังต่ำกว่ามาตรฐานของโรงเรียนสังกัด สปช. และครูทั้งสองโรงเรียนต่างเห็นควรให้ใช้หลักสูตรเฉพาะสำหรับชาวเขามากกว่าหลักสูตรประถมศึกษาฉบับที่กำลังใช้อยู่ (หน้า 136) สภาพและปัญหาการศึกษานอกโรงเรียน ด้านปัจจัยป้อนของการศึกษา เมื่อเทียบโอกาสในการได้รับการศึกษาของโรงเรียนแบบทางการซึ่งจัดโดยหน่วยงานของรัฐ จะเห็นว่าทุกหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านไทยใหญ่และจีนฮ่อที่ไม่ได้สัญชาติไทย หรือลัวะ และกะเหรี่ยงที่ได้สัญชาติไทยแล้วต่างก็มีโอกาสเข้าร่วมโครงการศึกษาของหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียน เช่น โครงการการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ โครงการการศึกษาทางวิทยุและไปรษณีย์ โครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ โครงการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น เป็นต้น แต่กลุ่มผู้พลัดถิ่นไทยใหญ่และจีนฮ่ออพยพจะสมัครเข้าร่วมโครงการได้เฉพาะผู้ที่มีหลักฐานทางการรับรอง เช่น บัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่น หรือหนังสือรับรองจากผู้ใหญ่บ้าน แต่เมื่อจบการอบรมแล้วก็ไม่สามารถได้ใบรับรองจากทางการ สำหรับแหล่งการเรียนรู้นอกโรงเรียนกลุ่มชนทั้ง 4 กลุ่มต่างให้ความสำคัญแก่ครอบครัว โดยไทยใหญ่ จีนฮ่อ และกะเหรี่ยง ต่างได้เรียนรู้จากครอบครัวเป็นลำดับแรก ในขณะที่ลัวะเรียนรู้จากครอบครัวมากเป็นลำดับที่สองรองจากครู (หน้า 137) ส่วนเป้าหมายในการให้การศึกษานอกโรงเรียนนั้น พบว่า ผู้ปกครองทั้ง 4 กลุ่มมีการสอนภาษาพูดให้แก่เด็กรุ่นหลังเพื่อจะได้รู้ภาษาประจำเผ่าของตน และใช้ติดต่อกับคนในครอบครัวและชุมชนของตนได้ ส่วนการสอนด้านวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนาและจริยธรรมนั้นมุ่งในการรักษาสิ่งดีงามและขัดเกลาให้เป็นคนดี การให้ความรู้ด้านอาชีพมุ่งเพื่อให้มีโอกาสทำมาหากินได้ และให้ช่วยหารายได้ให้ครอบครัว แต่ไม่ปรากฏว่ามีการสอนภาษาเขียนของกลุ่มในหมู่บ้าน ยกเว้นจีนฮ่อซึ่งเคยมีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาจีนในหมู่บ้าน และเมื่อโรงเรียนถูกปิดแล้วก็ยังมีการสอนตามบ้านและแหล่งรวมกิจกรรม เช่น ศาลเจ้าแม่กวนอิม นอกเวลาเรียนในโรงเรียนทางการไทยเช่นกัน (หน้า 138) กระบวนการให้การศึกษา พบว่า ทั้ง 4 กลุ่ม มีการถ่ายทอดภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา จริยธรรม อาชีพ และการรักษา สุขภาพอนามัย แต่มีรายละเอียดในการถ่ายทอดต่างกัน หากเทียบระหว่างกลุ่มที่ไม่ได้สัญชาติไทยด้วยกันคือ กลุ่มไทยใหญ่และจีนฮ่ออพยพ พบว่าทั้ง 2 กลุ่มมีการถ่ายทอดภาษาพูดให้แก่เด็กรุ่นหลัง แต่ในด้านภาษาเขียนนั้นปรากฏว่าไทยใหญ่บ้านไม้ลุงขนไม่มีการสอน ในขณะที่จีนฮ่อให้ความสำคัญต่อการรู้หนังสือจีนมาก สำหรับกลุ่มชาวเขาเผ่าลัวะและกะเหรี่ยงนั้นก็ไม่สอนภาษาเขียนประจำเผ่าเช่นกันเพราะไม่มีความจำเป็นต้องใช้แล้ว ไทยใหญ่และลัวะส่วนใหญ่ก็ไม่สอนให้ลูกหลานรู้จักการแต่งกาย ฟ้อนรำ ดนตรี แบบดั้งเดิมของตน แต่สำหรับกะเหรี่ยงและจีนนั้นยังคงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมของตนเอาไว้ในขั้นดี ด้านศาสนามีความคล้ายคลึงกันทั้ง 4 กลุ่ม เนื่องจากต่างนับถือพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีกะเหรี่ยงและจีนฮ่อบางคนที่นับถือศาสนาอื่นแต่ก็ไม่มากนัก การให้ความรู้ด้านอาชีพทั้ง 4 กลุ่มมุ่งให้ลูกหลานได้ช่วยงานในชีวิตประจำวันเพื่อจะได้รู้จักทำมาหากิน และอาชีพที่ให้การสั่งสอนก็เป็นอาชีพของครอบครัว เมื่อเทียบทั้ง 4 กลุ่มพบว่า ในระหว่างไทยใหญ่และจีนฮ่ออพยพที่ไม่ได้สัญชาติ จีนฮ่อจะมีการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ประเพณีจีนมากกว่า แม้จะมีการรับวัฒนธรรมไทยพื้นเมืองเข้ามาด้วย ส่วนในระหว่างลัวะกับกะเหรี่ยงที่ได้สัญชาติไทยจะพบว่ากะเหรี่ยงมีความอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีมากกว่า ส่วนวิธีการสอนที่แต่ละกลุ่มใช้ในการสั่งสอนอบรมก็จะเหมือนกัน กล่าวคือส่วนใหญ่ครอบครัวจะใช้วิธีการสอนในชีวิตประจำวันเป็นหลัก ควบคู่กับการให้ร่วมงานประเพณีและการช่วยงานบ้าน ครอบครัวมีการสั่งสอนอบรมในทุก ๆ ด้าน ในขณะที่สถาบันศาสนาจะมุ่งอบรมในด้านจริยธรรมและประเพณีทางศาสนา ส่วนผู้นำชุมชนมีบทบาทในการอนุรักษ์ประเพณีเดิม โดยเฉพาะหมอผีหรือหมอบ้านและผู้เฒ่าผู้แก่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐให้ความรู้สมัยใหม่แก่กลุ่มเหล่านี้ (หน้า 138-140) ผลผลิตทางการศึกษาด้านความคิดเห็นของผู้เรียนต่อสิ่งที่ได้รับการอบรมสั่งสอน พบว่าทั้ง 4 กลุ่มชอบสิ่งที่ครอบครัวสอนและเชื่อฟังสิ่งที่พระสงฆ์อบรม เพราะรู้ว่ามุ่งอบรมให้เป็นคนดี ขณะเดียวกันต่างก็เปิดรับข่าวสารข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย แม้แต่กะเหรี่ยงที่อยู่ในหมู่บ้านห่างไกลก็รู้เรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในสมัยนิยมด้วย และได้มีโอกาสรับฟังรายการวิทยุภาคภาษากะเหรี่ยง ทั้ง 4 กลุ่มไม่พบความแตกต่างด้านความคิดเห็นต่อสิ่งที่เรียน แต่ในประเด็นที่ว่าชอบเรียนรู้จากใครมากที่สุด พบความแตกต่างระหว่างไทยใหญ่กับจีนฮ่อ กล่าวคือ เด็กไทยใหญ่ชอบเรียนรู้จากครูมากที่สุด พบความแตกต่างระหว่างไทยใหญ่กับจีนฮ่อ กล่าวคือ เด็กไทยใหญ่ชอบเรียนรู้จากครูมากเป็นลำดับแรก รองลงมาคือครอบครัวและพระสงฆ์ ในขณะที่เด็กจีนฮ่อชอบเรียนกับครอบครัวมากที่สุด รองลงมาเป็นครูจีนมากกว่าครูไทย และอันดับสามคือ พระสงฆ์ (หน้า 140) ปัญหาการศึกษานอกโรงเรียน ทั้ง 4 กลุ่มไม่ต่างกัน กล่าวคือผู้ปกครองส่วนใหญ่มีปัญหาในด้านเวลาที่จะอบรมสั่งสอน เพราะมุ่งหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ส่วนปัญหาในการเข้าร่วมโครงการการศึกษานอกโรงเรียนแบบทางการ คือการที่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้เรียน และการที่กลุ่มไม่มีสัญชาติไทยขาดหลักฐานทางการในการสมัครเข้าร่วมโครงการ แต่หากจะมีการจัดโครงการให้ความรู้ส่วนใหญ่ทั้ง 4 กลุ่ม ต้องการความรู้ด้านอาชีพและการยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ (หน้า 140)

Health and Medicine

ไม่มีข้อมูล

Art and Crafts (including Clothing Costume)

ไม่มีข้อมูล

Folklore

ไม่มีข้อมูล

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ไทยใหญ่ได้มีการผสมผสานเข้ากับสังคมไทยได้เป็นอย่างดี คงมีเพียงภาษาไตอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม ซึ่งนอกเหนือจากนั้นไทยใหญ่ในหมู่บ้านไม้ลุงขนเกือบไม่มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมอื่น ๆ ไว้ จะมีบ้างเพียงเล็กน้อย เช่น ฝึกการฟ้อนรำแบบไต แต่ส่วนใหญ่รับเอาวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยพื้นเมืองมาใช้ในชีวิตประจำวันของตนแล้ว (หน้า 59) จีนฮ่อบ้านถ้ำ ยังคงให้ความสำคัญเรื่องภาษาจีนมาก มีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น ยังมีความยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของตนอยู่โดยมีการสร้างบ้านเรือนที่คงเอกลักษณ์ของชาวจีนไว้ มีการติดป้ายชื่อสีแดงเป็นภาษาจีนและลวดลายการตกแต่งบ้านยังมีลักษณะแบบจีน (หน้า 61) ลัวะบ้านกองลอย ยังคงพูดภาษาลัวะอันเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่ม และมีการรักษาประเพณีบางอย่างของเผ่าไว้ เช่น การนับถือผีและพิธีแต่งงาน ส่วนใหญ่จะรับเอาแบบอย่างคนไทยมาปฏิบัติ (หน้า 64) กะเหรี่ยงบ้านผาแตก ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีของเผ่าไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นภาษา การแต่งกาย สภาพบ้านเรือน วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อโดยเฉพาะการนับถือผีและการเคารพหมอผี (หน้า 82)

Social Cultural and Identity Change

ไทยใหญ่มีการผสมผสานทางโครงสร้างกับไทยพื้นเมืองได้ดี เนื่องจากพื้นฐานทางภาษาและวัฒนธรรมของทั้งสองกลุ่มมีความคล้ายคลึงกันมาก การตั้งบ้านเรือนและการเข้าร่วมกิจกรรมในหมู่บ้านไม่แยกจากกัน จีนฮ่อมีการรับรูปแบบวัฒนธรรมของคนไทยพื้นเมืองเข้ามาด้วย แต่ไม่ละทิ้งวัฒนธรรมเดิมของตน นิยมอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยมีคนไทยพื้นเมืองตั้งบ้านเรือนอยู่รอบนอก ประกอบกับการมีพื้นฐานด้านภาษาและประเพณีต่างกัน จึงมีการเปลี่ยนแปลงภายในกลุ่มน้อยกว่าชนกลุ่มอื่น ลัวะมีการเปลี่ยนรูปแบบวัฒนธรรมเดิมของตนไปตามคนไทยพื้นเมืองมาก เนื่องจากได้รับสัญชาติไทย และมีการตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านไม่แยกออกจากคนไทยพื้นเมือง จึงมีการผสมผสานเข้ากับสังคมไทย สำหรับกะเหรี่ยงมีการรับเอาวัฒนธรรมของคนไทยพื้นเมืองเข้ามา แต่ไม่ละทิ้งวัฒนธรรมเดิมของตน เนื่องจากการตั้งถิ่นฐานของกะเหรี่ยงค่อนข้างโดดเดี่ยวไกลทางคมนาคม การรวมกลุ่มของเผ่าจึงยังคงแน่นแฟ้น และยังยึดถือวิถีชีวิตต่างจากคนไทยหลายประการ (หน้า 151)

Critic Issues

ไม่มีข้อมูล

Other Issues

ไม่มี

Map/Illustration

ตารางการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายการศึกษาแก่ชนกลุ่มน้อย (หน้า 126) ตารางความมุ่งหวัง ทัศนคติทางการศึกษาและความสำนึกในเชื้อชาติของกลุ่มที่ศึกษา (หน้า 133) ตารางเนื้อหาที่ควรสอนเพิ่มเติมในโรงเรียน (หน้า 134) ตารางการจัดลำดับแหล่งการเรียนรู้ในสังคม (หน้า 137)

Text Analyst ปนัดดา ปิ่นแก้ว Date of Report 04 เม.ย 2556
TAG ปกาเกอะญอ จกอ คานยอ กะเหรี่ยง, ไต คนไต ไตโหลง ไตหลวง ไตใหญ่, จีนยูนนาน จีนมุสลิม, การศึกษา, เชียงราย, Translator -
 
 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง