สมัครสมาชิก   
| |
ค้นหาข้อมูล
ค้นหาแบบละเอียด
  •   ความเป็นมาและหลักเหตุผล

    เพื่อรวบรวมงานวิจัยทางชาติพันธุ์ที่มีคุณภาพมาสกัดสาระสำคัญในเชิงมานุษยวิทยาและเผยแผ่สาระงานวิจัยแก่นักวิชาการ นักศึกษานักเรียนและผู้สนใจให้เข้าถึงงานวิจัยทางชาติพันธุ์ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

  •   ฐานข้อมูลจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ตามชื่อเรียกที่คนในใช้เรียกตนเอง ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ คือ

    1. ชื่อเรียกที่ “คนอื่น” ใช้มักเป็นชื่อที่มีนัยในทางเหยียดหยาม ทำให้สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รู้สึกไม่ดี อยากจะใช้ชื่อที่เรียกตนเองมากกว่า ซึ่งคณะทำงานมองว่าน่าจะเป็น “สิทธิพื้นฐาน” ของการเป็นมนุษย์

    2. ชื่อเรียกชาติพันธุ์ของตนเองมีความชัดเจนว่าหมายถึงใคร มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างไร และตั้งถิ่นฐานอยู่แห่งใดมากกว่าชื่อที่คนอื่นเรียก ซึ่งมักจะมีความหมายเลื่อนลอย ไม่แน่ชัดว่าหมายถึงใคร 

     

    ภาพ-เยาวชนปกาเกอะญอ บ้านมอวาคี จ.เชียงใหม่

  •  

    จากการรวบรวมงานวิจัยในฐานข้อมูลและหลักการจำแนกชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง พบว่า ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์มากกว่า 62 กลุ่ม


    ภาพ-สุภาษิตปกาเกอะญอ
  •   การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษกว่าการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ

    เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ 

    ภาพ-สลากย้อม งานบุญของยอง จ.ลำพูน
  •   มโนทัศน์ความหมายกลุ่มชาติพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาต่างๆ กัน

    ในช่วงทศวรรษของ 2490-2510 ในสาขาวิชามานุษยวิทยา “กลุ่มชาติพันธุ์” คือ กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมเฉพาะแตกต่างจากกลุ่มชนอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นการกำหนดในเชิงวัตถุวิสัย โดยนักมานุษยวิทยาซึ่งสนใจในเรื่องมนุษย์และวัฒนธรรม

    แต่ความหมายของ “กลุ่มชาติพันธุ์” ในช่วงหลังทศวรรษ 
    2510 ได้เน้นไปที่จิตสำนึกในการจำแนกชาติพันธุ์บนพื้นฐานของความแตกต่างทางวัฒนธรรมโดยตัวสมาชิกชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มเป็นสำคัญ... (อ่านเพิ่มใน เกี่ยวกับโครงการ/คู่มือการใช้)


    ภาพ-หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต บ้านของอูรักลาโว้ย
  •   สนุก

    วิชาคอมพิวเตอร์ของนักเรียน
    ปกาเกอะญอ  อ. แม่ลาน้อย
    จ. แม่ฮ่องสอน


    ภาพโดย อาทิตย์    ทองดุศรี

  •   ข้าวไร่

    ผลิตผลจากไร่หมุนเวียน
    ของชาวโผล่ว (กะเหรี่ยงโปว์)   
    ต. ไล่โว่    อ.สังขละบุรี  
    จ. กาญจนบุรี

  •   ด้าย

    แม่บ้านปกาเกอะญอ
    เตรียมด้ายทอผ้า
    หินลาดใน  จ. เชียงราย

    ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ถั่วเน่า

    อาหารและเครื่องปรุงหลัก
    ของคนไต(ไทใหญ่)
    จ.แม่ฮ่องสอน

     ภาพโดย เพ็ญรุ่ง สุริยกานต์
  •   ผู้หญิง

    โผล่ว(กะเหรี่ยงโปว์)
    บ้านไล่โว่ 
    อ.สังขละบุรี
    จ. กาญจนบุรี

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   บุญ

    ประเพณีบุญข้าวใหม่
    ชาวโผล่ว    ต. ไล่โว่
    อ.สังขละบุรี  จ.กาญจนบุรี

    ภาพโดยศรยุทธ  เอี่ยมเอื้อยุทธ

  •   ปอยส่างลอง แม่ฮ่องสอน

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ปอยส่างลอง

    บรรพชาสามเณร
    งานบุญยิ่งใหญ่ของคนไต
    จ.แม่ฮ่องสอน

    ภาพโดย เบญจพล  วรรณถนอม
  •   อลอง

    จากพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะ
    ทรงละทิ้งทรัพย์ศฤงคารเข้าสู่
    ร่มกาสาวพัสตร์เพื่อแสวงหา
    มรรคผลนิพพาน


    ภาพโดย  ดอกรัก  พยัคศรี

  •   สามเณร

    จากส่างลองสู่สามเณร
    บวชเรียนพระธรรมภาคฤดูร้อน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   พระพาราละแข่ง วัดหัวเวียง จ. แม่ฮ่องสอน

    หล่อจำลองจาก “พระมหามุนี” 
    ณ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
    ชาวแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นพระพุทธรูป
    คู่บ้านคู่เมืององค์หนึ่ง

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม

  •   เมตตา

    จิตรกรรมพุทธประวัติศิลปะไต
    วัดจองคำ-จองกลาง
    จ. แม่ฮ่องสอน
  •   วัดจองคำ-จองกลาง จ. แม่ฮ่องสอน


    เสมือนสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม
    เมืองไตแม่ฮ่องสอน

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ใส

    ม้งวัยเยาว์ ณ บ้านกิ่วกาญจน์
    ต. ริมโขง อ. เชียงของ
    จ. เชียงราย
  •   ยิ้ม

    แม้ชาวเลจะประสบปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย
    พื้นที่ทำประมง  แต่ด้วยความหวัง....
    ทำให้วันนี้ยังยิ้มได้

    ภาพโดยเบญจพล วรรณถนอม
  •   ผสมผสาน

    อาภรณ์ผสานผสมระหว่างผ้าทอปกาเกอญอกับเสื้อยืดจากสังคมเมือง
    บ้านแม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน
    ภาพโดย อาทิตย์ ทองดุศรี
  •   เกาะหลีเป๊ะ จ. สตูล

    แผนที่ในเกาะหลีเป๊ะ 
    ถิ่นเดิมของชาวเลที่ ณ วันนี้
    ถูกโอบล้อมด้วยรีสอร์ทการท่องเที่ยว
  •   ตะวันรุ่งที่ไล่โว่ จ. กาญจนบุรี

    ไล่โว่ หรือที่แปลเป็นภาษาไทยว่า ผาหินแดง เป็นชุมชนคนโผล่งที่แวดล้อมด้วยขุนเขาและผืนป่า 
    อาณาเขตของตำบลไล่โว่เป็นส่วนหนึ่งของป่าทุ่งใหญ่นเรศวรแถบอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

    ภาพโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
  •   การแข่งขันยิงหน้าไม้ของอาข่า

    การแข่งขันยิงหน้าไม้ในเทศกาลโล้ชิงช้าของอาข่า ในวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่บ้านสามแยกอีก้อ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
 
  ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ : ความหมายและการเรียกชื่อ

ความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์
   มโนทัศน์กลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic group) เป็นมโนทัศน์สำคัญมโนทัศน์หนึ่งที่นักมานุษยวิทยาใช้ในการจำแนกกลุ่มชนต่างๆซึ่งแพร่หลายในสาขาวิชามานุษยวิทยาตั้งแต่ทศวรรษของ 2490 เป็นต้นมา ก่อนหน้านี้นักมานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับการจำแนกแบบแผนพฤติกรรมมนุษย์หรือที่นักมานุษยวิทยาเรียกว่า “วัฒนธรรม” มากกว่าการจำแนกตัวกลุ่มชนเอง (Jones 2005;40,ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ 2551)

   นักมานุษยวิทยาบางกลุ่มในอังกฤษเริ่มให้ความสนใจในการจำแนกประเภทกลุ่มชน อย่างเช่น การใช้มโนทัศน์ “tribe” (แปลว่าเผ่าพันธุ์ หรือชนเผ่าในภาษาไทย) และตามมาด้วยการใช้มโนทัศน์อื่นๆ โดยนักมานุษยวิทยาอเมริกัน อย่างเช่น “band” (แปลว่า “กลุ่มชนเร่ร่อน”ในภาษาไทย) หรือ “peasant” (แปลว่า “ชาวนาชาวไร่” ในภาษาไทย) เพื่อให้เห็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนในเชิงวิวัฒนาการ (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ 2551:6)

   การปรากฏตัวและการแพร่หลายของมโนทัศน์ “กลุ่มชาติพันธุ์” หรือ “ethnic group” อาจไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนัก แต่สันนิษฐานได้ว่า เชื่อมโยงกับกระแสความเคลื่อนไหวของนักมานุษยวิทยาและนักสังคมศาสตร์อื่นๆ ในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะนักมานุษยวิทยาบางคน เช่น Ashley Montague

   A. Montague เป็นนักมานุษยวิทยากายภาพชีวภาพ ได้ออกแถลงการณ์ของยูเนสโกในการวิพากษ์การใช้มโนทัศน์ “ชนชาติ” (race) ในการจำแนกกลุ่มชนถึง 4 ครั้ง เช่น ในครั้งแรก พ.ศ.2493 (ค.ศ.1950) แถลงการณ์เรื่องปัญหา “ชนชาติ” (A. Montague 1972,ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ 2551:6) ซึ่งได้มีข้อเสนอให้ใช้มโนทัศน์ “กลุ่มชาติพันธุ์” แทน “ชนชาติ”

   A. Montague ได้ให้ข้อคิดเห็นว่า มโนทัศน์ “กลุ่มชาติพันธุ์” น่าจะเป็นคำที่มีประโยชน์ในการจำแนกกลุ่มชนได้อย่างถูกต้องมากขึ้น เพราะเป็นคำใหม่ ยังไม่มีความสับสนมากเท่าความหมายของคำว่า “ชนชาติ” (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ,2551:7)

   ในความคิดของ A. Montague “กลุ่มชาติพันธุ์” หมายถึง กลุ่มคนหรือกลุ่มชนที่ถูกมองว่าแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ในทางกายภาพหรือในทางวัฒนธรรม แต่ A.Montague ได้เน้นการยกตัวอย่างการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ในทางกายภาพ (A.Montague 1972)

   อย่างไรก็ตาม หลังจากทศวรรษของ 2490 เป็นต้นมา มโนทัศน์ “กลุ่มชาติพันธุ์” ได้แพร่หลายในสาขาชาติพันธุ์วิทยาหรือมานุษยวิทยาสังคมและวัฒนธรรม และสาขาวิชาอื่นๆ ในสังคมศาสตร์ เช่น สังคมวิทยา จิตวิทยา และรัฐศาสตร์ (Zenner 1996:303) จากข้อสังเกตของ Zenner (1996) มโนทัศน์อื่นๆ ที่ได้เคยใช้กันก็ยังมีใช้อยู่ควบคู่กันไป แต่ใช้กันน้อยลงด้วยเหตุผลต่างๆ อย่างเช่น คำว่า “เผ่าพันธุ์” (tribe) กลายเป็นคำที่มีนัยยะของการไร้อารยธรรม และสะท้อนอคติแบบจักรวรรดินิยมตะวันตก เพราะคำว่า “tribe” มาจากคำว่า “tribu” ซึ่งหมายถึง คนป่าเถื่อนที่อยู่นอกอาณาจักรแห่งอารยธรรม(Sahlin 1998)

   ส่วนคำว่า “ethnic group” หรือกลุ่มชาติพันธุ์ จะมีความหมายที่เป็นกลางมากกว่ากล่าวคือ ไม่ได้บ่งบอกประเภทหรือระดับคุณลักษณะทางวัฒนธรรมที่เหนือกว่าหรือต่ำกว่า เพียงแต่บ่งบอกว่าเป็นกลุ่มชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ในระยะแรกการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์เป็นการจำแนกโดยนักมานุษยวิทยาหรือนักภาษาศาสตร์ เช่น ในงาน “Ethnic Groups of Mainland Southeast Asia” ของ LeBar, Hickey and Musgrave (1960) ที่จำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเกณฑ์ความแตกต่างและความสัมพันธ์ทางภาษา

   อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา แนวคิดการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์โดยอาศัยเกณฑ์เชิงวัตถุวิสัยดังกล่าวได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์โดยนักมานุษยวิทยาที่ทำงานในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น Leach (1964) และMoerman (1967)

   Leach ศึกษากะฉิ่นในพม่า ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กะฉิ่น (Kachin) มีหลายกลุ่ม หลายภาษา และพบว่าไม่สามารถสื่อสารระหว่างกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังยอมรับกันว่าเป็นกะฉิ่น

   ในขณะที่ Moerman (1967) ซึ่งศึกษาลื้อในทางภาคเหนือของประเทศไทยได้เสนอว่าการจำแนก “กลุ่มชาติพันธุ์” ควรคำนึงถึงจิตสำนึกของสมาชิกชาติพันธุ์ด้วยว่าเขาคิดว่าตนเองเป็นใคร” Moermanตั้งข้อสังเกตว่าแม้ว่า “ลื้อ” จะมีลักษณะทางวัฒนธรรมแทบจะไม่แตกต่างจากคนเมืองหรือไตยวน (คนโดยทางเหนือ) ทั้งแบบแผนการผลิต ความเชื่อ ภาษา และการแต่งกาย แต่ความแตกต่างทางวัฒนธรรมซึ่งมีอยู่เพียงเล็กน้อยนี้ ก็มากพอที่จะทำให้ “ลื้อ” อาศัยความแตกต่างดังกล่าวเพื่อแยกตัวเองจาก “คนเมือง”

   นอกจากความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมแล้ว Moerman ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของกลุ่มชนก็มีความหมายต่อชื่อเรียกและความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

   ข้อวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องการนิยามความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยเกณฑ์ที่เป็นวัตถุวิสัยโดยนักมานุษยวิทยายังมีอีกมาก แต่เป็นในแนวทางที่ใกล้เคียงกันดังที่ Levine และ Campbell (1972) ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า นักมานุษยวิทยาสมัยนั้นมักสนใจแต่เรื่องวัฒนธรรม จึงเข้าใจกันอย่างหลวมๆ ว่ากลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งๆก็คือกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมหนึ่งร่วมกัน ซึ่งในความเป็นจริงมิอาจจำแนกได้อย่างชัดเจน (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ 2547) ข้อวิพากษ์ต่างๆ ดังกล่าวได้กระตุ้นความสนใจของนักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาบางกลุ่มที่ถามคำถามเกี่ยวกับ “ความเป็นชาติพันธุ์” มากขึ้นในกาลเวลาต่อมา ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้

   1. กระบวนการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์โดยคนในกลุ่ม
   2. การเรียนรู้และแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในบริบทต่างๆ
   3. ความรู้สึกและความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์
   4. ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ต่างกลุ่มชาติพันธุ์
   5. กระบวนการดำรงรักษาพรมแดนระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์
   6. กระบวนการเปลี่ยนแปลงในทางชาติพันธุ์

   Fredrik Barth (1969) นักคิดคนสำคัญที่มีบทบาทในการกระตุ้นมโนทัศน์การศึกษาชาติพันธุ์คือ “ethnic identity” (อัตลักษณ์ชาติพันธุ์) และ “ethic boundary” (พรมแดนชาติพันธุ์) ซึ่งถือเป็นแนวใหม่มีลักษณะเป็นจิตวิสัยในแง่ที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกนึกคิดของสมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์ว่าเป็นใคร เป็นสมาชิกของกลุ่มใด แตกต่างจากกลุ่มอื่นอย่างไร และลักษณะทางวัฒนธรรมใดที่มีความหมายต่อการจำแนกทางชาติพันธุ์

   ข้อเสนอของ Barth (1969) คือ ให้เปลี่ยนมุมมองจากการที่กลุ่มชาติพันธุ์เป็นหน่วยที่ถือวัฒนธรรมร่วมกันมาเป็น “รูปแบบการจัดระเบียบสังคมแบบหนึ่ง” ซึ่งมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “สถานภาพ” ในกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลที่อยู่ร่วมกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน หรืออยู่ต่างกลุ่มชาติพันธุ์กัน การกำหนดความหมาย กลุ่มชาติพันธุ์ตามความคิดนี้ ทำให้ลักษณะทางวัฒนธรรมมีความสำคัญในการจำแนกความเป็นชาติพันธุ์ของปัจเจกบุคคล และเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการจำแนกตนเองและคนอื่นว่าต่างกลุ่มกัน ในแง่นี้ ความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะเปรียบเสมือนสถานภาพอื่นๆ ในสังคม เช่น เพศสภาพ ชนชั้น วัยวุฒิ หรือถิ่นฐานที่อยู่ ที่กลายเป็นเครื่องหมายบ่งบอกมาตรฐานการปฏิสัมพันธ์ที่จะทำให้รู้ว่าคู่ปฏิสัมพันธ์ควรจะถือปฏิบัติอย่างไรต่อกันอย่างเหมาะสม ตามความคิดนี้ สิ่งที่จะมีความสำคัญในการศึกษาทางชาติพันธุ์ จึงน่าจะเป็นกระบวนการระบุอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ เอกลักษณ์ชาติพันธุ์ (ethnic category) และพรมแดนชาติพันธุ์ ในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลจากต่างกลุ่มชาติพันธุ์

   ข้อสังเกตของ Barth ก็คือว่า พรมแดนชาติพันธุ์อาจดำรงอยู่ได้ แม้ว่าจะมีการปฏิสัมพันธ์ข้ามกลุ่มชาติพันธุ์กันอยู่เสมอ และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไปในทางที่ใกล้เคียงกัน Barth ให้ความสนใจเรื่องการแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในการปฏิสัมพันธ์มากกว่าสนใจความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อย่างในกรณีของ Moerman

   นอกจากแนวคิดของ Barth แล้ว ยังมีแนวคิดของนักมานุษยวิทยาและนักสังคมศาสตร์อื่นๆ อีกมากมาย อย่างเช่น Abner Cohen (1974) ซึ่งได้พยายามปรับปรุงความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ให้รัดกุมขึ้น โดยกำหนดว่า กลุ่มชาติพันธุ์ คือ กลุ่มคนที่มีแบบแผนพฤติกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกัน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ทำให้มีการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ร่วมระบบสังคมเดียวกัน นัยยะของความหมายนี้ คือ กลุ่มชาติพันธุ์จะต้องอยู่ร่วมระบบสังคมเดียวกัน และแนวคิดในการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ของ Cohen ก็ยังมีลักษณะที่ให้ความสำคัญกับเกณฑ์ที่เป็นวัตถุวิสัยอยู่ดี (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ 2525)

   แม้ Cohen จะให้ความสนใจกับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์เหมือนกับ Barth แต่ Cohen ให้ความสนใจปัจเจกบุคคลน้อยกว่า และเน้นการวิเคราะห์ความเป็นกลุ่มหรือการจัดระเบียบสังคมภายในกลุ่ม (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ 2547)

   ดังนั้น การให้ความหมายกับ “กลุ่มชาติพันธุ์” จึงมีความหลากหลาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพิจารณาปรากฏการณ์ที่ต่างกัน และจากต่างมุมมองกัน ทำให้มิอาจนิยามคำว่า “กลุ่มชาติพันธุ์” ได้อย่างชัดเจนแน่นอน

ปัญหาชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์และการจำแนกชาติพันธุ์ในงานวิจัยทางชาติพันธุ์


   เรื่องชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์และการจำแนกชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะโดยหลักการทั่วไปของการจำแนกสรรพสิ่งต่างๆ (classification) ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ พืชและสิ่งของ จะมีองค์ประกอบสำคัญๆ ดังนี้คือ
   1. ชื่อเรียกของสิ่งที่ถูกจำแนก
   2. ชื่อประเภทหรือหมวดหมู่ของการจำแนก
   3. เกณฑ์หรือคุณลักษณะที่ใช้ในการจำแนก
   4. ความรู้สึกและท่าทีที่แฝงอยู่กับสิ่งหรือประเภทที่ถูกจำแนก (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ 2551)

   แต่การจำแนกกลุ่มชนมีลักษณะพิเศษจากการจำแนกสรรพสิ่งอื่นๆ เพราะกลุ่มชนต่างๆ มีความรู้สึกนึกคิดและภาษาที่จะแสดงออกมาได้ว่า “คิดหรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร” ซึ่งการจำแนกตนเองนี้ อาจแตกต่างไปจากที่คนนอกจำแนกให้ ในการศึกษาเรื่องนี้นักมานุษยวิทยาจึงต้องเพิ่มมุมมองเรื่องจิตสำนึกและชื่อเรียกตัวเองของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องนี้จึงเป็นปัญหาในการจัดระบบฐานข้อมูล ซึ่งในบทความนี้จะแยกนำเสนอปัญหา เนื่องจากสำหรับฐานข้อมูลแล้ว การเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์อาจจะมีความสำคัญมากกว่าการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการศึกษาวิจัย เพราะชื่อเรียกชาติพันธุ์จะส่งผลโดยตรงกับการเรียกใช้ข้อมูล

ปัญหาการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ในงานวิจัยฯ
   การที่ชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ในงานวิจัยฯ มีความหลากหลาย ไม่ลงตัวชัดเจนว่า “ใครเป็นใคร” ได้ส่งผลสำคัญต่อการจัดระบบการเรียกใช้ข้อมูล ซึ่งฐานข้อมูลนี้ให้ความสำคัญกับการเรียกใช้ข้อมูลตามกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอันดับแรก หากชื่อเรียกชาติพันธุ์สับสน ไม่ชัดเจน อาจส่งผลต่อการจัดระบบงานวิจัยฯ และการเรียกใช้ข้อมูลตามกลุ่มชาติพันธุ์ เพราะปัญหาการเรียกชื่อชาติพันธุ์ เกิดขึ้นกับทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในงานวิจัยฯ ซึ่งในที่นี้จะยกตัวอย่างมาเป็นบางกรณี เช่น
กรณีชื่อเรียก “ลัวะ” โครงการฯ พบว่าในงานวิจัย “ลัวะ” ถูกใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เรียกตัวเองต่างๆ กันดังนี้

ลัวะ (มัล และไปร/ปรัย) ที่อยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ของ จ.น่าน
ละเวือะ ที่อยู่ในหลายหมู่บ้าน อ.แม่สะเรียง เช่น บ่อหลวง บ้านจอมแจ้ง
ละว้า ที่อยู่บ้านละอูบ
ลเวื้อ บ้านบ่อหลวง
ละเวีย บ้านเฮาะ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
ปลัง บ้านห้วยน้ำขุ่น เชิงดอยตุง จ.เชียงราย


   และชื่อเรียกเหล่านี้เพิ่มความซับซ้อนและสับสนขึ้นเมื่อพิจารณาชื่อที่เรียกโดยกลุ่มชาติพันธุ์อื่นหรือที่ทางราชการเรียก

ผู้เรียก ชื่อที่ถูกคนอื่นเรียก ชื่อเรียกตัวเอง
ทางราชการ ถิ่น ลัวะ
ไทลื้อในจีน ข่าวะ ลเวือะ
ไทยล้านนา ลัวะ ลเวือะ
ไทยภาคกลาง ละว้า ลเวือะ
พม่า ปะหล่อง ละว้า
ไต/ไทยใหญ่ ไตหลอย ละว้า (นับถือพุทธศาสนา)
ทางราชการ ลัวะ ปลัง
ทางราชการ ลัวะ อุก๋อง
คนกาญจนบุรี ละว้า อุก๋อง


   สาเหตุสำคัญของตัวอย่างปัญหาดังกล่าวคือ อิทธิพลของแนวคิดและการนิยามความหมาย “กลุ่มชาติพันธุ์” ที่มีต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้งานวิจัยจำนวนมากขาดความสนใจในชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเอง แต่งานวิจัยเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ตามที่คนนอกกลุ่มเรียกกรือ เรียกตามที่หน่วยงานราชการ ซึ่งมีหลายชื่อ เช่น กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “ปกาเกอะญอ” ถูกเรียกว่า “ญางเผือก” โดยไทยใหญ่ “ยางกะเลอ” โดยคนล้านนา (คนไทยทางเหนือ) “ปากี” โดยคะยาห์ “กะหร่าง” โดยคนไทยภาคกลางแถบราชบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี “Sgaw Karen” โดยนักวิชาการตะวันตก และถูกเรียกว่ากะหยิ่น โดยพม่า เป็นต้น

   นอกจากสาเหตุที่เกิดจากอิทธิพลของแนวคิดแล้ว การที่มีหลายชื่อหรือมีความสับสนในเรื่องชื่อยังอาจเกี่ยวข้องกับการที่สมาชิกกลุ่มชาติพันธุ์บางคนหรือกลุ่มย่อยบางกลุ่ม (ในกลุ่มชาติพันธุ์) สามารถแสดงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ได้มากกว่าหนึ่งขึ้นไปในบริบทและสถานการณ์ที่ต่างกัน (Chavivun Prachuabmoh 1980)

   นอกจากนี้ กลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มล้วนมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการอพยพย้ายถิ่นฐาน และมีประสบการณ์ในการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ตลอดเส้นทางอพยพ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีชื่อเรียกหลายชื่อ ในหลายกรณีได้รับเอาชื่อเรียกจากกลุ่มอื่นมาเป็นของตนเองด้วย อย่างเช่น “ผู้ไท” กลายเป็น “ลาวโซ่ง” ซึ่งมีผลเกี่ยวพันกับจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย เพราะมีพลวัตทางชาติพันธุ์ ทำให้ไม่อาจเหมารวมได้ว่าในปัจจุบัน “ลาวโซ่ง” จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกับ “ผู้ไท” หรือที่ถูกเรียกว่า “ไทดำ” ในเวียดนามเหนือ (ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ 2549) อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น จากข้อมูลการสำรวจชุมชนชาวอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ถูกเรียกว่า “ลัวะ” จะเรียกตนเองว่า “ไตยวน” แต่ยังมีความสำนึกในเรื่องความแตกต่างเพราะว่าเป็น “ลัวะ” มาแต่เดิมและมีหลายคนที่ไม่ชอบถูกเรียกว่า “ลัวะ” นับว่ามีความซับซ้อนในเรื่องชื่อเรียกชาติพันธุ์แม้ว่าอยู่ในชุมชนเดียวกัน

ปัญหาการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์

 

   ความหมายของการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ในสาขาวิชามานุษยวิทยา (ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ได้มีความพยายามและประสบการณ์การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์มากที่สุด) มีความหมายที่แตกต่างกันใน 3 ลักษณะด้วยกันคือ


   1. จำแนกประเภทกลุ่มชน โดยมีมโนทัศน์ต่างๆ เช่น กลุ่มชนเร่ร่อน ชนเผ่า/เผ่าพันธุ์ สังคมชาวนาชาวไร่ (peasant society) และกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งขอบเขตความหมายสัมพันธ์กับแนวคิดต่างๆ ในการอธิบายมนุษย์และวัฒนธรรม
   2. จำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ม้ง เมี่ยน ลัวะ ลเวือะ ซึ่งสัมพันธ์กับเกณฑ์ในการจำแนกในทางวิชาการและวัตถุประสงค์ของการจำแนก
   3. การจัดหมวดหมู่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเกี่ยวข้องกัน หรือ มีความสัมพันธ์ในทางภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการเมือง

   ปัญหาสำคัญ คือ นักวิจัยมักเรียกกลุ่มที่ตนศึกษาด้วยชื่อที่คนอื่นเรียก และยังไม่สนใจการจำแนกชาติพันธุ์ของกลุ่มที่ศึกษา ทำให้ยังขาดข้อมูลสำคัญที่จะนำมาประกอบการพิจารณา ดังนั้นการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ และการจัดหมวดหมู่กลุ่มจึงยังคงมีปัญหาในทางวิชาการ และมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มไม่พึงพอใจและไม่เห็นด้วยกับชื่อที่ถูกเรียกและกับการจัดหมวดหมู่กลุ่มชาติพันธุ์ของนักวิชาการ

   ตัวอย่างเช่นนักวิชาการจัดให้ “ตองซู” เป็นกลุ่มย่อยของกะเหรี่ยง แต่ในงานวิจัยที่เกี่ยวกับ “ตองซู” บางงานได้ระบุว่า “ไม่ได้เป็นกะเหรี่ยง” หรือจากการเสวนาทางวิชาการว่าด้วยชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ “กะเหรี่ยง” (2551) ผู้ร่วมเสวนาซึ่งระบุว่าตนเองว่าเป็น “โพล่ง” และ “ปกาเกอะญอ” และบางคนเห็นว่าเป็นได้ทั้งสองกลุ่ม ได้ถกเถียงกันว่าจะสามารถเรียกรวมเป็น “กะเหรี่ยง” ได้หรือไม่และยังไม่แน่ใจว่ากลุ่มอื่นๆ ที่นักวิชาการคิดว่าเป็น “กะเหรี่ยง” จะถูกต้องหรือไม่ เพราะบางกลุ่มก็ไม่รู้จักกันดีพอ และบางกลุ่มก็ไม่สามารถสื่อสารระหว่างกันได้

   อย่างไรก็ตาม ในทางมานุษยวิทยาก็ยังไม่มีการศึกษาการจำแนกชาติพันธุ์ของกลุ่มชาติพันธุ์เอง การจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นการจำแนกโดยอาศัยเกณฑ์ทางภาษาศาสตร์ ซึ่งยังมีความไม่ลงตัวอยู่เช่นกัน (David D. Thomas 1964, David Bradley 1994)

ปัญหาในการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานข้อมูล

   ในระหว่างการรวบรวมงานวิจัยเพื่อจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัยทางชาติพันธุ์ คณะทำงานฯ ได้เผชิญปัญหาเกี่ยวกับความหมายของชื่อเรียก และการจำแนกชาติพันธุ์ซึ่งมีหลากหลายในงานวิจัยฯ และในหลายกรณีทำให้เกิดความสับสน ไม่ชัดเจนและส่งผลต่อการจัดระบบฐานข้อมูลฯ คณะทำงานฯ ได้พยายามศึกษาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งก็ได้ทำความเข้าใจไปแล้วบางส่วนโดยโครงการได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่องชื่อเรียกชาติพันธุ์ที่คนในใช้เรียกตนเองที่พบในงานวิจัยเผยแพร่ในรูปของตารางเทียบเคียงชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ คณะทำงานจึงได้จัดทำตารางเทียบเคียงชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยโดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ในอนาคตหากมีข้อมูลที่ชัดเจนกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบดังกล่าวเป็นข้อค้นพบจากงานวิจัยที่รวบรวมในปัจจุบัน ในอนาคตหากพบข้อมูลอันที่เป็นประโยชน์ โครงการจะนำมาปรับปรุงต่อไป

 

 

ฐานข้อมูลอื่นๆของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  ฐานข้อมูลพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย
จารึกในประเทศไทย
จดหมายเหตุทางมานุษยวิทยา
แหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย
หนังสือเก่าชาวสยาม
ข่าวมานุษยวิทยา
ICH Learning Resources
ฐานข้อมูลเอกสารโบราณภูมิภาคตะวันตกในประเทศไทย
ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย
ฐานข้อมูลสังคม - วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  หน้าหลัก
งานวิจัยชาติพันธุ์ในประเทศไทย
บทความชาติพันธุ์
ข่าวชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์
เกี่ยวกับเรา
เมนูหลักภายในเว็บไซต์
  ข้อมูลโครงการ
ทีมงาน
ติดต่อเรา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
ช่วยเหลือ
  กฏกติกาและมารยาท
แบบสอบถาม
คำถามที่พบบ่อย


ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เลขที่ 20 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ 10170 
Tel. +66 2 8809429 | Fax. +66 2 8809332 | E-mail. webmaster@sac.or.th 
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2549    |   เงื่อนไขและข้อตกลง